ในระยะหลัง เราได้ยินวลี ‘ทำเพื่อชาติ’ บ่อยหนขึ้น โดยเฉพาะวลี ‘ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ’
จึงอยากชวนคุณย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เพื่อไปดูคนที่เคย ‘ทำเพื่อชาติ’ ในรูปแบบต่างๆ ในสถานการณ์ที่คับขันอย่างยิ่ง – นั่นก็คือสงครามโลกครั้งที่สอง
ในวันที่ 26 กันยายน 1938 ชายคนหนึ่งขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เพื่อประกาศสงครามกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยประโยคสำคัญในสุนทรพจน์นั้นก็คือ – บัดนี้ความอดทนของข้าพเจ้าสิ้นสุดลงแล้ว
เขาคือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งกำลังประกาศเรียกร้องดินแดนจากเชคโกสโลวาเกีย โดยก่อนหน้านั้นราวหนึ่งเดือน เขาได้ประกาศสงครามกับโปแลนด์ โดยกล่าวต่อหน้าผู้คนทั้งหลายว่า – นับแต่นี้ไป เขาคือ ‘ทหาร’ หมายเลขหนึ่งแห่งอาณาจักรไรช์ ซึ่งพูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า เขากำลังสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์นั่นเอง
ฮิตเลอร์เรืองอำนาจในเยอรมนีช่วงต้นทศวรรษ 1930s ด้วยความไม่พอใจต่อสนธิสัญญาแวร์ซายส์หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งทำให้ดินแดนของเยอรมนีต้องแบ่งออกเป็นสองส่วน เพราะต้องกันดินแดนส่วนหนึ่งที่เรียกว่า ‘ฉนวนโปแลนด์’ เพื่อให้โปแลนด์มีทางออกสู่ทะเล เยอรมนีจึงแยกออกจากปรัสเซียตะวันออกที่เยอรมนีถือว่าเป็นดินแดนของตน
แน่นอน – ดินแดนเป็นองค์ประกอบสำคัญของ ‘ชาติ’ และในความเห็นของฮิตเลอร์ที่เรืองอำนาจขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การที่ชาติถูกแบ่งแยกออกเป็นสองนั้น คือสัญลักษณ์แห่งความอับอายของเยอรมนี มันคือการลบหลู่ดูหมิ่นความเป็น ‘ชาติ’
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในเงื่อนไขหลายอย่าง ที่ทำให้ฮิตเลอร์เรืองอำนาจขึ้นมาได้ เขาอาศัยความเป็น ‘ชาติ’ ที่ขาดหายไป ทำให้ผู้คนเชื่อมั่นศรัทธาว่าเขากำลัง ‘ทำเพื่อชาติ’ คือเพื่อนำความยิ่งใหญ่กลับคืนมาให้ประเทศที่เคยยิ่งใหญ่มาก่อน
ฮิตเลอร์เข้าร่วมกับพรรค National Socialist German Workers Party (ซึ่งมีชื่อย่อคือ Nazi) ในปี ค.ศ.1920 พรรคนี้เป็นพรรคเล็กมากในขณะนั้น ต่อมาไม่นาน เขาก็ได้เป็นผู้นำพรรค แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ในการเลือกตั้งปี ค.ศ.1930 พรรคนาซีก็เติบโตเป็นพรรคใหญ่อันดับสองในสาธารณรัฐไวมาร์ของเยอรมัน เขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ.1933
ฮิตเลอร์ทำให้พรรคนาซีของเขาได้ ‘ควบคุม’ สถาบันหลักต่างๆ ของชาติ โดยแลกกับประชาธิปไตย เขาใช้อุดมการณ์ ‘เพื่อชาติ’ เพื่อเป็นข้ออ้างในการออกคำสั่งและปฏิบัติการต่างๆ ซึ่งในที่สุด จุดเริ่มต้นนี้ก็นำไปสู่โศกนาฏกรรมระดับโลกที่มนุษยชาติไม่เคยลืม
ฮิตเลอร์เป็นตัวอย่างของเผด็จการตามรูปแบบโดยแท้ เพราะหลังครองอำนาจได้ไม่นาน ก็เกิด ‘กฎหมายอำนาจพิเศษ’ ที่มอบอำนาจสัมบูรณ์ให้แก่ฮิตเลอร์ และต่อมาเขาก็ขึ้นเป็นประธานาธิบดีด้วย รวมทั้งสร้างลัทธิผู้นำโดยให้ผู้คนเรียกเขาว่า ฟูห์เรอร์ (Fuhrer) รวมทั้งกลับมาสร้างกองกำลังใหม่
การที่ฮิตเลอร์บุกโปแลนด์ในปี ค.ศ.1939 เป็นชนวนที่ทำให้ทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสหันมาประกาศสงครามกับเยอรมนี และสงครามโลกครั้งที่สองก็เริ่มขึ้นและจบลงดังที่เรารู้กันอยู่ ฮิตเลอร์มีชีวิตอยู่ดูโศกนาฏกรรมที่เขาก่อขึ้นเพียงไม่นาน เพราะเขาฆ่าตัวตายในวันที่ 30 เมษายน 1945
เป็นการปิดฉากคนที่พยายามทำให้
ชาติของตัวเองยิ่งใหญ่ด้วยวิธีการที่ผิดเพี้ยนลง
กลับมาที่ในปีรุ่งขึ้นหลังการบุกโปแลนด์ คือปี ค.ศ.1940 ฝรั่งเศสต้องเผชิญหน้ากับการรุกรานของนาซี สำหรับยุโรป ฝรั่งเศสเป็นคล้าย ‘ด่านหน้า’ ที่ต้องต่อกรกับเยอรมนี โดยมีอังกฤษอยู่ฝั่งตะวันตก และมีรัสเซียอยู่ฝั่งตะวันออก แต่ทั้งสองประเทศก็อยู่ไกลเกินไป ดังนั้น ฝรั่งเศสจึงเป็นประเทศใหญ่ประเทศแรกที่ต้องลุกขึ้นต่อสู้
ผู้นำของฝรั่งเศสที่ต้องลุกขึ้นมา ‘ทำเพื่อชาติ’ (หรือเพื่อความอยู่รอดของชาติ) ในตอนนั้น ก็คือ ชาลส์ เดอ โกล ที่ในตอนนั้นยังเป็นเพียงนายทหารคนหนึ่ง
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1940 กองทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้ให้กับกองทัพนาซีอย่างรวดเร็ว ผู้คนขวัญหายไปทั้งประเทศ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้นำทัพอย่างเดอโกล ที่จะต้องลุกขึ้นต่อสู้ เขากล่าวสุนทรพจน์ทางวิทยุว่า เปลวไฟแห่งการลุกขึ้นต่อต้านของฝรั่งเศสจะต้องไม่มีวันตาย
น่าแปลก – ที่มันเป็นอย่างนั้นขึ้นมาได้สำเร็จ เพราะเอาเข้าจริง เดอโกลไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีเท่าไหร่กับอังกฤษที่อยู่ใต้การปกครองดูแลของวินสตัน เชอร์ชิล แถมยังมีปัญหากับประธานาธิบดีรูสเวลท์ของสหรัฐอเมริกาด้วย แต่เหตุการณ์พลิกผันในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้การลุกขึ้นสู้ ‘เพื่อชาติ’ ของเดอโกลประสบความสำเร็จ ในตอนนั้น เขาเป็นเพียงนายทหารยศพันเอกที่อยู่ใต้การปกครองของจอมพลฟิลิป เปแตง (Philippe Pétain) แต่ปัญหาของเปแตงก็คือ เขายอมแพ้ให้กับนาซี และพาทหารฝรั่งเศสส่วนหนึ่งเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ รวมทั้งประกาศตัวเองเป็นผู้นำรัฐบาลของฝรั่งเศสที่เรียกว่า Vichy France ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ‘ความเป็นชาติ’ ของฝรั่งเศส ณ ขณะนั้น ใกล้สิ้นสลายเต็มทน
แต่เดอโกลไม่ยอมรับเปแตง เขาจึงหนีไปอังกฤษ ตอนนั้นมีทหารฝรั่งเศสหลายพันนายไปอยู่ที่อังกฤษแล้ว เพราะมีการอพยพดันเคิร์กอันลือลั่น เดอโกลจึงได้รับการสนับสนุนจากเชอร์ชิล ให้ตั้งตัวขึ้นมาเป็นผู้นำของฝรั่งเศสต่อต้านเปแตง เดอโกลต้องออกอากาศระดมพลชาวฝรั่งเศสที่ต้องการจะต่อสู้ และท้ายที่สุด เขาก็ได้กลับสู่ปารีสในฐานะผู้ชนะได้ในปี ค.ศ.1944 และต่อมาก็กลายเป็นประธานาธิบดี
นี่คือการทำ ‘เพื่อชาติ’ ในอีกรูปแบบหนึ่ง
ซึ่งแตกต่างจากการทำเพื่อชาติของฮิตเลอร์อย่างสิ้นเชิง
ตัวละครสำคัญอย่างยิ่งในสงครามโลกครั้งที่สองอีกคนหนึ่งที่เราได้เอ่ยชื่อไปแล้วก็คือ วินสตัน เชอร์ชิล แน่นอน เขาคนนี้ก็ได้รับการยกย่องเช่นกันว่าเป็นคนที่ ‘ทำเพื่อชาติ’ มากมายหลายมิติ จนเรียกได้ว่า เชอร์ชิลนั้นคือคนสำคัญทางการเมืองที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษในศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว
ในช่วงปี ค.ศ.1940-1941 อังกฤษอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างเปราะบาง เพราะถือได้ว่าน่าจะเป็นประเทศใหญ่ประเทศเดียวท่ีต้องต่อกรกับเยอรมนี ฝรั่งเศสนั้นถูกตีพ่ายไปแล้ว ส่วนสหรัฐอเมริกาและรัสเซียก็อยู่ไกลเกินไป ช่วงเวลาแบบนั้นนั่นแหละ ที่ผู้นำประเทศต้องลุกขึ้นมา ‘ทำเพื่อชาติ’ อย่างแท้จริง
เชอร์ชิลทำให้คนอังกฤษลุกขึ้นมาเชื่อมั่นในตัวเอง เขาทำให้คนเชื่อได้ว่า อังกฤษต้องเข้าสู่สงครามครั้งนี้เพื่อรักษาตัวตน อัตลักษณ์ และอารยธรรมทั้งปวงของอังกฤษเอาไว้ เขาสามารถรวมใจคนอังกฤษให้เป็นหนึ่งเดียวได้ด้วยวิธีการหลายๆ อย่าง
ที่จริงแล้ว ช่วงแรกๆ ของการทำงานการเมือง เชอร์ชิลรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งเอาเสียเลย เขาพูดก็ไม่เก่ง แถมยังติดอ่างเล็กน้อยด้วย แต่เขาก็ฝึกฝนตัวเองด้วยคำพูดที่โอ่อ่าอลังการ ซึ่งในช่วงก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่สองนั้นเป็นถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมเอาเสียเลย เพราะผู้คนไม่ได้ต้องการถ้อยคำประเภทประดิดประดอย เล่นสัมผัส หรือการเปรียบเปรยที่ฉูดฉาดอย่างที่เขาชอบพูด
แต่เชอร์ชิลเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยไว้วางใจนาซี เขาเชื่อว่านาซีเยอรมันอยากขยายดินแดนไม่รู้จบ ซึ่งขัดแย้งกับความเห็นของคนอื่นๆ แต่เมื่อฮิตเลอร์แสดงให้เห็นธาตุแท้ เชอร์ชิลก็ได้กลับเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของเนวิล เชมเบอร์เลน แล้วต่อมาเขาก็ได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สุดของประเทศ – และที่จริงก็ของโลกด้วย
เขาได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ (แม้จะแปลกๆ อยู่ไม่น้อย) แต่เขากับประธานาธิบดีรูสเวลต์ได้ร่วมมือกันในกฎบัตรแอตแลนติกในปี ค.ศ.1941 เพื่อต่อกรกับฮิตเลอร์ หลังสงคราม เขากลายมาเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้านและกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกในปี ค.ศ.1951
หลายคนมองว่าเขาเป็น ‘ชาวอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุด
ที่ยังมีชีวิตอยู่’ นั่นก็เพราะเชอร์ชิลได้ ‘ทำเพื่อชาติ’ อย่างแท้จริง
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยังมีบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งที่ก็คิดว่าตนได้ ‘ทำเพื่อชาติ’ ด้วยเช่นกัน บุคคลที่ว่าก็คือ จักรพรรดิฮิโรฮิโตะแห่งญี่ปุ่น
นาซีเยอรมันยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1945 แต่ฝ่ายอักษะที่ยังแข็งแกร่งและไม่ยอมแพ้ ก็คือญี่ปุ่น แม้สงครามโลกครั้งที่สองในยุโรปจะสงบลงแล้ว แต่ศึกมหาเอเชียบูรพายังคงเข้มข้น ศึกใหญ่ศึกหนึ่งเกิดขึ้นบนเกาะโอกินาวาในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1945 ซึ่งยังความสูญเสียทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและสัมพันธมิตรมากมาย ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน แต่กระนั้น ญี่ปุ่นก็ยังไม่ยอมแพ้
เรารู้ว่า 6 สิงหาคม 1945 ได้เกิดเหตุโศกนาฏกรรมอีกครั้งหนึ่งของมวลมนุษยชาติขึ้น เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิด บี 29 ของกองทัพอากาศสหรัฐ ชื่ออีนา เกย์ ได้ทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกลงไปยังฐานทัพทหารของญี่ปุ่นที่ฮิโรชิมา สังหารคนไปตั้งแต่ 75,000 คน ถึง 100,000 คน และทำลายเมืองทั้งเมือง สามวันต่อมา ระเบิดนิวเคลียร์ลูกที่สองก็ถูกทิ้งลงยังเมืองท่านางาซากิ ทำให้เกิดความเสียหายในระดับเดียวกัน
ไม่นานหลังจากนั้น จักรพรรดิฮิโรฮิโตะแห่งญี่ปุ่น
ก็ทำลายธรรมเนียม ด้วยการออกอากาศประกาศว่า
– ญี่ปุ่นแพ้สงครามแล้ว
จักรพรรดิมิชิโนะมิยะ ฮิโรฮิโตะ ถือว่าเป็น ‘ผู้นำศักดิ์สิทธิ์’ ของญี่ปุ่น และจนถึงบัดนี้ หลายฝ่ายก็ยังมีความเห็นที่แตกต่างกันว่าพระองค์มีทัศนคติต่อการเข้าร่วมสงครามอย่างไร แต่กระนั้นก็เป็นพระองค์นี่เอง ที่ต้องเป็นผู้ประกาศสงคราม
พระองค์เป็นจักรพรรดิองค์ที่ 124 ของญี่ปุ่น ยุคของพระองค์ได้ชื่อว่ายุคโชวะ ซึ่งในทศวรรษ 1930s พบว่าฝ่ายเรืองอำนาจในญี่ปุ่น คือกลุ่มทหารชาตินิยม
ความชาตินิยม (หรืออีกนัยหนึ่งคือการ ‘ทำเพื่อชาติ’) ทำให้ญี่ปุ่นเปิดสงครามกับจีนในทศวรรษ 1930s และลุกลามเลยมาจนถึง 1940s ในสงครามโลกครั้งที่สอง สำหรับพระองค์ สงครามครั้งนี้คือการ ‘ปลดปล่อยเอเชียตะวันออก’ แต่ก็อย่างที่เรารู้กันอยู่ถึงความโหดร้ายที่นานกิงและเหตุการณ์อื่นๆ อีกมาก ว่าการปลดปล่อยเหล่านั้นไม่ได้มีอยู่จริงมากเท่าพิษภัยของสงคราม
หลังพ่ายแพ้ในสงคราม พระองค์ยังคงเป็นกษัตริย์ แม้ว่าสถานะที่เคยเชื่อกันว่า ‘ศักดิ์สิทธิ์’ จะเสื่อมคลายลง และรัฐธรรมนูญใหม่ก็ระบุว่าพระองค์ต้องเป็นจักรพรรดิที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่นักประวัติศาสตร์ก็วิจารณ์ว่าพระองค์มีความ ‘สงบนิ่ง’ ในการจัดการทำประเทศให้ทันสมัยด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งลดฐานะของพระองค์จากที่สูงสุดเหนือมนุษย์ให้กลายมาเป็นประมุขของประเทศที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ
จะเห็นว่า การ ‘ทำเพื่อชาติ’ นั้นมีได้หลายความหมาย เฉพาะในสงครามโลกครั้งที่สอง และเฉพาะกับผู้นำประเทศสี่คน เราก็ได้เห็นการ ‘ทำเพื่อชาติ’ ที่แตกต่างกันไปทั้งหมด ไม่มีใครมีความหมายของการ ‘ทำเพื่อชาติ’ ที่เหมือนกันเลย นั่นส่งผลให้วิธีปฏิบัติต่อการทำเพื่อชาติแตกต่างออกไปด้วย
คำถามต่อวลี ‘ทำเพื่อชาติ’ หรือแม้แต่ ‘ฉีดวัคซีนเพื่อชาติ’ ของแต่ละคนจึงคือการย้อนกลับไปค้นหาคำตอบให้ได้ ว่าเราหลุดหล่นคำนี้ออกมาในความหมายไหน
โดยเฉพาะเมื่อผู้หลุดหล่นคำพูดนี้ออกมามีฐานะเป็นผู้นำประเทศที่จะพูดสิ่งใดเพียงพล่อยๆ – มิได้