วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ศาลรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกาตัดสินจำคุก Iva Ikuko Toguri D’Aquino 10 ปีในข้อหาทรยศต่อประเทศชาติ พร้อมสั่งปรับเงินอีก 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และถอดสัญชาติอเมริกาจากพฤติกรรมในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เธอเป็นผู้ประกาศให้กับสถานีวิทยุโตเกียวของญี่ปุ่นเพื่อปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อกล่าวโจมตีชาติสัมพันธมิตร โดยชื่อที่ถูกตั้ง (โดยทางการอเมริกา) ว่า ‘กุหลาบโตเกียว’
แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่
Iva เกิดที่เมืองลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา เป็นลูกของผู้อพยพชาวญี่ปุ่น พ่อของเธอเปิดร้านขายสินค้านำเข้า เธอคือคนอเมริกันที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น พูดภาษาอังกฤษได้เพียงภาษาเดียว เข้าเรียนเหมือนคนอเมริกันทั่วๆ ไป เล่นเปียโน ตีเทนนิส ชอบปีนเขา เป็นที่รักของเพื่อนๆ ข้อมูลจากสำนักงานสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอยืนยันว่าเด็กสาวคนนี้ไม่มีทางทรยศต่อประเทศชาติอย่างแน่นอน
แม่ของเธอป่วยเป็นโรคเบาหวาน เคลื่อนไหวลำบาก มันกลายเป็นแรงบันดาลใจให้หญิงสาวเข้าเรียนที่ UCLA จบการศึกษาสัตววิทยาในปี พ.ศ. 2484 เมื่อจบการศึกษาพ่อกับแม่ขอร้องให้เธอเดินทางไปดูแลป้าที่ญี่ปุ่นซึ่งกำลังป่วยหนัก หญิงสาวไม่อยากขัดประสงค์บุพการี จึงยอมเดินทางไป โดยการเดินทางนั้นเป็นไปอย่างเร่งด่วน เธอไม่มีเวลาแม้แต่จะตระเตรียมเอกสารทำหนังสือเดินทาง แต่ทางกระทรวงต่างประเทศได้ให้ใบยืนยันสัญชาติมาแทน และบอกว่ามันใช้แทนกันได้
ที่ญี่ปุ่น เธอประสบปัญหาอย่างมากในการดำรงชีวิต ภายนอกหญิงสาวอาจคล้ายคนญี่ปุ่น แต่การเลี้ยงดูและการเติบโต เธอคือคนอเมริกัน หญิงสาวพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้แม้แต่คำเดียว แถมยังกินอาหารญี่ปุ่นไม่ได้ด้วย ในช่วงที่ดูแลป้าอยู่นั้น เธอป่วยเป็นโรคคิดถึงบ้าน และคิดที่จะกลับบ้านเกิดที่สหรัฐอเมริกาอยู่ตลอดเวลา
แต่แล้วในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทัพสมเด็จพระมหาจักรพรรดิโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ เป็นชนวนให้สหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2
การโจมตีได้ส่งผลใหญ่หลวง ความสัมพันธ์ทางการทูตถูกตัด
การเดินทางระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกาเป็นไปไม่ได้
Iva ติดอยู่ในดินแดนของศัตรู เธอกลายร่างจากหลานรักของป้ากับลุง แปรเปลี่ยนเป็นศัตรูได้อย่างเหลือเชื่อ หญิงสาวถูกคุกคามจากเพื่อนบ้าน โดนปาก้อนหินใส่ เพราะเธอคือคนอเมริกัน จึงไม่มีสิทธิ์ได้รับอาหารปันส่วนจากทางรัฐ มิหนำซ้ำเธอยังถูกป้ากับลุงอกตัญญูใส่โดยการไล่ออกจากบ้านแถมยังไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังถูกข่มขู่จากสารวัตรทหารที่ต้องการให้เธอถอนสัญชาติอเมริกา
แต่เธอคือคนอเมริกัน นั่นคือความจริงที่เธอไม่อาจยอมให้ถูกถอดสัญชาติได้
หญิงสาวต้องเอาตัวรอดในดินแดนศัตรู เธอหางานทำกับสถานทูตในประเทศที่ยังไม่ตัดสัมพันธ์การทูตต่อญี่ปุ่น เธอสอนเปียโนให้กับลูกหลานคนในสถานทูต ได้รับความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จากเจ้าหน้าที่ทูตของโปรตุเกส ซึ่งต่อมากลายเป็นสามีของเธอในอนาคต
โชคชะตาพาเธอพเนจรไปหลายที่ จนได้ไปทำงานพิมพ์ดีดที่สถานีวิทยุโตเกียว ณ ที่นั่น กองทัพญี่ปุ่นได้จับกุมตัวนักโทษสงครามชาติสัมพันธมิตรมาใช้งานโฆษณาชวนเชื่อ ในรายการที่ชื่อว่า ‘Zero Hour’ โดยหนึ่งในนักโทษคือ Charles H. Cousens ทหารออสเตรเลียที่ถูกจับกุม ณ สิงคโปร์ โดยเขาเคยเป็นผู้ประกาศทางวิทยุมาก่อนเป็นทหาร ทางกองทัพญี่ปุ่นบังคับให้เขารายงานข่าวและทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อโจมตีทหารชาติสัมพันธมิตร
ขณะนั้น Iva มักจะซื้อเสื้อผ้าและข้าวของให้กับนักโทษสงคราม
ที่ถูกสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่โฆษณาชวนเชื่ออยู่เป็นประจำ
ความเอื้อเฟื้อของเธอ สะดุดตา Charles มาก หลังจากที่เขาแน่ใจว่าเธอไม่ใช่สายลับญี่ปุ่นแฝงตัวมาแน่ๆ เขาก็ออกปากชวนเธอมาทำงานเป็นผู้ประกาศวิทยุ เพื่อลดทอนพลานุภาพโฆษณาชวนเชื่อ
เธอตอบตกลง นี่เป็นหน้าที่ของผู้รักชาติที่ควรจะทำเป็นอย่างยิ่ง หารู้ไม่ว่า มันจะสร้างความปวดร้าวให้เธอในเวลาต่อมา
วิธีการลดทอนพลานุภาพของโฆษณาชวนเชื่อในรายการ Zero Hour ก็คือพวกเขาจะอ่านบทไม่ตรงกับที่เขียน เน้นเปิดเพลง และประกาศชื่อนักโทษสงครามที่อยู่ในสถานีวิทยุโตเกียว เพื่อให้ครอบครัวของทหารได้รับรู้
สาเหตุที่ Charles เลือกเธอนั้น ก็เป็นการต่อต้านโฆษณาชวนเชื่อเช่นกัน เพราะทางญี่ปุ่นต้องการให้มีหญิงสาวในรายการวิทยุ และต้องการเสียงที่มันดูยั่วยวนเร้าร้อน ซึ่งเผอิญ Iva ไม่มีคุณสมบัติทั้งสองอย่าง รับรองเสียงพูดที่ไม่น่ามีเสน่ห์นี่ออกอากาศไป ใครเล่าจะไปหลงเชื่อได้
นอกจากนี้ตัว Iva เองก็ไม่ใช่หญิงสาวคนเดียวที่ทำหน้าที่โฆษกวิทยุ แต่ยังมีหญิงสาวกว่า 12 คนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมา ทหารอเมริกันที่ฟังรายการดังกล่าวต่างขนามนามผู้หญิงที่พูดออกอากาศว่า ‘กุหลาบโตเกียว’ โดยไม่ได้ระบุชัดว่าคือใคร
และ Iva เองก็ไม่ได้ใช้ชื่อกุหลาบโตเกียวด้วย
เธอตั้งชื่อตัวเองว่า ‘แอนลูกกำพร้า’
โดยคำว่าแอนมาจากความทรงจำในรายการวิทยุวัยเด็ก ส่วนลูกกำพร้านั้นแทนความรู้สึกเธอขณะติดอยู่ในแผ่นดินศัตรู
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด Iva มีสิทธิ์จะกลับบ้านเกิดได้ แต่ติดที่ว่าเงินที่จะซื้อตั๋วเครื่องบินกลับมันไม่ใช่จะหาง่ายๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าตลอดการทำงานให้กับสถานีวิทยุโตเกียว เธอเป็นนักโทษสงคราม ดังนั้นจึงเป็นการทำงานฟรี
เมื่อสหรัฐอเมริกายึดครองญี่ปุ่น สื่อมวลชนต่างให้ความสนใจว่ากุหลาบโตเกียวนั้นคือใคร ข้อมูลจากสถานีวิทยุโตเกียว พวกเขาไม่พบคนที่ใช้นามแฝงว่ากุหลาบโตเกียวแต่อย่างใด แต่พบข้อมูลว่ามีคนอเมริกันทำงานเป็นโฆษกวิทยุระหว่างสงคราม
สื่อมวลชนใช้เวลาไม่นานก็ควานหาเธอพบ นักข่าว 2 คนจากนิตยสาร Cosmopolitan เสนอเงิน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อขอสัมภาษณ์เธอ แน่นอนว่าจำนวนเงินดังกล่าวทำให้เธอตอบตกลงทันที ด้วยหวังว่าจะนำเงินไปซื้อตั๋วเครื่องบินกลับบ้าน
การสัมภาษณ์กินเวลากว่า 4 ชั่วโมง ถูกเรียบเรียงมา 17 หน้า เธอถูก 2 นักข่าวถามว่าเป็นกุหลาบโตเกียวหรือไม่ Iva ไม่รู้จักกุหลาบโตเกียว ไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน ตลอดช่วงสงคราม ข่าวคราวในสหรัฐอเมริกาเป็นสิ่งที่เธอเข้าไม่ถึง ดังนั้นเธอจึงคิดว่า กุหลาบโตเกียว คือคำยกย่องในการทำหน้าที่ต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อของเธอเอง ด้วยความรักชาติ เธอจึงตอบว่าเป็นกุหลาบโตเกียว
เมื่อนิตยสารเผยแพร่ไป
กองทัพถือว่าคำสัมภาษณ์ของเธอคือคำรับสารภาพ
จึงสั่งจับกุมเธอทันที เงิน 2,000 ยูเอสดอลลาร์ ก็ไม่ได้รับ แถมคำสัมภาษณ์ของ Iva ก็ทำให้เธอกลายเป็นนักโทษสงครามในบัดดล
กองทัพอเมริกาจับเธอไปขังคุกที่เรือนจำซูกาโม่ในโตเกียว ซึ่งเป็นที่คุมขังอาชญากรสงครามระดับนักการเมือง ผู้นำเหล่าทัพของญี่ปุ่น ณ ที่นั่นเธออยู่ในห้องขังแคบ ๆ ได้รับอนุญาตให้พบสามีชาวโปรตุเกสเพียง 20 นาทีต่อ 1 เดือน และได้อาบน้ำทุก 3 วัน
เคราะห์ร้ายโหมกระหน่ำเข้าใส่ ระหว่างถูกคุมขัง เธอทราบข่าวร้ายว่าครอบครัวของเธอที่อเมริกาถูกคุมตัวอยู่ในค่ายกักกันที่รัฐบาลสร้างขึ้นมาเพื่อคุมขังคนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม และที่ค่ายกักกันนั้น แม่ของเธอได้เสียชีวิตลง นำมาซึ่งความโศกเศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่ง
โชคยังดีที่เจ้าหน้าที่สืบสวนพบว่าไม่มีหลักฐานที่จะดำเนินคดีกับเธอได้แม้แต่ข้อหาเดียว จึงปล่อยตัวเธอในเวลาต่อมา
ตอนนั้น Iva พบว่าตัวเองท้อง ทางสามีชาวโปรตุเกสพยายามอ้อนวอนให้เธอสละสัญชาติอเมริกัน แล้วย้ายไปอยู่โปรตุเกสด้วยกัน แต่เธอปฏิเสธ เธอต้องการให้ลูกของเธอเกิดในแผ่นดินสหรัฐอเมริกา ชาติอันเป็นที่รัก หญิงสาวจึงกลับบ้านเกิดและคลอดลูกที่อเมริกา อนิจจาว่าความโหดร้ายจากการถูกคุมขังส่งผลต่อสุขภาพของ Iva ทำให้ทารกเกิดมาได้ไม่กี่วัน ก็เสียชีวิตลง
เธอเสียลูก แถมยังสูญเสียสามีที่ตัดสินใจหย่าขาดกับเธอ แถมที่อเมริกาเองก็ยังมีบรรยากาศหวาดกลัวเกลียดชังญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะอยู่ คนอเมริกันที่ออกอากาศวิทยุให้กับนาซี ต่างถูกขังคุกและถูกแขวนคอ ณ บ้านเกิดเมืองนอน ผู้ดำเนินรายการวิทยุขวาจัดปลุกระดมให้เกิดการจับกุมเธออีกครั้ง
ในปี พ.ศ. 2491 Iva ถูกจับกุมอีกครั้ง
โดยถูกตั้งข้อหาทรยศชาติถึง 8 กระทงด้วยกัน
แน่นอนว่างานนี้ Charles และนักโทษสงครามที่รู้จักเธอขณะทำงานที่สถานีวิทยุโตเกียวต่างเดินทางมาเพื่อให้การยืนยันความบริสุทธิ์ของเธอ แต่แล้วอัยการก็นำเอาพยาน 2 คนให้การปรักปรำว่าเธอพูดจาโจมตีทหารอเมริกันอย่างรุนแรง และเหล่าลูกขุนที่เป็นคนผิวขาวล้วนมีมติว่าเธอมีความผิดฐานทรยศชาติ 1 กระทง
อิสรภาพสูญสิ้นอีกครั้ง คราวนี้เป็นการติดคุกในแผ่นดินเกิด ชาติอันเป็นที่รัก Iva ละลายวันเวลาในเรือนจำโดยการเล่นไพ่บริดจ์กับเพื่อนๆ และ 6 ปีหลังถูกจองจำ ด้วยความประพฤติที่ดี เธอก็ได้รับการปล่อยตัว แต่โทษปรับยังมีอยู่ หลังออกจากคุก เธอย้ายไปอยู่ชิคาโกกับพ่อ และช่วยทำมาค้าขาย หาเงินมาจ่ายค่าปรับให้กับทางการ
หลังออกจากคุก สิ่งที่เธอพยายามทำตลอดมาคือการเรียกร้องความเป็นธรรม และก็เป็นสื่อมวลชนที่ให้ความสนใจเรื่องราวของเธอ มีการทำข่าวจนเปิดโปงว่า พยานที่อัยการเรียกมาให้การปรักปรำเธอนั้น ถูกกดดันข่มขู่เพื่อให้การกล่าวร้ายเธอ หากไม่ทำก็จะถูกดำเนินคดีด้วย ขณะที่หัวหน้าลูกขุนก็ให้สัมภาษณ์โดนผู้พิพากษากดดันให้ลงมติว่าเธอผิด
การเรียกร้องความเป็นธรรมใช้เวลาถึง พ.ศ. 2520 หรือเกือบ 28 ปี
นับตั้งแต่ศาลสั่งให้เธอติดคุก ประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด (Gerald Ford) ใช้เวลาวันสุดท้ายของการเป็นประธานาธิบดีอภัยโทษ Iva และสั่งคืนสัญชาติอเมริกันให้กับเธอ
เป็นอีกครั้งที่สื่อมวลชนไปสัมภาษณ์ Iva ซึ่งให้สัมภาษณ์ว่า การให้อภัยโทษนั้น มาช้าไป 4 ปี เป็น 4 ปีที่พ่อของเธอได้จากโลกนี้ไปแล้ว
พ่อของเธอเคยพูดถึงเรื่องราวการไม่ยอมแพ้ของลูกคนนี้ว่า “ลูกเหมือนกับเสือ ลูกไม่เคยสิ้นลาย ไม่ว่าอย่างไรลูกก็จะเป็นคนอเมริกัน”
หญิงสาวใช้ชีวิตเงียบๆ ที่ชิคาโก ใช้เวลาว่างไปดูโอเปร่า ก่อนจะเสียชีวิตลงอย่างสงบในปี พ.ศ. 2549 ด้วยวัย 90 ปี
นี่คือเรื่องราวของนักโทษเพียงคนเดียวที่ทำหน้าผู้ประกาศวิทยุให้กับญี่ปุ่น นี่คือสิ่งที่ชาติอันเป็นที่รักทำกับเธอ ย่ำยี กดขี่ กล่าวประณาม
แต่ความยุติธรรมย่อมเป็นความยุติธรรม แม้มันจะมาช้ามาก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มาเลย ในที่สุดชาติอันเป็นที่รักก็ให้อภัยที่พวกเขาเกลียดชังเธอมากเกินไป
หากว่ามันคือ ชะตาชีวิตของมนุษย์คนหนึ่ง มันคงเป็นชะตาชีวิตที่น่าฉงน น่าเจ็บปวดยิ่งนัก แต่มันก็คือชะตาชีวิตที่เลือกแล้ว บางทีมันคงเป็นเพียงโศกนาฏกรรมหนึ่งที่ชาติได้กระทำกับผู้รักชาติอย่างเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดหน้าประวัติศาสตร์บาดแผลของโลกใบนี้