ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดกรณีหนึ่งที่ฮือฮาไปทั่ว คือ กรณีที่ กกต. โทรศัพท์ไปแจ้งยังพรรคอนาคตใหม่ว่า “ห้ามรับเงินบริจาค” เพราะถือว่าเป็นการผิดกฎหมายซึ่งก็คือคำสั่งของ คสช. นั่นเอง ทั้งนี้เรื่องราวก็ดำเนินมาถึงจุดที่ทางพรรคอนาคตใหม่โดยคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคุณปิยบุตร แสงกนกกุล ออกแสดงจุดยืนและความคิดเห็นต่อประเด็นนี้โดยชัดเจนผ่านทางไลฟ์เฟซบุ๊กของทางพรรคไปแล้ว ว่าความเห็นดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร ทั้งยังเรียกร้องให้ กกต. ออกคำสั่งดังกล่าวนี้ออกมาอย่างเป็นทางการ อย่าแค่โทรมา เพื่อทางพรรคตนจะได้ดำเนินการตอบโต้ทางกฎหมายได้ และด้วยความรวดเร็วครับ ทางกกต. ก็ได้แถลงมาตรการดังกล่าวออกมาแล้วต่อทางสาธารณชน
ด้วยความที่ตัวผมเองนั้นประกาศตัวชัดเจนมาโดยตลอดว่า ในทางการเมืองแล้ว ผมยืนอยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับเผด็จการทหารอย่าง คสช. ฉะนั้นหากผมเกริ่นเรื่องนี้ขึ้นมา ก็อาจจะมีคนเข้าใจได้ว่าผมจะมาเขียนอภิปรายว่า “การห้ามไม่ให้พรรคการเมืองรับบริจาคนั้น กกต.และกติกาของ คสช. มันผิดมันแย่อย่างไร” ซึ่งหากมีคนที่รออ่านอะไรทำนองนั้นอยู่จากบทความชิ้นนี้ ผมก็ต้องขออภัยไว้ล่วงหน้า เพราะผมคงจะไม่ได้เขียนถึงมัน ไม่ใช่เพราะผมเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่โอเคหรือถูกต้องอะไร ตรงกันข้ามผมเองก็มองว่าเป็นเรื่องที่แย่เรื่องที่ผิดนี่แหละครับ และเป็นเรื่องที่ผิดแบบชัดเจน เป็นความหน้าด้านทางการเมืองที่เด่นชัดชนิดไม่กลัวสายตาเหม็นเบื่อและดูแคลนอะไรใดๆ อีกต่อไป
ฉะนั้นส่วนที่ผมอยากพูดถึงกลับเป็นท่าทีของฝ่ายปฏิกิริยาจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่เคลมตัวเองว่าเป็น ‘ลิเบอรัล’ ทั้งหลายในประเด็นนี้น่ะครับ คือ มีคนจำนวนเยอะมากๆ เลยที่พอได้ข่าวนี้แล้ว มีความเห็นหรือคอมเมนต์โต้ตอบมาในทันทีว่า “แล้วทีพรรคของสุเทพ (หรือพรรค ‘รวมพลังประชาชาติไทย’) ที่เร่ขอเงินบริจาควันละบาทเล่าทำไมไม่โดนบ้าง?” หรืออะไรทำนองนี้ และทางพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็ออกมาเลี่ยงบาลีแบบหน้ามึนมากๆ ด้วยว่า “นั่นไม่ใช่การรับบริจาค แต่เป็นเพียงแค่ค่าบำรุง” ซึ่งวิญญูชนย่อมทราบได้ว่านั่นคือการแถตามสไตล์คนพวกนี้อยู่แล้ว เป็นธรรมชาติของเขา อย่างไรก็ดีปัญหาอยู่ตรงนี้ครับว่า ‘ข้อโต้แย้ง หรือคำตอบโต้’ ว่า “ทำไมทำแต่กับพรรคอนาคตใหม่ ไม่ทำกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยบ้าง?” มันผิดครับ และน่าเสียใจด้วยที่คนใช้ข้อถกเถียงแบบนี้คือคนที่พยายามเคลมว่าตัวเองคือลิเบอรัลของประเทศนี้
ข้อถกเถียงแบบที่ว่านั้นมันผิดอย่างไร? ข้อถกเถียงแบบที่ว่านี้ มีชื่อเรียกครับว่า ‘Whataboutism’ ซึ่งผมเข้าใจว่ายังคงไม่มีคำแปลไทย และหากจะมีก็แปลลำบากไม่น้อย อาจจะต้องแปลว่า ‘เฉไฉนิยม’ หรือ ตรงตัวกว่านั้นก็คงจะเป็นคำว่า ‘แล้วทีพวกนั้นล่ะนิยม’ อะไรแบบนี้
ฟังดูตลกๆ นะครับ แต่โดยเนื้อแท้แล้ว Whataboutism ก็คือคำที่ใช้เรียกพวกคนหรือข้อถกเถียงที่เอาแต่พูดว่า “what about…” หรือเป็นไทยก็คือ “แล้วที… (ไอ้นั่นไอ้นี่ไอ้นู่น) …ล่ะ?” นั่นเอง เช่น การที่ประเด็นของการวิจารณ์นั้นอยู่ที่ว่า นาย A ทำพฤติกรรม X ได้อย่างไร แบบนี้มันผิดนะ? ฝั่งที่เอาแต่ใช้ Whataboutism ก็จะเฉไฉไปว่า “แล้วทีไอ้ B ล่ะทำไมทำ X เหมือนกันได้?” หรือสั้นว่าๆ “ไอ้ B ก็ทำเหมือนกัน” เป็นต้น
หากว่ากันแบบจริงจังขึ้นแล้ว เราพอจะพูดได้เลยล่ะครับว่า Whataboutism นั้นคือ ลักษณะความผิดพลาดหรือบกพร่องทางตรรกะ (Logical Fallacy) แบบหนึ่งที่เรียกกันว่า Tu quoque ซึ่งเป็นภาษาลาตินแปลว่า “you also” หรือ คุณก็เช่นกัน อย่างไรก็ตาม Whataboutism นั้นเป็นคำที่ถูกนำมาใช้ในเชิงการเมืองสูงมาก ทำให้มันค่อนข้างมีมิติของชีวิตของมันเองนอกเหนือไปจากความเป็น logical fallacy โดยบริสุทธิ์แบบ Tu quoque คือ ในบริบททางการเมือง เฉพาะการเปรียบเทียบ (แล้วที…ล่ะ) ในเงื่อนไขบางแบบเท่านั้นที่มักจะถูกประณามว่าเป็น Whataboutism ซึ่งเดี๋ยวผมค่อยอภิปรายต่อไปนะครับ กับอีกส่วนหนึ่งก็คือ Whataboutism นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแค่ ‘คุณ’ (you) แต่จะแทนที่ด้วยใครเข้ามาก็ได้ (คือใช้บุคคลที่ 3 มาอ้างก็ได้) ในขณะที่ Tu quoque มักเป็นการใช้ตัวคู่ถกเถียงหรือบุคคลที่ 2 มาย้อนเถียงกลับไป
คำว่า Whataboutism ซึ่งแลดูเหมือนจะเป็นคำจิกกัดที่ใหม่มากๆ นี้ เอาเข้าจริงๆ แล้วก็มีอายุอานามไม่น้อยนะครับ แม้อาจจะไม่ได้ย้อนไปหลายศตวรรษแบบคำใหญ่คำโตทั้งหลาย พจนานุกรมรากศัพท์โดยมากเชื่อว่าคำนี้มีรากมาจากคำว่า ‘Whataboutery’ ซึ่งถูกใช้ครั้งแรกในช่วงที่เกิดกรณี The Troubles ปัญหาความขัดแย้งในไอร์แลนด์เหนือในช่วงทศวรรษ 1960s – 1998 ครับ และคำว่า Whataboutism นี้เองก็เชื่อกันว่าเกิดมาในช่วงระหว่างทางนี้ บ้างก็บอกว่าน่าจะเกิดในช่วงทศวรรษ 1970s บ้างก็ประเมินว่าน่าจะเป็นช่วงทศวรรษ 1990s เสียมากกว่า แต่จะอย่างไรก็ตาม คำนี้ก็ดูมีการใช้งานมาอย่างน้อยก็ 3 ทศวรรษแล้ว (แต่คำมันกวนตีนมากจนชวนให้คิดว่าเพิ่งจะมีมาได้แค่สามสี่ปีนี้ และคำนี้ก็มาดังในสื่อมากๆ ช่วงรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ นี่เองนะครับ)
แล้วไอ้ Whataboutism นั้นเป็นปัญหาในเชิงการให้เหตุผลอย่างไร? เอาเข้าจริงๆ มันเป็นกลไกในการเฉไฉเบี่ยงประเด็นน่ะครับ เพื่อทำให้เลี่ยงตอบในประเด็นปัญหาที่ถูกจี้ถามอยู่ได้ ซึ่งความน่าตลกสำหรับผมก็คือ โดยปกติแล้วคนที่ใช้ Whataboutism นี้มักจะเป็นคนที่กำลังโดนโจมตี หรือต้องหาทางโต้ตอบประเด็นนั้นๆ อยู่เอง อย่างเช่น รัฐบาลประยุทธ์โดนตั้งคำถามหรือประณามเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนว่าทำอย่างนี้ได้อย่างไร? แล้วตัวประยุทธ์ก็ใช้ Whataboutism ด้วยการบอกว่า “แล้วทีทักษิณฆ่าตัดตอน หรือกรณีกรือเซะ-ตากใบล่ะ?” อะไรแบบนั้นครับ ลักษณะแบบนี้คือลักษณะ ‘ทั่วไปของการใช้งาน’ ซึ่งการตั้งคำถามต่อทักษิณในกรณีดังกล่าวนั้นก็เป็นเรื่องที่ควรต้องทำและทำให้มากๆ นะครับ แต่มันไม่ได้ตอบประเด็น หรือเป็นเหตุเป็นผลอะไรกับข้อถกเถียงแรกเริ่มที่ถามถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างไรนั่นเอง
ว่าง่ายๆ ก็คือ มันเป็นการเฉไฉโดยการ ‘ยกเคสคล้ายๆ กันมาเปรียบเทียบแล้วทำเสมือนว่าเรื่องที่ตนทำอยู่นั้นมันทำได้ไปเสีย หรือทำให้ประเด็นที่ยกมาเลือนหายไปเสีย’ นั่นเอง
แต่กรณีที่ผมรู้สึกว่าเจอบ่อยในประเทศไทยนั้น กลับไม่ใช่แค่ฝ่ายที่ ‘ตั้งรับในทางข้อถกเถียง’ (แบบกรณีประยุทธ์ที่ยกตัวอย่างไปตะกี้) เท่านั้นที่ดูจะใช้เหตุผลแปร่งๆ ในการตอบโต้แบบนี้ ฝ่ายที่ตั้งคำถามหรือตั้งประเด็น กลับใช้ Whataboutism เสียเอง โดยรู้สึกว่าใช้มันในการเสริมข้อถกเถียงตัวเอง แต่แท้จริงแล้วมันกลับตรงกันข้ามเลย ลองดูตัวอย่างแบบนี้นะครับ
สมมติให้มีการกระทำ X ที่เรากำลังบอกว่ามันเป็นการกระทำที่ ‘ผิด’ … ไม่ควรทำแบบนี้
แต่พร้อมๆ กันไป เราเองก็ดันใช้ Whataboutism ด้วยการบอกว่า “ทำไมอีกคนหนึ่งถึงทำแบบเดียวกันแล้วไม่โดน X บ้าง ต้องให้มันโดนด้วยสิ!” …ตรงนี้เห็นมั้ยครับว่าการกระทำ X ที่ตอนแรกเราบอกเองว่า มันผิดนะ มันไม่ควรทำ กลับถูกตัวเราเองนี่แหละบอกว่า ‘ต้องทำแบบนี้กับอีกคนด้วย’
นั่นหมายความว่าด้วยวิธีการใช้ Whataboutism แบบนี้ของฝั่งลิเบอรัลไทยจำนวนมาก ด้วยใจมุ่งหมาย (แบบผิดๆ) ว่าเจอเสริมข้อถกเถียงของตัวเอง กลับกลายเป็นการทำลายข้อถกเถียงของตัวเองเสีย เพราะกระทำที่ตัวเองบอกว่าผิด บอกว่าอย่าทำ กลับถูกบอกซ้ำโดยตัวเองว่าเออต้องทำให้เหมือนกันสิวะ!
เพราะฉะนั้นเราจึงเห็นกรณีแบบดังกล่าวนี้ครับ
- ไผ่ ดาวดิน โดนจับเพราะกดแชร์ข่าวของ BBC
ลิเบอรัลไทยก็ออกมาประณามว่า “การจับคนด้วยเหตุผลแบบนี้มันผิด มันแย่ มันไม่ได้ ต้องห้ามทำแบบนี้” (X)
พร้อมๆ กันไป ลิเบอรัลไทยที่หมายจะตอบโต้การกระทำ X นี้ของรัฐและเถียงช่วยไผ่ก็บอกว่า “แล้วทีคนอื่นแชร์อีกตั้งหลายพันคนทำไมไม่โดน (X) บ้างวะ?” หรือ “ทำไม BBC ที่เป็นคนเขียนข่าวไม่โดนบ้างวะ?”
คือ สรุปอยากให้มีการจับคนจากกรณีแบบนี้หรือไม่อยากกันแน่ครับ?
- กรณีของพรรคอนาคตใหม่โดนสั่งห้ามรับเงินบริจาคก็เช่นกัน มันคือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ไม่ควรเกิดขึ้น (X)
แต่พร้อมๆ กันไป ลิเบอรัลคิดไม่ถ้วนจำนวนมาก ก็ออกมาถามแซะว่า “อ้าว แล้วทำไมไม่ห้ามพรรคสุเทพบ้างวะ?”
เช่นกันครับ สรุปอยากจะเอายังไงกันแน่?
นี่แหละครับที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาที่ลิเบอรัลไทยต้องระวังกันมากๆ ในเรื่องการให้เหตุผล เพราะนี่มันเรื่องเบสิกมาก ที่คุณกำลังทำลายข้อถกเถียงของคุณด้วยน้ำมือตัวเอง ฝั่งอำนาจนิยมคงจะยินดีปรีดาเป็นแน่แท้ทีเดียว แต่แน่นอนครับนั่นไม่ได้หมายความว่า ‘การเปรียบเทียบความเท่าเทียมกันในเชิงมาตรฐาน’ นั้นจะทำไม่ได้เลย และถูกเหมารวมว่าเป็น Whataboutism เสียหมด อย่างที่ผมบอกครับว่าคำคำนี้เป็นคำทางการเมือง หากเราใช้มันถูกต้อง มันจะถูกทั้งในทางตรรกะและไม่โดนใช้คำนี้ด่าในทางการเมืองด้วย
คือ การเปรียบเทียบ หรือใช้ Whataboutism แบบพังๆ ของลิบฯ ไทยนั้น มันพังเพราะวางอยู่บนเงื่อนไขว่า “X คือสิ่งที่ผิดและไม่ควรทำ” เราไม่ยอมรับ X ในประโยคหนึ่ง แต่กับโอเคกับ X ในอีกประโยค ซึ่งมันไม่ไปด้วยกันครับ เพราะ X ที่อยู่ใน 2 ประโยคเมื่อนำมาจับเทียบใส่กันแล้ว ‘มันไม่ไปด้วยกันด้วยเหตุผล หรือไม่เป็นตรรกะ’ นั่นเอง จึงเปรียบเทียบกันแล้วเราพังเอง แต่หากสิ่งที่เปรียบเทียบนั้น ‘ไปในทิศทางเดียวกัน’ คือ X เป็นสิ่งที่เราเสนอว่า “ควรต้องทำ ควรต้องมี เป็นสิ่งที่ถูกต้อง” แล้ว การใช้งานมันก็จะถูกต้อง และกลายเป็น Equality comparison หรือการเปรียบเทียบระดับความเท่าเทียมกันอะไรไปได้ครับ ว่าอีกอย่างก็คือ เงื่อนไขของ Whataboutism ในทางการเมืองก็คือ เนื้อความที่ 1 กับเนื้อความที่ 2 นั้น มันมีนัยที่ ‘ขัดกันเอง’ อยู่ด้วย ซึ่งส่งผลให้มันไม่เป็นเหตุเป็นผล แต่ถ้ามันเป็นเหตุเป็นผลกัน ก็ไม่ได้เรียก Whataboutism ครับ
ผมก็ขอฝากให้ไปลองคิดเล่นๆ ดูนะครับว่าไปมือลั่นปากลั่นเขียนหรือพูดอะไรที่พังข้อเสนอตัวเองกันหรือเปล่าครับ