1
คุณรู้จัก ‘การเหยียดอย่างเป็นระบบ’ หรือ Systematic Racism ไหมครับ
การเหยียดแบบนี้ บางคนเรียกว่าเป็น Institutional Racism คือเป็นการเหยียดที่ ‘ฝัง’ อยู่ในสถาบันทางสังคมหรือสถาบันทางการเมืองกันเลยทีเดียว โดยคนที่เหยียดมักจะเป็นคนที่มีสถานะสูงกว่าอย่างคนผิวขาวทั้งหลาย โดยคนผิวขาวที่กำลังเหยียดอยู่นั้นไม่ค่อยรู้ตัวหรอกว่าพวกเขากำลังเหยียดอยู่ เพราะมันเป็นการเหยียดที่ฝังลึกอยู่ข้างใน และเวลาเหยียดก็ไม่ได้ตั้งใจเหยียด
ตัวอย่างการเหยียดแบบนี้มีเยอะนะครับ แต่ที่ผมได้ฟังจากพอดแคสต์หนึ่ง (ซึ่งก็ต้องขออภัยที่จำไม่ได้แล้วว่าเป็นพอดแคสต์ไหน แต่สามารถหารายละเอียดเรื่องที่จะเล่าให้ฟังต่อไปนี้ได้จากหลายแหล่งนะครับ) เขาเล่าถึงการเหยียดเชิงสถาบันที่วงการประกันภัยเหยียดคนผิวสี เป็นการเหยียดที่ไม่มีใครรู้ตัวสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะคนเหยียดหรือคนถูกเหยียด ทำให้การเหยียดนี้ดำรงอยู่มายาวนานจนเพิ่งเลิกกันไปไม่นานมานี้เอง
พอดแคสต์นี้บอกว่า คนผิวสีต้องจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพในอัตราที่สูงกว่าคนผิวขาว เพราะบริษัทประกันดูจากอายุขัยเฉลี่ยของคนผิวสีและคนผิวขาว แล้วพบว่าคนผิวสีมีโอกาส ‘อายุสั้น’ กว่าคนผิวขาว เมื่ออายุสั้นกว่า ก็แปลว่ามีโอกาสตายหรือเจ็บไข้ได้ป่วยง่ายกว่า เบี้ยประกันก็ต้องสูงกว่าตามไปด้วย
แต่คำถามที่เกิดขึ้นในระยะหลังก็คือ แล้วอะไรเล่าที่ทำให้คนผิวสีต้องประสบพบพานกับชีวิตที่ยากลำบากกว่าคนผิวขาว?
มีการศึกษาของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเยล (ดูรายละเอียดที่นี่ www.nytimes.com) พบว่าโดยเฉลี่ย ทุกๆ 100 เหรียญ ที่ครอบครัวคนผิวขาวหามาได้นั้น คนผิวดำจะหาเงินได้ 57.30 เหรียญ พูดง่ายๆ ก็คือ คนผิวขาวหาเงินได้มากกว่าคนผิวดำเกือบสองเท่า ส่วนเงินออมนั้น ทุกๆ 100 เหรียญ ที่ครอบครัวคนผิวขาวออมได้ คนผิวดำจะมีเงินออม 5.04%
นี่คือตัวเลขที่ ‘ช็อก’ คนอเมริกันมาก เพราะมันแสดงให้เห็นว่า กระทั่งในปัจจุบันนี้ และในประเทศที่แลดูแสนดีมีความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำของคนที่มีสีผิวต่างกันก็ยังแสดงตัวฟ้องออกมาเป็นตัวเลขให้เราเห็นอยู่ดี
คนผิวดำหาเงินได้น้อยกว่า มีเงินออมมากกว่า แล้วยังต้องจ่ายค่าใช้จ่ายพื้นฐานอย่างประกันสุขภาพในราคาที่แพงกว่าอีกหรือ
เรื่องแบบนี้ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า – นี่ไม่ใช่ปัญหาเชิงโครงสร้างหรอกหรือ นี่ไม่ใช่เรื่องเชิงวัฒนธรรมที่ฝังลึกจนกระทั่งผลิดอกออกผลมาเป็นนโยบาย การจัดการ และสาธารณูปโภค ที่ส่งผลให้คนผิวสีจำนวนมากต้องยากจนและมีปัญหาต่างๆ ทั้งในด้านสาธารณสุข อาชญากรรม ฯลฯ จนอายุขัยเฉลี่ยของคนผิวสีสั้นกว่าคนผิวขาวหรอกหรือ
เรื่องทำนองนี้นี่แหละครับ ที่เรียกกันว่า – การเหยียดอย่างเป็นระบบ
2
ในอีกด้านหนึ่ง ระยะหลัง ผมค่อนข้างประหลาดใจเล็กน้อย ที่พบว่าเริ่มมี ‘วิธีวิจารณ์’ แบบหนึ่งเกิดขึ้นหนาหูหนาตา นั่นก็คือวิธีวิจารณ์ ‘ความขาว’ ของ ‘คนขาว’
สมมติมีใครอ้างอิง (หรือ Quote) นักวิชาการที่เป็นผิวขาวมากหน่อย ก็อาจมีเสียงวิจารณ์ออกมาได้ว่า – นี่ไง, ดูสิ ขนาดอ้างอิงก็ยังอ้างอิงแต่คนผิวขาว
ผมไม่แน่ใจว่าวงการอื่นๆ เป็นแบบนี้มากน้อยแค่ไหนนะครับ แต่ที่เห็นบ่อยครั้งมากขึ้นในระยะหลัง ก็คือวงการเฟมินิสต์
วลีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ ‘ด่า’ กัน ก็คือ White Feminism หรือ ‘เฟมินิสต์ขาว’ โดยมีคำอธิบายว่า ‘ขบวนการเฟมินิสต์ขาว’ คือกลุ่มคนที่ครอบงำวงการเฟมินิสต์มาเป็นเวลานาน และแม้คนเหล่านี้จะต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของผู้หญิง แต่เหล่าเฟมินิสต์ขาวก็ได้ละเลยผู้หญิงที่เป็นชนกลุ่มน้อย รวมถึงผู้หญิงที่ด้อยโอกาส (ไม่มี Privileges เหมือนผู้หญิงผิวขาว) ปล่อยให้คนเหล่านี้ตกอยู่ใต้โครงสร้างแบบชายเป็นใหญ่ที่ถูกกดขี่
บทความน่าสนใจบทความหนึ่ง เป็นงานเขียนเมื่อกลางปีที่แล้วของเฟมินิสต์จากโดมินิกัน ชื่อราเควล โรซาริโอ ซานเชส (Raquel Rosario Sanchez) (สามารถอ่านรายละเอียดได้ที่นี่ www.feministcurrent.com)
ซานเชสบอกว่า เธอเคยอยู่ในอเมริกา และเคยเถียงกับเพื่อนร่วมชั้นที่เป็นผู้ชาย โดยเพื่อนคนนั้นบอกว่าพวก ‘เฟมินิสต์ขาว’ นี่แหละ คือปัญหาสำคัญและร้ายแรงในขบวนการต่อสู้เพื่อผู้หญิง เพราะพวกเฟมินิสต์ขาว สร้างองค์ความรู้และแกนการต่อสู้โดยเอาชีวิตตัวเองเป็นศูนย์กลาง และเนื่องจากในแวดวงวิชาการด้านสตรีศึกษาในอเมริกาก็มักจะมีแต่ผู้หญิงผิวขาวเป็นหลัก การต่อสู้ที่มีเฟมินิสต์ขาวครอบงำจึงเป็นเรื่องที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนานเกือบตลอดประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางเพศ
ตอนนั้น ซานเชสไม่ค่อยเห็นด้วยกับเพื่อนสักเท่าไหร่ เธอเห็นว่านั่นจะเป็นการตอกลิ่มทำให้เกิดความร้าวฉานในหมู่เฟมินิสต์ เพราะเป็นการแบ่งแยกเฟมินิสต์ออกเป็นกลุ่มๆ ในขณะที่เฟมินิสต์โดมินิกันไม่เคยคิดอะไรแบบนี้ เพราะเฟมินิสต์โดมินิกันมีความเป็น ‘อันหนึ่งอันเดียวกัน’ (เธอใช้คำว่ามีการต่อสู้ที่ Consistent) คือสู้เพื่อผู้หญิงในชนบท ผู้หญิงชนชั้นแรงงาน และผู้หญิงที่อพยพเข้ามาในประเทศ
ซานเชสอธิบายด้วยว่า พวกเฟมินิสต์คลื่นลูกที่สาม (ซึ่งเป็นเฟมินิสต์ผิวขาวที่มีความ ‘ก้าวหน้า’ ที่สุด) มักจะพยายามก้าวข้ามเส้นเรื่องเพศไป จะมีการใช้ภาษาอย่าง ‘ความเลื่อนไหลทางเพศ’ หรือ Genderfluid, Multi-Gender หรือ Genderqueer ซึ่งในโลกตะวันตกนั้น Gender Studies (ไม่ใช่ Women Studies) เริ่มเป็นที่นิยมอย่างมากในชั้นเรียน ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘อัตลักษณ์ทางเพศ’ (Gender Identities) ขึ้นมา พร้อมๆ กับแนวคิดเรื่อง Non-Binarism คือโลกไม่จำเป็นต้อง ‘ถูกขัง’ อยู่ใน ‘กล่อง’ ของสองเพศก็ได้ แต่สามารถแตกกระจายไปเป็น ‘ตัวตน’ ใหม่ๆ ได้ไม่รู้จักจบสิ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาโดมินิกันแล้ว ซานเชสครุ่นคิดถึงเรื่องนี้อย่างหนักหน่วง เธอเริ่มสงสัยว่า เจ้าการต่อสู้แบบ Gender Identity คือการแตกกระจายของตัวตน ไม่ต้องถูกขังอยู่ในกล่องหรือกรอบทางเพศนั้น มันมี ‘ความหมาย’ อย่างไรกับผู้หญิงและเด็กหญิงชาวโดมินิกันหรือเปล่า เพราะผู้หญิงโดมินิกันไม่ได้ถูกกดเหยียดแค่ในเรื่องตัวตนทางเพศอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องอื่นๆ อีก เช่น ความยากจน เชื้อชาติ และอื่นๆ
เธอเล่าว่า ปัญหาหนักหน่วงทางเพศในโดมินิกันไม่ใช่การต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่จะสร้างตัวตนทางเพศแบบไหนก็ได้ แต่ปัญหาใหญ่เรื่องหนึ่งก็คือการแต่งงานตั้งแต่ยังเด็ก (Child Marriage) ซึ่งโดมินิกันและประเทศในแถบแครริบเบียนมีอัตราการแต่งงานแบบนี้สูงมาก ผู้หญิงจำนวนมากแต่งงานตั้งแต่ก่อนอายุ 18 ปี ซึ่งถือเป็นการตัดโอกาสหลายๆ อย่างในชีวิตของพวกเธอลง การตั้งท้องมีลูกตั้งแต่อายุยังน้อยก็เป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตต่างๆ นานา เช่น เสียชีวิตขณะคลอด หรือมีภาวะอื่นๆ (เช่นความดันโลหิตสูง) ที่ทำให้สุขภาพร่างกายไม่ดีไปตลอดชีวิตอีกด้วย
ฟังอย่างนี้แล้ว คุณอาจคิดว่าถ้าโดมินิกันมีแนวคิดจะทำให้การแต่งงานตั้งแต่ยังเด็กเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซานเชสก็น่าจะเห็นด้วย แต่ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเธอมีข้อโต้แย้งอีกเรื่องหนึ่ง เป็นข้อโต้แย้งทางวัฒนธรรม
ซานเชสบอกว่า ในวัฒนธรรมโดมินิกันนั้น เด็กหญิงต้องทำงานบ้านหนักหนามาก ถูกตี ถูกเฆี่ยน ต้องดูแลบ้าน ซักเสื้อผ้า ทำความสะอาดบ้าน แต่ในเวลาเดียวกันก็ถูกซ้อมหรือตกเป็นเหยื่อทางอารมณ์ให้พ่อแม่ญาติพี่น้องได้ง่ายๆ ซึ่งนี่เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม ทำให้เด็กหญิงโดมินิกันจำนวนมากอยากแต่งงานเร็วๆ จะได้ ‘หนี’ ออกจากบ้านและปัญหานี้
แต่ต่อให้หนีออกจากบ้านได้แล้ว ที่สุดก็ยังต้องลงเอยมีชีวิตแย่ๆ อยู่ดี เพราะผู้หญิงโดมินิกันมีอัตราว่างงานสูงมาก ไม่สามารถหางานทำได้ ไม่เหมือนผู้ชาย ค่าแรงที่ได้รับเมื่อเทียบกับผู้ชายก็แตกต่างกันราวฟ้ากับเหว นั่นก็เพราะสังคมคาดหมายว่า ผู้หญิงจะต้องเป็นเพศที่ทำงานบ้าน อยู่แต่ในบ้าน จึงมีเงินออมน้อยกว่า ชีวิตมีทางเลือกน้อยกว่า
ซานเชสตั้งข้อสังเกตสำคัญขึ้นมาคำถามหนึ่งว่า ชีวิตของผู้หญิงโดมินิกันและผู้หญิงที่ถูกกระทำอย่างหนักหน่วงอื่นๆ ในโลกนั้น นอกจากจะมีทางเลือกในชีวิตแบบอื่นๆ น้อยกว่าผู้หญิงผิวขาวแล้ว พวกเธอยังไม่มีโอกาส ‘เลิกเป็นผู้หญิง’ ด้วย ไม่เหมือนผู้หญิงหรือเควียร์ผิวขาว ที่สามารถเปลี่ยนเพศกลับไปกลับมาอย่างไรก็ได้
พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเกิดเป็นผู้หญิงโดมินิกันแล้ว – ก็ต้องถูกขังอยู่ในความเป็นผู้หญิงไปชั่วชีวิต และต้องรับบทบาทแม่เมีย ฯลฯ เหล่านั้นไปชั่วชีวิตด้วยเช่นเดียวกัน
การที่พวก ‘เฟมินิสต์ขาว’ มาพูดเรื่อง Gender Identity จึงไม่มีความหมายอะไรเลยสำหรับคนอย่างเธอ
ซานเชสยกตัวอย่างคำพูดของซูซาน ค็อกซ์ (Susan Cox) ซึ่งเป็นเฟมินิสต์อีกคนหนึ่ง (และเอ่อ…ถ้าดูจากรูป ก็เป็นเฟมินิสต์ผิวขาวน่ะนะครับ แต่ผมไม่แน่ใจว่ามีสายเลือดผสมอะไรหรือเปล่า) ที่บอกว่าคำประกาศแบบ Non-Binary (หรือความเลื่อนไหลทางเพศ ไม่ต้องถูกจำกัดอยู่ในกล่องของเพศหญิงและชาย) นั้น, เป็นเหมือนการ ‘ตบหน้า’ ผู้หญิงทั้งปวง
ค็อกซ์ตั้งคำถามขึ้นมาว่า ก็ถ้าผู้หญิงคนไหนไม่ได้อยากจะออกจากความเป็นผู้หญิงล่ะ อยากจะ conform อยู่ในโลกของผู้หญิง ไม่ว่าจะโดยจำยอมหรือสมัครใจก็แล้วแต่ มิต้องถูกตราหน้าหาว่าเป็นพวกสนับสนุนลัทธิชายเป็นใหญ่หรอกหรือ?
ที่สำคัญก็คือ ค็อกซ์ตั้งคำถามว่า ในขณะที่เฟมินิสต์ขาวสายก้าวหน้าบอกว่าตัวตนทางเพศเป็นสิ่งที่ ‘ประกอบสร้าง’ ขึ้นมา แต่ถ้าย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์ทั่วโลก จะเห็นเลยว่าผู้หญิงที่ถูกกดขี่นั้น ล้วนแต่เป็นการกดขี่โดย ‘ฐานทางเพศ’ ทั้งสิ้น แล้วจะมาบอกว่าเพศเป็นเรื่องประกอบสร้างได้อย่างไร เพราะมันคือ ‘ความจริง’ ที่ผู้หญิงทั้งโลกต้องเผชิญอยู่แท้ๆ
ข้อเสนอของฝั่งก้าวหน้าบอกว่า เพศเป็นเรื่องประกอบสร้าง มันไม่ได้ ‘จริง’ ในความหมายที่แข็งตัวอยู่กับการแบ่งแยก แต่ผู้คนมองเห็นมันเป็นอย่างนั้นก็เพราะมันเป็นคำอธิบายที่ง่ายที่สุดและมองเห็นง่ายที่สุด แต่ซานเชสโต้แย้งว่า เพศเป็นเรื่องที่ ‘จริง’ มาตั้งแต่ทำอัลตร้าซาวด์เห็นว่าเด็กคนนั้นเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายแล้ว เพราะพอรู้ว่าเป็นเด็กผู้หญิงปุ๊บ การกดขี่ก็เริ่มต้นขึ้นทันทีทันควัน
ซานเชสยกตัวอย่างข้อเขียนของ ‘ผู้ชาย’ คนหนึ่ง คือ แกเบรียล สควาเลีย (Gabriel Squailia) ซึ่งเป็นนักเขียนชายที่ทาอายไลน์เนอร์และแต่งหน้า โดยบอกว่าการทาอายไลน์เนอร์ของเขาคือการกระทำทางการเมืองอย่างหนึ่ง เป็นการแสดงออกว่าเขาต้องการแสดงความงามแบบไหนออกไป และถ้าเมื่อไหร่ไม่ต้องการจะเป็นแบบนั้น เขาสามารถเปลี่ยนตัวตนได้เสมอด้วยการไม่ทาอายไลน์เนอร์หรือเปลี่ยนมาแต่งตัวแบบอื่น เพราะสควาเลียเห็นว่าตัวตนทางเพศนั้นเลื่อนไหล จะเป็นแบบไหนก็ได้
ซานเชสเถียงว่าสิ่งที่สควาเลียว่ามานั้นคือความเหลวไหล (Ridiculousness) แม้สควาเลียจะอ้างว่าการแต่งหน้าทำให้เขามีอำนาจแบบหนึ่ง ไม่แต่งหน้ามีอำนาจอีกแบบ แต่ถ้าเป็นผู้หญิงโดมินิกันอย่างซานเชสแล้ว เธอไม่สามารถ ‘หยุดการเป็นผู้หญิง’ (ที่ถูกกดขี่อยู่เสมอ) ได้เลย ถึงอย่างไรก็เธอก็ถูกกระทำจากอำนาจชายเป็นใหญ่อยู่ดี เพราะฉะนั้น แนวคิดแบบสควาเลียจึงใช้ไม่ได้กับเธอ
ซานเชสเชื่อแบบเดียวกับเคท ยัง (Cate Young) เฟมินิสต์ชาวทรินิแดดที่ให้นิยามพวก ‘เฟมินิสต์ขาว’ เอาไว้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีประเด็นเดียว เป็นเฟมินิสต์ที่ ‘ผิวเผิน’ ไม่สนใจเรื่อง Intersectionality (คือความสลับซับซ้อนของประเด็นอื่นๆ ที่มา ‘ตัดขวาง’ กันโดยเฉพาะการกดขี่เชิงโครงสร้างหรือการเหยียดเชิงระบบ) เป็นเฟมินิสต์ที่สนใจเรื่องตัวตน ส้นสูง การแต่งหน้า การเปลี่ยนนามสกุล แล้วก็ไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ที่ ‘ได้เปรียบเชิงโครงสร้าง’ รวมทั้งไม่เคยรู้สึกถึงปัญหา ‘เชื้อชาติ’ หรือ ‘สีผิว’ เลย เพราะตัวเองเป็นเฟมินิสต์ผิวขาวที่ได้เปรียบในทุกวิถีทางอยู่แล้ว
ซานเชสสรุปบทความของเธอว่า ถ้าหากคนที่เห็นว่าตัวเอง ‘ก้าวหน้า’ เหล่านั้นเชื่อใน Intersectionality จริงๆ (คือสนใจเรื่องเพศ เชื้อชาติ และชนชั้น ที่มาตัดพันกัน) ก็ต้องหยิบผู้หญิงและเด็กหญิงที่อยู่ ‘ชายขอบ’ และถูกกดขี่ – มาเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ในการต่อสู้สิ แต่ที่เธอเห็นนั้น พวกก้าวหน้าและนักกิจกรรมเควียร์ๆ ทั้งหลาย มักจะเป็น ‘ผู้ชาย’ (เธอใช้คำว่า Centering Men) ที่เชื่อว่าการกดขี่คือสิ่งที่เราจะ ‘เข้าๆ ออกๆ’ ล้อเล่นไปกับมันเมื่อไหร่ก็ได้ ตามการเปลี่ยนแปลงของอัตลักษณ์ทางเพศ
ความคิดของซานเชสนั้นน่าสนใจ เพราะมันคือการวิพากษ์ Identity Politics หรือการเมืองเรื่องตัวตนนั่นเอง แต่กระนั้นก็มีบางช่วงที่ผมคิดว่าน่าเป็นกังวลอยู่บ้าง
ในบทความตอนหนึ่ง ซานเชสบอกว่า สมัยที่เธออยู่ในอเมริกา เธอพบกว่าคนที่บ่นว่า ตำหนิติติง และวิพากษ์วิจารณ์พวก ‘เฟมินิสต์ขาว’ นั้น ส่วนใหญ่ก็คือ ‘เฟมินิสต์ขาว’ เองนั่นแหละ ซึ่งฟังดูเผินๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องดีใช่ไหมครับ เพราะเหมือนว่าเฟมินิสต์ขาวเหล่านั้นรู้จักตรวจสอบตัวเองด้วย แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ‘ทัศนคติ’ ของเฟมินิสต์รุ่นใหม่อย่างซานเชสต่างหากครับ
ซานเชสบอกว่า พอเจออะไรแบบนี้มากเข้า เธอกลับเริ่มสงสัยและไม่ค่อยไว้วางใจ ‘คนขาวทั้งหมด’ (All White People) ที่ใช้คำว่า White Feminism ขึ้นมา เธอรู้สึกว่า การที่ ‘คนขาว’ วิพากษ์วิจารณ์ ‘ความขาว’ ของ ‘เฟมินิสต์ขาว’ (โอ๊ย! จะขาวอะไรกันนักหนา) มันอาจเป็นแค่ ‘กลยุทธ์’ ในการ ‘นำเสนอ’ (Present) ตัวเองของคนขาวเหล่านั้นว่าพวกเธอคือคนขาวที่ ‘แตกต่าง’ และ ‘ดีกว่า’ คนขาวทั่วไปก็ได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือพยายาม ‘ฉายภาพ’ ว่าตัวเองเป็น Intersectional Feminist ที่สุดแสนจะคูล สุดแสนจะเข้าใจโลก เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ช่วยไม่ได้ที่บังเอิญดันเกิดมาขาว – ก็เท่านั้น
วิธีคิดแบบนี้ของซานเชสน่าสนใจ เพราะมันสะท้อนกลับไปสู่วาทกรรมวิพากษ์วิจารณ์ ‘ความขาว’ ของ ‘คนขาว’ ที่เราพบเห็นได้บ่อยครั้งขึ้นในปัจจุบันจนน่าประหลาดใจ โดยในหลายกรณี (ทั้งในไทยและในต่างประเทศ) ผมรู้สึกว่าคำวิพากษ์เหล่านี้มีทั้งที่บอกเป็นนัยและบอกอย่างโจ่งแจ้งว่า – แค่เป็นคนขาวก็ผิดเสียแล้ว
แต่ทำไมถึงเป็นแบบนั้นได้ล่ะครับ?
ทำไมเราถึงต้องทำลายอาการ ‘เหยียด’ โดยใช้ท่าทีแห่งการ ‘เหยียด’ เสียเองเล่า?
4
โลกมีการต่อสู้ทางความคิดที่ย้อนกลับไปกลับมาในประวัติศาสตร์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อเสียงเล็กเสียงน้อยที่เคยถูกกดเอาไว้มิดเม้ม สามารถเปล่งออกมาพูดให้คนได้ยิน เราก็จะได้ยินและเห็นสิ่งที่เราไม่เคยได้ยินและเห็นมาก่อน เช่นเสียงและภาพแห่งการเหยียดอย่างเป็นระบบที่เกิดขึ้นผ่านท่าทีเมตตาใจดี หรือเสียงประท้วงจากอีกฝั่งที่เกิดขึ้นจากความน้อยเนื้อต่ำใจทางการเมืองอันดุเดือดจนแลดูไร้เหตุผล
แต่ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไหนก็ตาม ดูเหมือนโลกปัจจุบันจะมีแต่คนตะโกนกรอกหูกัน การรู้จักฟังและตรวจสอบตัวเองกลับกลายเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อถูกเหยียด เรารีบเหยียดกลับ ยิ่งถูกเหยียดอย่างเป็นระบบ เหยียดแบบไม่รู้ตัว ก็ยิ่งเป็นไปได้อย่างมากที่เราจะเหยียดกลับอย่างเป็นระบบ เหยียดกลับอย่างไม่รู้ตัว โดยสรรหาคำอธิบายต่างๆ มารองรับ
ภาพหนึ่งที่ปรากฏขึ้นก็คือ สมัยก่อน มนุษย์ผิวขาวอาจเคยจิกหัวเรียกทาสว่าอีดำหรือนิโกรเพียงเพราะสีผิวของพวกเขา มาในปัจจุบัน การกลับข้างทางอำนาจก็เริ่มก่อให้เกิดแนวโน้มใหม่ในการด่าทอคนขาวเพียงเพราะสีผิวของพวกเขาด้วยเช่นกัน
แค่เป็นคนดำ – เราก็ไม่ฟังเขาแล้ว
แค่เป็นคนขาว – เราก็ไม่ฟังเขาแล้ว
แค่เพราะเขาสังกัดความคิดแบบนั้นแบบนี้ – เราก็ไม่ฟังเขาแล้ว,
กระนั้นหรือ?
ที่เล่าให้คุณฟังมาทั้งหมดนี้ ผมไม่มีข้อสรุปอะไรนะครับ เพียงอยากนำเสนอว่า ข้อถกเถียงเรื่องเฟมินิสต์ในโลกตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างแล้ว ทั้งหมดนี้จึงเป็นเพียงข้อสังเกตที่น่าเห็นใจในความเป็นมนุษย์ของพวกเราเอง,
ก็เท่านั้น