(1)
ผมมีโอกาสได้เจอ ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) คนปัจจุบัน ในระหว่างการประชุมนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ที่ไทย เป็นเจ้าภาพจัดขึ้นทุกปี เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
ในเวลานั้น ทีโดรสเพิ่งรับตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ WHO หมาดๆ ไม่ถึงปี และกำลังเดินสายขอบคุณประเทศสมาชิกที่ให้การสนับสนุน เลือกตัวเขา ขึ้นเป็นผู้อำนวยการใหญ่องค์กรระหว่างประเทศ ในฐานะคนผิวสีคนแรก และเป็นคนแรก ที่ไม่ได้เป็นหมอ
ประวัติโดยสังเขป ทีโดรสเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขชาวเอธิโอเปีย ขึ้นเป็นผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO ด้วยวาระสำคัญ นั่นคือการผลักดันให้ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ เป็นวาระระดับโลก ที่ประเทศสมาชิก WHO ทั้ง 194 ประเทศ ต้อง ‘บรรลุ’ เป้าหมาย คือมีระบบหลักประกันสุขภาพให้ได้ เนื่องจากคนทั่วโลกมากกว่าครึ่ง ยังคงเข้าไม่ถึงการรักษาที่มีคุณภาพ ราคาถูก และเมื่อเข้าไม่ถึงการรักษา ก็ทำให้ประชากรเหล่านี้ล้มป่วยด้วยอาการที่หนักกว่าที่ควรจะเป็น และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
เมื่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นวาระหลัก ไทยจึงเป็น ‘พระเอก’ เพราะเราผลักดันเรื่องนี้สำเร็จตั้งแต่โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่ปี ค.ศ.2001 ในสมัยที่ไทยยังเป็นประเทศที่ไม่ได้ร่ำรวย (และตอนนี้ก็ยังไม่ได้ร่ำรวย) ไทย จึงเป็นประเทศที่ทีโดรสให้ความสำคัญ
ในแวดวงสุขภาพระหว่างประเทศนั้น มีเสียงลือเช่นเดียวกันว่า ประเทศที่มีบทบาทสำคัญออกแรงสนับสนุนให้ทีโดรส เป็นผู้อำนวยการใหญ่ WHO นั้น ก็ไม่ใช่ใครอื่น แต่คือไทย ประเทศที่มี ‘ที่ยืน’ ใน WHO ค่อนข้างเยอะ จากความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเช่นกัน
การได้ทีโดรส มาเป็นผู้อำนวยการใหญ่ WHO จึงดีกับประเทศเล็กๆ อย่างไทย เพราะทุกครั้งที่ทีโดรสเดินสายประชาสัมพันธ์เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็มักจะหอบเอาความสำเร็จของไทยไป ‘โปรโมต’ ด้วย ทำให้ไทย มีพื้นที่ในเวทีโลกมากขึ้น
และแม้ไทยจะถูกฝั่งสหภาพยุโรป หรือฝั่งสหรัฐอเมริกาโจมตีเรื่องประชาธิปไตย เรื่องสิทธิมนุษยชนอยู่ต่อเนื่อง แต่เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ ‘จุดแข็ง’ สำคัญ ที่ไม่ว่าใครก็โจมตีไทยไม่ได้ แล้วก็กลายเป็น ‘จุดแข็ง’ สำคัญของนโยบาย ที่ทำให้รัฐบาล จากการยึดอำนาจ ไม่สามารถเลิกนโยบายนี้ หรือเปลี่ยนโครงสร้างของโครงการนี้ได้ง่ายๆ เช่นกัน
(2)
อย่างไรก็ตาม ภารกิจของ WHO ไม่ใช่เรื่องของการโปรโมตหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเดียว สิ่งที่ WHO ทำก่อนหน้านี้อย่างต่อเนื่องก็คือการจัดการ ‘โรคติดต่อ’ และ ‘โรคระบาด’ ผลงานในอดีตถือว่าสามารถจัดการกับโรคติดต่อได้สมน้ำสมเนื้อ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคติดต่อที่ว่ากันว่าเก่งที่สุดในโลก ทำงานกับ WHO และไม่กี่ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการระบาดของโรคซาร์ส โรคเมอร์ส WHO ก็สามารถจัดการได้ดี มีเพียงการระบาดของโรคอีโบลา ในแอฟริกาเมื่อปี ค.ศ.2014 เท่านั้น ที่ถูกค่อนขอดว่า ‘ช้า’
นอกจากนี้ ในทาง ‘การเมือง’ ผู้อำนวยการใหญ่ WHO ถูกตั้งคำถามเสมอ ว่าเป็น ‘ตัวแทน’ ของใครหรือไม่ มาร์กาเร็ต ชาน (Margaret Chan) ผู้อำนวยการใหญ่ คนก่อนหน้า ซึ่งมาจากฮ่องกง ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวแทนจีน ส่วนทีโดรส ซึ่งเป็นตัวแทนจากแอฟริกา ซึ่งจีนเข้าไปมีบทบาทด้านการค้า-การลงทุน อย่างสูงมานานกว่า 15 ปี ก็ถูกกล่าวหาว่าได้รับเลือกเพราะความสัมพันธ์อันดีกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน กลายเป็นว่า WHO เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีจีน เป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์แบบ
ว่ากันว่านี่ถือเป็นการ ‘ถ่วงดุล’ ในชาติมหาอำนาจ หากธรรมเนียมในองค์กรระหว่างประเทศในระยะหลังคือ ผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารโลก ต้องเป็นคนอเมริกัน ผู้อำนวยการใหญ่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ต้องมาจาก ‘ยุโรป’ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ผู้อำนวยการใหญ่ WHO จะมาจากร่มเงาของพญามังกร ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก
ก่อนหน้านี้ แม้บทบาทของทีโดรสจะโดนตั้งคำถามอยู่บ้าง เรื่องการกีดกันไต้หวัน ไม่ให้เข้ามาประชุมใน ‘สมัชชาใหญ่’ ขององค์การอนามัยโลก ตามคำขอของจีน หลังจากประธานาธิบดีไต้หวัน เปลี่ยนจาก หม่า อิงจิ่ว (Mǎ Yīngjiǔ) มาเป็น ไซ่ อิงเหวิน (Cài Yīngwén) ที่แข็งกร้าวกว่า หรือการแต่งตั้งโรเบิร์ต มูกาเบ้ (Robert Mugabe) อดีตประธานาธิบดีเผด็จการของซิมบับเว เป็น ‘ทูตสันถวไมตรี’ ขององค์การอนามัยโลก ด้วยเหตุผลว่าซิมบับเว ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการส่งเสริมสุขภาพ แต่ตัวเขา ก็ได้รับคำชื่นชมในฐานะ ‘นักการทูต’ ที่หัวไว มีบุคลิกที่เป็นมิตร และตอบคำถามในเวทีโลกได้ฉะฉาน
อันที่จริง หากไม่มีการระบาดของ COVID-19 วาระหลักของทีโดรส และของ WHO 4 ปี ในยุคนี้ น่าจะวนอยู่กับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และคงดำเนินไปอย่างเรื่อยๆ เอื่อยๆ ไม่หวือหวา แบบเดียวกับบทบาทของ WHO ที่เคยเป็นมาโดยตลอด
การมาถึงของ COVID-19 ได้เปลี่ยนทีโดรส
ให้เป็นหัวเรือใหญ่ในช่วงเวลา ‘สงคราม’ โรคระบาดทันที…
(3)
ในช่วงแรก WHO ถือว่าเคลื่อนตัวได้เร็ว ทีโดรสเดินทางไปจีนเพื่อเข้าพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิง (Xí Jìnpíng) ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่จีนประกาศปิดอู่ฮั่น ศูนย์กลางของการระบาด และประกาศว่าโรคนี้ สามารถติดต่อจากคนสู่คน ทว่าหลังจากนั้น เขาก็ถูกตั้งคำถามตลอดกับหลายการตัดสินใจ
ไม่ว่าจะเป็นการปฏิเสธ ไม่กำหนดให้โรคนี้ เป็น ‘ภาวะฉุกเฉิน’ ด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เพราะเชื่อว่าจีน สามารถจำกัดวงการระบาดได้ ท่าทีของ WHO ซึ่งสอดคล้องกับจีน ไม่ให้สนับสนุนการ ‘แบน’ การเดินทางของทุกคนที่มาจากจีน เพราะคิดว่าโรคนี้ยังอยู่ในจีนเท่านั้น หรือการเชื่อในข้อมูลจากนักวิทยาศาสตร์จีนทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มแรกว่าโรคนี้ไม่ระบาดจากคนสู่คน ทั้งที่เริ่มมีข้อมูลหลุดรอดมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ค.ศ.2019 แล้วว่า อาจมีการติดต่อจากคนสู่คน ทำให้นักวิทยาศาสตร์-นักระบาดวิทยาชั้นเอกของโลก ที่อยู่ใน WHO ไม่ได้เข้าไปสืบสวนเส้นทางการระบาดของโรค ตั้งแต่รู้ข่าว
ทั้งหมดนี้ ยังไม่นับรวมท่าทีของ WHO เรื่องการไม่แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยในช่วงแรก หรือการให้ประเทศ ‘มหามิตร’ อย่างไทย รับเรือสำราญ ‘เวสเทอร์ดาม’ สัญชาติฮอลแลนด์ ขึ้นฝั่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งไทยปฏิเสธแทบจะทันที ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง
ภายหลังไวรัสระบาดไปทั่วยุโรป และศูนย์กลางการระบาดเคลื่อนเข้าไปอยู่ในอเมริกาในเวลาต่อมา เกมการเมืองระหว่างประเทศได้ลาก WHO ซึ่งอยู่ในสถานะ ‘เป็นกลาง’ มาโดยตลอด ให้เข้าไปพัวพันกับความขัดแย้ง อเมริกา-จีน แทบจะทันที
องค์การอนามัยโลก เลยกลายเป็น ‘แพะ’ ตัวใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขู่ว่าจะตัดเงินสนับสนุน WHO เพราะเตือนอเมริกาช้าเกินไป และเข้าข้างจีนมากเกินไป ซึ่งหากอเมริกาตัดแหล่งทุนจริง อาจกระทบกับสถานะทางการเงินครั้งใหญ่ทีเดียว เพราะปีที่แล้ว อเมริกา บริจาคเงินเข้า WHO ถึง 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ไต้หวัน ก็ออกมาระบุว่า ถูก ‘กีดกัน’ ไม่ให้เข้าถึงข้อมูลหลายอย่างจากองค์การอนามัยโลก เพราะไม่มีสถานะเป็นสมาชิก
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำประเทศหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย บราซิล สหราชอาณาจักร และอีกหลายประเทศในยุโรป
ต่างก็แสดงความไม่พอใจบทบาทของ
WHO ด้วยระดับที่มากน้อยที่ต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ ทีโดรส ยังยืนยันว่า WHO ทำหน้าที่ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการ ‘ซื้อเวลา’ ออกไปอีกนานนับเดือน กว่าที่จะมีการระบาดในยุโรป และก็ออกตัวปกป้องจีนเองก็ให้ความร่วมมือทุกอย่างกับ WHO ไม่ว่าจะเป็นการแชร์รหัสพันธุกรรมของไวรัส และการให้เจ้าหน้าที่ของ WHO เข้าไปทำการสอบสวนโรค
แต่การตัดสินใจหลายอย่างของทีโดรสก็ถูกตั้งจับตา เช่น กรณีการส่งคนเข้าไปในจีน เพื่อสืบสวนโรคอย่างจริงจังในกลางเดือนกุมภาพันธ์ และการประกาศให้โรคนี้ เป็นการระบาดครั้งใหญ่ จาก epidemic เป็น pandemic ในวันที่ 11 มีนาคม หรือกว่า 1 เดือนครึ่ง นับจากการระบาดในอู่ฮั่น
ขณะที่ 2 ชาติ ที่เลือกไม่เชื่อ WHO และมีประสบการณ์อันเลวร้ายจากการระบาดของโรคซาร์สที่สุด อย่างไต้หวัน และฮ่องกง ได้กลายเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการจัดการกับไวรัสนี้มากที่สุด
(4)
แล้วสถานะของ WHO ที่เคยมีบทบาทเป็นกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด จะเป็นยังไงต่อ ในช่วงเวลาที่โรคนี้จะระบาดต่อไปอีกอย่างน้อยเป็นปี จนกว่าจะมีวัคซีน
สิ่งที่หลายคนมองข้ามก็คือโครงสร้างของ WHO ในปัจจุบัน ไม่ได้มีอำนาจในการจัดการ ลงโทษ หรือคว่ำบาตรใคร ซึ่งต่างจากโครงสร้างอื่นภายใต้สหประชาชาติ ขณะเดียวกัน อำนาจจริงก็ไม่ได้มีมากนัก หลายเรื่อง ต้องทำตามข้อเสนอของประเทศสมาชิก ‘สมัชชาใหญ่’ ที่เจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ แต่สิ่งที่ทำได้ก็คืออาศัยโครงสร้างที่มีสำนักงานใหญ่ และมีผู้แทนในประเทศสมาชิกทั่วโลก รวมถึงไทย ในการหา ‘อินไซด์’ ของการจัดการด้านสาธารณสุขในแต่ละประเทศให้มากที่สุด
ถึงอย่างไร บทบาทที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ WHO ยังต้องเป็นศูนย์กลางในการสืบสวนที่มาของโรคต่อไป (แม้จะมีข่าวว่าจีนจะไม่ให้ความร่วมมือ) ไปจนถึงการควบคุมการระบาดในประเทศยากจน ในแอฟริกา บางประเทศในละตินอเมริกา และในเอเชีย
ขณะเดียวกัน ขั้นตอนการพัฒนาวัคซีน คิดค้นวิธีการรักษา ก็ยังต้องอาศัย WHO เป็นศูนย์กลาง แม้ว่าทุกประเทศจะเดินหน้าทำของตัวเอง แต่ก็ยังต้องการตัวกลางในการประสานความร่วมมืออยู่ดี ไม่ว่าจะเกลียด ไม่ว่าจะรู้สึกว่า WHO ไม่เป็นกลาง หรือจะรู้สึกไม่ชอบหน้าผู้อำนวยการใหญ่อย่างทีโดรสก็ตามที
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ ธรรมชาติของช่วงหลังสงคราม เมื่อเรื่องนี้จบลง หลายประเทศจะเพิกเฉยบทบาทของ WHO มากขึ้น และจะเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ประเทศที่สนับสนุนองค์กรระหว่างประเทศแห่งนี้สุดโต่งอย่างจีน ซึ่ง WHO ก็ต้อง ‘ปฏิรูป’ องคาพยพของตัวเองครั้งใหม่ เพื่อรองรับกับ new normal ของการเมืองระหว่างประเทศที่เปลี่ยนไป
บทเรียนของเรื่องนี้ก็คือ เรื่องสุขภาพนั้น แยกออกไม่ได้จาก ‘การเมือง’ และเรื่องสุขภาพ ก็อยู่ไม่ได้โดยปราศจาก ‘การเมือง’ เช่นกัน ปัญหาก็คือ จะทำอย่างไรในการรักษาบทบาทของคนกลางด้านสุขภาพ ให้อยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์ใหม่ ที่การเมืองระหว่างประเทศจะแยกขั้วมากขึ้น ขัดแย้งกันมากขึ้น
รวมถึงจะรักษาตัวตนของตัวเองในทางวิชาการ และการจัดการโรคระบาด ต่อไปอย่างไรเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาติสมาชิกทั่วโลกหลังจากนี้