“เราไม่ใช่เครื่องจักรแห่งความคิดที่มีความรู้สึก เราคือเครื่องจักรแห่งความรู้สึกที่มีความคิด” – Antonio Damasio (We are not thinking machine that feels, we are feeling machine that thinks.)
คุณอาจพยายามแยกร่างกายออกจากจิตใจ แยกความคิดออกจากความรู้สึก คุณอาจคิดว่ามนุษย์ควรเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีเหตุผล อารมณ์นั้นเป็นส่วนเกินของชีวิต เพราะเหตุผลทำให้มนุษย์ฉลาด และมีวิวัฒนาการมาไกลจากสัตว์เดรัจฉาน เพราะสัตว์ทำตามสัญชาตญาณและความรู้สึก ไม่มีจิตสำนึกและศีลธรรม … ฯลฯ
ย้อนไปสมัย 20 ปีก่อนในสาขาประสาทวิทยา นักวิจัยด้านสมองและนักจิตวิทยาทั้งหลายพยายามโฟกัสอยู่กับ Cognitivism คือการศึกษาว่า ’ความคิด’ มีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์อย่างไร เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ก้าวหน้าวิวัฒนาการแตกต่างจากสัตว์อื่น Antonio R. Damasio นักประสาทวิทยา (Neurologist) ผู้มีความสนใจในวรรณกรรมและดนตรี เขาจึงเลือกโฟกัสศึกษาสมองด้าน ‘อารมณ์และความรู้สึก’ ซึ่งปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่ง Director แห่งสถาบัน the Brain and Creativity Institute จาก University of Southern California ได้เสนอแนวคิดว่าการแบ่งสมองออกเป็นสองส่วน (Dichotomy) ระหว่าง ‘ความคิด’ VS’ความรู้สึก’ นั้นไม่จริง
เราอาจคิดว่า‘การตัดสินใจ’ (Decision Making) เป็นเรื่องของเหตุผล สติปัญญา หรือตรรกะล้วนๆ แต่จริงๆ แล้วการตัดสินใจใช้ ‘ความรู้สึก’ มากกว่าที่เราคิด
หากพร่อง ’ความรู้สึก’ ไป เราไม่อาจตัดสินใจอะไรได้เลย
ในช่วงยุค 90s Damasio พบผู้ป่วยนามสมมติว่า Elloit ที่ชีวิตกำลังพัง เขาไม่ได้โง่ แต่กลับเลือกในสิ่งที่ผิด เมื่อถูกทดสอบ IQ, ความทรงจำระยะสั้น, ความทรงจำระยะยาว ความสามารถทางภาษา การรับรู้ คณิตศาสตร์ ความสามารถด้าน Cognitive Function ของเขาทุกอย่างปกติดี ซึ่งก่อนที่จะผ่าตัดเนื้องอกในสมอง เขามีการงานที่ดี แต่หลังจากนั้นเขาก็ทำงานผิดพลาด จนถูกให้ออกจากงาน ล้มละลาย แต่งงานและหย่าร้างซํ้าแล้วซํ้าเล่า แต่สิ่งที่น่าประหลาดเกี่ยวกับ Elloit ที่ Damasio สังเกตได้คือ ‘เขาสามารถเล่าชีวิตอันโศกนาฏกรรมของตัวเองได้อย่างเรียบเฉย ราวกับไม่ใช่ชีวิตของตัวเอง แต่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ เขาไม่รู้สึกทุกข์ตรมใดๆ เลย เมื่อ Damaiso ทดสอบโดยให้เขาดูภาพที่กระตุ้นอารมณ์ เช่น อาคารไฟไหม้ อุบัติเหตุน่าสยอง คนกำลังจมนํ้า ผู้ป่วยคนนี้กลับรู้สึกเฉยๆ กับภาพไม่แสดงอารมณ์ เขามีอาการบกพร่องทางความรู้สึก
Damasio จึงพบว่าอาการบกพร่องด้าน’ความรู้สึก’ นั้นกระทบต่อความสามารถในการตัดสินใจด้วย เช่น ผู้ป่วยที่บกพร่องทางอารมณ์อาจใช้เวลาไป 20-30 นาทีใคร่ครวญกับตัวเลือก เพราะเลือกไม่ได้ว่านัดครั้งต่อไปวันไหนดี (โดยให้เหตุผลว่า ทุกวันล้วนมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน แล้วจะเลือกได้อย่างไร นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังเลือกไม่ได้ว่าควรจะเลือกกินอาหารร้านไหน ระหว่างร้านที่มีคนเต็มหรือร้านที่ว่าง ทุกอย่างเป็นข้อมูลที่เขาให้เหตุผลได้ แต่กลับเลือกไม่ได้ เพราะบอกไม่ได้ว่าตัวเลือกไหนจะให้ความรู้สึกดีหรือแย่กว่ากัน เราต่างเลือกโดยการจำลองในหัวว่าการเลือกแต่ละข้อจะทำให้เรารู้สึกอย่างไร แต่หากเราไม่มีความรู้สึก การตัดสินใจก็ทำได้ยากไปด้วย ลองให้หุ่นยนต์ไปซื้อลิปสติกที่แผนกเครื่องสำอาง ปัญญาประดิษฐ์อาจจะงงไปเลยว่ามันแตกต่างกันอย่างไร
Damasio จึงตั้งสมมติฐานว่า Cognitive Ability (ความสามารถทางการคิด/ให้เหตุผล) อย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอให้มนุษย์ตัดสินใจ หลายคนประสบปัญหาหงุดหงิดแฟนที่ไม่สามารถออกความเห็นได้ว่า ‘กระเป๋าใบไหนดี?’ ‘เสื้อสีไหนดีกว่ากัน?’ ‘กระโปรงตัวนี้ดีไหม?’ ที่แฟนอึกอักลำบากใจ อาจเพราะไม่ได้ ’รู้สึก’ อะไรกับตัวเลือกที่เราเสนอไปเลยก็ได้ จึงทำให้เลือกไม่ถูก เพราะคนเราไม่ได้ตัดสินใจด้วยเหตุผลเพียงอย่างเดียว แต่มีการจำลองผลลัพธ์ด้านอารมณ์ (Emotional Results) มาเกี่ยวด้วย โดยอาศัยความจำหรือประสบการณ์ จำลองว่าหากเลือกสิ่งนี้แล้วจะรู้สึกยังไง จึงตัดสินใจได้
Antonio และ Hanna Damasio ภรรยาของเขา จึงเริ่มศึกษาและสืบค้นสมองในฝั่ง ‘ความรู้สึก’ เขาได้เขียนหนังสือถึงประเด็นนี้หลายเล่ม อันได้แก่ Descartes’ Error: Emotion, Reason and the Human Brain, Looking for Spinoza: Joy, Sorrow, and the Feeling Brain และในปีนี้ เขาได้ออกหนังสือชื่อ The Strange Order of Things: Life Feeling and Making of Cultures ประเด็นหลักของเขาคือ การแย้งกับนักคิดในประวัติศาตร์ที่ไม่ให้คุณค่ากับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ว่าอารมณ์ความรู้สึกมีส่วนช่วยสร้างวัฒนธรรมและวิวัฒนาการของมนุษย์ไม่แพ้ความฉลาดเลย
ในวีดีโอสั้นๆนี้ Antonio Damasio อธิบายถึงผู้ป่วยของเขาที่บกพร่องทางอารมณ์ สามารถให้เหตุผลและตรรกะได้ปกติ แต่ตัดสินใจเรื่องวันนัดหมายและตัดสินใจเลือกร้านอาหารไม่ได้
เวลาที่เราอกหัก ผิดหวัง โกรธ เศร้า เสียใจ เราอาจบอกตัวเองว่า “เฮ้ย! นี่มันแค่สารเคมีในสมอง”
คืนและวันอันน่ากลัว..ตัวแพ้ใจ แล้วความรู้สึกของฉันมาจากไหน?
เราเป็นมนุษย์ผู้มีสติปัญญา ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานจะไม่ยอมตกเป็นทาสของอารมณ์และความรู้สึก แต่ประสาทวิทยาได้อธิบายว่า ‘ความรู้สึก’ ไม่ใช่แค่สารเคมีที่เวียนว่ายอยู่ในสมองอย่างที่เราเข้าใจ ซึ่งกลไกความรู้สึกนั้นเกี่ยวพันกับสมองส่วน Limbic System อันมีกลไก Homeostasis ที่ทำให้ร่างกายสามารถรักษาภาวะสมดุลภายในร่างกายให้คงที่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ขั้นพื้นฐาน นอกจากนี้ Limbic System ยังเกี่ยวกับความรู้สึกเช่น ความโกรธ ความหิว ความกลัว ความสุข ฯลฯ ความรู้สึกช่วยให้เราเอาตัวรอด ผลักดันให้สู้ รู้หลบภัยยามมีสิ่งอันตราย (Flight of Fight) หากร่างกายชำรุด ระบบประสาทจะส่งสัญญาณไปยังร่างกายเพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยด้วย หรือหากต่อม Amygdala ของเราชำรุด ระบบความกลัวพัง เราอาจทำอะไรที่เสี่ยงภัยและเสี่ยงต่อชีวิต รวมถึงมีผลให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงด้วย อย่างเวลาที่เราอกหักแล้วมีความรู้สึกเจ็บจริงๆ (แบบที่กินยาแก้ปวดแล้วช่วยบรรเทาได้) นั่นเพราะร่างกายส่งสัญญาณว่านี่คือ Social Rejection ที่มนุษย์ควรเป็นสัตว์สังคมเพื่ออยู่รอดปลอดภัย นอกจากนี้ยังมี Hippocampus เกี่ยวข้องกับการสร้างความทรงจำระยะยาวด้วย
หากอ่านบทความนี้แล้วเบื่อหน่าย ร่างกายของคุณจะสั่งให้หาวออกมา เพื่อพาอ็อกซิเจนจำนวนหนึ่งสู่กระแสเลือด ช่วยให้คุณสนใจมันเพิ่มอีกหน่อย หากไม่ปิดแท็บนี้ไปเสียก่อน
“ผมไม่เห็นว่าอารมณ์และความรู้สึกจะเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ มันเป็นคุณสมบัติอันเบาบางราวเป็นไปอย่างที่หลายคนเข้าใจ ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ชัดเจน เกี่ยวข้องกับระบบเฉพาะในร่างกายและสมอง ไม่น้อยไปกว่าการมองเห็น หรือการพูด” Damasio พูดไว้ในหนังสือ Descartes’ Error (Descartes คือบิดาแห่งปรัชญาตะวันตก เจ้าของประโยคทองที่ว่า “I Think Therefore I Am.” เพราะฉันคิดฉันจึงเป็น …. แต่สมองและระบบประสาทของเราซับซ้อนกว่านั้นมาก) หากตัดส่วนความรู้สึกออก เราอาจจะบอกไม่ได้ว่าภาพนี้สวยหรือไม่ ความงามและความน่าเกลียดต่างกันที่ตรงไหน
เมื่อความรู้สึกของมนุษย์เกิดขึ้น เราไม่ได้รู้สึกด้วยสมองเพียงอย่างเดียว ระบบประสาทของสมองได้เชื่อมกับร่างกายส่วนอื่นๆ และแสดงออกผ่านทั้งร่างกายของเรา เช่น เรารู้สึกโกรธจนร้อนผ่าวไปทั้งร่าง ความดันโลหิตขึ้นสูง หัวใจเต้นรัว ตัวสั่นเทิ้ม
จากหนังสือ The Book of Human Emotions ที่พยายามจำแนกชื่ออารมณ์อันหลากหลายของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรม โดยในประวัติศาสตร์ ได้พูดถึงอารมณ์โกรธ (Anger) เอาไว้ว่าเป็นอารมณ์ที่มีพลังชัดเจน และรุนแรงในทุกวัฒนธรรม อย่างเช่น Seneca นักปราชญ์โรมันผู้มีแนวคิดแบบ Stoicism มองว่า ‘ความโกรธคืออารมณ์ที่อัปลักษณ์และบ้าคลั่งที่สุดในทุกอารมณ์’ ถือเป็นความวิกลจริตชั่วคราว ส่วน Icn Butlan นักปราชญ์อิสลามในศตวรรษที่ 11 เชื่อว่าความโกรธนั้นกำกับให้ร่างกายร้อนผ่าวดั่งไฟ ซึ่งไอร้อนนี้สามารถชุบชีวิตคนที่นอนอ่อนปวกเปียก ป่วยด้วยโรคจนลุกจากเตียงไม่ได้ และยังเชื่ออีกว่าพลังความโกรธนั้นรักษาอัมพาตได้
ไม่ใช่เพียงมนุษย์เท่านั้นที่มีความรู้สึก สัตว์ก็มีความรู้สึก Jaak Panksepp ผู้ศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์ของความรู้สึก เขาเลือกที่จะศึกษาอารมณ์ของสัตว์และพบว่าแม้แต่ไก่ก็มีความเศร้า สมองส่วนความรู้สึกนั้นเป็นส่วนที่โบราณ มนุษย์พยายามบอกว่าตัวเองเป็น Cognitive Animal แต่สัตว์เป็นเพียง Emotional Animals แต่หากเราเข้าใจอารมณ์โกรธของสัตว์ เราอาจรักษาคนที่เป็นโรคโกรธอย่างต่อเนื่องได้ โดยอารมณ์พื้นฐาน (Primal Feeling) มี 7 ประเภทคือ Seeking (Reward System, Enthusiastic), Rage (Pissed Off), Fear (Anxious), Lust (Horny), Care (Tender& Loving) , Panic (Lonely & Sad), Play (Joy) ซึ่งเหตุผลที่เพศหญิงและเพศชายแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างกันมาก อาจเป็นเพราะฮอร์โมนเพศชาย Testosterone เป็นฮอร์โมนที่ต่อต้านอาการร้องไห้ โดยการเข้าใจในกลไก pathway ของอารมณ์เหล่านี้ก็เป็นประตูไปสู่การรักษาโรคทางจิตวิทยา เช่น PanicAttack, Depression, Anxiety หรือ PTSD (Post-traumatic stress disorder)
Boys Don’t cry – The Cure เพราะผู้ชายมีฮอร์โมนที่ต่อต้านการร้องไห้ เลยอาจทำให้เพลงนี้เป็นเพลงฮิตตลอดกาล
เมื่อคุณเศร้า ความเศร้าไม่ได้อยู่แค่ในหัวของคุณ มันเข้าแทรกและกลืนกินครอบงำกายของคุณไปชั่วขณะ ฉะนั้นเมื่อใครก็ตามเครียด เขาจะปล่อยอากาศไปรอบตัวจึงทำให้คนรอบข้างสัมผัสได้ งานวิจัย ‘Your stress is my stress’ พบว่าความเครียดเป็นสิ่งที่ติดต่อกันได้ หากมีคนเครียด 1 คน ความเครียดจะแผ่ขยายกระจายกลืนกินพื้นที่นั้นจนคนรอบข้างรู้สึกเครียดไปด้วย อารมณ์ของเราอาจไม่ได้จบแค่ขอบของผิวหนัง แต่คือบรรยากาศที่เราสร้างให้กับห้องนั้นๆ ที่เราไปอาศัยอยู่
Emotions must be kept out!
Hey Descartes, เราไม่อาจแยกร่างกายออกจากจิตใจ
แม้นักคิดในประวัติศาสตร์ตะวันตกจะพยายามแยกร่างกายออกจากจิตใจ (Mind-Body) สงครามของความรู้สึกกับความชาญฉลาด (Feeling Versus Intellect) จึงดำเนินมาตั้งแต่ Plato, Rene Descartes หรือ Immanuel Kant ที่เชื่อว่าความรู้สึกต้องถูกจำกัดเพื่อสร้างเหตุผล Rene Descartes ได้กล่าวไว้ว่า “Cogito ergo sum” หรือ “I think; therefore I am.” เพราะฉันคิดฉันจึงเป็น แต่เรามิได้เป็นผลิตผลจากความคิดของเราเพียงเท่านั้น ดังที่ David Hume กล่าวไว้ว่า “เหตุผลอาจเป็นทาสแห่งแรงปรารถนา” (‘Reason’ as a ‘slave’ to the passions)
บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะชวนให้ทุกคนเทเหตุผลทิ้งไป แล้วมาใช้ความรู้สึกกันดีกว่า แต่อยากให้ลองย้อนมองดูว่าการตัดสินใจที่เราคิดว่าใช้เหตุผลและสตินั้น จริงๆ แล้วเราอาจจะใช้ความรู้สึกมากกว่าที่เราคิด เพราะหากใครบางคนพยายามโน้มน้าวให้เราเชื่ออะไรสักอย่าง เขาอาจใช้ความรู้สึกของเราเป็นอาวุธให้เราคล้อยตามโดยไม่รู้ตัวก็ได้
หากเราต้องการนำเสนอบางสิ่งอย่างให้กับเพื่อนร่วมโลก มนุษย์บนโลกอาจจะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจและรับรู้มากกว่าที่เราประเมิน สถิติที่น่าสนใจคือ ในการพรีเซนต์งาน ผู้ฟัง 63% จะจำเรื่องราวที่นำเสนอได้ แต่มีเพียง 5 % ที่จดจำสถิติในการนำเสนอได้ ก็ต้องเข้าใจว่ามนุษย์รักในเรื่องเล่าที่เขารู้สึกและเข้าถึงได้ เพราะคนเราต้องการความรู้สึก เรื่องเล่า และความหมาย ซึ่งเมื่อให้ประเมินคุณค่าของแบรนด์ MRI neuro-imagery ก็พบว่าผู้บริโภคใช้อารมณ์ (ความรู้สึกและประสบการณ์) มากกว่าใช้ข้อมูล (คุณสมบัติ ความสามารถ และข้อเท็จจริง)
อารมณ์อาจช่วยให้เราตัดสินใจได้เร็วไว ไม่ปวดหัว แต่ไม่ได้ทำให้เราตัดสินใจได้ถูกต้องเสมอไป งานวิจัยที่ชื่อว่า ‘How to Think, Say, Do Precisely the Worst Thing on Any Occasion’ โดย Daniel Wegner จาก Harvard พบว่า คนเราไม่ควรตัดสินใจในเวลาที่เครียดและโกรธ อาจฟังดู Obvious มากๆ แต่เขาได้ผ่าตัดสมองเพื่อสำรวจสมองที่ได้รับผลกระทบจากความเครียด
ส่วน Robert Sapolsky ได้เล่าถึงสมองส่วน Prefrontal Cortex อันเป็นส่วนวิจารณญาณที่วิวัฒนาการมาทีหลัง ไว้ในหนังสือ Behave: The Biology of Humans at Our Best and Worst เขาศึกษา Hippocampus เป็นเวลาหลายสิบปี ก่อนจะพบว่าน่าจะใช้เวลาอีกยาวนานศึกษาสมองส่วน frontal cortex เพราะเป็นส่วนของความคิดอันซับซ้อน การจัดการความรู้ จัดประเภทข้อมูล และการตัดสินใจไตร่ตรองถ้วนถี่ รู้ผิดชอบชั่วดี
Sapolsky ให้คำนิยามว่า “The Frontal Cortex makes you do the harder thing when it’s right thing to do” Frontal cortex ทำให้คุณเลือกทำเรื่องที่ยาก เมื่อมันเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นส่วนที่พัฒนาหลังสุด หากสมองส่วนความรู้สึกทำให้เราหิว Frontal Cortex จะบอกว่า “ไม่น่า นี่มันไม่ใช่ข้าวของเรา อย่ากิน” “ชอบเขา นี่ไม่ใช่แฟนของเรา เราจะไม่เป็นชู้ (ยกเว้นว่าเชื่อใน Polygamy)” ฯลฯ
แม้ Prefrontal Cortex จะเป็นสมองส่วนวิจารณญาณที่ได้พัฒนาซับซ้อนไปกว่าความรู้สึกพื้นฐาน โดยทำงานร่วมกับระบบ Limbic System ในการคิดพิจารณาและให้ความรู้สึก แต่หาก dlPFC (Dorsal Prefrontal Cortex) ส่วนที่ประมวลเหตุผลพัง จะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทั้งความประพฤติ การวางแผน และการรอคอยผลระยะยาว ทำให้อาจทำอะไรที่รุนแรงได้ หรือหากส่วน vmPFC (Ventromedial prefrontal cortex) ส่วนที่ประมวลความรู้สึกและการตัดสินใจพัง จะทำให้ไม่สามารถตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับความรู้สึกและสังคมได้ แต่สติปัญญา ความจำ และความสามารถในการประเมินจะเหมือนเดิม
มนุษย์บ้าเหตุผล Unemotional Robot ประเภท Mr. Spock ใน Star Trek อาจจะรันระบบปฏิบัติการด้วย dlPFC เท่านั้น Sapolsky ยกตัวอย่างว่า มนุษย์ dlPFC คือคนประเภทที่ทักคนอื่นว่า “นี่อ้วนขึ้นรึเปล่า” พอโดนโกรธ เขาจะพูดต่อไป “ก็มันจริงนี่” (จ้าาาา)
เรามักมอง’ความรู้สึก’ เป็น culprit ผู้ร้ายทำลายและจำกัด แต่มนุษย์ไม่ได้มีฟังก์ชั่นทีดีขึ้นหากตัดความรู้สึกส่วนเกินออกไป Sapolsky อธิบายว่าสมองทั้งสองส่วนไม่ได้ต่อต้านหรือคัดค้านกันอย่างที่เข้าใจ ในหัวของเราไม่ได้มีอารมณ์และเหตุผลไฟต์กันอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริงสมองทุกส่วนทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยเราตัดสินใจในปัญหาที่ยากและซับซ้อนสุดลึกลํ้าของการเป็นมนุษย์ได้อย่างราบรื่น
จักรวาลของความรู้สึก ซับซ้อน คลุมเครือ ละเอียดอ่อน วุ่นวาย ไม่ชัดเจน จนคุณอาจรู้สึกอึดอัดและไม่ปลอดภัย ไม่ใช่แค่คุณที่มีความรู้สึกนี้ เพราะ David Foster Wallace ได้บัญญัติศัพท์ความรู้สึกที่เรียกว่า ‘Ambiguphobia’ คือ ความรู้สึกไม่สบายใจที่จะทิ้งสิ่งต่างไว้ให้ตีความ ถามหาความหมาย’ (feeling uncomfortable about leaving things open to interpretation) มนุษย์หลงใหลการจัดประเภทและใส่ความหมายให้กับอาการและอารมณ์ที่อธิบายได้ยาก
มนุษย์แปลงความรู้สึกและส่วนลึกภายในให้กลายเป็นบทกวี งานศิลปะ ดนตรี คิดค้นศาสนาขึ้นมาบรรเทาความกลัวในอนาคตอันไกลหลังความตาย คิดถึงและกระทำเพื่อรางวัล จำลองเหตุการณ์และความรู้สึกที่ยังไม่เกิดขึ้นล่วงหน้าได้แสนนาน นี่คือสิ่งที่สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่นในโลกทำไม่ได้ David Eagleman นักประสาทวิทยา บอกว่า เราคือ Runaway Species เป็นสปีชีส์ที่วิ่งหนีอดีตไปข้างเรื่อยๆ เพราะเราพึงพอใจจะค้นหา ไม่ยอมหยุดกับที่ ไม่หยุดคิด ไม่หยุดสร้างสรรค์
เคยคิดเล่นๆ ว่าคงดีหากเราจะไม่ต้องพึ่งพากายหยาบ ไม่ตกอยู่ห้วงอารมณ์ความรู้สึกอันวุ่นวาย คงจะดีหากไร้ความทุกข์ ความกังวล ความโกรธ ความเครียด สามารถอัพโหลดสมองและสติปัญญาของตัวเองสู่ cloud ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาร่างกาย แต่เราไม่สามารถหลุดพ้นจากกลไกทางชีวภาพได้ และหากสมองและร่างกายของเรานั้นเข้าใจได้ง่ายๆ เราก็คงจะไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนมากนัก
“If the brain were simple enough for us to understand it, we would be too simple to understand it.” – Emerson M. Pugh
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Behave: The Biology of Humans at Our Best and Worst: Robert Sapolsky
www.amazon.com/Behave-Biology-Humans-Best-Worst - The Strange Order of Things: Life, Feeling, and the Making of Cultures: Antonio Damasio
www.amazon.com/Strange-Order-Things-Feeling-Cultures-ebook - “How to Think, Say, Do Precisely the Worst Thing on Any Occasion” – DM Wegner – 2009
dash.harvard.edu - Importance of Feelings
www.technologyreview.com - Science of storytelling: why and how to use it in your marketing
www.theguardian.com/science-storytelling-digital-marketing - Your stress is my stress, Merely observing stressful situations can trigger a physical stress response: MAX-PLANCK-GESELLSCHAFT
www.eurekalert.org - The science of emotions: Jaak Panksepp at TEDxRainier
www.youtube.com/watch?v=65e2qScV_K8 - The biological origins of culture
www.washingtonpost.com - The Book of Human Emotions: From Ambiguphobia to Umpty — 154 Words from Around the World for How We Feel
www.amazon.com/Book-Human-Emotions-Ambiguphobia-Around - “If the brain were simple enough for us to understand it, we would be too simple to understand it.”
quoteinvestigator.com
Illustration by Yanin Jomwong