“Sold Out”
คำสั้นๆ ที่ทำให้นักช้อปน้อยใหญ่หัวใจสลาย เมื่อไอเทมออนไลน์ที่อยากได้ ของที่มันต้องมีกลับพรีออเดอร์หรือซื้อไม่เคยทัน คลิ๊กเข้าไปเมื่อไหร่หมดสต็อกตลอด ใครมันจะมากดซื้อไวเกินมนุษย์มนาขนาดนั้น … ซึ่งก็คงไม่ผิดนักถ้าจะเข้าใจแบบนั้น เพราะสิ่งที่นักช้อปทั้งหลายกำลังเผชิญหน้าเพื่อแก่งแย่งซื้อสินค้าที่กำลังเป็นที่ต้องการนั้น ไม่ใช่เพียงมนุษย์นักกดพรีออร์เดอร์มืออาชีพคนอื่นๆ เท่านั้น แต่เป็นบอตที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกด “buy now” โดยเฉพาะด้วยอีกต่างหาก
บอต (bot) คือซอฟต์แวร์ที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อทำงานแบบเฉพาะเจาะจงอย่างอัตโนมัติ ชื่อเสียงของมันไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่หรอก เพราะส่วนใหญ่เมื่อมันถูกกล่างถึงในสื่อจะเป็นด้านลบซะส่วนใหญ่ อย่างเช่นบอตที่เอาไว้ทำปฏิบัติการด้านข่าวสาร หรือ information operation : IO (อ่านเรื่อง IO ต่อได้ที่ เมื่อแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่รัก IO : ทำไมเฟซบุ๊กต้องรายงานเรื่อง IO ให้เรารู้? (thematter.co)) เพื่อปั่นกระแสข่าวต่างๆ เป็นบอตที่เอาไว้กระจายข่าวปลอมและทฤษฎีสมคบคิด (Can we talk about dialog boxes? Here’s how to hunt this problem down | The Seattle Times) บอตบางตัวหลอกเอาเงินจากผู้โชคร้ายที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี หรือมีแม้แต่บอตที่ถูกติดตั้งบนคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้งานเมื่อไปคลิ๊กลิงก์บนเว็บไซต์สักอันหนึ่งแล้วคอยเปิดหน้าต่างใหม่ขึ้นมาให้ซื้อโปรแกรมกำจัดไวรัส
เหล่านี้คือข่าวที่เราเห็นทั่วไป แต่ที่จริงแล้วบอตสามารถทำอะไรได้มากกว่านั้น บอตที่สร้างขึ้นมาเพื่อทำเรื่องดีๆ ก็มีไม่น้อย เพียงว่ามันอาจจะไม่ค่อยมีคนพูดถึงมากเท่าไหร่
บอตมีอยู่หลายประเภท ที่เราคุ้นเคยกันดีอาจจะเป็น แชตบอต (chatbot) (ยกตัวอย่าง Ava ของ AirAsia) ที่บริษัทมากมายเริ่มหันมาใช้กันมากขึ้นเพราะบอตเหล่านี้สามารถตอบคำถามเบื้องต้นง่ายๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีลาพักร้อนหรือลาป่วย ทำงานได้ตลอดเวลา ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างพนักงานลงได้มากโข แม้จะมีบ้างที่ตอบไม่ได้ก็จะโยนไปให้มนุษย์ช่วยดูต่อ บอตอีกตัวที่เราอาจจะเห็นบ่อยๆ คือ seller bot หรือ บอตขายของ ที่ตอนนี้เริ่มมีการใช้กันมากขึ้นในเพจต่างๆ เป็นเซตคำถามให้ลูกค้า ถาม-ตอบ โอนเงินแบบไม่ซับซ้อนมากในกล่องข้อความ
แต่ภายหลังเราเริ่มเห็นบอตที่เรียกว่า buyer bot หรือ shopping bot เข้ามามีบทบาทออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพราะพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เปลี่ยนไป การช้อปปิ้งออนไลน์ถือเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันไปแล้วตั้งแต่ก่อน COVID-19 และหลังจากที่มีการระบาดจนทำให้คนไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้อย่างปกติ ยิ่งทำให้การซื้อของออนไลน์นั้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย (Kerry Express รายงานผลไตรมาสแรกว่าปริมาณจัดส่งพัสดุเพิ่มขึ้น 13% จากไตรมาสเดียวกันเมื่อปีก่อน) แต่บอตนักช้อปเหล่านี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อซื้อของทั่วๆ ไปอย่างซีอิ้วน้ำปลาหรอกนะครับ มันถูกสร้างขึ้นมาสำหรับสินค้าที่มีความต้องการสูงอย่างพวกรองเท้า limited edition ที่มีไม่กี่คู่ กระเป๋าแบรนด์เนมรุ่นหายาก การ์ดจอสำหรับขุดบิตคอยน์ หรือแม้แต่ PlayStation 5 ก็เช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างเคสของ PlayStation 5 ที่ตอนนี้ขาดแคลนมากในตลาด เพราะไมโครชิปยังขาดตลาดผลิตไม่ทัน เมื่อไหร่ก็ตามที่ร้านเริ่มขายกันออนไลน์ บางครั้งใช้เวลาไม่กี่นาทีก็ sold out แล้ว ความต้องการของสินค้าสูงมากๆ สูงจนกระทั่งราคาที่ขายกันออนไลน์นั้นสูงเป็นสองเท่าของราคาที่ Sony ตั้งเอาไว้ โดยตอนนี้ Sony ก็ไม่รู้เลยว่าไมโครชิปจะยังขาดตลาดไปอีกนานแค่ไหนและเมื่อไหร่ของจะมีวางขายบนท้องตลาดแบบไม่ต้องแก่งแย่งกันขนาดนี้ ตอนนี้เวลามีคนได้เครื่องมาครอบครองจะรู้สึกกับถูกหวยซะมากกว่าได้เกมคอนโซลใหม่มาเล่น
Sv Yesvanth วิศวกรความปลอดภัยข้อมูลคือหนึ่งในผู้สร้างบอตเพื่อตามหา PlayStation 5 ออนไลน์ บอกกับ The New York Times ว่า “มันยากมากๆ เลยถ้าจะซื้อได้โดยไม่ใช้บอต” ซึ่งเจ้าบอตที่เขาสร้างขึ้นมานั้น จะทำการแสกนเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีขาย PlayStation 5 เมื่อไหร่ก็ตามที่เว็บไซต์เหล่านี้เปลี่ยนสถานะว่ามีของ เขาจะเข้าไปกดซื้อก่อนคนอื่น เป็นเหมือนแต้มต่อที่เขามีมากกว่าคนอื่นๆ เพราะก่อนหน้านี้ตัวเขาประสบปัญหาว่าคลิ๊กเข้าไปเมื่อไหร่ก็ซื้อไม่ทันคนอื่นสักที แต่สุดท้ายหลังจากที่เขาสร้างบอ9ตัวนี้ขึ้นมา เขาก็ได้ PlayStation 5 มาครอบครอง แต่เขาก็ไม่หยุดแค่นั้น เขาเชื่อมบอตตของเขาเข้ากับ Twitter สำหรับใครก็ตามที่อยากซื้อ PlayStation 5 ก็ให้มากดติดตามเพื่อรับการแจ้งเตือนจากบัญชีนี้ได้
อีกประเภทหนึ่งของ buyer bot ที่น่าสนใจคือประเภทที่ไล่ซื้อเลยเพื่อเอาไปขายต่อ ซึ่งที่จริงแล้วบอตเหล่านี้ไม่ใช่ของใหม่ที่เพิ่งมี แต่ว่าอยู่มาได้สักพักหนึ่งแล้ว เพราะมันถูกใช้กับพวกรองเท้า Nike รุ่นที่หายากๆ คนกดซื้อกันอย่างรวดเร็ว มาบูมอีกทีก็ตอนที่เริ่มมีการกักตัวและ Nintendo Switch ได้รับความนิยมถึงขั้นขาดตลาดราคาพุ่งสูงไปเท่าตัวหรือมากกว่านั้น เกิดเหตุการณ์ตลอดมาเรื่อยๆ จนกระทั่งการขาดแคลนของกราฟิกการ์ดที่เอาไว้ใช้ขุดบิตคอยน์ที่ตอนนี้หาซื้อยากมากๆ รุ่นที่หายากสามารถขายได้ 3–4 เท่าจากราคาป้ายบน eBay ซึ่งทำให้บอตพวกนี้ยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นไปอีก
เว็บไซต์ PC Magazine อธิบายถึงวิธีการทำงานของมันว่า
“ทุกๆ สามวินาที บอตจะเข้าไปเช็กสินค้าบนเว็บไซต์แอมะซอนกราฟฟิกการ์ดหลายๆ รุ่น เมื่อไหร่ก็ตามที่มีสต็อก บอตจะทำการกดใส่ตะกร้าและจบกระบวนการซื้อได้เลยทันที”
บอตเหล่านี้ยังมีฟีเจอร์หลายๆ อย่างที่น่าสนใจอย่างการต่อกรกับระบบ CAPTCHA ที่ตรวจสอบว่าคนที่เข้ามานั้นเป็นมนุษย์จริงๆ รึเปล่า บอตเหล่านี้จะมีการอัพเดตความสามารถนี้แทบทุกวัน ตามความเปลี่ยนแปลงของเว็บไซต์ที่เป็นเป้าหมาย มันยังสามารถลัดคิวของเว็บไซต์ที่มีฟีเจอร์รอคิวได้อีกด้วย แถมบางอันถ้าจ่ายเงินเพิ่มสามารถใช้ proxies เพื่อหลอกเว็บไซต์เป้าหมายว่าบอตของคุณมาจากหลายๆ IP Address ไม่ใช่ที่เดียวนะ ลดโอกาสที่เว็บไซต์เหล่านี้จะบล็อกบอตเหล่านี้ได้ด้วยแถมยังเพิ่มความเร็วในการเข้าถึงเว็บไซต์ได้อีกต่างหาก
ตอนนี้คนที่สนใจอยากใช้บอตสามารถใช้บริการแบบแจ้งเตือนฟรีๆ บนทวีตเตอร์ เหมือนอย่างของ Sv Yesvanth (แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่าบทความนี้จะไม่มีการสอน แนะนำ หรือ เชิญชวนให้ใช้บอตนะครับผม) หรือบอตแบบที่จริงจังขึ้นมาหน่อยที่ต้องจ่ายเงินค่าเช่าเพื่อให้บอตซื้อของที่ต้องการให้ ซึ่งตอนนี้ก็มีอยู่หลายอันมากและมี “Cook Groups” หรือกลุ่มสำหรับพ่อค้าเก็งกำไรที่ใช้บอตเพื่อทำธุรกิจเหล่านี้รวมตัวกันอยู่ด้วย บางแห่งก็ฟรี บางแห่งก็เสียเงิน แต่หลักการของกรุ๊ปเหล่านี้ก็คือการเข้าไปเพื่อเอาข้อมูลและคำแนะนำในการใช้ buyer bot เหล่านี้
ข้อดีของมันก็แน่นอนแหละว่า ถ้าใช้บอตเหล่านี้แล้ว โอกาสที่จะได้สินค้าที่ต้องการนั้นก็จะมีเพิ่มมากขึ้น แทนที่จะต้องทนเห็นคนอื่นนั่งเล่น PlayStation 5 เราก็อาจจะมีโอกาสได้มาครอบครองในอาทิตย์สองอาทิตย์ก็เป็นได้ ไม่ใช้สองปีข้างหน้า แต่แน่นอนว่าข้อเสียของมันก็มีไม่น้อย เราไม่ได้พูดถึงหลักจรรยาบรรณของพ่อค้าแม่ค้าที่เก็งกำไร เพราะนั้นเป็นการตัดสินใจส่วนตัว และคงไม่ก้าวก่าย แต่สิ่งที่อยากให้ลองนึกดูว่าสาเหตุที่คนเริ่มหันมาใช้บอตเพราะอะไรกัน? เพราะคนต้องการเยอะ กดไม่ทันเลยต้องไปให้บอตกดให้ ทีนี้พอคนใช้บอตเยอะๆ มันก็กลายมาเป็นปัญหาเดิม บอตเรากดไม่ทันเพราะมีบอตแย่งกันกดเยอะเกินไปอีกนั้นแหละ เพราะฉะนั้นข้อเสียใหญ่ๆ เลยก็คือ แม้จะใช้บอต ก็ไม่ได้การันตีว่าจะได้ของเช่นเดียวกัน แถมไม่พอ บอตบางอันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกเอาเงินคนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ให้โอนเงินค่าของไปให้ ไม่ได้ซื้อตรงจากเว็บไซต์จริงแล้วก็หายเข้ากลีบเมฆไปเลยก็มี
เว็บไซต์ออนไลน์หลายแห่งพยายามสร้างวิธีป้องกันบอตเหล่านี้ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มันเป็นเหมือนเกมแมววิ่งจับหนู กลุ่มหนึ่งสร้าง อีกกลุ่มหาวิธีหนี วนไปวนมาแบบนี้ ถ้าต้องการที่จะหยุดบอต ก็ต้องหยุดมนุษย์ให้ได้ เพราะไม่ว่าจะสร้างวิธีไหนขึ้นมาป้องกันก็จะมีทางแก้เสมอตราบใดที่ความต้องการยังอยู่ มันอาจจะฟังดูเป็นคำถามว่าทำไมเราต้องพยายามเพื่อจะซื้อของกันขนาดนี้
ถ้าเราพูดถึงแค่เรื่องของดีมานด์กับซัพพลาย ยกตัวอย่างตอนที่หน้ากากอนามัยขาดตลาด มีความต้องการซื้อ มีคนซื้อยอมจ่ายด้วยเงินจำนวนมากเหตุผลเพราะความกลัว (ในกรณีสินค้าอื่นก็ต่างออกไป) ก็มีพ่อค้าแม่ค้าเก็งกำไรเกิดขึ้นเต็มไปหมด เอามาขายเพราะอยากได้เงิน กรณีนี้ก็เหมือนกัน เมื่อมีดีมานด์ของ PlayStation 5 หรือกราฟิกการ์ด มีคนพร้อมจ่ายในราคาสูงระยับ สุดท้ายก็จะมีคนหามาขายจนได้ เพียงแต่อาจจะมีลูกมือที่เป็นบอตมาช่วยด้วยอีกแรง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Inside the Pandemic’s Biggest Cash Cow: Scalper Bot Networks Hawking Hot Products
https://ecomacademy.com/shopping-bots/
‘It’s a Roller-Coaster Ride’: Global Chip Shortage Is Making Industries Sweat – The New York Times
‘เคอรี่ เอ็กซ์เพรส’ ก้าวสู่ปี 2564 อย่างแข็งแกร่ง ด้วยปริมาณพัสดุที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน | Kerry Express Thailand (KEX)
What Pandemic Scams Are People Falling For – The New York Times
‘Pure Hell for Victims’ as Stimulus Programs Draw a Flood of Scammers – The New York Times
Nvidia to Upgrade Online Store to Stop Bots From Snatching RTX 3080 Cards
Christmas shopping: Why bots will beat you to in-demand gifts – BBC News
How Do Bots Buy Up Graphics Cards? We Rented One to Find Out
What is a bot? | Bot definition | Cloudflare
How a Bot Bought Dozens of RTX 3080 Units Before Consumers Could Grab Them
How to Beat the Scalpers and Score an RTX 3000 Card, Ryzen 5000 Chip
Illustration by Kodchakorn Thammachart