สำนวน ‘ปิดทองหลังพระ’ หมายถึงการทำความดีโดยไม่ให้คนอื่นรู้ หรือการทำความดีโดยไม่เป็นที่รับรู้ของใคร
ที่จริงแล้ว สำนวนนี้ในสมัยก่อนมีความหมายเลยไกลไปถึงคนที่ทำความดีแต่ไม่ได้รับการยกย่อง บางรายอาจจะถูกดูหมิ่นเหยียดหยามเสียด้วยซ้ำเพราะไม่มีใครรู้เห็นถึงคุณค่าที่คนปิดทองหลังพระได้ทำเอาไว้ให้ สมัยก่อนโน้น คนเฒ่าคนแก่จึงมักเตือนลูกหลานว่าอย่าไปปิดทองด้านหลังพระพุทธรูป เพราะทำไปก็ไม่มีใครเห็น
แต่ความหมายของ ‘ปิดทองหลังพระ’ ค่อยๆ เปลี่ยนไป จากที่คนไม่ค่อยนิยมทำเท่าไหร่ กลายมาเป็นเกิดคติความเชื่อใหม่ซ้อนทับลงไปบนความหมายเดิมของสำนวนนี้ ทำให้ความหมายของสำนวนนี้เคลื่อนไปจากเดิม นั่นคือในระยะหลัง เราเริ่มถือกันว่าคนที่ทำงานแบบ ‘ปิดทองหลังพระ’ คือ ‘คนดี’ ในแบบที่เป็น ‘ที่สุด’ ของความดี เพราะทำดีโดยไม่เอาหน้า ไม่ยื่นหน้ายื่นตาออกมาถ่ายรูป ทวงเครดิต หรือประกาศให้คนอื่นๆ รู้ว่าตัวเอง ‘ดี’
ทีนี้เมื่อสังคมเริ่มเคลื่อนมาให้คุณค่ากับคำว่า ‘ปิดทองหลังพระ’ ว่าเป็นเรื่องของ ‘ดีเหนือดี’ เพราะคือดีแบบไม่เอาหน้า ก็เริ่มเกิดความย้อนแย้งอันซับซ้อนขึ้นมา เพราะมีคนอีกจำนวนไม่น้อยทีเดียว ที่อยากได้ชื่อว่าตัวเองเป็น ‘คนดี’ ที่ ‘วิเศษ’ กว่าคนดีธรรมดาที่ปิดทององค์พระด้านหน้า จึงอยากให้คนรู้เห็นว่าตัวเองกำลัง ‘ปิดทองหลังพระ’ อยู่
แต่การ ‘อยาก’ ให้คนรู้ว่าตัวเองกำลังปิดทองหลังพระอยู่นั้น
มันขัดแย้งอย่างถึงรากถึงโคนกับสำนวนนี้
เพราะสำนวนนี้หมายถึงการทำความดีโดยไม่ต้องให้คนอื่นรู้ หรือทำความดีโดยไม่เป็นที่รับรู้ของใคร ต่อให้ถูกคนหมิ่นหยามอย่างไรก็ต้องเฉยๆ ไว้ ไม่ออกมาป่าวประกาศให้สาธารณชนรับรู้
เพราะเมื่อไหร่ที่พวกปิดทองหลังพระอยากประกาศตัวเองให้สาธารณชนรับรู้ว่า ‘กูดี’ มันก็เหมือนกับการ ‘จับ’ พระพุทธรูปหันหลังมา ‘โชว์’ คนอื่นให้เห็นถึงร่องรอยของ ‘ทอง’ ที่ตัวเองแปะเอาไว้ด้านหลังนั่นเอง
ไม่ว่าจะเป็นทองจริงหรือทองเก๊ก็ตาม
ดังนั้น จากที่เป็น ‘ดีเหนือดี’ หรือดีที่วิเศษกว่าดีทั้งปวง คนทั้งหลายก็จะถึงบางอ้อในทันทีว่าที่ทำไปทั้งหมดนั้น – ทำไปเพื่ออะไร
ที่จริงแล้ว วิธีคิดแบบ ‘ปิดทองหลังพระ’ ในศาสนาคริสต์ก็มีอยู่เหมือนกัน เป็นคำสอนของพระเยซูที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ฉบับนักบุญมัทธิว ที่บอกว่า – เมื่อทำบุญหรือทำทานด้วยมือขวา ก็อย่าให้มือซ้ายรู้ สำนวนนี้หมายถึงถ้าคิดจะทำความดีอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศให้ใครรู้ แม้กระทั่งสิ่งที่อยู่ชิดใกล้กันมากๆ อย่างเช่นมือขวาและมือซ้ายหรือญาติสนิทมิตรสหาย ก็ยังไม่จำเป็นต้องรู้เลย วิธีคิดแบบนี้จึงเทียบได้กับการปิดทองหลังพระ แต่เน้นย้ำลึกลงไปมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า ในสังคมปัจจุบัน มีคนจำนวนมากที่ ‘ทำบุญด้วยมือขวา’ แล้วไม่ได้อยากให้แค่มือซ้ายรู้เท่านั้น แต่อยากให้ทั้งสามโลกรับรู้ด้วย จึงมีการป่าวประกาศประชาสัมพันธ์ทั้งแบบที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็คือการจับพระพุทธรูปหันหลังมาให้คนทั่วไป ‘ต้องเห็น’ ให้ได้ – ว่าทองบนหลังพระนั้น, ฉันเป็นคนติดเอง
วิธีคิดแบบนี้ถ้าเกิดขึ้นกับคนธรรมดาทั่วไปก็คงไม่กระไรนัก เพราะคนธรรมดาไม่ได้มีอำนาจอะไรที่จะไปกำกับ สั่งการหรือส่งผลกับชีวิตผู้อื่น แต่ถ้าวิธีคิดนี้เกิดขึ้นกับผู้มีอำนาจที่เดิมก็ยึดมั่นถือมั่นอยู่แล้ว – ว่าที่มีอำนาจขึ้นมาได้ก็เพราะตัวเองดีวิเศษกว่าคนอื่น การพยายามให้คนอื่นรู้ว่าตัวเองปิดทองหลังพระ หรือการพยายามแสดงตัวว่าตัวเอง ‘ดีเหนือดี’ นั้น จะเป็นปัญหาอย่างมาก
ยิ่งหากเป็นผู้ใช้และกุมอำนาจรัฐ ก็อาจเป็นปัญหาถึงระดับ
ทำให้รัฐเกิดความเปราะบางหรือล้มเหลวขึ้นมาได้
คำว่า ‘รัฐล้มเหลว’ หรือ Failed State หมายถึงรัฐที่มีลักษณะแตกสลาย (disintigrated) ไปจนถึงจุดที่ความรับผิดชอบและเงื่อนไขพื้นฐานต่างๆ ของรัฐบาลที่เป็น ‘องค์อธิปัตย์’ นั้นไม่สามารถทำงานหรือทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมอีกต่อไป แต่ Failed State ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เพราะก่อนหน้าที่รัฐจะล้มเหลว รัฐต้องเกิดสภาวะ ‘เปราะบาง’ (เรียกว่า Fragile State หรือ Weak State) ขึ้นมาก่อน แล้วก็ต้องเกิดข้ึนเป็นเวลายาวนานพอสมควร รวมทั้งเปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย
รัฐที่เปราะบางหรืออ่อนแอคือรัฐที่ปล่อยให้ประชาชน ‘เคว้ง’ อยู่กับสภาวะอันน่าตกใจหลายๆ อย่าง อาจจะเป็นภัยธรรมชาติก็ได้ เป็นโรคระบาดก็ได้ แต่ที่สุดแล้วปัญหาทั้งหมดมักจะหวนกลับมาเขม็งเกลียวตึงเครียดอยู่กับปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือความเป็นอยู่ ปากท้อง และความเป็นความตายของคนในชาติ – ที่รัฐไม่ได้ดูแล และปล่อยให้ผู้คนต้องรู้สึกเคว้งคว้างล่องลอยไปตามการตัดสินใจที่ผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าราวกับไม่มีวิจารณญาณของรัฐ หรือรู้สึกว่าชีวิตของตัวเองเป็นไปตาม ‘ยถากรรม’ ไม่มีหลัก ไม่มีที่พึ่ง ซึ่งในที่สุดก็จะนำไปสู่สภาวะรัฐล้มเหลว และถ้าเป็นมากขึ้นไปอีก ก็จะเกิดสภาวะรัฐล้มละลาย (State Collapse) ขึ้นมาด้วยวิธีการต่างๆ
ถ้าไปดู ‘ดัชนีรัฐเปราะบาง’ (Fragile State Index) ที่จัดทำขึ้นโดยกองทุนเพื่อสันติภาพ (Fund for Peace) เราจะพบว่าประเทศที่ถือได้ว่ามีความเปราะบางมากที่สุดในปี ค.ศ.2021 คือเยเมน ตามมาด้วยโซมาเลีย ซีเรีย ซูดานใต้ คองโก ฯลฯ ซึ่งเป็นประเทศที่มีปัญหาวิกฤตหนักหนามากจริงๆ และหลายประเทศก็ถูกมองว่าเข้าข่าย ‘รัฐล้มเหลว’ ไปแล้วด้วยซ้ำ
แล้วถ้าถามว่า แล้วไทยอยู่ตรงไหนในดัชนีนี้ คำตอบคือเราอยู่ที่อันดับ 87 โดยได้คะแนน 70.9 (คะแนนเต็ม 120) ซึ่งถือว่าดีกว่าลาว อินเดีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และอีกหลายประเทศ แต่ก็แย่กว่ากลุ่มประเทศที่มีดัชนีรัฐเปราะบางต่ำๆ เช่นฟินแลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ เดนมาร์ค และสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
ถ้าเราย้อนกลับไปดูดัชนีดังกล่าวตั้งแต่ปี ค.ศ.2009-2020 เราจะพบว่าเราได้คะแนนในระดับ 70-80 คะแนนมาโดยตลอด ปีที่คะแนนสูงมากๆ (ซึ่งแปลว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่) คือปี ค.ศ.2009 ได้คะแนน 79.20 หรือปี ค.ศ.2015 ได้ 79.10 แล้วก็ค่อยๆ ลดลงมาจนถึงระดับ 70.81 ในปี ค.ศ.2020 ก่อนจะขึ้นมาเล็กน้อยเป็น 70.9 ในปี ค.ศ.2021 ซึ่งคะแนนในระดับนี้ อยู่ในระดับ ‘พึงระวัง’ หรือ Warning ซึ่งก็คือมีความเปราะบางที่จะเปราะบางลงไปได้อีก โดยเฉพาะหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันต่างๆ ขึ้นมา
แล้วเหตุการณ์ ‘ไม่คาดฝัน’ ที่ว่า – ก็ได้เกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ
กับ COVID-19 ที่บุกหนักขึ้นเรื่อยๆ จนระบบสาธารณสุขของเรา
แทบจะรับมือไม่ไหวแล้ว
ประเด็นเรื่อง COVID-19 กับระบบสาธารณสุขน่าจะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันไปมากแล้ว ตั้งแต่เรื่องการเลือกวัคซีนที่เหมาะสม การปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่ไม่ทันท่วงทีจนเริ่มมีคนตั้งคำถามเชิงลึกถึงประสิทธิภาพ และบางคนก็ไปไกลถึงขั้นสงสัยว่ามีการคอร์รัปชั่นอยู่เบื้องหลังหรือเปล่า การจัดการกับวิกฤตและเหตุฉุกเฉินแบบที่เห็นได้ชัดว่า ‘ไม่ทันวิกฤต’ เหล่านี้เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่ยากนัก เพราะเป็นเรื่องการใช้อำนาจอย่างเป็นทางการที่อยู่ภายนอก มองเห็นได้ชัดเจน
แต่กระนั้น ยังมี ‘ปม’ ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่กินลึกไปถึงการให้คุณค่าในเชิงวัฒนธรรม รวมถึงการใช้ ‘อำนาจอย่างไม่เป็นทางการ’ มาคอยกำกับควบคุมท่าทีและวิธีการต่างๆ ของรัฐและผู้ใช้อำนาจรัฐอยู่ด้วย และเป็นปมปัญหานี้เอง ที่สะท้อนย้อนกลับไปถึงความล้มเหลวของการ ‘ปิดทองหลังพระ’
แทบไม่มีใครไม่ยอมรับว่า สังคมไทยเป็นสังคมแบบ ‘รวมศูนย์’ หรือ Centralized ไปพร้อมๆ กับมีลำดับชั้นต่ำสูง (Social Stratification) ซึ่งเมื่อนำสองอย่างนี้มารวมกัน ก็แปลว่าคนที่อยู่ตรงกลางไม่ได้อยู่ตรงกลางแบบแบนราบเท่าเทียมกับคนอื่น ทว่าอยู่ตรงกลางบนช่วงชั้นที่ ‘สูง’ ขึ้นไปเหนือคนอื่นๆ ด้วย
การสั่งการแบบรวมศูนย์ (โดยมีลักษณะแบนราบเท่าเทียมกัน) นั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง ข้อเสียมักเกิดในยามปกติ นั่นคือคนทำงานอาจตัดสินใจไม่ได้ ต้องนำปัญหาไปให้คนที่อยู่ตรงกลางคอยตัดสิน ทำให้งานช้า หรือมีลักษณะ Red Tape เกิดขึ้น (ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดในกรณีของ ‘รัฐราชการ’ ที่ต้องเซ็นหนังสือกันเป็นหางว่าวยืดยาวแม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่บริษัทเอกชนจะใช้วิธีคิดแบบ Lean ให้คนทำงานตัดสินใจได้เอง) แต่ถ้าเกิดวิกฤตใหญ่ๆ ขึ้นมา วิกฤตพวกนี้มักจะไปขัดขวาง (Disrupt) การทำงานของระบบ ทำให้คนทำงานแต่ละส่วนไม่สามารถตัดสินใจเองได้ เนื่องจากข้อมูลในการตัดสินใจไม่เพียงพอ จึงต้องการการตัดสินใจที่ ‘มองเห็นภาพใหญ่’ ซึ่งก็คือการตัดสินใจจากส่วนกลาง วิธีคิดแบบนี้เรียกว่ามี Single Command ซึ่งเอาไว้ใช้รับมือกับยามวิกฤต
Single Command ที่ดี ต้องเป็นการตัดสินใจที่
‘เห็นภาพใหญ่’ อย่างแท้จริง นั่นคือต้องรับฟัง
ความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม
ต้อง ‘กำจัด’ อคติต่างๆ ที่มีต่อแต่ละภาคส่วนออกไปให้หมด แล้วรับฟังข้อมูลอย่างมีภววิสัย จึงจะตัดสินใจสั่งการ (หรือจะเรียกว่า ‘มีบัญชา’ ก็พอได้) ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและไม่ทำให้ประชาชนคนทั่วไปที่เป็นผู้รับผลของการตัดสินใจเหล่านี้เกิดอาการ ‘เคว้ง’ (หรือแม้กระทั่ง ‘เคว้งซ้ำซาก’)
แต่ปัญหาก็คือ ถ้าการสั่งการจากส่วนกลางนี้ไม่ได้มีลักษณะ ‘แนวราบ’ คือรับข้อมูลอย่างเท่าเทียม แต่รับเอาวิธีคิดแบบมีลำดับชั้นต่ำสูง ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบ ‘ไทยๆ’ ที่คุ้นชินกับระบบเจ้าขุนมูลนายแต่ดั้งเดิมมาประกอบเข้าไปด้วย การตัดสินใจจากส่วนกลางที่ว่าก็จะกลายเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะคนที่ ‘อยู่ตรงกลาง’ มักมีแนวโน้มจะเห็นว่าตัวเอง ‘อยู่สูง’ กว่าคนอื่นๆ เป็นไปตามคติจักรวาลวิทยาแบบเขาพระสุเมรุที่เห็นว่าผู้เป็นใหญ่ที่สุด ฉลาดที่สุด มีสติปัญญามากที่สุด และทรงคุณงามความดีที่สุด – สถิตอยู่บนยอดเขาสูงสุดตรงใจกลางจักรวาล
Single Command ที่มีจักรวาลวิทยาเขาพระสุเมรุเป็นแบบและเบ้า อันเป็นจักรวาลวิทยาแบบโบราณนี้ ไม่สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนทั่วถึง ดังนั้นจึงก่อให้เกิดความ ‘เปราะบาง’ อย่างมากต่อการตัดสินใจ โดยเฉพาะเมื่อใจกลางอำนาจที่คติและมโนสำนึกเช่นนี้เป็นอำนาจขนาดใหญ่อย่างอำนาจรัฐที่แต่ละการตัดสินใจกระทบต่อผู้คนนับล้านหรือหลายสิบล้านคน
การตัดสินใจที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง อาจกลายเป็นการตัดสินใจที่เอาตัวเองเป็นใหญ่ ตัดสินใจตามอำเภอใจ ละเลยข้อมูลประกอบ ก่อให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาด หรือการตัดสินใจแบบกลับไปกลับมา ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ก็อาจเกิดผลเลวร้ายกระเพื่อมออกไปเป็นวงกว้างมาก จนทำให้ผู้คนที่เปราะบางอยู่แล้วยิ่งเปราะบางมากขึ้นไปอีก และความเปราะบางของสังคม ก็ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดความเปราะบางหรือล้มเหลวของรัฐขึ้นมาได้
ปัญหานี้จะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีกขั้น ถ้าหากผู้ที่อยู่ตรงใจกลางอำนาจนำ ‘ระบบศีลธรรม’ แบบที่เห็นว่าตัวเองกำลัง ‘ปิดทองหลังพระ’ อยู่มาใช้ เพราะมโนธรรมสำนึกแบบนี้จะทำให้ผู้มีอำนาจไม่เปิดกว้าง ไม่พยายามรับความคิดเห็นและข้อมูลข่าวสารจากทุกมุมทุกมิติอย่างแท้จริง ทว่าสำคัญตนผิดว่าตัวเองกำลังทำงานหนักอย่าง ‘ปิดทองหลังพระ’ อยู่ นั่นคือกำลัง ‘ทำความดี’ โดยที่ไม่เป็นที่รับรู้ของใคร ทำความดีแต่ไม่ได้รับการยกย่อง จึงยิ่งเกิดวงจรป้อนกลับ ทำให้มองว่าการวิพากษ์วิจารณ์คือการดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่เห็นคุณค่าของ ‘ทอง’ ที่ตัวเองอุตส่าห์ปิดเอาไว้หลังพระ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเป็นใจกลางอำนาจที่มีสำนึกว่าตน ‘ดีเหนือดี’ ขึ้นไปอีกขั้น เมื่อรู้สึกว่าถูกหมิ่นหยาม จึงต้องพยายาม ‘หันหลังพระ’ มาให้คนเห็นเพื่อจะได้กราบไหว้เชื่อฟัง – ซึ่งนั่นคือการปิดทองหลังพระที่ล้มเหลวในความหมายดั้งเดิมของมันอย่างสิ้นเชิง โดยยังไม่ต้องพิจารณาด้วยซ้ำ ว่าทองที่ปิดอยู่นั้นเป็นทองแท้แค่ไหน
แน่นอน – ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นเป็นรัฐล้มเหลว
แต่วิกฤต และมโนธรรมสำนึกที่ผู้มีอำนาจมีต่อวิธีจัดการกับวิกฤตนี่แหละ ที่อาจนำทางเราไปสู่ความเปราะบาง ล้มเหลว และล้มละลายได้ในท้ายที่สุด
นี่คือ ‘ปมทางจิต’ สำคัญที่ซุกเป็นฐานอยู่ใต้ปัญหาใหญ่มากๆ ของสังคมไทยในวันนี้
โชคร้าย – คนที่เป็นต้นเหตุของปัญหามักมองไม่เห็นปัญหา