ข่าวที่ฮือฮากันมากในช่วงที่ผ่านมาก็คือการที่อังกฤษ (หรือจริงๆ คือสหราชอาณาจักร) ประกาศวัน Freedom Day หรือวันที่เป็นอิสระจาก COVID-19 คือในวันที่ 19 กรกฎาคม
แน่นอน คำประกาศนั้นเรียกเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายมาก บางฝ่ายก็บอกว่านี่คือ ‘การทดลอง’ ที่ทั้งอันตรายและไร้จริยธรรม เพราะมันอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดกว้างไกลขึ้นมาได้อีกหน
ผ่านวันที่ 19 กรกฎาคมมาจนถึง 5 สิงหาคม นับได้ 17 วัน ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าการประกาศอิสรภาพจาก COVID-19 ซึ่งหมายถึงการยกเลิกข้อกำหนดหรือข้อจำกัดต่างๆ เช่น การใส่หน้ากาก ฯลฯ ออกไปจากประชาชน นั่นทำให้ทั่วโลกจับตามองว่า อังกฤษจะประสบความสำเร็จไหม สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอังกฤษ จะเป็นความหวังหรือจะเป็นความพัง – ยังไม่มีใครตอบได้ชัดๆ แม้ว่าหลังวันที่ 19 กรกฎาคมมาแล้ว หลายฝ่ายจะเห็นว่ายอดผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง และคาดการณ์กันว่ามันได้เลยช่วง ‘พีค’ (Peak) ไปแล้วก็ตาม
หลายคนอาจจะถามว่า ทำไมรัฐบาลอังกฤษถึงได้ทำอะไรที่แลดูเสี่ยงขนาดนั้น เพราะคนที่ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้วยังอยู่ที่ราว 60% เท่านั้นเอง จะเรียกว่ามีภูมิคุ้มกันหมู่ก็ยังไม่ใช่เสียทีเดียว แต่ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการแข่งขันฟุตบอลยูโรที่ผ่านมา ซึ่งแน่นอนว่าอังกฤษเป็นทีมที่ทะลุเข้าไปจนถึงรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 11 กรกฎาคม ซึ่ง ซาราห์ จาง (Sarah Zhang) ได้ให้ข้อมูลไว้ใน The Atlantic อย่างน่าสนใจว่า ในช่วงนั้น คนอังกฤษโดยเฉพาะหนุ่มๆ วัย 20 ถึง 34 ปี ต่างพากันเข้าไปเชียร์บอลตามที่ต่างๆ อัดแน่นอยู่ในที่เล็กๆ ตะโกนใส่กัน (ซึ่งแปลว่าละอองจากปากต้องคลุ้งวนเวียน) รวมถึงกอดรัดฟัดเหวี่ยงกันและกันด้วยนั้น เป็นช่วงที่เกิด ‘เคสใหม่’ ของผู้ติดเชื้อที่ ‘ไม่ได้สัดส่วน’ (Disproportionate) กับสถิติเดิม รวมทั้งยังพบด้วยว่าผู้ชายหนุ่มๆ เหล่านี้ ติดเชื้อมากกว่าผู้หญิงในวัยเดียวกัน
ทำให้เกิดสมมุติฐานที่เรียกว่า Euro Hypothesis
ขึ้นมาว่าเคสใหม่เหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการเชียร์ฟุตบอล
ที่น่าสนใจก็คือ กราฟการพุ่งขึ้นของเคสใหม่เหล่านี้ สอดคล้องกับของสก็อตแลนด์ ซึ่งทีมสก็อตแลนด์ได้ตกรอบไปก่อนหน้านั้นราว 10 วัน ปรากฏว่ากราฟก็พุ่งขึ้นแบบเดียวกัน ซึ่งในด้านหนึ่ง หลายคนมองว่านี่เป็นเรื่องแย่เอามากๆ เพราะมันน่าจะยิ่งแพร่ไปได้อีกเรื่อยๆ ทวีคูณ แต่พบว่าหลังฟุตบอลยูโรผ่านไปแล้ว ตัวเลขไม่เพิ่มขึ้น ตัวเลขกลับลดต่ำลงอย่างน่าพิศวง ทำให้มีคนวิเคราะห์ว่า ยูโรน่าจะเป็น ‘ตัวเร่ง’ ให้การติดเชื้อนั้นไปถึง ‘พีค’ เร็วขึ้น แล้วเมื่อถึงจุดพีคแล้ว ตัวเลขก็จะค่อยๆ ต่ำลง ที่น่าสนใจก็คือ COVID-19 ในอังกฤษนั้น เป็นสายพันธุ์เดลต้ามากถึงราว 90% ด้วย
แต่ ‘เดลต้าพีค’ ที่ว่านี้ – ได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ หรือ?
นี่เป็นแค่การคาดการณ์จากตัวเลขและสถิติเท่านั้น หลายฝ่ายยังตั้งข้อสงสัยอยู่ว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ตัวเลขที่เกิดขึ้นเป็นเพียง ‘ภาพลวง’ ไหม และเงื่อนไขที่เกิดขึ้นในอังกฤษ ทำให้เราสามารถ ‘เป็นอิสระ’ จากไวรัสได้แล้วจริงหรือ เพราะอย่างที่เรารู้กันอยู่ก็คือ สายพันธุ์เดลต้านั้นมีอัตราการแพร่เชื้อที่สูงมาก คือสูงกว่าสายพันธุ์อัลฟ่า 40-60% เทียบกับกับอีสุกอีใส และอาจเข้าใกล้หัดด้วยซ้ำ และมันจะมีวิวัฒนาการหรือกลายพันธุ์ที่ร้ายแรงต่อไปได้อีกหรือเปล่า
จากบทความของ ซารา เรียร์ดอน (Sara Reardon) ใน Scientific American กล่าวถึง วอห์น คูเปอร์ (Voghn Cooper) ซึ่งเป็นนักชีววิทยาวิวัฒนาการที่มหาวิทยาลัยพิตสเบิร์ก บอกไว้ว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของเดลต้านั้นไม่เหมือนกับโรคระบาดอื่นใดในประวัติศาสตร์ที่เคยพบมาเลย และนักวิทยาศาสตร์ก็กำลังพยายามหาคำตอบกันอยู่ว่า ทำไมสายพันธุ์เฉพาะนี้ถึงได้ประสบความสำเร็จได้มากขนาดนี้
มีการศึกษาพบว่า คนที่ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้านั้น โดยเฉลี่ยแล้วจะมีปริมาณไวรัสอยู่ในร่างกายมากกว่าไวรัสสายพันธุ์ดั้งเดิมถึงราว 1,000 เท่า เมื่อปริมาณของมันเยอะ มันก็สามารถติดเชื้อแพร่ต่อไปยังคนอื่นๆ ได้เร็วขึ้นตามไปด้วย และนักวิทยาศาสตร์ยังสงสัยด้วยว่า
นอกจากความสามารถในการแพร่แล้ว มันยังสามารถ
‘หลบหลีก’ ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้ดีขึ้นด้วยหรือเปล่า
เรื่องนี้ยังค่อนข้างเป็นปริศนาอยู่ เพราะเดลต้านั้นไม่ได้มีการกลายพันธุ์ที่เรียกว่า E484K ซึ่งทำให้ไวรัสหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันได้ดี (พบในสายพันธุ์เบต้าและแกมมา) แต่มันมีการกลายพันธุ์ที่เรียกว่า L452R พบว่าในการทดลองของ นาธาน กรูเบาห์ (Nathan Grubaugh) แห่งเยล เขาทดลองกับไวรัส 18 สายพันธ์ุ และพบว่าภูมิคุ้มกันของผู้เข้าร่วมทดลองสามารถจัดการกับสายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้าได้ค่อนข้างดี ทว่าจัดการกับสายพันธุ์เบต้าและแกมมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็เลยยิ่งทำให้ประหลาดใจมากขึ้นไปอีกขั้น เพราะในโลกจริง เรารู้ว่าสายพันธุ์เดลต้าสามารถแพร่ไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเบต้าหรือแกมมามาก (ทั้งที่เดลต้าไม่มี E4847K) แต่ถ้ามันหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีเท่า ก็แล้วทำไมมันจึงกลายเป็นสายพันธุ์หลักไปได้ ซึ่งข้อสรุปเบื้องต้นในเรื่องนี้ก็คืออาจแปลความได้ว่า เจ้าเดลต้านั้นจะต้องเก่งเรื่องการแพร่ (Transmissibility) อย่างมากแน่ๆ อย่างน้อยก็กับกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
นักวิจัยบอกว่า เรื่องของการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันกับความสามารถในการแพร่นี้ เป็นเหมือนการเล่นชักเย่อ พูดง่ายๆ ก็คือไวรัสจะ ‘เก่ง’ สองเรื่องพร้อมกันไปไม่ได้ ถ้ามันเก่งเรื่องหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน ก็จะไม่ค่อยเก่งเรื่องแพร่กระจาย แต่ถ้าเก่งเรื่องแพร่กระจาย ก็จะไม่เก่งเรื่องหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกัน เพราะมันมีข้อจำกัดเรื่อง ‘สไปค์โปรตีน’ (Spike Protein) ที่จะใช้ยึดกับกับตัวรับของเซลล์มนุษย์ ตัวอย่างเช่น ไวรัสสายพันธุ์แคปป้า ที่เกิดขึ้นในอินเดียช่วงเวลาเดียวกับเดลต้า เจ้าแคปป้านี้มีการกลายพันธุ์เหมือนเดลต้า และมีการกลายพันธุ์แบบ E484K ด้วย ซึ่งถ้าดูเผินๆ แล้ว มันควรจะมีฤทธิ์เดชสูงล้ำทีเดียว คือมีอาวุธสองแบบในตัวเดียว แต่ปรากฏว่ามันไม่ได้แพร่ไปทั่วโลกเหมือนเดลต้า ซึ่งอาจแปลความได้ว่า เกิดอะไรบางอย่างที่ทำให้แคปป้านั้นไม่เหมาะสมต่อการวิวัฒนาการต่อไป
แต่คำถามที่นักวิทยาศาสตร์ยังต้องถามต่อไปอีกขั้นก็คือ แล้วไวรัสที่มีอะไรๆ คล้ายๆ แคปป้า คือมีอาวุธทั้งการแพร่กระจายและความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันนั้น – จะสามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตไหม เช่นมันอาจจะทำลายข้อจำกัดเรื่องสไปค์โปรตีนแล้วกลายเป็นไวรัสที่น่ากลัวมากกว่าเดลต้าขึ้นมา
คำตอบไม่ใช่แค่เป็นไปได้ – แต่ได้เป็นไปแล้วด้วยซ้ำ
นั่นคือเมื่อปีที่แล้ว เคยเกิดสายพันธุ์ B.1.620 ขึ้นมาในแอฟริกา เป็นสายพันธุ์ที่น่ากลัวมาก เพราะมีทั้ง E484K และสไปค์โปรตีนอื่นๆ ที่เกิดจากการกลายพันธุ์อีกหลายอย่าง แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้แพร่ไปมากนัก เพราะวิธีจัดการกับไวรัสแบบนี้ไม่ยากเลย นั่นคือการ ‘โมดิฟาย’ วัคซีนประเภท mRNA อย่างเช่นไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาเพียงเล็กน้อย ก็สามารถจัดการกับไวรัสที่มีการกลายพันธุ์เหล่านี้ได้แล้ว เนื่องจากวัคซีนประเภท mRNA นั้น เป็นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีล้ำยุค จึงสามารถดัดแปลงให้มันต่อกรกับไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ได้ไม่ยาก ในขณะที่วัคซีนประเภทเชื้อตายจะดัดแปลงได้ยากกว่า
เราไม่รู้จริงๆ ว่า ‘เดลต้าพีค’ ได้เกิดขึ้นในอังกฤษแล้วหรือยัง และยังต้องรอดูกันต่อไป ว่าการประกาศอิสรภาพจากไวรัสของอังกฤษนั้นจะเกิดผลอย่างไร ไวรัสสายพันธุ์เดลต้าจะมีวิวัฒนาการหรือการกลายพันธุ์ที่ ‘ร้าย’ ไปกว่าเดิมได้หรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ก็อาจมีความพีคเหนือความพีคขึ้นไปได้อีก แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ในแบบที่ ‘อ่อน’ หรือเป็นอันตรายกับมนุษย์น้อยลง
ทั้งหมดนี้ยังมีคำถามอีกมากมายที่รอคำตอบ แต่ที่ทุกคนรู้แน่ชัด ณ ตอนนี้ก็คือ – ต้องจัดการให้ผู้คนได้รับการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด และวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ มีเทคโนโลยีสูงสุด รวมทั้งสามารถดัดแปลงให้ต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงของไวรัสได้รวดเร็วที่สุด ก็คือวัคซีน mRNA
แต่กระนั้น – ในประเทศด้อยพัฒนาทางการเมืองบางประเทศ แค่จัดหาวัคซีน mRNA เข้ามาให้ประชาชนอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา, ก็ยังดูเป็นเรื่องยากเย็นเข็ญใจเหลือเกิน
บางทีนี่อาจเป็นความพีคในด้านกลับก็ได้