เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทาง BBC News ได้รายงานที่สำคัญมากๆ ชิ้นหนึ่ง หากแต่ไม่เป็นที่สนใจนักในประเทศไทย นั่นคือ การที่เกาหลีเหนือประกาศยกเลิกการประชุมระดับผู้นำกับทางเกาหลีใต้ เพราะทางเกาหลีใต้มีการซ้อมรบ (Military Drill) ร่วมกับกองทัพของสหรัฐอเมริกา ตามที่มีมาโดยตลอด ทั้งยังขู่ไปถึงสหรัฐอเมริกาด้วยว่า เรื่องนี้อาจจะกระทบไปถึงแผนการที่พี่คิมกับพี่ทรัมป์มีนัดหมายจะมาคุยกันที่สิงคโปร์ในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ด้วย[1]
การประกาศยกเลิกนี้เป็นการประกาศยกเลิกชนิดที่มีเงื่อนไข คือ จะยอมกลับมาคุยด้วยใหม่ หากเงื่อนไขกลับมาเป็นที่ต้องตรงกัน และแน่นอนการที่ใน ‘ชุดของเหตุการณ์’ เดียวกันนี้ มีความพัวพันกับข้อเท็จจริงที่ว่าพี่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกที่ยอมมาคุยตัวต่อตัวกับผู้นำเกาหลีเหนือนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องไม่ละทิ้งจากการมองสถานการณ์นี้โดยตลอด เพราะการยอมรับให้มีการประชุมระดับผู้นำสูงสุดกับสหรัฐอเมริกานั้น เป็นความต้องการของเกาหลีเหนือมานานแล้ว เพราะมันคือการยืนยัน อย่างน้อยในเชิงการทูตว่าสหรัฐฯ ยอมรับเกาหลีเหนือในฐานะรัฐอธิปไตยที่เท่าเทียมกันแล้ว ปัจจัยสองข้อที่ว่ามานี้เอง ที่ทำให้ต้องพิจารณาความเคลื่อนไหวสำคัญในครั้งนี้ในฐานะหมากลองเชิงชั้นดี มากกว่าการกระทำอย่างหุนหันพันแล่น หรือกลับลำแบบไม่แคร์เวิลด์แบบคิมๆ
กระนั้น หลังจากที่ข่าวนี้กระจายออกไป นอกจากจะทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากหน้าหงายปากกาหักไปตามๆ กันแล้ว บางทียังมีเสียงค่อนแคะครหาออกมาอีก เช่น “นี่ไงสันดานแท้ๆ ของคิมจองอึนเริ่มโผล่แล้ว” โดยมีนัยส่อไปทางว่า เขาไม่ได้เป็นคนมีเหตุผลอะไรหรอก แค่เป็นคนบ้าที่ฟลุคทำอะไรดีๆ สักครั้งและเราก็เผลอใจไปคิดว่าเขาดี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการคิดแบบที่ว่านั้น เป็นการคิดที่ไม่ทั่วถ้วนอย่างมาก ทั้งยังประเมินอะไรๆ ต่ำไป และเข้าข้างฟากฝั่งทางความคิดที่ตนเองสังกัดอยู่มากเกินจริง
อย่างไรก็ดีผมยังคงยืนกรานความคิดเห็นของผม ดังที่ได้อภิปรายไว้เมื่อราว 2 สัปดาห์ก่อน[2] ว่าพี่คิมแกไม่ได้ไร้ความคิด หรือหุนหันพันแล่น แต่แกเป็นมนุษย์ที่มีเหตุมีผล รวมทั้งยังคิดเรื่องกับการเจรจาครั้งนี้มากๆ ด้วยครับ
ตั้งแต่ในครั้งที่เริ่มต้นมีการเจรจาครั้งแรก อันนำมาสู่ Panmunjom Declaration แล้ว ท่าทีของคิมจองอึนในแง่พฤติกรรมทางการทูตนั้นมีความน่าสนใจมากทีเดียว คือ หลังจากที่พบหน้ากับประธานาธิบดีมูนแจอินของเกาหลีใต้นั้น พี่คิมแกถึงกับเป็นคนที่แสดงให้เห็นแต่แรกเริ่มเองเลยว่า ตนเองเป็นคนที่พร้อมก้าวขาข้ามเส้นเขตแดน ‘ก่อน’ ซึ่งนอกจากจะแสดงในเรื่องการเป็นคนริเริ่มทางการทูตแล้ว ในการเมืองเชิงความมั่นคงก็มีความสำคัญระดับหนึ่งด้วย เพราะการก้าวเข้าสู่เขตพื้นที่ของ ‘ศัตรู’ (ด้วยว่าเกาหลีเหนือและใต้ยังคงถือว่าอยู่ในสภาวะสงครามระหว่างกันอยู่) เป็นการแสดงความเชื่อใจโดยการปลดความแน่นอนทางความมั่นคงของตนทิ้ง และให้ถือไปอยู่ในมือของอีกฝั่งด้วย
แน่นอนว่าในศตวรรษนี้ ไม่ว่าเกาหลีใต้ หรือประเทศโลกเสรีใดๆ (แม้แต่ประเทศโลกไม่เสรีก็ตามที) ก็คงไม่มีใครห่ามมาทำอะไรอย่างการทำร้ายพี่คิมอยู่แล้ว ต่อให้ก้าวเข้ามาสู่เขตอธิปไตยของเกาหลีใต้ แต่พลังในแง่ภาพลักษณ์ทางการทูตทั้งในฐานะผู้ริเริ่มให้การเจรจาระหว่างผู้นำทั้งสองฝั่งเกิดขึ้นได้และการเป็นผู้ให้ความไว้วางใจนั้น เป็นเรื่องสำคัญต่อสายตาชาวโลกไม่น้อยเลยครับ
เพราะอย่างนี้ ผมถึงได้เกริ่นไปในตอนต้นว่า การประกาศยกเลิกการเจรจารอบสองเพราะการซ้อมรบร่วมกับสหรัฐอเมริกาของเกาหลีใต้นั้น เป็นหมากถามทางที่อุดมไปด้วยชั้นเชิงทางการทูตมากกว่าการกระทำที่ขาดความยั้งคิด
ประการแรก เราต้องเข้าใจก่อนว่าเนื้อหาของ Panmunjom Declaration นั้นประกอบด้วย 3 ข้อหลักๆ คือ (1) การรวมชาติ [ที่ผมอภิปรายไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อนว่าเป็นไปไม่ได้หรอก] (2) การลด/ถอดถอนอาวุธนิวเคลียร์ และ (3) การสงบศึก ซึ่งการสงบศึกนี้เองรวมไปถึงยุติการกระทำที่ถือเป็นการกระตุ้น ยั่วยุ การใช้ความรุนแรงหรือความมั่นคง (Security/Military Provocation) ด้วยนั่นเอง
และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่การซ้อมรบกับสหรัฐอเมริกานั้นถูกประกาศโดยเกาหลีเหนือว่าเป็น Military Provocation ที่ร้ายแรง ตรงกันข้าม การร่วมรบทุกครั้งที่ผ่านมา เกาหลีเหนือประกาศเสมอในฐานะที่เป็น Provocation น่ะนะครับ ฉะนั้นในสภาวะแบบนี้ที่เกาหลีเหนือได้สร้าง ‘ข้ออ้างล่วงหน้า’ มานานปีแล้ว ทำให้ฝ่ายเกาหลีใต้ถูกกักอยู่ในมุมที่หนึ่งคือ “ไม่สามารถอ้างได้ว่า ไม่รู้ว่าเกาหลีเหนือจะถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการสร้างภัยคุกคาม”
หลายคนอาจมองว่า การซ้อมรบเป็นเพียงปฏิบัติการเชิงการทูตผ่านกระบวนการทางความมั่นคงเท่านั้น ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ในกรณีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมองจากสายตาของฝั่งเกาหลีเหนือแล้ว การมองว่าเป็นการสร้างภาพภัยคุกคามร้ายแรงนั้น ไม่ได้เป็นเรื่องขาดเหตุผลแต่อย่างใดเลย เพราะประเทศซึ่งอยู่ในสภาวะสงครามเกาหลีใต้ หลักๆ แล้วตอนนี้ก็แทบจะมีแต่เพียงเกาหลีเหนือประเทศเดียว รวมถึงสหรัฐอเมริกาเอง ก็ประกาศความเป็นอริกับเกาหลีเหนืออย่างชัดเจนมาโดยตลอด ฉะนั้นการซ้อมรบร่วมกันของสองประเทศนี้ เมื่อมองในสายตาแบบเกาหลีเหนือก็เกิดคำถามว่า “พวกเขาจะซ้อมเพื่อรบใครกัน?” คำตอบที่เป็นไปได้ก็มีเพียงหนึ่งเดียวนั่นคือ “ซ้อมเพื่อมารบกับพวกกูเองนี่แหละ”
ฉะนั้นการซ้อมรบจึงเป็นภัยคุกคามที่สมเหตุสมผลในทันทีหากมองด้วยสายตาของเกาหลีเหนือ และอย่างที่ว่า อ้างไม่ได้ด้วยว่าไม่รู้ เพราะบอกเช่นนี้มาโดยตลอด
ประการที่สอง การชิงประกาศอย่างชัดเจนว่า “เกาหลีเหนือของยกเลิกการประชุมผู้นำสูงสุดเพราะการซ้อมรบของเกาหลีใต้ (ซึ่งนับเป็นการ Provocation)” นั้น เท่ากับเป็นการกำหนดสถานะของ ‘ผู้รักษาหรือปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างเคร่งครัด’ ให้อยู่ในมือของเกาหลีเหนือในทันที ขณะที่คนไม่เคารพต่อข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่เพิ่งคุยกันหมาดๆ กลับเป็นประเทศโลกเสรีอย่างเกาหลีใต้เอง รวมไปถึงลูกพี่ของค่ายโลกเสรีอย่างสหรัฐอเมริกา
เงื่อนไขประการนี้เอง ที่ยิ่งไปทำให้บทบาทของพี่คิม ในฐานะ ‘ผู้ริเริ่ม/บุกเบิกให้เกิดการเจรจาขึ้นได้’ นั้นโดดเด่นยิ่งขึ้นไปอีก และต้อนให้เกาหลีใต้ไปอยู่ในมุมที่สอง คือ มุมของผู้ซึ่งไม่แคร์ ไม่ให้ค่ากับน้ำหนักของข้อตกลงของสนธิสัญญาระหว่างผู้นำสูงสุด ซึ่งจะส่งผลให้หากมีการเจรจาเกิดขึ้นอีก เกาหลีเหนือจะสามารถนำมาใช้เป็นปัจจัยสำคัญในการเจรจาที่เหนือกว่าได้ในทันที คือ สามารถถามหา ‘หลักประกันในการไม่ผิดสัญญา’ จากฝ่ายเกาหลีใต้ได้ด้วย
และหาก ‘หลักประกันที่เกาหลีเหนือยื่นมา’ นั้น ไม่ได้ไร้เหตุผลจนเกินงาม เกาหลีใต้จะอยู่ในสภาวะกระอักกระอ่วนในทางการเมืองทันที เพราะหากปฏิเสธ ก็เท่ากับว่าเป็นคนทำให้สันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยตนเอง แต่หากยอมทำตาม ก็เท่ากับตนเองเสียทีและกลายเป็นมวยรองในการเจรจาทางการทูตครั้งนี้ไป
หลายคนอาจจะมองว่าผมเวอร์หรือคิดมากไปนะครับ เพราะการเจรจาสันติภาพในคาบสมุทรเกาหลีนั้นไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว และก็ล้มเหลวมาทุกครั้งไป แต่พร้อมๆ กันไป ก็ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงด้วยว่า ไม่มีความตึงเครียดครั้งใดเข้าขั้นซีเรียสมีขีปนาวุธนิวเคลียร์จ่อคอกันขนาดนี้มาก่อนด้วย (ซึ่งการเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของพี่คิมนี้เอง เป็นเครื่องยืนยันวิธีคิดที่มีเหตุมีผลของเขาที่ผมอภิปรายไว้นานแล้ว[3]เพราะการเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จะนำมาซึ่งข้อต่อรองในระดับใกล้เคียงกับมหาอำนาจได้)
ประการที่สาม การเจรจาครั้งนี้มีสหรัฐอเมริกาเข้ามา ‘ร่วมเอี่ยวด้วย’ แทบจะเรียกได้ว่าแต่ต้น และมีการกำหนดวันที่พี่คิมกับพี่ทรัมป์พบปะกันล่วงหน้ามานานโขแล้ว ไม่นับว่ากำหนดการการร่วมซ้อมรบก็มีมาก่อนหน้า ในระดับที่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ว่าเกาหลีเหนือจะไม่ทราบถึงกำหนดเวลาต่างๆ เหล่านี้เลย ฉะนั้นโดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่ามีความเป็นไปได้ไม่น้อยที่จะมีการวางลำดับเวลาให้สัมพันธ์กับการเจรจาอย่างสำคัญ
ต่อให้ทั้งหมดที่ว่าเป็นความบังเอิญล้วนๆ เลยก็ตาม หมากตานี้ของเกาหลีเหนือก็ยังคงน่าสนใจมากอยู่ดีครับ เพราะการประชุมระดับผู้นำสูงสุดกับสหรัฐอเมริกานั้น เป็นความต้องการมาโดยตลอดของเกาหลีเหนือ ดังที่ได้เกริ่นไปแล้วตั้งแต่ต้น ว่าการประชุมระดับผู้นำสูงสุด คือ การยอมรับอีกฝั่งในฐานะรัฐอธิปไตยที่เท่าเทียมกัน แต่ไม่ใช่เพียงแค่นั้นนะครับ มันยังเป็นความกำไรเชิงความมั่นคงอย่างมากด้วย
กำไรทางความมั่นคงก็เพราะอาวุธนิวเคลียร์นั้น เป็นอาวุธที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อครอบครองและเป็นปัจจัยเชิงอำนาจในการสร้างข้อตกลง รวมไปถึงการเจรจาเป็นหลัก ไม่ได้เป็นอาวุธที่มีขึ้นเพื่อใช้งานจริงโดยตรง จะเรียกว่ามันเป็น Display Weapon หรืออาวุธที่มีเพื่อการ ‘โชว์’ ให้คนเห็นว่าฉันมีก็ว่าได้
ผมอธิบายแบบนี้ก็เพราะว่า นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง เป็นครั้งแรก และครั้งเดียว ที่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์จริงๆ นั้น ทำให้อานุภาพของอาวุธชนิดนี้ประจักษ์ไปทั่วโลก และทุกคนต่างรู้ดีว่า หากเกิดสงครามที่สองฟากฝั่งรบกันด้วยอาวุธชนิดนี้ขึ้นมา มันจะกลายเป็นสงครามที่ไม่มีทางคุ้มต้นทุนในการต่อสู้กันใดๆ ได้ ไม่ว่าจะกับฝั่งผู้ชนะ หรือผู้แพ้ เพราะความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากการโดนนิวเคลียร์เพียงลูกเดียวนั้น มันสูงเกินกว่ามูลค่าของชัยชนะจากสงครามใดๆ
ด้วยเหตุนี้เองแหละครับ ผมจึงบอกว่าการเร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจึงสมเหตุสมผล เพราะมันทำให้ประเทศที่มีนิวเคลียร์แบบครึ่งๆ กลางๆ ประเทศหนึ่ง สามารถเจรจาเชิงความมั่นคงในเวทีระดับเดียวกันกับประเทศสุดยอดมหาอำนาจ ที่มีขีปนาวุธนิวเคลียร์จำนวนหลายร้อยลูกได้ และทำให้ระดับความเป็นปรปักษ์คลี่คลายลงได้ เพราะความเสี่ยงจากการต้องตบตีหรือเสี่ยงกับการโดนขีปนาวุธนิวเคลียร์แม้เพียงลูกเดียว มันไม่อนุญาตให้เกิดทางเลือกอื่นที่สมเหตุสมผลได้มากนักครับ
ในแง่นี้เอง เกาหลีเหนือถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้มตั้งแต่แรกแล้ว จากการที่สหรัฐอเมริกาปรับเปลี่ยนท่าทีต่อประเทศตน หลังจากที่เปิดเจรจากับเกาหลีใต้ได้ด้วยนิวเคลียร์ที่ไม่รู้เต็มบาทดีแล้วหรือยัง ไม่เพียงแค่นั้น ด้วยหมากตานี้ที่ประกาศยกเลิกเจรจากับเกาหลีใต้จากกรณีการร่วมรบกับสหรัฐอเมริกานั้น เท่ากับเป็นการลองเชิงกับสหรัฐอเมริกาด้วยอีกต่อหนึ่งว่า สหรัฐอเมริกาจะวางตัวอย่างไรต่อการเจรจาที่จะเกิดขึ้น และต่อบทบาทของความมั่นคงโลกที่เกี่ยวพันกับเกาหลีเหนือ เพราะหากสหรัฐอเมริกายอมถอย ยกเลิกการร่วมรบ ที่ทำมาหลายปีกับเกาหลีใต้ ก็เท่ากับมหาอำนาจระดับท็อปสุดของโลกยอมถอยให้กับเกาหลีเหนือ แต่หากไม่ยอมถอย ก็จะแปลว่าสหรัฐอเมริกาจะทำตัวขวางลำน้ำสู่สันติภาพของคาบสุมทรเกาหลีได้ในสายตาชาวโลก ฉะนั้นหมากตานี้จึงเป็นการผลักให้สหรัฐอเมริกาอยู่ในเงื่อนไขที่ต้องตัดสินใจในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนักด้วย
แน่นอนครับ ท่าทีของสหรัฐอเมริกา จะเป็นสัญญาณบ่งบอกท่าทีและจุดยืนของสหรัฐอเมริกาในเดือนมิถุนายนด้วย ว่าพี่ทรัมป์คิดจะวางตำแหน่งแห่งที่ของตนเองอย่างไร เมื่อเจอกับพี่คิม (ใช่ครับ นั่นแปลว่า ผมเดาว่า การเจรจาระหว่างอเมริกากับเกาหลีเหนือนั้นไม่ยกเลิกหรอก)
ฉะนั้นแล้ว หมากตานี้ของเกาหลีเหนือ ดูจะเป็นมูฟทางการเมืองที่ ‘มีของ’ มากกว่าความหุนหันพลันแล่นมากมายนัก
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.bbc.com
[2] โปรดดู thematter.co/thinkers/cold-noodle-diplomacy
[3] โปรดดู thematter.co/thinkers/north-korea-and-wmd