เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2018 ที่ผ่านมี มีการพบเจอ พูดคุยของผู้นำประเทศในระดับช็อกโลกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อผู้นำเกาหลีเหนืออย่างคิมจองอึน เข้าหารือกับประธานธิบดีมูนแจอิน ไม่เพียงแค่ยอมมีการพูดคุยเท่านั้น แต่ยังมีท่าทีที่เป็นมิตรอย่างมากอีกด้วย โดยระหว่างพักครึ่งการพูดคุยกันนั้น ต่างฝ่ายต่างแลกบะหมี่เย็นของชาติตนให้ผู้นำอีกฝั่งได้กิน จนทำให้หลายสื่อเรียกการพบกันครั้งนี้ว่า Noodle Diplomacy และด้วยท่าทีที่เป็นบวกมาก หลายคนเลยพาลพูดกันไปไกลถึงความเป็นไปได้ในการรวมชาติเกาหลีเลยทีเดียว
เมื่อกว่าหนึ่งปีที่แล้ว ในช่วงที่วิกฤตการณ์นิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือดูจะเริ่มคุกรุ่นจริงจัง ผมได้เขียนบทความชิ้นหนึ่งลงกับทาง The MATTER โดยพยายามอภิปรายในสองประเด็นคือ (1) สงครามไม่เกิดขึ้นหรอก และ (2) ทั้งทรัมป์และคิมจองอึนล้วนแต่เป็น Homo Economicus หรือมนุษย์ที่มีเหตุมีผล[1]อยู่ ไม่ใช่สายบ้าทำอะไรไม่คิด อย่างไรก็ดี แม้ตัวผมในวันนั้นเคยเสนอแบบนั้นไปเอง ผมก็ไม่ได้คาดคิดว่าเหตุการณ์จะมาสู่จุดที่ ‘ดูดี’ ขนาดนี้ได้แม้แต่น้อย แต่การที่สถานการณ์ดูดีได้ขนาดนี้ ดูจะยิ่งเป็นเครื่องยืนยันอย่างชัดเจนเหลือเกินว่า พี่คิมของเราไม่ใช่เล่นๆ แล้ว
วันนี้ผมเลยอยากชวนมาลองคุยกันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดูครับ ทั้งที่ท่าทีของพี่คิมที่ก่อนหน้านี้ดูบ้า แล้วทำไมจู่ๆ ถึงดู ‘คุยรู้เรื่อง’ ขึ้นมาได้ รวมไปถึงความหวังของการรวมชาติเกาหลีที่หลายคนฝันอยากให้มาถึง ซึ่งประเด็นสุดท้ายนี้จะเป็นเรื่องหลักที่อยากพูดถึงในรอบนี้ ทั้งนี้ขอออกตัวแรงๆ ตรงนี้ก่อนว่า ตัวผมเองเข้าใจดีว่า การเจรจาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ มีการเมืองของมหาอำนาจอื่นๆ อยู่เบื้องหลังอย่างมาก และในหลายระดับชั้นด้วย โดยเฉพาะจากจีน สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย อย่างไรก็ดีในครั้งนี้ผมจะขอจำกัดขอบข่ายของการอภิปรายอยู่ที่ตัวประเทศเกาหลีทั้งสองเท่านั้น (จริงๆ แทบจะเฉพาะที่ตัวผู้นำเกาหลีเหนือเลยด้วยซ้ำ)
ก่อนอื่นผมอยากให้เราลองกลับมาดูที่ท่าทีของพี่คิมก่อนครับ หลายคนเซอร์ไพร์ส ที่จู่ๆ คิมวางตัวเป็นมนุษย์ที่คุยรู้เรื่อง พร้อมเจรจาขึ้นมาได้ ทั้งที่ภาพก่อนหน้านั้นดูเป็นคนบ้าๆ อารมณ์ร้าย และพูดอะไรไม่อิงกับข้อเท็จจริง ว่าง่ายๆ คือ สร้างเรื่องโกหกแบบโง่ๆ อย่างการคิดค้นตัวยาที่สามารถรักษาได้ทั้งโรคเอดส์ MERS และอีโบล่า[2] หรือภาพความบ้าที่ผูกอยู่กับข่าวลวง และหลายๆ คนเชื่อไปแล้วว่าเขาสั่งประหารลุงของตัวเองโดยการให้หมารุมกัดตาย[3] (ตอนนั้นคนเชื่อและแชร์กันเยอะจริงๆ นะครับ) เป็นต้น ภาพที่ขัดแย้งกันอย่างมากของคิมจองอึนในฐานะผู้นำที่ออกมาเจรจากับเกาหลีใต้ และข่าวความบ้าก่อนหน้า จึงไม่แปลกนักที่จะทำให้หลายคนเซอร์ไพร์สหนัก
แต่เราต้องเข้าใจก่อนว่า ไอ้บทบาทที่ทำตัวดูบ้าๆ นั่น (โอเคอาจจะไม่ได้ ‘ทำตัว’ ก็ได้ เขาอาจเป็นแบบนั้นโดยธรรมชาติด้วย ผมไม่อาจทราบได้) คิมจองอึนเล่นบทบาทนั้นโดยมีแมสเสจหลักอยู่ที่ใคร ผมคิดว่าเรื่องบ้าๆ ของเขานั้น ไม่ได้มีเพื่อให้คนไทยอย่างเรา หรือฝรั่งมังค่าในซีกโลกตะวันตกมาเข้าใจหรอก เขาไม่ได้แคร์ เขาไม่ได้สื่อสารกับเรา แต่ภายใต้ความบ้านั้น เขาสื่อสารกับคนในประเทศของเขาเองต่างหาก
หากมองในบริบทที่ว่า สารที่สร้างจากการแสดงออกห่ามๆ โหดๆ หรือการกุข่าวอันดูไร้ข้อเท็จจริงออกมานั้น เป็นสารที่ส่งให้กับประชาชนเกาหลีเหนือเองทั้งหมด ไม่ได้แคร์ใครอื่นอยู่แล้ว
การทำตัวของคิมก็ต้องนับได้ว่าเป็นเหตุเป็นผล หรือเป็นการกระทำในฐานะ Homo Economicus มากทีเดียว (เป็นเหตุเป็นผลนี่ ไม่ได้แปลว่า ‘ดี’ หรือ ‘ทำถูกต้องดีแล้ว’ นะครับ) เพราะในประเทศที่ข้อมูลแทบทั้งหมดถูกปิดกั้นโดยรัฐเกือบจะสมบูรณ์แบบ แถมประชากรจำนวนมากโดยเฉพาะในเขตศูนย์กลางอำนาจยังยกย่องเชิดชูตัวผู้นำอย่างมาก และการสร้างสภาวะที่ทั้งน่านับถือน่ายำเกรงไปพร้อมๆ กันนั้น เป็นวิธีการที่ผู้ปกครองในระบอบอำนาจนิยม ราชานิยม หรือเทวนิยมต่างๆ ล้วนทำมาแล้วทั้งสิ้นนับแต่โบราณ (ของไทยเรายังมีแนวคิดเรื่อง ‘พระเดช – พระคุณ’ เลยครับ ก็ทำนองเดียวกันนั่นแหละ)
ฉะนั้นสารที่สื่อสารกับประชาชนเกาหลีที่มีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลทางเลือกได้ยากมากๆ นั้น จึงนับได้ว่าเป็นเรื่องปกติที่พี่คิมทำแบบนั้น และก็ทำนองเดียวกันกับพ่อหรือปู่ของเขาด้วย เหมือนคำกล่าวของ Desiderious Erasmus (ค.ศ.1500) นั่นแหละครับ ที่ว่า “ในดินแดนของเหล่าคนตาบอด ชายผู้มีตาเพียงข้างเดียวจักเป็นราชา” [In the land of the blind, the one-eyed man is king.][4] ประชาชนเกาหลีเหนือที่มืดบอดในทางข้อมูล หลงบูชาข้อมูลครึ่งๆ กลางๆ ของคิมจองอึน จึงเป็นเรื่องผิดวิสัยอะไร หรือถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ‘สมเหตุสมผล’ เสียด้วยซ้ำ
ในแง่นี้เราอาจพูดได้ว่าประเทศไทยนั้น ‘หนักหน่วง’ เสียยิ่งกว่าเกาหลีเหนือได้ ในแง่ที่ว่าประเทศเราไม่ได้ถูกจำกัดการเข้าถึงข้อมูลในระดับเกาหลีเหนือเลย ห่างไกลกันมากๆ และหลายๆ ครั้ง เหตุการณ์อันผิดไปจากข้อเท็จจริง หลักการ และเหตุผลนั้นเกิดขึ้นเต็มๆ คาลูกตา แต่เรากลับทำเป็นไม่เห็น หรือทำประหนึ่งมันไม่เคยมีไม่เคยเกิดขึ้นได้ นี่ต่างหากครับที่เป็นเรื่องประหลาด หากเหตุการณ์อันผิดวิสัยซ่อนเร้นตัวอยู่แล้วเรามองไม่เห็น นั่นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ หรือ หากสายตาเรามืดบอดหรือถูกบังคับให้พันผ้าปิดตาไว้แต่กำเนิด แล้วเราจะมองไม่เห็นความผิดปกติวิสัยที่เกิดขึ้น นั่นก็ยังเข้าใจได้ แต่หากเป็นอย่างที่เราเป็นกันคือ เขาร้องบอกว่า “หลับตาเสียนะ พวกฉันจะทำเรื่องไม่ดี” แล้วเราก็ยอมปิดตากันไป ปล่อยให้เขาทำอะไรก็ทำกันนั้น มันออกจะเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ได้ด้วยตรรกะปกตินัก และในแง่นี้คงไม่ผิดนักที่จะบอกว่าประเทศไทยเราดูหนักหนากว่าเกาหลีเหนือเสียอีก
พล่ามมาตั้งยาว เพื่อจะอธิบายแค่ว่า พี่คิมเขาไม่ได้เป็นคนบ้าไร้เหตุผลตั้งแต่แรกแล้วหรอกครับ การกระทำของเขามันวางอยู่บนเหตุผลอีกแบบหนึ่ง อีกชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุเป็นผล (แต่ไม่ได้แปลว่าดี) กับชุดของผู้รับสารที่เขาต้องการจะสื่อถึง แม้จะเป็นเรื่องประหลาดในสายตาเรา ที่ไม่ใช่เป้าหมายของเขาก็ตามที ฉะนั้นอย่าแปลกใจอะไรไปเลย
ทีนี้มาถึงเรื่องกระแสความคาดหวังต่อการรวมชาติเกาหลีกันบ้างดีกว่าครับ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรอีกเช่นกันที่จะเกิดกระแสนี้พัดกระพือไปทั่ว
เพราะหลังจากเสร็จสิ้น ‘การทูตหรือการเจรจาบะหมี่(เย็น)’ ที่ว่านี้แล้ว ได้เกิดสนธิสัญญาครั้งประวัติศาสตร์ขึ้นฉบับหนึ่งครับ อย่างที่หลายๆ คนคงจะรู้กันดีแล้ว นั่นคือ Panmunjom Declaration ซึ่งมีเนื้อหาหลักๆ 3 ประการด้วยกัน นั่นก็คือ (1) สัญญาว่าจะริเริ่มการรวมชาติกัน (2) สงบศึก และ (3) ลดอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครอง จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่ดีงามสุดติ่งทั้งหมดเลย
ผมขออภิปรายในฐานะนักความมั่นคงศึกษาคนหนึ่งนะครับ ข้อ 2 กับข้อ 3 ทำได้ และเกิดขึ้นได้ ทั้งผมยังเชื่อว่าจะเกิดขึ้นแน่นอนด้วยครับ (แต่จะจริงใจแค่ไหนนั้นอีกเรื่องหนึ่ง) คือ วิกฤตการณ์ความตึงเครียดจากขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือที่ผ่านมานั้น ในแง่หนึ่งมีความคล้ายกับวิกฤตการณ์ขีปนาวุธแห่งคิวบา หรือ Cuban Missile Crisis ไม่น้อย (รวมถึงเหตุการณ์ความตึงเครียดอื่นๆ ด้วย) ที่ผลลัพธ์ในตอนท้ายนำไปสู่ข้อตกลงการลดอาวุธของสองฝ่ายคู่อริกัน อย่างในกรณีวิกฤตการณ์ที่คิวบา สหรัฐอเมริกา และสหภาพโซเวียตต่างก็ยอมถอยให้กันและกันคนละก้าว แม้สถานการณ์ในตอนนั้นตึงเครียดมากๆ เสียยิ่งกว่าครั้งเกาหลีเหนือนี่อีก เพราะสุดท้ายแล้วอาวุธนิวเคลียร์เป็นอาวุธที่ ‘ไม่สามารถใช้ออกไปได้’ น่ะครับ (ผมเคยเขียนถึงในบทความที่ใส่ไว้ในอ้างอิงแรกแล้ว ลองอ่านดูได้ หรืออยากเอาแบบละเอียด ไปลองหา ดรามา สุตรามาอ่านกันดูนะครับ 555 ขายของซะงั้น)
ฉะนั้นการสงบศึก และการลดอาวุธเป็นเรื่องในปกติวิสัยที่จะเป็นไปได้ ไม่ใช่อะไรแปลกเลย
แต่ที่ผมคิดว่าไม่มีทางเกิดขึ้นแน่ๆ ก็คือ ข้อแรก หรือการรวมชาติเกาหลี นี่ไม่ได้เขียนเพราะแช่งอะไร หากเป็นตามหวังได้ก็อยากจะเดาผิด และให้เขาได้รวมชาติกันจริงๆ นะครับ แต่สุดท้ายแล้วการรวมชาติ มันมีความหมายถึงการสูญสิ้นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ หรืออำนาจสูงสุดในการปกครองรัฐของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายน่ะครับ แล้วคิดจริงๆ หรือว่าคนอย่างคิมจองอึนจะยอม? หรือในทางเดียวกัน เกาหลีใต้เองก็คงไม่ยอมเสียอธิปไตยและสิทธิในการปกครองตัวเองเอาดื้อๆ เป็นแน่แท้ ในกรณีที่เสียทั้งคู่ รวมชาติ สร้างรัฐใหม่ เลือกผู้นำใหม่ แบบนี้เกาหลีใต้อาจจะโอเค แต่คนอย่างคิมจองอึนจะยอมสละอำนาจของตนจริงๆ หรือ?
ผมคิดว่าไม่มีทาง เป็นไปได้มากที่สุดผมคิดว่าคือเปิดให้มีการพบปะระหว่างประชาชนของ 2 ประเทศได้ง่ายขึ้นบ้าง แต่ทางพี่คิมเองก็จะต้องระวังอย่างพิเศษด้วยแน่นอน เพราะคิมย่อมไม่อยากให้ประชาชนที่โดนบังคับปิดหูปิดตาแต่กำเนิดของเขา มีช่องทางในการ ‘มองเห็นหรือได้ยิน’ อะไรอื่นนอกไปเสียจากที่เขาต้องการให้เห็นหรือได้ยินด้วยเช่นกัน และเหล่านี้ผมคิดว่าคือสิ่งที่พี่คิม รวมถึงทีมที่ปรึกษาย่อมรู้ดี ทั้งคนเหล่านี้ย่อมรู้อยู่แล้วว่าตัวเองไม่ยอมเสียอำนาจการปกครองสูงสุดเหนือรัฐตนไปแน่ๆ
เช่นนั้นแล้ว ข้อที่ 1 ใน Panmunjom Declaration มีขึ้นมาทำไมเล่า?
มันเป็นการสร้างสภาวะที่สำคัญอย่างมากในทางการเมืองการปกครองครับ คือ การสร้างสภาวะ ‘เกือบจะเอื้อมไปถึง’ สภาวะเกือบๆ จะถึงนี้เองเป็นกลไกสำคัญมากในการยื้อการปกครองให้ดำเนินอยู่ได้โดยไม่สิ้นสุด โดยผู้รับสารเองก็ไม่สูญสิ้นซึ่งความหวังในการถึงเส้นชัยไป
หากจะนึกถึงสภาวะแบบเดียวกันนี้ให้เด่นชัด ก็ลองนึกถึงเกมที่เคยฮิตอย่างคุกกี้รันดูก็ได้ครับ การเล่นคุกกี้รันนั้น เป้าหมายหลักของแต่ละคนยาวไกลมากน้อยแตกต่างกันออกไป บางคนอยากทำลายสถิติตัวเอง บางคนอยากโค่นเพื่อนที่ได้อันดับสูงกว่า ฯลฯ แต่ไม่ว่าเป้าหมายหลักของทุกคนเป็นแบบไหน ในระหว่างที่เล่นอยู่ “เป้าหมาย ณ จังหวะเวลาหนึ่งๆ นั้น อยู่ที่การไปให้ถึงอีกขอบหนึ่งของหน้าจอโทรศัพท์ให้ได้เท่านั้น” แต่พร้อมๆ กันไป ขอบของหน้าจอโทรศัพท์อีกฝั่งหนึ่งนั้นกลับกลายเป็นสิ่งที่ ‘ไม่เคยมาถึง’ แต่มีสถานะของการเป็น ‘สิ่งที่เกือบจะเอื้อมถึง…จะถึงแล้วๆ’ ตลอดเวลา
การรวมชาติเกาหลี ภายใต้เงื่อนไขของสนธิสัญญานี้ก็เช่นกันครับ มันทำหน้าที่ในการสร้างสภาวะ ‘เกือบจะเอื้อมถึง’ อันเป็นนิรันดร์ขึ้นมา เพราะความเกือบจะเอื้อมถึงนี้เองที่จะทำให้เราพร้อมวิ่งเพื่อมัน มันดูไม่ไกลเกินไปจนเกินจริง มันใกล้พอที่จะฝันได้ แต่ความ ‘พอจะฝันได้’ นี่แหละที่ทำให้ไกลเกินฝันยิ่งกว่าสิ่งใด เพราะมันเป็นสิ่งที่ยิ่งวิ่งเข้าหา มันก็จะวิ่งหนีโดยรักษาระยะห่างอย่างคงที่เสมอๆ เพื่อล่อให้เราได้วิ่งตามโดยไม่รู้สึกย่อท้อ
การจะได้มาซึ่งสภาวะเกือบจะเอื้อมถึงที่ว่านี้ แน่นอนว่าต้องมีการดำเนินการบางอย่างให้ผู้รับสารรู้สึกถึงการเข้าใกล้อีกฝั่ง (ที่ฝันถึง) อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน มีเนื้อมีหนัง ดูจับต้องได้ก่อนเสมอ ตัวสนธิสัญญาที่ว่านี้ก็ดูจะเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างที่ว่านี้ด้วย และความสำเร็จของมันนั้นก็เห็นได้ไม่ยากจากกระแสความตื่นตัวและดีใจไปทั่วของทั้งคนเกาหลีและทั่วโลก
ในเกมวิ่งไล่จับฝันอันเป็นนิรันดร์นี้ การวิ่งตามลูกเดียวอาจไม่ใช่คำตอบก็ได้ แต่การขยับออกห่างมายืนนิ่งๆ และพิจารณาถึงโครงสร้างที่ทำให้เราต้องวิ่งเป็นระยะๆ ก็อาจเป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน แต่หากใครวิ่งเพื่อฝันที่จับถึงได้จริงๆ ก็อาจจะต้องลองอ่าน Homo Finishers ของนิ้วกลมดูนะครับ (สาบานได้ว่านี่ไม่ใช่บทความแอดเวอร์ฯ)
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู thematter.co
[2] โปรดดู www.theguardian.com
[3] โปรดดู www.theguardian.com/world
[4] จากหนังสือชื่อ Adagia (1500) ซึ่งภาษาอังกฤษนี้แปลมาจากภาษาละตินอีกทอดหนึ่ง ข้อความต้นฉบับจริงๆ คือ in regione caecorum rex est luscus