ข่าว ‘นอกประเทศไทย’ ที่ร้อนแรงเป็นประเด็นกันอยู่เรื่อยๆ คงจะหนีไม่พ้นเรื่องเกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์ และที่ตึงเครียดสุดคงไม่พ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาตอบโต้ด้วยการส่งเรือบรรทุกเครื่องบินไปจ่อน่านน้ำไว้ โดยมีญี่ปุ่นและเกาหลีใต้คอยหนุนอยู่ข้างหลัง ในขณะที่จีนก็แสดงท่าทีพร้อมเข้ามาไกล่เกลี่ยและไม่ได้ออกปากจะปกป้องเกาหลีเหนืออะไรเป็นพิเศษอย่างทุกครั้ง
ทุกอย่างแลดูจริงจังตึงเครียดไปหมด หลายคนก็หวั่นใจกันอีกแล้วว่าจะต้องเกิดสงครามใหญ่แน่เลย ระดับที่นักข่าวอาวุโสที่มีคำว่า ‘นะขรั่บ’ ลงท้ายอันเป็นเอกลักษณ์ของสำนักข่าวชื่อดังแห่งหนึ่งถึงกับตื่นเต้นออกหน้าออกตาวิเคราะห์ข่าวเสียยกใหญ่โดยไม่ทันได้ตรวจสอบว่าข่าวที่เอามาวิเคราะห์เป็นข่าวปลอม (hoax) เป็นต้น
วันนี้ผมเลยอยากจะมาพูดเรื่องสงครามสักหน่อย เพราะที่ผ่านมาทั้งคนไทยและเทศ (โดยเฉพาะอเมริกันชน) ดูจะตื่นตกใจคิดว่าอะไรๆ ก็จะกลายมาเป็นสงครามสเกลใหญ่ได้ง่ายเสียเหลือเกิน อย่างก่อนหน้านี้ก็มีกระแสเรื่องสงครามโลกครั้งที่ 3 ไปรอบหนึ่งแล้ว และก็เงียบกันไป (ไม่เกิดน่ะดีแล้ว) แต่จุดที่ผมคิดว่าควรจะทำความเข้าใจกันก่อนก็คือ “สงครามมันไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ เช่นนั้น” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การครอบครองอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapon of Mass Destruction หรือ WMD) มีในประเทศมหาอำนาจแทบทั้งหมดอย่างทุกวันนี้ มันมีกรอบวิธีการมองเรื่องความมั่นคงอย่างไรบ้าง
ในเบื้องต้นก่อน ผมอยากให้เข้าใจที่มาที่ไปของการวิเคราะห์ในด้านความมั่นคงก่อนนั่นคือ เราจะถือว่าตัวแสดงทางการเมืองในกรอบวิเคราะห์ของเรานั้น ‘เป็นตัวแสดงที่มีเหตุผล’ (Rational Actor) เป็นสำคัญ กล่าวคือ ตัวแสดงในการวิเคราะห์เหล่านี้อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องรู้จักชั่งน้ำหนักถึงผลเสียหนักสุดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของตน ก่อนจะทำการตัดสินใจทำอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง พูดแบบเท่ๆ หน่อยก็คือ ถือว่ามนุษย์เป็น Homo Economicus คำนี้อาจารย์ปกป้อง จันวิทย์แปลเป็นภาษาไทยว่า ‘สัตว์เศรษฐกิจ’
มันเกี่ยวอะไรกับเศรษฐกิจเล่า เรื่องความมั่นคงเนี่ย?
มันเกี่ยวครับ เพราะเศรษฐศาสตร์นั้นคือศาสตร์ที่ว่าด้วย ‘การตัดสินใจ’ ของมนุษย์ ซึ่งต้นทุนในทางเศรษฐศาสตร์นั้นไม่ได้มีเพียงเฉพาะตัวเลขเท่านั้นอย่างต้นทุนทางบัญชี ฉะนั้นการศึกษาพฤติกรรมของสังคมมนุษย์ผ่าน ‘เหตุผลในการตัดสินใจ’ จึงเป็นเรื่องทางเศรษฐศาสตร์ได้ทั้งสิ้น เมื่อเป็นเช่นนี้เราจึงคาดคะเนพฤติกรรมของมนุษย์บนฐานว่ามนุษย์ต้องมีเหตุผลในขณะที่จะตัดสินใจทำอะไร เพื่อให้ตัวเองได้สิ่งที่ดีที่สุดจากการตัดสินใจนั้น[1] แน่นอนว่าไม่ใช่มนุษย์ทุกคนจะเป็น Homo Economicus กันหมด การกระทำบางอย่างก็ไม่ได้มีเหตุผลไปเสียทุกครั้ง อย่างไรก็ดีพอเป็นเรื่องความมั่นคงสเกลสงครามแล้ว นักความมั่นคงจะถือว่า อย่างน้อยๆ ระดับคนที่เป็นถึงผู้นำประเทศที่คอยบริหารและขับเคลื่อนชุมชนการเมืองในระดับรัฐนั้น ก็ควรจะต้องเป็น Homo Economicus แหละน่า…ซึ่งผมก็คิดว่าเป็นสมมติฐานขั้นต่ำที่นับว่าแฟร์ไม่น้อยอยู่
ถึงตรงนี้หลายท่านอาจจะเกิดสงสัยขึ้นมาว่า “อ้าว แล้วถ้าผู้นำประเทศไม่ได้ทำอะไรบนฐานของเหตุผลล่ะ บ่อยครั้งดูออกจะบริหารประเทศแบบเลอะเทอะเอามันไปเรื่อย” อย่างผู้นำเกาหลีเหนืออย่างคิมจองอึน (และรุ่นก่อนหน้าอย่างคุณพ่อ จอง อิล) หรืออาจจะเป็นบางคนที่ใกล้ตัวกว่านั้นก็เป็นได้…ใช่อยู่ครับ การมีอยู่ของคนแบบนี้ค่อนข้างจะสร้างความหนักใจให้กับนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงไม่น้อย เพราะถ้าทุกอย่างเลือกจะตัดสินใจตามใจตัวเองหมด ตัวเองเชื่ออย่างไร อยากอย่างไร ก็สั่งทำงั้นเลย มันก็ไม่มีทางจะเดาได้ มีแต่ปล่อยให้ ‘สไตล์’ ของใครพาไหลไปเอง ซึ่งส่วนนี้เราจะวนกลับมาพูดกันใหม่ในช่วงท้ายสุด
ทีนี้ในยุคที่ประเทศมหาอำนาจมี WMD ครอบครองกันมากมาย แนวคิดหนึ่งที่อธิบายสภาพ ‘สันติภาพที่แน่นิ่งแต่ไม่น่านอนใจ’ นี้ได้อย่างค่อนข้างครอบคลุม เรียกว่า ‘สมดุลของความกลัว’ หรือ Balance of Terror
ซึ่งคาดกันว่าถูกใช้ครั้งแรกอย่างเป็นทางการโดย Lester Pearson ใน UN Charter ปี 1955 โดยมันเป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายโลกมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตแข่งกันสะสมขีปนาวุธนิวเคลียร์ครับ แนวคิดเรื่องนี้จริงๆ แล้วเป็นอะไรที่ซิมเปิ้ลมากๆ เลย คือ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมีอาวุธที่มีพลังในการทำลายล้างสูงเกินไป มันเป็นระดับความสามารถในการทำลายล้างที่แทบจะเรียกได้ว่าสูงเกินกว่าจะใช้งานได้จริงหากต่างมีในครอบครองทั้งสองฝ่าย (อย่างกรณีการทิ้งปรมณูที่ฮิโรชิมะและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองนั้น สามารถใช้ได้จริง เพราะมีในครอบครองเพียงฝ่ายเดียว) ที่บอกว่าสูงเกินกว่าจะใช้งานได้จริงนั้นเพราะว่าความสามารถในการทำลายล้างของมันนั้นเมื่อนำมาคำนวนถึงต้นทุนที่จะต้องสูญเสียในทางเศรษฐศาสตร์แล้ว (ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะต้องเป็นตัวเลขเท่านั้น) ไม่มีผลลัพธ์ใดจะมากพอให้มาคุ้มทุนที่จะเสี่ยงกับผลลัพธ์นั้นได้ ซึ่งอาจถึงขั้นรัฐล่มสลายไปได้นั่นเอง เพราะฉะนั้นสภาวะที่โลกมี ‘สันติภาพเป็นส่วนใหญ่’ อย่างนตอนนี้จึงมาจากระดับความกลัวต่อ WMD ที่ต่างฝ่ายต่างถือครองอยู่นั่นเอง
สภาพการดังกล่าวมันมาเข้มข้นอย่างสุดๆ เอาช่วงเดือนตุลาคม ปี 1962 ในเหตุการณ์ที่เราเรียกว่า ‘วิกฤติการณ์คิวบา’ หรือ Cuban Missile Crisis ที่หลายคนในยุคนั้นเชื่อว่าสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตต้องสาดนิวเคลียร์ล้างบางกันเป็นแน่แท้ ความตื่นกลัวสูงกว่าช่วงที่ผ่านมาที่มีต่อกระแสสงครามโลกครั้งที่ 3 หรือการทดลองนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือนี้มาก แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดเหตุการณ์ นั่นเพราะสุดท้ายแล้วทั้งจอห์น เอฟ เคเนดี้ และนีกีต้า ครุชชอฟ ก็ประพฤติตนเป็น Homo Economicus กัน ในจุดนี้เองเราอาจจะกล่าวได้ว่าภายใต้ Balance of Terror ตราบเท่าที่ผู้นำรัฐยังเป็น Homo Economicus อยู่ ก็พอจะการันตีได้ว่าสงครามคงจะไม่เกิดขึ้นง่ายๆ
อย่างไรก็ดี Balance of Terror นั้นเป็นสมดุลที่เสื่อมสลายได้ เพราะปัจจัยสำคัญที่สุดของสมดุลย์นี้อยู่ที่ 2 เงื่อนไขสำคัญ นั่นคือ (1) การมีอยู่ของ WMD และ (2) การที่คู่ตรงข้ามทางอำนาจการเมืองต่างต้องถือครอง WMD ด้วยกันทั้งคู่ (หรือหลายคู่) นั่นแปลว่าอะไรครับ? แปลว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ “การถือครอง WMD จากหลายฝ่าย” ถูกทำลายลง และเหลือเพียงฝ่ายเดียวที่ถือครอง WMD อีกครั้ง นั่นแปลว่าขีปนาวุธนิวเคลียร์จะกลับมาใช้งานได้อีกครั้งด้วย นี่เป็นที่มาที่ทำให้ในปี 1983 ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนของสหรัฐอเมริกา ได้มุ่งหวังจะเริ่มโครงการ Space-based Anti-Missile System ที่ต่อมาถูกเรียกตามชื่อภาพยนตร์ชื่อดังของจอร์จ ลูคัสว่า “โครงการสตาร์วอรส์” โดยโครงการนี้เล็งไว้ว่าจะใช้ดาวเทียมติดเครื่องยิงลำแสงความเข้มข้นสูง (Laser) ทำลายขีปนาวุธทั้งหมดที่มีวิธีเข้ามาโจมตีสหรัฐอเมริกาก่อนที่จะตกถึงที่หมายจากอวกาศเลย แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็ต้องล้มเลิกไป เนื่องจากต้องการงบประมาณและเทคโนโลยีที่สูงมาก ไม่เพียงเท่านั้นยังเกิดการประท้วงจากแทบทุกองค์กรในโลกกันเลยทีเดียว เพราะสมมติว่าโครงการนี้สำเร็จขึ้นได้จริง นั่นแปลว่า “สภาพการครอบครอง WMD ของรัฐอื่นๆ จะไม่มีผลหรืออำนาจต่อรองกับสหรัฐอเมริกาในการสร้างสมดุลย์แห่งความกลัว” อีกเลย และสหรัฐอเมริกาก็จะเสมือนเป็นประเทศมหาอำนาจเดียวที่ถือครอง WMD ไปโดยปริยาย และนั่นจะทำให้การใช้ WMD สามารถทำได้อีกครั้งนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ในเมื่อโครงการนี้ไม่เกิดขึ้นจริง สภาพของสมดุลย์แห่งความกลัวก็ยังคงทำงานของมันอยู่ นั่นแปลว่าสงครามในสเกลใหญ่ระดับสาด WMD ใส่กันระหว่างชาติมหาอำนาจคงจะไม่ปะทุขึ้นง่ายๆ ฉะนั้นผมคิดว่าตราบเท่าที่ยังไม่มีเทคโนโลยีอะไรแบบนี้ขึ้นมา ก็คงไม่ถึงกับจะต้องตื่นตระหนกจนเกินเหตุกับข่าวเรื่องสงครามโลกครั้งที่สาม ระหว่างพี่ทรัมพ์ กับพี่ปูตินมากนักก็ได้ครับ
เมื่อสงครามระหว่างชาติมหาอำนาจที่ถือครอง WMD เกิดขึ้นได้ยากเพราะ Balance of Terror แล้ว แปลว่าเราจะปราศจากสงครามเลยหรือเปล่า? คำตอบคือ NO! ตัวใหญ่ๆ ครับ แต่สงครามจะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขดังนี้ (1) เกิดขึ้นระหว่างรัฐที่ไม่ได้ถือครอง WMD ด้วยกันเอง และ/หรือ (2) ในกรณีที่ชาติมหาอำนาจที่ถือครอง WMD เข้าร่วมสงคราม แปลว่ารัฐคู่ตรงข้ามมักจะไม่ใช่รัฐที่ถือครอง WMD และ/หรือ (3) ในกรณีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐมหาอำนาจที่ถือครอง WMD ด้วยกันเอง มักจะออกมาในรูปแบบสงครามตัวแทน (Proxy War) ที่ใช้รัฐอื่น เป็นตัวแทนของตนในการรบกัน และ/หรือ (4) ในกรณีที่รัฐมหาอำนาจเข้าร่วมสงครามด้วยตนเอง มักจะเกิดในพื้นที่ซึ่งรัฐมหาอำนาจมั่นใจว่าจะสามารถจำกัดพื้นที่แห่งการปะทะได้ (Containable War Zone) และ/หรือ (5) สงครามภายในของรัฐนั้นๆ เอง เหล่านี้เป็นเกณฑ์พื้นฐานครับ เพราะฉะนั้นในช่วงตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมา สงครามที่เกิดขึ้นนั้นจึงเป็นสงครามระหว่างชาติมหาอำนาจ บุกถล่มในพื้นที่รัฐขนาดเล็กกว่า อย่างสหรัฐอเมริกาในสงครามกวาดล้างยาเสพติดในอเมริกาใต้ หรือสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ในอัฟกานิสถานและอิรัก หรือสงครามระหว่างรัฐขนาดเล็กด้วยกันเอง อย่างสงครามในโคโซโว หรือข้อพิพาทในพื้นที่ตะวันออกกลางด้วยกันเอง เป็นต้น
ที่ร่ายมาเสียยาวยืดนั้นมันเกี่ยวอะไรกับเกาหลีเหนือ? เกี่ยวทั้งหมดนั่นแหละครับ ถึงจำเป็นต้องร่าย ในสายวิชาความมั่นคงระหว่างประเทศ (International Security Studies) แล้ว เราต้องเริ่มกันก่อนจากคำถามว่า “ทำไมเกาหลีเหนือถึงต้องการจะสร้าง WMD อย่างขีปนาวุธนิวเคลียร์”?
หลักๆ มันก็มาจากท่าทีของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อเกาหลีเหนือเองนั่นแหละครับ กล่าวคือ สหรัฐอเมริกาวางตัวเป็นฝั่งตรงข้ามกับเกาหลีเหนือมาอย่างชัดเจนตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลีแล้ว และเมื่อสงครามใหญ่ของคาบสมุทรเกาหลีนี้จบลง ประเทศเกาหลีใต้ในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมาก็พัฒนาตัวเองได้อย่างแข็งแกร่งและรวดเร็วมากด้วย และโดยรวมๆ ความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาก็ดีมาโดยตลอด (มีขลุกขลิกบ้างในช่วงสั้นๆ และกลับมารักกันดีใหม่ในยุคประธานาธิบดีโอบาม่า) ฉะนั้นในฐานะที่เป็น Homo Economicus แล้ว ทางเลือกหลักๆ ก็มีเพียงสองทางคือ (1) ยอมเป็นลูกไล่สหรัฐอเมริกา หรือ (2) เข้าไปเป็นผู้เล่นในสมการของสมดุลแห่งความกลัวที่เหล่าชาติมหาอำนาจต่างถือครองอภิสิทธิ์อยู่ให้ได้ เป็นที่ชัดเจนในตอนนี้ว่าเกาหลีเหนือเลือกทางที่สอง และก็เป็นคำตอบว่า ทำไมต้องคิดมีขีปนาวุธนิวเคลียร์
อย่างไรก็ดี ท่าทีของสหรัฐอเมริกาในรอบนี้ที่มีต่อเกาหลีเหนือดูจะตึงเครียดเป็นพิเศษ มันเป็นเพราะอะไร? ผมคิดว่าหลักๆ แล้วมาจากสองส่วนครับ คือ
- แม้ผลการทดลองและทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจะล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้แปลว่าไร้ซึ่งพัฒนาการ ซึ่งเป็นส่วนที่ทางสหรัฐอเมริกาก็ติดตามอยู่แล้ว ดังที่ระบุไว้ในเอกสารวิจัยของสภาคอนเกรส ของสหรัฐเอง ในเอกสารยังระบุว่าควรจะมีท่าทีในการเข้าควบคุมการทดลองด้านขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนืออย่างเข้มข้นขึ้นด้วย อีกทั้งนับตั้งแต่ที่คิมจองอึนขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศ ท่าทีของจีนซึ่งเป็นมหาอำนาจที่ปกติให้ความคุ้มครองเกาหลีเหนือแทบจะประเทศเดียวนั้น ก็สึกกร่อนมากเป็นพิเศษ[2] ฉะนั้นคงจะแปลได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะแสดงความเข้มงวดกับเกาหลีเหนือมากยิ่งขึ้น
- มันเป็นเรื่องของ ‘ระยะ’ ครับ อย่างที่บอกไป ส่วนหนึ่งที่สำคัญมากในแง่ปัจจัยการสงครามคือ ‘ความสามารถในการควบคุมขอบเขตพื้นที่ของความเสียหายได้’ ฉะนั้นยิ่ง ‘ระยะ’ ของการสร้างความเสียหายของเกาหลีเหนือขยายวงกว้างมากขึ้นเท่าไหร่ นั่นย่อมหมายความว่าความสามารถในการควบคุมพื้นที่ในกรณีเกิดสงครามขึ้นมาจะน้อยลงเท่านั้น และจากรายงานของ The Wall Street Journal ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2016 เป็นครั้งแรกที่เกาหลีเหนือมีศักยภาพในการสร้างขีปนาวุธวิถีไกลที่ทีระยะทำลายถึง 6,210 ไมล์ หรือไกลพอที่จะเล็งเป้าไปยังเมืองสำคัญของสหรัฐอเมริกาอย่าง ซานฟรานซิสโก, ลอสแองเจลลิส, ซีแอตเทิล หรือพอร์ตแลนด์ได้[3] พร้อมทั้งการทดลองนิวเคลียร์ในวันที่ 9 กันยายน 2016 ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 5 นั้น แม้จะถือว่าไม่สำเร็จ แต่ระดับความรุนแรงที่ทางการเกาหลีใต้วัดได้ ก็อยู่ระหว่าง 10 – 20 กิโลตัน ซึ่งนับว่าความรุนแรงสูงกว่าครั้งแรกที่ทดลองเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2006 ซึ่งมีพลังทำลายน้อยกว่า 1 กิโลตันเป็นอย่างมาก (ระเบิดปรมณูที่ทิ้งลงฮิโรชิม่ามีขนาดประมาณ 15 กิโลตัน) ฉะนั้นเมื่อผนวกเรื่องระยะ กับความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั้น จึงไม่แปลกนักที่ในรอบนี้สหรัฐอเมริกาจะมีท่าทีตึงเครียดเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ดี ว่ากันตามหลักแล้ว หากเกาหลีเหนือสำเร็จในการทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์วิถีไกลได้ กลับจะเป็นการประกันว่าสงครามมีโอกาสจะเกิดขึ้นยากมาก ในทางตรงกันข้ามสภาวะที่ดูจะใกล้สำเร็จมากๆ นี่แหละที่ดูจะสุ่มเสี่ยงกว่า เพราะเท่ากับเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะหยุดไม่ให้เกาหลีเหนือเข้ามาอยู่ในสมการของสมดุลแห่งความกลัวได้
อย่างไรก็ดี ผมคิดว่าในพื้นที่คาบสมุทรเกาหลีในปัจจุบันนั้น ต้องนับว่ายากมากอยู่ดีที่จะเกิดสงครามในสเกลใหญ่ขนาดนั้นได้ เพราะด้วยพื้นที่ทางภูมิศาสตร์แล้วค่อนข้างจะยากในการควบคุมพื้นที่ของความรุนแรง (ในกรณีที่เกิดเป็นสงครามสเกลใหญ่) ไม่ให้ไปโดนพื้นที่ของประเทศจีน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในมหาอำนาจที่ถือครอง WMD ได้[4] คือ ต่อให้จีนจะมีท่าทีเย็นชากับเกาหลีเหนือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่หากสหรัฐไม่มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมพื้นที่เขตสงครามให้ไม่เล็ดลอดออกไปโดนจีนได้เลยก็คงไม่เกิดสงครามระดับนั้นได้ง่าย เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่ต้องใช้ในการตัดสินใจในฐานะผู้นำผู้เป็น Homo Economicus อย่างไรก็ดีการเฝ้าจับตาพร้อมกดดันเกาหลีเหนือในระดับเข้มข้นของชาติซึ่งไม่เป็นมิตรนักและอยู่ในแนววิถีกระสุน อย่างเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกาคงจะมีต่อไปอีกยาวๆ เลยทีเดียว ฉะนั้นผมก็ว่าอย่าได้ตื่นตกใจอะไรไปขนาดนั้นเลย…สงครามในยุคนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ครับ
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนดูจะกลัวเกาหลีเหนือเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นความกังวลว่าพี่คิมจะประพฤติตนเป็น Homo Economicus หรือเปล่า?
โดยส่วนตัว ผมคิดว่าในระดับหนึ่งนี่ พี่แกเป็นพอสมควรนะครับ คือ เราต้องเข้าใจกันว่าเรื่องราวข่าวที่ดูตลกๆ ที่หลุดออกมานั้น หลายครั้งมันเป็นเมสเสจที่รัฐบาลพี่คิมแกไม่ได้คิดจะใช้สื่อสารกับ ‘พวกเรา’ นะครับ แต่เขาใช้เพื่อสื่อสารกล่อมเกลากับประชากรในรัฐของเขาเอง ฉะนั้นในแง่นี้มันก็ทำหน้าที่ของมันในฐานะกลไกการกดขี่อย่างเป็นเหตุเป็นผลไม่น้อย
ในทางตรงข้ามการเร่งพัฒนาขีปนาวุธนิวเคลียร์ในยุคพี่แกเอง ก็เป็นการแสดงออกอีกแบบหนึ่งว่าตัวแกเองคิดอ่านในฐานะ Homo Economicus แบบหนึ่งเหมือนกัน เพื่อที่จะได้มาเป็นส่วนหนึ่งในสมการความสมดุลย์ (คือ การเป็น Homo Economicus ไม่ได้แปลว่าเป็นคนดีหรือเลวโดยตัวมันเองอ่ะนะครับ)
ก็ได้แต่หวังว่าพี่ทรัมป์ กับพี่คิมเขาจะเป็น Homo Economicus กันให้ตลอดรอดฝั่งนะครับ ก็อย่าแตกตื่นอะไรกันเลย คอยติดตามต่อไปเรื่อยๆ ก็พอแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู pokpong.org/tag/homo-economicus
[2] โปรดดู fas.org/sgp/crs/nuke
[3] โปรดดู www.wsj.com
[4] ดูรายละเอียดขุมกำลังทางอาวุธและความมั่นคงของจีนในสายตาสหรัฐฯ ได้จาก www.defense.gov