1
คุณเคยเห็นเด็กที่เรียนเก่งมากๆ ระดับที่ทุกคนบอกว่าเป็น ‘ที่หนึ่งของชั้น’ แต่พอเรียนจบออกมาแล้ว กลับไม่ได้เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ หรือมีวิสัยทัศน์ในการทำอะไรดีๆ ให้กับโลกไหม
หลายคนอาจคิดว่า คนระดับ ‘ที่หนึ่งของชั้น’ เมื่อเรียนจบออกมาแล้ว จะต้องเป็นคนเก่งแน่ๆ ที่ทำงานที่ไหนๆ ก็ต้องอยากอ้าแขนรับ เพราะการเป็นที่หนึ่ง แปลว่าคนเหล่านี้ได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้วระดับหนึ่ง ว่าตัวเองเป็นคนที่มีวินัย มีความรู้ และดังนั้น คนแบบนี้จึงน่าจะช่วยเหลือสังคมหรือประเทศชาติได้เป็นอย่างดี
ในอเมริกา แคนาดา และอีกหลายประเทศ (เช่น ฟิลิปปินส์) จะมีศัพท์เรียกคนประเภท ‘ที่หนึ่งของชั้น’ โดยเฉพาะ คือ valedictorian คนเหล่านี้คือคนที่ได้รับประกาศนียบัตรหรือได้รับการประกาศเกียรติคุณพิเศษในพิธีสำเร็จการศึกษา (เรียกว่าพิธี valediction) คนที่เป็น valedictorian นั้น ปกติแล้วก็คือนักเรียนที่มีเกรดเฉลี่ย คือ GPA หรือ Grade Point Average สูงที่สุด ไม่ใช่แค่สูงบางวิชาหรือบางช่วงเท่านั้นนะครับ แต่ต้องสูงเฉลี่ยรวมมากกว่าคนอื่นๆ ในชั้นเรียนที่สำเร็จการศึกษาด้วยกันทั้งหมด
ส่วนคนที่เก่งในบางวิชาก็มีคำเรียกเหมือนกัน คือ salutatorian โดยคำนี้หมายถึงคนที่เก่งเฉพาะด้าน เช่น อาจจะท็อปคณิตศาสตร์ ในขณะที่ valedictorian ไม่ได้ท็อปคณิตศาสตร์ แต่คะแนนรวมทุกวิชาสูงกว่า เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นไปได้เหมือนกัน ที่ Valedictorian อาจไม่ได้ท็อปวิชาไหนเลย แต่เมื่อรวมแล้วได้ GPA สูงกว่าทุกคน โดยจะถือกันว่า valedictorian นั้นเหนือกว่า salutatorian หนึ่งขั้น
คำว่า valediction มาจากภาษาละติน คือ Vale Dicere แปลว่า to say farewell หรือเป็นพิธีอำลานั่นแหละ เมื่อจะอำลาหรือจบการศึกษากันทั้งที ก็ต้องให้รางวัลหรือประกาศเกียรติคุณนักเรียนที่เจ๋งที่สุดสักหน่อย
ดังนั้น จึงพูดได้ว่า Valedictorian มีความหมายเดียวกับ ‘ที่หนึ่งของชั้น’ นั่นเอง
เราคนไทยคงจะสงสัยมาอย่างน้อยก็หกเจ็ดปีแล้ว
ว่าคนบางคนที่เป็น ‘ที่หนึ่งของชั้น’ ตามที่มีโฆษณาประชาสัมพันธ์มานั้น
มัน ‘เก่ง’ จริงหรือเปล่า
เพราะเท่าที่เห็นเป็นประจักษ์พยาน หรือเป็นหลักฐานอันมีชีวิต ‘ที่หนึ่งของชั้น’ บางคน – สำมะหาความเก่งอันใดไม่ได้เลย
คนอเมริกันก็สงสัยแบบเดียวกันกับเราคนไทยนี่แหละครับ แต่เขาไม่ได้ทำแค่สงสัยเท่านั้น นักวิจัยบางคนตั้งสมมุติฐานขึ้นมา และก็พยายามสำรวจทดลองเก็บข้อมูล เพื่อตรวจสอบสมมติฐานว่า คนประเภท ‘ที่หนึ่งของชั้น’ นั้นเก่งจริงหรือเปล่า ถ้าเก่ง เก่งในพื้นที่แบบไหน และคนที่ไม่ได้เป็นที่หนึ่งของชั้นจะเก่งกับเขาได้หรือเปล่า
คนหนึ่งที่สำรวจเรื่องนี้ ก็คือ แคเรน อาร์โนลด์ (Karen Arnold) ซึ่งเป็นนักวิจัยที่บอสตันคอลเลจ (Boston College) โดยไปติดตามนักเรียนที่เป็น valedictorian หรือ ‘ที่หนึ่งของชั้น’ จำนวน 81 คน แล้วก็รวมไปถึงคนที่เก่งรองลงมา
คุณอาร์โนลด์พบว่า คนระดับที่หนึ่งของชั้นทั้ง 81 คนนี้ 95% ไปเข้าเรียนมหาวิทยาลัยต่อ โดยเมื่อเรียนจบแล้ว ได้เกรดเฉลี่ย (คือเอาทั้งกลุ่มมาเฉลี่ยเกรดกัน) อยู่ที่ 3.6 (ซึ่งก็ไม่ได้สูงสักเท่าไหร่) โดยมีคนที่จบการศึกษา 60% หลังจากนั้นก็ตามต่อกันไปอีก พบว่าคนเหล่านี้ (ต่อให้ไม่จบมหาวิทยาลัย) ได้ทำงานในตำแหน่งดีๆ ถึง 90% ทั้งยังเป็นคนที่ไว้วางใจได้ มีความเสมอต้นเสมอปลาย และปรับตัวให้เข้ากับองค์กรที่ตัวเองสังกัดอยู่ได้ดี มีวินัยในชีวิต ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่มี ‘ชีวิตที่ดี’ นั่นเอง
ทั้งหมดนี้ก็ฟังดูดีอยู่ เพราะมันอาจแปลว่า คนที่เป็น ‘ที่หนึ่งของชั้น’ ก็น่าจะเติบโตต่อไปมี ‘ชีวิตที่ดี’ ได้
แต่ประเด็นสำคัญของคุณอาร์โนลด์ก็คือ คำว่า ‘ชีวิตที่ดี’ ในที่นี้ มันคือชีวิตที่เป็น ‘เรื่องส่วนตัว’ ของคนเหล่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับความพยายามเปลี่ยนแปลงสังคมโดยรวม หรือเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆ ให้ดีขึ้น (ซึ่งก็คือเรื่องเชิงโครงสร้าง) เพราะถ้าถามต่อมาว่า แล้วคนที่ได้ที่หนึ่งเหล่านี้ ต่อมาเติบโตมาเป็นคนที่สามารถเปลี่ยนโลก หรือทำงานใหญ่ๆ ที่ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงกี่คนกัน – คำตอบจากงานวิจัยของคุณอาร์โนลด์ก็คือศูนย์
คุณอาร์โนลด์บอกว่า แม้ว่าคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีอาชีพและหน้าที่การงานที่ดีและประสบความสำเร็จ แต่ปรากฏว่าคนเหล่านี้ไม่สามารถไต่ขึ้นไปสู่อันดับสูงๆ และเป็นผู้นำในสนามความสำเร็จในโลกจริงของผู้ใหญ่ได้ โดยประโยคที่น่าสนใจที่คุณอาร์โนลด์บอกไว้ก็คือ Valedictorians aren’t likely to be the future’s visionaries นั่นแปลว่า ‘ที่หนึ่งของห้อง’ มีแนวโน้มที่จะเติบโตมาเป็นคนที่ไม่มีวิสัยทัศน์ด้วยซ้ำไป
คำถามคือ – ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
คำตอบง่ายๆ ที่คุณอาร์โนลด์บอกไว้ก็คือ –
เพราะคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะ settle into the system
หรือพูดง่ายๆ ก็คือปรับตัว ซุกตัว ขดตัว ให้เข้ากับระบบ, มากกว่าที่จะลุกขึ้นมาสั่นคลอนเปลี่ยนแปลงระบบหรือระเบียบโลกเก่าที่เป็นอยู่
เหตุผลที่เป็นแบบนี้มีอยู่ด้วยกันสองอย่าง
อย่างแรก คนเหล่านี้มักจะคุ้นเคยกับระบบโรงเรียน โดยโรงเรียนมักจะให้รางวัล ให้คะแนน ให้ผลตอบแทนที่ดี – กับนักเรียนที่ทำตัว ‘สอดคล้อง’ กับสิ่งที่ครูสอน ดังนั้น คะแนนที่ได้จากการเรียน จึงมีสหสัมพันธ์ ‘อย่างหลวมๆ’ กับระดับสติปัญญา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คะแนนอาจไม่ได้เป็นตัวบ่งชี้สติปัญญาก็ได้ แต่คะแนนเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีสำหรับวินัยในตัวเอง รวมไปถึงความสามารถในการ ‘ยอม’ ทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ คุณอาร์โนลด์ใช้คำว่า comply with rules
ในการสัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่ง คุณอาร์โนลด์บอกว่า โดยพื้นฐานแล้ว ระบบโรงเรียนกำลังให้รางวัลกับสิ่งที่เรียกว่า conformity ซึ่งหมายถึงการยอมตัวสมาทานเข้าสู่ระบบที่มีอำนาจเหนือกว่า รวมไปถึงความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำตามระบบเดิมๆ นั้น ไม่คิดจะเป็นขบถหรือลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงมัน
คนที่เป็น valedictorian จำนวนมากยอมรับว่าตัวเองไม่ใช่เด็ก ‘ฉลาด’ ที่สุดในชั้น แต่เป็นเด็ก ‘ขยัน’ ที่สุด บางคนก็บอกด้วยว่า การได้คะแนนดีๆ มาจากการนำเสนอสิ่งที่ครูแต่ละคนต้องการหรือเพียงทำตามที่ครูบอก หลายคนมีมุมมองต่อการเรียนว่าเป็นเหมือน ‘อาชีพ’ หรือ ‘เกม’ แบบหนึ่ง แต่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็น ‘กระบวนการเรียนรู้’ หรือ learning
เหตุผลที่สองก็คือ พอเป็นระบบ valedictorian ที่ให้คะแนนแบบเฉลี่ยสูงสุด ก็มีแนวโน้มที่ระบบการศึกษาจะยกย่องคนที่เป็น generalist หรือคนที่รู้กว้างมากกว่าคนที่มี passion หรือความหลงใหลในอะไรบางอย่างเพียงอย่างเดียว เช่น ถ้าชอบคณิตศาสตร์มาก อยากเรียนแต่คณิตศาสตร์ แต่พอจะสอบ ก็ต้องหยุดอ่านคณิตศาสตร์มาอ่านประวัติศาสตร์ก่อน เพื่อให้คะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นเป็นต้น ระบบแบบนี้จึงอาจไปขัดขวางความเป็นเลิศของเด็กได้ด้วย ทั้งที่ในโลกจริง หลายสาขาวิชาก็ต้องการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเช่นกัน แต่ระบบที่ทำให้เกิด ‘ที่หนึ่งในชั้น’ ขึ้นมาเพียง ‘แบบเดียว’ (คือแบบได้คะแนนเฉลี่ยสูงสุด) พอออกมามีชีวิตจริงในโลก จึงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรให้โลกได้มากนัก
2
มีนายกรัฐมนตรีอังกฤษสองคนที่มักถูกเปรียบเทียบกันอยู่เสมอ คนหนึ่งเป็นนายกฯ ประเภท ‘ที่หนึ่งของชั้น’ คือ เนวิล เชมเบอร์เลน (Neville Chamberlain) ซึ่งเป็นผู้นำประเภทที่ทำทุกอย่างถูกต้องเป๊ะๆ ตามขนบ ถือเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษประเภท ‘ต้นแบบ’
อีกคนหนึ่งคือ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) คนนี้ถูกมองว่าเป็นพวกประหลาด ทำอะไรแปลกแหวกแนวไม่แคร์โลก แถมยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะระเบิดอารมณ์ออกมาเมื่อไหร่ คนไม่ค่อยอยากทำงานด้วยเพราะไม่อยู่กับร่องกับรอย เขาถูกมองว่าเป็นคนระแวงระวังไปเสียทุกสิ่ง อะไรๆ ก็อาจเป็นภัยคุกคามประเทศของเขาได้เสมอ แม้กระทั่ง มหาตมะ คานธี เชอร์ชิลก็ยังมองว่าเป็นคนอันตราย เพราะเป็นคนที่ลุกขึ้นมานำการลุกฮือในอินเดีย
ในตอนก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง จึงเป็นเชอร์ชิลนี่เอง ที่เห็นว่าฮิตเลอร์น่าจะเป็นภัยอันตรายใหญ่หลวง แต่นายกฯ อย่างเชมเบอร์เลนผู้สุดแสนจะเป็นสุภาพบุรุษอังกฤษทุกกระเบียดนิ้ว กลับรู้สึกว่าฮิตเลอร์เป็นคนที่สามารถไว้วางใจได้ เพราะเป็นคนที่พูดคำไหนคำนั้น นั่นทำให้อังกฤษประเมินนาซีผิดไปในช่วงแรกๆ
ถ้าถามคนอังกฤษในโลกยุคโน้น ว่าใครเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่กว่ากัน ทุกคนจะตอบว่าเชมเบอร์เลน แต่เมื่อมาถึงปัจจุบัน โลกน่าจะรู้จักชื่อของเชอร์ชิลมากกว่าเชมเบอร์เลนมาก
ทีนี้ถ้าเรานำเรื่องของความเป็นผู้นำไปทาบเทียบกับเรื่อง ‘ที่หนึ่งของชั้น’ ก็จะเห็นได้เลยว่า เชมเบอร์เลนมีบุคลิกลักษณะแบบ valedictorian ที่ทำทุกอย่างถูกต้องตามระบบ ในขณะที่เชอร์ชิลมีลักษณะของคนนอกคอก ไม่ลงให้กับระบบ ซึ่งแปลว่าคนอย่างเชอร์ชิลน่าจะมีโอกาสเป็น valedictorian น้อยกว่ามาก
คำถามถัดมาก็คือ – แล้วมีปัจจัยอะไรเล่าที่ทำให้ผู้นำคนหนึ่งยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้
ประเด็นนี้คนศึกษาอย่างจริงจังเหมือนกัน โดยมีข้อถกเถียงสำคัญสองด้าน การศึกษาด้านหนึ่งชี้ว่า ทีมงานที่ดีสำคัญกว่าตัวผู้นำ แต่บางการศึกษากลับบอกว่า ปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จคือผู้นำที่มีบุคลิกลักษณะบางอย่าง ถึงจะนำพาประเทศหรือทีมไปสู่ความสำเร็จได้ และสองฝักฝ่ายนี้ก็โต้แย้งกันมาตลอด
แต่ เกาแทม มูคุนดา (Gautam Mukunda) ซึ่งเป็นนักพฤติกรรมศาสตร์คนสำคัญจากฮาร์วาร์ด ได้ตั้งข้อสงสัยเอาไว้ว่า หรือจริงๆ เราไม่ควรต้องมาเถียงกันหรือเปล่าว่าทีมดีหรือผู้นำเจ๋งถึงจะนำไปสู่ความสำเร็จ เพราะมันอาจจะเกิดจากการที่โลกเรามีผู้นำสองประเภทก็ได้
มูคุนดาเสนอว่า ผู้นำประเภทแรกน่าจะเป็นผู้นำแบบเชมเบอร์เลน คือเติบโตขึ้นมาตามช่องทาง ‘อย่างเป็นทางการ’ ซึ่งก็เปรียบได้กับ valedictorian เหมือนกัน
ผู้นำประเภทนี้ คือผู้นำที่ ‘ถูกกลั่นกรอง’ (filtered) มาแล้วจาก ‘ระบบ’ เช่น มีการคัดเลือกครั้งแล้วครั้งเล่า จากตำแหน่งเล็กๆ ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งใหญ่ๆ โดยผู้กลั่นกรองทั้งหลายก็คือผู้มีอำนาจ ตั้งแต่ครูในโรงเรียน คนให้คะแนน ไปจนถึงเจ้านาย ผู้บังคับบัญชา ระบบเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง เรียกว่าถูกกรองมาเรื่อยๆ จนละเอียดยิบ เชมเบอร์เลนจัดเป็นผู้นำแบบนี้
ส่วนผู้นำประเภทที่สอง คือผู้นำประเภท ‘ไม่ผ่านการกรอง’ (unfiltered) ผู้นำแบบนี้มักจะโผล่เข้ามาทางหน้าต่างแห่งโอกาส คือปีนเข้ามาในระบบโดยไม่ได้มีใครมาขอ ไม่มีใครรอคอย ผู้นำแบบนี้มักเกิดขึ้นเมื่อมีสถานการณ์บางอย่าง ตัวอย่างเช่น อับราฮัม ลิงคอล์น (Abraham Lincoln) หรือรวมไปถึงวินสตัน เชอร์ชิล เอง ซึ่งก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกฯ อังกฤษ เพราะสถานการณ์อันคับขันในขณะนั้น และทำให้คนอังกฤษแทบจะ ‘เหวอ’ กันไปทั้งเกาะ
มูคุนดาตั้งสมมุติฐานว่า เมื่อผู้นำประเภท ‘กรองแล้ว’ ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งสูงสุด ผู้นำเหล่านี้จะถูกระบบเก่าตรวจสอบจนละเอียดยิบหลายต่อหลายครั้ง ดังนั้นตัวระบบ (หรือโครงสร้างระเบียบเก่า) จึงไว้วางใจได้ว่า ผู้นำคนนี้จะทำตัวได้ ‘มาตรฐาน’ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมแน่ๆ คุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งของผู้นำประเภทนี้จึงคือการมีอายุมากพอสมควร เพื่อจะได้รับรองได้ว่าเคยผ่านประสบการณ์การ ‘ถูกกรอง’ มาแล้วหลายๆ ชั้น และ conform อยู่ในระบบได้ดี
ดังนั้น ผู้นำแบบนี้จึงมักจะมีความอนุรักษ์นิยมสูง
สุดท้ายเลยมักไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร โลกไม่เคยจดจำ
สำหรับผู้นำประเภทนี้ การมีทีมที่ดีนั้นสำคัญกว่าตัวผู้นำเอง
ผู้นำประเภทที่สองคือผู้นำประเภทที่ไม่ผ่านการกรอง คือผู้นำที่ไม่ได้ถูก ‘ระบบ’ กรองมาก่อน (หรือถูกกรองมาน้อยกว่า) จึงเป็นผู้นำที่มักไม่ได้ทำตามระบบระเบียบเดิม มีความแปลกประหลาดพิลึกพิลั่นคาดเดาไม่ได้ อาจจะตัดสินใจอะไรแบบบ้าระห่ำ ซึ่งผลอาจจะออกมาเป็นลบแบบร้ายแรงเลยก็ได้ หรือถ้าออกมาเป็นบวก ก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับเปลี่ยนประเทศ เปลี่ยนโลก ผู้นำประเภทนี้จึงเป็นผู้นำประเภทที่โลกจดจำ ซึ่งก็คือคนอย่างเชอร์ชิล
มูคุนดานำทฤษฎีของเขาไปใช้ประเมินประธานาธิบดีทุกคนของอเมริกา และพบว่า ผู้นำประเภท ‘กรองแล้ว’ ทั้งหลาย แทบไม่ได้สร้างความสั่นสะเทือนอะไรให้ใครเลย แต่เป็นผู้นำประเภทยังไม่กรองหรือถูกกรองมาน้อยต่างหาก ที่ต่อให้ไม่อยากสร้างความสั่นสะเทือนอะไร – ถึงยังไงก็ต้องสร้าง เพราะคนเหล่านี้มีอุปนิสัยที่ชอบ ‘รื้อ’ จะรื้อทำลายหรือรื้อสร้างก็ได้ เช่นถ้าเป็นการรื้อทำลายระบบทาส เราก็จะได้ประธานาธิบดีแบบลินคอล์นที่ลุกขึ้นมาประกาศเลิกทาส
มูคุนดาบอกว่า ผู้นำที่ดีกับผู้นำที่ยิ่งใหญ่นั้น ไม่ได้แตกต่างกันเพราะใครทำอะไรมากกว่ากัน แต่ความต่างเกิดขึ้นเพราะคนสองแบบนี้เป็นคนที่ ‘แตกต่าง’ กันอย่างสิ้นเชิง เราไม่สามารถเรียกร้องให้เชมเบอร์เลนทำอะไรๆ แบบเชอร์ชิลได้ เพราะคนสองแบบนี้ถูก ‘ฝึก’ มาแตกต่างกัน จึงมีพื้นฐานอุปนิสัยต่างกัน
ยิ่งถ้าเป็นระบบที่มีการ ‘กลั่นกรอง’ สูง เพื่อให้คนมีลักษณะเหมือนๆ กันไปหมด อย่างเช่นระบบโรงเรียนทหาร คนที่ ‘เก่ง’ ถึงระดับ ‘ที่หนึ่งของชั้น’ ในโรงเรียนทหาร ก็น่าจะเป็นไปได้ที่เราจะได้ผลผลิตเป็นคนที่ยิ่ง conform หรือสยบยอมหรือยอมลงให้กับตัว ‘ระบบ’ ที่เหนือกว่าตัวเองมากกว่าคนอื่นๆ ดังนั้นจึงอยากรักษาระบบนั้นเอาไว้ พร้อมทั้งใช้ระบบเก่าๆ ดังกล่าวเพื่อกดทับลงไปเป็นชั้นๆ ด้วย
ถ้าสรุปตามงานวิจัยที่ว่ามา ผู้นำแบบนี้ก็ไม่น่าจะเป็นผู้นำที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นมาได้ เพราะพวกเขา ‘ถูกกรอง’ มาเสียจนแทบจะเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เละเทะ แล้วค่อยกลับมารวมร่างใหม่ คล้ายๆ กับ ‘ถูกซ่อมแล้วไม่ตาย’ เมื่อผ่านมาได้ก็เลยกลายสภาพไปเป็นสิ่งมีชีวิตอีกแบบหนึ่ง – อะไรทำนองนั้น
ทั้งหมดนี้จึงพอช่วยเราตอบคำถามได้ (แม้จะยังมีข้อถกเถียงอยู่อีกมาก) ว่า – ทำไมคนที่เป็น ‘ที่หนึ่งของชั้น’ จึงมักไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ในการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น
จะได้หายค้างคาใจกันกับสิ่งที่เห็นอยู่ได้บ้าง
อ่านเพิ่มเติม