วันเสาร์ที่ผ่านมา มีกิจกรรม DocTalk 7 : Where to Invade Next บุกการศึกษาฟินแลนด์ ของ Documentary Club ที่ไม่ได้เพียงแค่จัดฉายหนังสุดประชดประชันของผู้กำกับ Michael Moore ที่เดินทางไปยังหลายๆ ประเทศทั่วโลกว่าที่ไหนมีของดีแบบที่อเมริกาในปัจจุบันยังไม่มี
ในหนังสารคดี Where to Invade Next นั้น Michael Moore พาคนดูเดินทางไปยังหลายๆ ประเทศตามความก้าวหน้าเหลือเฟือของประเทศนั้นๆ ทั้งในแง่สวัสดิการลูกจ้าง สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ อิสระในการเสนอความเห็น และส่วนที่นำเสนอมากที่สุดก็คือเรื่อง ‘การศึกษา’ ในหลายๆ ประเทศ
ตัวอย่างประเทศที่ Moore เดินไปทางไปก็มีตั้งแต่ฝรั่งเศสที่สวัสดิการข้าวเที่ยงของนักเรียนประถมจัดหนักจัดเต็มและวิชาเพศศึกษาแบบเข้าถึงใจวัยรุ่น สโลวีเนียที่เปิดให้ศึกษาในมหาวิทยาลัยแบบฟรีๆ ไม่ว่าจะเป็นคนท้องถิ่นหรือคนต่างชาติ เยอรมนีที่ยอมรับการศึกษาประวัติศาสตร์ชาติของตนในฐานะผู้แพ้สงครามและเคยกดขี่ชาติอื่นมาก่อน และการศึกษาของประเทศฟินแลนด์ ที่แม้ว่า Where To Invade Next จะไม่ได้นำเสนอจนเกินจริง แต่ก็ยังเป็นการจับมุมมองเพียงด้านหนึ่งของช่วงเวลาหนึ่งๆ มาบอกเล่าเท่านั้น
ในงานเสวนา Susanna Tammela-Eltvik (ซูซันนา ตัมเมลา เอลท์วีก) ที่ปรึกษาด้านการศึกษา สถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย ได้อธิบายให้ชัดเจนขึ้นว่า การศึกษาฟินแลนด์มีที่มาที่ไปอย่างไร และอะไรที่คนยังเข้าใจผิดกันอยู่บ้าง
ย้อนรอยไปยังจุดเริ่มต้น
Susanna เล่าย้อนไปตั้งแต่ยุคสงครามโลก ตอนนั้นฟินแลนด์ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลให้โซเวียตมาก่อน ทำให้การศึกษาเริ่มเป็นที่สนใจของรัฐบาลในการพัฒนาบุคลากรเพื่อหารายได้ไปจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม
ในยุคก่อนหน้าปฏิวัติการศึกษานั้น ฟินแลนด์มีโรงเรียนเอกชน ที่เก็บค่าเล่าเรียน มีการแบ่งแยกระดับของโรงเรียน กว่าการเปลี่ยนแปลงแบบชัดเจนจะเกิดขึ้นก็ราวยุคสงครามเย็น (1960-1970) ด้วยเหตุที่ประเทศฟินแลนด์ไม่ได้มีทรัพยากรมากนอกไปจากต้นไม้จำนวนมาก การพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมชาติยุโรปอื่นๆ ก่อนเข้าร่วมสหภาพยุโรปในปี 1995 จึงเป็นเรื่องที่พวกเขาคิดว่ามีความจำเป็น และนั่นทำให้การปฏิวัติพัฒนาวงการการศึกษาในฟินแลนด์เริ่มต้นขึ้น
การเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มต้นตั้งแต่การปรับเปลี่ยนโภชนาการของเด็กนักเรียนให้ดีขึ้นก่อน (เป็นแนวคิดเดียวกับของฝรั่งเศสตามที่ปรากฏใน Where To Invade Next) จากนั้นก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปอีก จนปี 1975 ฟินแลนด์ก็เปิดการเรียนการสอนแบบฟรีทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้ทำให้โรงเรียนเอกชนหายไปจากฟินแลนด์ และนักเรียนทุกคนก็ได้เข้าเรียนกันที่โรงเรียนใกล้บ้าน
เมื่อเด็กนักเรียนจากทุกชนชั้นต้องไปเรียนรวมกัน ทำให้พ่อแม่รวยๆ ต้องผลักดันให้โรงเรียนรัฐในพื้นที่พัฒนาทัดเทียมที่อื่น เด็กรวยกับเด็กไม่รวยได้เรียนร่วมกัน เป็นเพื่อนกัน รู้จักสังคมซึ่งกันและกัน เมื่อเด็กโตไป เวลาจะเอาเปรียบใครก็จะทำให้พวกเขาคิดมากขึ้น เมื่อโรงเรียนจะพัฒนาเรื่องใดก็จะคุยกับเด็กนักเรียนก่อน ทั้งเรื่องสนามเด็กเล่น ไปจนเรื่องเรียน นั่นทำให้เด็กมีความสุขและกระตือรือร้นในการเดินทางไปเรียนหนังสือ
มุมมองของคนฟินแลนด์ต่อการศึกษาในประเทศตนเอง
การศึกษาของฟินแลนด์นั้นเคยอยู่ในอันดับต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาตลอด รวมถึงมีแนวคิดที่มองว่าชาติตัวเองไม่ได้เจ๋งเท่าไหร่ จนมีมุกตลกที่ว่า “แค่ฟินแลนด์เอาชนะสวีเดนได้ก็ดีใจแล้ว” ดังนั้นเมื่อ PISA (Programme for International Student Assessment – โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ) ประกาศว่าการศึกษาของ Finland นั้นขึ้นติดอันดับต้นๆ ของโลกในช่วงต้นยุค 2000 บุคลากรการศึกษาของฟินแลนด์ก็สอบถามกลับไปทันทีว่า “แน่ใจนะว่าไม่ได้ตรวจอันดับผิดพลาด”
ทำไมพวกเขาถึงไม่ดีใจแบบที่ควรจะเป็น? ไม่ใช่เพราะพวกเขาไร้อารมณ์ขันหรือไร้ความสุขหรอก แต่พวกเขาเองก็ไม่ได้มองว่าตัวเองดีเลิศขนาดนั้น ยังอยู่ในจุดที่ต้องพัฒนาตนเสียด้วยซ้ำไป
Susanna นักวิชาการด้านการศึกษาของฟินแลนด์เองก็มองว่า การเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด (Life Long Learning) และการศึกษากลายเป็นทุกอย่างของวัฒนธรรมฟินแลนด์ไปแล้ว
ใช่ว่าการเรียนจะจบอยู่แค่ในโรงเรียนเท่านั้น เพราะคนที่ทำงานแล้วก็ยังหาโอกาสศึกษาเพิ่มเติมอยู่เสมอๆ ไม่ว่าจะการศึกษาด้วยตนเอง เรียนวิชาที่สอนในวันหยุด หรือใช้สวัสดิการรัฐที่อนุญาตให้คนทำงานสามารถทำการลางานไปเข้าคอร์สระยะสั้นโดยยังได้รับค่าจ้าง หรือการลาไปเรียนระยะยาวในบางสาขาวิชา รัฐก็ยังให้เงินสวัสดิการเพื่อให้ประชาชนสามารถเลี้ยงชีพได้
สิ่งหนึ่งที่คนฟินแลนด์มองแตกต่างไปจากหลายๆ ประเทศก็คือ คุณค่าของอาชีพครู ที่ Susanna ใช้คำว่า ‘ได้รับความเชื่อใจ’ จากสังคม ซึ่ง ‘ความเชื่อใจ’ ที่ว่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยไม่มีที่มาที่ไป แต่มันมาจากกระบวนการที่กว่าจะมาเป็นครูนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
ตัวอย่างที่ จุ๊ย-กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ พิธีกรของงานหยิบยกขึ้นมา คือ กลุ่มวิศวกรของบริษัท NOKIA ที่ต้องออกจากงาน แต่พวกเขาก็ตั้งเป้าหมายว่าอยากจะแบ่งปันความรู้ให้กับเยาวชนรุ่นหลัง เรื่องนี้ถ้าหากเป็นประเทศไทย กลุ่มคนเหล่านั้นคงโดนจัดเป็นอาจารย์พิเศษได้ทันที ทว่าสำหรับที่ฟินแลนด์ การเป็นครูนั้นต้องได้มีวุฒิเฉพาะทาง กว่าวิศวกรกลุ่มนี้จะสามารถไปสอนใครต่อใครได้นั้น พวกเขาก็ต้องเสียเวลาอีกราวหนึ่งปีครึ่งเพื่อให้ได้วุฒิครูมา
ส่วนนักเรียนที่อยากเข้าเรียนในคณะศึกษาศาสตร์เพื่อเป็นครู Susanna บอกว่ามีนักเรียนนักศึกษาเพียงแค่ 10% ของทั้งหมดเท่านั้นที่สามารถฝ่าด่านจนสามารถไปถึงคณะนี้ได้ มิหนำซ้ำถ้าอยากจะเป็นครูก็จำเป็นต้องมีวุฒิประมาณปริญญาโทขึ้นไป
ทำไมถึงต้องดูมีวุฒิอลังการขนาดนี้ แค่สอนเด็กๆ เนี่ยนะ?
การที่ใช้วุฒิการศึกษาสูง ส่วนหนึ่งก็เพื่อตอบสนองความเชื่อใจของสังคม ด้วยความที่ครูของฟินแลนด์ไม่ได้เป็นแค่ผู้สอนวิชาตามหนังสือแล้วจบไปเท่านั้น อย่างในระดับชั้นประถม ครูคนหนึ่งอยู่กับเด็กห้องเดิมตลอดช่วงเวลา 2-3 ปี เพื่อที่จะสามารถติดตามเรียนรู้พฤติกรรมของเด็กจนทำให้สามารถออกแบบการเรียนการสอนในชั้นเรียนให้สอดคล้องกับเด็กๆ ในโรงเรียนได้อย่างเต็มที่ หากจำเป็น พวกเขาสามารถติดต่อท้องถิ่นเพื่อจัดคลาสที่เหมาะสมกับพื้นที่ หรือของบเพิ่มเติมสนับสนุนการเรียนการสอนแบบที่ครูในท้องที่ต้องการด้วย
นี่ยังไม่นับรวมถึงความเข้มข้นของการใช้กฎหมาย ที่ตำรวจอาจจะบุกไปเคาะประตูบ้านที่มีเด็กถึงวัยเรียนแล้วแต่ยังไม่ส่งไปโรงเรียนด้วยเหตุผลอันไม่จำเป็น
ไม่มีคำว่า ‘ทางตัน’ ในระบบการเรียนของฟินแลนด์
อีกคำหนึ่งที่ Susanna ยกคำพูดขึ้นมาพูดบ่อยๆ คือ การศึกษาของฟินแลนด์ไม่มี ‘ทางตัน’ (Dead End) การศึกษากลายเป็นทุกสิ่งในวัฒนธรรมฟินแลนด์ พวกเขาเปิดโอกาสให้คนทำงานออกไปแสวงหาความรู้ได้ตลอดเวลา และพวกเขาไม่ได้พูดเล่นๆ
จากตารางจะเห็นได้ว่า ในช่วงแรกเด็กวัย 0-5 ขวบ อาจจะอยู่ในระบบการศึกษาผ่านระบบดูแลเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูของที่บ้าน หรือการช่วยเหลือจากศูนย์เลี้ยงเด็กต่างๆ เมื่อเด็กฟินแลนด์เข้าสู้วัย 6 ขวบแล้ว ก็เป็นเวลาที่พวกเขาเข้าสู่ระบบเตรียมอนุบาล
เมื่อเด็กอายุเข้าสู่วัย 7-16 ขวบ ก็จะได้เข้าเรียนในการเรียนขั้นพื้นฐาน เทียบเป็นชาวไทยก็ราวๆ ชั้น ป. 1 – ม.3 ในช่วงเรียนขั้นพื้นฐานนี้ การเรียนของเด้กเล็กจะเป็นการเรียนจากการเล่นและการปฏิบัติจริง คาบเรียนหนึ่งๆ ของเด็กในชั้นประถมจะไม่เกิน 45 นาที และมีเบรคทุกคาบเรียน ที่ให้ไปพักจริงๆ ตามความเชื่อที่ว่าสมองของเด็กไม่อาจจะรับอะไรหนักๆ ต่อเนื่องนานนัก
การศึกษาขั้นต้นที่ดำเนินไปถึงอายุ 16 ปี หรือราวชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เด็กนักเรียนมีสิทธิ์จะเลือกได้ถึงสามทาง ทางแรกคือต่อสายสามัญ ทางที่สองคือต่อสายอาชีวะ และทางที่สามคือ ขอเรียนต่อในการศึกษาขั้นต้นอีกหนึ่งปี สำหรับเด็กที่คิดว่ายังหาตัวเองไม่เจอว่าควรไปทางไหน ซึ่งถือว่าเด็กก็ยังไม่เสียโอกาสการศึกษาและสามารถโฟกัสตัวเองได้มากขึ้นอีกหนึ่งปี
ย้อนกลับไปยังสายสามัญและสายอาชีวะ ด้วยความที่ระบบการศึกษาของฟินแลนด์นั้น ‘ฟรี’ ทำให้พ่อแม่ลดความกังวลใจในการเลือกสายการศึกษาได้มากขึ้น การเลือกเรียนสายอาชีวะจึงทำได้สะดวกใจมากขึ้น หรือถ้าไม่พอใจสายอาชีวะแล้วอยากย้ายสายเรียนก็ทำได้เช่นกัน และยังมีกรณีที่เรียนสายหนึ่งให้เสร็จสิ้นไปก่อน อาทิ เรียนสายอาชีวะ ซึ่งจะมีประสบการณ์ทำงานจริงตามมาด้วย ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ก็เอื้อให้นักเรียนนักศึกษาเอาวุฒิกับประสบการณ์งานเหล่านี้ไปลดระยะเวลาการศึกษาในระดับชั้นอุดมศึกษาได้
หรือถ้าเรียนสามัญไปจนจบปริญญาตรี แล้วอยากข้ามสายไปเรียนปริญญาโทสายอาชีวะก็สามารถทำได้ แต่ต้องมีประสบการณ์การทำงานทดแทน ซึ่งระหว่างนั้นคุณอาจจะต้องออกไปทำงาน เมื่อทำงานถึงจุดที่ระบบการศึกษากับสวัสดิการของรัฐทำให้คนในประเทศสามารถกระโดดไปมาระหว่างการทำงานกับการเรียนได้โดยง่าย จึงเกิดการเรียนรู้ที่ไร้ทางตัน และเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดขึ้นมา
เขาวัดผลกันแบบไหนในระบบการเรียนของฟินแลนด์
จากระบบการเรียนที่ค่อนข้างเปิดกว้างแถมยังโฟกัสที่ตัวนักเรียนเสียมากกว่า การวัดผลของฟินแลนด์จึงแตกต่างจากระบบที่คนไทยคุ้นเคยอยู่ไม่น้อย
ในระดับชั้นประถมนั้น ฟินแลนด์ไม่มีการสอบวัดอันดับ หรือแม้แต่กระทั่งระบบ GPA แต่ก็ใช่ว่าเด็กฟินแลนด์จะผ่านชั้นเรียนแบบเปล่าๆ โดยไม่มีการประเมินใดๆ ชาวฟินนิชแค่ปรับไปใช้วิธีการประเมินจากเรื่องอื่นเสียมากกว่า
ตัวอย่างที่ยกในงานสัมมนาครั้งนี้ก็คือ มีการประเมินจากครูต่อนักเรียน ประเมินจากงานบางชิ้นในปีการศึกษา ประเมินจากตัวผู้ปกครอง ประเมินจากเพื่อนร่วมชั้นเรียน และที่สำคัญที่สุดคือการประเมินการเรียนจากตัวเด็กนักเรียนแต่ละคนเอง
ฟังดูแล้วอาจจะเหมือนไม่มีมาตรฐานให้จับต้องได้ แต่ Susanna บอกว่า การประเมินเหล่านี้สุดท้ายแล้วจะมีการคุยกันกับทุกฝ่ายว่า ทิศทางการประเมินนั้นถูกต้อง และสอดคล้องกับสิ่งที่เด็กนักเรียนคนนั้นเป็นอยู่จริงหรือไม่
อาทิ ถ้าครูบอกว่าเด็กทำตัวดี แต่พ่อแม่บอกว่าเด็กทำตัวไม่โอเค เพื่อนในห้องบอกว่าทำตัวไม่โอเค และเด็กบอกว่าไม่โอเคกับโรงเรียน ก็ย่อมแปลว่ามีประเมินจากครูมีปัญหา
ถึงจะใช้ระบบเช่นนี้ในการประเมิน อัตราการซ้ำชั้นของเด็กฟินแลนด์อยู่ที่เพียง 2% เท่านั้น มิหนำซ้ำเมื่อลงรายละเอียดว่าทำไมเด็กกลุ่มนั้นถึงซ้ำชั้น Susanna กลับบอกว่า เพราะเด็กแต่ละมีความเร็วในการเรียนรู้ที่ต่างกัน อาจจะเป็นปัญหาทางร่างกายบ้าง หรืออาจจะเป็นปัญหาทางจิตใจบ้าง
ซึ่งส่วนนี้ก็จะมีระบบของโรงเรียนที่สนับสนุนจากแพทย์หรือครูเฉพาะทางคอยดูแลเรื่องนี้อีกที่หนึ่ง เช่น ถ้าเด็กคนไหนมีข้อมูลมาว่าพ่อแม่เพิ่งหย่ากัน ครูจิตวิทยาในโรงเรียนก็จะเข้าไปให้คำปรึกษาทันที
สุดท้ายแล้วต่อให้เด็กมีความเร็วในการเรียนที่ช้ากว่าเพื่อนในบางจังหวะ แต่ระบบการประเมินการศึกษาก็จะไม่ทอดทิ้งเด็กไว้เพียงลำพัง
เรื่องที่เข้าใจผิดและเปลี่ยนไปแล้วสำหรับการศึกษาในฟินแลนด์
จริงอยู่ที่ว่าการศึกษาของฟินแลนด์กลายเป็นแนวทางที่หลายประเทศอยากไปให้ถึง แต่ก็มีบางเรื่องที่คนเข้าใจผิด ซึ่ง Susanna ก็ได้พูดถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
อย่างแรกคือ ในหนัง Where To Invade Next นำเสนอว่า ‘ฟินแลนด์นั้นไม่มีการบ้านเลย’ จุดนี้ Susanna ไม่ได้ตอบเอง แต่ให้ลูกๆ ของเธอซึ่งมาร่วมงานสัมมนา และเป็นเด็กที่ผ่านการศึกษาของทั้งประเทศดูไบ ฟินแลนด์ และ ไทย เป็นผู้ตอบคำถามนี้ ซึ่งคำตอบที่มาพร้อมสีหน้าตกใจจนชวนขำของเด็กๆ ก็คือ ต่อให้เรียนในฟินแลนด์ พวกเขาก็ยังมีการบ้านให้ทำอยู่นะ มันแค่ไม่มากเท่าที่อื่น หรือถ้ามีก็อาจจะเป็นการเตรียมคำตอบเพื่อไปเรียนในวันต่อๆ ไป
ความเข้าใจผิดอย่างที่สองที่มาจากในหนังเช่นเดียวกันก็คือ ‘ฟินแลนด์ยกเลิกการสอบไปแล้ว’ Susanna ตอบเองว่าอาจจะเป็นความเข้าใจผิดของผู้กำกับ Michael Moore เอง ว่าการสอบที่เขาถามถึงนั้นอาจจะหมายถึงการสอบวัดระดับของชาติ ซึ่งฟินแลนด์สอบแค่เฉพาะตอนเรียน ม.6 ไม่ใช่ทุกปีการศึกษาแบบที่อเมริกาเป็น
อย่างที่สามก็คือ ‘ฟินแลนด์ยกเลิกระบบวิชาไปโดยสมบูรณ์’ ประเด็นนี้เป็นข่าวจากสื่อต่างๆ ที่อาจจะไม่เข้าใจหลักการเรียนแบบใหม่ของฟินแลนด์ที่กำลังจะใช้งานอย่าง Phenomenon Based Learning เรื่องนี้ Susanna อธิบายว่า การเรียนแบบนี้ไม่ใช่การเรียนที่ละทิ้ง ‘ประเภทวิชา’ ไปทั้งหมด เพียงแต่ว่าการเรียนด้วยวิธีนี้จะให้เด็กนักเรียนในห้องตกลงกันก่อนว่า พวกเขาอยากจะเรียนรู้หัวข้ออะไร ตัวอย่างที่ถูกยกมาก็คือ ถ้าเด็กนักเรียนอยากจะเรียนเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อตกลงกับอาจารย์ผู้สอนได้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของคณะอาจารย์ที่จะต้องไปดีไซน์แผนการสอนให้เกี่ยวข้องกับหัวข้อหลักนี้ เช่น อาจารย์สามารถเอาสถิติต่างๆ ในช่วงสงครามโลก มาประยุกต์สอนควบกับวิชาเลข สามารถสอนวิชาสังคมศาสตร์ด้วยการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่สอ สอนวิชาดนตรี หรือ ศิลปะ ด้วยการดูงานศิลป์ของยุคนั้น เป็นต้น
เห็นได้ว่าไม่ได้มีการทิ้ง ‘วิชา’ ไปจากการเรียน แต่เป็นการเรียนที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของนักเรียน ซึ่งกว่าจะมาถึงจุดนี้เด็กนักเรียนก็ต้องผ่านการเรียนพื้นฐานในชั้นเรียนก่อน และด้วยระบบก็จะสอนให้เด็กค่อยๆ เข้าใจว่าเขาอยากเรียนอะไร และอยากจะเรียนวิธีไหน
เทรนด์ใหม่กำลังมาในวงการศึกษาของฟินแลนด์
ใช่ว่าการศึกษาของฟินแลนด์ไปถึงอันดับที่ 1 ของโลกแล้วชาวฟินแลนด์จะตัดสินใจหยุดตัวเองไว้เท่านั้น พวกเขายังพยายามพัฒนาการศึกษาไปเรื่อยๆ สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า ‘การเรียนไม่มีวันสิ้นสุด’ อย่างจริงจัง เทรนด์การศึกษาที่ Susanna บอกเรา มีดังนี้
– ไม่มีห้องเรียนเป็นทางการ สอดคล้องกับเรื่องหลายๆ ที่ฟินแลนด์ทำไปแล้ว
– มีห้องรวม (Common Area) ขนาดกว้างขวาง
– ปรับเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นศูนย์เยาวชน โรงเรียนจะไม่ใช่สถานที่ที่เด็กต้องมาอยู่ในเวลาจำกัด 8 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็นเท่านั้น แต่จะพัฒนาให้เป็นสถานที่ที่เด็กและเยาวชนมาทำกิจกรรมได้มากกว่านั้น อาทิ มีสถานที่รับเลี้ยงเด็กเล็กให้พ่อแม่มาฝากได้ มีห้องสมุดให้เด็กและเยาวชนสามารถใช้บริการตั้งแต่ช่วงเช้าถึงค่ำ ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาเรียนเท่านั้น
– จัดแสงสว่างให้พอเพียง ด้วยความที่ฟินแลนด์เป็นประเทศเขตหนาวที่ค่อนข้างเจอแสงน้อย เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น
– จัดระบบเสียงในห้องเรียนให้ดี ไม่ใช่การจัดระบบเครื่องเสียง แต่เป็นการจัดห้องให้เสียงสะท้อนได้ดีจนครูผู้สอนไม่ต้องใช้ไมค์ เนื่องจากพวกเขาเห็นว่าความเป็นธรรมชาติของการใช้น้ำเสียงนั้นสามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจการสอนได้ดีกว่าการใช้เสียงสังเคราะห์
ตลอดการเสวนาราวหนึ่งชั่วโมงกว่าๆ Susanna พยายามย้ำอยู่หลายครั้งว่า การปรับเปลี่ยนการศึกษาทั้งระบบนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ทันทีทันควัน อย่างเรื่องระบบ Phenomenon Based Learning เอง ก็เริ่มศึกษาพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ปี 1980 และเพิ่งเริ่มใช้งานในปี 2015 นี้ หรือกินเวลากว่า 25 ปี
การแก้ไขปัญหาการศึกษาคงจะไม่สามารถเริ่มต้นจากพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงเท่านั้น เช่นเดียวกับงานสัมมนาที่ทั้งครู ทั้งพระ ทั้งนักเรียน ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ต่างเข้ามาร่วมฟังเพื่อหาทางออกร่วมกัน ว่าแนวทางการศึกษาของบ้านเราควรจะเปลี่ยนไปแบบใด เพื่อให้เด็กนักเรียนได้รับผลประโยชน์มากที่สุด และประโยชน์นั้นก็จะหวนคืนสู่สังคมได้ในที่สุดนั่นเอง