เมื่อมองไปยังระบบการศึกษาไทยในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ มักจะมีการแบ่งแผนการเรียนหลักๆ 2 แนวทาง ได้แก่ สายวิทย์ และสายศิลป์ ส่งผลให้นักเรียนมีกรอบจำกัดในการเลือกว่า พวกเขาอาจจะต้องเดินเพียงทางใดทางหนึ่ง และอาจพลาดโอกาสที่จะค้นพบความชอบของตัวเองไป
แต่หากมองไปยังระบบการศึกษาของบางประเทศ หลายแห่งได้พยายามมุ่งเน้นให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการศึกษา ให้เวลาพวกเขาได้ค้นหาตัวตนผ่านหลักสูตรที่ปรับตามผู้เรียน ไม่ว่าจะถนัดอะไร ชอบอะไร อยากเรียนอะไร จนนำไปสู่การวางหลักสูตรว่าจะตอบโจทย์คนเรียนอย่างไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นแนวทางการวางระบบการศึกษาที่ทำให้เด็กๆ มีความสุขและสนุกกับการเรียนรู้ รวมไปถึงมีอิสระที่จะเลือกเรียนในสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ
The MATTER จึงชวนไปดูกันว่าประเทศอื่นๆ เขาสร้างแนวทางการเรียนการสอนกันอย่างไรเพื่อส่งเสริมให้เด็กๆ ได้เรียนและค้นพบความชอบตัวเอง
ฟินแลนด์ : ระบบการศึกษาที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้
ฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับว่า เป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลกมาหลายปีติดต่อกัน หัวใจสำคัญของการเรียนการสอนที่ฟินแลนด์คือ การยึดตัวเด็กเป็นจุดศูนย์กลาง แผนการสอนยืดหยุ่นไปตามความต้องการของเด็ก มากกว่ายึดเอาตัวชี้วัดของโรงเรียนหรือส่วนกลางมาใช้ในการประเมิน
ระบบการศึกษาของฟินแลนด์เชื่อว่า การศึกษาจะต้องทำให้เด็กๆ เกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด ไม่มุ่งเน้นไปที่การสอบวัดผลเพราะมองว่า ข้อสอบชุดเดียวกันไม่สามารถวัดผลคุณภาพของเด็กแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันได้ ฉะนั้นการตรวจสอบ/ประเมิน/ชี้วัดผลการศึกษาฟินแลนด์จะไม่เหมือนไทยที่มีผู้ตรวจการจากข้างนอกเข้ามาประเมิน หรือไม่มีข้อสอบชุดเดียวกันเพื่อวัดเกณฑ์เด็กเรียนดี-เรียนแย่ คำถามต่อมาก็คือ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่า เด็กคนไหนเก่ง-ไม่เก่ง ซึ่งคำตอบก็คือ ‘ไม่จำเป็นต้องรู้’
ฟินแลนด์ไม่เชื่อว่า ระบบมีความสามารถในการเข้าไปประเมินคุณค่าความสามารถของเด็กได้ โครงสร้างการศึกษาของที่นี่จึงไม่ใช่บนลงล่างแต่เป็น ‘ล่างขึ้นบน’ หมายความว่า นักเรียนต้องการอะไร เป็นแบบไหน ครูจะเป็นผู้สรุป/เก็บประเมินผล และนำสิ่งที่ได้ไปปรับใช้กับการวางระบบการเรียนการสอนให้กับส่วนกลางหรือกระทรวงศึกษาฯ ต่อไป
นอกจากนี้ ฟินแลนด์ยังมีความเชื่อว่าเด็กๆ ทุกคนสมควรได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่ากันทุกคน ฉะนั้นเด็กนักเรียนมากกว่า 97% ของประเทศจึงอยู่ภายใต้การดูแลของภาครัฐ ไม่ว่าพวกเขาจะมีฐานะทางบ้านต่างกันอย่างไรแต่ทุกคนจะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานตั้งแต่อายุ 7 ขวบจนถึง 15 ปี และจากนั้นถ้าเด็กๆ ต้องการจะเรียนต่อก็สามารถเลือกได้สองทางคือจะศึกษาต่อในโรงเรียนมัธยมปลาย หรือโรงเรียนสายอาชีพ
ซึ่งส่วนใหญ่เด็กนักเรียนกว่า 90% ตัดสินใจเรียนต่อมัธยมปลายทันทีที่จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และด้วยโครงสร้างระบบการศึกษาที่ค่อนข้างเปิดกว้าง อีก 10% ที่เหลือก็ยังสามารถกลับมาศึกษาต่อได้เหมือนกัน
ในระดับชั้นมัธยมปลายจะแบ่งออกเป็น 2 แผนการเรียน คือ สายสามัญ และสายอาชีพ เด็กนักเรียนจะได้รับอิสระในการกำหนดตารางเวลาเรียนด้วยตัวของพวกเขาเอง ซึ่งในตอนท้ายก็จะมีการวัดประเมินผลเพื่อใช้คะแนนตรงนั้นเป็นส่วนหนึ่งในเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เด็กๆ ที่เลือกเรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีพไม่ได้ถูกล็อคติดกับเส้นทางนั้นๆ ไปตลอด 3 ปี แต่ยังสามารถกระโดดข้ามศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้อีกด้วย
สวิตเซอร์แลนด์ : การศึกษาที่ให้อิสระกับโรงเรียนเพื่อจัดหลักสูตรที่เหมาะสมกับเด็ก
สวิตเซอร์แลนด์เป็นอีกประเทศที่มีนักเรียนชาวต่างชาติให้ความสนใจเรียนต่อมากที่สุดประเทศหนึ่ง และได้รับการจัดอันดับท็อป 5 ประเทศที่มีระบบการศึกษาดีที่สุดในโลกเช่นกัน ด้วยความที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่ไม่ได้มีทรัพยากรทางธรรมชาติมากมายนัก หลักคิดสำคัญจึงเป็นการติดอาวุธให้กับคนในประเทศด้วยการศึกษาที่ดีแทน
สวิตเซอร์แลนด์จะมีการกระจายอำนาจให้กับโรงเรียนแต่ละรัฐมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารหลักสูตรตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย ทำให้แม้จะอยู่ประเทศเดียวกันแต่รายละเอียดหลักสูตรและการเรียนการสอนก็แตกต่างกันไปตามแต่ละรัฐด้วย
โดยในระดับมัธยมจะมีรูปแบบการเรียนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท แล้วแต่ว่า นักเรียนในแต่ละรัฐเหมาะสมกับรูปแบบการจัดการแบบไหนมากกว่า ได้แก่
- Separated Model: นักเรียนจะถูกแบ่งตามระดับความสามารถของตัวนักเรียนเอง โดยในแต่ละกลุ่มจะมีความสามารถในระดับเท่าๆ กัน ตั้งแต่ระดับ basic, intermediate และ advance
- Cooperative Model: รูปแบบนี้ขึ้นอยู่กับหลักการเรียนในห้องเรียนซึ่งจะเป็นปัจจัยในการแยกนักเรียนที่มีความสามารถแตกต่างกัน
- Integrated Model: เป็นการนำนักเรียนที่มีความสามารถแตกต่างกันมาเรียนในห้องเรียนเดียวกัน และในบางวิชาการเรียนการสอนจะขึ้นอยู่กับตามความแตกต่างของระดับของนักเรียนด้วย
สำหรับระดับมัธยมปลายระดับนี้จะแยกระหว่างนักเรียนที่ต้องการเรียนสายสามัญและสายอาชีวะ นักเรียนที่เรียนสายสามัญจะเลือกเรียนได้ในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หรือโรงเรียนเฉพาะทาง ส่วนสายอาชีวะจะเข้าสู่ระบบการศึกษาอาชีวะโดยตรงแทน
โรงเรียนอาชีวะเหมาะสำหรับนักเรียนที่จะเตรียมตัวเข้าเรียนในระดับสายอาชีพในวิทยาลัยอาชีวะระดับสูง และในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ โดยมีสาขาที่เข้าเรียน ได้แก่ สาขาสุขภาพและการทำงานเพื่อสังคม การศึกษาและการออกแบบ และศิลปะใช้เวลาเรียนทั้งหมด 3 ปี ซึ่งนักเรียนประมาณ 2 ใน 3 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์จะเข้าสู่การศึกษาในระดับนี้ มีการเรียนการสอนมากกว่า 250 สายอาชีพ
เกาหลีใต้ : พัฒนาบุคลากรเพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน
เกาหลีใต้ขึ้นชื่อว่าเป็นชาติที่เรียนหนักมากที่สุดประเทศหนึ่ง แต่ก็มีข้อน่าสังเกตหลายอย่างที่ทำให้เข้าใจได้ว่า การศึกษาของเกาหลีใต้ที่ดีและได้ผลมากๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเรียนการสอนที่ซีเรียสเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ อย่างระบบการคัดเลือกเด็กเข้าเรียน การพัฒนาบุคลากรอย่างครูผู้สอน รวมถึงการวัดประเมินผลด้วย
นักเรียนเกาหลีใต้จะเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่อายุ 6-15 ปี จากนั้นจะให้เด็กๆ เลือกเรียนต่อ 2 แนวทางคือ ศึกษาต่อระดับมัธยมปลาย (สายสามัญหรือสายอาชีวะ) และโรงเรียนที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ เน้นความเข้มข้นของหลักสูตรแตกต่างกัน
โรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายทั้ง 2 สายแยกย่อยตามเป้าหมายเฉพาะวิชาหลายอย่าง ได้แก่ โรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์ ศิลปะ ภาษาต่างประเทศ และพลศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กไปตามโปรแกรมการศึกษาแบบเฉพาะเจาะจง เช่น โรงเรียนวิทยาศาสตร์ยงจิ (Kyonggi Science) และโรงเรียนทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ จะมีวิธีการคัดเลือกด้วยวิธีการของตนเอง นักเรียนที่เรียนสายสามัญจะเน้นการเรียนรู้ทางวิชาการทั่วไป และการฝึกปฏิบัติ โดยเด็กๆ สามารถเลือกสาขาในขณะที่เรียนอยู่ปีที่ 2 (เทียบเท่าระดับมัธยมปีที่ 5) ในสาขามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ และการฝึกอบรมทางวิชาชีพตามความถนัดและความสนใจ
โรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในสายสามัญเด็กๆ จะได้เรียนหลักสูตรแกนกลางร่วมกันในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 และจะเริ่มได้เลือกวิชาเฉพาะที่พวกเขาสนใจในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 5 และ 6 แต่ถึงอย่างนั้นเกาหลีใต้เองก็เคยเกือบจะมีการเปลี่ยนแปลงแผนการเรียนเหมือนกับไทยคือ แบ่งสายการเรียนวิทย์และศิลป์ ท้ายที่สุดก็ได้ถูกยกเลิกไปเพราะไม่ตรงกับหลักสูตรปัจจุบันที่มุ่งเน้นการศึกษาแบบองค์รวม และส่งเสริมให้เด็กๆ มีความคิดสร้างสรรค์สามารถเลือกวิชาเรียนข้ามศาสตร์ได้อย่างอิสระ
ส่วนโรงเรียนอาชีวศึกษาเป็นหลักสูตรเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน เด็กๆ ที่สนใจเข้าเรียนต่อสายอาชีวะจะต้องผ่านการเรียนในระดับมัธยมปีที่ 4 ก่อน จากนั้นจึงเลือกเรียนสาขาที่ตัวเองสนใจ เช่น ธุรกิจการเกษตร เทคโนโลยีการประมง การขนส่งทางทะเล
ออสเตรเลีย : เลือกเรียนวิชาตามที่ชอบ ไม่กำหนดกรอบการเรียนรู้
ออสเตรเลียค่อนข้างให้อิสระกับเด็กนักเรียนในการเลือกเรียนวิชาที่ชอบและสนใจ โดยไม่ได้ยึดหรือมีผลในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยด้วย ในระดับมัธยมปลายออสเตรเลียจะไม่มีการแบ่งแยกแผนการเรียน เด็กๆ สามารถเลือกลงเรียนวิชาที่ตัวเองชอบได้ตามใจ เช่น บางคนลงเรียนฟิสิกส์ เคมี ควบคู่ไปกับวิชาศิลปะ ดนตรีหรือสุขภาพก็มีเหมือนกัน
หากต้องการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยจะมีกำหนดหลักเกณฑ์ที่เรียกว่า ‘pre-requisites’ คือ ถ้าคุณมีความต้องการเข้าเรียนในคณะนี้ คุณต้องผ่านการเรียนวิชาไหนในระดับมัธยมปลายมาก่อนบ้าง ซึ่งในระดับโรงเรียนมัธยมจะมีหลักเกณฑ์ให้เด็กๆ ศึกษากันก่อนว่า ควรจะลงเรียนวิชาอะไรเพื่อให้พวกเขาเข้าคณะในฝันได้ โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นคณะที่มีความเฉพาะทางหรือเป็นวิชาชีพมากกว่า เช่น แพทยศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น
ในส่วนของคณะอื่นๆ มหาวิทยาลัยจะเตรียมการสอนปรับพื้นฐานให้ก่อนเริ่มเรียนจริงๆ เรียกว่า ‘bridging course’ สำหรับเด็กๆ ที่อาจจะไม่ได้มีพื้นฐานวิชานั้นๆ แน่นเท่ากับเพื่อนคนอื่น
สหรัฐอเมริกา : ไม่ต้องกดดันจากการโดนเปรียบเทียบ เพราะเลือกเรียนตามความถนัดของตัวเองได้
ระบบการเรียนการสอนในสหรัฐอเมริกาให้อิสระกับนักเรียนมากๆ ทำให้หลักสูตรหรือเกณฑ์การวัดของโรงเรียนในแต่ละมลรัฐก็ยังมีความแตกต่างกันด้วย หรือแม้กระทั่งในมลรัฐเดียวกันก็ยังไม่เหมือนกันเลยด้วยซ้ำ
โรงเรียนบางแห่งจะให้เด็กๆ ได้เลือกเรียนตามความถนัดของตัวเองว่า ต้องการเรียนในระดับธรรมดา กลางๆ หรือยาก หมายความว่า ระดับความเข้มข้นของวิชาการขึ้นอยู่กับความสามารถของเด็กนักเรียนแต่ละคน ทำให้เด็กๆ ไม่ได้มีความกดดันว่า ตัวเองจะต้องเรียนและสอบวัดผลกับเพื่อนที่อาจจะมีความถนัดในวิชาการมากกว่าพวกเขา เพราะเป็นการเรียนที่ทุกคนอยู่ในระดับเดียวกันมากกว่า
นอกจากนี้ นักเรียนในระดับมัธยมปลายยังจะได้รับคำแนะนำในการเลือกวิชาเสริมเพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนต่อระดับสูง หรือใช้ในการทำงาน โดยวิชาที่ให้เลือกจะมีสามสาย ได้แก่
สายวิชาการ – เหมาะสำหรับคนที่จะเรียนต่อวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย โดยวิชาที่เปิดสอน เช่น ชีววิทยา ฟิสิกส์ เคมี (คนที่จะเรียนหมอต้องมีพื้นฐานสามวิชานี้) พีชคณิต เรขาคณิต ตรีโกณมิติ แคลคูลัส วรรณกรรมอังกฤษระดับสูง การเขียนและเรียบเรียง สังคมวิทยา หรือภาษาฝรั่งเศส
สายอาชีพ – เหมาะกับคนที่จะไปต่อวิทยาลัยเพื่อการอาชีพ ซึ่งมีวิชาที่เรียน เช่น เกษตรศึกษา (เรียนการบริหารจัดการฟาร์มปศุสัตว์) ธุรกิจศึกษา (เรียนงานสายธุรกิจตั้งแต่พิมพ์ดีด ชวเลข การเขียน) การค้าและอุตสาหกรรม (เรียนการจัดการสายการผลิต เรียนทักษะเกี่ยวกับช่าง การก่อสร้าง ธุรกิจอื่นๆ)
สายทั่วไป – สำหรับคนที่ยังไม่รู้จะไปสายวิชาการหรือสายวิชาชีพ วิชานี้จะไม่เน้นเจาะลึก แต่จะพูดถึงทั้งสองสายแบบรวมๆ ให้มีความรู้เป็นพื้นฐานมากกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก