ใกล้สิ้นปีแล้ว และก็ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการวางแผงนิตยสาร ‘ขวัญเรือน’ ที่วางแผงตั้งแต่ปี 2511 ประกาศให้ฉบับธันวาคมปี 2560 นี้ เป็นฉบับสุดท้าย เหมือนกับปีที่แล้ว 2559 ‘พลอยแกมเพชร’ มีฉบับปฐมฤกษ์ปี 2535 ก็อำลาวงการนิตยสารผู้หญิงในเดือนธันวาคม และเมื่อก่อนหน้านั้น ธันวาคม 2558 นิตยสารเปรียว ที่เริ่มเผยแพร่ตั้งแต่ 2524 ก็ปิดตัวลงเป็นตำนาน
หากเชื่อสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเผด็จการ กล่าวในงานสัมมนาไทยแลนด์ 2018 ว่าปี 2561 รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาความยากจนภายในประเทศ ที่เชื่อว่าปัญหาความยากจนจะหมดไป[1] ก็ไม่รู้อะไรจะหมดก่อนกันระหว่างความยากจนกับสิ่งพิมพ์นิตยสาร เพราะภายใต้รัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหาร นิตยสารต่างทยอยมีอันเป็นไปเรื่อยมา ลำพังนิตยสารผู้หญิงก็ไปแล้วหลายเจ้า นับตั้งแต่นิตยสารสกุลไทย ที่อยู่คู่กับนักอ่านนักเขียนไทยมาตั้งแต่ 2497 นิตยสาร Image ที่วางแผงครั้งแรกเมื่อปี 2530 Cosmopolitan ฉบับภาษาไทยเล่มแรกปี 2539 Seventeen ฉบับภาษาไทยในปี 2545 และ Volume ที่เริ่มเกิดในปี 2547 ก็ล้วนแล้วล้มเลิกกิจการลงในปี 2559
แต่เอาเป็นว่ามีคนตกงานเพิ่มขึ้นจากการปิดตัวลงเรื่อยๆ ของนิตยสาร
การล้มหายตายจากของนิตยสารผู้หญิงหลายฉบับเป็นไปในช่วงที่เสรีประชาธิปไตยตกต่ำ ราวกับว่าตายตกไปตามกัน แต่ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกันหรือไม่ก็ตาม นิตยสารผู้หญิงก็อยู่คู่กันมากับขบวนการเรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และการปฏิวัติเพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ก่อนจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ด้วยซ้ำ
เริ่มนับตั้งแต่แรกมีสิ่งพิมพ์ เมื่อหมอบรัดเลย์หล่อตัวพิมพ์ไทยได้สำเร็จในปี 2385 ก็ทำให้เกิดหนังสือพิมพ์ จากนั้นวัฒนธรรมการอ่านสิ่งพิมพ์ก็เฟื่องฟู ในฐานะพื้นที่สาธารณะในการแลกเปลี่ยนความรู้ ที่ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อให้เกิดประชาธิปไตย เช่นหนังสือพิมพ์การเมือง ‘สยามสมัย’ (2459), ตอร์ปิโด (2464), กรุงเทพรีวิว (2465), พิฆาตตอร์ปิโด (2465), มังกรแดง (2465), นักการเมือง (2465), เสรีศัพท์ (2465), มังกรแดง (2465), บางกอกการเมือง (2465)[2]
เพราะราษฎรผู้อ่านออกเขียนได้ก็เริ่มแสดงทัศนคติทางการเมืองเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน ผ่านบทความ คอลัมน์ การ์ตูนล้อการเมืองลงหนังสือพิมพ์ เรียกร้องให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการปกครอง มีรัฐธรรมนูญ รัฐสภาที่มาจากราษฎร ข่าวต่างๆ มากมายในหนังสือพิมพ์ ต่างวิเคราะห์ข่าวเหตุบ้านการณ์เมือง เล่าถึงปัญหาที่เกิดขึ้นตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อจี้ให้หน่วยงานของรัฐเข้ามาแก้ไข ชี้จุดบกร่องการบริหารราการพร้อมวิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมา ไปจนถึงประชดประชันเสียดสีการใช้อำนาจรัฐบาล หนังสือพิมพ์จึงทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารราชการของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในขณะนั้น[3]
การที่หนังสือพิมพ์ก่อน 2475 ยืนเด่นโดยท้าทายเช่นนั้น ใช่เพราะรัฐบาลใจดีเด่อะไรหรอก หากแต่เพราะสยามอยู่ในฐานะประเทศกึ่งเมืองขึ้น ที่ต้องยินยอมสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของชาวต่างชาติ เช่นคนในบังคับอังกฤษอยู่ภายใต้อำนาจควบคุมของกงสุลอังกฤษ ทำให้รัฐไม่สามารถใช้กำลังบังคับในนามของกฎหมายเข้าไปควบคุมสิทธิเสรีภาพคนในรัฐตัวเองที่อยู่ภายใต้บังคับของรัฐอื่นได้ พลเมืองในบังคับของรัฐอื่นที่เข้ามาอยู่ในรัฐสยาม จึงกลายเป็นเจ้าของกิจการสำนักพิมพ์เองหรือเป็นเจ้าของในนาม แล้วให้ราษฎรไทยเผยแพร่บทความ[4]
เช่น หนังสือพิมพ์ ‘วายาโม’ (2463-2466) ที่เคยเผยแพร่บทความโจมตีการใช้อำนาจในทางที่ผิดของเจ้ากระทรวงเกษตร[5] ก็มีเจ้าของคือ นางหยง วีระสัมฤทธิ์ หรือ นางอุปธานนิติ เพียงแต่ประกาศชื่อ เอ อีซุฟอาลี ผู้อยู่ในบังคับของอินเดีย เป็นเจ้าของแทน[6]
ในช่วงนั้นผู้หญิงจำนวนหนึ่งประกอบอาชีพเป็นจ้าของสำนักพิมพ์ หรือโรงพิมพ์เช่นหนังสือพิมพ์ ‘ปากกาไทย’ (2468) ที่ถวัติฤทธิเดชเป็นเจ้าของ และมักวิพากษ์วิจารณ์ความล้าหลังของรัฐบาลในขณะนั้น ในปี 2469 ก็ได้โอนกิจการหนังสือพิมพ์ให้เป็นของโรงพิมพ์บรรจงพิมพ์กิจ ซึ่งนางเง็ก ชำนิเนติสาร เป็นเจ้าของ และเธอก็เคยร่วมงานกับถวัติ ฤทธิเดช มาก่อน สมัยทำหนังสือพิมพ์กรรมกรด้วยกัน [7] ซึ่งหนังสือพิมพ์กรรมกร ก็ถือว่าเป็นอีกพื้นที่สำคัญในการตั้งคำถาม ชี้จุดบกพร่องรัฐบาลที่ไม่มีรัฐสภา รัฐธรรมนูญ และไม่ได้มาจากราษฎร
เพราะเมื่อราษฎรหญิงเริ่มเรียนหนังสือกับมิชชันนารีตามโรงเรียนสอนศาสนา จากเดิมไม่มีโรงเรียนสำหรับสอนผู้หญิงเลย ไม่เพียงทำให้พวกเธออ่านออกเขียนได้ ยังทำให้เริ่มตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศและชนชั้น เพราะการศึกษาวิชาความรู้สมัยใหม่ แต่ยังได้เป็นผู้ผลิตนอกบ้านมีบทบาททางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่มากขึ้น[8]
เมื่อพวกเธอก็เริ่มมีอำนาจในการตัดสินใจ มีความคิดความอ่านเป็นของตนเองมากขึ้น หญิงชนชั้นกลางเริ่มตั้งคำถามท้าทายอำนาจที่กดขี่พวกเธออยู่ ทั้งทางการเมืองและเพศสถานะของพวกเธอ ผ่านวัฒนธรรมการเขียน ทั้งเขียนฎีการ้องทุกข์ไปยังรัฐบาล และเขียนบทความจดหมายไปยังหนังสือพิมพ์ เพื่อตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครองที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้ความไม่เสมอภาคทางเพศดำรงอยู่
มีนิตยสารสำหรับผู้หญิงวางจำหน่ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต่างตั้งคำถามท้าทายต่อสังคมชายเป็นใหญ่และเพื่อความเสมอภาคระหว่างชายหญิง สิทธิในการศึกษาการทำงานเสมอผู้ชาย อิสรภาพในการตัดสินใจหาคู่ครองและรวมไปถึงการอยู่เป็นโสดโดยไม่ต้องมีผัว การไม่ถูกคลุมถุงชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อต้านวัฒนธรรมการแต่งงานผัวเดียวหลายเมียของชนชั้นปกครองนิตยสารผู้หญิงหลายฉบับโจมตีอย่างหนักว่าเป็นการกดขี่ผู้หญิง ไม่ศิวิไลซ์[9]
การเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงในขณะนั้น ส่วนหนึ่งจึงกลายเป็นการต่อต้านวัฒนธรรมชนชั้นสูงไปในขณะเดียวกัน ท่ามกลางกระแสโจมตีระบอบการปกครองในฐานะความล้าหลัง นิตยสารสตรีจึงกลายเป็นอีกพื้นที่สาธารณะหนึ่งให้กับผู้หญิงในการต่อสู้เพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย
แม้ว่านิตยสารผู้หญิงจะเผยแพร่ความรู้ประเภทแม่บ้านแม่เรือน เป็นเมียและแม่ที่ดีภายในครัวเรือนเป็นหลัก แต่ก็เผยแพร่ความรู้สังคมการเมือง กระตุ้นให้หันมาวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นผู้หญิง มีคอลัมน์ที่ทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงให้ผู้หญิงทิ้งจดหมาย แสดงถึงความทุกข์ร้อนความยากลำบาก ไม่พอใจในความไม่เสมอภาคทางเพศ เช่นนิตยสารกึ่งหนังสือพิมพ์สัปดาห์ละ 2 ฉบับอย่าง ‘สตรีศัพท์’ เริ่ม (2465) มีนางสาวผะอบ พงศ์ศรีจันทร์ บรรณาธิการกล่าวไว้ในคำนำว่า “เป็นปากเสียงให้สตรีที่รับทุกข์ สตรีใดได้รับทุกข์หรือมีความเดือดร้อนอันบุรุษเพศได้กระทำให้ด้วยความมิเป็นธรรม เชิญบอกนามและเรื่องจริงไปยังเรา” ซึ่งภายในเล่มมีทั้งข่าวสารความรู้ข้อคิดเห็น พยายามให้ผู้หญิงได้เสมอภาคกับผู้ชาย ตื่นตัวในสิทธิสตรี เช่นคอลัมน์ ‘ข่าวศาลเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิง’ ‘สภาพสตรีไทย’[10]
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นิตยสารรายสัปดาห์ ‘สตรีไทย’ (2468) มีคำขวัญบนปกว่า “ออกเพื่อให้ความสว่างแก่สตรีทั้งปวง” และแจ้งว่าคณะผู้จัดทำเป็นผู้หญิงทั้งหมด เช่น นางสาวแฉล้ม จีระสุข เจ้าของและบรรณาธิการ มีคอลัมน์ ‘ตอบปัญหาของแม่ไสว’ ‘ชตาของหล่อน’ ‘สตรีกับการเมือง’ ไปจนถึงคอลัมน์วิพากษ์วิจารณ์เสียดสีสังคมปกิณกะเกี่ยวกับผู้หญิงเสียดสีผู้ชาย ให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ผู้หญิง อธิบายกฎหมายผัวเมียโฆษณาสินค้าสำหรับผู้หญิงและเด็ก[11] เช่นเดียวกับนิตยสารกึ่งหนังสือพิมพ์ ‘สยามยุพดี’ (2471) เสนอข่าวที่เกี่ยวกับผู้หญิง เพื่อป้องกันเกียรติยศผู้หญิง ช่วยเหลือเพื่อนผู้หญิงในด้านอาชีพ ความรู้ต่างๆ การเรือนการครัว ความสวยความงาม การเมืองซึ่งมีคอลัมน์ ‘สตรีกับการเมือง’ และเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้หญิง[12]
การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมและเสรีภาพของราษฎรผู้หญิงจึงแยกไม่ออกจาก ‘ความเป็นแม่บ้านแม่เรือน’ เหมือนกับที่ นิตยสาร ‘สุภาพนารี’ ฉบับปฐมฤกษ์ปี 2473 ที่ไม่เพียงเน้นย้ำถึง ‘ความเป็นแม่บ้านแม่เรือน’ กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่ต้องเป็นแม่บ้านดูแลครัวเรือน และแม่ของมนุษย์ ควบคุมคนรับใช้อยู่ภายใต้การดูแลควบคุมจัดการ เหมือนกับแม่บ้านชนชั้นกลางและสูงยุควิคตอเรียน เหมือนนิตยสารผู้หญิงอื่นๆ[13] ยังมีทั้งบทความรู้รอบตัว บทสัมภาษณ์บุคคล ซึ่งในช่วงปี 2474 ก็เพิ่มคอลัมน์ ‘สตรีกับกฎหมาย’ ‘เมื่อโลกหมุน’ ‘ข่าวในประเทศ’ และ ‘ข่าวนอกประเทศ’[14]
กลายเป็นความครึกครื้นของนิตยสารสตรีที่เคลื่อนไหวทั้งทางด้านสิทธิสตรี ไปจนถึงพยายามมีส่วนร่วมในการปกครองและปฏิวัติการปกครอง ที่เผยแพร่บางเรื่องบางการ์ตูน แซ่บ เผ็ช เสียจนนิตยสารผู้หญิงปัจจุบันชิดขวาตกขอบไปเลย
แม้ว่าเสรีภาพในการพูดมีอิทธิพลต่อการผลิตสิ่งพิมพ์ แต่อย่างไรก็ตามนิตยสารสตรีก็ไม่ใช่ดัชนีชี้วัดระดับเสรีประชาธิปไตยของประเทศ การมีนิตยสารดกดื่นก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตย นิตยสารสำหรับผู้หญิงเองก็ไม่ได้ออกมาเพื่อประชาธิปไตยเสมอไป
เพราะก่อนคสช.จะมา นิตยสารผู้หญิงหลายเล่มก็เขียนต่อต้านการไปออกเลือกตั้ง แล้วกวักมือเรียกทหารออกมาปกครองพลเรือนเสียเอง และเมื่อเศรษฐกิจซบเซาจนเป็นปัจจัยนึงให้นิตยสารหลายเล่มถึงคราวอวสาน ในลมหายใจเฮือกสุดท้ายของบางนิตยสาร บก. บางนางก็ยังคงเพรียกหาให้รัฐบาลคสช.สงเคราะห์จุนเจือนิตยสารราวกับเป็นการกุศลอยู่เลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] รัฐลั่นปีหน้าคนจนหมดประเทศ แต่จะแก้ปัญหาแบบสังคมสงเคราะห์? พฤศจิกายน 17, 2017. voicetv.co.th
[2] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (บรรณาธิการ). สยามพิมพการ : ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549.
[3] Matthew Phillip Copeland. Contested Nationalism and the 1932 Overthrow of the Absolute Monarchy in Siam. Ph.D. diss., Australian National University, Canberra, 1992, p. 53.; นิพนธ์ อินสิน.แนวคิดเชิงต่อต้านระบบวัฒนธรรมเก่า : ศึกษาจากวรรณกรรมของชนชั้นกลางในสมัยพระพุทธเจ้าหลวง สกลนคร, ภาควิชาภาษาไทย คณะวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ วิทยาลัยครูสกลนคร, 2521.
[4] พุฒิพงศ์ พงศ์เอนกกุล. ธรรมชาติของการใช้อำนาจโดยกษัตริย์. กรุงเทพฯ : Shine Publishing House, 2556. น. 157-161.
[5]Matthew Phillip Copeland. Contested Nationalism and the 1932 Overthrow of the Absolute Monarchy in Siam. Ph.D. diss., Australian National University, Canberra, 1992, p.135.
[6] ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ (บรรณาธิการ). สยามพิมพการ : ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2549, น. 107-108.
[7] เรื่องเดียวกัน, น. 109.
[8] ชาติชาย มุกสง. “จากแม่ศรีเรือนถึงแม่บ้านทันสมัย: การต่อสู้ทางศีลธรรมผ่านแม่บ้านหลังปฏิวัติ 2475 ถึงทศวรรษ 2500”. ชุมทางอินโดจีน ปีที่ 4 ฉบับที่ 7 กรกฎาคม-ธันวาคม 2558. หน้า 95-115. (โครงการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์โลกครั้งที่ 9 เรื่อง “ ปัญญาชน ศีลธรรมและภาวะสมัยใหม่ : เสียงของมนุษยศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” วันที่ 27-28 สิงหาคม 2558 มหาวิทยาลัยนเรศวร จ. พิษณุโลก), (งานประชุมวิชาการระดับชาติ).
[9] Barmé, Scot. Woman, Man, Bangkok : Love, Sex, and Popular Culture in Thailand. Chiang Mai, Thailand : Silkworm Book, 2006.,Pp. 136-141.
[10] อุบลวรรณ ปิติพัฒนะโฆษิต และ อวยพร พานิช.100 ปี ของนิตยสารสตรีไทย (พ.ศ. 2431-2531). กรุงเทพฯ : คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532, น. 15-16.
[11] เรื่องเดียวกัน, น. 17-18.
[12] เรื่องเดียวกัน, น. 20.
[13] ชาติชาย มุกสง. (2558). “จากแม่ศรีเรือนถึงแม่บ้านทันสมัย: การต่อสู้ทางศีลธรรมผ่านแม่บ้านหลังปฏิวัติ 2475 ถึงทศวรรษ 2500”. ชุมทางอินโดจีน ปีที่ 4 ฉบับที่ 7 กรกฎาคม-ธันวาคม 2558. หน้า 95-115. (โครงการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์โลกครั้งที่ 9 เรื่อง “ ปัญญาชน ศีลธรรมและภาวะสมัยใหม่ : เสียงของมนุษยศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” วันที่ 27-28 สิงหาคม 2558 มหาวิทยาลัยนเรศวร จ. พิษณุโลก), (งานประชุมวิชาการระดับชาติ).
[14] อุบลวรรณ ปิติพัฒนะโฆษิต และ อวยพร พานิช.100 ปี ของนิตยสารสตรีไทย (พ.ศ. 2431-2531). กรุงเทพฯ : คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2532, น. 21.