เมื่อฤดูหนาวและเทศกาลปีใหม่มาเยือน ตามภาคเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่ก็คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวมากมาย เพราะใครหลายๆ คนโดยเฉพาะอย่างยิ่งมนุษย์กรุงเทพฯ ต่างก็แห่กันขึ้นเหนือกันไปฉลองปีใหม่ ไปฉลองโอกาสที่นานๆ ครั้งจะได้สัมผัสอากาศเย็นๆ ในเมืองไทยกับเขาบ้างสักที บ้างก็ไปทำบุญไหว้พระเอาสิริมงคล ชมวัดวาแปลกตา
แต่ที่แปลกยิ่งกว่าคือป้ายประกาศติดตามพระธาตุเจดีย์ ทางเข้าอุโบสถว่า ‘ห้ามสุภาพสตรีขึ้น’
ใช่ๆ เขาไม่ให้ผู้หญิงเข้าไป เคยมีผู้หญิงเรียกร้องให้ยกเลิกข้อห้ามการเลือกปฏิบัติอะไรแบบนี้ หรือบางนางโนสนโนแคร์ เดินเฉิบๆ เข้าไปก็ทำเอาคนท้องถิ่นเกิดอาการหัวร้อน ตวาดไล่ ด่าทอหยาบๆ คายๆ หาว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง แช่งชักหักกระดูก แกล้งถูกผีเข้าอาละวาดใส่ปิดประตูไล่บ้างจะได้ไม่ต้องรับผิดชอบในการกระทำ
ถ้ายังจำกันได้ ครั้งนึงในเดือนกรกฎาคมปี 2547 มีสว.ขอนแก่นนางนึงได้ร้องเรียนให้เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพอธิบายเกี่ยวกับการห้ามผู้หญิงเข้าไปไหว้สักการะองค์พระธาตุเจดีย์ที่ดอยสุเทพ เพราะนางได้ไปเยือนเชียงใหม่ในเดือนมิถุนา แล้วพบว่ามีป้ายประกาศห้ามผู้หญิงเข้าไปสักการะถึงองค์พระธาตุ เนื่องจากเป็นการขัดต่อสิทธิเสรีภาพของสตรี เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อสตรี และขัดต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 30 ผลคือนางถูกมองว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ลบหลู่ความเชื่อทางศาสนาที่มีมายาวนาน ล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีอันดีงาม เรื่องราวใหญ่โตบานปลาย มีการล่ารายชื่อให้วุฒิสภาสั่งให้นางออกมาขอโทษขอขมา ชาวภาคเหนือเริ่มเคลื่อนไหวตามจังหวัดต่างๆ เพื่อจี้ให้มีการดำเนินการถอดถอนนางออกจากตำแหน่งส.ว. คนท้องถิ่นเริ่มประกอบพิธีกรรมขอขมาบรรพบุรุษ และพิธีสาปแช่งเผาพริกเผาเกลือ
เอาสิ…เหตุการณ์นี้สิทธิสตรี ความเท่าเทียมทางเพศ รัฐธรรมนูญมาตรา 30 เป็นฝ่ายแพ้ให้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ความเชื่อเก่าแก่ โดยไม่จำเป็นต้องอ้างมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอันดีงาม คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชนและผู้สูงอายุต้องกราบขออภัยชาวเหนือผู้เกรี้ยวกราดและยึดมั่นในประเพณีห้ามผู้หญิงขึ้นพระธาตุอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ[1]
เพราะหนึ่งในภูมิปัญญา วัฒนธรรมเก่าแก่ จารีตประเพณีท้องถิ่นของเขตวัฒนธรรมล้านนาคือข้อห้ามผู้หญิงขึ้นอุโบสถ เข้าใกล้หรือเฉียดพื้นที่ของพระธาตุเจดีย์ เนื่องจากเชื่อว่าบรรจุพระสารีริกธาตุและของศักดิ์สิทธิ์เอาไว้ และคนโบราณได้เสกอาคมฝังเอาไว้ข้างใต้สถานที่เพื่อปกปักรักษา หากถูกชุดชั้นใน ผ้าถุงของผู้หญิง หรือผู้หญิงยืนคร่อมจะทำให้ของเสื่อมไม่สามารถปกป้องรักษาปูชนียสถานหรือวัตถุได้อีกต่อไป เพราะผู้หญิงเป็นเพศที่มีประจำเดือนและประจำเดือนก็มีฤทธิ์ดาเมจรุนแรงมาก ต่อไปใครจะมาทำลายหรือขโมยของก็ง่ายขึ้น บ้างก็กลัวว่าหากเข้าไปในอุโบสถแล้วจะเกิดอาเพศฉิบหาย ขึดบ้านขึดเมือง
มีตำนานล้านนามาสนับสนุนราวกับเป็นข้อเท็จจริงว่า พระนางจามเทวี ราชินีผู้ปกครองอาณาจักรหริภุญชัย ได้รับคำเชิญจากขุนหลวงวิลังคะผู้นำชาวลัวะ เจ้าเมืองอีกเมืองนึงให้ไปแต่งงานด้วยกัน แต่พระนางไม่โอเคจึงออกอุบายว่า หากขุนหลวงวิลังคะพุ่งเสน้า (หอกด้ามยาวที่มีสองคม) จากเชิงดอยสุเทพมาตกในกลางลานพระราชวังนางได้ ก็จะยอมแต่งงานด้วย ขุนหลวงจึงบริกรรมเวทมนตร์พุ่งเสน้าจากเมืองของตนไปยังหริภุญชัย ครั้งแรกพุ่งได้ไกลถึงกำแพงเมือง ทำให้พระนางชักหวั่นๆ จึงเอาเศษผ้าถุงชั้นในของตนเองที่เลอะประจำเดือนมาเย็บประดิษฐ์เป็นพระมาลา (หมวก) และทำหมากพลูที่ป้ายเลือดประจำเดือนของเธอที่ใบพลู ส่งไปบรรณาการแก่ขุนหลวง ซึ่งเมื่อเขาได้สวมหมวกและเคี้ยวหมากที่เลอะเมนส์ ขุนหลวงก็อ่อนพลัง ฤทธิ์เดชที่เคยมีก็เสื่อมในบัดดล จนไม่สามารถพุ่งหอกได้ไกลอีกต่อไป
อันที่จริงวัฒนธรรมท้องถิ่นอื่นที่ยังเชื่ออะไรแบบนี้ก็มีนะ เช่น โบสถ์มหาอุตม์วัดศรีมงคลหรือวัดทรายงาม จังหวัดเพชรบูรณ์[2] วัดพุทไธศวรรค์วัดที่อยุธยา บางวัดในประเทศต่างๆ ตามเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้มงวดผ่อนคลายแตกต่างกันออกไป
ประเด็นที่ว่าด้วยผู้หญิงเข้าได้หรือห้ามเข้าไปข้างในได้หรือไม่นั้น มักถูกจับให้เป็นคู่ขัดแย้งระหว่างนักท่องเที่ยวจากต่างแดนกับประเพณีประจำท้องถิ่น และคู่ขัดแย้งระหว่าง ‘ความสมัยใหม่’ ในความหมายของ ‘ความเป็นสากล’
ซึ่งรวมไปถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ สิทธิสตรี กับความเชื่อโบราณดั้งเดิมหลายร้อยปี จึงเป็นที่สังเกตได้ว่า ป้ายที่มีการห้ามลักษณะเช่นนี้มักมี 2 ภาษาขึ้นไป และไปปรากฏตามที่ที่เป็นทั้งสถานที่ท่องเที่ยวและศาสนสถาน
นักท้องถิ่นนิยมล้านนากล่าวว่า จารีตล้านนามีข้อห้ามนี้และแม่ญิงล้านนาก็จะได้รับการอบรมสั่งสอนเกี่ยวกับจารีตในชุมชนไม่ให้เข้าไปในชั้นในขององค์พระธาตุอยู่แล้ว ส่วน “ป้ายนี้มีไว้เพื่อให้นักท่องเที่ยว นักวิชาการ และนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีจากต่างแดน (ที่มักเอาวิธีคิดจากภายนอกมาใช้กับสังคมอื่นอย่างไม่แยกแยะ) จะได้ทราบถึงธรรมเนียมปฏิบัติ จะได้ไม่ละเมิดคติความเชื่อของคนท้องถิ่น” [3]
ดังนั้นวันดีคืนดีเกิดมีนักท่องเที่ยวหญิงหรือสมาชิกผู้หญิงในชุมชนลุกขึ้นมาตั้งคำถาม ท้าทายหรือดื้อแพ่งเดินอาดๆ เข้าไปในพื้นที่สงวนเฉพาะผู้ชาย ก็ย่อมสร้างความโกรธเป็นฟืนเป็นไฟให้กับคนในพื้นที่ เพราะมองว่าเป็นการล่วงละเมิดวัฒนธรรมดั้งเดิมโดยค่านิยมสมัยใหม่หรือต่างแดน ผู้คนในท้องถิ่นก็จะเกรงว่าการแหกกฎจะทำให้วัฒนธรรมเก่าแก่สั่นคลอนล่มสลาย โดยไม่จำเป็นว่าคนที่ขึงโกรธเป็นเพศใด จะเชื่อเรื่องมีเวทมนตร์คาถาฝังไว้ใต้ปูชนียสถานจริงหรือไม่ เดิมมีสำนึกความเท่าเทียมทางเพศในมิติอื่นหรือไม่
เพราะขณะเดียวกันก็เป็นสำนึกท้องถิ่นนิยมที่เกิดบนความขัดแย้งและประวัติศาสตร์บาดแผลเกรงว่าจะท้องถิ่นของตนจะถูกย่ำยีและโดนล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรม เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลล้านนาเคยถูกรัฐบาลกรุงเทพฯ กระทำในลักษณะของนักล่าอาณานิคมตะวันตก (เพราะสยามถูกกระทำโดยจักรวรรดินิยมตะวันตกอย่างไร สยามก็กระทำเช่นนั้นกับรัฐจารีตต่างๆ รอบข้าง เช่นรัฐปาตานีและล้านนา)
มิพักต้องพูดไปไกลถึงขั้น ‘ห้ามผู้หญิงเข้า’ เป็นพุทธแท้หรือพุทธเทียม อยู่ในพุทธวินัย หลักธรรมคำสั่งสอนศาสดาแบบเมื่อ 2,600 ปีที่แล้วหรือไม่ เพราะไม่มีความจำเป็นอะไรต้องไปร่อนตะแกรง แกว่งสารส้มแยกตะกอนหาอะไรคือจารีตศาสนาพุทธที่นำเข้ามา หรือจารีตท้องถิ่นที่มีอยู่ก่อนแล้ว
อันที่จริงวัฒนธรรมท้องถิ่นเองก็พยายามพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น[4] ซึ่งก็เป็นการพยายามพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองบนสำนึกแบบ ‘สากล’ กลายเป็นอัตลักษณ์แบบท้องถิ่นนิยมบนฐานคิดสมัยใหม่ เช่น ทุนนิยม เสรีนิยมสมัยใหม่ เหมือนกับที่นักท้องถิ่นนิยมจำนวนหนึ่งพยายาม defend ให้กับวัฒนธรรมล้านนาว่าไม่ใช่วัฒนธรรมการกดขี่ผู้หญิงในกรณีที่ห้ามผู้หญิงขึ้นพระธาตุ อุโบสถต่างๆ เพราะเห็นได้จากการเรียกชื่อลำน้ำใช้คำว่าแม่ เช่น แม่ริม แม่แตง แม่อาย แล้วก็กลายเป็นชื่ออำเภอต่าง ซึ่งเท่ากับว่าไม่ได้กดขี่ผู้หญิง หากแต่ให้เกียรติผู้หญิง[5]
อย่างงี้ก็ได้หรอ…?
แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคนในพื้นที่เขตวัฒนธรรมล้านนาเองจะเห็นเหมือนกันหมด คิดอ่านเหมือนบรรพบุรุษ แล้วมองไม่เห็นว่าป้ายและประเพณีนี้มันเป็นความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติทางเพศอย่างหนึ่ง
ความพยายามรักษากฎ ‘ห้ามผู้หญิงเข้า’ จึงเป็นแต่เพียงปัญหาชุมชนที่ไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในชุมชนได้ เช่นสำนึกความเท่าเทียมทางเพศ หลังจากที่แปลงอัตลักษณ์และมรดกของชุมชนตนเองให้เป็นสินค้าสำหรับการท่องเที่ยวเพื่อตอบโลกกระแสใหม่
เพราะข้อห้ามเช่นนี้ทำหน้าที่ตอกย้ำเชิงสัญลักษณ์ว่าปริมณฑลทางศาสนาเป็นของผู้ชาย เป็นทรัพยากรที่ผูกขาดไว้เพื่อเพศชาย ผลักผู้หญิงในฐานะ ‘ความเป็นอื่น’ ให้อยู่ตะเข็บชายขอบของปริมณฑล เหมือนกับที่คณะสงฆ์ยังคงกีดกันไม่ให้ผู้หญิงบวชภิกษุณี ทั้งๆ ที่ศาสนาคือชุดความรู้ที่อธิบายโลก จักรวาล สังคม มนุษย์ และชุดอธิบาย ‘ความจริง’ บางประการ ซ้ำยังเป็นพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์[6]
แต่ไม่ว่าอย่างไร สาเหตุแห่งการห้ามผู้หญิงเข้าไปในพื้นที่แห่งความรู้ อำนาจ ที่มีบทบาทระเบียบสังคมอย่างในพื้นที่วัดก็เพราะเชื่อว่า ผู้หญิงสกปรกกว่าผู้ชาย ต้องอยู่ต่ำกว่าผู้ชาย และสร้างปัญหาและความแปดเปื้อนได้ง่าย
ความเชื่อเช่นนี้มีมาแต่โบราณจริงหลายร้อยปี ตั้งแต่สังคมยังเป็นระบบชนเผ่า ไม่มีความซับซ้อนหรือความรู้อะไรมากนัก ซึ่งต่างจะสะพรึงเมนส์และผู้หญิงมีเมนส์ เช่น ชนเผ่าบากันดาส์ (Bagandas) ที่มีกฎประเพณีมากมายเกี่ยวกับผู้หญิงมีประจำเดือน ระหว่างนั้นของเดือนพวกเธอจะถูกห้ามดื่มนม ห้ามจับภาชนะใส่นม ห้ามจับเข้าของเครื่องใช้ของสามี มิเช่นนั้นสามีจะเจ็บไข้ได้ป่วย และถ้าหากเธอไปสัมผัสอาวุธของผัว มันคือคำสาป ในสงครามครั้งต่อไปผัวนางจะโดนฆ่าตายแน่นอน และถ้าพวกนางไปแตะบ่อน้ำ น้ำก็จะเหือดแห้ง ในชนเผ่าคารวารส์ (Kharwars) เมื่อผู้หญิงของเผ่ามีระดูพวกเธอจะถูกส่งออกไปอยู่นอกบ้าน ห้ามเข้าครัวหรือคอกวัวและห้ามจับภาชนะอาหาร เช่นเดียวกับชนเผ่าดั้งเดิมในทวีปออสเตรเลีย ในช่วงที่ผู้หญิงมีประจำเดือนต้องแยกออกไปอยู่ตามลำพัง และในบางชุมชนในอินเดียใต้ก็ห้ามผู้หญิงมีระดูรีดนมวัว ดื่มนม ถูกไฟฟืน ห้ามเดินตามทางเท้า ห้ามเข้าใกล้ดอกไม้พืชผล ห้ามนอนในที่สูง ห้ามดูรูปเคารพและต้องแยกไปอยู่ตามลำพัง[7] ซึ่งล้วนแล้วเป็นการห้ามผู้หญิงที่มีประจำเดือนเกี่ยวข้องกับทรัพยากรเพื่อความอยู่รอดของชีวิต ปากท้องและสวัสดิภาพ ขณะเดียวกันก็จัดวางให้เป็นมลทินและภยันอันตรายต่อคนหมู่มาก
กลายเป็นเป็นการนิยามคุณค่าที่เหลื่อมล้ำกันผ่านเพศสรีระ
ศาสนสถานที่มีป้ายประกาศห้ามไม่ให้ผู้หญิงเข้าจึงเป็นผลผลิตตกค้างของภูมิปัญญาแบบบรรพกาลที่ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศสรีระชีวภาพกายภาพมนุษย์ แม้ว่าจะอ้างว่าพัฒนาเป็น ‘เมือง’ แล้ว แต่ก็ไม่ต่างไปจากสังคมบรรพกาลที่สำนึกแบบชนเผ่าก็ยังดำรงอยู่ผ่านวัฒนธรรมกลัวเมนส์ เพียงทำให้ฟังดูดีขึ้นด้วยการเปลี่ยนมาอยู่ในนามของการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นอันดีงาม
อันที่จริงถ้าวัฒนธรรมใดที่ไม่ได้ให้ค่า ‘ความเป็นคน’ หรือเคารพ ‘ความเป็นมนุษย์’ อย่างเท่าเทียมกัน ก็ไม่ควรค่าหรือน่าภาคภูมิใจพอที่จะอนุรักษ์ ยกย่องว่าเป็นวัฒนธรรมอัน ‘ดีงาม’ หากแต่เป็นการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงทางวัฒนธรรม และเอาเข้าจริงแล้วอุโบสถ พระธาตุ วิหารอะไร อาจจะไม่ใช่พื้นที่ยิ่งใหญ่สลักสำคัญอะไรสำหรับลูกผู้หญิงที่ครั้งนึงต้องพิชิตสักครั้ง หากแต่การเลือกปฏิบัติและความรุนแรงทางเพศต่างหากที่ต้องขจัด
หากยังไม่เข้าใจว่า ป้าย ‘ห้ามสุภาพสตรีขึ้น’ มันแย่แค่ไหน ก็ให้นึกภาพรถบัสที่มีป้ายที่นั่งสำรองให้คนผิวขาว หรือร้านอาหารที่ติดป้ายไว้ว่าบริการเฉพาะคนผิวขาว ในสมัยที่สหรัฐอเมริกายังสนับสนุนแบ่งแยกสีผิว และเชื่อว่าคนผิวดำไม่ควรมีสิทธิเท่าคนผิวขาว
แต่ถ้ายังไม่เข้าใจอีก ยังหัวร้อนอยู่ ก็เชิญแก้ไขปัญหาชุมชนท้องถิ่นด้วยการเผาพริกเผาเกลือหรือรอให้ผีมาสิงแล้วตัดสินต่อไปก็แล้วกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] นันธิยา ขันคำ. ลำดับเหตุการณ์ ส.ว. ระเบียบรัตน์ร้องเรียนสิทธิสตรี กรณีห้ามผู้หญิงเข้าใกล้พระธาตุ. สุภาภรณ์ อาภาวัชรุตม์ (บรรณาธิการ). ผู้หญิงกับพระธาตุ. เชียงใหม่ : มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง, 2547, น. 6-11.
[3] ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์. พระธาตุกับผู้หญิง มุมมองจากแม่ญิงล้านนา. สุภาภรณ์ อาภาวัชรุตม์ (บรรณาธิการ). ผู้หญิงกับพระธาตุ. เชียงใหม่ : มูลนิธิสถาบันพัฒนาเมือง, 2547, น. 58.
[4] นิธิ เอียวศรีวงศ์. ผู้หญิงกับพระธาตุ. รายงานการเสวนา ผู้หญิงห้ามเข้า : จารีตและความเชื่อที่ต้องอธิบาย. จิตติมา ภาณุเตชะ และ ณัฐยา บุญภักดี (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้่หญิง, 2548 (วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2547 ณ หัองประชุมชั้น 4 ตึกอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย หลักสูตรปริญญาโทสาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), น. 141-145.
[5] ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์, เรื่องเดิม, น. 58.
[6] ฉลาดชาย รมิตานนท์ ในรายงานการเสวนา ผู้หญิงห้ามเข้า : จารีตและความเชื่อที่ต้องอธิบาย. จิตติมา ภาณุเตชะ และ ณัฐยา บุญภักดี (บรรณาธิการ). กรุงเทพฯ : มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้่หญิง, 2548 (วันจันทร์ที่ 26 กรกฎาคม 2547 ณ หัองประชุมชั้น 4 ตึกอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโดย หลักสูตรปริญญาโทสาขาสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์).
[7] ปรานี วงษ์เทศ. เพศและวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : ศิลปวัฒนธรรม, 2544, น. 248.