ในฐานะวาทกรรมและสิ่งประกอบสร้างทางสังคม เพศสภาพเพศวิถีย่อมถูกอธิบายและประกอบสร้างใหม่ตามบริบทการเมืองการปกครอง ภายใต้ยุคสมัยใดสมัยนึง มันจึงมีวิทยานิพนธ์ หนังสือ บทความวิชาการ ว่าด้วยนิยามความหมาย อัตลักษณ์ LGBTIQs และผู้หญิง ผู้ชาย ในแต่ละยุคสมัย
เช่น “Only the Real, the True, the Masculine Held Its Value”: Ernst Röhm, Masculinity, and Male Homosexuality (1998) โดย Eleanor Hancock, Women in Nazi Germany (2001) ของ Jill Stephenson, The Pink Triangle and Political Consciousness: Gays, Lesbians, and the Memory of Nazi Persecution (2002) โดย Erik N. Jensen, Sexuality and Nazism: The Doubly Unspeakable? (2002) ของElizabeth D. Heineman, Women in the Third Reich (2003) ของ Matthew Stibbe, Sex, freedom, and power in imperial Germany, 1880-1914 (2014) โดย Edward Ross Dickinson, Sex and the Weimar Republic: German Homosexual Emancipation and the Rise of the Nazis (2015) ของ Laurie Marhoefer และ Stormtrooper Families: Homosexuality and Community in the Early Nazi Movement (2015) โดย Andrew Wackerfuss นี่เฉพาะบางส่วนเท่านั้นนะ คือยังมีอีกเยอะเป็นกระบุง
ของไทยเองก็มีการศึกษาความหมายและนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพเพศวิถี เช่น นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงในสมัยสร้างชาติของจอมพล ป.พิบูลสงคราม พ.ศ.2481-2487 (2530) วิทยานิพนธ์ของนันทิรา ขำภิบาล และ ผัวเดียวเมียเดียวแห่งชาติ” : ครอบครัวกับโครงการรณรงค์ทางวัฒนธรรมสมัยสร้างชาติของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (2557) บทความของสุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ
และนี่ก็เป็นเวลา 3 ปีแล้วนะ นับตั้งแต่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นหัวหน้า รัฐประหาร กลางวันแสกๆในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งหากเทียบกับมนุษย์ถือว่า 3 ขวบ อยู่ในขั้นเริ่มพูดรู้เรื่อง สื่อสารในสิ่งที่ต้องการได้ชัดเจนแทนการร้องกระจองอแง เริ่มหวงของและเลือกกิน แม้มีวิวัฒนาการควบคุมอึฉี่ในเวลากลางวันได้ แต่บางคืนก็อาจจะฉี่รดที่นอน
ภายใต้ 3 ปีแห่งรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนี้ ผู้หญิงก็ได้เป็นรัฐมนตรีเหมือนกัน (ไทยมีรัฐมนตรีหญิงครั้งแรกในรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร พ.ศ. (2519-2520) 2 นางคือ เลอศักดิ์ สมบัติศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ วิมลศิริ ชำนาญเวช รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ) ประกอบไปด้วย กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, อภิรดี ตันตราภรณ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, อรรชกา สีบุญเรือง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หลังจากเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มากกว่ารัฐบาลที่ตั้งขึ้นจากรัฐประหาร 2549 แต่จำนวนผู้หญิงเป็นรัฐมนตรีก็ไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงได้รับการยอมรับ มีความเท่าเทียมอะไร พอๆ กับที่รัฐบาลที่ผู้หญิงเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้เป็นดัชนี้ชีวัดอะไรว่าผู้หญิงทัดเทียมกับผู้ชาย เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นตัวแทนประชาชนไม่ใช่ตัวแทนเพศใดเพศหนึ่งโดยเฉพาะ
ฉะนั้นคำโจมตีคณะประยุทธ์ จันทร์โอชารัฐประหารรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรว่า เป็นการรังแกผู้หญิงก็ silly ไป ราวกับว่าผู้หญิงอยู่ในฐานะเหยื่อและผู้ถูกกระทำตลอดเวลา แต่เป็นการรังแกพลเรือนโดยทหารมากกว่า
และเมื่อผู้นำรัฐประหารก็ยังเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยเสียเอง กลายเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่ไม่เพียงใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดเรียกคนมาปรับทัศนคติ ยังกล่าวสั่งสอนไพร่ฟ้า ประหนึ่งหัวหน้าครอบครัว ประหนึ่งการปกครองแบบ ‘พ่อปกครองลูก’ แบบปิตาธิปไตย ที่ผู้ปกครองมาในลักษณะของพ่อผู้รู้ดี เป็น father figure คอยให้โอวาท สั่งสอน ชี้ผิดชี้ถูก จะฉลาดหรือไม่ถูกผิดอีกเรื่อง แต่ก็ต้องสยบยอมปฏิบัติรับฟังอย่างหวาดเกรงและว่าง่ายราวกับเป็นลูกหลาน แต่ที่เหนือกว่านั้นคือการเรียกลำลองว่า ‘ลุงตู่’ ที่ถือว่าได้รับการสถาปนาเป็นพี่ชายของพ่อคนไทยเสียอีก
คำกล่าวของนายกรัฐมนตรีจึงมีนัยยะสำคัญ สะท้อนให้เห็นตัวตนและอัตลักษณ์ที่ควรจะเป็น ซึ่งถัดมาไม่นานจากรัฐประหาร ในเดือนกันยายน 2557 ได้เกิดฆาตกรรม 2 นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษอย่างสยดสยองที่เกาะเต่า และในการประชุมชี้แจงนโยบายรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูงที่ทำเนียบรัฐบาล ประยุทธ์ก็ได้กล่าวว่า
“ต้องเห็นใจเขาว่าเขา (หมายถึงชาวต่างชาติ) เข้าใจว่าบ้านเมืองเราเนี่ยสวยงาม ปลอดภัย ทำยังไงก็ได้ แต่งบิกินีไปไหนก็ได้ ผมถามแต่งบิกินีประเทศไทยเนี่ยจะรอดไหม เว้นแต่ไม่สวยล่ะนะ สวยทุกคน ในนี้สวยทุกคน แต่งได้หมด นะ อันตรายต้องบอกเขา”
งงล่ะสิ ที่ประชุมก็ฮากับเขาด้วย มันน่าขันนักหรอกับมุกความรุนแรงความตายของคน ทั้งๆ ที่เต็มไปด้วยข้อกังขาในการสอบสวนว่าจะจับแพะ กลับยังพูดโยนความผิดไปยังที่เหยื่อเสียเองว่านุ่งน้อยห่มน้อยจนถูกข่มขืน ชอบธรรมแล้วสำหรับผู้ชายที่จะไปข่มขืนผู้หญิงแต่งตัวยั่วยิ้ม ซ้ำยังแถลงราวกับว่า การถูกข่มขืนเป็นเรื่องดี เป็นคำชื่นชมแด่คนสวย sexy สำหรับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
สำหรับหัวหน้าคสช.ก็ได้ให้ทัศนะพร้อมกับสอนสั่งประชาชน เช่นในข้อความบางตอนของมกราคมปี 2559 ประยุทธ์ ได้ให้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “อาชีวศึกษา ฝีมือชน คนสร้างชาติ” ว่า
“ทุกคนบอกว่าต้องสร้างความเป็นธรรมผู้หญิงผู้ชายมีสิทธิเท่ากัน ทำความดีความเลวทำได้เหมือนกัน ถ้าอย่างงี้สังคมไทยเสื่อมสลาย ถ้าคิดแบบนี้นะ ผู้หญิงเป็นเพศแม่ เป็นเพศผู้ให้กำเนิด กลับบ้านก็ใครอะ ใครมีภรรยา ภรรยาดูแลหรือเปล่ากลับบ้าน กลับบ้านภรรยาใหญ่สุดใช่ไหมเล่า นอกบ้านเราใหญ่ ในที่ทำงาน ในหมดล่ะอำนาจเยอะ กลับบ้านก็ต้องเงียบๆ เพราะเขาดูแลบ้านดูแลลูกดูแลทุกอย่างในบ้าน ผมไม่เคยทำอะไรในบ้านตั้งแต่แต่งงานมานี่ เขาทำให้หมด ผมถึงมีสมองคิดเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยไง ไม่ต้องไปกังวล ไม่ต้องไปรับลูกไม่ต้องอะไรต่างๆ เพราะผมอยู่ชายแดน มันต่างกันแค่นั้นเองนะครับ แต่สิ่งที่ผมทำไม่ดีกับเขามาทำให้เกิดประโยชน์กับคนคนอื่น ผมคิดแบบนี้นะ”
อาจจะเป็นทัศนคติและเพดานความคิดจากประสบการณ์ชีวิตส่วนบุคคล แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจที่ยังมีชุดคำอธิบายชายหญิงเช่นนี้ แถมยังจับคู่ระหว่างศีลธรรมชั่วดี กับสิทธิและการแบ่งงานแบ่งพื้นที่ทำงาน ปรากฎอยู่ในศตวรรษที่ 21 ที่โลกพัฒนาระบบคิดซับซ้อนมากขึ้น ผ่านสตรีนิยมมาแล้วหลายสำนักหลายกระแสคลื่น ขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้กับการกดทับทางเพศมาเป็นศตวรรษ
ถึงอย่างไรก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากองทัพที่เป็นอีกสถาบันหนึ่งที่มีการเหยียดเพศสูง สถาปนาเพศสภาพชายเหนือเพศสภาพอื่นมาช้านาน ระเบียบวินัยและวัฒนธรรมการเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัดได้ชะล้างความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างของปัจเจกบุคคลลงไป ทัศนคติเพียงเท่านี้ก็ถือว่า หนทางในการทำให้รัฐทหารตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศยังอีกยาวไกล
แต่ถึงกระนั้นสำหรับ LGBTQIs บางคนกลับยินดีปรีดากับการยึดอำนาจประชาชนฉีกรัฐธรรมนูญในครั้งนี้อย่างเป็นสถาบัน ระหว่างยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในมกราคม 2558 จู่ๆ ก็มี “คณะทำงานการสนับสนุน ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศ” แห่กันไปมอบกระเช้าดอกไม้ให้กำลังใจประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวขอบคุณแสดงความปิติยินดีเพียง เพราะว่าทีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้เติมคำว่า ‘เพศสภาพ’ ลงไป LGBT กลุ่มนี้เชื่ออย่างสนิทใจว่า การยัดคำว่า ‘เพศสภาพ’ ลงไปเพียงเท่านั้นแล้ว จะนำไปสู่รับรองสิทธิและความเป็นธรรมแก่เพศที่หลากหลาย จะเปิดโอกาสให้ LGBT ได้สิทธิเสมอภาคกับเพศอื่นๆ พวกเขาและเธอจึงยังเสนอตัวเป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พร้อมขอให้แถมคำว่า ‘เพศวิถี’ เพิ่มอีกคำลงในรัฐธรรมนูญ
แม้ว่าสุดท้ายก็เก้อ เปลืองค่ากระเช้า ไม่เพียงเพราะร่างฯไม่ผ่าน แต่ซ้ำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ได้จากการรัฐประหารในครั้งนี้ก็ไม่ได้แยแสกับความหลากหลายทางเพศ แม้แต่จะใส่แค่คำลงไป ‘เพศสภาพ’ ‘เพศวิถี’ ลงไป ในมาตรา 27 ยังคงระบุว่า “ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน”
การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน พรบ.คู่ชีวิตอะไรใดๆ จึงยังคงอีกห่างไกล แม้จะมีข่าวลือมาตั้งแต่รัฐประหาร ให้ LGBT ได้ดีใจเก้อกันอีกเรื่อง บวกกับความงุนงงบนสถานภาพที่สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์บุบสลายลงไปเรื่อยๆ กินแซนด์วิช ชูสามนิ้ว แม้กระทั่งยืนเฉยๆ ยังทำไม่ได้
มันก็เผยให้เห็นความอย่างไร้เดียงสา กล่อมง่ายของขบวนการเคลื่อนไหว LGBT บางกลุ่มในประเทศ ที่สนอกสนใจเฉพาะสิทธิทางเพศอย่างเดียว ไม่เชื่อมโยงสัมพันธ์การเรียกร้อง-ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานด้านอื่นๆ ราวกับว่าเป็นคนละเรื่องกัน แม้จะเชื่อว่าสิทธิความหลากหลายทางเพศเป็นสิทธิมนุษยชน แต่ก็ยอมรับการละเมิดสิทธิอื่นๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชนได้ ซึ่งก็เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นบ่อยมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร
และยิ่งรัฐบาลแสดงปฏิกิริยา จัดการกับกลุ่มผู้ต่อต้านระบอบเผด็จการทหารมากเท่าไรก็ยิ่งเผยตนเองว่าไร้ซึ่งความรู้ความเข้าใจความหลากหลาย ความเสมอภาพทางเพศ เพียงวันถัดมาของการรัฐประหาร ประชาชนจำนวนมาก็รวมตัวกันต่อต้านอย่างชัดเจนตาม landmark ต่างๆ แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมอย่างไรขอบเขตได้ตามอำเภอใจ จึงมีการลักพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่อต้านเผด็จการเป็นรายบุคคลไปกักขังโดยไม่มีการตั้งข้อหา อุ้มประชาชนอย่างโจ่งแจ้งแบบไม่เขินอาย เช่นไม่กี่วันให้หลังรัฐประหาร ในเดือนมิถุนายนที่ประชาชนยังคงจัดกิจกรรมประท้วงอย่างสม่ำเสมอ เจ้าหน้าที่รัฐมีการปลอมตัวเป็นแท็กซี่ ขับเข้าประชิด หญิงวัย 50 ปีที่มาร่วมกิจกรรม จากนั้นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 คนลงจากแท็กซี่แล้วผลักยัดเธอเข้าไปในรถที่มีนอกเครื่องแบบอีกคนฉุดกระชากลากเธอ คนแถวนั้นที่เห็นเหตุการณ์พยายามยื้อยุดดึงเธอมาก็ไม่สำเร็จ เธอถูกนำตัวไปคุมขังที่กองบังคับการปราบปรามถึง 2 คืน ก่อนถูกปล่อยตัวเฉย[1] เหตุการณ์รุนแรง อุ้มประชาชนที่แยกอโศก หน้าห้างสรรพสินค้ากลางวันแสกๆ ต่อหน้าประชาชีขนาดนี้ ผบ.ตร. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง กลับให้ข่าวว่า อาจจะเป็นเพียงสามีไม่อยากให้ภรรยามาชมนุมจึงพากลับบ้าน[2]
เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องผู้ชายรังแกผู้หญิง เพราะไม่ควรมีใครรังแกใครไม่ว่าจะเพศอะไร ปัญหาสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติให้ความรุนแรงเป็นเรื่องปรกติธรรมดาหากเป็นเรื่องผัวๆ เมียๆ พร้อมกับปัดความรับผิดชอบต่อการลักพาตัวละเมิดสิทธิมนุษยชน โยนความผิดปัญหาไปยังป้าคนนั้นเองว่ามาประท้วงเป็นที่ไม่พอใจของผู้เป็นสามี โดยไม่หวั่นเกรงว่าจะลดทอนความสง่างามความน่าไว้เนื้อเชื่อใจของบทบาทผู้พิทักษ์สันติราษฎร์
และในเมษายน 2559 การจับกุมกลุ่มผู้เข้าร่วมกิจกรรม ‘ยืนเฉยๆ’ เรียกร้องให้ปล่อยตัวประชาชน 10 คนที่ถูก คสช.ควบคุมตัว ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก็ได้จับกุมนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมคนนึง ซึ่งเธอเป็น transgender ในช่วงชุลมุน ตำรวจหญิงกำลังรุดเข้าจับกุมเธอยัดใส่รถไปสน. ก็มีตำรวจชายตะโกนซะดังลั่นจากข้างหลังเธอว่า “มันเป็นผู้ชายไม่ใช่ผู้หญิง ไม่ต้องให้ตำรวจหญิงมาจับ” ก่อนจะพูดขยี้ซ้ำอีกว่าเป็นผู้ชายไม่ใช่ผู้หญิง[3]
ท่ามกลางความนิ่งงันเงียบเฉยของคณะทำงานการสนับสนุน ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศ
ซ้ำร้ายการจัดงานเวทีเสวนาวิชาการเพื่อเพิ่มพูนสติปัญญา ก็กลายเป็นอีกสิ่งที่คณะรัฐบาลทหารหวั่นกลัว แม้แต่เสวนาว่าด้วยความหลากหลายทางเพศ ในกรกฎาคม พ.ศ. 2558 ไม่เพียงมีความพยายามระงับการจัดงาน Gender&LGBTIQs in Modern Society ที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยผู้หวังดีกับระบอบเผด็จการ ก็ได้มีทหารทั้งในและนอกเครื่องแบบรุดเข้าตรวจสอบงานเสวนา กำชับผู้จัดงานและวิทยากรห้ามพูดประเด็นทางการเมือง
ตลอดระยะเวลา 3 ปี แม้จะเห็นได้ว่าไม่มีการโจมตีระหว่างนักการเมืองหรือกระบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน ดิสเครดิตด่าทอกันด้วยเรื่องเพศ กะเทย เกย์ กะหรี่ ไม่ใช่เพราะคุณูปการของคสช. เพียงแต่เพราะอำนาจทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองถูกยึดและควบคุมกำกับโดยทหาร พัฒนาการของสถานภาพทางเพศต่างๆ ภายใต้การปกครองของคสช.เองก็ไม่ได้ปรากฏเด่นชัดมากนัก เป็นเพียงอนุทินบันทึกไว้ว่าได้เกิดเหตุการณ์อะไรบ้างที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถ conceptualize ได้เหมือนงานเขียนว่าด้วยเพศสภาพเพศวิถีในยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม, ไวมาร์, หรือ นาซี
เนื่องจาก ไม่ว่าจะสนับสนุนรัฐบาลนี้หรือไม่ก็ตาม ประชาชนเองก็ไม่ได้ให้คุณค่าราคาใดๆ กับคำพูดนายกรัฐมนตรีพอที่จะนำมาปฏิบัติ เลิกนุ่งบิกินีเพื่อความปลอดภัย ปล่อยให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ภายในบ้านจัดการภาระงานทุกอย่างในครังเรือน เพื่อให้ผู้ชายออกไปทำงานนอกบ้าน และงานเขียนเกี่ยวกับสถานภาพทางเพศทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นงานที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์ของช่วงเวลาการปกครองนั้นสิ้นสุดลงแล้ว และกินระยะเวลาแต่ละช่วงยาวนาน (สาธารณรัฐไวมาร์ กินช่วงเวลา 14 ปี, นาซีเยอรมนีมีอายุ 12 ปี, รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามสิริรวมทั้งสิ้น 2 สมัยเกือบ 15 ปี) นานพอที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน ผลิตวัฒนธรรมเฉพาะตัว หรือวางรากฐานวัฒนธรรมใหม่
…แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหวังให้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาอยู่นานนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[3] www.facebook.com/yanut.yanat