ดูเหมือนว่านับวันๆ กระแสสังคม ภายใต้ ‘ไทยนิยม’ จะไม่ได้อยากเดินหน้าไปหาอนาคตและโลกสากลเท่าไรนัก หากแต่กลับจะกลับหันหลังไปโหยหาอดีต หรือสิ่งที่เชื่อว่ามันเคยเกิดขึ้นจริงในอดีต และคิดว่ามันช่างเหมาะกับสมัยปัจจุบันเสียเหลือเกิน
และ ‘ชุดไทยย้อนยุค’ ก็เป็นตัวอย่างรูปธรรมของกระแสไทยนิยมนี้ ที่กลายเป็นว่าช่างตัดผม ช่างเสริมสวย ผู้ประกาศข่าว รายงานพยากรณ์อากาศ นักท่องเที่ยว นักวิ่งมาราธอนก็แต่งก็นุ่งโจงห่มสไบ แม้แต่พ่อครัวแม่ครัว คนเสิร์ฟอาหาร ก็ห่มผ้าแถบห่มสไบ ที่ไม่รู้ว่าเหงื่อไคล ผมหรือขนอะไรจะตกลงไปในจานข้าวบ้าง ลามไปถึงผู้สื่อข่าวอาชญากรรม และตำรวจถึงขั้นแต่งเหมือนราชปะแตนถือไม้ตะพดแถลงข่าวจับคนร้ายแทนเครื่องแบบ
โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ ทีมแพทย์และพยาบาลสลัดยูนิฟอร์มหันมาแต่งกายด้วยชุดไทยออกไปตรวจผู้ป่วย เชื่อว่าช่วยสร้างสีสัน ผู้ป่วยเห็นแล้วมีความสุข ไม่เป็นอุปสรรคแม้ขณะปฏิบัติงานในห้องฉุกเฉินก็ตาม บางโรงพยาบาลจับทารกแรกเกิดใส่คอกระเช้า เสื้อลายดอก โจงกระเบน
ไม่ว่าชุดไทยย้อนยุคจะเป็นการจำลองตัวละครในทีวีตามกระแสละครย้อนยุค เพราะเทศกาลสงกรานต์ หรือปฏิบัติตามนายกรัฐมนตรีเผด็จการที่ฉวยโอกาสนี้เอ่ยปากอยากให้ให้คนไทยใส่ชุดไทย เพื่อให้ดูราวกับว่าประชาชนเชื่อฟังแกบ้าง
แต่เนื่องจากเสื้อผ้าอาภรณ์ประเภท ‘ชุดไทยย้อนยุค’ ไม่สามารถเข้ากันได้กับวิถีชีวิตและการผลิต เราพกกระเป๋าสตางค์กันแล้ว ไม่ใส่เงินในชายพกอีกต่อไป และไม่มีใครหรอกที่จะอุตริมานุ่งซิ่นไหมจีบหน้านาง ห่มสไบ เอาชายสไบผูกเป็นโบว์ทิ้งสะโพก หรือประดับประดาไปด้วยทับทรวง พาหุรัด สะอิ้ง สร้อยสังวาลย์ ตุ้มหูเพชร แหวนเพชร ระยิบระยับเป็นลูกบอลดิสโก้ ซ้อนวินมอ’ไซค์ โบกรถเมล์แล้วรีบวิ่งตามกลัวจะไม่ได้ขึ้น ยักแย่ยักยันลงรถเมล์เวลามันเสือกจอดเลนขวา หรือยืนโหนเบียดเสียดผู้คนในเรือด่วน
เพราะชุดไทยย้อนยุคมันดันไปมีความหมายเท่ากับสาวชาววัง มีพื้นที่จำกัดเป็นตำหนักเป็นบ้านส่วนบุคคลที่มีบ่าวไพร่รับใช้รองมือรองตีนอยู่แล้ว มีเวลาว่างมากทำงานฝีมือเบาๆ ไม่ต้องใช้แรงงาน
การแต่งไทยย้อนยุคจึงเป็นความปรารถนาของไพร่ที่จะย้อนไปเป็นใช้ชีวิตในจินตนาการเป็นกลุ่มคนประเภทหญิงชั้นสูงอยู่แต่ในวังที่ไม่ต้องรีบร้อนออกไปทำงานยามเช้า แบกข้าวของพะรุงพะรัง ไม่ก็หนังผีๆสางๆ ประเภทวิญญาณรักผีทวงแค้น ถ้าไม่คิดว่าตัวเองเป็นแม่พลอย หรือ เสด็จฯ ในสี่แผ่นดิน ก็คงเป็นนางตะเคียน ตานี ผีแม่นาคพระโขนงหรือนางเอกเกาะเพชรเจ็ดสี จักร์วงศ์ๆ ไปเลย
เพราะมันเป็นเพียงคอสเพลย์ที่ไม่ได้สวมใส่ได้จริงตามปรกติวิสัย จึงต้องประดิษฐ์เทศกาลงานรื่นเริงมารองรับเพราะไม่สามารถสวมใส่ได้จริงในโลกปรกติ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ใช้เฉพาะอีเวนต์สวยๆ งานพิธีกรรมที่ผู้แต่งชุดไทยไม่ต้องใช้แรงงานมาก เป็นศูนย์กลางให้จับจ้องชื่นชมเช่นเจ้าบ่าวเจ้าสาวงานมงคลสมรส งานหมั้น
เพราะแม้แต่ ‘ชุดไทย’ ที่ถูกกำหนดให้เป็น ‘ชุดประจำชาติ’ ก็ไม่ใช่ชุดที่ใส่ประจำวัน แต่เป็นชุดใส่ออกงาน ที่เพิ่งสร้างใน พ.ศ. 2502
ปิแอร์ บัลเเมง (Pierre Balmain) ผู้มีประสบการณ์ตัดชุดให้เจ้าหญิงของฝรั่งเศส สมเด็จพระราชินีแห่งอิตาลี และดัชเชสแห่งวินด์เซอร์ ในขณะที่เขากำลังมาพักที่ไทยพอดี ระหว่างเดินทางกลับบ้านจากการไปพักผ่อนที่ออสเตรเลีย ก็ได้ออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายสำหรับผู้หญิงที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชาติ[1]ส่วนผ้าไหมไทยในการประดิษฐ์ชุดประจำชาตินี้ก็มาจากร้านจิม ทอมป์สัน ของเจมส์ แฮริสัน ทอมป์สัน เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการ CIA (The Central Intelligence Agency) ที่เข้ามาอาศัยและลงทุนทำธุรกิจผ้าไหมในไทย[2]นำไปสู่การเกิด ‘ชุดแต่งกายประจำชาติ’ ซึ่งมีอีกชื่อว่า ‘ชุดไทยพระราชนิยม’ 8 ชุด ตั้งชื่อตามพระที่นั่งในราชสำนัก สำหรับใส่ในโอกาสพิเศษ ออกงานพิธี งานสังคมสโมสรสันนิบาติหรืองานเลี้ยงอาหารค่ำ
เพื่อให้โลกได้เห็นอัตลักษณ์ของชาติในช่วงสงครามเย็น ในฐานะประเทศในค่ายโลกเสรีจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เอาเข้าจริงๆ แล้ว หญิงชาววังย้อนยุคไปถึงช่วงสยามตกเป็นประเทศกึ่งอาณานิคม ก็ตื่นตัวกับกระแสวัฒนธรรมตะวันตกในฐานะความทันสมัยอยู่แล้ว พวกเธอเริ่มรู้จักสวมเสื้อต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองชาวตะวันตก ได้รับการขัดเกลาสร้างความศิวิไลซ์โดยมิชชันนารีที่เข้ามาสยาม[3]ทำความรู้จักการเย็บปักถักร้อยสมัยใหม่ เรื่องใช้เครื่องจักรเย็บผ้า ซึ่งจักรซึ่งถือเป็นสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมชั้นสูงในทศวรรษ 2440 เพราะมีราคาแพงสำหรับหญิงชนชั้นนำและชนชั้นกลางที่ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนมิชชันนารีการเย็บและสวมเสื้อผ้าแบบตะวันตกในสมัยนั้นจึงเป็นนิยมชมชอบกันของหญิงชาววัง หลายๆ นางก็หันมาออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าแบบตะวันตกด้วยเครื่องจักร[4]
ตามที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพบันทึกไว้ หลังปี 2414 สาวชาววังก็เริ่มสวมเสื้อแทนนุ่งห่มผ้าสไบแบบเดิมจากนุ่งจีบห่มแพรสะไบเฉียงกับตัวเปล่าก็หันมาเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวผู้หญิงเป็นแบบใหม่ เช่นใส่เสื้อแขนยาวชายเสื้อเพียงบั้นเอว แล้วห่มแพรสะไบเฉียงบ่า สวมเกือกบู๊ตกับถุงเท้าหุ้มตลอดน่องด้วย[5]นำไปสู่การจ้างช่างออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าแบบตะวันตกหรือให้ห้างแรมเซย์ของชาวอังกฤษตัดชุดเครื่องแต่งกายสมัยใหม่ไว้ออกงานสำคัญ[6]
จากนั้นพวกนางก็หันมาใส่เสื้อแขนหมูแฮม เสื้อลายลูกไม้ ใส่เดรสแซก นุ่งซิ่นให้สั้นขึ้นเพื่อความสะดวกสบายทะมัดทะแม่งตามจริตสากล
ขณะที่ชุดไทยไพร่นิยมนั้นพยายามหันหลังให้สากลโลก ด้วยการสวมชุดไทยในการผลิตและตลาดสมัยใหม่ มีสำเร็จรูปพร้อมสวมใส่ทันที ทั้งสไบอัดกลีบ จีบหน้านาง โจงกระเบน ซิ่นผ้าถุงยาว มีให้เช่าและซื้อตามท้องตลาดสำหรับปรากฏตัวออกงานสังคม ซึ่งไม่ได้เป็นการอนุรักษ์ประเพณีไทยอะไรหรอก หากแต่เป็นการจำลองตัวตนเป็นสาวชาววังหญิงชั้นสูง
เรื่องแต่งชุดไทยมันก็เป็นเรื่องของเนื้อตัวร่างกายที่ใครใคร่ใส่ ใส่ ไม่ใคร่ใส่ก็ไม่ต้องใส่ จะไปบอกให้ใครใส่หรือห้ามไม่ให้ใส่ไม่ได้หรอก แต่เอาเป็นว่าขณะที่นุ่งจีบนุ่งโจง พาดสไบอัดกลีบหรือผูกเป็นโบว์นั้นก็เป็นการเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในชุดโครงสร้างสังคมและการจัดระเบียบทางชนชั้นชุดหนึ่งที่พ่วงมากับการควบคุมกำกับเพศสภาวะ
เพราะเสื้อผ้ามันก็มีรหัสของมัน ผู้หญิงที่สวมชุดไทยไม่สามารถแสดงกิริยาเดินเหินอย่างที่เคยนุ่งสั้น ใส่กางเกง สวมเสื้อได้ ความรุงรังของเสื้อผ้าอาภรณ์แบบสาวชาววังที่ถมร่างตามจินตนาการได้กำกับอากัปกิริยาไปด้วย
ไหนๆ ก็อยากอ่านหนังสือจินดามณีกันแล้ว ก็ลองมาอ่านตำราคู่มือสอนหญิง เรื่องกิริยามารยาทแบบคนห่มสไบนุ่งซิ่นกัน ใน ‘กฤษณาสอนน้องคำฉันท์’ โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ที่แต่งถวายรัชกาลที่ 3 เพื่อจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ว่าสาวชาววังจะยืนจะนั่งกรีดกราย วางมือไม้ก็ต้องสำรวมร่าง
“เดินนั่งจงยั้งองค์ ดำรงกายระไวระวัง
ซวดซวนก็ชวนชัง ชนผองจะซร้องสรวล
อย่าด่วนครรไลแล่น กรกรีดแหวนบรางควร
ทอดตาลิลาจวน สดุดบาทจักพลาดพลำ
อย่าเดินทัดมาลา เสยเกศาบควรทำ
จีบพกพลางขานคำ สะกิดเพื่อนสำรวลพลาง
ยุรยาตรโยกย้าย กรกรีดกรายสไบบาง
ยอหัตถ์สำผัสปราง จักเสื่อมสวัสดิสัตรี”[7]
เช่นเดียวกับคำฉันท์สอนหญิง ที่พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2443 ลงหนังสือวชิรญาณ ซึ่งหนังสือวชิรญาณนั้นก็เป็นเครื่องมือสร้างความรู้สึกร่วมทางชนชั้นและความพึงพอใจกับภายในสมาชิก ‘หอพระสมุดวชิราญาณ’ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ 2427 สำหรับจัดเก็บและให้บริการอ่านหนังสือไปพร้อมกับเป็นสมาคมสโมสรพักผ่อนหย่อนใจเฉพาะโอรสธิดารัชกาลที่ 4 ระดับใกล้ชิดเท่านั้น นิตยสาร ‘วชิรญาณ’ ถูกตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ภายในสมาชิกที่เป็นชนชั้นสูง เขียนบทความวิชาการสารคดี เพื่อแสดงความรู้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้วยการเคร่งครัดกับฉันทลักษณ์ สำนวนภาษา ความไพเราะสละสลวย เนื้อหาสาระและคติให้กลายเป็นมาตรฐานทางความรู้ เพื่อแบ่งความรู้และความแตกต่างระหว่างชาติกำเนิดชนชั้นสูงกับชนชั้นสามัญชนราษฎร และสร้างความภูมิใจกันเองภายในกลุ่ม[8]
และคำฉันท์สอนหญิงในหนังสือวชิรญาณ พรรณนาคำอบรมสั่งสอนผู้หญิงไว้ว่า
๏ ยามเดินอย่าเดินเหย่า ระเหยาะย่างเหมือนอย่างกา
อย่าเดินเอาศิรา ชะโงกเงื้อมไปก่อนกาย
๏ ลุกนั่งระวังตน อย่าลุกลนทะลึ่งไป
ภูษาแลผ้าสไบ จงปกปิดให้มิดกาย
๏ ให้เดินผจงบาท ด้วยลีลาศชำเลืองชาย
แอ่นอกให้ผึ่งผาย เหมือนดังเป็ดวิเศษดี
๏ เดินเหมือนคชาทรง มงคลราชหัสดี
จะเป็นเฉลิมศรี ศุภสุนทรานาน[9]
นี่แหละจริตกิริยาสาวชาววังที่นุ่งจีบห่มสไบที่ต้องระมัดระวังผ้านุ่งผ้าห่ม ค่อยๆ ก้าวเดิน ชุดไทยจึงเป็นชุดที่มาพร้อมกับควบคุมอากัปกิริยาผู้หญิง ด้วยเหตุนี้พอมีสาวๆ แต่งชุดไทย เต้นสก๊อยสายย่อ ยั่วบดเด้าลม ในงานแต่งแห่ขันหมากหรือสาดน้ำสงกรานต์ มันจึงมีคนที่ออกมาดิ้นกว่าร้องด่าจะเป็นจะตายว่า ไม่คู่ควรแก่ ‘ชุดไทย’ ที่ใส่แล้วต้องท่วงท่าสง่างาม ทำให้ชุดไทยวัฒนธรรมไทยเสื่อมเสีย ไร้จิตสำนึก แล้วไล่ให้ไปใส่เสื้อยืดกางเกงยืนส์
กลายเป็นว่า ‘ชุดไทยย้อนยุค’ ไม่เพียงถูกคาดหวังให้มีผู้ใส่แล้ว ยังคาดหวังให้ผู้ใส่แบกรับอัตลักษณ์ของไทย เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมไทย ซึ่งสัมพันธ์กับชนชั้นและเพศสภาวะ โดยเฉพาะการควบคุมกำกับเนื้อตัวร่างกายและอากัปกิริยาผู้หญิง มิพักต้องพูดถึงบทคำสั่งสอนหญิงต่างๆ ที่ให้คุณค่าแค่เมียและแม่บำเรอรับใช้ผัวภายในบ้านที่โคตรจะชายเป็นใหญ่
‘ชุดไทย’ เหล่านั้นจึงกลายเป็นยูนิฟอร์ม ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกใจอะไรที่จะเห็นพยาบาลหมอ ตำรวจ วันดีคืนดีนุ่งโจงกะเบน ห่มสไบ สวมผ้าซิ่นแทนชุดทำงานที่มีอยู่แล้วได้ และรัฐบาลประชาธิปไตยไทยนิยมก็อยากให้ข้าราชการแต่งชุดไทยย้อนยุคมาทำงาน เข้ามาประชุมในหน่วยงาน มิหนำซ้ำยังร่อนจดหมายให้สถานศึกษาแต่งกายด้วยผ้าไทยหรือผ้าพื้นเมืองเป็นประจำทุกวันศุกร์อย่างน้อ ย1 วัน ต่อสัปดาห์ โดยพร้อมเพรียงกัน
ไทยนิยมมั้ยละ…
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] Leventon, Melissa. (2016). Fit for a Queen: Her Majesty Queen Sirikit’s Creations by Balmain 1960 – 1962. Bangkok : River Books.
[2] ศุภกาญจน์ พงศ์ยี่หล้า. (2558, มกราคม – เมษายน). การเมืองและไหมไทยสมัยอาณานิคมถึงยุคสงคราม.วิทยาสารเกษตรศาสตร์ (สาขาสังคมศาสตร์), 36(1), น. 183-195.
[3] สุวดี ธนประสิทธิ์พัฒนา. (2542). การแต่งกายสตรีกับหัตถกรรมทอผ้าในสังคมไทยสมัยรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : เงินลงทุนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เฉลิมฉลองสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, น. 57.
[4] สุวดี ธนประสิทธิ์พัฒนา,เรื่องเดียวกัน,น. 76.
[5] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2525). พระสนมเอก. กรุงเทพฯ :รวมสาส์น, น. 50.
[6] อุทุมพร สุนทรเวช. (2509).พระราชประวัติชีวิตส่วนพระองค์สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง. พระนคร, แพร่พิทยา.
[7] กรมศิลปากร. (2555). ประชุมสุภาษิตสอนหญิง. กรุงเทพ : กรมศิลปากร.
[8] ธนพงศ์ จิตต์สง่า. (2552). วชิรญาณ กับการแสวงหาความรู้ของชนชั้นนำของสยาม พ.ศ. 2427-2448. วิทยานิพนธ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, น. 3-5, 92, 104-105, 116.
[9] กรมศิลปากร. (2555). ประชุมสุภาษิตสอนหญิง. กรุงเทพ : กรมศิลปากร.