เลือกตั้งครั้งต่อไปเมื่อไหร่กันนะ?
อันนี้ผมก็ตอบไม่ได้ คุกกี้เสี่ยงทายก็ทายไม่ถูกครับ
แต่ด้วยกระแสการเลือกตั้งที่แผ่ซ่านอยู่ในความรู้สึกใครต่อใครในช่วงนี้ วนมาชนกับวันสตรีสากลที่ปรากฏอยู่บนปฏิทินวันนี้พอดี (8 มีนาคม) ผมจึงฉุกคิดได้ว่าควรบอกเล่าเกี่ยวกับผู้หญิงที่หาญกล้าลงสมัครแข่งขันในการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรครั้งแรกสุดของไทยเสียหน่อย ลองย้อนเวลาไปดูกันครับ
ถึงจะเสี่ยงทาย เอ้ย ทำนายการเลือกตั้ง ‘ครั้งต่อไป’ ไม่ถูก แต่ผมจะเล่าให้ฟังถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ‘ครั้งแรก’ ในประเทศไทย เรื่องมันเริ่มที่เหตุการณ์ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ขณะประเทศอบอวลด้วยกลิ่นอายประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับแรกเผยโฉมให้คนไทยทำความรู้จัก รัฐบาลคณะราษฎรส่งเสียงปาวๆ ยินดีมอบสิทธิเสรีภาพให้ประชาชนทั้งหลายชายหญิงมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเท่าเทียม พระราชบัญญัติการเลือกตั้งได้ถูกประกาศใช้ นำไปสู่จุดเริ่มต้นเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กำหนดวันเข้าคูหาลงคะแนนพร้อมกันทุกจังหวัดตรงกับวันพุธที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476
การเลือกตั้งครั้งแรกอาศัยวิธีแบบทางอ้อม คือรัฐบาลได้รับสมัครผู้แทนตำบล ประชาชนต้องเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนตำบลที่ได้รับเลือกจะไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระดับจังหวัดอีกหน ยึดหลักเกณฑ์จำนวนราษฎร 200,000 คนต่อผู้แทนราษฎรหนึ่งคน
ผู้แทนตำบลดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี พอทำหน้าที่ลงคะแนนเลือกผู้แทนราษฎรเข้าสภาเสร็จสิ้น ก็ยังครองสถานะหัวหน้าชาวบ้านประจำตำบล คอยเป็นปากเสียงเรียกร้องสิทธิเสรีภาพแก่มวลชนในภูมิลำเนาของตน แต่ผู้ปรารถนาสมัครผู้แทนตำบลควรตัดสินใจดีๆ ด้วยนะ เพราะเลือกได้แค่เฉพาะตำบลเดียว
ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2475 จนถึงปี พ.ศ. 2476 กระแสความตื่นตัวต่อข่าวคราวจะจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรั่งพรู ยืนยันได้จากสิ่งที่เห็นตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เช่นหนังสือพิมพ์ดวงประทีป ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 ประจำวันอาทิตย์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ลงโฆษณาขายหนังสือประวัติศาสตร์สากล ผลงานของหลวงวิจิตรวาทการ พร้อมเอ่ยอ้างพาดพิงกรณีเลือกตั้งไว้ด้วย โปรยถ้อยคำว่า “เพื่อรัฐบาลใหม่ โอกาศของท่านที่เตรียมตัวรับเลือกเปนผู้แทนราษฎร” และเสริมความเชิงเหตุผลต่อ “ถ้าท่านเปนผู้แทนราษฎรในสภา ท่านจะต้องรู้ประวัติศาสตร์อย่างดีเพื่อความสะดวกและเปนโอกาศของท่าน…”
แหม ขายหนังสือเท่ดีเหมือนกันแฮะ เรียกว่าถ้าใครอยากจะเป็น ส.ส. ไทยรุ่นแรก ก็ลองอ่านหนังสือประวัติศาสตร์สากลเพื่อเตรียมตัวนะฮะ เกือบลืมบอกไป ผู้เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ดวงประทีปมิใช่ใครอื่น หลวงวิจิตรวาทการนั่นเอง
ดังเกริ่นแล้วแต่ต้น ผมจงใจเน้นย้ำนำเสนอเรื่องผู้หญิงที่ลงสมัครในการเลือกตั้งครั้งปฐมของประเทศ มิทันจะไปเอ่ยถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพียงแค่เจ้าหล่อนซึ่งพากันเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลก็พบเจอหลายคนเลย สืบเนื่องมาจากปลายทศวรรษ 2470 พวกเธอถูกยกสถานะจนเริ่มมีบทบาททางสังคมเทียบเทียมเพศชาย กระทั่งมีสิทธิ์เลือกตั้งและสามารถลงสมัครแข่งขันเพื่อให้คนอื่นเลือกเธอได้ด้วย
ประชาชาติ หนังสือพิมพ์ฉบับสำคัญแห่งยุครายงานข่าวสุภาพสตรีลงสมัครและได้รับเลือกเป็นผู้แทนตำบลนับแต่เดือนสิงหาคมถึงตุลาคม พ.ศ. 2476 อย่างเกรียวกราว ชื่อนามผู้หญิงต่อไปนี้ติดหราบนหน้ากระดาษ ในจังหวัดพระนคร ‘นางสาวสุวรรณ ปทัมราช แห่งตำบลสะพานผ่านฟ้า‘ เป็นคนแรกสุดที่ตัดสินใจแสดงความจำนงเข้าแข่งขันชิงตำแหน่ง แต่เธอมิได้รับเลือกเพราะพ่ายแพ้ให้แก่นายเชื้อ หล่อวิจิตร แต่ก็ต้องปรบมือชื่นชมต่อความแน่วแน่ของแม่สาวสุวรรณแหละครับ
จริงอยู่ นางสาวสุวรรณ (ฟังดูเหมือนชื่อภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก) อาจผิดหวัง ทว่า ‘นางสุทธิสารวินิจฉัย หรือแม่ผ่องศรี แห่งตำบลทับยาว’ (ปัจจุบันติดเขตลาดกระบัง) กลับได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านให้เป็นผู้แทนตำบลหญิงของจังหวัดพระนครในวันที่ 10 ตุลาคม ด้วยคะแนนเสียงสูงลิ่วถึง 275 เสียง ส่วนผู้สมัครชายอีก 2 คนเก็บคะแนนกันไปดังนี้ นายจันทร์ แรงหิรัญ 147 เสียงและนายกรุด สกุณี 19 เสียง
แม่ผ่องศรีคนนี้ใช่จะธรรมด๊า ธรรมดาที่ไหนเล่า บุตรีขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) นักกฎหมายชาวสยามคนแรกที่สำเร็จเนติบัณฑิตจากอังกฤษ มิหนำซ้ำยังเป็นภริยาคุณพระสุทธิสารวินิจฉัย (มะลิ บุนนาค) อดีตผู้พิพากษาแห่งกระทรวงยุติธรรม แม่ผ่องศรีตั้งใจว่าตอนที่เธอต้องลงคะแนนเลือกผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร นายเฉวียง เศวตะทัตคือคนในดวงใจ ป้องปากแอบกระซิบ แต่นายเฉวียงกลับสอบตกไม่ได้เป็นผู้แทนกับเขา
ธนบุรีในทศวรรษ 2470 หาได้อยู่ในเขตจังหวัดกรุงเทพฯ ไม่ หากคืออีกจังหวัดหนึ่ง ผู้หญิงฝั่งธนน่ะรึจะยอมน้อยหน้าสตรีฝั่งพระนคร ที่ตำบลบุคคโล นางราชมัชชากร (เทียม บุญกูล) ซึ่งเธอคงไม่แคล้วภรรยาท่านขุนราชมัชชากร (จู บุญกุล) เข้าสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนตำบลเช่นกัน แต่ไม่เจอหลักฐานระบุว่าเธอได้รับเลือกด้วยหรือเปล่า ‘นางสาวอนงค์ บุนนาค แห่งตำบลวังน้อย‘ เป็นสตรีอีกคนที่มิอาจละเลยเอ่ยถึง เธอไม่เพียงสมัครผู้แทนตำบลเท่านั้น โปรดติดตามเสียงเล่าของผมต่อไปเถิดว่าแม่สาวคนนี้สวมบทบาทโดดเด่นเช่นไร
ออกไปทางหัวเมืองบ้าง ณ ตำบลมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร นางสาวหลง มณีโชติ วัย 23 ปี บุตรีท่านขุนประชุมชนารักษ์ ทนายความเลื่องชื่อใช่จะนิ่งเฉย เธอสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลและคว้าชัยชนะในที่สุด
แน่ล่ะ พอได้ผู้แทนตำบลเสร็จสรรพ ก็ย่อมมาสู่ขั้นตอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำจังหวัด ผู้หญิงสมัครเป็นผู้แทนตำบลในปี พ.ศ. 2476 ถือว่าก้าวหน้าแล้ว แต่สุภาพสตรีบางคนอาจรู้สึกไม่พอใจที่จะก้าวหน้าเพียงแค่ตำบล เธอจึงกระโดดไปสมัครแข่งขันเวทีเลือกตั้ง ส.ส. เสียเลย
ตามบัญชีรายนามผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจากจังหวัดต่างๆที่ส่งมายังกระทรวงมหาดไทยภายในไม่เกินวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ชื่อสตรีสองคนที่จำหลักอยู่กับความจดจำของผม ได้แก่ นางสาวอนงค์ บุนนาค ผู้สมัครจากจังหวัดธนบุรี และนางสาวมยูร กาญจนสุวรรณ ผู้สมัครจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี
เริ่มด้วยการที่ผมจะแจวเรือข้ามฟากย้อนเวลาพาคุณผู้อ่านไปเยี่ยมยลฝั่งธนบุรี แจวมาแจวจ้ำจึก แจวมาแจวจ้ำจึก (โอ๊ย ตอนนี้ ผมเองกำลังเต้นตามสาวๆ เชียร์ลีดเดอร์เพลินๆ) นั่นไง แลเห็นบุคคลที่เข้ามาสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. รุ่นแรกสุดของประเทศประจำจังหวัดนี้แล้วสิฮะ
ผู้ลงชื่อลำดับที่หนึ่งเลยคือ นายเพ่ง บุนนาค เคยเป็นจมื่นศรีสรรักษ์ มารดาของเขาเขียนหนังสือชื่อ ‘แม่ครัวหัวป่าก์’, ตามด้วยหลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เสถบุตร) ซึ่งต่อมากลายเป็นนักโทษการเมืองผู้จัดทำพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยอันลือเลื่อง, ลำดับที่สาม นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ดูยังหนุ่มแน่น
นั่นหลวงพินิจวิเทศภัณฑ์ ถ้าอยากรู้ประวัติเขาลองแวะเที่ยววัดกระจับพินิจ แถวบุคคโล, ขุนชำนาญฐะเบียนรัฐน่าจะเป็นคนเดียวกันกับชวน รัศมิทัต, พลตรีพระยาสุรราชฤทธานนท์ (พิน พินทุโยธิน) อดีตผู้บังคับการกรมทหารรักษาวังสมัยรัชกาลที่ 6, พระยาสุนทรลิขิต (ทองสุก โปตระนันทน์) อดีตข้าราชการกระทรวงธรรมการ, นาวาตรีพระรามสิทธิ์ (ฟื้น เสริบุตร) อดีตข้าราชการกรมพระธรรมนูญทหารเรือ
จนถึงผู้สมัครลำดับที่เก้าคือนางสาวอนงค์ บุนนาค ถัดต่อจากนี้ก็ล้วนๆ บุรุษ พระยาอร่ามมณเฑียร (เอื้อม บุนนาค) จ่าเผ่นผยองยิ่ง คนเรียกขานติดปากว่าจ่าโคม ใครชอบฟังเพลงไทยเดิม ‘ลาวคำหอม’ และชอบขันขานเหลือเกิน “ยามเมื่อลมพัดหวน…” ก็คนนี้แหละผู้แต่งเนื้อร้อง, นายประวัติ ไชยวณิชย์, นายแจ่ม ฐาปนะสุต, พระมัญชุวาที (โชติ ชูโต) อดีตอธิบดีกรมการเมือง กระทรวงการต่างประเทศ, และนายกัน วัฒน์พานิช ตอนหลังได้ขอถอนตัว เนื่องจากคุณสมบัติไม่เพียงพอ
รวมๆ แล้ว มีผู้ปรารถนาเข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรีทั้งสิ้น 15 คน พิจารณาชื่อนามและภูมิหลัง โอ้โห ผู้ชายหลายคนเคยมีบทบาทระดับชาติกันมาก่อนทั้งนั้น สตรีเพียงคนเดียวอย่างนางสาวอนงค์นี่สุดยอดจริงๆ ที่เชื่อมั่นในศักยภาพความเป็นหญิงของเธอว่าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเพศตรงข้าม
ใช่เพียงลงสมัครผู้แทนราษฎร แม่สาวอนงค์ยังอดรนทนไม่ไหวต่อปัญหาทุจริตในระหว่างการเลือกตั้ง เธอทำหนังสือเสนอความคิดเห็นส่งถึงรัฐบาลเลยทีเดียว พร้อมแนะนำหนทางป้องกันมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเขตจังหวัดธนบุรีใช้พลานุภาพแห่งเงินจูงใจผู้แทนตำบล มัวช้าอยู่ไยล่ะ ลองฟังน้ำเสียงเธอสักหน่อย
“ข้าพเจ้าขอท่านได้โปรดสั่งเจ้าหน้าที่ในทางราชการว่า เมื่อผู้แทนตำบลคนใดมาลงบัตร์โหวต ขอให้นายอำเภอตำบลคนนั้นปฏิญาณเสียก่อนว่าจะไม่เห็นแก่สิ้นจ้างใดๆ ทั้งสิ้น จะตั้งใจลงบัตร์โหวตให้คนที่เขาเห็นมีประโยชน์ดีแก่ชาติของเราจริงๆ ต้องซื่อตรงต่อชาติอันเป็นที่รักของเราเสมอ เมื่อได้กล่าวคำปฎิญาณแล้วจึงโหวตได้ การที่ผู้สมัครผู้แทนราษฎรประพฤติเช่นนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ถ้าได้เปนผู้แทนราษฎรแล้ว คงนำความยุ่งยากมาให้รัฐบาลแน่แท้”
เอาเข้าจริงในวันที่ 15 พฤศจิกายนชาวบ้านมิได้เลือกนางสาวอนงค์เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร คิดว่าใครกันครับ คือผู้ได้เป็นส.ส. ผมจะยังไม่เฉลย
ล่องใต้ไปทางจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขออนุญาตตื่นเต้นระรี้ระริกออกนอกหน้าเถอะ เพราะที่นั่นเป็นบ้านเกิดเมืองเคยนอนของผมเอง สำหรับพื้นที่สุราษฎร์ธานีสามารถมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เพียงคนเดียว กระนั้น จำนวนผู้สนใจเข้าสมัครรับเลือกตั้งก็มากถึง 10 คน และจังหวัดริมฝั่งแม่น้ำตาปีนับเป็นหัวเมืองแห่งเดียวที่สุภาพสตรีเปิดเผยตัวตนว่าอยากร่วมแข่งขันชิงตำแหน่ง ส.ส.
๑. ร้อยตำรวจตรีเขียน อุทัยกุล ลงชื่อสมัครคนแรกสุด
๒. นายพร้อม ถาวรสุข
๓. นายเจริญ ฤทธาภัย
๔. นายเปลี่ยน เริ่มก่อสกุล
๕. ท่านขุนวรศาสน์ดรุณกิจ (ครูฝ้าย บุญเลี้ยง)
๖. นายสมพร สิทธิวัจน์
๗. หลวงสำนองคดี
๘. นางสาวมยูร กาญจนสุวรรณ์
๙. ขุนประกิตกาญจนเขตต์ (ขาบ วิชัยดิษฐ์)
๑๐. นายร้อยเอกหลวงชัยณรงค์ภักดี (เพิ่ม อุณหสูติ)
สรุปผลการเลือกตั้ง ขุนวรศาสนดรุณกิจได้รับการเลือกให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุราษฎร์ธานีคนแรก บรรยากาศวันพุธนั้นถูกเล่าโดยนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทรว่า “ขณะเดียวกันก็ได้ทราบข่าวการเลือกตั้ง ส.ส. บ้านผมคือจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งผู้ชนะได้แก่ท่านขุนวรศาสนดรุณกิจ หรือครูฝ้าย บุญเลี้ยง ชาวบ้านแบกขึ้นบ่าแห่กันหัวตลาดท้ายตลาดเหมือนแห่บวชนาค พ่อผมได้เป็นผู้แทนตำบลเขาก็แห่กันรอบวัดเหมือนกัน เหล่านี้ทำให้ผมนึกอยากเป็น ส.ส. ขึ้นมาบ้าง”
นายประเสริฐเองต่อมาภายหลังลงสมัคร ส.ส. จังหวัดนี้และคว้าชัยชนะได้สมใจในปี พ.ศ. 2489
พอลงจากบ่าของชาวบ้านแล้ว ขุนวรศาสนดรุณกิจจึงลาออกจากข้าราชการครูไปปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2476 อันเป็นวันเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรหนแรก
ทั้งชีวประวัติครูฝ้าย บุญเลี้ยง และนายประเสริฐ ทรัพย์สุนทรชวนให้สนุกสนาน ลองตามไปอ่านข้อเขียนของผมได้ในวารสารรูสมิแลได้ครับ คือเรื่อง ‘ขุนวรศาสนดรุณกิจ: ครูผู้รอดชีวิตและปิดฉากชีวิตกลางท้องทะเลอ่าวไทย’ และ ‘บทบาทด้านงานเขียนของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ก่อนก้าวสู่การเมืองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’
วกมาจำเพาะที่นางสาวมยูร กาญจนสุวรรณ แม้จะเป็นผู้หญิงหัวเมืองหาใช่ชาวพระนครหรือชาวธนบุรี แต่เธอคนนี้ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษาความเป็นไปของประเทศระบอบประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่สม่ำเสมอ หนังสือพิมพ์ที่แม่มยูรนิยมอ่านน่าจะไม่แคล้วดวงประทีป
อ่านอย่างเดียวจะสนุกอะไร เขียนส่งไปให้บรรณาธิการพิจารณาด้วยดีกว่า งานเขียนของเธอได้ลงตีพิมพ์เหมือนกัน ผมเองเคยอ่านพบกลอนชิ้นหนึ่งของเธอชื่อ ‘ดินทอง-แดนไทย’ ซึ่งเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ดวงประทีป ปีที่ 2 ฉบับที่ 51 ประจำวันอาทิตย์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เนื่องจากหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ ปัจจุบันหาอ่านได้ยาก ผมจึงไม่หวงที่จะยกสำนวนกลอนมาปรนเปรอสายตาคุณผู้อ่าน
“เรานี้หรือคือไทยในแดนทอง เราจะครองภูมิชาติด้วยอาจหาญ
ให้อยู่ยงคงไทยชั่วกาลนาน สืบศักดิ์สำนองกาลบรรพชน
จักเทิดชาติสาสนาพระมหากษัตริย์ เปนไตรรัตน์ประจำใจมุ่งหมายผล
เพิ่มใจกันเพียรพูลเพิ่มโภคพล รักษารัฐธรรมนูญกลชีวิตเรา
ไทยจงสุขปลุกใจตื่นชื่นประกอบ ตามระบอบแบบนิยมสมพื้นเผ่า
พงศ์อิสสระสืบประวัติสมรรถเนา ถิ่นเชื้อเหล่ากอใจเปนไทยเอยฯ”
เป็นไงฮะแนวคิดผู้สาวสมัยประชาธิปไตยยุคแรกเริ่ม
อุ๊ยตาย ! ผมชักจะโม้ติดลมบนจนแทบลืมคำตอบที่ติดค้างคุณผู้อ่านคนที่ได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรีคนแรกคือ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ถือเป็นส.ส. คนดังเลยครับเขาคนนี้แหละเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้จัดสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินบริเวณวงเวียนใหญ่ พอกลางช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นไปนายทองอยู่คือดาวไฮด์ปาร์กตัวยง มิหนำซ้ำในปีพ.ศ. 2499 ยังอดข้าวประท้วงรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามด้วย
การเลือกครั้งแรกสุดของไทยเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ทำให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่หนึ่งมาจากการเลือกตั้งทั่วประเทศทั้งหมด 78 คน และประเภทที่สองมาจากพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งอีก 78 คน รวมจำนวน 156 คน เป็นธรรมดาครับที่ผู้ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาจะล้วนแล้วแต่เป็นบุรุษ นานกว่า 17 ปีถัดมา ในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2492 ประเทศของเราจึงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงคนแรกนามว่า ‘นางอรพินท์ ไชยกาล แห่งจังหวัดอุบลราชธานี’
ต่อให้นางสาวอนงค์ บุนนาค และนางสาวมยูร กาญจนสุวรรณไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนเลือกเป็น ส.ส. แต่ปฏิเสธมิได้เลยถึงจิตวิญญาณประชาธิปไตยที่พวกเธอทั้งสองสำแดงให้เห็นว่าผู้หญิงก็เต็มเปี่ยมด้วยสติปัญญาและความสามารถจะทำอะไรได้ทัดเทียมผู้ชาย มิเว้นกระทั่งการมีส่วนร่วมทางการเมือง
ฉะนั้น เรื่องราวของสุภาพสตรีสองคนนี้ควรค่าแก่การศึกษา แทนที่จะถูกปล่อยหายตามกาลเวลาอันปลิดปลิว คงน่าเสียดาย หากคนรุ่นหลังจะปราศจากความล่วงรู้ถึงพฤติการณ์ของพวกเธอ ซึ่งผมไม่น่าจะทนได้หรอก แหละนี่คือเหตุผลที่ผมสาธยายเป็นขบวนตัวอักษรมาเสียยืดยาว
Text by Artyasir Srisuwan
Illustration by Yanin Jomwong
อ้างอิงข้อมูลจาก
– หจช, (2) สร. 0201.35.1/1 ผู้มีชื่อให้ความเห็นและเรื่องเกียวด้วยการเลือกตั้งและพระราชบัญญัติเลือกตั้ง (20 มีนาคม พ.ศ. 2475-7 กันยายน พ.ศ. 2476)
– หจช, (2) สร.0201.35.1/5 บัญชีรายนามผู้สมัครรับเลือกตั้งและเรื่องถอนนามผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรออกจากบัญชี (5 ตุลาคม พ.ศ. 2476-8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481)
– ‘ธนบุรีมีหญิงรับสมัครเลือกตั้ง 2 คน’ ใน ประชาชาติ (31 สิงหาคม 2476)
– ดวงประทีป 2. ฉ. 2 (30 ตุลาคม 2475)
– ดวงประทีป 2. ฉ. 51 (8 ตุลาคม 2476)
– ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จกรมพระยา. ประชุมนิพนธ์เบ็ดเตล็ดของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ภาค 2
– พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรีพระยาสุรราชฤทธานนท์ (พิน พินทุโยธิน) วันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2490. พระนคร:โรงพิมพ์สารเสรี, 2490
– ถวิล มนัสน้อม และ สุจิตต์ วงษ์เทศ. เหตุเกิดที่สนามหลวง. กรุงเทพฯ : กราฟิคอาร์ต, 2523
– ที่ระลึกเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพนายร้อยเอกหลวงชัยณรงค์ภักดี (เพิ่ม อุณหสูติ) ณ วัดมกุฎกษัตริยาราม พระนคร วันที่ 21 พฤษภาคม 2510. พระนคร:โรงพิมพ์มงคลการพิมพ์, 2510
– ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์. รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชุมนุมช่าง, 2517
– พิมพ์วัลคุ์ เสถบุตร (เรียบเรียง). ลิขิตชีวิต สอ เสถบุตร การต่อสู้และผลงานพจนานุกรมอันยิ่งใหญ่ในคุก. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์, 2548
– พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ คุณหญิงระเบียบสุนทรลิขิต (ระเบียบ โปตระนันทน์) ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม กรุงเทพมหานคร วันที่ 29 กันยายน 2523. กรุงเทพฯ : อมรินทร์การพิมพ์, 2523
– ‘สตรีคนแรกที่ได้เปนผู้แทนตำบลพระนคร เปนคนหนึ่งซึ่งตั้งใจจะเลือกนายเฉวียง’ ใน ประชาชาติ (25 ตุลาคม 2476)
– ‘สาวชาวทะเลสมัครเข้ารับเลือกตั้ง’ ใน ประชาชาติ (19 สิงหาคม 2476)
– ‘สาวที่สมัครเปนผู้แทนมหาไชย อายุ 23 ปี’ ใน ประชาชาติ (22 สิงหาคม 2476)
– สุขสรรค์ แดงภักดี. ความคาดหวังของสังคมต่อสตรีไทยในสมัยสร้างชาติ พ.ศ.2481-2487 .วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2538
– สุพจน์ ด่านตระกูล. ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร. กรุงเทพฯ: เคล็ดไทย, 2524
– ‘หญิงชาวกรุงสมัครเข้ารับเลือกตั้งเปนผู้แทนตำบล’ ใน ประชาชาติ (23 สิงหาคม 2476)
– ‘หญิงชาวกรุงสมัครเข้ารับเลือกตั้งเปนผู้แทนตำบลสะพานผ่านฟ้า’ ใน ประชาชาติ (23 สิงหาคม 2476)
– อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระมัญชุวาที (โชติ ชูโต) ณ เมรุวัดอรุณราชวราราม วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2511 .พระนคร : โรงพิมพ์กรุงสยามการพิมพ์, 2511
– อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. ‘ขุนวรศาสนดรุณกิจ: ครูผู้รอดชีวิตและปิดฉากชีวิตกลางท้องทะเลอ่าวไทย’ ใน รูสมิแล 37. ฉ. 3 (กันยายน.-ธันวาคม 2559).น.53-62
– อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ. ‘บทบาทด้านงานเขียนของประเสริฐ ทรัพย์สุนทรก่อนก้าวสู่การเมืองในฐานะ-สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ ใน รูสมิแล 38.ฉ. 1 (มกราคม – เมษายน 2560). น. 58-67