ชีวิตดี = ชีวิตที่ไม่ต้องทำงาน
— หรือเปล่า?
เป็นเรื่องปกติ หากตอนเย็นของวันที่คุณเหนื่อยล้า เจ้านายก็เรื่องมาก ลูกค้าก็โอ๊ย เปลี่ยนบรีฟอยู่นั่นแล้ว “ตกลงกันไว้ว่าอย่างนี้ไม่ใช่เหรอครับ” “พอดีนายใหญ่เห็นว่าควรจะเปลี่ยนน่ะค่ะ ช่วยทำส่งให้เสร็จภายในสองชั่วโมงด้วยนะคะ” เพื่อนร่วมงานก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ พอมองไปในเฟซบุ๊ก ก็มีรูปของตาคนนั้น-ยัยคนนี้ ที่ไปเที่ยวทะเลหรืออิตาลี เลื่อนขึ้นมาให้ริษยาเป็นพักๆ คุณออกจากออฟฟิศในที่สุด, ตอนสี่ทุ่ม, ผจญสภาพการจราจรที่แสนวิเศษ ไม่ติดขัดและช่างเชิดชูใจของกรุงเทพฯ (ประชดแบบไม่มีชั้นเชิง เพราะเหนื่อยเกินกว่าจะประดิษฐ์อะไรที่มากกว่านี้) เปิดประตูบ้าน ทรุดตัวลงบนโซฟา
กูไม่อยากทำงาน ประโยคนี้ผุดจากเบื้องลึกของจิตใจ มันรุดพรวดขึ้นมาราวกับฟองอากาศที่พยายามแหวกขึ้นสู่ผิวน้ำ จู่ๆ คุณก็จับได้ว่า นั่นไม่ใช่แค่ความคิดภายในแล้ว แต่คุณถึงกับเผลอพูดมันออกมาเบาๆ ในตอนที่ไม่มีใครนอกจากตัวเองเป็นเพื่อน
แต่จะทำยังไงได้ล่ะ? คุณก็รู้ ว่างานเท่ากับเงิน ทำงานถึงได้เงิน มีเงินมาพอแล้วค่อยไปจับจ่ายหาความสุขเอาดาบหน้าก็ได้ มีเงินแล้วก็ไปเที่ยวอิตาลีได้ หรือถ้าได้หยุดแค่สองสามวัน ก็ไปเที่ยวทะเลก็ได้ (ภาพบนโซเชียลของสองคนนั้นยังคงหลอกหลอน) ถ้าไม่ทำงานก็ไม่ได้เงิน แล้วคุณจะไม่ทำงานได้ยังไง?
แต่ – ถ้าคุณได้เงิน โดยไม่ต้องทำงานล่ะ? คุณจะไม่อยากทำงานไหม?
ชีวิตที่ไม่มีงาน เป็นชีวิตที่มีความหมายหรือเปล่า?
หากหุ่นยนต์ ‘แย่งงาน’ จากมนุษย์
หนึ่งในเรื่องเล่าที่เรามักได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วงปีสองปีนี้คือการพุ่งขึ้นของการทดแทนแรงงานมนุษย์ด้วยหุ่นยนต์ เดิมที เราเชื่อกันว่าหุ่นยนต์นั้นจะมาทำงานแทนที่มนุษย์จริง แต่มนุษย์ก็จะสามารถหางานที่ ‘ตอบสนองความเป็นมนุษญ์ของตัวเอง’ ทดแทนได้เสมอ เหมือนตอนที่หุ่นยนต์หรือเครื่องจักรมาทำงานที่มีลักษณะซ้ำๆ ซากๆ แทนคนงานในโรงงาน ในตอนนั้นคนที่ต้องตกงานก็รู้สึกเหมือนโลกจบสิ้น และใช่ – โลกอาจจบสิ้นสำหรับเขาจริงๆ หากเขาไม่สามารถพัฒนาทักษะที่เหมาะสำหรับการทำงานในยุคถัดไป – แต่กับทุกครั้งที่ผ่านมา เราก็มักจะมีความหวังและความเชื่อเสมอว่า มนุษย์จะสามารถประดิษฐ์งานในยุคถัดไปที่เหมาะสมและหุ่นยนต์ไม่สามารถมาทดแทนได้อย่างก่อนเก่า
แต่เราจะเชื่ออย่างนั้นได้เรื่อยไปจริงหรือ? ในยุคที่ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ถูกพัฒนาไปมากขึ้นเรื่อยๆ เราได้เห็นหุ่นยนต์ทำงานที่ ‘ดูเป็นมนุษย์’ ได้อย่างองอาจสามารถขึ้น อย่างเช่นการเตรียมเอกสารภาษีต่างๆ การแต่งเพลงหรือแต่งนิยาย (ที่โอเค, ตอนนี้ก็ไม่ได้ดีสักเท่าไหร่) ไปจนถึงถึงการเขียนข่าวที่เป็นแพทเทิร์น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ‘งานที่ดูเป็นมนุษย์’ เหล่านี้จะไม่ถูกพัดพาหายไปด้วย?
หรือไม่ต้องไปไกลถึงขนาดนั้นก็ได้ หากเราลองมาสำรวจงานของตัวเองดูจริงๆ ในแต่ละวัน คุณคิดว่างานของตัวเองมีลักษณะ ‘ซ้ำๆ ทำรูทีน เตรียมเอกสารที่ใช้สูตรเดิมๆ ทำอะไรที่เหมือนๆ เดิม’ ไหม? – ส่วนหนึ่งอาจตอบว่าใช่ และสำหรับคนที่ตอบอย่างนั้น งานของคุณก็มีโอกาสถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์
อันที่จริง มีการประเมินจากมหาวิทยาลัย Oxford ในปี 2013 ว่ามีงานมากถึงเกือบครึ่งหนึ่ง (47%) ในสหรัฐ ที่อาจถูกทดแทนด้วยปัญญาประดิษฐ์หรือระบบอัตโนมัติ และ Martin Ford นักอนาคตศาสตร์ผู้เขียน Rise of the Robot ก็ประเมินว่าปัญหานี้จะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงสิบถึงยี่สิบปีนี้ (ซึ่งถ้าคุณยังอ่านบทความนี้อยู่ ก็แปลว่า มันจะเกิดขึ้นในยุคของคุณนี่แหละ)
กระทั่ง ไม่ต้องถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์หรอกครับ, เทคโนโลยีอื่นๆ อย่างเช่นโซเชียลเนตเวิร์กและโซเชียลมีเดีย ก็พัดพา ‘งานสร้างสรรค์’ ส่วนหนึ่งให้หายไปด้วย (และเร่งให้คนที่ทำงานสร้างสรรค์แบบเดิมๆ ปรับตัวมาใช้เทคโนโลยีอย่างเร็วขึ้น และรุนแรงขึ้น) ดังจะเห็นได้จากข่าวการปิดตัวของนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายฉบับ หรือการปรับลดพนักงานของโทรทัศน์บางช่อง – ซึ่งพนักงานที่ถูกปรับออกหรือตกงาน ก็จำเป็นต้อง ‘อัพเดท’ ความสามารถของตัวเอง เพื่อให้สามารถต่อสู้ได้ในตลาดแรงงานที่ก็มีการขับเคี่ยวกันมากขึ้นเรื่อยๆ
หรืองานไม่ควรจะเท่ากับเงิน?
หรือคนเราควรมี ‘เงินเดือนพื้นฐานของการเป็นพลเมือง’ (Universal Basic Income) กันแน่? นี่เป็นแนวคิดที่ถูกยกขึ้นมาบ่อยครั้งเพื่อเป็นทางออกของปัญหาอนาคตที่ไร้งาน ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นนโยบายแจกเงินฟรี ประชานิยมเป็นบ้า แต่แนวคิดแบบนี้ก็ได้รับการยอมรับจากนักคิดอย่าง Martin Ford หรือ Yuval Noah Harari
ต้องยอมรับแหละครับว่า ตัวเลข 524,000 บาทต่อปีฟังดูมากไป (มากๆ!) สำหรับประเทศไทย (ล่าสุดแรงงานก็เพิ่งเรียกร้องว่าในปี 2561 ขอให้ปรับค่าแรงเป็น 700 บาทต่อวัน หากคำนวณเป็นปีทำงานโดยไม่ได้หยุดพัก ก็คือประมาณ 255,500 บาทต่อปีอยู่เลย) – เราอาจไม่ต้องไปถึงขนาดนั้น เพราะ Martin Ford พูดไว้ว่าแนวคิดเรื่อง Basic Income นั้นจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อ “มันให้ Safety Net (สวัสดิการพื้นฐานที่อุ้มชู ไม่ให้ใครร่วงลงไปจนกรอบ) ในขณะที่ก็ต้องรักษาแรงจูงใจของคนที่อยากทำงานด้วย” (หมายถึงว่าก็ควรให้แบบพอเหมาะพอเจาะ ที่จะไม่ทำร้ายคนทำงาน ที่ต้องมาจ่ายภาษี) ซึ่งตัวเลขของแต่ละประเทศคงแตกต่างกันไป
ลองจินตนาการถึงโลกที่คุณไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อ ‘ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน’ อย่างที่อยู่อาศัย อาหาร หรือหนังสือสักเล่ม แต่คุณก็ยังเลือกที่จะทำงานได้หากคุณต้องการอะไรที่มากกว่านั้น หากคุณอยากซื้อกระเป๋าหรูหราสักใบ – ก็ทำงานเสียหน่อย – หากคุณอยากมีเงินไปเที่ยวต่างประเทศ ก็ทำงานให้มากหน่อย – แต่โดยทั่วไปแล้วคือคุณไม่ต้องทำงานเพื่อใช้ชีวิตปกติ
วันหนึ่งในอนาคต คุณก็อาจพบว่าคุณไม่ต้องทำงานแล้ว!
แต่ถ้างานไม่เท่ากับเงิน เราไม่ต้องทำงาน แล้วชีวิตเราจะมีความหมายไหม
นี่เป็นสิ่งที่ Yuval Noah Harari พยายามหาคำตอบ ทั้งในหนังสือ Homo Deus ของเขา และทั้งที่ย่อยมาเป็นบทความใน The Guardian เขาเสนอว่า ในอนาคตที่เราไม่จำเป็นต้องทำงาน สังคมของเราจะมีชนชั้นใหม่ขึ้นมา เขาเรียกชนชั้นนี้ (อย่างโหดร้าย!) ว่า Useless Class หรือชนชั้นไร้ประโยชน์ ตามนิยามของ Yuval, ชนชั้นนี้คือคนที่ไม่สร้างผลผลิตใดๆ ให้กับสังคม คำถามต่อมาของเขาก็คือ แล้วคนพวกนี้จะ ‘บ้า’ ไปก่อนหรือเปล่า
Stephen Hawking เคยพูดไว้ว่า “Work gives you meaning and purpose and life is empty without it.” (งานนั้นทั้งให้ความหมายและเป้าหมายกับเรา ชีวิตคงว่างเปล่าหากไม่ต้องทำงาน)
ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ชีวิตของ Useless Class จะว่างเปล่าไหม? ในเมื่อพวกเขาไม่ต้องทำงาน แล้วพวกเขาจะทำอะไร?
คุณอาจคิดว่าพวกเขาก็คงไปทำอย่างอื่น เช่น อ่านหนังสือ ดูหนัง หรือทำงานอดิเรก (แปลกดีนะครับที่ Hobby แปลเป็นไทยว่า ‘งาน’ อดิเรก ทั้งๆ ที่มันก็อาจไม่ได้หมายความถึงงานอย่างที่เราๆ เข้าใจเสียหน่อย นี่ต้องมาจากความหมายที่แตกต่างกันของคำว่า Job กับ Work ที่ไทยดันใช้คำว่างานเหมือนกันแน่ๆ) แต่ Yuval เสนอว่า มนุษย์ที่ไม่ต้องทำงานก็อาจจะไปค้นหาความหมายและเป้าหมายของตัวเองด้วยกิจกรรมหนึ่งที่เราอาจรู้สึกว่า ‘เหรอวะ’
กิจกรรมที่ว่าคือการเล่นเกม!
Yuval บอกว่าคนที่เป็น ‘หน่วยทางเศรษฐกิจที่เกินจำเป็น’ (economically redundant) เหล่านี้น่าจะใช้เวลาไปกับการเล่นเกมเวอร์ชวลสามมิติที่ให้ทั้งความตื่นเต้นและเร้าอารมณ์มากกว่า ‘โลกภายนอก’ ยิ่งไปกว่านั้นคือเขาก็เปรียบเทียบว่าการเล่นเกมเวอร์ชวลเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับความเชื่อทางศาสนาหรอก เพราะความเชื่อทางศาสนาก็เป็นเพียง ‘ความเชื่อร่วมหรือสิ่งสมมติ’ ที่คนเป็นพันๆ ล้านคนเชื่อเหมือนๆ กัน (หรืออาจจะเชื่อในเวอร์ชั่นของศาสนาที่แตกต่างกันนิดๆ หน่อยๆ) เท่านั้นเอง Yuval ยกตัวอย่างให้เห็นชัดขึ้นว่า การเชื่อเรื่องแต้มบาปแต้มบุญก็คล้ายๆ กับการสะสมแต้มในเกม “ถ้าคุณสวดมนต์ทกวัน คุณก็จะได้คะแนน ถ้าลืมสวด ก็เสียคะแนน ถ้าได้คะแนนมากพอ ตอนจบเกม (ตอนตาย) ก็จะได้ไปเลเวลถัดไป (หรือคือสวรรค์)!”
นอกจากศาสนาแล้ว Yuval ยังเปรียบเทียบว่าเกม Virtual Reality ก็เหมือนกับหลักคิดอื่นๆ ด้วย ทั้งลัทธิบริโภคนิยม (ซื้อรถ แล้วเหมือนได้แต้ม ซื้อแบรนด์หรูก็เหมือนได้แต้ม) ฯลฯ ในแง่นี้ ‘ความเชื่อร่วม’ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สร้างเป้าหมายและความหมายของชีวิตขึ้นมา (แต่จะเป็น ‘ความหมายลวง’ หรือ ‘ความหมายจริง’ ใครกันล่ะที่จะตัดสิน? – Yuval เสนอว่า สุดท้ายแล้วความหมายของชีวิตก็เป็นเพียงเรื่องแต่งที่จรดปากกาเขียนโดยมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น)
ทั้งหมดนี้อาจฟังดูเหมือนเป็นเอพิโสดของซีรีส์ Black MIrror แต่ Yuval ก็พยายามเตือนให้เราเห็นความเหมือนของสิ่งที่เขาวาดภาพไว้ในอนาคต กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราอาจพบว่ามันคล้ายคลึงกันมากกว่าเปลือกนอก
เราทำงานไปเพื่ออะไร? ความหมายของงานที่มีให้กับชีวิตเราเป็นตัว ‘นิยามตัวตน’ ของเราเลยไหม? หรือว่ามันเป็นเพียงบทบาทที่เรากำลังสวมอยู่ ด้วยความจำเป็นบางประการเท่านั้น
แต่ก็เช่นกัน – มีอะไรที่สุดท้ายแล้ว ‘แท้จริง’ บ้าง?