1
คุณเคยเบื่อนักการเมือง จนคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปอยากเสนอ ‘สัตว์’ ไปเป็นผู้นำประเทศดูบ้างไหมครับ
คุณอาจไม่เคย แต่มีคนเคยเบื่อ เคยคิด และเคยทำมาแล้วจริงๆ ในประวัติศาสตร์
สัตว์ที่ว่าเป็นหมู มีชื่อว่า เพกาซัส (Pegasus) มันได้รับการเสนอชื่อให้เป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดย ‘พรรคการเมือง’ พรรคหนึ่ง
ที่จริง ‘พรรคการเมือง’ ที่ว่า ไม่ใช่พรรคจริงๆ หรอกนะครับ เพราะไม่ได้มีการไปจดทะเบียนตั้งเป็นพรรคอะไร จริงๆ ต้องเรียกว่าเป็นขบวนการเคลื่อนไหวมากกว่า แต่เนื่องจากเขาเรียกตัวเองว่า The Youth International Party ในที่นี้จึงจะขอใช้คำว่า ‘พรรค’ ก็แล้วกันนะครับ
พรรคนี้เกิดขึ้นเพราะปาร์ตี้ส่งท้ายปีเก่า คือในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 1967 เมื่อกลุ่มเพื่อนที่ยังหนุ่มสาวห้าคน ได้แก่ แอบบี้และแอนิต้า ฮอฟแมน, เจอร์รี รูบิน, แนนซี เคอร์ชาน และ พอล คราสเนอร์ ไปรวมตัวกัน แล้วเกิดปิ๊งไอเดียที่จะจัดตั้ง ‘พรรคการเมือง’ ที่ไม่มีลำดับชั้นต่ำสูง ขับเคลื่อนด้วยคนหนุ่มสาว เป็นพรรคขบถ และเป็นพรรคการเมืองที่ต่อต้านสถาบันต่างๆ (Anti-Establishment) รวมทั้งเป็นกลุ่มปฏิวัติที่ต่อต้านวัฒนธรรมทางการเมืองแบบดั้งเดิมด้วย
แอบบี้ ฮอฟแมน และพอล คราสเนอร์ เรียกสมาชิกของพรรคนี้ว่าเป็นพวก ‘ยิปปี้’ (Yippie) ซึ่งล้อเลียนเสียงมาจากคำว่า ‘ฮิปปี้’ หรือกลุ่มบุปผาชนในยุคเดียวกัน โดยมีธงประจำกลุ่ม และเวลาออกไปประท้วงต่อต้านอะไรๆ ก็จะร้องตะโกนคำว่า ‘ยิปปี้!’
ครั้งหนึ่ง แอนิต้า ฮอฟแมน เคยถูกสื่อถามว่า คำว่า ‘ยิปปี้’ มีความหมายว่าอะไร เธอตอบว่าหมายถึง “พลังงาน – ความสนุก – ความเฟี้ยว – การเปล่งเสียงตะโกน” ซึ่งทั้งหมดนั้นแสดงให้เราเห็นถึง ‘พลัง’ แห่งความหนุ่มสาวที่ห้าวหาญ ต่อสู้เพื่อนำเสนอความคิดทางการเมืองแบบเด็กเลือดร้อน ก้าวร้าว ดุเดือดเลือดพล่าน ไม่กลัวหน้าอินทร์หน้าพรหมใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นคุณสมบัติที่ดี แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจถูกมองว่ามุทะลุมากเกินไป
ฟังๆ ดู หลายคนอาจคิดว่า ยิปปี้เป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเล่นๆ ประมาณว่ากินเหล้าเมาแล้วก็พูดกันเล่นๆ ว่ามาตั้งพรรคการเมืองกันเถอะ เหมือนที่หลายคนก็อาจเคยพูด แต่ไม่ได้คิดว่าจะทำจริง แต่ยิปปี้ไม่ใช่แค่พูดนะครับ เพราะคนกลุ่มน้ีมีการรณรงค์จริงๆ มีสมาชิกอีกหลายคนมาร่วมจริงๆ โดยเฉพาะนักเคลื่อนไหวดังๆ อย่างเช่นกวีมีชื่อเสียงอย่าง อัลเลน กินสเบิร์ก ก็ถือเป็นยิปปี้คนหนึ่งด้วย
ตอนแรกพรรคยิปปี้ก็ยังไม่ดังหรอกนะครับ แต่พอเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า Chicago Seven ในปี 1968 คือรัฐบาลกลางตั้งข้อหากับกลุ่มคนหนุ่มสาว 7 คน ว่าวางแผนก่อจลาจลต่อต้านสงครามเวียตนามขึ้นในการประชุมระดับชาติของพรรคเดโมแครตในหลายเมือง (รวมทั้งชิคาโกด้วย) ทำให้ แอบบี้ ฮอฟแมน และ เจอรี รูบิน แห่งพรรคยิปปี้ถูกจับ ก็เลยทำให้พวกเขาถูกจับตามอง และกลายเป็นยิปปี้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด
ทั้งคู่ใช้สโลแกนว่า Ideology is a brain disease หรือ ‘อุดมการณ์คือโรคทางสมอง’ เพื่อให้ตัวเองแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ยกอุดมการณ์ต่างๆ มาหาเสียง
แต่พวกเขาก็ ‘หาเสียง’ ผ่านขั้นตอนการไต่สวนในศาลนั่นแหละครับ แล้วพอเริ่มดัง ก็เลยเปิดแถลงข่าวครั้งแรกเพื่อประกาศจุดยืนต่างๆ ของพรรคยิปปี้ขึ้น โดยในงานมีนักร้องดังอย่าง จูดี้ คอลลินส์ มาร่วมร้องเพลงด้วยให้
นโยบายสำคัญของยิปปี้ก็คือการสร้าง New Nation หรือ ‘ชาติใหม่’ ด้วยการสร้างสถาบันทางสังคมต่างๆ ขึ้นมาใหม่ ให้เป็นสถาบันที่มีค่านิยมและความคิดต่อต้านค่านิยมแบบเดิมๆ (Counterculture) เช่น สนับสนุนให้เกิดสหกรณ์อาหารที่จะคอยแจกจ่ายอาหารให้คนทั่วไป การสนับสนุนหนังสือพิมพ์ใต้ดินทั้งหลาย หรือให้มีคลีนิกฟรีเพื่อรักษาคน ฯลฯ โดยมีหลักการว่า ยิปปี้อยากให้ทุกคนสามารถควบคุมชีวิตตัวเองได้ว่าจะทำหรือไม่ทำอะไร และให้ช่วยเหลือกันและกัน โดยไม่สนับสนุนทัศนคติ สถาบัน หรือการใช้เครื่องมือใดๆ โดยมีเป้าหมายในการทำลายชีวิตหรือสั่งสมกำไร
ยิปปี้มีชื่อเสียงเรื่องการเคลื่อนไหวในแนวทางหวือหวา น่าตื่นตาตื่นใจ พิลึกพิลั่น และมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหวด้วย โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านสงคราม ซึ่งถ้าย้อนรำลึกไปถึงสมัยโน้น คุณอาจจะพอรู้ว่า มันคือยุคที่อเมริกาทำสงครามเวียตนาม และอาการ ‘ต่อต้านสงคราม’ ก็แพร่หลายไปทั่วไปประเทศในหมู่คนหนุ่มสาว
การต่อต้านสงครามในยุคหกศูนย์เกิดในหมู่ฮิปปี้ที่มีสโลแกน Make love not war หรือต่อต้านโดยสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง แต่พอเริ่มเข้าสู่ยุคเจ็ดศูนย์ สงครามก็ยังดำเนินต่อไป ทำให้นักเคลื่อนไหวหลายกลุ่มเริ่มไม่เชื่อแล้วว่าการต่อต้านอย่างสันติจะเป็นทางออก ซึ่งก็รวมถึงกลุ่มยิปปี้ด้วย ดังนั้น จึงเกิดการประท้วงครั้งสำคัญขึ้นในวันแรงงาน คือวันที่ 1 พฤษภาคม 1970 ซึ่งมีการ ‘หลอกรัฐบาล’ ด้วยการจัดคอนเสิร์ตร็อคเพื่อให้คนมารวมตัวกันเยอะๆ ก่อน แล้วค่อยกลายเป็นการประท้วง จนเกิดการเผชิญหน้าครั้งใหญ่ มีคนถูกจับถึง 12,000 คน
แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ทำให้คนอเมริกันจดจำยิปปี้ได้ขึ้นใจ แต่เป็นการเคลื่อนไหวสำคัญที่เกิดตามมาต่างหาก
นั่นคือการเสนอ ‘หมู’ เพกาซัส – ให้ลงท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา โดยการแถลงข่าวนี้เกิดขึ้นในวันที่ 23 สิงหาคม 1968 และที่สุดก็กลายเป็นข่าวใหญ่โด่งดังไปทั่วโลก (ดูภาพข่าวเก่าได้ที่นี่ www.youtube.com) เมื่อฝ่ายรัฐ ‘เล่น’ ไปตามเกมที่ยิปปี้วางไว้ด้วยการเข้ามาจับกุม
คุณอาจสงสัยว่า เราสามารถเสนอชื่อหมูเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการได้ด้วยหรือ คำตอบก็คือไม่ได้หรอกครับ มันเป็นแค่ ‘กลยุทธ์’ อย่างหนึ่งในการเดินขบวนประท้วงเท่านั้นเอง ปีนั้นเป็นปีที่การเมืองอเมริกันเปราะบางอย่างมาก เป็นปีที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกา ซึ่งสองพรรคใหญ่ย่อมต้องเสนอชื่อนักการเมืองสองคนเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีตามที่ทำกันมาเป็นปกติ รีพับลิกันเสนอชื่อ ริชาร์ด นิกสัน ส่วนเดโมแครต เสนอชื่อ ฮูเบิร์ต ฮัมฟรีย์ ซึ่งทั้งคู่เป็นนักการเมืองที่ ‘ไม่ผ่าน’ ในสายตาของยิปปี้และคนหนุ่มสาว (จำนวนหนึ่ง) ในยุคสมัยนั้น
ปีนั้นคือปี 1968 ถือเป็นปีที่คนต้องอกสั่นขวัญผวากันเป็นอันมาก เพราะตอนต้นปี มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ถูกลอบสังหาร ทำให้เกิดการจลาจลของคนผิวดำขึ้นทั่วประเทศ แล้วถัดจากนั้นไม่นาน ในช่วงกลางปี โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี้ น้องชายของ ‘เจเอฟเค’ ที่กำลังเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตเพื่อลงชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดี – ก็มาถูกลอบสังหารซ้ำเข้าไปอีก
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับคนอเมริกันที่ไม่อยากทำสงครามเวียตนาม ถ้าย้อนไปก่อนหน้านั้น สมัยที่เจเอฟเคเป็นประธานาธิบดี เขามีนโยบายจะถอนทหารเลิกสงคราม แต่กลับมาถูกลอบสังหารเสียก่อน ทำให้ลินดอน จอห์นสัน ขึ้นเป็นประธานาธิบดี และมีนโยบายทำสงครามต่อไป ซึ่งหลายคนก็สงสัยว่ามันคือแผนสมคบคิดอะไรบางอย่างหรือเปล่า
ตอนที่ลินดอน จอห์นสัน เป็นประธานาธิบดีนั้น ฮูเบิร์ต ฮัมฟรีย์ เป็นรองประธานาธิบดี เมื่อหมดสมัยของลินดอน จอห์นสัน พรรคเดโมแครตเลือก โรเบิร์ต เคนเนดี้ ลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ชีวิตของเขาก็ซ้ำรอยพี่ชาย คือถูกลอบสังหารด้วยเหมือนกัน และที่สุด ก็เป็น ฮูเบิร์ต ฮัมฟรีย์ ทายาทของลินดอน จอห์นสัน นี่แหละ ที่มาลงสมัครแทน คนหนุ่มสาวที่ต่อต้านสงครามจึงเห็นว่านี่เป็นสถานการณ์ที่สิ้นหวัง
พวกเขาสิ้นหวัง – เพราะแทนที่จะมีคนที่ชูนโยบายเลิกสงครามมาให้เลือก กลับเหลือแต่ตัวเลือกประเภท ‘เอาสงคราม’ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะหันหน้าไปทางไหน นิกสันหรือฮัมฟรีย์ – ต่างก็ล้วนแล้วแต่มีวิสัยทัศน์แบบ ‘คนแก่’ กระหายสงครามทั้งคู่
ด้วยเหตุนี้ ยิปปี้จึงยอมไม่ได้ พวกเขาเสนอ ‘หมู’ มาเป็นประธานาธิบดี
เจอรี รูบิน บอกว่า
“พรรครีพับลิกันส่ง ‘หมู’ มาเป็นประธานาธิบดี [เขาหมายถึงคนที่ใช้ไม่ได้] และรองประธานาธิบดี พรรคเดโมแครตก็กำลังจะส่งหมูมาเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีเหมือนกัน เราเลยขอใช้สโลแกนรรณรงค์ว่า ‘จะเอาครึ่งหมูครึ่งคนมาทำไม ในเมื่อเราสามารถมีหมูเต็มตัวเป็นประธานาธิบดีเลยก็ได้’”
ตอนนั้น ผู้ประท้วงร้องตะโกนกันว่า We want pig, we want pig กระหึ่มก้องไปทั่ว Chicago Civic Center อันเป็นสถานที่ที่ยิปปี้ใช้เสนอชื่อเพกาซัสเป็นประธานาธิบดี
สำหรับผม เพกาซัสเป็นสิ่งมีชีวิตที่น่าเห็นใจที่สุด เพราะมันคือหมูที่ไม่ได้รู้อิโหน่อิเหน่อะไรด้วยกับ ‘เกมอำนาจ’ ของมนุษย์ แต่ต้องถูกยิปปี้เจ็ดคนแบกหามพามันขึ้นรถสเตชั่นแวกอนมายังที่เกิดเหตุ จากนั้นก็ต้องเผชิญหน้ากับตำรวจ ถูกอุ้มลากไปโน่นมานี่ ถูก ‘ใช้’ เป็นเครื่องมือในการประท้วงท่ามกลางเสียงดังลั่น ซึ่งน่าจะทำให้เพกาซัสตื่นตระหนกไม่น้อย
แต่ที่ตลกที่สุดก็คือ – เมื่อตำรวจเข้ามาสลายเหตุการณ์ เพกาซัสถูกจับ และถูกตั้งข้อหา (ร่วมกับพวกยิปปี้) ว่าก่อความไม่สงบ ถูกขังอยู่ในห้องขัง และมีข่าวว่าตำรวจคนหนึ่งจะจับมันกินอีกต่างหาก
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยโรงเรียนยิปปี้มาก เพราะในการไต่สวนของศาล มีสำนักข่าวมาทำข่าวกันล้นหลาม ทั้ง CBS, NBC, ABC, วอชิงตันโพสต์, นิวยอร์คไทม์ส, AP และอื่นๆ อีกมาก ชาวอเมริกันนั่งดูการไต่สวนเหล่านี้เหมือนดูหนังตลกเซอร์เรียล เพราะเพราะศาลต้องถามคำถามที่แลดูโง่ๆ ประเภทว่าไปหาหมูมาจากไหน ซื้อหมูมายังไง ใครเป็นคนซื้อ วิธีขนย้ายหมูทำยังไง ฯลฯ ซึ่งแทบทั้งหมดถือได้ว่าไม่มีเนื้อหาสาระใดๆ เลย แต่ก็ทำให้ ‘สาส์น’ (Message) ของกลุ่มยัปปี้แพร่กระจายออกไปสู่มวลมหาประชาชนชาวอเมริกันที่อาจไม่เคยสนใจการเมืองมาก่อน
ทำให้คนเหล่านี้ได้รู้ว่า – ว่าที่ประธานาธิบดีทั้งสองคน, ไม่ว่าจะเป็นใคร – ล้วนแล้วแต่ไม่น่าเลือกทั้งสิ้น
คุณอาจสงสัยว่า แล้วเกิดอะไรขึ้นกับเพกาซัส มันถูกจับกินจริงหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่หรอกครับ ชิคาโกทริบูน รายงานในเวลาต่อมาว่า หลังจากเพกาซัสถูกจับแล้ว ตำรวจก็ส่งมันไปยังสมาคมป้องกันการทำทารุณกรรม และต่อมาก็ถูกส่งไปยังฟาร์มแห่งหนึ่งในอิลลินอยส์
ที่น่าสนใจไม่แพ้เพกาซัส ก็คือขบวนการยิปปี้ หลายคนอาจคิดว่า พอคนเหล่านี้โตขึ้นมาหน่อย ก็อาจจะเลิกมีพฤติกรรมแบบที่เป็นอยู่ และกลุ่มยิปปี้ก็คงสูญสลายหายไปเงียบๆ แต่จริงๆ แล้ว ขบวนการยิปปี้ยังดำเนินต่อมาจนถึงหลังปี 2000 เลยนะครับ แต่ในตอนหลังเริ่มเล็กลงเรื่อยๆ เพราะ แอบบี้ ฮอฟแมน หนึ่งในหัวหอกของขบวนการได้ฆ่าตัวตายไปในปี 1989 ส่วนเจอรี รูบิน ก็กลับลำ หันไปเป็นนายหน้าค้าหุ้น เลิกคิดและเชื่อในแบบที่ตัวเองเคยเป็นตอนยังหนุ่ม เขาเสียชีวิตในปี 1994 เพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์
ทว่าแม้ผู้ก่อตั้งจะจากไปแล้ว ขบวนการยิปปี้ก็ยังอยู่ ในปี 2004 ยิปปี้ซื้อตึกในนิวยอร์ค แล้วทำเป็นพิพิธภัณฑ์และร้านกาแฟยิปปี้ รวมทั้งขายของที่ระลึกด้วย แต่ผ่านมาอีกสิบปี คือปี 2014 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ยุติบทบาทลง ไม่หลงเหลือยิปปี้ที่ห้าวหาญกร้าวแกร่งเต็มไปด้วยพลังงานของคนหนุ่มสาวอีกต่อไป เหลือแต่เพียงความทรงจำเลือนรางกระจัดกระจายอยู่ในเสี้ยวส่วนเล็กๆ ของผู้คนที่เคยมีชีวิตร่วมยุคกับยิปปี้เท่านั้น
ไม่มีบันทึกว่าเพกาซัสตายเมื่อไหร่ แต่ไม่ว่าจะเป็นตอนที่มีชีวิตอยู่หรือตอนตายไปแล้ว เพกาซัสไม่เคยรับรู้หรือยินยอมพร้อมใจไปกับใครด้วย – กับการเสนอตัวของมัน ให้เป็นประธานาธิบดีของประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดประเทศหนึ่งของโลก
ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างร้อนแรง จากนั้นก็จบลงอย่างโรยรา เหลือทิ้งไว้เพียงบันทึกที่แทบไม่มีใครใส่ใจจำ
2
ถามอีกครั้ง – คุณเคยเบื่อนักการเมือง จนคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปอยากเสนอ ‘สัตว์’ ไปเป็นผู้นำประเทศดูบ้างไหมครับ
คุณอาจเคยเบื่อ เคยคิด และเคยอยากทำอย่างนั้น แต่กระนั้นก็ต้องขอบอกว่า – เสียใจด้วยนะครับ, คุณไม่ได้รับสิทธินั้น
เปล่าครับ – ไม่ใช่เพราะเราไม่ควรเสนอ ‘สัตว์’ ไปเป็นผู้นำประเทศหรอกนะครับ แต่ปัญหาที่สำคัญกว่าก็คือ – เราไม่รู้เลยว่าจะได้เลือกตั้งกันเมื่อไหร่ หรือจะมีการเลือกตั้งหรือไม่
เมื่อยังไม่มีเลือกตั้ง เราจึงยังคิดเลือก ‘สัตว์’ มาเป็นผู้นำเพื่อสร้างยุทธศาสตร์ชาติให้เราไม่ได้,
ได้แต่ก้มหน้ายอมรับการถูกยัดเยียดให้มีผู้นำที่เป็นคนไปพลางๆ ก่อน!