มีคนถามผมว่า ผมมอง คำว่า ‘อยู่เป็น’ ในแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์ได้อย่างไรบ้าง?
ผมว่า นี่เป็นคำถามที่น่าสนใจ และท้าทายดี ผมเลยลองตอบดูครับ โดยก่อนอื่น ผมคงต้องขอระบุก่อนว่า คำว่า ‘อยู่เป็น’ คืออะไร?
ในมุมมองของผม คำว่า ‘อยู่เป็น’ คือ ถ้อยคำที่ใช้สื่อสารว่า “จริงๆ แล้วเราเองก็ไม่ค่อยพอใจความสัมพันธ์ในสังคมที่ดำรงอยู่และเกี่ยวพันกับเราหรอกนะ แต่จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราก็พอจะยอมรับความสัมพันธ์นี้ได้ระดับหนึ่ง”
ขณะเดียวกัน ด้วยความคิดและความรู้สึกแบบเดียวกัน เราก็ใช้คำว่า ‘อยู่เป็น’ ในการส่งผ่านความหวังดี/ความห่วงใยของเราไปให้อีกคนหนึ่ง เพื่อบอกให้คนที่เราส่งไปให้ “ทำใจยอมรับความสัมพันธ์ (ที่เราไม่ค่อยสบายใจ) นี้ไปพลางก่อน” (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม)
จากการตีความใน 2 แง่มุมข้างต้น ผมจึงวิเคราะห์คำว่า ‘อยู่เป็น’ ในแง่มุมทางเศรษฐศาสตร์เป็น 4 มุมมอง ด้วยกันคือ
มุมมองแรก คือ การทำให้ความเปลี่ยนแปลงมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความสัมพันธ์เดิม จะมีต้นทุนน้อยลง โดยที่มิได้มุ่งเน้นที่ ‘ผู้ที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบ’ ในความสัมพันธ์นั้น
ในแง่มุมนี้ คำว่า ‘อยู่เป็น’ จะถูกใช้ใน 2 ลักษณะคือ ลักษณะแรก เป็นการใช้ทางตรงเพื่อการกลบเกลื่อนต้นทุนของการไม่เปลี่ยนแปลงให้ดูน้อยลง ด้วยการให้ความรู้สึกว่า ถ้าที่ไม่เปลี่ยนแปลงอะไร เราก็ยัง ‘อยู่ได้’ ขอเพียงให้เรา ‘อยู่เป็น’ หรือทำความเข้าใจและยอมรับกับสถานการณ์นั้นให้ได้
นั่นแปลว่า เมื่อเราได้รับคำอธิบายว่า ‘อยู่เป็น’ (จากคนอื่นหรือตัวเราเอง) เราจะทำใจยอมรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่และมองเห็นต้นทุนของการดำรงอยู่ของความสัมพันธ์นั้นน้อยลง
ลักษณะที่สอง เป็นการใช้ทางอ้อม เพื่อขยายความต้นทุนของความพยายามในการเปลี่ยนแปลงให้ดูสูงขึ้นหรือสูงเกินจริง
เพราะสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับ ‘อยู่เป็น’ (โดยไม่เปลี่ยนแปลงอะไร) ก็คือ ‘อยู่ไม่เป็น’ (จึงดึงดันอยากเปลี่ยนแปลง)
นั่นแปลว่า ต้นทุนและ/หรือความเสี่ยงใดๆ ที่จะเกิดขึ้นจากความพยายามในการสร้างความเปลี่ยนแปลงของเรา มันมาจาก ‘การอยู่ไม่เป็น’ (หรือ อีกคำหนึ่งคือ ‘การอยู่ไม่สุข’) ของเราเอง
ในมุมมองที่สอง อาจขยายความต่อจากมุมมองแรกว่า ถ้าสมมติ เรากำลังพูดถึง ‘การอยู่เป็น’ ในสภาวะที่มีผู้ที่เอาเปรียบ/ผู้ที่ถูกเอาเปรียบจากความสัมพันธ์ที่ดำรงอยู่นั้น คราวนี้ คำว่า ‘อยู่เป็น’ ก็อาจจะต้องทำหน้าที่เพิ่มเติมขึ้นอีกนิด และดัดแปลงไปอีกนิดหนึ่ง
กล่าวคือ คำว่า ‘อยู่เป็น’ จะทำหน้าที่ในการทำให้ ‘ผู้ที่ถูกเอาเปรียบ’ มองข้าม หรือทำใจ หรือปลอบใจตัวเองได้ว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าว เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ ‘พอยอมรับได้’ แม้ว่า ผู้ที่ถูกเอาเปรียบบางรายจะตระหนักถึงการถูกเอาเปรียบชัดเจน แต่ก็อาจจำเป็นต้องเลือก ‘อยู่เป็น’ ตราบใดที่ยังไม่มีอำนาจต่อรองมากพอ หรือยังไม่มีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่า
ในกรณีนี้ ข้อดีของการอยู่เป็นคือ การดำรงความสัมพันธ์ต่อไปได้ โดยการกลบเกลื่อนความรู้สึกไม่พอใจจากการถูกเอาเปรียบไว้ (อย่างน้อยในระดับหนึ่ง) แต่ข้อเสียคือ ผู้ที่ถูกเอาเปรียบและเลือกที่จะ ‘อยู่เป็น’ ก็อาจขวนขวายหาทางเลือกใหม่ๆ หรืออำนาจต่อรองใหม่ๆ น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็น
สิ่งที่น่าสนใจมากๆ ในมุมมองนี้ คือ สำหรับผู้ที่เอาเปรียบอยู่นั้น ไม่เหมาะที่จะใช้คำว่า ‘อยู่เป็น’ เพื่อบอกให้ผู้ที่ถูกเอาเปรียบจำยอม เพราะหากผู้ที่เอาเปรียบใช้คำนี้ ก็จะดูเหมือนการข่มขู่ให้ผู้ถูกเอาเปรียบต้องจำยอม ซึ่งอาจจะเกิดปฏิกิริยาโต้กลับจากผู้ที่ถูกเอาเปรียบ และย่อมไม่เป็นผลดีต่อผู้เอาเปรียบเอง
ในการนี้ ผู้ที่เอาเปรียบจึงต้องใช้วิธีอธิบายเหตุผลหรือแม้กระทั่งข่มขู่ในทางอ้อมแทน (เช่น ลองดูทางอื่นๆ ก็ได้ แต่ก็เจ๊งกันมาเยอะแล้วนะ หรือ ถ้ามีการเลือกตั้งแล้วได้รัฐบาลที่ไม่ดี ประชาชนจะทำอย่างไร) เพื่อให้ผู้ที่ถูกเอาเปรียบนึกถึงหรือยอมรับคำว่า ‘อยู่เป็น’ ได้ง่ายขึ้น
ในมุมมองที่สามเป็นเรื่องของหน่วยการวิเคราะห์หรือหน่วยการตัดสินใจ (หรือ unit of analysis)
กล่าวคือ ความสัมพันธ์หลายๆ เรื่องที่ไม่ชอบธรรมนั้น เป็นความสัมพันธ์ในระดับ ‘สังคม’ เช่น การเกณฑ์คนให้แต่งตัวเหมือนกันหรือทำอะไรพร้อมกัน เพื่อให้ผู้ที่มีอำนาจรู้สึก ‘ยินดี’ ทั้งๆ ที่ ความสัมพันธ์นั้น อาจไม่มีประโยชน์ใดๆ หรือไม่มีประโยชน์คุ้มค่าในภาพรวมของสังคม
แต่คำว่า ‘อยู่เป็น’ มักถูกใช้เพื่อมุ่งเน้นการตัดสินใจในระดับ ‘ปัจเจก’ ของคนแต่ละคน มากกว่า การมองภาพรวม
เช่น ถ้าเราถูกเกณฑ์ไปทำอะไรที่ไม่มีประโยชน์คุ้มค่าต่อสังคม แต่เราไม่ขัดขืน เพราะคำถามในหัวของเราคือ “เราจะอยู่เป็นหรือจะอยู่ไม่เป็น?” เพราะหากเราอยู่ไม่เป็นแล้ว เราอาจจะประสบปัญหาจากผู้มีอำนาจหรือระบบ (ที่ค้ำจุนผู้มีอำนาจอยู่) ได้ เรียกว่า เมื่อเราพิจารณาต้นทุนที่ตัวเราอาจได้รับแล้ว เราก็ปล่อยคำถามที่เราควรจะถามร่วมกันกับสังคม (ว่าคุ้มหรือไม่?) ไปแบบน่าเสียดาย
ทั้งๆ ที่ ถ้าเราจำนวนหนึ่ง (ไม่จำเป็นต้องเป็นคนส่วนใหญ่ก็ได้ ในบางกรณี) ตั้งคำถามกับรูปแบบความสัมพันธ์นั้นตรงๆ ผู้มีอำนาจและผู้ที่พยายามเอาใจผู้มีอำนาจก็อาจตอบคำถามนั้น (แบบมีเหตุผลอันสมควร) ไม่ได้ และเราก็อาจใช้จุดนั้น นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นธรรมและ/หรือไม่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมได้ก็เป็นได้
แต่คำว่า ‘อยู่เป็น’ ก็จะลดทอนโอกาสดังกล่าว ด้วยการตั้งคำถาม ‘กดทับ’ ลงไปที่คนแต่ละคน ให้คนแต่ละคนก้มหน้าตอบคำถามของตัวเองเสียก่อนว่า จะเสี่ยงหรือไม่? ก่อนที่จะเงยหน้ามาคิดถึงคำถามที่สังคมควรจะถามร่วมกัน
อย่างไรก็ดี ในมุมองสุดท้าย ผมสังเกตว่า น้องๆ รุ่นใหม่หลายคนก็ใช้คำว่า ‘อยู่เป็น’ ในมุมกลับ ในลักษณะของ ‘รหัส’ แสดงความไม่ชอบธรรมหรือความไม่ชอบมาพากลในสังคม เช่น การติดเครื่องหมาย # และกล่าวย้ำและอาจล้อเลียนกันแบบสนุกสนาน (แม้ว่าในภาพรวมจะไม่พอใจก็ตาม)
แม้ว่า การใช้ในลักษณะข้างต้นจะยังไม่ใช่การใช้เพื่อท้าทายโดยตรง แต่ก็มีส่วนสำคัญทำให้ ‘ความไม่ชอบธรรม’ นั้น ปรากฏเด่นชัดขึ้น พร้อมๆ กันกับการส่งสัญญาณถึงผู้ที่เอาเปรียบหรือผู้มีอำนาจ “ฉันไม่ยอมรับในความสัมพันธ์นี้ แต่ฉันยังไม่ท้าทายคุณโดยตรงในตอนนี้”
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากจะส่งสัญญาณถึงผู้มีอำนาจแล้ว การใช้คำว่า ‘อยู่เป็น’ ในมุมกลับ ยังเป็นการส่งสัญญาณถึงผู้ที่คิดแบบเดียวกันด้วย ว่ากำลังมีผู้ไม่พอใจในการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจอยู่เช่นกัน
แต่เนื่องจากการส่งสัญญาณแบบ #อยู่เป็น เป็นการส่งสัญญาณที่ยังมิใช่การเอาจริงที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น การจะเปลี่ยนจากสัญญาณ ‘#อยู่เป็น’ ให้กลายเป็น ‘เปลี่ยนเป็น’ ได้ จึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงหรือรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่ที่ชัดเจนประกอบกันด้วย
เพื่อให้ผู้คนช่วยกันพิจารณาว่าพร้อมจะเปลี่ยนจาก ‘การอยู่เป็น’ ในความสัมพันธ์แบบเดิม หรือพร้อมแล้วที่จะสู้ เพื่อ ‘เปลี่ยนเป็น’ ความสัมพันธ์ใหม่ ที่น่าจะตอบโจทย์ความชอบธรรมของสังคมได้มากกว่า