สองสัปดาห์ก่อน ผมได้เขียนเรื่องราวของ Chiiki Okoshi ไอเดียต่างๆ ในการพยายามสร้างจุดเด่นให้เมืองเพื่อดึงนักท่องเที่ยว รวมถึงพยายามเพิ่มประชากรของเมืองด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญคือการแบ่งอำนาจการปกครองให้ท้องถิ่นได้บริหารเองเพื่อจะได้มีอิสระในการหาไอเดียต่างๆ ฟังดูแล้วก็เป็นเรื่องที่ดีเหลือเกิน แต่โลกนี้ก็ไม่ได้มีแต่อะไรดีๆ นั่นล่ะครับ
แน่นอนว่ามีหลายเมืองที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายเมืองที่ไม่ประสบความสำเร็จ การตัดสินใจบริหารที่ผิดพลาดอาจจะส่งผลกระทบต่อเมืองได้อย่างน่ากลัว ตัวอย่างที่ทำให้ช็อกประเทศญี่ปุ่นได้รุนแรงสุดก็คงเป็น เมืองยูบะริ ในฮอกไกโด ที่ประกาศล้มละลายในปี 2007 แห่งแรกและแห่งเดียวในญี่ปุ่น ทุกวันนี้ชาวเมืองก็ยังคงต้องรับผลกระทบตรงนี้อยู่
ยูบะริเป็นเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นในสมัยเมจิ สมัยที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องการบุกเบิกฮอกไกโดเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ในปี 1874 มีการค้นพบว่าท้องที่นี้มีถ่านหินอยู่จึงเริ่มการทำเหมืองถ่านหิน บริษัทต่างๆ เริ่มทยอยมาทำสัมปทานเหมือง กลายเป็นเมืองแห่งถ่านหินอย่างแท้จริง เพราะชาวเมืองส่วนมากก็เป็นคนของบริษัทเหมืองต่างๆ ที่ย้ายกันเข้ามาเพื่อทำงาน และอาศัยอยู่ในเมืองนี้ ด้วยความที่ถ่านหินคือพลังงานจำเป็น ทำให้เมืองที่ผลิตถ่านหินขายเช่นนี้รุ่งเรืองเป็นอย่างมากและทุกคนก็สนุกสนานไปกับการเติบโตนี้
แต่เมื่อพึ่งพาอะไรมากเกินไป พอหมดช่วงรุ่งเรือง ความล่มสลายก็ไล่ตามมาอย่างรวดเร็ว
ถ่านหินกลายเป็นพลังงานที่มีความจำเป็นน้อยลงเรื่อยๆ จากการที่คนหันไปใช้พลังงานชนิดอื่นแทน ทำให้การผลิตถ่านหินไม่คุ้มค่าอีกต่อไป เหมืองถ่านหินค่อยๆ ปิดตัวลง พนักงานของบริษัทเหล่านั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องอยู่ในเมืองอีกต่อไป ชาวเมืองต่างพากันย้ายออก ปิดเหมืองนึง คนก็ลดลงทีนึง และด้วยความที่เมืองตั้งอยู่ในเขตหุบเขา ทำให้ไม่สามารถทำการเกษตรได้ดีนัก แต่ยังดีที่มีสินค้าขึ้นชื่อคือ ยูบะริเมลอน ของขึ้นชื่อที่กำเนิดขึ้นในปี 1961 จากสภาพอากาศของเมืองที่เหมาะกับการบำรุงพันธุ์ และเป็นเมลอนที่ราคาประมูลขายแพงมากจนเป็นข่าวอยู่เรื่อยๆ แต่เมื่อเทียบกับผลกระทบของการถอนตัวของอุตสาหกรรมเหมืองแล้วก็ยังสู้กันไม่ได้
ประชากรของเมืองมีจำนวนสูงสุดในปี 1960 ที่จำนวน 116,908 คน หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ ตามการปิดเหมือง แนวทางที่เมืองเลือกใช้ในการต่อกรกับปัญหานี้คือการพยายามพลิกเมืองให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวแทน ซึ่งพบได้บ่อยในยุคฟองสบู่ของญี่ปุ่น ด้วยการเปิดสวนสนุกที่เล่นธีมเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการขุดเหมืองถ่านหิน เปิดลานสกีเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้าเมือง และพยายามสร้างงานใหม่ๆ
แต่ปัญหาคือของแบบนี้เป็นการลงทุนที่เสี่ยงแน่นอน เทเงินลงไปแล้วไม่ได้ผลกำไรตามที่ต้องการก็เป็นภาระให้เมืองแบกต่อไป กลายเป็นการเอางบประมาณไปเสียเปล่า และที่ซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลงไปอีกคือ บริษัท Hokutan ก็เลือกถอนตัวด้วยการล้มละลาย โดยอ้างอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ทำให้ไม่ต้องจ่ายภาษีการทำเหมืองที่ค้างอยู่ให้กับเมืองจำนวน 6,100 ล้านเยน ยิ่งไปกว่านั้น เมืองยังต้องเข้าไปซื้อสาธารณูปโภคต่างๆ ที่บริษัทได้สร้างไว้เพื่อนำมาบริหารต่อ เช่นโรงพยาบาลของบริษัท Hokutan ในราคา 4,000 ล้านเยน แถมยังต้องไปซื้อต่อบ้านพักพนักงานและระบบประปาของบริษัท Mitsubishi มาบริหารต่อในราคา 15,100 ล้านเยน กลายเป็นภาระให้เมืองหนักขึ้นไปอีก ประชากรของเมืองก็ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ เหมือนกับซื้อมาแบกไว้เฉยๆ เอางบไปเททิ้ง ทำเอาน่าคิดว่าทำไมเมืองต้องไปคอยช่วยบริษัทต่างๆ ขนาดนั้น และยิ่งบริหารไปก็ยิ่งบัญชีติดลบตัวแดงเต็มพรืด เมืองก็ต้องไปกู้ยืมเงินมาเพื่อบริหารต่อ แต่อะไรต่อมิอะไรก็มิได้เป็นไปตามคาด สุดท้ายแล้ว เมื่อปัญหาการบริหารเริ่มพอกพูนพร้อมทั้งจำนวนหนี้ ทำให้ทางจังหวัดก็เสนอแผนช่วยเหลือด้วยการให้กู้ยืมเงินดอกเบี้ยต่ำจำนวน 36,000 ล้านเยน เพื่อฟื้นฟูเมือง ทำให้เมืองต้องประกาศล้มละลายในปี 2007 และเข้าโครงการปรับปรุงหนี้สิน
ฟังดูแล้วก็ชวนปาดเหงื่อ เมื่อหนี้สินที่ต้องชำระในช่วงเวลา 20 ปี แบ่งจ่ายแล้ว ตกปีละประมาณ 2,600 ล้านเยน แต่จังหวัดสามารถเก็บภาษีได้แค่ประมาณปีละ 800 ล้านเยน ฟังดูแล้วก็เป็น Mission Impossible อย่างแท้จริง ปัญหาหลักๆ ของเมืองคือ จำนวนประชากรที่ลดฮวบ จากที่เคยมีประมาณ 120,000 คนในช่วงรุ่งเรืองยุค 60s แต่พอมาก่อนที่จะประกาศล้มละลาย ประชากรก็ลดเหลือแค่ประมาณ 1 ใน 10 คือประมาณ 13,000 คนเท่านั้น ที่สำคัญคือ เป็นเมืองที่มีอายุเฉลี่ยประชากรสูงมาก ทำให้มีประชากรที่เป็นวัยทำงานสร้างผลผลิตน้อย จนเก็บภาษีเข้าเมืองได้น้อยตามไปด้วย
ข่าวการล้มละลายของเมืองยูบะริกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วญี่ปุ่น เล่นเอาชาวญี่ปุ่นหวาดหวั่นไปตามกัน เพราะนี่อาจจะเป็นเหมือนกับภาพจำลองของญี่ปุ่นในอนาคตด้วยก็ได้ เพราะมีเมืองอีกมากมายที่ประชากรลดลงเรื่อยๆ พร้อมจะเป็นเมืองที่สาบสูญในอนาคต แต่ปัญหาคือ ยูบะริมาพร้อมกับหนี้ที่พอกไว้เยอะมหาศาลด้วย
หลังจากเข้าโครงการปรับปรุงหนี้ สภาพความเป็นอยู่ของชาวเมืองก็จัดว่าเข้าขั้นเลวร้ายชนิดที่เรียกว่าเมื่อเทียบกับทุกเมืองในญี่ปุ่นแล้ว ชาวเมืองยูบะริมี ‘ภาระที่ต้องแบกไว้หนักสุด แต่มีสวัสดิการที่เลวร้ายที่สุด’
ระบบสาธารณูปโภคที่เป็นของตายสำหรับประชาชน ที่ผ่านมาอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่พอเมืองต้องปรับปรุงหนี้สิน กระชับรายจ่ายแล้ว ค่าใช้จ่ายก็เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน ตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายในการทิ้งขยะ ที่จังหวัดจิบะมีการขึ้นราคาเป็นลิตรละ 0.8 เยน ก็เล่นเอาชาวบ้านบ่นว่าจะอยู่กันยังไง แต่ที่ยูบะริเหรอครับ ลิตรละ 2 เยน ภาษีใช้รถขนาดเล็กก็ปรับจาก 7,200 เยน เป็น 10,800 เยน ค่าใช้สถานที่ของทางการต่างๆ ก็ปรับขึ้น 50% อย่างเช่นถ้าเคยเช่าใช้สนามฟุตซอลในราคา 100 เยน แต่ถ้าเมืองอื่นเขาคิด 300 เยน ก็ปรับขึ้นให้เท่าเมืองอื่นทันที ส่วนค่าน้ำประปา จากเดิม 1,470 เยน ก็ปรับเป็น 2,440 เยน (ตรงนี้ไม่ได้ระบุว่าต่อหน่วยอะไร) เรียกได้ว่าค่าครองชีพเพิ่มขึ้น แต่บริการต่างๆ กลับไม่ได้ดีขึ้นเลย ไม่แปลกอะไรที่จะมีคนย้ายออกจากเมืองไปเรื่อยๆ เพราะไม่รู้จะอยู่ทำไมถ้าไม่มีอนาคต สื่อต่างๆ ก็เข้าไปทำสารคดีเกี่ยวกับเมืองที่เรียกได้ว่าเป็นเมืองร้างก็ว่าได้ เพราะสิ่งก่อสร้างต่างๆ ถูกทิ้งไว้อย่างเปล่าประโยชน์ แทบไม่มีคนเดินไปเดินมาในเมือง ซึ่งในตอนนั้นมักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับเมือง Detroit ของสหรัฐอเมริกาที่ประสบปัญหาคล้ายกันอยู่เสมอ
แต่อย่างน้อยก็ยังพอมีแสงสว่างที่ปลายอุโมง นอกจากเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของเมืองหลายต่อหลายรายลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ยังมีเจ้าหน้าที่หน้าใหม่ไฟแรงคนหนึ่งชื่อ Suzuki Naomichi ที่เป็นชาวจังหวัดไซตามะแท้ๆ แต่ได้มาทำงานราชการในสำนักงานกรุงโตเกียว แล้วต่อมาก็ถูกส่งให้มาช่วยงานทางเมืองยูบะริในปี 2008 หลังจากการยื่นล้มละลายของเมือง และดูเหมือนชาวเมืองจะรักในความทุ่มเทของเขา จนมีคนช่วยหนุนให้ลงสมัครตำแหน่งเทศมนตรีเมือง ในปี 2011 เขาก็ลงสมัครแบบไม่สังกัดพรรค และชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นเทศมนตรีเมืองที่อายุน้อยที่สุดในญี่ปุ่น เพราะตอนนั้นเขาเพิ่งอายุครบ 30 ปีหมาดๆ เป็นสัญลักษณ์ของคนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงจริงๆ
เขาเองก็ยอมรับว่า การฟื้นฟูเมืองให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งเป็นเรื่องยากระดับ Mission Impossible แต่มันก็คุ้มค่าให้ลงมือทำ และแนวทางของเขาคือ พยายามปรับลดค่าใช้จ่ายของทางการให้เหลือเท่าที่จำเป็น ลดจำนวนข้าราชการลงจากข้อมูลปี 2016 จากที่เคยมีข้าราชการจำนวน 263 คนก่อนล้มละลาย ก็เหลือเพียง 67 คน เท่านั้นยังไม่พอ เขายังเลือกที่จะลดเงินเดือนของข้าราชการลงด้วย เริ่มต้นจากตัวเขาเองที่ปรับลดเงินเดือน จากเดิมที่ตำแหน่งนี้รับอยู่ที่ 862,000 เยนต่อเดือน เหลือเพียง 259,000 เยน และยังตัดงบเงินบำนาญของตัวเองอีกด้วย ทำให้เขาได้รับอีกตำแหน่งคือ เทศมนตรีเมืองที่รายรับน้อยที่สุดในญี่ปุ่น และก็ไม่ใช่แค่ตัวเขา แต่ข้าราชการที่เหลืออยู่ก็โดนลดเงินเดือนกันโดยรวมประมาณ 40% เลยทีเดียว คิดสภาพการทำงานสิครับ คนเหลือไม่ถึง 1 ใน 4 แต่ปริมาณงานที่มีอยู่ก็เท่าเดิม ทำให้แต่ละคนต้องทำงานหนักขึ้นมาก แต่รายได้กลับลดลง แถมยังต้องรัดเข็มขัดอย่างหนักขนาดที่ว่า หลัง 5 โมงเย็น ก็ต้องปิดเครื่องปรับอากาศในสำนักงานเพื่อประหยัดพลังงาน แต่ปัญหาคือ นี่คือเมืองในฮอกไกโด จึงไม่แปลกที่บางครั้งอุณหภูมิในห้องทำงานจะลดลงเหลือเพียงแค่ 5 องศา ขนาดที่วางเครื่องดื่มไว้เฉยๆ ก็ยังจะกลายเป็นน้ำแข็งได้ แต่ก็ต้องทนทำงานกันไป เพื่อให้เมืองกลับมาคืนชีพได้อีกครั้ง
แม้สาธารณูปโภคเช่นโรงเรียนจะถูกยุบไปจนเหลือแค่ระดับละ 1 โรง แต่เป้าหมายของเทศมนตรีคือการลงทุนกับคนรุ่นใหม่ จึงพยายามที่จะสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่มีทั้งห้องสมุด สถานดูแลเด็ก และโรงเรียนอนุบาล พร้อมทั้งคลินิกแห่งเดียวของเมืองอยู่ในที่เดียวกัน นอกจากนี้ก็ยังมีไอเดียน่าสนใจที่ต่อเนื่องมาจากทีมบริหารชุดเดิมอีก เช่น ยูรุเคียระ หรือคาแรคเตอร์ที่ดูน่ารักน่าเอ็นดูของเมือง ซึ่งตัวที่ทำให้เมืองเป็นที่สนใจได้มากก็มีสองตัว ตัวแรก หรือจะว่า คู่แรกก็ว่าได้ คือ Yubari Fusai คู่สามีภรรยายูบะริ ที่เป็นตัวการ์ตูนชายหญิงหัวโต ทรงผมเป็นเมลอนของขึ้นชื่อของเมือง ที่เป็นสามีภรรยากัน เพราะเมืองนี้ แม้จะมีประชากรน้อย แต่อัตรการหย่าร้างต่ำมาก จึงนำเสนอคาแรคเตอร์คู่สามีภรรยาที่รักกันพร้อมกับสโลแกนว่า “แม้จะไม่มีเงิน แต่ก็มีความรักเต็มไปหมด” พร้อมทั้งให้บริการออกใบรับรองคู่สามีภรรยาที่รักกันดี ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามารับใบรับรองนี้พร้อมทั้งซื้อของที่ระลึกกลับไป และอีกหนึ่งตัวคือ เจ้าหมี Kuma Melon หมีหน้าดุแต่หัวเป็นเมลอน ซึ่งก็ดูแปลกตา แต่ก็เข้ากับสมัยที่คนชอบของอะไรแปลกๆ กลายเป็นอีกหนึ่งคาแรคเตอร์ฮิตที่ทำรายได้ให้เมืองได้อีก
อีกสิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้คือการท่องเที่ยว ที่แม้การลงทุนครั้งเดิมจะไม่ได้ผล และสวนสนุกก็กำลังถูกรื้อถอนออก แต่พวกเขาก็ยังคงพยายามจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ประจำเมืองที่เคยทำมาตั้งแต่ก่อนล้มละลาย โดยที่ปัจจุบันก็มีหน่วยงานไม่หวังผลกำไรรับหน้าที่จัดงานแทน อย่างน้อยก็ช่วยกระตุ้นให้มีคนเข้ามาในเมืองเพิ่มได้ (เควนติน ทารันติโนมางานนี้แล้วประทับใจจนเอาชื่อเมืองไปตั้งชื่อตัวละครใน Kill Bill มาแล้ว) และยังโชคดีที่มีนักลงทุนชาวจีนที่มาเที่ยวเมืองแล้วประทับใจจนทุ่มเงินลงทุนเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวของเมืองยูบะริอีกด้วย
แม้จะฟังดูเหมือนอะไรต่อมิอะไรจะไปได้ดี แต่ในความจริงก็คือ สภาพของเมืองก็ยังง่อนแง่นอยู่ดี แม้ทางเมืองจะสามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนด แต่จำนวนประชากรก็ลดลงเรื่อยๆ จนต่ำกว่าหมื่นคนแล้ว และเจ้าหน้าที่ราชการเองก็ยอมรับว่า อาจจะต้องยื่นล้มละลายอีกครั้งเพื่อรับการปรับปรุงหนี้อีกทีก็เป็นได้ ฟังดูแล้วก็เป็นงานช้างจริงๆ แต่ก็ยังดีที่ยังมีเด็กรุ่นใหม่ที่อยากจะสู้เพื่อรักษาเมืองของพวกเขาต่อไปแม้จะยากลำบากแค่ไหน
อ้างอิงข้อมูลจาก
kawaii.hokkaido.jp/character/yuubarifusai
kawaii.hokkaido.jp/character/meronguma