ตั้งแต่ปี ค.ศ.2010 จนถึง ค.ศ.2019 วงการภาพยนตร์มีเรื่องน่าสนใจเกิดขึ้นมากมาย เปิดประเดิมด้วยความน่ายินดีเมื่อ ‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ (2010) ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล สร้างประวัติศาสตร์เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่คว้ารางวัลปาล์มทองจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ ความน่าอับอายยากจะลืมของออสการ์ปี ค.ศ.2017 ที่ประกาศชื่อรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมผิดเป็น La La Land ทั้งที่ผู้ชนะตัวจริงคือ Moonlight หรือไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อการดูหนังหรือซีรีส์ทางสตรีมมิ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว
เมื่อใกล้จะก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ สำนักข่าวและเว็บไซต์ต่างๆ ก็พากันทำโพลที่ทบทวนถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในทศวรรษที่ผ่านมา สำหรับผลงานยืนหนึ่งที่ได้รับตำแหน่งสุดยอดหนังของยุค 2010s คือ Mad Max: Fury Road (2015) หนังหลังภัยภิบัติ (post-apocalyptic) ที่ได้อันดับหนึ่งจากหลายเว็บไซต์ อาทิ Indiewire, Slashfilm, Paste, Consequence of Sound, Film School Rejects และ The A.V. Club
ทำไม Mad Max: Fury Road ถึงกลายเป็นหนังแห่งทศวรรษ 2010? คำตอบแบบง่ายๆ ก็คือมันโคตรสนุก! แต่ความสนุก ณ ที่นี้คือความบ้าคลั่งแบบไม่บันยะบันยัง ใครได้ดูหนังเรื่องนี้คงรู้สึกคล้ายกันว่ามันเป็นหนังเดินหน้าไม่หยุด แทบไม่มีจังหวะผ่อน ผู้สร้างได้ ‘ผลัก’ องค์ประกอบทางภาพยนตร์ทุกทางไปแบบสุดเบอร์ ไม่ว่าการถ่ายภาพ การตัดต่อ ดนตรีประกอบ (หนังคว้ารางวัลออสการ์มาได้ 6 สาขา ซึ่งแทบจะเป็นสาขาด้านเทคนิคทั้งหมด)
Mad Max: Fury Road ยังทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของโรงภาพยนตร์ท่ามกลางยุคสมัยที่คนดูหนังผ่านหน้าจอสมาร์ตโฟน ชัดเจนว่ามันเป็นหนังที่ออกแบบมาเพื่อการดูในโรงหนัง ไม่ว่าจะการใช้อัตราส่วนภาพแบบ 2.35 : 1 หรือภาพกว้างเพื่อเน้นภูมิทัศน์ทะเลทราย การคุมโทนของสี ทั้งสีส้มของทะเลทรายที่ให้ความรู้สึกร้อนแรงแห้งแล้ง ควบคู่กับเป็นสีเงินและเทาของคอสตูมและอุปกรณ์ต่างๆ บ่งบอกถึงลักษณะเชิงไซไฟและความสิ้นหวัง
อย่างไรก็ดี Mad Max: Fury Road ไม่ใช่หนังดูเอามันอย่างเดียว หากแต่มีนัยทางสังคมชวนขบคิดมากมาย หลายครั้งจึงถูกเรียกว่าเป็นหนังเฟมินิสต์ และถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2010 ที่ #MeToo และ Toxic Masculinity เป็นประเด็นร้อน นอกจากนั้นหนังยังถูกวิเคราะห์ในเชิงนิเวศวิทยา เนื่องจากเล่าถึงการขาดแคลนและแก่งแย่งทรัพยากรธรรมชาติ จนเหมือนการทำนายอนาคตมนุษยชาติอย่างกลายๆ (สามารถอ่านบทวิจารณ์ Mad Max: Fury Road ในแง่มุมนิเวศวิทยาได้ในบทความของไกรวุฒิ จุลพงศธร ที่นี่)
ในบรรดาโพลหนังแห่งทศวรรษ เรื่องที่ไล่จี้ Mad Max: Fury Road มาติดๆ ก็คือ Moonlight (2016) อย่างที่ทราบกันว่าหนึ่งในกระแสสำคัญของทศวรรษที่ผ่านมาคือ Black Lives Matter แต่นอกจากดราม่าน่ารำคาญประเภททำไมออสการ์มีแต่คนขาวชิงรางวัล คนผิวสีหายไปไหน บลาๆๆ เรื่องที่น่าสนใจท่ามกลางกระแสเรียกร้องสิทธิของคนผิวสีคือรูปแบบใหม่ๆ ของหนังเกี่ยวกับคนดำ (ขออนุญาตใช้คำที่อาจจะไม่ค่อย PC)
ตั้งแต่ยุค 90s มาคนดำมักมีภาพจำในภาพยนตร์แบบตายตัว เป็นตัวละครที่ตายตัวแรกๆ ในหนังสยองขวัญ, เป็นตัวละครเอะอะโวยวายในหนังตลก หรือหนังที่มีคนผิวสีเป็นตัวเอกจะเต็มไปด้วยความมาดแมนมาโช เพลงฮิปฮอปที่คลอไปทั้งเรื่อง ทว่าในยุค 2010s การนำเสนอคนผิวสีเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก หนังสำคัญคือ Get Out (2017) ที่ว่าด้วยคนผิวสีที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการกดขี่ของคนขาว หากแต่มาในรูปแบบของหนังสยองขวัญปนตลก
ส่วน Moonlight เป็นหนังเกย์ผิวสีที่ถูกบอกเล่าอย่างละเอียดอ่อน ซึ่งแทบไม่เคยปรากฏมาก่อนในวงการภาพยนตร์ หลากฉากหลายตอนของหนังยังมีจริตจะก้านเปี่ยมล้น อย่างที่ผู้กำกับยอมรับตรงๆ ว่าได้แรงบันดาลใจมาจากหนังของหว่องกาไว ซึ่ง Moonlight อาจเป็นที่รักของผู้คนได้ง่ายกว่า Get Out หรือ Us (2019) ด้วยท่าทีที่อ่อนโยนของมัน (ในขณะที่สองเรื่องหลังมีน้ำเสียงค่อนข้างแรง) แต่ถึงที่สุดแล้ว Moonlight จับใจคนดูด้วยเรื่องสากลอย่างการต้องการเป็นที่รักของใครสักคน
ทางฝั่งของหนังอาร์ต (บ้างก็เรียกว่าหนังเซอร์ หรือหนังที่ไม่ได้เสนอตามขนบที่คุ้นชิน) ชื่อที่เห็นบ่อยๆ ในการจัดอันดับก็เช่น The Tree of Life (2011) หรือ Roma (2018) แต่เรื่องที่ผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจคือ Under the Skin (2013) หนังที่ สการ์เล็ตต์ โจแฮนส์สัน (Scarlett Johansson) รับบทมนุษย์ต่างดาวสาวที่ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการสูบพลังจากพวกผู้ชาย หลายครั้งวงการภาพยนตร์มักนำเสนอมนุษย์ต่างดาวในฐานะของผู้บุกรุกหรือไม่ก็หนังแฟนตาซีว่าด้วยมิตรภาพระหว่างสองฝั่ง หากแต่ Under the Skin พยายามเล่าถึงมนุษย์ต่างดาวในฐานะ ‘มนุษย์ต่างดาว’
ในเมื่อเราไม่มีทางเข้าใจมนุษย์ต่างดาวอยู่แล้ว Under the Skin จึงเน้นเรื่อง ‘ความแปลกแยก’ เป็นสำคัญ ทุกอย่างในหนังจึงดูแปลกแปร่งไปเสียหมด ไม่ว่าจะไวยากรณ์ของหนัง การถ่ายภาพ บทสนทนา และที่สำคัญคือดนตรีประกอบโดย มิคา เลวี (Mica Levi) ที่ในหลากฉากไม่ได้ช่วยส่งเสริมอารมณ์ของหนัง แต่เป็นเสียงประหลาดที่ขับเน้นความแปลกแยกของคนดูกับตัวละครหลัก หากแต่เมื่อหนังดำเนินไป นางเอกก็เหมือนจะเรียนรู้ความเป็นมนุษย์มากขึ้น และดนตรีก็เริ่มสื่อสารกับผู้ชมเช่นกัน
Under the Skin ยังถูกมองในฐานะหนังการเมืองด้วย เช่นว่ามนุษย์ต่างดาวพูดด้วยสำเนียงอังกฤษ แต่ผู้คนรอบตัวเธอสนทนาเป็นสำเนียงสก็อตติช บ้างก็ว่านี่คือนัยเรื่องการแยกตัวเป็นอิสระของสก็อตแลนด์ และหากนำภาพยนตร์เรื่องนี้มาดูใหม่ในปัจจุบันท่ามกลางบริบทความโกลาหลของ Brexit มันก็จะมีความหมายพิเศษใหม่ขึ้นมาทันที
จากการจัดอันดับมากมาย โพลที่ผู้เขียนมองว่าน่าสนใจมากคือโพลจาก Cahiers du Cinema นิตยสารภาพยนตร์ฝรั่งเศสชื่อดังที่เลือก Twin Peaks: The Return (2017) เป็นหนังแห่งทศวรรษ ประเด็นอยู่ที่มันไม่ใช่หนัง แต่เป็นซีรีส์ 18 ตอนที่ฉายทางช่อง Showtime นำมาซึ่งคำถามเรื่องเส้นแบ่งระหว่างภาพยนตร์และซีรีส์ว่ายังจำเป็นต้องแบ่งแยกชัดหรือไม่ ซีรีส์เป็นซับเซ็ตของภาพยนตร์หรือควรเป็นนับเป็นภาพยนตร์เลย ยังมีความจำเป็นต้องพิจารณาแยกกันหรือไม่ในการจัดอันดับหรือให้รางวัลต่างๆ
ความพร่าเลือนอีกอย่างที่เกิดขึ้นคือ หนังฉายในโรงภาพยนตร์กับหนังที่ฉายทางสตรีมมิ่ง หากเป็นสัก 2-3 ปีก่อน หนังสตรีมมิ่งมักถูกมอง (หรือ ‘เหยียด’) ว่าไม่ใช่ภาพยนตร์ ไม่ควรจะได้ชิงรางวัลในเวทีอย่างคานส์หรือออสการ์ แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าหนัง Netflix อย่าง ‘The Irishman’ และ ‘Marriage Story’ จะมีบทบาทสำคัญในงานออสการ์ปีหน้า เรื่องน่าคิดคือ The Irishman ถูกถ่ายทำมาในสเกลฉายโรง แต่มันก็ได้ฉายในโรงภาพยตร์อย่างจำกัด คนดูส่วนใหญ่ได้ดูทางสตรีมมิง มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ต้องออกมาขอร้องให้คนช่วยดูบนจอใหญ่ๆ อย่าดูในมือถือ แต่ก็เป็นเรื่องตลกร้ายว่าสกอร์เซซีต้องมาทำหนังกับ Netflix เพราะไม่มีสตูดิโอรายไหนยอมทุ่มเงินให้กับหนังเรื่องนี้
เช่นนั้นแล้วหนังสตรีมมิ่งจะมีคุณค่าเทียบเท่ากับหนังฉายโรงภาพยนตร์หรือไม่? และการดูหนังทางมือถือเป็นเรื่องผิดบาปหรือเปล่า? ฟังดูเป็นคำถามไร้สาระเสียเวลา แต่มันก็จะเป็นดราม่าต่อเนื่องไปจนถึงทศวรรษหน้า โดยเฉพาะในยุคที่สงครามสตรีมมิ่งดุเดือดหนักข้อมากขึ้นทุกที