อาจดูเป็นการตัดสินแบบฉาบฉวย หากแต่ภาพยนตร์บางเรื่องแค่เห็นโปสเตอร์หรือตัวอย่าง เราก็รู้แล้วว่านี่ไม่ใช่หนังสำหรับเรา ในทางกลับกัน หนังบางเรื่องดูไปเพียง 30 วินาทีก็มั่นใจว่านี่คือ ‘หนังของเรา’ ปรากฏการณ์นี้เพิ่งเกิดขึ้นกับผู้เขียนจากการชมภาพยนตร์เรื่อง ‘Never Rarely Sometimes Always’ หนังเปิดฉากด้วยนางเอกขึ้นเวทีไปร้องเพลง He’s Got the Power ของ The Exciters ในเวอร์ชันหน้าตายแต่สุดแสนร้าวราน ทันใดนั้นมีชายหนุ่มตะโกนด่าเธอว่า “อีร่าน!” แต่เธอก็ยังร้องเพลงต่อไปจนจบ
Never Rarely Sometimes Always เป็นภาพยนตร์อเมริกันโดยผู้กำกับหญิง เอลิซา ฮิตต์แมน (Eliza Hittman) เธอสร้างชื่อจาก Beach Rats (2017) ว่าด้วยเด็กหนุ่มที่กำลังสับสนกับเพศสภาพของตัวเอง ส่วน Never Rarely Sometimes Always ผลงานล่าสุดของเธอเปิดตัวที่เทศกาลหนังซันแดนซ์เมื่อต้นปี ค.ศ.2020 และได้คำชมอย่างล้นหลาม ต่อมาคว้ารางวัล Jury Grand Prix (รองชนะเลิศ) ที่เทศกาลหนังเบอร์ลิน หนังเข้าฉายอเมริกาช่วงเดือนมีนาคม แต่ด้วย COVID-19 หนังจึงมาฉายทางวิดีโอออนดีมานด์แทน เป็นอานิสงส์ที่ทำให้ชาวไทยอย่างเราๆ หาดูได้อย่างไม่ยากนัก
บทความนี้ไม่จำเป็นต้องติดคำเตือนน่าเบื่อประเภท “บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์” แต่อย่างใด เพราะเนื้อเรื่องของ Never สามารถเล่าจบได้เพียงในประโยคเดียว นั่นคือ “เด็กสาวบ้านนอกสองคน-ออทัมน์และสกายลาร์-เดินทางไปนิวยอร์กเพื่อทำแท้ง” จบ หนังทั้งเรื่องมีแก่นสำคัญเพียงเท่านี้จริงๆ หากแต่ระหว่างทางนั้นมีสิ่งล้ำค่าให้เราตักตวงอย่างมหาศาล
ในยุคแห่งภาพยนตร์ดิจิทัล หนังเรื่องนี้กลับเลือกถ่ายด้วยฟิล์ม 16 มม. นำมาซึ่งภาพเกรนแตกและละเอียดอ่อนไม่ต่างอะไรกับสภาพจิตใจของสองตัวละครหลัก หนังไม่ได้พยายามตัดสินตัวละครหรือมอบบทเรียนทางศีลธรรมใดๆ ทั้งสิ้น หน้าที่ของมันคือการตามติดออทัมน์ผู้ตัดสินใจแน่วแน่ว่า “ฉันจะทำแท้ง” และพาไปดูว่าเธอต้องพบเจออะไรบ้าง เช่น ชายหนุ่มบนรถทัวร์มาจีบเพื่อนของเธอ หรือระบบรถไฟใต้ดินอันแสนวุ่นวายของเมืองนิวยอร์ก
แม้ Never Rarely Sometimes Always จะไม่ได้ทำตัวเป็นหนัง ‘วิพากษ์สังคม’ อย่างออกหน้าออกตา แต่ภายใต้ความสงบมันก็สามารถสะท้อนประเด็นชวนขบคิดได้ การที่ออทัมน์ไม่สามารถทำแท้งในบ้านเกิดเพราะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง เธอเลยต้องดั้นด้นมานิวยอร์กด้วยวิธีการประหยัดที่สุด ทำให้เห็นผลกระทบของการที่แต่ละรัฐของอเมริกามีกฎหมายแตกต่างกัน
ถึงกระนั้นชีวิตออทัมน์ก็พอจะมีทางเลือกที่รองรับการตัดสินใจของเธอ เมื่อมาถึงนิวยอร์กเธอได้พบหน่วยงานที่พร้อมจะดูแลเธออย่างดี ช่วงกลางเรื่องของ Never กลายเป็นหนังสารคดีอย่างกลายๆ หนังพาไปดูว่าการที่นางเอกจะทำแท้งเธอต้องผ่าน ‘กระบวนการ’ อะไรบ้าง ตั้งแต่การติดต่อ ส่งตัว สัมภาษณ์ พูดคุยกับที่ปรึกษา ฯลฯ นำมาซึ่งฉากที่เจ็บปวดที่สุดของหนังเมื่อเจ้าหน้าที่พูดคุยกันออทัมน์อย่างยาวนาน (ฉากนี้ยาวราว 10 นาที) เจ้าหน้าที่ถามถึงสาเหตุการทำแท้งแบบเข้าอกเข้าใจปราศจากอคติ ส่วนฝั่งออทัมน์แม้จะอมพะนำไม่ยอมบอกที่มา แต่เราก็อ่านสีหน้าได้ว่าเธอผ่านความเลวร้ายมากมาย
การชมภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนอดนึกถึงหนังโรมาเนียรางวัลปาล์มทองเรื่อง 4 Months, 3 Weeks and 2 Days (2007) อย่างช่วยไม่ได้ เพราะมันเล่าถึงผู้หญิงสองคนที่พยายามทำแท้งเหมือนกัน หากแต่ 4 Months เป็นเรื่องราวในยุคคอมมิวนิสต์ของ นิโคไล เชาเชสกู บรรยากาศจึงเต็มไปด้วยความเย็นชาและตึงเครียด ส่วนโลกใน Never Rarely Sometimes Always นางเอกนั้นพอจะมีทางออก มีลักษณะที่ผ่อนคลายกว่าและมีประกายแห่งความสดใสเผยให้เห็นอยู่บ้าง แม้จะเป็นเพียงเวลาชั่วเสี้ยววินาที
สไตล์การตามติดตัวละครของ Never Rarely Sometimes Always ยังคล้ายกับผลงานของพี่น้องดาร์เดนน์ (Dardenne brothers) นักทำหนังชาวเบลเยียมที่มักสำรวจชีวิตของหนุ่มสาวชนชั้นล่าง (เช่น Rosetta (1999)-เด็กสาวที่พยายามฆ่าตัวตาย หรือ The Child (2005)-คุณแม่วัยใสที่ค้นพบว่าแฟนหนุ่มเอาลูกไปขาย) หากแต่หนังของพี่น้องดาร์เดนน์มักเน้นความสมจริงแบบดิบๆ จนผู้กำกับเลือกไม่ใส่ดนตรีประกอบในหนัง ส่วน Never Rarely Sometimes Always มีสกอร์ของ จูเลีย โฮลเตอร์ (Julia Holter) ศิลปินอาร์ตป๊อปคนดัง เธอเลือกทำดนตรีแบบมินิมอลที่ไม่โดดเด่นจนเกินไป จนเป็นเหมือนเสียงแอมเบียนต์มากกว่าดนตรีที่ชี้นำทางอารมณ์
ถึงจะทำให้คิดถึงหนังเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ Never Rarely Sometimes Always ก็เป็นผลงานที่มีจิตวิญญาณของตัวเอง ความโดดเด่นประการแรกคือนักแสดงทั้งสองของเรื่อง ซิดนีย์ ฟลานิแกน (Sidney Flanigan) อาจจะทำหน้าตายทั้งเรื่อง แต่มันไม่ใช่การแสดงแบบไร้วิญญาณ เธอทำให้เชื่อได้ว่าตัวละครนี้มีอะไรซ่อนไว้มากมาย ส่วน ทาเลีย ไรเดอร์ (Talia Ryder) ผู้รับบทสกายลาร์ หากไปแอบส่องอินสตาแกรมของเธอก็จะพบว่าเธอคือสาวเปรี้ยวร้อนแรง แต่ในเรื่องนี้เธอเล่นเป็นเด็กสาวผู้ไร้ความมั่นใจได้อย่างแนบเนียน
อีกจุดที่ผู้เขียนชอบเป็นพิเศษในเรื่องนี้ คือการใช้เพลงที่แสนจะผิดยุคสมัย แม้เหล่าหนุ่มสาวในเรื่องจะเป็นเด็กยุคสมาร์ทโฟน แต่เพลงที่พวกเขาฟังหรือร้องคาราโอเกะกลับเป็นเพลงจากยุค 60-80 ล้วนๆ ไม่ว่าจะ The Exciters, A Flock of Seagulls หรือ Gerry and the Pacemakers ซึ่งความย้อนแย้งนี้ก็เข้ากับตัวหนังได้อย่างน่าประหลาด
เอาเข้าจริงแล้ววงการภาพยนตร์เคยผลิตหนังที่ว่าด้วยการทำแท้งมากมาย อาทิ Vera Drake (2004), Palindromes (2004), Juno (2007) ทว่าข้อถกเถียงว่าด้วยการทำแท้งไม่เคยจบสิ้น อย่างเมื่อปี ค.ศ.2019 บางรัฐของอเมริกาพยายามผ่านกฎหมาย Fetal Heartbeat Bill (ร่างกฎหมายชีพจรตัวอ่อน) ที่ห้ามทำแท้งหากตรวจพบสัญญาณชีพจรของตัวอ่อนในครรภ์ ซึ่ง Never Rarely Sometimes Always อาจไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้โดยตรง หากแต่มันก็ทำให้ผู้คนได้กลับมาทบทวนถึงสิทธิการตัดสินใจของผู้หญิงและความสำคัญของการทำให้การทำแท้งเป็นเรื่องถูกกฎหมายและปลอดภัย