เกิดมาก็ไม่ได้คิกขุเหมือนอย่างใครเขา โชว์ตัวที่ไหนคนก็ผวา วิวัฒนาการอาจไม่ได้ออกแบบให้พวกมันน่าทะนุถนอมนัก พาหิ้วไปเดิน Eastville เก๋ๆ ก็ไม่ได้ แต่สัตว์เหล่านี้ที่คุณคุ้นเคยมาทั้งชีวิต สร้างความสมดุลให้กับชีวิตของพวกเราอยู่เงียบๆ แน่ล่ะ! ใกล้ตัวไปหัวใจมักห่างเหินเป็นธรรมดา
เพลง บัวชมพู ฟอร์ด เขาก็ว่า “ไม่รักไม่ว่า (แต่อย่าทำร้ายกัน)” แต่ไหงชีวิตสัตว์ใกล้ตัวถึงมักโดนตีตายทุกทีที่ปรากฏ อาจเป็นเพราะพลัง ‘ความกลัว’ ที่ฝังหัวกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ผู้หลักผู้ใหญ่สอนมา ขอเชื่อไว้ก่อนนะคะ จนอาจทำให้เราพลาดสังเกตพฤติกรรมอันแท้จริงที่ธรรมชาติรังสรรค์มาอย่างละเอียดลออ แต่วิทยาศาสตร์แวดวงชีววิทยาไปไกลกว่าแค่ความเชื่อไร้มูลฐานนั้นแล้ว
หากคุณแน่ใจว่า ‘การมีชีวิต’ เป็นสิ่งมหัศจรรย์ ทำไมชีวิตของคนอื่นจะไม่มหัศจรรย์บ้างล่ะ?
พบกับ 10 สัตว์พื้นบ้านไทยที่แอบงอนคุณเล็กๆ และทำไมยังมีมนุษย์ที่ยังเข้าอกเข้าใจพวกมันอยู่ ประตูหัวใจของคุณยังไม่ปิดสนิทหรอก เชื่อสิ!
1. จระเข้
ระดับความงอน 4/5
ไปเที่ยวเล่นริมน้ำ จุ่มขาเพลินๆ ดันนึกถึงชะตากรรมของ ‘ตะเภาแก้ว ตะเภาทอง’ ก็ขนลุกซู่ ‘เจ้าชาละวัน’ จะคว้าเราทำเมียไหมนะ ก็เมืองบาดาลไม่มีบิงซูให้กินนี่หว่า
จระเข้มักรับบทตัวร้ายในหน้าประวัติศาสตร์ไทย แต่ความเป็นจริงที่เจ็บปวดคือ จระเข้ในธรรมชาติของไทยเกือบจะสูญพันธุ์และเป็นสัตว์หายาก ไม่ได้พบตัวได้บ่อยๆ มนุษย์เจอทีก็ตื่นตูมกลัวจะมางาบ แต่ในเชิงสถิติแล้วเป็นไปได้น้อยมากที่จระเข้จะทำร้ายคน สถิติปี 2551 – 2556 มีจระเข้เพียง 15 ชนิดจากทั่วทั้งโลกทำร้ายคนเพียง 1,237 ครั้งเท่านั้น และไม่ใช่สายพันธุ์ที่อาศัยในประเทศไทย (ส่วนใหญ่อยู่ในออสเตรเลียและแอฟริกา) อัตราการตายจากอุบัติเหตุเมาแล้วขับเยอะกว่าไม่รู้กี่เท่า
จระเข้เป็นสัตว์เก่าแก่ อาจอยู่มาก่อนหรือพอๆ กับยุคไดโนเสาร์ราว 200 ล้านปีในยุค Triassic ซึ่งโครงสร้างทางกายภาพแทบไม่ได้เปลี่ยนไปและมีความหลากหลายของขนาด สำหรับประเทศไทยมีจระเข้ที่ยังมีชีวิตอยู่ 3 ชนิด คือ จระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม ตะโขง เฉพาะจระเข้น้ำจืดไทยนั้นสูญพันธุ์ไปเกือบหมดประเทศแล้ว แต่จระเข้น้ำเค็มยังพบอยู่ประปราย ในแถบอันดามันของประเทศไทย จังหวัดพังงา ภูเก็ต และหมู่เกาะตะรุเตา (กรุงเทพฯ ในอดีตก็เคยมีรายงานค้นพบเพียงตัวเล็กๆ)
จระเข้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพนิเวศของป่า แม่น้ำ และเป็นตัวคัดพันธุกรรมสัตว์ป่าที่อ่อนแอออกจากระบบนิเวศ พวกมันเป็นนักล่าที่มีการเปลี่ยนอาหารไปเรื่อยๆ ตามขนาดตัว พบจระเข้ที่ไหน แสดงว่าป่ามีความอุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง กวาง เก้งชุกชุม ซึ่งมนุษย์ไม่ได้จัดเป็น Main Course ในเมนูพวกมันเลย
2. ค้างคาวกินแมลง
ระดับความงอน 3/5
ผู้มาเยือนแห่งรัตติกาล มากับใบหน้าที่เหมือนลุออกมากกลางคันขณะที่หมอศัลฯเกาหลีกำลังเคาะหน้า ค้างคาวกินผลไม้อาจมีหน้าตาน่ารักเหมือนลูกหมาห้อยหัว แต่ ‘ค้างคาวกินแมลง’ นั้นต่างกัน หลายคนไม่ชอบใบหน้าพิลึกผิดรูปทรง แต่นั่นคือความมหัศจรรย์ของวิวัฒนาการที่ออกแบบมาอย่างบรรจง
อาณาจักรค้างคาวถือว่ามีความหลากหลายของชนิดสูงมากถึง 1,400 ชนิด เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่บินได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่การร่อน พบได้ทั่วโลกยกเว้นขั้วโลกเหนือ อาจมีอายุยืน 5-10 ปี หรือถึง 30 ปี
ค้างคาวมีชีวิตที่ผาดโผน โดยเฉพาะค้าวคาวกินแมลง มีกลไกการระบุตำแหน่งอาหารซับซ้อน โดยพวกมันใช้ Echo Location ส่งคลื่นความถี่สูง 20-200 kHz ส่งไปสะท้อนแมลงกลางอากาศให้กลับมาเพื่อระบุตำแหน่ง ธรรมชาติจึงพัฒนาหน้าตาแปลกๆ หูใหญ่ โครงสร้างจมูกซับซ้อน เพื่อให้สามารถส่งคลื่นเสียงได้ละเอียด
บ้านคุณเองอาจเป็นที่พำนักของค้าวคาวกินแมลงก็ได้ เพราะพวกมันไม่อาศัยในถ้ำ อยู่ได้ในที่แสงรำไรไม่ต้องมืดสนิท มีนิสัยไม่ดุร้าย ไม่ทำลายข้าวของให้ปวดหัว หากคุณชอบบ่นว่า บ้านมียุงเยอะ ค้างคาวกินผลไม้ 1 ตัวสามารถกินยุงได้ถึง 3,000 ตัว ทำหน้าที่ควบคุมประชากรแมลงอย่างมีประสิทธิภาพ
แม้คุณจะโอเคกับค้างคาวและเห็นความน่ารักบ้าง แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ไม่แนะนำให้เลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง เพราะอาจเป็นพาหะแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้าได้ หากบังเอิญเจอพวกเขาเกาะอยู่ชายคาบ้าน ก็ปล่อยให้เขามีชีวิตแบบนั้นต่อไปเถอะ
3. ทากดูดเลือด
ระดับความงอน 3/5
หลายคนมีข้ออ้างขอบายไม่เดินป่าก็เพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับ ‘ทากดูดเลือด’ การที่เห็นพวกมันค่อยๆ คืบคลานบนขาอ่อน อาจทำให้คนจิตใจไม่พร้อม ขออยู่บ้านนอนดูซีรีส์
ชีวิต ‘ทาก’ ยังคงเป็นเรื่องลี้ลับ มีคนศึกษาน้อยมาก คุณสามารถพบทากในเขตร้อนชื้นเป็นหลัก ขนาดตัวเพียง 1 – 5 เซนติเมตร หากพิจารณาใกล้ๆ จะเห็นว่าทากมีลวดลายสีสันสวยงาม (แต่ไม่ค่อยมีใครหยุดดู)
ประเทศไทยมีทากดูดเลือดถึง 7 ชนิด ทากบางชนิดจะรู้สึกเจ็บเมื่อโดนกัด แต่ส่วนใหญ่เรามักไม่รู้สึกตัว อาหารหลักคือเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในป่า กวาง เก้ง ควาย แพะ กบ งู เต่าบก หรือมนุษย์
ทากไม่ได้กระหายเลือดขนาดนั้น การกินเลือดเพียง 3-4 ครั้งของมันสามารถอยู่ได้เป็นเดือน โดยไม่ต้องกินอีก ทากมีการเจริญเติบโตแบบขั้นบันได ไม่มีระยะตัวอ่อน หน้าตาจึงออกมาเหมือนพ่อแม่ทุกประการ
ปัจจุบันยังคงเป็นปริศนาว่าในช่วงหน้าแล้ง ทากหนีไปไหนหมด มีทฤษฎีว่าพวกมันจำศีลในดินในชั้นที่ลึกลงไป หรืออพยพไปในพื้นที่ที่มีความชื้นมากกว่า
4. ตุ๊กแก
ระดับความงอน 4/5
ได้ยินเสียงร้องทักหลังประตูห้องน้ำ แต่จะให้แง้มดูใจก็ไม่ถึง ตุ๊กแกเป็นยอดนินจาแห่งซอกหลืบ สัตว์เลือดเย็น ตาดวงใหญ่ไม่มีเปลือกตา หางสามารถงอกใหม่ได้ และเท้าสามารถยึดได้เกือบทุกพื้นผิว
ในประเทศไทยมีตุ๊กแก 10 สกุล (หรืออาจ 11) มีทั้งหมด 78 ชนิด มีรายงานการค้นพบสายพันธุ์ใหม่ทุกๆ ปี ตุ๊กแกแต่ละชนิดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่จะไม่เจอในที่อื่น (Endemic species) มีทั้งชนิดที่หากินเวลากลางวันและกลางคืน บางชนิดร้องได้และบางชนิดก็ร้องไม่ได้
วิทยาศาสตร์สนใจความลับของตุ๊กแกมานาน เพราะเทคโนโลยีนาโนที่ติดตัวมากับธรรมชาติทำให้ตีนตุ๊กแกยึดติดกับทุกพื้นผิวโดยไม่ต้องออกแรงกล้ามเนื้ออะไรเลย เพียงนิ้วเดียวของตุ๊กแกสามารถรับน้ำหนักตัวได้สบาย มันจึงเป็นผู้เชี่ยวชาญฟิสิกส์ตัวยงในบ้านคุณ (ลองเอาการบ้านฟิสิกส์ไปถามสิ)
ตุ๊กแกไม่ได้แพร่พันธุ์ง่ายนัก สืบพันธุ์ค่อนข้างช้าด้วยซ้ำ มันวางไข่เพียงครั้งละ 2 ฟอง ปีละ 1 หน ดังนั้นหากตุ๊กแกถูกจับไป จำนวนประชากรจะลดลงเร็วมาก ทั้งที่มันเป็นผู้ควบคุมประชากรที่นิสัยดีที่สุด เพราะมันช่วยลดจำนวน ‘แมลงสาบ’ ในบ้านไม่ให้รังควาญใจคุณ แถมขออยู่เงียบๆ มืดๆ อีกต่างหาก
5. ตะขาบ
ระดับความงอน 5/5
ถ้าภาพการพ่นตะขาบออกจากปากในละครฮิต ‘ทายาทอสูร’ ยังติดตา คุณก็อาจทำใจรักตะขาบยากนิดหน่อย (แต่ยังเปลี่ยนความคิดทัน) คนไทยคุ้นเคยกับตะขาบผ่านตำนานพื้นบ้าน โดยมักมีภาพลักษณ์น่ากลัวอยู่ตลอดเวลา จนตะขาบน่าจะจ้าง PR จากเอเจนซี่ดังๆ มาช่วยกู้ชื่อเสียงหน่อย
ตะขาบได้รับสมญานามว่า ‘อัญมณีแห่งผืนดิน’ จากความสวยงามของสีสันและลวดลายที่เหมือนภาพศิลปะแนว Expressionism ชั้นดี จนระยะหลังมีผู้สนใจเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ตะขาบน่าจะมีอยู่ในโลกประมาณ 8,000 ชนิด แต่ค้นพบเพียง 3,000 ชนิดเท่านั้น ล่าสุดทีมนักวิจัยชาวไทยทำให้โลกฮือฮาด้วยการค้นพบ ‘ตะขาบน้ำตก’ Scolopendra cataracta ที่สามารถว่ายน้ำได้รวดเร็ว กินปลาเป็นอาหาร
จำนวนปล้องของลำตัวตะขาบจะเป็นเลขคี่เสมอ 1 ปล้องมีขา 1 คู่ (ต่างจากกิ้งกือที่ 1 ปล้องมีขา 2 คู่) แม้เป็นนักล่าที่รวดเร็วสลาตัน แต่ตาดันถั่ว มันจึงใช้หนวดยาวๆ ยื่นไปข้างหน้าในการคลำทางเพื่อให้เคลื่อนที่รวดเร็ว ตะขาบจำเป็นต้องอาศัยใกล้แหล่งน้ำเสมอและขาดน้ำไม่ได้ เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำได้ง่ายมาก
พิษวิทยาของตะขาบถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์มานานหลายพันปี แต่ชีวิตลึกลับของพวกมันยังคงเป็นปริศนา เพราะมีผู้ศึกษาน้อยมากเมื่อเทียบกับความหลากหลายทางสายพันธุ์ของตะขาบที่รอการค้นพบ
6. คางคกบ้าน
ระดับความงอน 3/5
ชีวิตคางคกอยู่กับวัฒนธรรมไทยตลอดเวลา โดยเฉพาะในแถบลุ่มแม่น้ำโขงผ่านเรื่องเล่า ‘พญาคันคาก พญาแถน’
คางคกเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์และการมาเยือนของหน้าฝน แต่เมื่อสังคมเมืองห่างไกลวิถีเกษตรกรรม คางคกถูกมองว่าเป็นสัตว์สร้างความรำคาญและมักถูกรถเหยียบแบนติดล้อทุกที
ในประเทศไทยมีคางคกทั้งหมด 6 สกุล คางคกบ้านมีการกระจายพันธุ์ไปหลายพื้นที่ ส่วนหนึ่งกลายเป็นสัตว์ต่างถิ่น (Alien Specie) ไปคุกคามสัตว์ประจำถิ่นก็มี
คางคกขึ้นชื่อว่ามีกลไกป้องกันตัวตลอดชีวิต โดยการใช้ ‘พิษ’ ที่แยบคายจากต่อมพิษบริเวณหลังตา
แม้แต่ไข่คางคกที่ยาวเป็นสายก็มีพิษ ตอนเป็นลูกอ๊อดก็ยังมีพิษเพื่อป้องกันตัวจากผู้ล่า แต่มนุษย์ใช้ประโยชน์จากพิษคางคกได้เยอะ ยางคางคกตากแห้งใช้ผลิตยากระตุ้นหัวใจ แก้หายใจติดขัด คลื่นไส้อาเจียน ฯลฯ
7. แมงมุม
ระดับความงอน 4/5
โลกของแมงมุมมีความซับซ้อนสูง แต่เรามักถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า แมงมุมเป็นสัตว์ดุร้าย นักล่อลวง รอคอยเหยื่อให้มาติดกับ แมงมุมจึงมีชื่อเสียงไม่ดีเท่าไหร่ในระดับสากล
แมงมุมถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือแมงมุมโบราณ และแมงมุมสมัยใหม่ พบได้เกือบทั่วโลก ยกเว้นบริเวณขั้วโลกที่หนาวเย็น แม้สิ่งที่ทำให้แมงมุมโดดเด่นมากคือทักษะการสร้างใย แต่ยังมีแมงมุมสายพันธุ์จำนวนมากที่ไม่ชักใยอยู่ด้วยเช่นกัน
คาดว่ามีแมงมุมที่ถูกค้นพบถึง 30,000 ชนิดทั่วโลก ในประเทศไทยพบเพียง 2,000 ชนิด แต่น่าจะมีมากกว่านั้น (หากมีคนสนใจแมงมุมมากขึ้น อาจค้นพบมากกว่านี้)
นักวิทยาศาสตร์หลงใหล ‘ใยแมงมุม’ ตลอดเวลา มันเป็นเส้นใยคุณสมบัติพิเศษที่ไม่เหมือนกับเส้นผมมนุษย์ หรือเส้นใยสังเคราะห์ใดๆ เลย โดยใยแมงมุมจะ ‘ไม่บิดตัวเอง’ ซึ่งอาศัยการกระจายพลังอย่างรวดเร็วจากโคนสู่ปลาย หากเราสามารถนำความรู้นี้ไปปรับใช้กับนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อป้องกันการบิดหรือพันกันของเส้นใย เช่น สายร่มชูชีพ บันไดเชือกกู้ชีพ หรือเชือกนิรภัย ก็อาจช่วยชีวิตมนุษย์ได้อย่างมากโดยไม่ต้องรอให้ใครกลายพันธุ์เป็นสไปเดอร์แมน
8. เหี้ย
ระดับความงอน 4/5
ชวนสาวไปเดทที่สวนสาธารณะ ปั่นเรือเป็ดออกไปกลางน้ำกะขอเป็นแฟนแบบโรแมนติกๆ ‘เหี้ย’ ดันตะกายขึ้นมาซะงั้น จนต้องร้องเหี้ย! เสียลุคหมดเลย
ฝรั่งเรียกเหี้ยว่า Varanus salvator โดยคำว่า salvator ในภาษาละตินแปลว่า ผู้เยียวยา ผู้รักษา แต่ในเมืองไทยดันไปเชื่อมโยงกับความอัปมงคล อาจมีหลักฐานทางภาษาย้อนไปในยุค ร.2 เกิดกบฏอั้งยี่ของชาวจีน โดยในภาษาจีนในเรียก ‘ตั่วเฮีย’ (พี่ใหญ่) ออกปล้นสะดมจนสร้างความเกลียดชัง ซึ่งอาจมาพ้องเสียงกับ ‘ตัวเหี้ย’ จนกลายเป็นความอัปมงคลไป
เหี้ยอาศัยใกล้แหล่งน้ำ อยู่ได้ในทุกสภาพป่า เป็นนักล่าอันดับบนๆ ของห่วงโซ่ จนได้สมญานามว่า ‘เสือดาวแห่งป่าคอนกรีต’
เหี้ยไม่เลือกกินมาก พวกมันเอ็นจอยกับการรับประทานอาหารหลากหลายราวนักชิมมิชลินสตาร์ เป็นทั้งนักล่าและสัตว์กินซากในเวลาเดียวกัน เหี้ยกินปลา กบ นก หนู งู ปู เต่า จระเข้ตัวเล็กๆ และไข่จระเข้ ที่สำคัญพวกมันกิน ‘ขยะ’ เกือบทุกประเภทที่คุณทิ้งลงในแม่น้ำ (ยกเว้นพลาสติก) ต้องให้เครดิตกับระบบย่อยอาหารของมันที่มีโปรตโตซัวเข้มแข็ง และมีกระบวนการเผาผลาญพลังงานสูง (High metabolism rate) จึงบังคับให้มันต้องกินบ่อยๆ และออกล่าอยู่เนืองๆ
หากไม่มีเหี้ยเลย แหล่งน้ำอาจเต็มไปด้วยซากเน่าเปื่อยและโรคติดต่อ เหี้ยเป็นผู้ควบคุมประชากรหนูที่ยอดเยี่ยม เพื่อไม่ให้เกิดโรคระบาด
9. งูเหลือม 10. งูเขียวพระอินทร์
ระดับความงอน 5/5
มาสู่อันดับสุดท้ายของสัตว์อาภัพที่สุดตลอดกาล เห็นเมื่อไหร่ก็ต้องฟาดเอาให้ได้ จนมาเป็นสุภาษิต ‘ตีงูให้หลังหัก’ หากเอาไม่ถึงตาย มันจะกลับมาล้างแค้น
ความกลัวอาถรรพ์งูทำให้มนุษย์ทำร้ายงูจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอันตรายเราเลย จากสายพันธุ์งูในโลกทั้งหมด มีงูพิษเพียง 30% เท่านั้น และอีกแค่ 10% ที่มีพิษเพียงพอให้มนุษย์เสียชีวิต
งูเหลือมเป็นงูขนาดใหญ่ ในกรุงเทพฯ พบได้บ่อยมากขึ้นจากระบบท่อน้ำในเมืองหลวงที่เป็นโครงข่ายอันมืดมิดและเปียกชื้น หรือภาวะดินทรุดใต้ถุนบ้าน ก่อให้เกิดโพรงดินที่งูเหลือมสามารถเข้าไปอาศัยอยู่ ผนวกกับประชากรหนูที่เพิ่มจำนวนขึ้น ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้คุณมีโอกาสเจองูเหลือมมากขึ้น งูเหลือมแม้ไม่มีพิษ แต่ด้วยขนาดตัวของมัน สัตว์เลี้ยงจึงอาจเป็นอาหารที่มันหมายปองไว้
ส่วน ‘งูเขี้ยวพระอินทร์’ เป็นงูสามัญประจำบ้านเช่นกัน มีพิษเพียงอ่อนๆ ไม่อันตรายต่อมนุษย์ แต่มักถูกจำสับสนกับ ‘งูเขี้ยวหางไหม้’ ซึ่งมีพิษที่ค่อนข้างอันตรายจึงถูกเหมารวมตีตายทุกครั้ง งูเขียวพระอินทร์ชอบอาศัยอยู่ตามซอกมุมบ้าน ซุ้มไม้ โพรงไม้ ออกหากินในเวลากลางวัน กิน กิ้งก่า จิ้งจก ลูกนก
หากคุณไม่โอเคที่จะอยู่ร่วมกับงู ต้องป้องกันโดยแก้เหตุจูงใจให้งูอยากเข้าบ้านโดยการกำจัดหนู จัดบ้านให้สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่รกรุงรัง ทิ้งขยะให้มิดชิดเพื่อไม่ให้หนูกิน เมื่อประชากรหนูลดลง งูก็จะลดลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรโชว์พลังโดยการไล่งูเอง เพราะแม้ไล่วันนี้ วันถัดไปอาจกลับมาอีก หรือแย่กว่าเดิมหากงูพุ่งฉกหรือกัด เพียงถอยดูอยู่ห่างๆ โดยจับตาดูการเคลื่อนไหว กันสมาชิกในบ้านให้อยู่ห่าง ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือสัตว์เลี้ยง และพึงคำนึงไว้เสมอว่า “หากเราไม่ทำร้ายงูก่อน งูก็จะหลีกเลี่ยงไม่ทำร้ายมนุษย์เช่นกัน”
จากนั้นแจ้งกู้ภัย 1669 หรือเข้าไปในกรุ๊ปไลน์ ‘สายด่วนงูเข้าบ้าน’ เพื่อสามารถขอให้ช่วยจำแนกชนิดงูที่เข้าบ้านได้
ขอขอบคุณ
สรณรัชฏ์ กาญจาพาณิชย์ ประธานกรรมการ มูลนิธิโลกสีเขียว
ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ด้านระบบนิเวศน้ำจืด
ดร. ธงชัย งามประเสริฐวงศ์ นักวิจัย ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (siamensis.org)
วรพจน์ บุญความดี นักวิจัยชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา
อธิปัตย์ อู่ศิลปกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านแมงมุม ฝ่ายสื่อสารสิ่งแวดล้อม มูลนิธิโลกสีเขียว
รุจิระ มหาพรหม นักวิจัยสัตว์ป่า ฝ่ายอนุรักษ์ สำนักอนุรักษ์และวิจัยองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมป์
มนตรี สุมณฑา นักวิชาการประมง สถานีประมงทะเลจังหวัดระนอง