ผืนป่าตะวันตก คือพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ประกอบไปด้วยพื้นที่อนุรักษ์ 17 แห่งที่ครอบคลุมพื้นที่ 11.7 ล้านไร่ (ประมาณ 18,720 ตารางกิโลเมตร หรือมีพื้นที่เท่ากับสระว่ายน้ำมาตรฐานโอลิมปิก 14,976,000 สระ) โดยมีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งอยู่ใจกลาง [1] นับเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และอยู่ในพื้นที่ดูแลของมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
ขนาดอันไพศาลของผืนป่าตะวันตกเป็นที่รวบรวมขอบเขตการกระจายพันธุ์จากหลากหลายเขตสัตวภูมิศาสตร์ (zoogeographical range) มีรายงานสำรวจพบนกมากกว่า 490 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานมากกว่า 90 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกมากกว่า 40 ชนิด ปลามากกว่า 108 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า 150 ชนิด [2] รวมถึง ‘ผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 7’ (Big 7) อันได้แก่ ช้าง เสือโคร่ง เสือดาว ควายป่า วัวแดง กระทิง และสมเสร็จ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่สง่างามและหาชมได้ยาก [1] และนอกจากความหลากหลายของชนิดพันธุ์ที่โดดเด่นแล้ว ผืนป่าตะวันตกยังเป็นแหล่งของพรรณพืชหายาก แหล่งต้นน้ำ และแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญของประเทศ [3]
แต่ด้วยพื้นที่ขนาดมหาศาลสวนทางกับอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่และเครือข่ายเฝ้าระวัง ทำให้ผืนป่าตะวันตกยังไม่ปลอดจากการล่าสัตว์ผิดกฎหมายเสียทีเดียว
ฉันเจอเสือตัวใหญ่
ในกระบวนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมวงศ์เสือและแมว Panthera pardus หรือเสือดาวจัดเป็นเสือที่มีการกระจายพันธุ์กว้างขวางที่สุดชนิดหนึ่ง สามารถพบได้ทั้งในทวีปแอฟริกา เอเชีย และยุโรป [12] โดยแบ่งเป็น 9 ชนิดย่อยด้วยกัน [13] สำหรับในประเทศไทยนั้นพบได้ 1 ชนิดย่อยคือ Indochinese leopard (ชื่อวิทยาศาสตร์, Panthera pardus delacouri) ส่วนเสือดำที่แท้นั้นก็คือเสือดาวที่มีความผิดปกติในเม็ดสีอย่างที่เรียกว่า ‘เมลานิซึม’ (melanism) นั่นเอง ดังนั้น ลูกเสือภายในครอกเดียวกันอาจมีทั้งเสือดาวและเสือดำก็ได้
ปัจจุบัน เสือดาวทั่วโลกถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากการล่าและแหล่งที่อยู่อาศัยที่ลดน้อยลง บัญชีแดงของสหภาพเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN จัดให้เสือดาวอยู่ในสถานะสัตว์ป่าที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้การสูญพันธุ์ (Vulnerable) [13] และอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES [12] ประมาณว่ามีเสือดาวชนิดย่อยอินโดจีนเหลืออยู่ในธรรมชาติเพียง 970-2,500 ตัวเท่านั้น และหนึ่งในสองที่มั่นสุดท้ายของเสือดาวอินโดจีนก็คือแนวเชื่อมต่อป่าเทือกเขาตะนาวศรีระหว่างไทยและเมียนมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตกในประเทศไทยนี่เอง [14]
เหตุการณ์ควบคุมตัว นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และพวกอีก 3 คนหลังพบอาวุธปืน เนื้อเก้ง และซากไก่ฟ้าหลังเทา ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561 แล้วขยายพื้นที่ตรวจสอบจนนำไปสู่การค้นพบซากเสือดำถูกชำแหละถลกหนังในวันต่อมา [9] (ทั้งไก่ฟ้าหลังเทาและเสือดำต่างจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 [4] ห้ามล่า, ห้ามค้า, ห้ามครอบครองทั้งที่ยังมีชีวิตหรือซาก (เว้นแต่จะได้รับอนุญาต), ห้ามฆ่า นอกจากเพื่อปกป้องตนเองหรือผู้อื่นหรือทรัพย์สิน, หรือเหตุอื่นที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ควรแก่เหตุ) จนเพจคนอนุรักษ์ [5] จุดประเด็นให้เป็นข่าวครึกโครมในเช้าวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ตามหน้าสื่อหลายสำนักในที่สุด [6][7][8][10][11] อาจเป็นเรื่องสะเทือนใจแต่ไม่ประหลาดใจในความรู้สึกของคนไทยจำนวนมาก และยิ่งแปลกใจน้อยลงไปอีกเมื่อศาลจังหวัดทองผาภูมิอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีล่าสัตว์ป่าทั้ง 4 คนด้วยวงเงินคนละ 150,000 บาท ภายในเย็นวันเดียวกัน โดยทั้งหมดปฏิเสธทั้ง 9 ข้อกล่าวหา [15][16][17][18][19][20]
9 ข้อหาประกอบด้วย [15]
1. ข้อหาล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมิได้รับอนุญาต
2. ล่าสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
3. มีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต
4. พยายามล่าสัตว์ป่าในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
5. นำอาวุธปืนหรือเครื่องมือจับหรือล่าสัตว์ป่าเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต
6. รับไว้ช่วยเหลือซ่อนเร้นซากสัตว์ป่าที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
7. การเข้าไปในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต
8. เป็นความผิดลหุโทษ
9. มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนโดยไม่ได้รับอนุญาต (หนึ่งในนั้นคือ มัลลิเคอร์ 30-06 อย่างเดียวกันกับมรว. เชษฐา วราฤทธิ์ หัวหน้าคณะท่องไพรใน ‘เพชรพระอุมา’ จากปลายปากกาของ พนมเทียน นวนิยายผจญภัยขวัญใจของใครหลายๆ คนด้วยนะ) [21]
สำหรับคำกล่าวอ้างว่านายเปรมชัยเป็นแขกพิเศษของ ‘นาย’ นั้น[44] ในวันที่ 6 ก.พ. 2561 เวลา 14.00 น. น.ส.กาญจนา นิตยะ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานฯ ได้มีแถลงการณ์ปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้องกับนายเปรมชัย โดยกล่าวว่ามีคนติดต่อมาจริง แต่ได้แจ้งข้อมูลการเข้าพักในอุทยานเบื้องต้นพร้อมบอกให้ประสานกับทางเจ้าหน้าที่ไปตามขั้นตอนปกติ [22] ซึ่งตามระเบียบต้องประสานไปยังหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ฯ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจ พร้อมส่งหนังสือรายงานมายังสำนักเขตพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 แต่ นายธรรมรัตน์ วงศ์โสภา ผอ.สำนักอุทยานฯ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) ได้กล่าวปฏิเสธเช่นกันว่าตนยังไม่เห็นหนังสือขออนุญาตใดๆ [23]
นายวิเชียร ชินวงศ์ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศร ฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นผู้นำกำลังเข้าจับกุม ยังได้เปิดเผยผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย ว่า กระบวนการสอบปากคำและบันทึกการจับกุมล่าช้าออกไป 2 วัน เนื่องจากต้องใช้เวลาเดินทางและการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีในพื้นที่ป่า อีกทั้งนายเปรมชัยได้ร้องขอทนายความ ซึ่งต้องเดินทางมาจากกรุงเทพฯ [40] ทางไทยพีบีเอสยังมีการปล่อยคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นบันทึกเสียงพูดคุยในลักษณะพยายามเจรจาต่อรองระหว่างการควบคุมตัว (สามารถฟังเสียงได้ที่ news.thaipbs.or.th/content/269989)
เวลา 23.04 น. ของวันที่ 6 ก.พ. เพจ ‘แหม่มโพธิ์ดำ’ ได้เผยแพร่ภาพที่อ้างว่าเป็นหลักฐานสำคัญอันบ่งชี้ว่านายเปรมชัยมิได้กระทำความผิดในลักษณะนี้เป็นครั้งแรกอีกด้วย [24]
อิตาเลียนไทย
ในขณะที่หลายคนอาจเพิ่งเคยได้ยินชื่อของ นายเปรมชัย กรรณสูต ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) [25] แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ชื่อของ บริษัท อิตาเลียนไทย หนึ่งในสามยักษ์ใหญ่ธุรกิจรับเหมาของประเทศไทย [26] ปรากฏขึ้นพัวพันกับเหตุการณ์สำคัญในวงการอนุรักษ์ ตั้งแต่โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น [27] โครงการท่าน้ำเรือลึกทวาย [28] และโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี [29] ซึ่งแต่ละโครงการได้รับการคัดค้านอย่างหนักโดยอ้างอิงผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนและคุณภาพสิ่งแวดล้อมพื้นถิ่น
ยังไม่นับกรณีอุบัติเหตุดินถล่มในอุโมงค์ส่งน้ำแม่งัด-แม่กวงจนเป็นเหตุให้มีนักธรณีวิทยาเสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ถึง 2 สองคน เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 [30] และได้รับค่าจัดการงานศพคนละ 15,000 บาท (อย่างไรก็ตาม ทางครอบครัวของนักธรณีวิทยาทั้งสองได้ทำการยื่นฟ้องบริษัทเนื่องจากมองว่าไม่สมเหตุสมผลและไม่เชื่อว่าเหตุดังกล่าวเป็นเรื่องสุดวิสัยในวันที่ 17 มกราคม 2561 ที่ผ่านมา โดยได้ปฏิเสธทนายความของทางบริษัทที่เข้ามาเจรจาเสนอเงินค่าเยียวยาเพิ่มให้เป็นคนละ 500,000 บาท [31])
แลดูเป็นภาพลักษณ์ที่ย้อนแย้งกับบรรษัทภิบาลของบริษัทที่ว่าด้วยจริยธรรมธุรกิจและจรรยาบรรณ ซึ่งระบุว่าข้อพึงปฏิบัติของผู้บริหารต่อสังคมส่วนรวมนั้น รวมไปถึงการไม่กระทำการใด ๆ ที่จะมีผลเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม [32] นายเปรมชัย กรรณสูตยังเคยถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติเรียกไปรายงานตัวในปี 2557 โดยระบุว่าเป็นการขอปรึกษาเรื่องการจัดการน้ำอีกด้วย [33]
อีกโครงการพันล้านที่น่าจับตามองของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) น่าจะเป็นโครงการก่อสร้างทางเชื่อมผืนป่าและการขยายทางหลวงหมายเลข 304 (จ.ปราจีนบุรี-จ.นครราชสีมา) โครงการทางหลวงแรกของไทยที่มีการสร้างสะพานคู่และอุโมงค์ทางลอดเพื่อให้สัตว์ป่าข้าม แต่ข่าวดีของโครงการซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จพร้อมใช้ในต้นปีหน้านี้ [34] ก็อาจจะยังไม่พอกู้ภาพลักษณ์ของบริษัทในสายตาประชาชนทั่วไปคืนมาในเร็ววัน โดยในวันที่ 6 ก.พ. หุ้นของ บริษัท อิตาเลียนไทย ราคาเปิดอยู่ที่ 3.74 บาท และปิดตัวที่ 3.72 เป็นตัวเลขต่ำที่สุดในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา [35] แม้ว่าทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะยืนยันว่ากรณีผู้บริหารล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์ฯ เป็นเรื่องส่วนตัวและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงานของบริษัท [36]
ส่งท้าย
ก่อนเสียงปืนนัดนั้นของ คุณสืบ นาคะเสถียร จะดังขึ้นตอนรุ่งสางของวันที่ 1 กันยายน 2533 [37] เรื่องอื้อฉาวที่สุดของผืนป่าตะวันตกน่าจะเป็นกรณีคณะนายทหารและนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายคน (รวมทั้งเมตตา รุ่งรัตน์ นักแสดงชื่อดังในสมัยนั้น) เข้าไปฉลองวันเกิดและใช้อาวุธสงครามล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ระหว่างวันที่ 26-29 เมษายน 2516 ท่ามกลางความไม่พอใจของเจ้าหน้าที่อุทยาน สื่อมวลชน และนิสิตนักศึกษา
ต่อมาเมื่อคณะฯ เดินทางกลับด้วยเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก ลำหนึ่งได้เกิดอุบัติเหตุตกลงระหว่างทางที่จังหวัดนครปฐม จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 6 คน และเปิดเผยซากสัตว์ป่า โดยเฉพาะซากกระทิง เป็นจำนวนมาก นำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหาจำนวน 10 คน แต่แล้วในที่สุด ศาลได้ตัดสินยกฟ้อง 9 คนและลงโทษจำคุกเพียงพรานนำทางคือ นายแกละ หมื่นจำปา เป็นเวลา 6 เดือน [45]
เหตุการณ์ที่ดูเหมือนไม่มีอะไรผิดแปลกนี้เอง เมื่อบวกกับความไม่พอใจต่อคณะรัฐบาลในขณะนั้นที่สะสมมาเป็นเวลานาน ได้เป็นชนวนการออกหนังสือเปิดโปง ‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’ ซึ่งนำไปสู่ขบวนประท้วงของนิสิตนักศึกษาทุกสถาบันกว่า 50,000 คน และลุกลามเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ในที่สุด (สามารถอ่าน ‘บันทึกลับจากทุ่งใหญ่’ ได้ที่ https://plus.google.com/photos/102141609916549540610/albums/5487331476952683617/5487451825449337314) [38][39]
การลักลอบล่าสัตว์ในพื้นที่ต้องห้ามดูจะเป็นประเพณีในกลุ่มบุคคลที่มีรสนิยมชอบฆ่าสัตว์ที่ไม่มีทางสู้
วันท่ี 11 พฤศจิกายน 2555 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานฯ นำเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม พ.ต.ท.ธีรยุทธ เกตุมั่งมี และพวกอีก 8 คน ในป่าห้วยแม่ประโดน อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งในชั้นแรก พ.ต.ท.ธีรยุทธ ไม่ถูกสั่งฟ้องเพียงผู้เดียวจนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์เป็นวงกว้าง จนได้รับการพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 10 เดือนเมื่อคดีสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม 2560 [41]
จากข้างต้น เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมมีอยู่จริง แต่การยกกรณี ‘เก็บเห็ด’ ขึ้นมาเปรียบเทียบอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุด ศาลฎีกาตัดสินให้นายอุดมและนางแดง ศิริสอนจำคุกคนละ 5 ปี ฐานโค่นไม้สักไม้กระยาเลยที่เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ออกจากต้นจำนวน 700 ต้นในเขตป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง และร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 1,148 ท่อน …ซึ่งออกจะเกินการเก็บเห็ดไปมากอยู่ [42]
ในวันที่เงินและเส้นสายยังศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเดียวที่จะพอต่อกรได้คือความตระหนักรู้ของสาธารณชน
ทั้งในคดีนี้และคดีใหญ่ต่างๆ รวมทั้งการมองภาพรวมเพื่อไม่ให้คดีเปรมชัยเข้ามาเบี่ยงเบนความสำคัญของคดีอื่นๆ ที่เคยร้อนแรงพอๆ กัน พลังมวลชนนี้อาจไม่ยั่งยืนตลอดไป แต่ก็เป็นหน้าที่ของเราที่จะคอยเตือนกันและกันว่าเราทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายชุดเดียวกัน และขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเถรตรง ไม่หวั่นไหวต่อแรงกดดันและใบสั่ง (ถ้ามี)
ไม่ใช่แค่ผืนป่าตะวันตก แต่ป่าไม้เมืองไทยยังคงมีการลักลอบกระทำผิดอยู่อีกมาก ข้อมูลของปีงบประมาณ 2560 (1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560) จากกรมอุทยานฯ ระบุว่า มีการบุกรุกพื้นที่ 2,064 คดี มีการตัดไม้/ของป่า 1,631 คดี และคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า 553 คดี แต่มีสัตว์ของกลางที่ยังมีชีวิตถึง 4,850 ตัว และเป็นซากรวม 1,039 ซาก ในจำนวนนั้นเป็นเสือที่ยังมีชีวิต 3 และเป็นซาก 1 (ไม่ได้ระบุชนิด) [43] เราอาจต้องถามตัวเองว่า ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยจะให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสัตว์ป่า และเลิกให้ความสนใจกับค่านิยมลูกผู้ชายสมัยเก่าที่ทั้งล่าและทั้งเลี้ยง?
เริ่มกันง่ายๆ ด้วยการไม่สนับสนุนการล่าและซื้อขายสินค้าจากสัตว์ป่า และหากพบเห็นหรือสงสัย การค้า ล่า หรือครอบครองสัตว์ป่า สามารถโทรแจ้งได้ที่ 1362 ชุดปฎิบัติการพิเศษเหยี่ยวดง และ/หรือ 02-561-4813 กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.)
มาเป็นคนดี รักต้นไม้ รักสัตว์ป่า รักนกเงือกกันนะ!
Text by Siripannee Supratya
Cover Illustration by Kodchakorn Thammachart
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] seub.or.th
[2] นิตยสารสารคดี ปีที่ 18 ฉบับที่ 213 พฤศจิกายน 2545 sarakadee.com
[3] สาส์นสืบ ฉบับ คุณค่าป่าตะวันตก 20 ธันวาคม 2553 ebooks.in.th
[4] web3.dnp.go.th
[5] facebook.com/Khonanurak
[6] khaosod.co.th
[7] matichon.co.th
[8] bangkokpost.com
[9] facebook.com/SeubNakhasathienFD
[10] news.sanook.com
[11] pptvhd36.com
[12] cites.org
[13] iucnredlist.org
[14] sciencedirect.com
[15] bbc.com
[16] matichon.co.th/news
[17] dailynews.co.th
[18] nationtv.tv
[19] pptvhd36.com/news
[20] facebook.com/Locthaipbs
[21] seub.or.th/bloging
[22] facebook.com/phattraporn.tpbs
[23] khaosod.co.th/news_740267
[24] facebook.com/queentogetherisone
[25] set.or.th
[26] longtunman.com
[27] prachatai.com
[28] terraper.org
[29] manager.co.th
[30] bangkokbiznews.com
[31] mgronline.com
[32] itd.co.th
[33] brighttv.co.th
[34] dailynews.co.th/economic
[35] set.or.th/set/historicaltrading
[36] bangkokbiznews.com
[37] seub.or.th/seub
[38] facebook.com/Khonanurak2
[39] facebook.com/waymagazine
[40] springradio.in.th/index.php/contents/5460
[41] khaosod.co.th/breaking-news
[42] thairath.co.th/929083
[43] portal.dnp.go.th
[44] news.thaipbs.or.th/content/269989
[45] js100.com