ความเกลียดชังทำให้โลกนี้แย่ลง และช่วงนี้ก็ดูเหมือนเรากำลังก้าวไปสู่โลกที่ความเกลียดชังทวีความรุนแรงมากขึ้น ความเกลียดชังต่อคนอื่น คนที่ ‘ไม่เหมือนกับเรา’ คนที่ ‘แตกต่าง’
เอาจริง เวลาที่พูดว่าวรรณกรรมนี้จะมาทำให้โลกนี้มันดีขึ้น เขียนเองยังรู้สึกแบบ อื้ม เลี่ยนและเป็นอุดมคติเนอะ ภาพแบบผู้คนรักกัน สวมกอดกัน จับมือไขว้กัน (แบบกิจกรรมลูกเสือ) ทำให้โลกสวยงามน่าอยู่ โลกหมุนด้วยความรัก แต่พอถูกเขย่าตัว ลืมตาตื่นขึ้นมาอีกทีก็เจอโลกอีกแบบ เป็นโลกที่เราอยู่กันจริงๆ
แนวคิดสำคัญสำหรับรับมือกับโลกสมัยใหม่ที่มันหลากหลายมากๆ มากจนบางทีมีคำว่า #โลกก้าวเร็วจนฉันตามไม่ทันแล้วพี่บัวลอย มันเลยไม่ได้อยู่ที่คำสวยงามอย่าง ‘ความรัก’ แต่มันอยู่ที่คำว่า ‘ความอดทน (Tolerance)’
ถ้ารักมันฟังดูหวานและดูเป็นไปได้ยากที่เราจะไปรักอะไรได้มากมายขนาดนั้น สิ่งสำคัญที่เราต้องมีท่ามกลางคนที่เต็มไปด้วยความแตกต่างก็คงจะเป็นความอดทน จริงๆ คำว่าอดทนก็ได้ความหมายไม่ตรงเท่าไหร่ องค์การยูเนสโก้นิยามแนวคิดเรื่องความอดทนไว้ว่า หมายถึง การเคารพ การยอมรับ และการเห็นคุณค่าของความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมในโลกนี้ วัฒนธรรมที่เป็นการแสดงออกถึงความเป็นมนุษย์ของเรา โดยสรุปแล้วความอดทนคือความกลมกลืนในความแตกต่าง… เอาจริง แนวคิดพื้นฐานของความอดทนคือไม่ต้องรักก็ได้ แต่ต้องรับรู้และเรียนรู้ที่จะยอมรับรับฟังคนอื่นที่แตกต่างจากเรา ไม่ไปกราดยิงเขา
องค์การยูเนสโก้นิยามแนวคิดเรื่องความอดทนไว้ว่า หมายถึง
การเคารพ การยอมรับ และการเห็นคุณค่า
ของความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรมในโลกนี้
เนื่องในวัน International Tolerance Day มหาวิทยาลัย Bath Spa จึงทำรายชื่อหนังสือ 10 เล่มที่ผลักดันให้โลกใบนี้ก้าวไปสู่ความคิดที่อิสระเสรีมากขึ้น และช่วยนำพาสังคมให้ก้าวไปในทางที่ดีขึ้น หนังสือทั้งสิบเล่มนี้มาจากทั่วโลก จากห้วงเวลาหลายศตวรรษ จากหลายแนววรรณกรรมและลีลาการเขียน วรรณกรรมเหล่านี้ได้พาผู้อ่านไปสู่พรมแดนของความหลากหลาย ทั้งเชื้อชาติ เพศ ความพิการ สุขภาพจิต และเพศสถานะ
เป็นวรรณกรรม 10 เรื่องที่นำเราให้รู้สึก เรียนรู้ จากความหลากหลาย อาจนำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจได้…ในท้ายที่สุด
1. TWO BOYS KISSING
เดวิด เลวิธาน
นักเขียนวรรณกรรมวัยรุ่น (young-adult fiction) และบรรณาธิการชาวอเมริกัน งานเขียนส่วนใหญ่เล่าเรื่องของตัวละครเกย์ชาย งานเขียนชิ้นแรกคือ Boy Meets Boy โดยมีผลงานนิยายต่อเนื่องอีกกว่า 10 ชิ้น ปัจจุบันยังทำงานบรรณาธิการที่สำนักพิมพ์ Scholastic นอกจากนี้ยังเป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้ง PUSH สำนักพิมพ์ลูกของ Scholastic Press เน้นเผยแพร่งานของนักเขียนหน้าใหม่ในงานประเภทวรรณกรรมวัยรุ่น
2. Nevada
อิโมเกน บินนี่
นักเขียนที่สนใจเรื่องคนข้ามเพศ มีผลงานชิ้นแรกเป็นหนังสือทำมือชื่อ The Fact That It’s Funny Doesn’t Make It A Joke and Stereotype Threat โดยงานเขียนดังกล่าวได้รับการรวบรวมไว้ The Collection: Short Fiction from the Transgender Vanguard ปัจจุบันเธอยังเป็นผู้เขียนให้กับนิตยสารทางดนตรีพังก์ Maximum Rocknroll นวนิยายเรื่อง Nevada เป็นผลงานนวนิยายชิ้นแรก ตีพิมพ์เมื่อปี 2013
3. The Reason I Jump: One Boy’s Voice from the Silence of Autism
นาโอกิ ฮิกะชิดะ
กวี นักเขียนนวนิยาย และนักเขียนบทความชาวญี่ปุ่น เขาได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการออทิสติกตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ด้วยอาการดังกล่าวทำให้คนรอบข้างไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมที่คนรอบตัวมองว่าเขาเป็นคนแปลกๆ ฮิกะชิดะสามารถเรียนอักษรภาษาญี่ปุ่นได้อย่างรวดเร็วโดยเริ่มเขียนโดยมีคนคอยช่วยควบคุมมือได้ แม่ของฮิกะชิดะเป็นคนที่มองเห็นว่าลูกชายของเธอมีความสามารถในการเขียนแสดงความรู้สึก และส่งเสริมให้แต่งกวีนิพนธ์และเรื่องสั้น ผลคือเขาได้รางวัลทางวรรณกรรมตั้งแต่อายุ 11 ขวบ โดยตั้งแต่ปี 2004 ฮิกะชิดะมีผลงานตีพิมพ์ทั้งบันเทิงคดีและสารคดีกว่า 20 เล่ม
4. The Story of My Life
เฮเลน เคลเลอร์
มีชีวิตในช่วงปี 1880-1986 เธอเป็นหนึ่งในบุคคลในประวัติศาสตร์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นหลังผ่านการไม่ยอมแพ้ต่อความพิการของร่างกายของเธอ เฮเลนที่แม้จะทั้งตาบอดและหูหนวกแต่สุดท้ายเธอก็สามารถที่จะเรียนรู้ในการสื่อสารจนกระทั่งจบการศึกษาเกียรตินิยมอันดับ 1 จากวิทยาลัยแรดคลิป มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เธอได้กลายเป็นนักปาฐกถาและนักเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจไปทั่วโลก
5. I AM MALALA
มาลาลา ยูซาฟไซ
ขณะที่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองหุบเขาสวัด ในแคว้นไคเบอร์ปัคตูนควาในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน มาลาลา เด็กนักเรียนหญิงคนหนึ่งลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษาของผู้หญิง พลังของเธอก่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อเสียงของคนเล็กๆ ที่สามารถเปลี่ยนโลกใบนี้ได้
6. Orlando: A Biography
เวอร์จิเนียร์ วูล์ฟ
นักเขียนหญิงผู้มีบทบาทต่อวงการวรรณกรรมสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 20 เธอเป็นทั้งนักเขียนนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ เป็นนักหนังสือพิมพ์และผู้สนับสนุนสิทธิสตรี และยังเป็นสมาชิกของกลุ่มปัญญาชนและนักเขียนช่วงสงครามโลกชื่อ Bloomsbury group งานเขียนชิ้นสำคัญได้แก่ “Mrs Dalloway” (1925) และ “To the Lighthouse” (1927) งานเขียนของวูล์ฟมีความโดดเด่นในการใช้เทคนิคกระแสสำนึก
7. Elizabeth is Missing
เอ็มม่า ฮีลลี่
เป็นนักเขียนนวนิยายชาวอังกฤษ ออกงานเขียนชิ้นแรก Elizabeth is Missing ในปี 2014 และชนะรางวัล Costa Book Award โดยเธอการศึกษาระดับปริญญาตรีทางศิลปะและการช่างจาก London College of Communication และจบการศึกษาในระดับปริญญาโทในสาขาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ (ร้อยแก้ว)
8. The Bell Jar
ซิลเวีย แพลท
กวี นักเขียนนวนิยายและเรื่องสั้นที่มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1932-1963 เธอเป็นหนึ่งในนักเขียนอเมริกันร่วมสมัยที่มีชื่อเสียง แพลซมีชื่อเสียงจากการพัฒนากวีนิพนธ์ประเภทคำสารภาพ (confessional poetry) หรือบทกวีที่พูดถึงอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวที่รุนแรง เช่น บาดแผล จิตใจ หรือประสบการณ์ต่างๆ โดยงานเขียนที่มีชื่อเสียงที่สุดคือรวมกวีนิพนธ์ชุด The Colossus and Other Poems และ Ariel หลังจากเสียชีวิตในปี 1963 ในปี 1982 เธอได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ จากรวมบทกวีของเธอ
9. If This Is a Man
พรีโม เลวี
นักเคมี นักเขียน และผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเชื้อสายอิตาเลียน เลวีเป็นนักเขียนที่มีผลงานหลากหลายทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น บทความ และบทกวี เลวีถูกจับอยู่ในค่ายกักกัน 11 เดือนก่อนที่กลุ่ม Red Army จะมาปลดปล่อย เลวีเป็น 1 ใน 20 คนที่รอดจากค่ายนั้นโดยที่ยังมีชีวิตอยู่ เลวีเกิดในปี 1919 และเสียชีวิตในปี 1987
10. Ain’t I a Woman?: Black women and feminism
เบล ฮุคส์
เป็นนามปากกาของ กลอเรีย จีนส์ วัตคินส์ เป็นนักเขียน นักคิด และนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี งานสำคัญของฮุคส์เป็นงานวิชาการที่เน้นเรื่องความเชื่อมโยงกันระหว่างชาติพันธุ์ ทุนนิยม และเพศสถานะ โดยเธอมองว่าทั้งหมดคือระบบที่สามารถสร้างการกดขี่และการครอบงำทางชนชั้นที่ไม่รู้จบ ฮุคส์มีผลงานหนังสือกว่าสามสิบเล่มและบทความอีกมากมาย มุมมองทางวิชาการของเธอได้รับอิทธิพลจากกระแสหลังสมัยใหม่
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.independent.co.uk
Illustration by Namsai Supavong