ใบสมัครงาน ตำแหน่ง…ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร…
ชื่อ-นามสกุล : วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
สังกัด : พรรคก้าวไกล
อายุ : 44 ปี
อาชีพ : อดีต ส.ส. 1 สมัย
สโลแกน : พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ
สิ่งที่จะทำหากเป็นผู้ว่าฯ : 12 นโยบายสร้างเมืองที่คนเท่ากัน
แม้จะผ่านงานในสภามา แต่ ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม. จากพรรคก้าวไกล ก็ยังเจอคำถามถึงความอ่อนประสบการณ์ในสายงานบริหารระดับประเทศ โดยเฉพาะหลังเปิดตัวเป็นแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม.เมื่อต้นปี 2565 ที่ผ่านมา
แต่เจ้าตัวก็ยืนยันว่า ด้วย DNA ของอนาคตใหม่ (ที่ผันตัวมาเป็นพรรคก้าวไกล) ทำให้เขาพร้อมอย่างยิ่งที่จะมารับหน้าที่พัฒนาเมืองหลวงของประเทศ และเปิดตัว 12 นโยบายภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘สร้างเมืองที่คนเท่ากัน’ โดยพุ่งเป้าไปที่การแก้ปมที่ต้นเหตุอย่างระบบอุปถัมภ์-นายทุนต่างๆ เพื่อสร้างปลายทางที่โปร่งใสให้คน กทม.
12 นโยบายที่ว่านี้มีอะไรบ้าง The MATTER จะพาไปดูกัน
1.สวัสดิการคนเมืองเพื่อโอบอุ้มเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ เอาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ กทม. จัดเก็บได้มาเพิ่มเบี้ยสวัสดิการผู้สูงอายุใน กทม. ทุกคน ให้เป็น 1,000 บาท/เดือน, เด็กเล็กทุกคน (แรกเกิด – 6 ปี) ได้รับสวัสดิการค่าเลี้ยงดูบุตร 1,200 บาท/เดือน และเบี้ยผู้พิการทุกคนจะได้รับ 1,200 บาท/เดือน
2.วัคซีนฟรีจากภาษีประชาชน ดูแลประชาชนให้เข้าถึงวัคซีนที่จำเป็น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ปอดอักเสบ (โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ) และวัคซีนไข้เลือดออก อุดหนุนให้ประชาชนได้ฉีดวัคซีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ให้ความสำคัญกับการป้องกันการป่วย มากกว่าการรักษาปลายทาง
3.หยุดระบบอุปถัมภ์ ด้วยงบที่คน กทม. เลือกเองได้ กระจายงบประมาณ คืนอำนาจให้ประชาชนผ่านการถือครองงบประมาณ จัดสรรงบกลางที่มีอยู่ 14,000 ล้าน กระจายไปยังชุมชนทั่ว กทม. ชุมชนละ 500,000-1,000,000 บาท (โดยพิจารณาจากขนาดชุมชน) รวม 1,400 ล้าน อีก 2,400 ล้านกระจายไป 50 เขตเพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์ออกเสียงและเลือกว่าจะทำโครงการอะไรที่ตอบโจทย์ปัญหาของแต่ละพื้นที่ และอีก 200 ล้านเป็นงบกลางที่ให้คน กทม. มาร่วมการออกแบบว่าจะนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาพื้นที่ไหนหรืออุตสาหกรรมไหนต่อ
4.บ้านคนเมือง สร้างที่อาศัยราคาถูกในตัวเมือง 10,000 ยูนิตใน 4 ปี มีสัญญาเช่า 30 ปี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยในเมือง และถูกขับไล่ด้วยค่าครองชีพให้ต้องย้ายไปอยู่ชานเมือง ซึ่งนำมาสู่ปัญหาขนส่งสาธารณะราคาแพง ซ้อนด้วยปัญหารถติดและการสูญเสียการเข้าถึงโอกาส
5.ส่งเสริมขนส่งสาธารณะที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ในราคาที่คนเข้าถึงได้ อุดหนุนให้เขตชานเมืองมีรถเมล์ที่ครอบคลุมถนนเส้นต่างๆ สร้าง ‘ตั๋วคนเมือง’ อุดหนุนค่าโดยสาร ให้ประชาชนซื้อในราคา 70 บาท แต่ใช้ได้ 100 บาท เพื่อสนับสนุนให้คนหันมาใช้บริการรถเมล์มากขึ้น ทำให้เกิดการแก้ปัญหามลพิษ รถติด และลดอุบัติเหตุไปในตัว นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในย่านต่างๆ ที่รถไฟฟ้าเข้าไม่ถึง หรือบริเวณที่ไม่เอื้อต่อการจดรถส่วนตัว
6.ขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่ เป็นนโญบายที่เกิดจากการตั้งคำถามว่าทำไมรถเก็บขยะ กทม. สามารถไปเก็บขยะให้ห้างสรรพสินค้าทุกวัน แต่บางพื้นที่บางแห่งกลับปล่อยให้สิ่งปฏิกูลหมักหมมจะสร้างมลพิษทางกลิ่นให้กับชุมชน? และเมื่อไปดูเขตศูนย์กลางทุนนิยมอย่างปทุมวัน พบว่า กทม. เก็บค่าขยะได้เพียง 11 ล้านบาท/ปี แต่ในเขตคลองสามวา-ประเวศ เก็บได้ 14-15 ล้านบาท/ไป เพื่อการให้บริการอย่างทั่วถึง จึงออกนโยบายขึ้นค่าเก็บขยะห้างใหญ่ เพื่อนำเงินเหล่านี้ไปปรับปรุงจุดเก็บขยะในครัวเรือและในชุมชนต่างๆ ปรับปรุงจุดเก็บขยะทั่ว กทม. เพื่อให้เกิดการเก็บขยะที่เท่าเทียม ไม่มีใครถูกทิ้งไว้กับมลพิษจากลิ่นที่มาพร้อมกับขยะ
7.อัพเกรดศูนย์เด็กเล็ก กทม. ให้มีคุณภาพดีเท่าเอกชน ตั้งงบประมาณดูแลศูนย์เด็กเล็กศูนย์ละ 5 ล้านบาท/ปี นำไปเพิ่มงบอาหารกลางวัน สื่อการเรียนรู้ ของเล่น อาคารเรียน รวมถึงต้องบรรจุครูพี่เลี้ยงให้เป็นลูกจ้างประจำ เพราะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาการของอนาคตของชาติ
8.สร้างการศึกษาที่ทุกคนวิ่งตามความฝันตัวเองได้ สร้างโรงเรียนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กทั้งในแง่สังคม คุณภาพชีวิต และพัฒนาควบคู่ไปกันการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา เพื่อสร้างโรงเรียนที่มีมาตรฐานคุณภาพเท่าเทียมกัน ให้เด็กสามารถเข้าถึงโรงเรียนที่ดีได้ใกล้บ้าน ลดปัญหาการแข่งขันและความเครียดทั้งของผู้ปกครองและนักเรียนจะไปถึงเป้าหมาย เริ่มต้นด้วยการเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวัน ดูแลความปลอดภัยด้านต่างๆ เช่น ไฟฟ้า เครื่องเล่น สุขอนามัย ส่วนของสังคมต้องสร้างโรงเรียนที่ปราศจากการกลั่นแกล้ง เคารพสิทธิ์นักเรียน เคารพความเท่าเทียมทางเพศ
ขณะที่พัฒนาหลักสูตรต้องมีการพัฒนาตลอดเวลา ต้องลงทุนกับสื่อการสอนมากขึ้น ปรับปรุงหลักสูตรวิชาให้ทันสมัย ลดเวลาเรียนวิชาที่ไม่จำเป็น และหันมาให้ความสำคัญกับความรู้เฉพาะทาง เช่น ทักษะอาชีพ ที่สามารถนำไปต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวัน
9.ลอกท่อทั่วเมือง ลอกคลองทั่วกรุง เพิ่มงบประมาณในการลอกท่อ ลอกคลองตามเส้นเลือดฝอย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในชุมชน ไม่ให้ความสำคัญแค่เส้นท่อระบายน้ำขนาดใหญ่
10.เปลี่ยนที่รกร้าง เป็นสวนสาธารณะ สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับประชาชน โดย
- กทม. ขอเช่าพื้นที่ของหน่วยราชการที่ยังว่างอยู่มาเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ
- ร่วมมือกับเอกชนที่มีพื้นที่ว่างเปล่ากลางเมืองที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์กลางเมือง เพื่อขอสิทธิ์เช่าที่ดิน โดยมีเงื่อนไขไม่เก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
- เวียนคืนที่ดินที่ถูกตัดแบ่งเพื่อหวังเสียภาษีถูกลง และนำมาสร้างเป็นพื้นที่สาธารณะ
11.ทางเท้าดีเท่ากันทั่ว กทม. แก้ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่นำมาสู่ปัญหาการสร้างทางเท้าที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยจัดจ้างบุคคลที่สามมาทำหน้าที่ตรวจรับงาน เพื่อรับประกันคุณภาพทางเท้าในระยะยาว
12.แก้ปัญหา ‘ส่วย’ เปิดช่องทางร้องเรียนที่ประชาชนสามารถร้องทุกข์เมื่อเจอการดำเนินการที่ไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยจะเน้นระบบดิจิทัลเป็นหลัก เพื่อลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการพิจารณาหรือประเมิน นอกจากนี้ยังจะสร้างช่องทางเพื่อเปิดเผยข้อมูลการบริหารจัดการเมืองอย่างโปร่งใส ประชาชนตรวจสอบได้ เพื่อเป้าหมายทำ กทม. ให้เป็นรัฐบาลเปิด (open government partnership)
นอกจากนโยบายเหล่านี้ อีกหนึ่งนโยบายที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ ‘การทวงคืนสนามหลวง’ ซึ่งตัวแทนจากพรรคก้าวไกลระบุว่า เป้าหมายหากได้เป็นผู้ว่าคือการคืนพื้นที่สาธารณะให้กับผู้คน จัดการปัญหาการจัดระเบียบที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตคน กทม.
“หากผมเป็นผู้ว่าฯ สนามหลวงจะเปิดใช้งานอย่างมีชีวิตชีวาเหมือนที่เคยเป็น เอารั้วกั้นออกให้หมด เปิดให้ประชาชนทำได้ทุกอย่างที่ถูกกฎหมาย ตั้งแต่เล่นว่าว ดูดวง ออกกำลัง ไปจนถึงกิจกรรมทางการเมือง”
ไม่เพียงแต่ยกเลิกการล้อมรั้วสนามหลวง วิโรจน์ยังบอกว่าจะเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชน เช่น ม้านั่ง ก๊อกน้ำดื่ม รวมถึงสร้างห้องน้ำถาวร
“ผมเชื่อว่านี่คือบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่การสร้างเมืองที่มีความหวังสำหรับทุกคน เมืองที่เราอยู่แล้วเรารู้สึกเป็นเจ้าของ ไม่ใช่แค่ผู้อยู่อาศัย เป็นเมืองที่เรามีอำนาจ ไม่ใช่ผู้ถูกปกครอง เป็นเมืองที่ให้โอกาสกับเราในการตั้งตัว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกับคนอื่นๆ” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล กล่าวทิ้งท้ายการนำเสนอนโยบายให้คน กทม. ได้พิจารณา
แล้ววันที่ 22 พ.ค.2565 นี้ อยากชักชวนผู้มีสิทธิ์ออกไปลงคะแนนกันว่า จะเลือกใครมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่