ป้ายไวนิลริมฟุตพาทพร้อมเลขผู้สมัครเรียงรายจนสุดสายตา แผ่นพับแนะนำตัวผู้สมัครในกล่องจดหมาย และภาพการประชาสัมพันธ์นโยบายบนโลกอินเทอร์เน็ต คือสิ่งบ่งชี้ว่าเทศกาลเลือกตั้งหมุนวนกลับมาอีกครั้ง
แม้ใช้เวลานานกว่าที่ควรจะเป็น ในที่สุดประชาชนในภูมิลำเนา กทม. กำลังจะได้มีโอกาสใช้สิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 22 พ.ค.2565 บรรยากาศการแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งผู้บริหารพื้นที่ที่ห่างหายไป 9 ปีมาพร้อมกับการเร่งเครื่องชูนโยบายในหลายด้าน ชี้ปัญหาในหลายประเด็น ที่ผู้สมัครทุกคนต่างแสดงตัวว่าพร้อมเข้ามาทำงานเพื่อคน กทม.
ทว่าเป็นเรื่องที่ยากจะปฏิเสธว่าในสายตาของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงจำนวนไม่น้อย นโยบายเหล่านั้นก็เป็นเพียง ‘สัญญาลมปาก’ อาจเพราะพวกเขาสิ้นศรัทธาในการทำหน้าที่ ซึ่งไม่ว่าจะเลือกใครเข้ามาเป็นหัวหน้าใหญ่ของพื้นที่นี้ ปัญหาของ กทม. จำนวนมากก็ยังเรื้อรัง ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง พื้นที่สาธารณะ ฟุตพาท ขยะ ไปจนถึงคุณภาพชีวิตกลางเมืองใหญ่
เพราะเหตุใดปัญหาเหล่านี้ใน กทม. จึงไม่อาจขจัดให้หมดไปเสียที การจะทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าว อาจต้องทำความเข้าใจบทบาทของผู้ว่าฯ กทม. ว่าสิ่งใดสามารถทำได้โดยตรง หรือว่าเรื่องใดที่ไม่มีอำนาจครอบคลุมไปถึง
ท่ามกลางการหาเสียงอย่างละลานตา ในช่วงเวลานี้
เขตการปกครองท้องถิ่น กทม.
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2518 หลังการตรา ‘พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518’ ออกมาใช้ โดยครั้งนั้น ธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จากการเลือกตั้งเป็นคนแรก
ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน ผู้มีอำนาจก็ปลดธรรมนูญออกจากตำแหน่ง และเปลี่ยนไปให้ผู้ว่าฯ กทม. มาจากการแต่งตั้งดังเดิม
กระทั่ง 10 ปีต่อมา หลังประกาศใช้ ‘พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528’ ที่มาของผู้ว่าฯ กทม. จึงกลับไปเป็นมาจากมติของประชาชนอีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน
โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนด ‘อำนาจและหน้าที่’ ของหน่วยงานที่ชื่อว่า ‘กทม.’ ไว้ 27 ประการ อยู่ในมาตรา 89 เช่น การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน, การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง, การผังเมือง, การจัดให้มีและควบคุมตลาด, การจัดการจราจร, การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัด, การสาธารณูปโภค, การขนส่ง ฯลฯ
พร้อมกำหนดให้มี ‘ผู้ว่าฯ กทม.’ เป็นผู้บริหารหน่วยงานชื่อ กทม. โดยระบุอำนาจหน้าที่ไว้ในมาตรา 49 เช่น
- การกำหนดนโยบายและบริหารราชการเขต กทม. ให้เป็นไปตามกฎหมาย
- สั่ง อนุญาต อนุมัติเกี่ยวกับราชการของ กทม.
- วางระเบียบเพื่อปรับปรุงงานของ กทม.
เมื่อพิจารณาตามตัวอักษรแล้ว ผู้ว่าฯ กทม. จึงมีอำนาจในการสั่งการงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร พัฒนา และแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน กทม. ทั้งหมด
แต่ในความเป็นจริงแล้วละม้ายคล้ายว่า ผู้ว่าฯ กทม. ไม่ได้มี ‘อำนาจเต็ม’ ในการจัดการเรื่องเหล่านั้น
การทำงานในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ยังคงอยู่ในลักษณะของการ ‘ประสานงาน’ และ ‘ร่วมมือ’ กับส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่นเรื่องการจัดการจราจรบางส่วนที่ต้องประสานงานกับกรมทางหลวง, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม หรือเรื่องการไฟฟ้ากับการประปาที่ประสานงานกับทางการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการประปานครหลวง (กปน.)
ส่วนงานที่ กทม. และผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจในการตัดสินใจและสั่งการโดยตรง ไม่ต้องประสานงานมีเรื่องของเทศกิจ การจัดระเบียบพื้นที่, การเก็บขยะ, การดูแลฟุตพาท รวมถึงการดูแลโรงเรียนในสังกัด กทม. เพียงเท่านั้น
คิดถึงวัฒนธรรมจีน คิดถึงเยาวราช
เมื่อนึกถึงจุดที่เป็นภาพสะท้อนการดูแลและจัดการพื้นที่ ที่ตัวผู้ว่าฯ และหน่วยงานชื่อ กทม. มี ‘อำนาจอันจำกัด’
หนึ่งในนั้นคือ ‘เยาวราช’ ถนนคนเดินความยาว 1.5 กิโลเมตร ที่อยู่ใต้คำสรรเสริญและก่นด่าไปพร้อมกันมาเป็นเวลานาน
ทางเท้าที่ผู้คนแน่นขนัด การจราจรที่แสนติดขัด ไปจนถึงหาบเร่แผงลอยริมถนนหน้าอาคารพาณิชย์ใหม่ปนเก่า เยาวราชนับเป็นภาพสะท้อนของเมืองเก่า มีพลวัต หมุนเวียนและคงความเป็น กทม. ที่เต็มไปด้วยรุงรัง ทว่าคงเสน่ห์มนตร์ขลังเอาไว้ไม่เสื่อมคลาย
อาหารและของหวานหลายสัญชาติวางขายเรียงรายบริเวณริมขอบฟุตพาท เสียงผู้ประกอบการร้องเชิญชวนให้เข้ามาเยี่ยมชมสินค้า ผู้คนจำนวนมากเดินสวนกันไปมาระหว่างช่องทางคนเดินที่กั้นขึ้นมาเป็นการเฉพาะกิจในเวลากลางคืนสลับกับกลุ่มคนที่หยุดยืนถ่ายรูปกับภาพแสงสีอันเป็นเอกลักษณ์
เยาวราชยังคงเอกลักษณ์บางอย่างเอาไว้ได้เช่นเดิมในความรู้สึก แม้จะเป็นช่วง ‘ฟื้นไข้’ จากมรสุมโรคโควิด-19
พื้นที่ถนนเยาวราชในช่วงหัวค่ำของวันเสาร์ที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คนเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความนิยมตลอดกาลของถนน street food แห่งนี้ได้เป็นอย่างดี เราเดินสำรวจลัดเลาะทั้งบริเวณหน้าถนนเยาวราชและซอยเล็กสำหรับเดินรถทางเดียว ก่อนเริ่มต้นการพูดคุยกับ แนน Area Manager ของร้าน ‘ปา เฮ่า เถียน มี่’ (Ba Hao Tian Mi) ร้านจำหน่ายพุดดิ้งและขนมหวานในซอยผดุงด้าว (เท็กซัส สุกี้) ถนนเยาวราช
ร้าน ปา เฮ่า เถียน มี่ สาขาเยาวราชเปิดตัวมาได้ร่วม 4 ปีแล้ว โดยเป็นร้านลูกของร้านอาหารและบาร์ ‘ปา เฮ่า’ (Ba Hao) ตั้งอยู่ในซอยนานา ในคราวแรกเมนูพุดดิ้งและโกจิเบอรีเป็นเมนูอาหารหวานของบาร์ และผลการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าที่สั่งขนมหวานเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การต่อยอดโดยการแยกรายการขนมหวานออกมาเปิดต่างหาก
เมื่อพิจารณาจากเมนูขนมหวานที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมจีนและภูมิหลังของเจ้าของร้านที่มีเชื้อสายจีน เธอเล่าว่าพอมีการประชุมเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการเปิดร้านแยกสำหรับของหวาน ผู้บริหารตั้งเป้าหมายเอาไว้เลยว่าจุดเริ่มต้นของร้านอย่างไรก็ยังต้องเป็น ‘เยาวราช’ เท่านั้น !
“คือคิดอยากจะทำปุ๊บ ไอเดียแรกที่ผู้บริหารเขาคิดคือยังไงต้องมาเปิดเยาวราชเป็นจุดแรก ที่เขามองว่ามันเข้ากับคอนเซ็ปต์ที่เป็นอะไรที่จีนๆ ก็ต้องเยาวราช”
จุดที่ตั้งร้านปา เฮ่า เถียน มี่ คือบ้านเลขที่ 8 ซึ่งตรงกับความหมายของชื่อของร้านในภาษาจีนที่แปลว่า ‘ขนมหวานบ้านเลขที่แปด’ และเลข 8 ยังเป็นเลขมงคลของคนจีนอีกด้วย
ความแตกต่างในแง่พื้นที่ของเยาวราชกับพื้นที่อื่นใน กทม. คืออะไร? สิ่งใดที่เป็น ‘เสน่ห์’ ในด้านสถานที่นี่ยังคงยึดตำแหน่งที่ตั้งทำเลทองสำหรับการค้าขายมาหลายทศวรรษ?
2 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เยาวราชเพื่อดูแลและบริหารร้านค้า แนนเล่าว่า สำหรับเธอเสน่ห์ของพื้นที่นี้คงเป็นเรื่องของอาคารบ้านช่องสไตล์เก่า ที่มีความโดดเด่นทั้งเรื่องของรูปลักษณ์และการดีไซน์ รวมไปถึงเรื่องร้านอาหารที่ซ่อนตัวอยู่ตามหลืบตามมุม หลบแอบรอให้ผู้คนเข้าไปค้นหา รวมถึงเรื่องของถนนคนเดินท่ามกลางแสงไฟที่ส่องสว่างเรียงรายตอนกลางคืน
“ก็คิดถึงตึกเก่าๆ ย่านอาหาร มีอาหารแนวเก่าๆ ตามซอกตามหลืบ ที่ทำให้เราอยากไปค้นหา อยากไปทาน เสน่ห์ของเยาวราชที่พูดถึงเลยหนึ่งคือเรื่องของตึก แสงตอนกลางคืน คนมาถ่ายรูป มาเดิน นี่คือเสน่ห์จริงๆ”
ปัญหาในฐานะผู้มาเช่าพื้นที่
แม้ street food ของเยาวราชจะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับแวดวงการท่องเที่ยว จนถูกยกว่าเป็นหนึ่งในสถานที่ห้ามพลาดเมื่อมาเยือน กทม. หากในด้านตรงข้ามของความรุ่งเรือง เยาวราชก็ถูกมองว่าเป็นพื้นที่แห่งความทรุดโทรมและสะสมปัญหาเรื้อรังของใครหลายคนเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจราจร การผังเมือง หรือสุขอนามัย
จากมุมของคนนอกที่เข้ามาเช่าตึกสำหรับทำการค้า แนนมองว่าปัญหาที่พบเจอคือเรื่อง ‘การจราจร’ เนื่องจากซอยผดุงด้าวเป็นซอยขนาดเล็กที่รองรับการจราจรได้ทางเดียว คือเข้ามาทางถนนเจริญกรุงและขับออกไปทางถนนเยาวราช การจอดที่ไม่เป็นระเบียบในบางครั้งก็นำมาซึ่งสถานการณ์ที่รถติดไปตลอดทั้งซอย บางครั้งก็สร้างความยากลำบากให้กับคนที่ต้องการสัญจรมาที่ร้านด้วยการเดินทาง
“เรื่องของการจราจรอะไรอย่างนี้มากกว่า เพราะว่าโซนนี้มีความรู้สึกว่าการจอดรถ ไม่ค่อยเป็นระเบียบ”
นอกเหนือความคับแคบของเส้นถนนและพื้นที่ที่ส่งผลต่อการจราจร เรื่องเส้นถนนและทางเดินขนาดเล็กก็ส่งผลต่อความล่าช้าในการควบคุมเพลิง เธอยกตัวอย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ที่ห่างออกไปไม่ไกลนักกับตึกย่านสำเพ็งครั้งล่าสุด (เดือน ก.พ.2565) ปัจจัยแวดล้อมอย่างข้อจำกัดเรื่องถนนขนาดเล็กและแหล่งการค้าขายที่อัดแน่นในพื้นที่ ส่งผลให้การทำงานของเจ้าหน้าที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก
ตึกอาคารในพื้นที่เยาวราชหลายแห่งมีลักษณะทรุดโทรม จำนวนไม่น้อยใช้งานเพียงแค่ชั้นล่างสุด แล้วปล่อยให้ชั้นที่เหลือทิ้งร้าง การเกิดอุบัติเหตุจำพวกอัคคีภัยจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ เพราะขาดคนคอยดูแล ประกอบกับโครงสร้างกึ่งไม้ กับระบบสายไฟที่เสื่อมไปตามกาลเวลา
ผลการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับข่าวไฟไหม้ย่านเยาวราชและสำเพ็ง พบว่านอกจากเหตุการณ์ในเดือน ก.พ.2565 เกิดเหตุเพลิงไหม้อย่างน้อย 3 ครั้งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561, 2562 และ 2564)
ซึ่งการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ ล้วนอยู่ใต้การบริหารงานของ กทม. ที่มีผู้ว่าฯ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ในวันที่ 22 พ.ค.2565 จะมีผู้มีออกเสียง 4.37 ล้านคน หนึ่งในผู้มีสิทธิอย่างแนนเชื่อว่าผู้สมัครทุกคนมีความสามารถ แต่วิธีการทำงานคงแตกต่างกันไปตามตัวบุคคล
“ในใจคิดว่า ทุกคนก็มีความสามารถเหมือนกันหมด แต่อยู่ที่เทคนิคของแต่ละคนที่จะมาดูแล ว่าจะโชว์ออกมาได้ในรูปแบบไหน” แนนให้ความเห็น
สิ่งที่เธอคิดว่าสำคัญเกี่ยวกับการออกนโยบายและการทำงาน คือการลงมาพบปะกับผู้คนในพื้นที่ที่มีปัญหา เข้ามาเห็นเป็นประจักษ์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วนำเข้าสู่ขั้นตอนการทำงาน เชื่อว่าเรื่องติดขัดทั้งหมดก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้
เราเดินเลาะพร้อมขยับหลบอุบัติเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นจากรถและรถยนต์ที่ขับผ่านไปมาตลอดเวลาไปยังหน้าถนนเยาวราช ต่อยอดการสัมภาษณ์ไปยังร้านอาหารที่เปิดมาเป็นระยะเวลา 40 ปีว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาในสายตาของเขาพื้นที่เยาวราชมีการเปลี่ยนแปลง พัฒนา และแก้ปัญหาอย่างไร
ย่านที่ตอบโจทย์ด้านอาหารของทุกคน
ปริ้น อายุ 36 ปี คือทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านอาหารเน้นวัตถุดิบจากทะเล เขาเล่าว่าตัวเองเกิดและอาศัยอยู่ในพื้นที่เยาวราช โดยร้านอาหารแห่งนี้เริ่มต้นจากรุ่นคุณแม่ที่เมื่อก่อนเคยเข้ามาขายผลไม้สำหรับประกอบในเทศกาลต่างๆ ของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีน จากนั้นจึงเปิดขายสินค้าประเภทอื่นอย่างการนึ่งสัตว์ทะเลสำหรับงานเทศกาล และปรากฏว่าขายดีกว่าผลไม้เสียอีก
ภายหลังนอกจากการขายเพียงแค่ในช่วงเทศกาล ก็ขยับขยายเปิดมาเป็นการขายอาหารข้างทางบนถนนเยาวราช ก่อนที่จะส่งต่อมายังรุ่นลูกอย่างปริ้นในปัจจุบัน
ปริ้นผู้เติบโตมากับพื้นที่ถนนทองคำเชื่อว่า เสน่ห์ร่วมของเยาวราชสำหรับคนส่วนใหญ่คือการเป็น ‘แหล่งขุมทรัพย์ทางอาหาร’ ให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนชนชั้นไหน หรือว่าต้องการจะทานอะไร เยาวราชมีทุกอย่างที่เรียกได้ว่า ‘ตอบโจทย์’ ทุกไลฟ์สไตล์
“ความหลากหลายที่ทุกคนสามารถตอบโจทย์ตัวเองได้หมด ทั้งไลฟ์สไตล์และค่าใช้จ่าย มันมีทั้งอาหารถูก แพง นั่งริมถนน นั่งห้องแอร์ และอาหารก็มีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าว ก๋วยเตี๋ยว เป็นทุกสิ่งที่คนเราคิดถึง อยากกินข้าวมันไก่ก็มี ข้าวหมูแดงก็มี ขนมก็มี มีหมดเลยทุกอย่าง”
เขาเสริมว่า นอกจากเรื่องของความหลากหลาย อีกหนึ่งสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลยคือคุณภาพและรสชาติที่คงที่ เพราะความอร่อยที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ดึงดูดให้ผู้คนจากทุกสารทิศเข้ามาในพื้นที่เช่นกัน
แต่ในวันที่คลื่นไวรัสโควิด-19 พัดนักท่องเที่ยวออกไปจากพื้นที่เยาวราชเป็นเวลามากกว่า 3 ปี
ปริ้นที่รับช่วงต่อในการดูแลร้านตั้งแต่เรียนจนชั้นปริญญาตรีก็เจอปัญหาเดียวกัน เพราะไม่ได้เพียงการเลี้ยงตนเองเท่านั้น หากเขายังต้องรับผิดชอบชีวิตของลูกน้องจำนวนมากภายในร้าน โดยมีโจทย์สำคัญคือการต้องประคับประคองให้รอดไปด้วยกัน
“เอาในช่วงตั้งแต่เกิดจนถึงโควิด-19 นะ เปลี่ยนไปจากหน้าเป็นหลังเลย คนที่ล้มหายตายจากไปจากเยาวราชไปก็เยอะมาก คนเก่าแก่ร้านอาหารเก่าแก่เสียชีวิตไปก็เยอะ ร้านอาหารปิดตัวลงไปก็เยอะ คนรุ่นใหม่ที่มาลงทุนปิดไปก็เยอะ”
ร้านที่ยังคงอยู่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นร้านค้าเก่าแก่ที่สามารถประเมินต้นทุนได้ รวมถึงสามารถจัดสรรในส่วนของการรายจ่ายได้อย่างดี อย่างเขาเองก็ต้องขายทรัพย์สินส่วนตัวเพื่อเอามาต่อสายป่านในการบริหาร
ปริ้นเล่าต่อไปว่า ตึกที่ใช้ทำร้านอาหารมาจาการ ‘เช่า’ ไม่ใช่ทรัพย์สินของครอบครัว เช่นเดียวกับผู้ทำมาหากินส่วนใหญ่ในพื้นที่ ด้วยราคาของตึกที่มีมูลค่ามหาศาลจนเป็นไปไม่ได้ที่จะซื้อขาด แต่ผู้ให้เช่าเองก็ใช่จะใจไม้ไส้ระกำ เพราะข้อดีของการอยู่ในพื้นที่เยาวราช คือเรื่องของความผูกพันระหว่างเจ้าของพื้นที่กับผู้เช่า ที่มีการพูดคุยและตกลงลดค่าเช่ามาเสมอ อย่างช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกสายพันธุ์เดลตาในปี 2564 ที่ภาครัฐประกาศช่วงเวลาเคอร์ฟิวตอน 21.00 น. อันส่งผลกระทบต่อการค้าขายที่เริ่มต้นในช่วง 18.00 น. เป็นอย่างมาก
ในบางจังหวะทางเจ้าของพื้นที่ที่ทำการเช่าพื้นที่กันมามากกว่า 10 ปีเองก็ยินดีลดค่าเช่ามากกว่า 70% หรือว่าในบางช่วงมีการยกเว้นค่าเช่าด้วยซ้ำไป
พื้นที่ผ่อนผัน กฎระเบียบ การลงทะเบียน
ถึงจะการค้าขายในพื้นที่เยาวราชเหมือนกัน แต่ใช่ว่าในรายละเอียดทุกร้านจะตกอยู่ใต้กฎระเบียบเดียวกันทั้งหมด ปริ้นแยกความแตกต่างเบื้องต้นของประเภทร้านที่ค้าขายในเยาวราชออกเป็น 3 รูปแบบ คือ
- ทำการค้าภายในตัวตึก
- รถเข็นที่นำออกมาจอดค้างเอาไว้บริเวณริมฟุตพาทหลังหกโมงเย็น
- รถเข็นที่คอยเดินเร่ขายประปราย
ความน่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทของ กทม. ปรากฎอีกครั้งในการดูแลร้านค้ารูปแบบที่ 2 หรือ ‘รถเข็นอาหาร’ ที่ไปเกี่ยวข้องกับการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ผ่านอำนาจในการดูแลและอนุญาตให้มีการการค้าขายในลักษณะหาบเร่ แผงลอย ทั่วพื้นที่เมืองกรุง หากพื้นที่ไหนที่ทาง กทม. ไม่อนุญาตให้มีการค้าขาย พ่อค้าแม่ขายก็ไม่สามารถใช้พื้นที่เหล่านั้นได้ ยกตัวอย่างเช่นถนนหน้าสยามสแควร์ เป็นต้น
สำหรับถนนเยาวราชนั้นเป็น ‘จุดผ่อนผันพิเศษ’ ให้มีการค้าขายในรูปแบบหาบเร่ แผงลอยได้ อ้างอิงจากประกาศที่ผู้ว่าฯ กทม. เป็นคนลงนาม อนุญาตให้บางพื้นที่ทำการค้าขายในลักษณะหาบเร่ แผงลอยได้ในพื้นที่ที่กำหนดเอาไว้ โดยพิจารณาจากอัตลักษณ์ของพื้นที่และส่งเสริมการค้าขาย
เนื้อหาของประกาศ กทม. ดังกล่าว เขียนถึง ‘ข้อกำหนด’ ต่างๆ ที่ผู้ค้าขายหาบเร่ แผงลอย บนถนนเยาวราชจำเป็นต้องปฏิบัติตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทะเบียนการค้า ไม่ใช่ว่าจะเข็นรถเข้ามาจอดแล้วทำการขายได้ทันที ข้อห้าม ข้อกำหนด และข้อจำกัดเกี่ยวกับการค้าขาย การปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
“ในเยาวราชต้องขึ้นทะเบียนกับเขตว่าเป็นร้านอะไร เราจะมีข้อมูลอยู่กับเขตหมดเลยทุกร้าน ไม่งั้นก็จะขายไม่ได้”
รวมไปถึงการค้าขายจะต้องไม่ก่อมลพิษ ความเดือดร้อนรำคาญ และเรื่องวันหยุดทำการค้าอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน ตามที่กรรมการจัดระเบียบหาบเร่-แผงลอยกำหนด อย่างพื้นที่การขายบนถนนเยาวราชก็กำหนดให้ร้านค้าแผงลอยหยุดทุกวันจันทร์ ส่วนในกรณีของปริ้นที่มีหน้าร้าน ขายของในตึก ก็จะไม่ตกอยู่ใต้เงื่อนไขนี้
“เยาวราชทุกร้านเป็นเหมือนกันหมด อย่างวันจันทร์เขาไม่ให้ขาย ใครที่ไม่มีหน้าร้านก็จะไม่ได้ขายเลย ถ้ามาวันจันทร์ก็จะเห็นเลยว่าเงียบทั้งเส้น แต่ถ้ามีห้องอยู่แล้วขายข้างใน ก็ไม่มีอะไร”
กรณีที่ผู้ค้าขายไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ปรากฎในประกาศฉบับนี้ คณะกรรมการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของ กทม. ก็มีอำนาจในการพิจารณายกเลิกพื้นที่การขายต่อไป
ปัญหาเรื่องการจราจรบนถนนมังกรทอง
เมื่อมีการค้าขาย ก็มีผู้คนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยจากทุกสารทิศ นำไปสู่การจราจรและการเดินทางที่ติดขัด โดยเฉพาะในช่วงที่เข้าใกล้เทศกาลต่างๆ ของผู้นับถือวัฒนธรรมไทยจีน อาทิ ตรุษจีน หรือในช่วงเย็นของวันศุกร์และเสาร์ของแต่ละสัปดาห์
สำหรับปริ้นเองเขาก็มองว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่แก้ไม่ตก แต่ใช่ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะไม่มีการแก้ไขเลย
เขาเล่าว่าในอดีตพฤติกรรมหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการจราจรคือการ ‘จอดแช่’ หรือการจอดรถรอระหว่างลงมาซื้ออาหารหรือสินค้าที่ขายเรียงรายตามริมฟุตพาท ซึ่งเมื่อทุกคนต่างพร้อมใจกันจอดรอริมถนนตลอดเส้นทางก็ย่อมนำมาซึ่งปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดอย่างเลี่ยงไม่ได้
เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ลดความแออัดของการเดินบนทางเดินเท้าขนาดเล็ก รวมถึงเป็นการป้องกันปัญหาเรื่องการเฉี่ยวชน ปัจจุบันทาง กทม. และเขตสัมพันธวงศ์มีการประสานงานกับทางตำรวจจราจร กวดขันไม่ให้จอดแช่เป็นระยะเวลานานซึ่งสร้างปัญหารถสะสม รวมถึงมีการนำกรวยจราจรมากั้นเส้นทางช่องริมสุดทางซ้ายและขวาของถนนในช่วงเย็น ให้อยู่ในสัดส่วนของถนน 3 เลนและถนนคนเดิน 2 เลน ซึ่งแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง
แต่การสัญจรผ่านถนนที่ลดช่องการจราจรจาก 5 เลนให้เหลือเพียง 3 เลน อย่างไรก็ต้องมีจังหวะที่รถยนต์เคลื่อนตัวได้ช้าอยู่ดี
“ถามว่าตอนนี้มีอะไรที่มันติดขัดไหมในเยาวราช มันจะมีอยู่แค่เรื่องเดียวคือรถติดแหละ แต่มันจะติดแค่ช่วงนี้ ที่เข้ามาถนนเส้นนี้ ก็จอดแล้วซื้อเท่านั้นเอง อย่างตอนนี้เขาจัดเลยอย่างนี้คือไม่สามารถทำแล้วได้ ก็แก้ปัญหาไปส่วนหนึ่ง ไม่งั้นเมื่อก่อนมันเทียบซ้ายจอดซื้อ เทียบขวาจอดซื้อ อะไรอย่างนี้ แล้วทำให้รถติด”
สำหรับวิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้นในส่วนของผู้ประกอบการอย่างปริ้น เขาจะแจ้งกับลูกค้าที่ขับรถมาสั่งซื้อหลังจากการแจ้งรายการอาหารที่ต้องการซื้อกลับบ้านเสร็จ ว่าให้ขับรถวนอ้อมไปยังถนนเจริญกรุงที่อยู่ขนานกัน 1 รอบ ไม่ให้จอดรอบริเวณหน้าร้านเด็ดขาด
นอกจากการจัดสรรพื้นที่ค้าขายและการจราจร ซึ่งเป็นอำนาจของ กทม. และตัวผู้ว่าฯ กทม. ในทัศนะของคนเกิดในพื้นที่เยาวราชอย่างปริ้น คิดว่ามีเรื่องอื่นใดอีกบ้างที่อยู่ในความดูแล?
“การขนส่งสาธารณะ การสาธารณูปโภคต่างๆ ถนนหนทาง สิ่งแวดล้อม อะไรอีกอะ ..มันก็คือทุกอย่างของการใช้ชีวิต”
แล้วมีปัญหาใดบ้างในพื้นที่เยาวราชที่จะเป็นเรื่องดีมากๆ หากได้รับการแก้ไข
“ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องของหลักอนามัยทั่วไปมั้ง การจัดสรรในเยาวราช การจัดสรรผู้ค้าให้อยู่ในความเรียบร้อย ให้คนสัญจรไปมาสะดวก” ปริ้นตอบ
การเดินเท้าเพื่อสำรวจพื้นที่เยาวราชในค่ำคืนวันเสาร์ที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งไทยและต่างชาติยังคงดำเนินต่อ ภาพผู้คนทุกวัยจากทุกสารทิศยืนต่อแถวรอคอยช่วงเวลาการลิ้มรสชาติอาหารแสนโอชาเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไป
เรายังคงบันทึกความเคลื่อนไหวของคลื่นชีวิตท่ามกลางความอบอ้าวในฤดูร้อนของปี 2565 โดยเข้าไปพูดคุยกับผู้อยู่อาศัยที่เปิดร้านอาหารแผงลอยอยู่ในซอยแปลงนาม
ความเปลี่ยนแปลงของเยาวราช
เราไปคุยกับ ป้าเน้ง (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) เจ้าของร้านผัดไทยขนาดเล็กบนซอยแปลงนาม ถนนขนาดเล็กเชื่อมต่อถนนเยาวราชเข้าสู่ถนนเจริญกรุง
ร้านแผงลอย 1 รถเข็นซึ่งถูกตั้งบนถนนหน้าบ้านของเธอ ตั้งเรียงรายไปกับร้านของเพื่อนบ้าน บนถนนขนาดเล็กอันเป็นทางผ่านจากรถไฟฟ้ามหานครสถานีวัดมังกรสู่ถนนเยาวราช
ป้าเน้งเล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงและผันผ่านตลอดเวลา 70 ปี นับตั้งแต่เธอเกิดบนพื้นที่เยาวราช อย่างกระฉับกระเฉงระหว่างนำเส้นผัดไทยลงไปเตรียมผัดในกระทะ โดยเธอบอกว่า สิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดที่สุดคือเรื่องของกลิ่นคาวจากอาหารสัตว์ทะเลที่มักจะคาวคลุ้งไปทั่วบริเวณหน้าบ้านของเธอ เพราะเมื่อก่อนบริเวณนี้เป็นจุดลงสินค้าก่อนเข็นเข้าไปขายข้างในตลาด หากในปัจจุบันไม่มีอีกแล้ว
“สมัยก่อนตรงนี้เหม็นคาวมากเลย พอเขาเอากุ้งหอยปูปลามาลง โต้รุ่งเลยนะ มันเหม็นคาว”
อีกเรื่องที่เปลี่ยนไปคือธุรกิจขายใบชาของครอบครัว เพราะพฤติกรรมการดื่มชาของคนในแต่ละยุคสมัยเปลี่ยนไป อย่างรุ่นพ่อแม่ของเธอมักจะกินชากันเป็นกิจวัตร ส่วนทุกวันนี้น้อยคนนักที่จะดื่มชา ทำให้การขายใบชาของที่บ้านต้องปรับจากการแบ่งขายหน้าร้านเป็นการขายในปริมาณมากหรือขายยกกิโล เพื่อเป็นการรับประกับเรื่องรายได้
“อันนี้ (ขายผัดไทย) ไม่ใช่อาชีพ ขายเล่นๆ ขายใบชาเป็นอาชีพ ขายผัดไทยเมื่อโดนบีบบังคับ”
บ้านพักของป้าเน้งและน้องสาวเป็นบ้านเช่ากลางซอยแปลงนาม อันเป็นพื้นที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เธอเล่าว่าทั่วไปสัญญาให้เช่ามักจะอยู่ที่ 30 ปีต่อครั้ง ที่ผ่านมาก็มีการต่ออายุโดยไม่มีปัญหา ส่วนเรื่องของค่าเช่าเธอไม่สามารถเปิดเผยได้ บอกได้เพียงแค่ว่าแม้เป็นช่วงราคาที่ไม่แพง แต่ก็ไม่ได้ถูกเช่นกัน
น้ำเสียงการเล่าแสนร่าเริงของป้าเน้งยากต่อการสรุปว่ากำลังล้อเล่นหรือว่าจริงจัง เมื่อเธอก็ยอมรับระคนปลงตกว่าการอยู่ในพื้นที่ให้เช่าหมายความว่าเธออาจจะโดนไล่ระเห็จออกจากพื้นที่เมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าสัญญาเช่าฉบับต่อไปไม่เกิดขึ้น เธอคงต้องพาตัวเองไปอยู่ที่วัด เพราะไม่มีเงินทุนสำหรับการหาซื้อที่ดินหรือบ้านหลังอื่นไว้รองรับ
เสียงลูกค้าที่ผลัดกันสั่งผัดไทยไม่คาดสายพาให้การพูดคุยจำเป็นต้องกระชับ จากเรื่องของปัญหาด้านกลิ่นและการจัดสรรที่อยู่อาศัยข้างต้น สำหรับการเลือกตั้งครั้งถัดไป เธออยากเห็นนโยบายการพัฒนาด้านในจากผู้ว่าฯ กทม. บ้าง ป้าเน้งบอกเราว่าสำหรับเธอแล้ว เธอตอบไม่ได้ว่านโยบายด้านใดที่จะสามารถเข้ามาพัฒนาพื้นที่ได้ เพราะตัวเธอเองก็ไม่รู้ว่าจะได้อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้อีกนานแค่ไหน
ส่วนเรื่องการเลือกตั้งจะใกล้จะถึง เธอทิ้งท้ายสั้นๆ
“ไป (เลือกตั้ง) แต่อย่าถามว่าใคร ต้องไปเลือกคนที่มาช่วยท้องที่ ให้พัฒนาบ้านเมืองเจริญขึ้น ไม่ใช่ว่า แหม”
ผลกระทบจากรถไฟฟ้าใต้ดิน
จากป้าเน้งเราทำการเคลื่อนขยับไปยัง สมหมาย (ขอสงวนชื่อและนามสกุลจริง) พ่อค้าขายก๋วยจั๊บที่ตั้งรถเข็นอยู่ข้างกัน เขาเองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่กำเนิดและเติบโตในพื้นที่ซอยแปลงนามเช่นกัน
สมหมายมองว่า สำหรับเขาปัญหาเรื่องการจราจรบนถนนเยาวราชไม่ได้กระทบมากมายนัก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นแนวเดินเท้ามาทานอยู่แล้ว หากที่เขามองว่าเป็นปัญหาคือการมาถึงของรถไฟฟ้าใต้ดินมากกว่า
สำหรับใครที่เคยใช้บริการรถไฟฟ้าสถานีวัดมังกร ย่อมต้องเดินผ่านซอยแปลงนามเพื่อลัดไปยังถนนหลักของเยาวราช บางคนอาจมองว่าซอยนี้ได้รับ ‘อานิสงส์’ เรื่องการค้าขายจากคนที่เดินสวนไปมาตลอดเวลาไปโดยปริยาย แต่สมหมายไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เพราะการมาถึงของแผนการสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน หมายความถึงการเวนคืนพื้นที่บริเวณถนนเจริญกรุงเพื่อใช้เป็นจุดขึ้นลงสถานี
จุดที่มีการประกาศเวนคืนพื้นที่คือซอย 16-24 ของถนนเจริญกรุง ซึ่งเป็นแหล่งรวมร้านขายข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิวาห์และงานมงคลในแบบจีน ไม่ว่าจะเป็นชุดเครื่องนอนงานแต่งงานแบบจีน โคมไฟสำหรับญาติเจ้าสาว กะละมังเคลือบลายมังกรหงส์ เป็นต้น เมื่อมีการเวนคืนพื้นที่ ร้านค้าเหล่านี้ก็จำเป็นต้องแยกย้ายกันไปตามเงื่อนไขและข้อจำกัดของตนเอง จนไม่มี ‘แหล่งรวมสินค้า’ สำหรับงานแต่งในรูปแบบจีนอย่างเช่นในอดีตอีกแล้ว
“ร้านค้าดังๆ โดนกวาดเรียบหมด ร้านค้าเส้นเจริญกรุง ตั้งแต่ซอย 16-24 คือตรงนี้ หายหมด ส่วนที่เหลือคือปกติ แต่ถ้าพูดถึงค้าขาย ตั้งแต่มีรถไฟฟ้า ทุกอย่างแย่ลงหมด”
จากคำพูด “..ทุกอย่างแย่ลงหมด..” สมหมายไม่ได้หมายความเพียงแค่ร้านค้าซึ่งถูกเวนคืนที่ แต่ยังรวมถึงตลาดสดใกล้เคียงที่เมื่อก่อนเคยคึกคัก แต่เมื่อมีการก่อสร้างในส่วนของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ตัวตลาดก็ถูกปิดไปเป็นเวลากว่า 5 ปีเช่นกัน
ต่อให้ตลาดจะสามารถกลับมาเปิดได้ภายหลังจากมีการเปิดใช้รถไฟฟ้า ช่วงเวลาที่เว้นว่างก็พาให้ลูกค้าจำนวนมากหายไปตลอดกาล
ตัวอย่างที่สมหมายยกขึ้นมาเพื่ออธิบายความซบเซาให้เห็นภาพ คือร้านขายเป็ดสำหรับไหว้ในเทศกาลต่างๆ ที่เมื่อก่อนช่วงเทศกาลสามารถขายได้ถึง 3,000-4,000 ตัว หากในปัจจุบัน ด้วยปัจจัยหลายด้านแม้ขายได้เพียง 200-300 ตัวก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีแล้ว
ไม่รวมกับประสบการณ์ที่ตนเองเผชิญมามากกว่า 5 ปีระหว่างการก่อสร้าง ที่ทางรัฐไม่อนุญาตให้ทำการค้าขายในซอยแปลงนามโดยเด็ดขาด และนั่นคือการตัดทางทำมาหากินของสมหมายที่เปิดร้านขายอาหารเกือบสมบูรณ์
“ผลกระทบมันก็มาเรื่อยๆ ถูกปิดไป 5 ปี ทุกอย่างโดนคาหมด ถนนก็ไม่ได้เปิดให้ค้าขายได้”
ต่อให้บอกว่าในปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่มีการสัญจรไปมา ก็น่าจะได้รับประโยชน์ไม่น้อย สมหมายแก้ความเข้าใจผิดว่าความคึกคักจะเกิดขึ้นเพียงแค่ 2 วัน คือวันศุกร์กับวันเสาร์เท่านั้น หากลองมาในวันธรรมดา โดยเฉพาะวันจันทร์ที่ไม่มีการขายสินค้า จะพบว่าในซอยนี้ตกอยู่ใต้สภาวะค่อนข้างมืด จนเกรงว่าจะเกิดอันตรายขึ้นได้ทุกเมื่อ และสำหรับเขาแล้วการมีร้านอาหารเปิดขายในช่วงค่ำคืน มีแสงไฟจากร้านค้า มีผู้คนเดินผลักเปลี่ยนหมุนเวียนเข้ามากลับทำให้รู้สึกอุ่นใจมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ
พื้นที่ผ่อนผัน
สมหมายยอมรับว่า เยาวราชคือ ‘พื้นที่การปกครองพิเศษ’ ที่ไม่ว่าอย่างไรก็ควรมีการผ่อนผันให้สามารถค้าขายได้ ส่งผลต่อความลักลั่นในวันที่ต้องเลือกระหว่างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ กับการรักษาความเรียบร้อยของบ้านเมือง จนดูเหมือนว่าจะหาจุดร่วมตรงกลางได้ยากลำบาก
“ไม่ว่าจะเขตไหน ไม่มีผ่อนผันคือตายหมด อย่างตรงนี้มันคือ street food ที่มีมา 100 กว่าปี บางเจ้าคือ 100 กว่าปี อันนี้ 20 กว่าปี บ้านผมก็ 60 กว่าปี นายหมงก็ 80 กว่าปี คือไม่มี street food ที่ไหนที่เก่าแก่ เป็นเสน่ห์ ถ้าไม่มีรับรองว่าประเทศไทยขาดทุน”
ส่วนในเรื่องสุขอนามัยที่เกิดขึ้นจากการค้าขายที่หลายคนกังวล สมหมายไม่อยากให้มองเช่นนั้น เพราะไม่ใช่ว่าผ่อนผันแล้วพ่อค้าแม่ขายจะทิ้งขยะเกลื่อนกลาดอย่างไรก็ได้
สมหมายและเพื่อนร่วมอาชีพขายอาหาร street food บนพื้นที่เยาวราชทุกคนจำเป็นต้องรักษาความสะอาดเป็นอย่างดี ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเขตผ่อนผันตามที่เจ้าหน้าที่หรือเทศกิจมีการประชาสัมพันธ์ ต้องเก็บกวาดพื้นที่ให้เรียบร้อย ทิ้งขยะเฉพาะจุดที่กำหนดไว้เพื่อให้ทางเจ้าหน้าที่มาเก็บขยะต่อไป
จากปัญหาทั้งหมดที่สมหมายพบเจอมากับตัวและคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้ามาของรถไฟฟ้าที่ตัดโอกาสในการสร้างรายได้ไปมากกว่า 5 ปี เรื่องแสงไฟและความปลอดภัยรอบที่พัก หรือว่าความเข้าใจผิดในเรื่องของการสร้างขยะ สมหมายมองว่า หนึ่งในปัญหาคือการกระจายอำนาจหน้าที่ในการทำงานของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง จนไม่มีเอกภาพในการทำงาน
เขาชี้กลับไปที่ทางม้าลายบริเวณทางเข้าสถานีวัดมังกร ช่วงสี่แยกที่ตัดกันระหว่างถนนแปลงนาม ถนนเจริญกรุง และถนนพลับพลาไชย เขาเล่าว่าช่วงก่อนที่จะมีรถไฟฟ้าใต้ดิน ทางม้าลายอยู่บริเวณก่อนถึงทางแยก ส่วนภายหลังการก่อสร้างช่วงหนึ่งมีการย้ายทางม้าลายไปอยู่หลังทางแยก
เมื่อประกอบเข้ากับลักษณะการก่อสร้างที่เป็นมุมอับทำให้ยากต่อการสังเกตคนเดินข้ามถนน ก่อให้เกิดปัญหาว่าคนที่ขับรถออกมาจากทั้งถนนแปลงนามและถนนพลับพลาไชยไม่เห็นผู้คนที่กำลังเดินข้าม จนเกิดอุบัติเหตุมาแล้วหลายครั้ง
ทางตัวแทนของชุมชนจึงมีการนำเรื่องนี้ไปพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการแก้ไข ทั้งกับทางสำนักงานเขตและสถานีตำรวจที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม
“อย่างเรื่องถนนต่อให้ผู้ว่าฯ กทม. ดียังไง แต่สถานีตำรวจไม่ดี มันก็ไม่ได้ถนนอย่างที่เราต้องการ เอาง่ายๆ ว่าก่อนที่รถไฟฟ้ามาลง มันจะมีทางม้าลายตรงไฟแดงนี้ แต่พอรถไฟฟ้ามาทำ เขาก็เลยไปเขียนทางม้าลายใหม่ แต่ประชาชนมองว่ามันอันตรายเพราะว่ารถวิ่งมาหลายทาง เคยมีรถพุ่งเข้าบ้านคน 2-3 รอบ แล้วพอเราไปบอกสถานีตำรวจ เขาตกลง แต่ไม่ทำ”
ประเด็นการประสานงานด้านการจราจรที่ดูแล้วไม่เป็นระเบียบมากนักภายใน กทม. นำไปสู่การค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการรับผิดชอบงาน จากการสืบค้นบนเว็บไซต์พบว่าปี 2562 พานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ในขณะนั้น ได้ชี้แจงในส่วนของการตีเส้นจราจรในพื้นที่ กทม. ว่าผู้มีส่วนรับผิดชอบในการจัดทำเครื่องหมายจราจนบนพื้นทางไม่ใช่มีเพียงแค่ กทม. หากมี 3 หน่วยงาน คือ กทม. กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท
เราได้ติดต่อสอบถามไปยังสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. เพื่อสอบถามถึงเหตุที่ กทม. ไม่ใช่ผู้ดูแลรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวในการดูแลตีเส้นจราจร เจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า กทม. ไม่ใช่ผู้มีอำนาจเต็มในการดูแลถนนทุกเส้น บางเส้นทางจะอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง อย่างเช่น ถนนร่มเกล้าหรือถนนวิภาวดีรังสิต
อย่างในกรณีที่มีประชาชนแจ้งเกี่ยวกับการตีเส้นจราจรบนถนนร่มเหล้า ทางเจ้าหน้าที่ของ สจส. จะไม่สามารถเข้าไปแก้ไขให้ได้ในทันที แต่ต้องติดต่อไปทางกรมทางหลวงให้เข้าไปทำหน้าที่ จึงขอความเข้าใจว่าในบางครั้งไม่ใช่ว่าทาง สจส. ไม่อยากเข้าไปแก้ไขปัญหา หากมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย
ดูเหมือนว่าในบางโอกาส กทม. ผู้ว่าฯ กทม. และหน่วยงานในสังกัดก็มี ‘ข้อจำกัด’ ในการทำงานอยู่ไม่น้อย
แล้วการมีอยู่ของผู้ว่าฯ กทม. ยังจำเป็นต่อการบริหารงานพื้นที่ กทม. หรือไม่?
สมหมายยังเชื่อว่า การมี ‘ผู้นำ’ ในการบริหารงานย่อมเป็นเรื่องที่ดี โดยเปรียบเทียบกับการบริหารงานภายใน กทม. กับห้องเรียนห้องหนึ่ง ที่มีหัวหน้าห้องเป็นหัวเรือหลักในการแบ่งกระจายงานว่าใครจะต้องทำหน้าที่อะไร โดยไม่ต้องไปขออนุญาตจากใครอีก
“มีผู้ว่าดีไหม ผมมองว่าดี เพราะถ้ามีห้องเรียนห้องหนึ่งแล้วไม่มีหัวหน้าห้อง แปลกไหม มันควรจะต้องมี แต่ถามว่าดีไม่ดี มันอยู่ที่ตัวบุคคล ตอบไม่ได้ ..แล้วเวลาเรียน ต่างคนต่างคุย กลุ่มใครกลุ่มมัน สุดท้ายเราไม่ได้อะไรจากทั้งหมด แต่ถ้าเมื่อไหร่เรามีหัวหน้าห้อง โอเค คนนี้ดูงาน คนนี้เหรัญญิก ถามว่ามีการจัดการไหม มันจะมี”
การจราจรติดขัด อาคารที่ไม่ได้รับการดูแล พื้นที่หาบเร่แผงลอย ที่อยู่อาศัย และขยะ เป็นเพียงปัญหาบางประการที่สะท้อนจากเหล่าพ่อค้าแม่ขายในพื้นที่เยาวราช และยังมีปัญหาอีกมากมายที่ยังคงรอให้หัวเรือหลักของ กทม. เข้าไปทำความเข้าใจทั้งในด้านบริบทและสถานการณ์แวดล้อมอีกมาก
รวมถึงความท้าทายบนประเด็นที่เกี่ยวข้อง อย่างจุดลักลั่นระหว่างการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยกับการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ มันจะมีจุดกึ่งกลางเพื่อให้เมืองดำเนินต่อไปพร้อมกันได้ในทุกมิติโดยไม่ปล่อยปละละเลยบางพื้นที่เอาไว้ข้างหลังหรือไม่
เวลานี้สิ่งที่ควรทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกอาจไม่ใช่การบอกเพียงว่า กทม. จะ “เปลี่ยน” จะ “ไปต่อ” จะ “น่าอยู่” หรือว่าจะ “ดีกว่าเดิม”
แต่เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับคน กทม. ว่าผู้สมัครมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ อำนาจและความรับผิดชอบในมืออย่างถ่องแท้ว่าสามารถดำเนินการได้มากแค่ไหน ข้อจำกัดในการทำงานเป็นเช่นไร และจะออกนโยบายการแก้ไขและพัฒนาอย่างไรให้สอดคล้องกันไป
ส่งต่อความเชื่อมั่นว่านโยบายทั้งหมดที่นำเสนอต่อสาธารณชน สามารถเกิดขึ้นได้ใต้เอกภาพในการบังคับบัญชาของผู้ว่าฯ กทม. และผลงานที่จะเกิดในอนาคตนั้นผ่านการสั่งงานโดยตรงและลงมือทำเอง
ไม่ปล่อยให้หน้าที่ของกรุงเทพมหานครหยุดเพียงการ ‘ประสานงาน’ ต่อไปยังหน่วยงานอื่น ที่ไม่รู้ว่าจะต้องเฝ้ารอการติดต่อกลับจากหน่วยงานเหล่านั้นเนิ่นนานเพียงไร