กระแสของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นตลอดเวลา มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อตลาดแรงงาน ซึ่งกำลังต้องการคนทำงานรุ่นใหม่ที่มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับองค์กรและสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ และหลายครั้งที่เรื่องของระบบการศึกษาถูกหยิบยกขึ้นมาตั้งคำถามอยู่เสมอ ถึงแนวทางในการสร้างบัณฑิตให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานได้ครบ
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้วาระครบรอบ 60 ปีของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้กำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย ภายใต้แนวคิด ‘สังคมปริวรรต พิพัฒน์อนาคต Transforming society. Defining the future.’ โดยประกอบไปด้วย 6 แนวทางหลัก ซึ่งออกแบบมาเพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น
The MATTER มีโอกาสได้พูดคุยกับ รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีคนปัจจุบัน ถึงภาพรวมของการศึกษาในมหาวิทยาลัยทุกวันนี้ อุปสรรคและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับระบบศึกษา รวมถึงแนวทางการศึกษาของ มจธ. ที่สามารถนิยามอนาคตการศึกษาได้ด้วยแนวคิดใหม่
มองภาพรวมของการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไร
ตอนนี้ตามความเห็นผม คือจำนวนได้ แต่คุณภาพไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมีการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ ซึ่งมันไม่ง่ายนะ ทุกมหาวิทยาลัยต้องเปิดใจในระดับหนึ่ง อาจจะต้องเริ่มตั้งแต่เทรนด์อาจารย์ให้มาเรียนต่อปริญญาเอก ทำยังไงให้นักศึกษามีโอกาสที่จะเข้าไปฝึกงานในสถานที่ประกอบการที่เอาจริงเอาจัง ขณะเดียวกันอาจารย์ก็ต้องไปเรียนรู้ประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนั้นๆ เพราะโจทย์ที่เกิดจากอุตสาหกรรม บางครั้งก็มาเป็นโจทย์วิจัยได้ ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สักพักหนึ่ง เชื่อไหมว่านักศึกษาจะมีคุณภาพดีขึ้น แล้วถ้าทำเป็นระบบ การตอบรับจากภาคอุตสาหกรรมจะดีขึ้นได้
ปัจจัยอะไรที่ช่วยให้แก้ปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง
รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจัง ทั้งงบประมาณ ทั้งงานสนับสนุน อย่าง มจธ. จะเห็นว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับงบประมาณของรัฐน้อย ถ้าเทียบกับขนาดของมหาวิทยาลัย เราเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ออกนอกระบบ จึงอาจถูกมองเรื่องความอยู่รอด แต่ด้วยความเชื่อมั่น ด้วยคนของเรา ด้วยคุณภาพแล้ว เราทำได้ และตอนนี้ก็เป็นต้นแบบให้หลายๆ หน่วยงานได้เข้ามาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
อยากให้เล่าถึงที่มาของ 6 แนวทางที่ใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน มจธ. ในโอกาสครบรอบ 60 ปี
6 แนวทาง มาจากพวกเราที่ช่วยกันระดมความคิด เวลาเราทำ มันไม่ใช่แค่ผู้บริหารคิด เราเรียกคนรุ่นอายุ 30-40 ปีเข้ามาช่วยคิด เพราะว่าเขาต้องเป็นคนทำให้แผนบรรลุ เนื่องจากแผนระยะยาวถึง 20 ปี เพราะฉะนั้นเขาจะเป็นกำลังสำคัญ เขายังมีเวลาอยู่
แนวทางแรก ‘การพัฒนากำลังคน สร้างพันธมิตรสำหรับอนาคต’ มีเป้าหมายอย่างไร
การผลิตบัณฑิตต้องมองไปอนาคต สิ่งที่เราเน้นไม่ใช่เน้นเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เราเน้นวิธีคิด เน้น Soft skill เพราะผมคิดว่านี่คือทักษะในการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองที่สำคัญที่สุด เพราะว่าไม่ว่าคุณจะไปอยู่ที่ไหน โลกจะเปลี่ยนยังไง ถ้าคุณอยากเรียนรู้ คุณทำได้ นี่คือสิ่งที่เราปลูกฝัง ส่วนการสร้างพันธมิตรคือนอกจากหมายถึงมหาวิทยาลัยทั้งในและต่างประเทศแล้ว ยังต้องคำนึงถึงภาคเอกชนด้วย อย่างการทำวิทยานิพนธ์ เอกชนก็ช่วยจ่ายทุนการศึกษาให้ เด็กก็ได้ฝึกของจริง เอกชนเขาดูคนไหนที่เข้าท่าเข้าทางก็รับทำงานได้ ซึ่งนอกจากพันธมิตรจะส่งเสริมเรื่องบุคลากรแล้ว ยังมีเรื่องงานวิจัย เรื่องบริการวิชาการ เรื่องนวัตกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นพันธมิตรจึงสำคัญมาก
ในแนวทางการสร้างพันธมิตรกับเอกชนมีวิธีการหาเครือข่ายอย่างไร
ยกตัวอย่าง Startup เราก็มีโปรแกรมในการส่งเสริม เราพยายามสร้างกลไกที่จะสามารถให้เขาไปถึงจุดที่เติบโตได้ ถึงแม้มันจะมีกฎระเบียบอะไรมากมาย เช่น เราตั้งมูลนิธิ เราก็ไม่ได้เอาเงินมหาวิทยาลัยไปใส่ในมูลนิธิ แต่เราให้พันธมิตรเราบริจาค แล้วมูลนิธินี้ก็ตั้งบริษัทได้โดยไม่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย แต่มหาวิทยาลัยช่วยในการบริหารกิจการ เมื่อบริษัทนี้ของนักศึกษามีไอเดียดี แล้วเอกชนสนใจ ก็ร่วมตั้งเป็นบริษัท Holding company พอไปถึงจุดหนึ่งเขาก็จะบริจาคเป็นหุ้นกลับมาที่บริษัทหรือกลับมาที่มูลนิธิได้
มองว่าทำไม Soft skill จึงสำคัญสำหรับแรงงานของคนยุคใหม่
ในอนาคต การทำงานคนเดียวให้สำเร็จจะยากมาก เพราะฉะนั้นเรื่องทีมเวิร์ก เรื่องการสื่อสารกัน เรื่องของวิธีคิดจะสำคัญมาก เพราะทักษะอื่นๆ ดีไม่ดีเรียนจบก็อาจจะลืมหายไปเลยก็ได้ หรือคุณอยากรู้เรื่องอะไรคุณก็เปิดอินเทอร์เน็ตได้ ทุกคนรู้เท่ากันหมด คำถามคือ ถ้าบริษัทจะเลือกคุณ คุณต้องมีอะไรดีกว่าคนอื่น เรื่อง Soft skill จึงสำคัญมาก
อะไรเป็นเหตุผลให้เกิดแนวทางการ ‘ปรับเปลี่ยนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัล’
คนรุ่นใหม่น่าจะอธิบายได้ดี เพราะมหาวิทยาลัยต้องปรับไปสู่ดิจิทัล ไม่ใช่แค่ทำให้เขาเข้าใจเทคโนโลยีเท่านั้น แต่มันยังทำให้ประสิทธิภาพการบริหารมหาวิทยาลัยดีขึ้นด้วย อย่างเรื่องการเรียนการสอน เราสอนเรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่แล้ว เรื่องคอมพิวเตอร์เราสอนมาตั้งแต่ยุคเกิดใหม่ๆ ตั้งแต่จอเขียวจนปัจจุบัน สมัยนี้เด็กอาจจะไม่เปิดคอมพิวเตอร์เท่าไร ทุกอย่างใส่เข้าไปในมือถือแทน อาจจะต้องมีเทคนิคที่ดึงดูดให้เด็กสนใจมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือต้องมี Digital Literacy ซึ่งสำคัญสำหรับโลกอนาคตมาก ประเด็นคือเราต้องสอนให้เขาเรียนรู้ด้วยตัวเขาเองได้ นี่คือหัวใจ
เพราะว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไว จึงต้องให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองหรือเปล่า
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาซื้อโทรศัพท์ใหม่มา เราจะเรียนรู้ได้เอง เพราะเรามีความอยาก ไม่รู้เดี๋ยวก็ไปถามคนอื่น ไปค้นในพันทิป ก็เพราะเราอยากจะใช้มัน แล้วผมเชื่อว่าเด็กสมัยนี้ถ้าเขาอยากรู้ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ แป๊บเดียวก็รู้แล้ว เพียงแต่ว่าเราต้องสร้าง Ecosystem ที่มาช่วยกระตุ้นให้เขามีความอยากรู้อยากเห็นเอง
กระแส Digital Disruption ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไหม
บังเอิญเราโชคดี เพราะว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างน้อยๆ นักศึกษาต้องจับเป็น ต้องลงแล็บ ต้องลงช็อปได้ ต่างกับด้านการจัดการอื่นๆ ทำให้ยากมากที่จะมา disrupt เรา คุณเรียนเคมี คุณจะไม่มาลองทำนู้นทำนี่เหรอ ซึ่งใน E-learning มันทำไม่ได้ อย่างการขี่จักรยาน คุณดูแค่วิดีโอสอนขี่จักรยาน แล้วคุณขี่เป็นไหม หรือว่ายน้ำคุณอ่านตำรายังไงก็ว่ายไม่เป็น ถ้าคุณไม่ลงไปหัดว่าย เพราะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต้องลงมือก่อน ถึงจะเข้าใจ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องเข้าใจวัยรุ่นระดับหนึ่ง จะชักจูงให้เขามาเรียน สนใจในเนื้อหายังไง จะตั้งโจทย์ยังไงที่มันท้าทาย แล้วก็ให้เขาไปทำ เพราะฉะนั้นดิจิทัลจึงเป็นเครื่องมือมากกว่า
ทำไมเรื่องของ ‘ธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม ทำหน้าที่ของตนเองภายใต้การเป็นพลเมืองที่ดี’ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
เรามีความรู้สึกว่ามหาวิทยาลัยจะเดินไปข้างหน้าได้ต้องมีธรรมาภิบาล การทำงานในมหาวิทยาลัย ซึ่งปกติมันก็เสียสละอยู่แล้ว มหาวิทยาลัยก็บอกว่าไม่ใช่หน่วยงานที่ทำกำไร เพราะฉะนั้นการสร้างธรรมาภิบาล การดูแลบุคลากร การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ผมว่ามันสำคัญมาก เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าตั้งแต่สภามหาวิทยาลัยของเรา จะเลือกแต่คนที่ใช้ได้ ไม่สนว่าจะจบจากที่ไหน แต่ขอให้เขาเป็นคนดี มีธรรมาภิบาล เขาก็สามารถที่จะช่วยมหาวิทยาลัยได้
แล้วแนวคิดเรื่องธรรมาภิบาล จะส่งต่อไปยังนักศึกษาได้อย่างไร
ปกตินอกจากส่งต่อผ่านกิจกรรมแล้ว เราก็พยายามให้นักศึกษาทำองค์การนักศึกษาหรือสโมสร เปิดโอกาสให้เขาคุยกับอาจารย์ คุยกับผู้บริหารเป็นประจำ ให้เขามีตัวตน เราต้องพยายามให้เกิดเขาเรียนรู้ คุณทำโปรเจกต์ คุณต้องทำรายงานส่งนะ ไม่ใช่เอาเงินไปก็หาย พยายามสร้างจากกลไกของนักศึกษาที่มีอยู่ ซึ่งธรรมาภิบาลมันจะเกิดไม่ได้ ถ้าการทำงานไม่เป็นระบบ เพราะต่างคนต่างก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง
แนวทาง ‘สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อการสร้างผู้นำแห่งอนาคต’ อธิบายให้เห็นภาพได้อย่างไร
นักศึกษาจะเป็นผู้นำในอนาคตได้ เขาต้องมีความพร้อมระดับหนึ่ง การเตรียมความพร้อมเป็นหน้าที่เรา ซึ่ง Soft skill ต้องมาแน่นอน ถ้าเขาเป็นคนที่ใฝ่เรียนรู้ เห็นปัญหาของประเทศชัดเจนก็ไปต่อได้ ผมมีความรู้สึกว่าถ้าเราไม่เตรียมเขาตั้งแต่ตอนนี้ พอไปถึงจุดนั้นเขาก็ทำไม่ได้หรอก โอกาสมาก็ทำไม่ได้ เพราะเราไม่ได้อยู่กับเขาตลอด เราปูพื้น ให้เขารู้จักคิด ให้เขารู้จักมอง แค่นั้นก็พอแล้ว เดี๋ยวเขาไปเรียนรู้เอง คือเราอยู่กับเขาอย่างมาก ถ้าเป็นนักศึกษาก็แค่ไม่กี่ปี แล้วโลกอนาคตยิ่งเปลี่ยนแปลงไวมาก คำถามคือคนที่จะมาเป็นผู้บริหารหรือคนบริหารประเทศจะต้องเป็นยังไง มันไม่ใช่แค่การมองเฉพาะองค์กรแล้ว แต่ยังรวมไปถึงประเทศด้วย
การจะเป็น ‘มหาวิทยาลัยสุขภาพดีและยั่งยืน’ มีแนวทางดำเนินการอย่างไร
คือคนในองค์กรเราต้องดูแล ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย เพราะว่าองค์กรจะเดินไปได้อย่างยั่งยืน คนต้องได้ เพราะคนเก่ง แต่สุขภาพไม่ดี ก็ไม่ไหว ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมให้คนอยากทำงาน แฮปปี้ที่จะทำงาน มีการตรวจสุขภาพประจำปี ทำเป็นระบบ แล้วเราก็พยายามปรับระบบสวัสดิการให้ดี รวมถึงนักศึกษาด้วย ถ้าสุขภาพดี จิตใจแจ่มใส ทุกอย่างก็ได้หมด
อยากให้ยกตัวอย่างของแนวคิดการ ‘มุ่งสร้างนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์ได้’ ให้เห็นเป็นรูปธรรม
ทุกวันนี้ได้จะได้ยินข่าว การผลิตบุคลากรที่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ เราเองมองไปไกลกว่านั้น คืองานของนักศึกษาควรจะสร้างผลกระทบกับสังคมได้ด้วย ซึ่งเราก็ทำมานานพอสมควรแล้ว เรามีโปรแกรมให้นักศึกษาไปอยู่ที่บริษัทหรือโรงงาน 4 เดือน โดยบริษัทกับมหาวิทยาลัยต้องร่วมมือกันสร้างโปรแกรมการเรียนการสอน เด็กจะต้องทำโปรเจกต์ เสมือนหนึ่งเป็นคนของบริษัทเลย แล้วเวลาปิดโครงการ ซีอีโอของบริษัทกับผมต้องมานั่งฟังนักศึกษาพรีเซนต์ แล้วบางโปรเจกต์ที่ดีก็สั่งทำต่อเดี๋ยวนั้นเลย คำจำกัดความแนวคิดนี้ คือเราอยากเป็นมหาวิทยาลัยที่ใช้โอกาส ใช้ทรัพยากรทั้งเงินและบุคลากรสร้างคุณค่าที่มีความหมายกับประเทศชาติและสังคม ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และพลังงานได้หมด
จากแนวคิด ‘สังคมปริวรรต พิพัฒน์อนาคต’ มจธ. จะสามารถนิยามอนาคตของการศึกษาได้อย่างไร
ผมมองว่า ถ้าบัณฑิตเรามีคุณภาพหรือมหาวิทยาลัยมีคุณค่ามีความหมาย ก็สามารถที่จะเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างของสังคมได้ระดับหนึ่ง แล้วโลกอนาคตมันไม่มีใครทำนายได้ เราจึงต้องนิยามเอง ภาคเอกชนบอกว่าผลิตบัณฑิตไม่ตรงกับความต้องการ แต่พอเราเปลี่ยนตามที่ต้องการ อีกสิบปีกว่าจะจบมา ก็ล้าสมัยไปแล้ว แล้วทำไมเราไม่สร้าง demand ขึ้นมา เดี๋ยว supply ก็จะไปเชื่อมกับ demand เอง อย่าง Startup เก่งๆ ของไทยอย่าง Wongnai เขาก็สร้างระบบแอปฯ ระบบไอทีขึ้นมา ซึ่งเป็นการสร้างงานขึ้นมาใหม่ หรือใครจะไปคิดว่า Google ที่เกิดขึ้นมา จะสร้างงานไม่รู้เท่าไร ไม่ใช่ว่าอุตสาหกรรมอยากได้อะไรก็ผลิตๆ ให้ ที่พูดอาจจะฟังยาก แต่เราต้องการคนที่ define future ได้ ซึ่งจะเป็นสิ่งสำคัญกับประเทศไทยอย่างมาก
ในอนาคตอันใกล้ คาดหวังให้ มจธ. เดินหน้าไปในทิศทางไหน
ต้องเป็นมหาวิทยาที่มีคุณค่าและความหมาย ภาษาชาวบ้านคือถ้าพรุ่งนี้ มจธ. หายไป ต้องมีคนประท้วงไม่ยอมเด็ดขาด ซึ่งแสดงว่าเรามีความหมาย เพราะผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่ต้องสร้างบุคลากรที่ดีให้กับสังคมให้กับประเทศได้ เราต้องผลิตคนที่สามารถ defining future ได้ ถึงจะเรียกว่ามีคุณค่าและมีความหมาย
เสียงจากนักศึกษา มจธ. กับแนวคิดขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย
กสาน จันทร์โต (เกม)
นักศึกษาระดับปริญญาเอก ตัวแทนของ มจธ. ตัวแทนของประเทศไทยที่ส่งผลงานเข้าร่วมโครงการ SDE 2019 (Solar Decathlon Europe) การแข่งขันสร้างสรรค์บ้านประหยัดพลังงาน ณ ประเทศฮังการี และคว้ารางวัลมาได้ถึง 4 รางวัล
“แนวคิดของมหาวิทยาลัย เรื่องธรรมาภิบาลที่มีประสิทธิภาพคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวม ทำหน้าที่ของตนเองภายใต้การเป็นพลเมืองที่ดี จะมีคำว่า Think globally, act locally ซึ่งชัดเจนมากๆ เราสร้างบ้านเพื่อไปแข่งขันระดับนานาชาติ ด้วยแนวคิดว่า บ้านหนึ่งหลังที่ไม่ใช่เพียงแค่นำไปแข่งขันที่ฮังการี ในสภาพอากาศแตกต่างกัน แต่เราคิดเตรียมพร้อมไว้ในภาพใหญ่ โดยนำโจทย์ปัญหาของบ้านที่มีอยู่ในประเทศไทยมาพัฒนาด้วย ทีมวิศวกรรมโยธาและก่อสร้าง ทีมวิศวกรรมไฟฟ้า ทีมวิศวกรรมเครื่องกลและพลังงาน ทีมสถาปัตยกรรม และทีมสิ่งแวดล้อม ทุกทีมนำองค์ความที่มีออกมาใช้สร้างบ้านหลังนี้ ทำให้ทุกคนมีความมั่นใจในตัวเอง ว่าสิ่งที่เรียนมาไม่ได้อยู่แค่วิชาการ เรียนจบได้ใบปริญญา แต่สามารถนำเอาองค์ความรู้นี้ไปใช้ต่อ ประยุกต์สิ่งที่มีเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้”