หลายคนอาจคิดว่าอวกาศเป็นเรื่องไกลตัวเรา แต่ทุกวันนี้ แทบไม่มีใครที่ไม่ใช้งานแผนที่บนสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นการบอกเส้นทางการเดินทาง หรือเช็กความหนาแน่นของการจราจร นี่คือประโยชน์ของดาวเทียมในชีวิตประจำวันแบบที่เข้าใจง่ายและใกล้ตัวเราที่สุด
ประเทศไทยเราเพิ่งส่ง THEOS-2 ดาวเทียมสำรวจโลกดวงใหม่ขึ้นสู่อวกาศไปเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา ดาวเทียมดวงนี้ทำหน้าที่เหมือนกับเป็น ‘กล้องที่อยู่บนท้องฟ้า’ ทำหน้าที่เก็บภาพและข้อมูลจากบนพื้นโลก เหมือนกับเป็นแผนที่ที่มาจากข้อมูลของภาพถ่ายดาวเทียมที่มีความละเอียดสูงขึ้นในระดับที่สามารถถ่ายภาพวัตถุบนผืนโลกที่มีขนาดตั้งแต่ 50 เซนติเมตรขึ้นไปได้ และจากข้อมูลตรงนี้เองที่สามารถนำไปแปลผลและพัฒนาต่อสู่การทำงานที่หลากหลายได้มากกว่าที่เราคิด
ดร.ดิชพงษ์ ภูมิเกียรติศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาระบบนวัตกรรมนโยบายเชิงพื้นที่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA จะพาเราไปทำความรู้จักกับ THEOS-2 และ GISTDA กับความสัมพันธ์ที่ช่วยพัฒนาประเทศไทยได้ตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน
GISTDA กับภารกิจครั้งใหม่ของ THEOS-2
หลายคนอาจคิดว่าอวกาศเป็นเรื่องไกลตัวเรา แต่หน้าที่หลักของ GISTDA ก็เป็นไปตามชื่อเต็มนั่นคือ การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้กับชีวิตของชาวไทยทุกคน นั่นทำให้เห็นว่าความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างดาวเทียม ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ตั้งแต่การสร้างดาวเทียม การทำดาวเทียม การส่งดาวเทียมขึ้นไปสำรวจ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นเพื่อนำข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันของผู้คน
“จริงๆ ดาวเทียมมีหลายประเภทนะครับ เราอาจจะรู้จักดาวเทียมสื่อสารอย่างไทยคม หรือดาวเทียมนำทางอย่างพวก GPS ที่ใช้ระบุตำแหน่ง” ดร.ดิชพงษ์ เริ่มต้นเล่าให้เรามองเห็นประเภทของดาวเทียมที่หลากหลาย และความสัมพันธ์กับชีวิตผู้คน “แต่อันที่น่าจะเกี่ยวข้องกับ GISTDA มากที่สุด นั่นคือดาวเทียมสำรวจโลก หรือ Earth Observation Satellite พูดง่ายๆ ให้เรานึกถึงภาพจากล้องที่อยู่บนท้องฟ้าที่เหมือนกับเป็นภาพถ่ายจากด้านบน นั่นแหละครับคือแผนที่ที่มาจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม”
เช่นเดียวกันกับหน้าที่ของ THEOS-2 ดาวเทียมสำรวจโลกตัวล่าสุดที่เพิ่งปล่อยขึ้นสู่อวกาศไปเมื่อต้นเดือนตุลาคม จุดเด่นที่เทคโนโลยีพัฒนาเติบโตต่อมาจาก THEOS-1 หรือไทยโชต (Thaichote) คือการถ่ายภาพรายละเอียดสูง โดยในเชิงเทคนิคสามารถลงรายละเอียดได้ถึง 50 เซนติเมตร นั่นหมายความว่า ดาวเทียมดวงนี้สามารถถ่ายภาพวัตถุใดก็ตามที่มีขนาดใหญ่กว่า 50 เซนติเมตรได้ ซึ่งรายละเอียดที่สูงขึ้นของงานถ่ายภาพ นำมาสู่การเก็บข้อมูลคุณภาพสูงที่สามารถนำไปใช้งานต่อได้อย่างหลากหลายขึ้น
“เริ่มตั้งแต่เบสิกของมันเลยก็คือการทำแผนที่รายละเอียดสูงนะครับ พอเราได้แผนที่ที่ละเอียดมากขึ้น เราก็สามารถนำข้อมูลตรงนี้ไปใช้ในการวางแผนบริหารจัดการในพื้นที่ที่หลากหลายได้มากขึ้น อย่างการจัดการเมืองหรือ Smart City ที่เราสามารถออกแบบถนนหรือการขยายของเมือง การเกษตรที่สามารถมองเห็นข้อมูลได้ชัดเจนขึ้นในระดับแปลงว่าปลูกต้นอะไร แล้วเมื่อนำไปผนวกรวมกับองค์ความรู้อื่นๆ ทำให้เราสามารถแยกแยะระยะเวลาของการเพาะปลูกได้ว่า ปลูกมาแล้วกี่วัน ใกล้ถึงเวลาเก็บเกี่ยวแล้วหรือยัง”
“หรือในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เราสามารถมองเห็นทรัพยากรป่าไม้ ช่วยในประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคง หรือแม้แต่ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ตอนนี้เราสามารถมองเห็นรายละเอียดของเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ชัดเจน อย่างน้ำท่วมหรือไฟป่า เราสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น อย่างการมองเห็นจุดความร้อน หรือจุดที่ถูกเผาไหม้ของไฟป่า ก็สามารถนำไปบริหารจัดการต่อได้”
“GISTDA เรามีนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ ชื่อ AIP หรือ Actionable Intelligence Policy Platform ซึ่งเป็นความพยายามรวมผลิตภัณฑ์ของเราในหลายๆ เรื่องเพื่อใช้แก้ปัญหาในพื้นที่พื้นที่หนึ่ง ด้วยการนำข้อมูลพื้นที่จากหลายด้านทั้งเกษตร น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ มารวมกันเพื่อแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานทั้งในส่วนภาครัฐผู้กำหนดนโยบาย และภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์”
ส่งต่อข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อประชาชนทุกคน
นอกจากในส่วนของหน่วยงานราชการจะได้รับประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้ในการวางแผนงานนโยบายในระดับมหภาคแล้ว GISTDA ยังให้บริการข้อมูลจาก THEOS-2 และดาวเทียมพันธมิตรอื่นๆ สำหรับเป็นวัตถุดิบให้หน่วยงานทั้งภาคเอกชน สตาร์ทอัป และประชาชนในการนำไปต่อยอดสร้างในการใช้งานรูปแบบใหม่ๆ และสร้างประโยชน์ที่หลากหลายผ่านความคิดสร้างสรรค์ของผู้คน
“ผมเคยคุยกับบริษัทหนึ่งที่ทำงานเรื่องภัยพิบัติ เขานำเอาข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมของเรานี่แหละ ไปทำ Machine Learning แปลผลด้วยวิธีการที่แอดวานซ์มากขึ้น ซึ่งทาง GISTDA เองเราก็มีแผนที่จะทำแพลตฟอร์มเพื่อเผยแพร่ข้อมูลดาวเทียมให้กับผู้ที่สนใจสามารถเอาไปใช้งาน ได้ทั้งแบบฟรีและข้อมูลเชิงพาณิชย์”
นอกจากในส่วนระดับองค์กรแล้ว ดร.ดิชพงษ์ พูดได้อย่างน่าสนใจว่า ข้อมูลจากดาวเทียม THEOS-2 ดวงนี้สามารถช่วยให้ประชาชนมีความสุขขึ้นได้จากคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “อย่างนโยบายในเรื่องการเกษตร ข้อมูลจากดาวเทียมและการนำไปประยุกต์ใช้บอกได้ว่าการเกษตรที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร การเปลี่ยนปฏิทินเพาะปลูกที่เหมาะสมกับศักยภาพหรือพื้นที่ในแบบที่ดาวเทียมมองลงมาเห็น ตรงนี้เราสามารถให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงไปเสนอแนะถึงประชาชนได้”
“หรือทาง GISTDA เราเองก็พยายามที่จะเอาข้อมูลที่มีอยู่ไปให้ถึงประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะในเรื่องการเกษตร เรามีการทำแอปพลิเคชันและส่งตรงถึงเกษตรกร เพื่อให้เขาเป็น Smart Farmer ตัวจริงผ่านทางการใช้ข้อมูลดาวเทียม ให้เห็นว่าตอนนี้แปลงปลูกหน้าตาเป็นอย่างไรจากภาพถ่ายแบบท็อปวิว เราจัดทำไปถึงขั้นว่าสถานะการปลูกเป็นอย่างไร ต้องใส่ปุ๋ยตรงไหน ซึ่งตรงนี้ก็จะทำให้ผลผลิตมีประสิทธิภาพดีขึ้น”
ในส่วนของงาน Smart City การนำข้อมูลดาวเทียมไปทำงานร่วมกันกับข้อมูลด้านเมืองก็ช่วยให้การพัฒนาเมืองเป็นไปได้เต็มศักยภาพ “เราสามารถทำ 3D Building หรือแผนที่สามมิติ ที่จะช่วยในเรื่องการออกแบบอาคาร เมื่อบวกกับข้อมูลอื่นๆ ที่มาจากการสำรวจ ก็สามารถลงรายละเอียดได้ถึงคุณสมบัติต่างๆ อย่างการออกแบบแผงโซลาร์เซลล์ สำรวจความหนาแน่นของอาคาร การสังเกตและคำนวณจุดความร้อน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว หรือคำนวณปริมาณคาร์บอน”
แหล่งข้อมูลจาก GISTDA และ THEOS-2 ยังพร้อมเปิดกว้างในมิติของการศึกษาเพื่อให้อาจารย์หรือนักศึกษาสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการวิจัย การศึกษา หรือการพัฒนาโปรเจกต์ที่จะทำให้การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เป็นไปได้กว้างขวางขึ้น “บางครั้งองค์ความรู้ใหม่ๆ เหล่านี้จะสร้างนวัตรกรรมใหม่ที่เราเอามาใช้พัฒนาต่อยอดกลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของ GISTDA เองได้ด้วยซ้ำ”
อนาคตของดาวเทียมไทยบนอวกาศ
แน่นอนว่าการทำงานด้านอวกาศและวิทยาศาสตร์คือการขยายขอบเขตความเป็นไปได้ใหม่ๆ ผ่านการศึกษาและทดลองทำ ซึ่ง GISTDA ก็ยังเดินทางอย่างต่อเนื่องไปจนถึงซีรีส์ต่อไปของ THEOS ที่ THEOS-3 ซึ่งเริ่มต้นทำการศึกษาแล้ว
“THEOS ตัวถัดไปตอนนี้เรากำลังศึกษาว่ามันควรจะมีคุณสมบัติอะไร และนำไปทำอะไรต่อได้บ้าง จากโจทย์เหล่านี้ เราเอาไปออกแบบดาวเทียมดวงใหม่ที่อาจจะมีภาพละเอียดขึ้น ภาพความถี่มากขึ้น หรือเป็นเซนเซอร์แบบอื่น เพื่อที่ว่าเราจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบอื่นที่นอกเหนือจากภาพถ่าย และสร้างประโยชน์ต่อไปได้อีก”
ถ้าพูดถึงอนาคตงานอวกาศของไทย ถึงแม้เราจะยังไปไม่ถึงขึ้นที่สร้างยานอวกาศนอกโลกหรือส่งคนไปสำรวจ แต่การพัฒนาดาวเทียมก็นับว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทย
“การพัฒนาดาวเทียม ถามว่าสำคัญอย่างไร คือถ้าเกิดเราสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมในประเทศไทยได้ คนผลิตชิ้นส่วน คนประกอบดาวเทียม คนที่นำดาวเทียมไปใช้ประโยชน์ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมนี้แข็งแกร่งมากขึ้น และสามารถต่อยอดไปสู่เรื่องอื่นได้อีก เพราะฉะนั้น GISTDA เราก็อยากจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและกระตุ้นให้เกิดระบบนิเวศในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศและการใช้ข้อมูลดาวเทียม ข้อมูลจากอวกาศ”
“แล้วก็คิดว่าหลายคนที่มีความฝัน ความชอบในเรื่องอวกาศ ทาง GISTDA ก็พร้อมที่จะสนับสนุนในทุกๆ เรื่องนะครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูล ความรู้ การศึกษา หรือการพูดคุยในเรื่องต่างๆ ทางเราก็ยินดีครับ”