เราต่างได้ยินมาสักพักแล้วว่า ประเทศไทยเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โดยสมบูรณ์ คือการมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุราว 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 70,000 คนที่นอนติดเตียง และอีกราว 170,000 คนที่ต้องอยู่กับบ้าน และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2583 ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มจำนวนถึง 17 ล้านคน
ในขณะที่ประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่น ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุที่ดีที่สุดในโลก ที่มีศูนย์ดูแลและสถานพยาบาล รวมถึงระบบโครงสร้างสาธารณะทั่วไปที่ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะ หรือในประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ก็เริ่มใช้แผนพัฒนา City for All Ages (CFAA) โครงการที่มีเป้าหมายพัฒนาเมืองให้เป็นมิตรกับผู้สูงวัย เพื่อให้ผู้สูงอายุมั่นใจในการใช้ชีวิตนอกบ้าน อย่างเช่นป้ายบอกทางสถานีรถไฟฟ้าที่เห็นได้ชัดเจน เพิ่มเวลาของสัญญาณไฟเขียวในการเดินข้ามถนน หรือระบบ reward ที่จูงใจให้ผู้สูงอายุอยากจะเดินออกนอกบ้านด้วยตัวเองมากขึ้น
เกิดเป็นคำถามว่า บ้านเรามีความพร้อมแค่ไหนในการรับมือ ทั้งจากภาครัฐและครอบครัวของผู้สูงอายุเอง ความท้าทายที่ว่าจะไม่ใช่เพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่กำลังป่วยนอนติดเตียง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง แนวคิดเรื่องการทำให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงถูกยกเข้ามาเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสนใจ เพื่อที่ให้ผู้สูงอายุไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลาน เป็นการป้องกันปัญหามากกว่าการแก้ปัญหาที่เห็นผลชัดเจนที่สุด
‘ไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับ’ คือหนึ่งในโปรเจกต์ที่นำเสนอเข้ามาในโครงการ ‘ดีแทคพลิกไทย’ แพลทฟอร์มออนไลน์สำหรับการระดมทุนโครงการเพื่อสังคม เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของโปรเจกต์อย่าง อ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ แพทย์ประจำศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่นำเอานวัตกรรมเข้ามาพัฒนาไม้เท้า (Walker) ของผู้สูงอายุให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญคือการสร้างแรงจูงใจให้ผู้สูงอายุกล้าที่จะเดินไปไหนมาไหนเองได้อย่างสะดวก และเป็นจุดเริ่มต้นของการพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง
อยากให้เล่าถึงแรงบันดาลใจแรก ว่าทำไมถึงสนใจสร้างนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ
เริ่มจากส่วนตัวที่เป็นแพทย์ประจำศูนย์ฝึกสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงมีโอกาสได้ดูแลผู้สูงอายุจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มสูงอายุที่เริ่มมีปัญหาในประเทศไทย พบว่าผู้สูงอายุที่สามารถเดินได้ดีและชอบเข้าสู่สังคมทำเพื่อกิจกรรมบ่อยๆ เป็นส่วนที่สำคัญทำให้ผู้สูงอายุยังคงมีสุขภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และสภาพสมองที่ดี เพราะสุขภาพที่ดีไม่มียาไหนช่วยได้เลย นอกจากการออกกำลังกาย ใส่ใจในทางอาหารที่กิน และการที่ใจมีความสุข ประเด็นเหล่านี้ไม่ง่ายที่จะทำให้ผู้สูงอายุทำสิ่งเหล่านี้ไปได้นานๆ ต้องมีกำลังใจจากคนรอบข้าง ทั้งครอบครัวและเพื่อนกลุ่มเดียวกัน จึงทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงได้
ประกอบกับการที่เราได้ดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาเรื่องสมองเสื่อม เลยเข้าใจว่าการเดินเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ลองคิดถึงผู้สูงอายุที่อายุเจ็ดสิบแปดสิบ แต่ยังเดินเหินได้คล่องแคล่ว ไปเข้ากลุ่มทำกิจกรรมได้ ค่ายารักษาก็ไม่มีเลย กลับกันผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง เป็นทั้งโรคหัวใจ โรคความดัน ค่ายารักษาเดือนหนึ่งหลายหมื่น กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำเรื่องการป้องกัน ไม่ใช่ไปรักษาปลายทาง การลงทุนในแง่ของการป้องกันถูกกว่าการแก้ปัญหามหาศาลอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราอยากเห็นผู้สูงอายุที่มีความแอ็คทีฟไปตลอด
เท่าที่สัมผัสมา ทัศนคติของผู้สูงอายุในบ้านเราเป็นอย่างไร
กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ลูกหลานอาจจะไม่ค่อยมีเวลา ทำให้ผู้สูงอายุไม่อยากออกไปข้างนอก เพราะรู้สึกลำบาก ไม่สะดวก เวลาเจอทางลาดทางชันหรือต้องขึ้นบันได รวมถึงการไม่มีลูกหลานดูแลอย่างใกล้ชิดก็อาจจะไม่กล้าที่จะออกนอกบ้าน
หรือลดความสามารถในการออกนอกบ้านด้วยตัวเองลงไปเรื่อยๆ และกลายเป็นผู้สูงอายุที่อยู่ติดบ้าน จากอยู่ติดบ้านก็กลายเป็นติดเตียงมากขึ้น คือไม่กล้าที่จะไปไหนเองคนเดียว
อีกกลุ่มหนึ่งคือลูกหลานดูแลดี คือกลัวว่าผู้สูงอายุจะเหนื่อยหรือกลัวจะล้ม ก็ให้นั่งรถเข็น ซึ่งความจริงอาจจะยังเดินได้ดีอยู่ เพราะการนั่งรถเข็นนานๆ อาจทำให้ผู้สูงอายุขาดการกระตุ้นร่างกาย หรืออย่างการอยู่ในบ้าน ถ้าปู่ย่าตายายขึ้นห้องชั้นบนไม่ได้ ลูกหลานก็แก้ปัญหาด้วยการทำห้องใหม่ชั้นล่างให้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่นั้น ประเด็นคือการไม่ยอมเดินไปข้างนอก การไม่เข้าสังคมมากกว่า เพราะฉะนั้นเราจึงคิดไม้เท้านี้ขึ้นมา ไม่ใช่สำหรับเดินในบ้านอย่างเดียว แต่ทำให้เขามั่นใจว่าจะสามารถเดินไปทุกที่ได้อย่างอิสระ
ทำไมถึงมองว่าไม้เท้าเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุกล้าออกนอกบ้านมากขึ้น
ปกติไม้เท้าจะมีประโยชน์สำหรับคนที่อยากขึ้นบันไดหรืออยากจะไปไหนได้ทุกที่ เช่น คนที่เข้าเฝือก เจ็บขา หรือลงน้ำหนักเท้าได้ไม่ดี แต่ผู้สูงอายุกลับสนใจมาก เพราะเขามีปัญหาในการเดินหรือขึ้นลงบันไดเหมือนกัน จึงมองหาอุปกรณ์ที่ช่วยให้ไปได้ทุกที่ นอกจากนั้นไม้เท้าเหมือนเป็นสิ่งจำเป็นที่อยู่ข้างตัว สังเกตว่าผู้สูงอายุที่ใช้ไม้เท้า จะไม่เคยลืมไม้เท้าเลย ทั้งๆ ที่อาจจะลืมอย่างอื่นเช่นกระเป๋าสตางค์ ไม้เท้าจึงเป็นเหมือนสิ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุมั่นใจและกล้าที่จะไปไหนเอง
แสดงว่าไม้เท้าช่วยผู้สูงอายุได้มากกว่าแค่ช่วยเดิน
คอนเซปต์ของไม้เท้าคือไปได้ทุกที่ ปกติผู้สูงอายุจะมีอุปกรณ์อยู่สองสามชิ้น คือไม้เท้า รถเข็น เวลาจะไปไหนก็ยังไม่มั่นใจว่าอย่างไหนจะใช้งานได้ดีกว่ากัน แต่ไม้เท้าจะอยู่กับผู้สูงอายุได้ตลอดเวลา จะขึ้นบันได ขึ้นรถไฟฟ้า หรือในที่ที่ไม่มั่นใจว่าทางจะเป็นอย่างไร ไม้เท้านี้จะสร้างความมั่นใจว่าไปได้ทุกที่แน่นอน
ตรงนี้จะทำให้ความกล้าและมั่นใจในตัวเองเกิดขึ้น เพราะการเดินเป็นเรื่องสำคัญมาก มันเกี่ยวข้องกับเรื่องของปอด ข้อต่อ กล้ามเนื้อ กำลังของหัวใจ เพราะฉะนั้นไม่ใช่แค่การเดินไปไหนมากไหน แต่หมายถึงร่างกายที่ไม่ยอมถอย ถ้าเดินไม่ไหวก็ต้องมีเครื่องช่วย
ไอเดียการออกแบบ ‘ไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับ’ เริ่มต้นมาจากอะไร
จริงๆ แล้วการปรับขาของไม้เท้าแบบเดิมก็ทำให้ขึ้นลงบันไดได้แล้ว แต่ปัญหาคือถ้าทำคนเดียวจะไม่สะดวก เพราะผู้สูงอายุบางคนไม่สามารถลงน้ำหนักเท้าได้หรือยืนไม่มั่นคง แล้วต้องอาศัยการยกไม้เท้าเพื่อปรับระดับอีก ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกไม่ปลอดภัย เราเลยคิดถึงการกดปุ่มที่ทำให้ขาไม้เท้าปรับระดับเองได้อัตโนมัติ ควบคุมระบบด้วยไฟฟ้า มีการคำนวณระดับความสูงของบันได แล้วปรับระดับของขาไม้เท้าให้พอดี และมีการเพิ่มเซ็นเซอร์ที่ขาทั้ง 4 ข้าง หมายความว่าเมื่อใดก็ตามที่ขาไม้เท้าไม่แตะที่พื้นบันได เครื่องก็จะเตือนให้นำขาไม้เท้าสัมผัสพื้นทุกข้างก่อน จึงมั่นใจได้ว่าทุกก้าวเดินปลอดภัยแน่นอน นอกจากนั้นยังสามารถพับได้ ยกขึ้นรถแท็กซี่ได้ ไม้เท้าเรามีตัวจับสัญญาณจีพีเอส ถ้าหลงทางก็สามารถกดปุ่มแล้วลูกหลานสามารถติดตามได้ว่าอยู่ที่ไหน
ตัวต้นแบบตัวแรกใช้เวลาพัฒนาอยู่ 3 เดือน อุปสรรคตอนนี้มีเรื่องของน้ำหนักที่ค่อนข้างเยอะเหมือนกัน อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่จุฬาฯ กำลังพยายามหาวัสดุใหม่ให้เบามากขึ้น แต่ยังคงความแข็งแรงอยู่ ไม้เท้ารุ่นนี้จึงยังต้องพัฒนาต่อ เพื่อออกแบบให้ตรงกับสรีระของผู้สูงอายุไทยให้มากที่สุด
จากการลงพื้นที่ที่แพร่งภูธร ฟีดแบ็กจากผู้สูงอายุเป็นอย่างไรบ้าง
เราเลือกแพร่งภูธรเป็นพื้นที่สำรวจ เพราะอยากเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุในพื้นที่นั้นที่มีจำนวนมาก ปกติเขาจะทำกิจกรรมอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว คือใจเขามา แต่ร่างกายอาจจะมีอุปสรรคนิดหน่อย บางคนกว่าจะมาได้ต้องมีคนจูงมือมา เป็นภาพที่ทำให้เราเห็นว่า ถ้าเขามาได้ด้วยความอิสระก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เขาด้วย ตอนแรกรูปร่างของไม้เท้าอาจจะเป็นกึ่งไม้เท้ากึ่งหุ่นยนต์พอสมควร แต่ว่าพอทุกคนเห็นก็อยากมาลอง มีป้าคนหนึ่งทดลองใช้ แม้จะยังมีน้ำหนักที่มากอยู่ แต่ก็สามารถขึ้นลงบันไดได้อย่างมีความสุข
ทำไมถึงมองว่าไม้เท้าเป็นสื่อแทนใจของคนทุกระดับ
ไม้เท้าอาจจะไม่ใช่เครื่องมือวิเศษที่ทำให้ทุกคนมีความสุขได้ทันที แต่ไม้เท้าเป็นสื่อแทนใจ หมายความว่าถ้าผู้สูงอายุเองยังมีความรู้สึกเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเอง ว่าจะออกไปได้ทุกที่ ไม่ยึดติดว่าต้องพึ่งพิงลูกหลาน เมื่อใดก็ตามที่ผู้สูงอายุมีความรู้สึกแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกมั่นใจในตัวเอง ซึ่งตรงจุดนี้มีค่ามากต่อจิตใจของผู้สูงอายุทุกคน แล้วลูกหลานเมื่อเห็นว่าพ่อแม่ปู่ย่าตายายมีความสุข ก็เกิดเป็นสายใยในบ้านที่จะช่วยเพิ่มความสุขในสังคมได้
ดูเหมือนว่า ไม้เท้าจะมีอีกฟังก์ชั่นหนึ่งคือสร้างความมั่นใจและความรู้สึกดีต่อตนเองด้วย
สังคมไทยได้เปรียบกว่าสังคมอื่นๆ มาก เพราะเรื่องของความกตัญญูและความใส่ใจของลูกหลาน ถือเป็นประเทศที่ผู้สูงอายุอยู่แล้วมีความสุข เราเลยอยากทำให้ไม้เท้าเป็นสื่อแทนใจให้คนในสังคมอยากจะช่วยกันดูแลผู้สูงอายุ แต่ไม่ใช่การดูแลด้วยการเข็นรถเข็น ไม่ใช่ดูแลโดยการประคองอุ้มตลอด แต่เป็นการดูแลโดยที่ให้ผู้สูงอายุมีศักดิ์ศรีและมีความมั่นใจในตัวเองให้มากที่สุด
อยากจะบอกว่าลูกหลายในสังคมไทยน่ารัก เท่าที่ได้สัมผัสมาเขาจะดูแลพ่อแม่ของตัวเองดีมาก บางบ้านอาจจะต้องทำงานเพราะไม่มีเวลา แต่ยังไงเราก็เชื่อว่า คนไทยมีความรักและเคารพผู้สูงอายุอยู่เสมอ แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้สูงอายุเองไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเคยเป็นที่พึ่งให้กับลูกหลานเหมือนแต่ก่อน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน วันนี้อาจจะเดินไม่คล่อง ความจำไม่ค่อยดี หรือต้องอาศัยลูกหลานดูแล แต่ท่านเองก็ยังเป็นที่พึ่งทางใจอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นเรื่องของความรู้สึกเป็นเรื่องใหญ่ ผู้สูงอายุเองจึงต้องลุกขึ้นมารู้สึกดีกับตัวเองก่อน ถึงจะทำให้ลูกหลานมีความเชื่อมั่นและศรัทธาไปตลอดได้
ทำไมถึงสนใจส่งโปรเจกต์นี้เข้ามากับร่วมกับโครงการ ‘ดีแทคพลิกไทย’
ชอบคำว่า พลิกไทย เพราะมีความรู้สึกว่าคนไทยมีน้ำใจ ชอบช่วยเหลือกันอยู่แล้ว จริงๆ แล้วสังคมไทยมีไอเดียเยอะแยะเลย แต่บางไอเดียบางนวัตกรรม ไม่มีใครทราบไม่มีใครเห็น แต่ถ้ามีการจุดประกายทำให้คนที่มีไอเดียอยากจะช่วยเหลือคนไทยด้วยกันและกล้าที่จะออกมาพัฒนาสังคมไทยด้วยกันบ้าง ก็เป็นสิ่งที่ดี สังคมไทยมีคนเก่งคนดีมากมาย ถ้าช่วยกันคนละไม้คนละมือ สังคมไทยจะพลิกในทางที่ดีและก้าวหน้าขึ้นได้แน่ๆ
คาดหวังว่าอนาคตไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร
หลังจากที่มีการระดมทุนเรียบร้อยแล้ว เราจะนำแบบไปพัฒนาต่อ เพื่อให้ใช้งานได้จริง หลังจากนั้นก็เข้าสู่การผลิตในอนาคต คาดหวังว่าไม้เท้านี้จะสามารถผลิตออกมาได้จำนวนที่มากเพียงพอ ราคาไม่แพง และอยากเห็นใช้กันเยอะๆ ทั้งในเมืองและต่างจังหวัด สร้างระบบที่ให้รางวัลกับผู้สูงอายุที่เดินได้มากในแต่ละวันที่ยิ่งทำให้มีกิจกรรมทำร่วมกันมากขึ้น อยากเห็นภาพแบบนั้น
เพราะไม้เท้าไม่ใช่คำตอบทั้งหมด แต่เป็นเครื่องมือหรือสื่อที่จะทำให้ผู้สูงอายุออกไปสู่สังคมได้ หวังว่าในวันข้างหน้า สังคมผู้สูงอายุของไทยจะเป็นสังคมที่น่าอยู่ที่สุดในโลก
มาร่วมทำให้ไม้เท้าปรับระดับเกิดขึ้นจริง โดยร่วมบริจาคผ่าน taejai.com
สำหรับลูกค้าดีแทค สามารถร่วมบริจาคผ่าน SMS โดยกด *405*14# แล้วกดโทรออก (ครั้งละ 50 บาท)
รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/able-walker
ชีวิตดีในบั้นปลาย : รู้จัก ‘ไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับ’
เราต่างได้ยินมาสักพักแล้วว่า ประเทศไทยเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โดยสมบูรณ์ คือการมีประชากรที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุราว 10 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 70,000 คนที่นอนติดเตียง และอีกราว 170,000 คนที่ต้องอยู่กับบ้าน และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2583 ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มจำนวนถึง 17 ล้านคน เกิดเป็นคำถามว่า บ้านเรามีความพร้อมแค่ไหนในการรับมือ ทั้งจากภาครัฐและครอบครัวของผู้สูงอายุเอง.ความท้าทายที่ว่าจะไม่ใช่เพียงแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยการดูแลรักษาผู้สูงอายุที่กำลังป่วยนอนติดเตียง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูง แนวคิดเรื่องการทำให้ผู้สูงอายุสามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงถูกยกเข้ามาเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ทุกฝ่ายกำลังให้ความสนใจ เพื่อที่ให้ผู้สูงอายุไม่ต้องเป็นภาระของลูกหลาน เป็นการป้องกันปัญหามากกว่าการแก้ปัญหาที่เห็นผลชัดเจนที่สุด .‘ไม้เท้าพยุงเดินปรับระดับ’ คือหนึ่งในโปรเจกต์ที่นำเสนอเข้ามาในโครงการ ‘ดีแทคพลิกไทย’ แพลทฟอร์มออนไลน์สำหรับการระดมทุนโครงการเพื่อสังคม เรามีโอกาสได้พูดคุยกับเจ้าของโปรเจกต์อย่าง อ.พญ.โสฬพัทธ์ เหมรัญช์โรจน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตอนนี้กำลังพัฒนาและวิจัยไม้เท้าพยุงปรับระดับให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถใช้งานได้จริง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้สูงอายุกล้าที่จะเดินไปไหนมาไหนเองได้อย่างอิสระ.มาร่วมทำให้ไม้เท้าปรับระดับเกิดขึ้นจริง โดยร่วมบริจาคผ่าน Taejai.com สำหรับลูกค้าดีแทค สามารถร่วมบริจาคผ่าน SMS โดยกด *405*14# แล้วกดโทรออก (ครั้งละ 50 บาท)รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://www.dtac.co.th/plikthai/p/able-walker.อ่านบทความต่อได้ที่ : https://thematter.co/sponsor/agingsociety-plikthai/54710.#TheMATTERxdtacPlikThai #AgingSociety #Walker #innovation #Interview #Advertorial
Posted by The MATTER on Saturday, July 14, 2018