โลกอินเทอร์เน็ตและโลกดิจิทัล คือทุกอย่างของการใช้ชีวิตเราทุกวันนี้ จะเปรียบให้เป็นเหมือน ปัจจัยที่ 5
ที่คอยดูแลเราให้สะดวกสบายสุดๆ ก็ได้ หรือจะเปลี่ยนให้เรากลายเป็นทาสและต้องตกเป็นเหยื่อจากการใช้งานในทางที่ผิดก็ยังได้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ยังไม่มีวุฒิภาวะในโลกดิจิทัลเพียงพอ
ในฐานะของผู้ให้บริการเครือข่ายมือถืออย่าง AIS ไม่ได้มองแค่การให้บริการใช้งานเพียงอย่างเดียว แต่ยังมองไปถึงเรื่องผลกระทบต่อสังคมอีกด้วย จึงทำให้เกิดแนวคิด “ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย” ภายใต้แคมเปญ อุ่นใจไซเบอร์ โดยนำ DQ (Digital Intelligence Quotient) หรือ ภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัล เพื่อเข้ามาช่วยเหลือเด็กและเยาวชนให้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้อง
The MATTER ได้พูดคุยกับ ศิวลี บูรณสงคราม Head of AIS Brand Management ถึงแนวคิดในการสร้างเครือข่ายของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในโลกดิจิทัลทั้งผู้ปกครอง เด็ก ครู และโรงเรียนให้แข็งแกร่งร่วมกัน
มองภาพรวมของการใช้อินเทอร์เน็ตทุกวันนี้อย่างไร
รู้สึกว่าวันนี้ เราทุกคนถ้าลืมกระเป๋าตังค์ออกจากบ้าน ยังออกจากบ้านได้ แต่ถ้าขาดมือถือไป จะรู้สึกว่าเหมือนขาดสิ่งสำคัญไป ซึ่งเราอยู่กับมันได้ทั้งวันเลย โดยที่เราอาจจะลืมไปว่ามีสิ่งอื่นๆ ในชีวิตอีกมากมาย คนที่ใช้จะต้องใช้อย่างไรให้ไม่กระทบต่อตัวเราเองและไม่กระทบต่อคนรอบข้าง เราก็เลยอยากหยิบยกประเด็นนี้พูดขึ้นมา เพื่อดูว่าเราจะทำอะไรได้ดีกว่านี้ไหม
ทำไมจึงเกิดแคมเปญที่พูดถึงการสร้างเครือข่ายขึ้นมา
ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย คือคอนเซปต์ที่เราพูดถึง เป็นวิสัยทัศน์ของ AIS ในปีนี้ หมายถึง ถ้าวันนี้เราทุกคนมาช่วยเหลือกัน มาร่วมมือกัน ซึ่งเรากำลังจะพูดว่าเราเป็นคนให้บริการทางเครือข่ายมือถือ เราก็ต้องการทำอินเทอร์เน็ตให้มันเร็วและแรงที่สุดอยู่แล้ว แต่เรามองว่าเครือข่ายที่ดีที่สุด มันต้องไม่ใช่แค่พูดเรื่องความเร็วอย่างเดียว คือต้องเป็นเครือข่ายที่สร้างความสุขและประโยชน์ให้กับคนไทยได้ เราก็เลยมองว่าทั้งความสุขและประโยชน์มันตีอะไรออกมาได้บ้าง ซึ่งวันนี้คนทุกคนไม่มีใครที่ไม่มีมือถือ แทนที่เราจะใช้ประโยชน์ได้แค่ปัจจุบันเพื่อตัวเราเอง แต่ยังสามารถทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมหรือสร้างประโยชน์ต่างๆ ให้กับประเทศได้ โดยเรามาร่วมมือกันทำอะไรสักอย่างผ่านเครือข่ายนี้
เครือข่ายที่ว่าหมายถึงสังคมด้วยใช่ไหม
มันเป็นการเล่นกับคำว่า เครือข่าย AIS ที่เป็น Operator มือถือ แต่จริงๆ เครือข่ายในที่นี้หมายถึงเราทุกคนที่จะสามารถมาช่วยกันสร้างสิ่งดีๆ ร่วมกัน ต้องบอกเลยว่าถ้าวันนี้ AIS เราทำแค่แคมเปญนี้ หรือคลิปวิดีโอสักตัวหนึ่งออกมา แต่ถ้าไม่มีเครือข่ายอื่นๆ มาช่วยกันทำให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นจริง ถ้าคุณพ่อคุณแม่ โรงเรียน และครูที่อาจจะเห็นแต่ไม่ได้ลงมือช่วยกัน สิ่งดีๆ ในสังคมก็อาจไม่ได้เกิดขึ้นจริง คือเราอาจจะเป็นผู้คิดริเริ่มในแนวคิดนี้ แต่ Partner หรือเครือข่ายเหล่านี้จะทำให้มันเกิดขึ้นจริงต่างหาก
ทำไมถึงโฟกัสไปที่เด็กและเยาวชนเป็นหลัก
เหตุผลที่เรายกประเด็นเรื่องของการใช้มือถือสำหรับเยาวชนขึ้นมา เพราะว่าเราต้องยอมรับว่าตอนนี้คนใช้มือถือมีอัตราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่แน่นอนก็คือคนที่ใช้เพิ่มขึ้นก็จะมีคนที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ ด้วย เท่าที่เรามีการพูดคุยและทำรีเสิร์ชพบว่า คนที่มีมือถือเครื่องแรกหรือว่าคนที่หยิบจับ Device ครั้งแรกมีตั้งแต่อายุ 2 ขวบแล้ว หลายคนอาจจะคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกมาก เพราะเราเองทุกคนอาจจะเคยเห็นภาพที่เวลาที่พ่อแม่กินข้าวอยู่ แล้วก็เปิด iPad ให้ลูกใช้ แปลว่าสังคมเติบโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีเหล่านี้ ทุกคนก็รู้ว่าอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ มีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี ถ้าเป็นวัยที่โตในระดับหนึ่งแล้วอาจจะแยกแยะได้ ว่าสิ่งไหนจะทำให้เกิดโทษหรือเกิดประโยชน์กับตัวเองได้ แต่เด็กเล็กที่ได้รับสิ่งเร้าเหล่านี้มาตั้งแต่เกิด อาจจะแยกแยะไม่ได้ เราก็เลยมองว่าการที่บริษัทจะเติบโตขึ้น หรือบริษัทจะมีฐานลูกค้ามากขึ้น ในขณะเดียวกันเราควรสร้างสังคมให้ดีขึ้นไปในทิศทางเดียวกันด้วย
แสดงว่าพ่อแม่ก็มีส่วนสำคัญในการสร้างเครือข่ายนี้ด้วย
แน่นอนว่าเราทำเครือข่ายให้คนเข้าถึงกันได้ ไม่ว่าคุณจะไปไหน ขึ้นเขาลงห้วยหรืออะไรก็ตาม จะต้องมีสัญญาณในการติดต่อ แต่อาจจะมีคนบางกลุ่มบางอายุที่เรารู้สึกว่า ถ้าเขาจะต้องใช้อินเทอร์เน็ต เขาจะต้องแข็งแรงพอในการใช้ นั่นก็คือเยาวชนนั่นเอง ก็เลยเป็นที่มาของสิ่งที่เราบอกว่า ถ้าเราทุกคนคือเครือข่าย ซึ่งมองไปได้ถึงคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องมาร่วมมือช่วยกัน หรือคนที่ใกล้ตัวเด็ก และรวมไปถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งโรงเรียน ครู และทุกๆ คนที่สามารถเป็นเครือข่ายในการช่วยกัน Monitor และดูแลเยาวชนของเราได้
แนวคิดของหนังโฆษณาในแคมเปญ ตั้งใจให้คนดูเกิด Awareness อย่างไร
โฆษณาชุดแรกพูดถึง ถ้าเราทุกคนเป็นเครือข่าย ก่อนที่จะมาเป็น Cyber Wellness อุ่นใจไซเบอร์ มีที่มาจากทุกวันนี้คนใช้อินเทอร์เน็ตในการพูดคุยกัน ซึ่งสร้างประโยชน์ได้มากมาย แต่ก็อาจจะมีในเชิงลบมากเช่นกัน เช่น การพิมพ์ Bully กัน แต่แทนที่เราจะเสียเวลาไปทำอะไรเหล่านั้น เรามาใช้ให้มันเกิดประโยชน์ ที่ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองอย่างเดียว แต่เพื่อประเทศหรือเพื่อโลกของเราได้ไหม ในหนังจะยกตัวอย่าง ถึงการลดโลกร้อน แล้วชวนให้ทุกคนมาร่วมมือกันปลูกต้นไม้หรือช่วยกันเก็บขยะ เป็นการยกตัวอย่างว่า ถ้าเราเป็นเครือข่าย มาร่วมกัน แล้วจะทำให้โลกสามารถยกระดับหรือประโยชน์ให้กับโลกมากขึ้นกว่าเดิมได้หรือเปล่า หรือหนังโฆษณาในชุดนี้อีกตัว เคสที่อยู่ในหนังคือเคสที่เราเอามาจากเรื่องจริงทั้งนั้น ภาพข่าวที่เห็นก็คือภาพข่าวจริง เราอยากหยิบเอาสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมยกประเด็นออกมาให้คนรู้สึกว่ามันกำลังมีปัญหานะ ซึ่งไม่ใช่แค่ปัญหาในไทย แต่เป็นปัญหาของทั่วโลก มีหลายประเทศมากที่ต้องมีสถานบำบัดอินเทอร์เน็ตขึ้นมา เหมือนสถานบำบัดยาเสพติดเลย ในฐานะ AIS วันนี้เราต้องออกมารับผิดชอบ อย่างที่บอกว่าบริษัทจะโตขึ้น สังคมต้องโตขึ้นและต้องดีขึ้นในทางเดียวกัน
อยากให้เล่าถึงนิยามของ DQ (Digital Intelligence Quotient) ภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล ว่าสำคัญอย่างไร
สมัยก่อนเราคุ้นเคยกับโตกับคำว่า IQ ไว้วัดเราฉลาดเท่าไหร่ แต่พอโตขึ้นมาอีกหน่อย เราก็จะคุ้นกับคำว่า EQ เพื่อวัดเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ ปัจจุบันเลยมีศัพท์อย่าง DQ ขึ้นมา เพราะการที่เยาวชนจะเติบโตมาในโลกยุคอินเทอร์เน็ต ก็ต้องมีภูมิคุ้มกันที่ดีในการที่จะใช้อินเทอร์เน็ต หรือภูมิคุ้มกันทางดิจิทัล เป็นโปรแกรมที่เกิดขึ้นที่สิงคโปร์ เป็นชุดหลักสูตรที่แพร่หลายไปประมาณ 100 กว่าประเทศแล้ว สำหรับเมืองไทย AIS ก็เลยนำหลักสูตรนี้เข้ามา แล้วก็แปลเป็นภาษาไทย ในชุดหลักสูตรจะต้องเริ่มตั้งแต่การทำ Pre-test ก่อน ตอบเสร็จจะมีส่งผลออกมาให้เลย เพื่อวัดว่าได้คะแนนเท่าไหร่ โดยการวัด DQ จะวัดในหลายๆ ทักษะ มีทั้งหมดอยู่ 8 ทักษะด้วยกัน ซึ่งครอบคลุมทุกเรื่อง อย่างเรื่องการ Bully เราอาจจะรู้ว่ากำลังโดน Bully อยู่ แต่เราอาจจะไม่รู้ว่าเราเป็นคน Bully คนอื่นอยู่หรือเปล่า มันได้ทั้ง 2 ทาง ตรงนี้ก็วัดได้ หรือแม้แต่เรื่องของ Screen Time Management เพื่อดูว่าวันหนึ่งเราไปใช้กับมันมากเกินไปหรือเปล่า ซึ่งทุกวันนี้ไม่ใช่ปัญหาของเด็กอย่างเดียวแล้ว แต่ยังรวมถึงผู้ใหญ่ด้วย เราไม่สามารถบังคับใครได้ว่าไม่ให้ใช้ เพราะถ้าใช้อย่างถูกต้องก็จะสร้างประโยชน์อย่างมาก แต่วันนี้แค่ใช้ยังไงให้ไม่เป็นทาสของมัน คือเด็กต้องไม่เป็นทาสของอินเทอร์เน็ต เด็กต้องอยู่เหนืออินเทอร์เน็ต
เมื่อมีแนวคิดในการสร้างเครือข่ายแล้ว มีเครื่องมืออะไรไที่จะช่วยให้เกิดขึ้นจริงไหม
คือพอเราคลอดคอนเซปต์ไอเดียนี้ขึ้นมา ใช้ชื่อโปรเจกต์ว่า อุ่นใจไซเบอร์ ถ้าวันนี้เราแค่พูดเฉยๆ มันอาจจะเกิดแรงกระเพื่อมได้แค่ระดับเดียว คืออย่างน้อยก็คือมันอาจจะทำให้คนดูหนังโฆษณาชุดนี้รู้สึกว่า มันใกล้ตัวเขา คุณพ่อคุณแม่ดูอาจจะรู้สึกว่า วันนี้เราทำแบบนี้กับลูกอยู่หรือเปล่า หรือปล่อยให้ลูกใช้มือถือโดยที่เราไม่ได้ไปควบคุมเลยหรือเปล่า แล้วลูกอาจจะไปพบเจอสิ่งไม่ดีในมือถือหรือเปล่า แต่นั่นแปลว่าวันนี้มันอาจจะยังไม่พอ อาจจะแค่ได้เชิง Awareness ในการที่ทำให้คนรู้สึก ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาได้ แต่ AIS คิดว่าถ้าเราเสนอวิธีการว่า จะมีเครื่องมืออะไรที่มาช่วยเพิ่มเติมคุณพ่อคุณแม่หรือครูเพิ่มเติมได้บ้างไหม ก็เลยเป็นที่มาของการที่เราจะต้องมี Product หรือ Service ที่ออกมาช่วยเป็นหนึ่งในเครื่องมือในการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วย
Product หรือ Service ที่ว่ามีอะไรบ้าง
เครื่องมือที่ AIS ออกมา มี 2 บริการด้วยกัน อย่างแกนแรกคือ Family Link ที่เราร่วมกับ Google ทำหน้าที่เหมือนเอาผู้ปกครองไปนั่งอยู่ในมือถือของเด็ก สมมติเรามีเบอร์ลูกเราอยู่ แล้วก็ผูกเบอร์โทรศัพท์เข้าไป เราจะสามารถควบคุมการทำงานมือถือที่เป็นเบอร์ลูกเราได้ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าแอป การเข้าเว็บไซต์ต่างๆ หรือควบคุมชั่วโมงการใช้งานได้ ยกตัวอย่างเช่น สมมติเราไม่อยากให้ลูกเล่นโซเชียลฯ ช่วง 1 ทุ่มถึง 3 ทุ่ม เราก็เข้าไปตั้งได้ และอีกอย่างที่จะช่วยได้ก็คือสามารถติดตาม GPS ได้ ทำให้รู้ว่าตอนนี้ลูกใช้มือถืออยู่ที่จุดไหน แต่นั่นแปลว่าคนที่เป็นลูกต้องอนุญาตก่อน เพราะมันเป็นเรื่องของ Privacy ด้วย
อีกแกนหนึ่งคือเป็น Product ที่ AIS พัฒนาขึ้นมาเอง เราใช้ชื่อว่า Secure Net ซึ่งจะทำหน้าที่ต่างกัน ตรงที่ว่าเราจะทำการ Screen เว็บที่ไม่เหมาะสมได้เลย สมมติว่าเราสมัครให้ลูก เบอร์มือถือลูกก็จะเข้าเว็บไซต์เหล่านี้ไม่ได้เลย คือพ่อแม่ไม่ต้องกำหนดเอง แต่ AIS จะทำการดึงเว็บที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ออกให้ก่อน อย่างเช่นเว็บที่ไม่เหมาะสม ที่มีพวกภาพความรุนแรง เว็บการพนัน เว็บโป๊ต่างๆ รวมถึงป้องกันพวกไวรัสหรือมัลแวร์ด้วย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราต้องบอกว่า พ่อแม่อาจจะสบายใจถ้ามีบริการนี้ เพราะว่าเหมือนกับช่วยปกป้องลูกได้ แต่เอาตามตรงแล้ว เราไม่สามารถเข้าไปปกป้องใครได้ตลอดชีวิต เพราะเด็กอาจจะไม่ได้รู้สึกแฮปปี้ถ้าเราจะไปควบคุมขนาดนั้น มันเลยถูกคิดอีกขาหนึ่งขึ้นมา ก็คือเราจะต้องให้ความรู้กับเด็ก ว่าถ้าวันหนึ่งเขาต้องไปเผชิญเอง เขามีความรู้ในการใช้ดิจิทัลอย่างถูกวิธี ซึ่งเราเรียกว่า Network Educator นั่นก็คือโปรแกรม DQ เมื่อมีทั้งสองขาร่วมกัน ก็น่าจะดีในการสร้างคนๆ หนึ่งขึ้นมาให้แข็งแกร่งพอในการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลได้
มองว่าอะไรคืออุปสรรคของการทำแคมเปญนี้
อาจจะไม่ได้เรียกว่าเป็นอุปสรรค แต่เป็นความท้าทายมากกว่า ว่าเราจะเข้าไปก้าวก่ายความเป็นส่วนตัวของเด็กได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งมันอยู่ที่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ด้วย ว่าเขามีการอธิบายลูกของเขาอย่างไรกับเรื่องนี้ แน่นอนไม่มีใครอยากที่จะให้คนเข้ามาวุ่นวายหรือว่าเข้ามาดูแลชีวิตขนาดนั้น เราถึงบอกว่าวันนี้มันขึ้นอยู่กับคนที่เราเรียกว่าเครือข่าย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้า Partner ทุกคนไม่มาร่วมมือ ไม่มาช่วยกัน วันนี้ AIS จะออกมาพูดคนเดียว ทำคลิปวิดีโอไปก็คือจบ ต่อให้เราทำโปรแกรม มี DQ ทำ service ต่างๆ แต่ถ้าไม่มีคนเอาไปใช้มันก็คือแค่นั้น สิ่งที่เราต้องการคือความร่วมมือจากทุกคนที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้จริง แล้วจะเป็นแรงกระเพื่อมในสังคมนี้ได้
สุดท้ายคาดหวังให้แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จอย่างไร
จริงๆ มันเป็นเคมเปญระยะยาวอยู่แล้ว เพราะว่าโรงเรียนทั่วประเทศมีเยอะมาก เราก็ต้องพยายามนำสิ่งเหล่านี้ไปให้โรงเรียนรับรู้ได้มากที่สุด วันนี้ AIS เองเราก็ได้ทำโปรเจกต์ต่อ ก็คือการเอาสิ่งเหล่านี้เข้าไปคุยกับทางโรงเรียน แล้วโรงเรียนก็ให้ความร่วมมือกับเราดีมาก ในการที่จะเอาหลักสูตรการเรียนนี้ไปเป็นวิชาสอนเสริม ซึ่งตอนนี้อยู่ในช่วงที่เรากำลังพูดคุยกับทางโรงเรียนและขยายเข้าไปในโรงเรียนให้มากที่สุด เพราะทุกๆ คนทราบเรื่องนี้อยู่แล้วว่ามันอาจจะเป็นปัญหาในอนาคตจริงๆ เราคาดหวังแน่นอนกับแคมเปญนี้เพราะว่าเราเชื่อมั่นว่า ถ้าปัญหานี้มันดีขึ้นหรือคลี่คลายขึ้น มันไม่ได้เป็นเรื่องของบริษัทแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศที่ดีขึ้นด้วย
ทำความรู้จักกับแคมเปญ ‘อุ่นใจไซเบอร์’ และทำแบบทดสอบ DQ ได้ที่ www.ais.co.th/networkforthais