ใครๆ ก็ต้องใช้ผลแล็บวิทยาศาสตร์
หลายคนอาจคิดภาพไม่ออก ว่านักวิทยาศาสตร์เขาทำอะไรกันในห้องแล็บบ้าง และอาจจะมองว่างานเนิร์ดๆ ในห้องแล็บเป็นเรื่องไกลตัวมาก แต่ความจริงแล้วผลการทดลองทางวิทยาศาสตร์จากห้องแล็บเกี่ยวข้องกับสินค้าที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ไม่ว่าจะอาบน้ำ สระผม เดินทาง กินข้าว ดื่มน้ำ ตามด้วยขนม ทุกผลิตภัณฑ์ล้วนผ่านการทดสอบวิเคราะห์หลายต่อหลายอย่างก่อนจะได้วางขายให้เราผู้บริโภคได้ใช้งานกัน
สินค้าในทุกอุตสาหกรรมต่างต้องผ่านการวิจัยและพัฒนา หรือที่เรียกกันอีกชื่อว่า R&D (Research and Development) เพื่อที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่ออกวางขายมีประสิทธิภาพที่โดดเด่นกว่าคู่แข่ง และยังต้องปลอดภัยต่อผู้บริโภคด้วย โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องเข้าสู่ร่างกายคนเรา เช่น อาหาร และยารักษาโรค ที่ต้องมีการตรวจสอบวิเคราะห์คุณภาพอย่างเข้มข้นก่อนที่จะได้วางขายในท้องตลาด สังเกตได้จากความเป๊ะของตัวเลขข้างกล่อง ทั้งน้ำหนัก ส่วนประกอบ และคำเตือนในการกิน นอกจากที่ผลิตภัณฑ์จะต้องถูกตรวจสอบจากห้องแล็บวิทยาศาสตร์แล้ว อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องแล็บก็ต้องผ่านการตรวจสอบ และปรับปรุงเพื่อให้ได้มาตรฐานทุกชิ้นก่อนเริ่มใช้งาน ถ้าหากผลิตภัณฑ์ที่ออกวางจำหน่ายโดยไม่ผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ หรือใช้เครื่องมือทดสอบที่ไม่ได้มาตรฐาน อาจส่งผลต่อทั้งความน่าเชื่อถือของผู้ผลิต หรือที่หนักกว่านั้นคือเกิดอันตรายกับผู้บริโภค ฉะนั้นการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานต่างๆ จึงสำคัญ และในประเทศไทยก็มีผู้ที่ให้บริการด้านนี้อย่างจริงจังไม่มากนัก
แต่ AMARC (เอมาร์ค) คือบริษัทหนึ่งที่เป็นดั่ง Lab Master จากการบริการที่มีให้อย่างครบครัน ทั้งตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารและยา ตรวจวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อม สอบเทียบเครื่องมือเฉพาะทาง ออกใบรับรองมาตรฐานให้ เกษตรกร ไปจนถึงสถานประกอบการ รวมถึงให้คำปรึกษาและฝึกอบรมให้องค์กรต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ที่ให้ความไว้วางใจใช้บริการในฐานะลูกค้าของ AMARC มากกว่า 6,000 ราย ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ที่น่าจับตามากเลยทีเดียว
จุดเริ่มต้นของผู้เชี่ยวชาญจนถึงวันนี้
ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย หรือ AMARC ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยเกิดจากการรวมกลุ่มของนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการ และแพทย์จากโรงพยาบาลลาดพร้าว โดยเริ่มแรกนั้นเอมาร์คเป็นเพียงห้องปฏิบัติการเฉพาะด้านการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจสอบ วิเคราะห์ และรับรองผลทางวิทยาศาสตร์ให้กับองค์กรด้านการแพทย์ต่างๆ ในฐานะ Third Party ที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กรอื่น
ต่อมาเนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีผลผลิตมากมายส่งขายในประเทศ และส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย แต่ธุรกิจด้านการเกษตรและอาหารในประเทศไทยยังมีผู้เชี่ยวชาญที่ทำการตรวจรับรองผลิตภัณฑ์ไม่เพียงพอ ส่งผลเสียให้กับสินค้าทางการเกษตรและอาหารที่ต้องรอคิวตรวจรับรองเป็นเวลานานจนเกิดการเน่าเสีย และส่งมอบให้ลูกค้าได้ไม่ทันเวลา AMARC จึงเข้ามารับหน้าที่เป็นห้องแล็บที่ให้บริการตรวจและรับรองด้านการเกษตรร่วมด้วย เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย เติบโตไปด้วยกัน
ปัจจุบัน AMARC ให้บริการในหลากหลายรูปแบบ แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือบริการตรวจวิเคราะห์ ทั้งการตรวจวิเคราะห์ส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ยา อาหาร สมุนไพร และเครื่องสำอาง การตรวจวิเคราะห์และรับรองคุณภาพปัจจัยการผลิตทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตรวจวิเคราะห์คุณภาพและความปลอดภัยของอากาศ ดิน ตะกอน น้ำ และน้ำเสีย ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับมาตรฐานสากล กลุ่มต่อมาคือบริการสอบเทียบเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาลและโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อตรวจสอบว่าเครื่องมือวัดยังมีความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์การใช้งานหรือไม่ ค่าจากการวัดของเครื่องมือมีความแม่นยำน่าเชื่อถือขนาดไหน และนำผลการสอบเทียบที่ได้มายืนยันความใช้งานได้ของเครื่องมือ และในกลุ่มสุดท้ายคือบริการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการ และกระบวนการผลิตสำหรับฟาร์มเกษตร ฟาร์มประมง โรงงานอุตสาหกรรมผลิตอาหาร และสิ่งแวดล้อม ตามระบบคุณภาพและมาตรฐานสากล รวมถึงการตรวจมาตรฐานเฉพาะด้านสำหรับสถานประกอบการและอุตสาหกรรมต่างๆ และเมื่อการตรวจสอบเป็นไปตามมาตรฐานสากล AMARC ก็สามารถออกใบรับรองเพื่อยืนยันให้กับสถานประกอบการต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้
ผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์ที่ครบครัน
ส่วนสำคัญที่ทำให้บริการต่างๆ ของ AMARC มีอย่างหลากหลาย เพราะเครื่องมือทันสมัยต่างๆ ที่ใช้ในห้องแล็บวิทยาศาสตร์มีความทันสมัยและจำนวนมากเพียงพอสำหรับบริการในด้านต่างๆ ที่ AMARC สามารถทำได้ ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีมูลค่ารวมแล้วมากกว่า 200 ล้านบาท แต่บริการด้านต่างๆ คงจะยังไม่ดีเพียงพอหากไม่มีผู้ที่สามารถใช้งานอุปกรณ์เหล่านั้นได้อย่างชำนาญ ซึ่ง AMARC มีนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางร่วมงานด้วยมากกว่า 150 คน เมื่อมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมากเพียงพอ วิธีการตรวจสอบก็จะเป็นไปอย่างถูกต้อง อุปกรณ์ตรวจสอบจะถูกใช้อย่างเหมาะสม ความคลาดเคลื่อนจากการทดสอบก็จะน้อยที่สุด ทำให้ผลลัพธ์จากการทดลองในห้องแล็บออกมาได้น่าพึงพอใจ
นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่ให้ความไว้วางใจในความสามารถของ AMARC จำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้บริการมากกว่า 6,000 รายในบริการหลากหลายรูปแบบ โดย AMARC ได้รับการยอมรับและการรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการตามมาตรฐาน และได้รับการขึ้นทะเบียนจากหน่วยงานควบคุม หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานสากล ในการให้บริการทดสอบ สอบเทียบ ตรวจสอบ และรับรอง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ ประเทศญี่ปุ่น
ก้าวใหม่และการเติบโตของ AMARC
การดำเนินธุรกิจให้บริการทางวิทยาศาสตร์ด้านเกษตร อาหาร ยา และสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจรของ AMARC เป็นไปได้ด้วยดี แต่ก็จำเป็นจะต้องมีแผนรองรับสำหรับเติบโตในอนาคต ทาง AMARC จึงมีแผนการระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปี พ.ศ. 2565 นี้ เพื่อที่จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ชำระหนี้ ใช้จัดซื้อเครื่องมือวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับคู่แข่งด้านการบริการทางวิทยาศาสตร์จากต่างประเทศ
AMARC ได้เสนอขายหุ้น IPO ไม่เกิน 120 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.57% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด โดย ดร. ชินดนัย ไชยยอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์ห้องปฏิบัติการและวิจัยทางการแพทย์และการเกษตรแห่งเอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ เอมาร์ค (AMARC) พร้อมด้วยกรรมการและผู้บริหารของบริษัทฯ ร่วมนำเสนอข้อมูลต่อคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ผ่านการประชุมออนไลน์ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นผู้จัดจำหน่าย และเป็นผู้รับประกันการจำหน่าย
ซึ่งการระดมทุนของ AMARC ครั้งนี้จะถือว่าเป็นก้าวสำคัญของธุรกิจให้บริการทางวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างมาตรฐานให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต เพื่อให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยเติบโตไปด้วยกัน