หากเอ่ยถึงชื่อของ ‘อำพลฟูดส์’ อาจเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าของแบรนด์ กะทิชาวเกาะ ที่คุ้นหูคนไทยมานาน แต่ในอีกฐานะหนึ่งคือตัวแทนจำหน่ายสินค้าเบอร์ต้นๆ ของประเทศ
ก้าวสู่ปีที่ 35 ของ อำพลฟูดส์ ในยุคหลังโควิด-19 กลยุทธ์สำคัญคือการเสริมศักยภาพของธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ขยายศักยภาพด้านการส่งออกสินค้าสู่ตลาดโลก พัฒนาแพลตฟอร์มจัดจำหน่ายใหม่ให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น เสริมนโยบายความยั่งยืน และที่สำคัญคือการจับมือกับพาร์ทเนอร์ SMEs พร้อมพัฒนาให้เติบโตไปด้วยกัน
ชวนไปพูดคุยถึงปัจจุบันและอนาคตของอำพลฟูดส์ กับ ดร.เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ กลุ่มอำพลฟูดส์ ถึงทิศทางใหม่ที่กำลังเติบโตในทุกมิติ
อำพลฟูดส์กับตลาดอาหารและเครื่องดื่มหลังยุคโควิด
“ในช่วง 2 ปีแรกของโควิด-19 แทบจะไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับเราสักเท่าไหร่ เพราะเรามีศูนย์กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบ ยังไงคนก็ต้องกินต้องใช้ แต่พอมาถึงไตรมาส 2 ในปีนี้ ก็เจอปัญหาค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่ากระทบกับเรื่องของต้นทุน ในแง่ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในโอกาสที่เราก้าวสู่ปีที่ 35 เป็นยุคดิจิทัลแล้ว เราจะพยายามพัฒนาการเชื่อมโยงประสบการณ์ของผู้บริโภคกับสินค้าเรา ด้วยการตอบสนองพฤติกรรมผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลรายบุคคล เพื่อนำเสนอสิ่งที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด ที่สำคัญเราได้เร่งเสริมศักยภาพธุรกิจตัวแทนจำหน่ายสินค้า ซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา ให้สามารถเข้าถึงร้านค้ากว่า 300,000 ราย พร้อมทั้งขยายศูนย์กระจายสินค้ากว่า 75 สาขาทั่วประเทศ และล่าสุดเราผลักดันศักยภาพด้านการส่งออกสินค้าคุณภาพของไทย ไปตลาดโลกกว่า 80 ประเทศแล้ว”
ขยายแพลตฟอร์มสู่ช่องทางจำหน่ายใหม่
“แพลตฟอร์มการขายของเดิมที่เรามีศูนย์ทั่วประเทศ เรามีฐานลูกค้าอยู่ 300,000 ราย เราพยายามใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด การที่เราได้พันธมิตรมา ก็ช่วยทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงได้เรื่อยๆ ฉะนั้นสิ่งที่เรามองอยู่ตอนนี้ คือทำยังไงที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในแพลตฟอร์มเดิมให้มันคุ้มค่าขึ้นมากกว่าเดิม อย่างกรณีออนไลน์และออฟไลน์นั้นค่อนข้างส่งเสริมกัน ปัจจุบันออนไลน์มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังส่งผลให้ออฟไลน์มีคนรู้จักจำนวนมาก อย่างกลุ่ม GoodLife ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเฉพาะ ก็ต้องอาศัยทั้งออนไลน์และออฟไลน์ทุกแพลตฟอร์ม หรือในห้างสรรพสินค้า จนกระทั่งล่าสุดก็หนีไม่พ้นเรื่อง Vending Machine ที่เราตั้งเป้าว่าน่าจะไปได้ไกล เพราะเทรนด์ผู้บริโภคตอนนี้คือการซื้อสินค้าในรูปแบบ Self Service เราจึงไปจับมือกับ บริษัท เวนดิ้ง พลัส จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในเครือ SABUY Tech ที่ผลิตตู้เวนดิ้งแมชชีนรายใหญ่ของไทย โดยใช้ชื่อว่า G Vending เจาะกลุ่มเป้าหมายเป็นพนักงานออฟฟิศกับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย เป็นเป้าหมายหนึ่งที่เราคาดหวังไว้พอสมควร”
สนับสนุน SMEs ให้เติบโตไปด้วยกัน
“เรามองเห็นถึงศักยภาพของ SMEs หลายเจ้า ตอนนี้มีไม่ต่ำกว่า 10 รายแล้วที่เราเข้าไปช่วยสนับสนุน แต่เราก็มองเห็นว่าเขายังขาดอยู่หลายเรื่อง อย่างการมีสินค้าที่ดูดี แต่การผลิตไม่มีมาตรฐาน ไม่มีระบบ QC ตรวจ หรือการผสมวัตถุดิบต่างๆ ถ้าเขาจะผลิตเป็น mass เยอะๆ หรือทำการตลาด ทุกอย่างต้องมีหลักการ เราก็ไปสร้างและสอนเรื่องพวกนี้ให้เขา บางเจ้าเราก็ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เขาด้วย คือเขามีของอยู่แล้ว แต่ทำยังไงให้มันดีกว่านั้น อย่างเช่นตัวอย่างของ ‘เอ็มทีบายแม่ตุ๊ก’ ที่ทำน้ำปลาร้า คือเขาหมักปลาร้าเป็นอยู่แล้ว แต่เราเข้าไปสอนการแปรรูปลงขวด มาที่โรงงานพัฒนาร่วมกันที่ห้องแล็บ แล้วเราก็ตรวจสอบคุณภาพให้ ทำทุกขั้นตอน สอนจนได้สูตรทุกอย่างหมด หรือทำยังไงให้ผลิตได้จำนวนมากในต้นทุนที่ต่ำ จนกระทั่งได้สินค้า ก็มาออกแบบแพ็คเกจจิ้ง กระทั่งชื่อแบรนด์ ตอนแรกเขาบอกว่าจะใช้ แม่ตุ๊ก เราก็เลยบอกว่าชื่อคนใช้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่ได้ เราก็แนะนำว่าเป็น เอ็มทีบายแม่ตุ๊ก แล้วก็แนะนำให้เขาไปติดต่อกรมประมงให้ตรวจโรงงาน เพื่อที่จะสามารถส่งออกไปได้ทั่วโลก เราเข้าไปช่วยเหลือเขาทุกขั้นตอน นอกจากนั้น SMEs แบรนด์อื่นๆ ที่เราเข้าไปช่วยเหลือและเสริมช่องทางจำหน่ายให้เขา อย่างเช่น เครื่องดื่มรสน้ำผึ้งมะนาวโซดา ตรา แม็กซี่, สาหร่ายอบกรอบ ตรา แดซอง, กะปิกุ้งเคยแท้ ตรา หลวงไก่ และ น้ำผึ้งผสมน้ำผลไม้ ตรา ฮันนี่”
เจาะตลาดสมุนไพรไทยพร้อมกับจับมือแบรนด์ใหญ่ระดับโลก
“จากสถิติการเติบโตของตลาดสมุนไพรกระชายดำ ที่กำลังได้รับความนิยมสูงที่สุดในขณะนี้ ตลาดโลกมีมูลค่าอยู่ที่ 5.5 ล้านล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นสัดส่วนยาสมุนไพร อยู่ที่ 61 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตลาดสมุนไพรในประเทศไทยปี 2564 มีมูลค่าการตลาดสูงถึง 3 แสนล้านบาท ด้วยสรรพคุณที่ช่วยในการบำรุงร่างกายและรักษาโลกต่างๆ ได้เกือบ 100 ชนิด ตลาดในไทยเองก็ตอบรับกระแสนี้ดีมาก และต่างประเทศก็มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เรามองเห็นถึงโอกาสใหม่ในการเจาะตลาดสมุนไพรนี้ ทำให้เกิดแบรนด์ ชายไมค์ เป็นเครื่องดื่มสมุนไพรยาน้ำผสมกระชายดำที่ดื่มง่าย และเครื่องเทศและสมุนไพรแบรนด์ ปราชญา ขณะเดียวกันด้านการจับมือกับแบรนด์ระดับโลกเราก็ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน อย่างเช่น ยังฟัน เป็นเครื่องดื่มรสนมกลิ่นผลไม้ ของบริษัท อีลี่ กรุ๊ป ยักษ์ใหญ่ผลิตภัณฑ์นมอันดับ 5 ของโลก และเบอร์ 1 เอเชีย และเครื่องดื่มโคล่า RC แบรนด์ระดับโลกจากอเมริกาที่มีมานานแล้ว เราก็เป็นพาร์ทเนอร์ช่วยพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายในไทยให้”
พัฒนาหลักสูตร UTCC Food Works ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้า
“เราอยากจะทำให้ SMEs เข้าใจการทำสินค้าทั้งกระบวนการ ไม่ใช่เอาสินค้าไปวางแล้วก็ขายได้ เราจึงไปร่วมกับ คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พัฒนาหลักสูตร UTCC Food Works ขึ้นมา เพื่อเปิดโอกาสให้ SMES ที่ต้องการสร้างสินค้า มองหาตลาดหรือช่องทางการจัดจำหน่าย ได้รับความรู้จากหลักสูตรนี้ โดยหลักสูตรจะแบ่งออกเป็นปัจจัยหลัก คือเรื่องการพัฒนาสินค้า เราไปช่วยแนะนำ แต่ว่าเขาต้องเป็นคนทำเอง สินค้าต้องดี แพ็คเกจจิ้งต้องดี ทุกอย่างต้องดีหมด ปัจจัยต่อมาคือเรื่องการตลาด เขาต้องเข้าใจ เพราะเราเป็นผู้จัดจำหน่าย เอาไปวางร้านค้าให้ได้ แต่ถ้าวางไปแล้ว เขาไม่ทำการตลาดหรือสินค้าไม่ดีพอ ขายไม่ได้ก็กระทบกันทั้งหมด เรียกว่าเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นเพื่อ SMEs โดยเฉพาะ ที่จะสอนให้เขาเข้าใจทุกกระบวนการตั้งแต่เริ่มต้นเลย”
นโยบายความยั่งยืน ตอบรับต่อเทรนด์สิ่งแวดล้อม
“เราทำเรื่องนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว โดยเฉพาะเรื่อง Zero Waste โรงงานของเราแทบจะไม่มีอะไรเหลือทิ้งเลย ใช้แทบทุกส่วนของมะพร้าว ทั้งเปลือก กะลา น้ำมะพร้าวก็ใช้หมด แต่การทำแค่โรงงานยังไม่พอ ต้องทำให้กลับสู่สังคมด้วย เราทำ โครงการกล่องวิเศษ ตั้งแต่ปี 2552 เก็บกล่องนมมารีไซเคิลเป็นไม้อัด ทำเป็นโต๊ะนักเรียนแจกทั่วประเทศเป็นหมื่นชุด เป็นโครงการที่ได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี อีกประเด็นสำคัญในฐานะที่เราเป็นผู้ผลิตกะทิโดยตรง คือเรื่องการใช้แรงงานลิงอย่างทารุณกรรมในอุตสาหกรรมมะพร้าวของประเทศไทย เราจึงไปร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า (WFFT) ให้ความช่วยเหลือลิงกังที่บาดเจ็บ ถูกทำร้าย ได้รับการทารุณกรรม หรือถูกทอดทิ้ง รวมถึงการให้การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีกับลิง พร้อมให้ความรู้ด้านสวัสดิภาพสัตว์แก่เกษตรกร และที่สำคัญคือเราใช้ผลิตภัณฑ์ ตรา มังกี้ ไอส์แลนด์ สนับสนุนโครงการจากรายได้ที่ขายได้ และในอีกเรื่องที่กำลังจะประกาศคือ Net Zero โรงงานเราติด Solar Rooftop ไปแล้ว 2 MW ปีหน้าจะเพิ่มขึ้นอีก 1 MW หรือเรื่องน้ำเสียที่ออกจากโรงงานทั้งหมด ก็ผลิตเป็นแก๊สชีวภาพแล้วปั่นกระแสไฟฟ้าใช้ คือเก็บทุกอย่างที่ทำได้ ทั้งหมดนี้คือนโยบายความยั่งยืนที่เราทำ”
อนาคตที่จับต้องได้ของอําพลฟูดส์
“อนาคตคือการเพิ่มพาร์ทเนอร์ SMEs ที่เข้ามาเรื่อยๆ ขยายออกไปในแนวตรง แต่ว่าในปีหน้าเราจะเริ่มขยายในแนวดิ่ง ก็คือศูนย์กระจายสินค้า มีการแยกสินค้าบนรถออกจากกัน กลุ่มหนึ่งเป็นของคาว และอีกกลุ่มเป็นพวกของหวานและเครื่องดื่ม ต่อไปนี้ไปจังหวัดหนึ่งจะเห็นรถของเราเต็มจังหวัด นอกจากนั้นคือการเป็นบริษัทจัดจำหน่าย เชื่อว่าวันหน้าเราจะเป็นหนึ่งในตัวแทนจำหน่ายของประเทศที่มีศักยภาพสูง และสุดท้ายคือการพัฒนาศูนย์วิจัยเฉพาะที่กลุ่มคู่ค้า SMEs ไว้วางใจ ซึ่งเราสามารถวิจัยสินค้าแบบครบวงจร โดยไม่จำเป็นต้องให้เราจัดจำหน่ายก็ได้ ช่วยสร้างเขาให้เกิด ก็รู้สึกเป็นความภูมิใจขององค์กรเราแล้ว สุดท้ายเรายังคงยึดมั่นในวิสัยทัศน์ที่ว่า มุ่งสู่กลุ่มบริษัทนวัตกรรมอาหารชั้นนำ ครอบคลุมความหลากหลายทุกช่องทางการตลาดและกลุ่มลูกค้า ดำเนินธุรกิจด้วยแนวทางแบบมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน”