อาจเป็นความบังเอิญที่แสนประจวบเหมาะ เมื่อศิลปินคนหนึ่งเคยเซฟเก็บผลงานของศิลปินจากอีกซีกโลกเอาไว้เป็นแรงบันดาลใจ แล้ววันหนึ่งเขาก็มีโอกาสได้เห็นงานสุดเจ๋งชิ้นนั้นด้วยตาตัวเอง และประสบการณ์ของการ ‘เห็นกับตา’ ก็ทำให้เขาพบว่างานชิ้นนั้นไม่เหมือนกับที่เคยเห็นผ่านหน้าจอหรือเคยคิด แต่กลับกลายเป็นความประทับใจที่มากยิ่งขึ้นไปอีก
รอง—จิตต์สิงห์ สมบุญ ศิลปินชื่อดัง อดีตดีไซเนอร์แห่ง Greyhound คือศิลปินคนแรกที่ว่า และ Antony Gormley นักประติมากรรมและศิลปะจัดวางระดับโลก คือศิลปินคนอีกคนที่เราพูดถึง
ความบังเอิญครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อแสนสิรินำผลงานของกอร์มลีย์มาจัดแสดงในแสนสิริ เลาจน์ ชั้น 3 สยามพารากอน โดยชิ้นที่จัดแสดงนี้มีชื่อว่า ‘LOOK’ ซึ่งมากับคอนเซปต์ที่กอร์มลีย์แสนหลงใหล นั่นก็คือเรื่องของ body and space
กอร์มลีย์เคยกล่าวเอาไว้ว่า “ผมไม่ได้สนใจที่จะทำรูปปั้น แต่ผมอยากรู้ว่า ธรรมชาติของร่างกายที่มนุษย์อาศัยอยู่คืออะไร” และอีกหนึ่งความบังเอิญที่เกิดขึ้นก็เห็นจะเป็นแนวคิดชิ้นนี้นี่เอง ที่จิตต์สิงห์และกอร์มลีย์มีเหมือนๆ กัน—body and space แต่ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับจิตต์สิงห์และสเปซของเขาให้มากขึ้นอีกนิดจะดีกว่า
การทำงานในวงแฟชั่นกับการทำงานอาร์ตเพียวๆ แตกต่างกันในแง่ไหนบ้าง
จิตต์สิงห์ : ตอนนี้ผมค่อนข้างปลดระวาง แต่ยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในภาควิชาแฟชั่นอยู่ สำหรับแฟชั่นของผม ผมใช้ศิลปะทั้งนั้นเลย เอามาแปลงมาผสม เพราะก่อนหน้านั้น วงการแฟชั่นเมืองไทยอาจจะสนใจแค่เทรนด์ ผมจึงอยากให้มีการเอางานศิลปะเข้าไปอยู่ในเสื้อผ้าบ้าง มีการเล่นกับลาย เล่นกับสี หรือเท็กซ์เจอร์บ้าง
ตลอด 10 กว่าปีในการทำงาน คุณยังคงแอคทีฟเสมอ ล่าสุดนี้คุณกำลังสนใจโปรเจคต์ไหนเป็นพิเศษ
จิตต์สิงห์ : ผมเพิ่งเสร็จจากงานแสดงภาพในหลวง ล่าสุดนี้ก็ทำเซลฟ์พอร์ทเทรท ซึ่งจะมีลักษณะเป็น ‘ตัวต้นแบบ’ ดังนั้น นี่ไม่ใช่แค่การบันทึกหน้าตาหรือบุคลิกของตัวเอง แต่ยังเป็นเป็นเรื่องของบล็อก แบบที่เราใช้ในสกรีน กราฟิตี้ หรือสิ่งพิมพ์ มันคือตัวเชื่อมในงานศิลปะ ถ้าไม่มีบล็อก ผลงานที่เกิดขึ้นก็จะไม่มีคุณภาพ ก็เหมือนคนเราที่โตมากับบล็อกหรือเบ้าหลอมของตัวเองนั่นแหละ
ผมว่าตัวบล็อกสำคัญมากนะ ในขณะที่คนไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าไหร่ พอเสร็จงานก็โยนทิ้งไป เราเลยลองเอาตัวบล็อกมาเชิดชู
คุณเองเริ่มเห็นความสำคัญของบล็อกตั้งแต่ตอนไหน
จิตต์สิงห์ : ผมเจอบล็อกตอนที่ลองเล่นกราฟิตี้เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ตอนนั้นพอดึงออกมาปุ๊บ พบว่ามันมีบรรยากาศระหว่างพื้นที่รอบข้างกับตัวบล็อก เลยเอามันเปลี่ยนฉากไปเรื่อยๆ ภาพที่เราเห็นผ่านตัวบล็อกก็แตกต่างออกไป
ผมเลยเอามันไปญี่ปุ่นด้วย ไปเล่นตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งมันเป็นกราฟิตี้ที่ไม่ต้องทำลายโลก เราใช้สื่อโซเชียลบอกเล่าแทน พอถ่ายรูปเสร็จก็จบไม่ได้ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ตรงนั้น ผมเรียกมันว่าคลีนกราฟิตี้ เล่นไปเรื่อยคนก็ชอบ บางทีเอาไปวางบนหน้าคนก็มี ไปเล่นตามที่ต่างๆ ในกรุงเทพ ตอนนั้นนิตยสาร L’officiel Art Thailand มาเจอ เขาก็อยากให้ทำงานอาร์ตคู่กับแฟชั่นเซ็ตดู ผมเลยเอาไปเสนอ ทำเป็นชิ้นใหญ่ถ่ายกับนางแบบ เป็นชิ้นใหญ่ประมาณสองเมตร เป็นหน้าผมกับนางแบบ ก็เป็นงานที่สนุกมากในตอนนั้น จากนั้นเราก็ใช้เทคนิกนี้มาตลอด แต่เปลี่ยนรูปแบบ เป็นการเจาะบ้าง จากเลเซอร์ก็ปรับเป็นการเพนท์บ้าง ลองทำกับหน้าแม่ผมบ้าง ซึ่งตรงนี้ผมเลือกคอนเซปต์ของความเป็นต้นแบบ นั่นก็คือ แม่ ในหลวง และราชินี
นี่คือการเล่นกับ space ในแบบของคุณใช่ไหม
จิตต์สิงห์ : งานผมเล่นกับสเปซมาตลอด ไม่เคยถมสเปซเต็มเลย บางคนเอาพื้นหลังเป็นแค่พื้นรองผลงาน แต่งานผมค่อนข้างเหลือเนื้อที่เอาไว้ และพื้นที่นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของผลงานด้วย
เมื่อได้ชม ‘LOOK’ ของกอร์มลีย์แล้ว มองว่า space ของเขากับของคุณเหมือนกันไหม
จิตต์สิงห์ : ต้องบอกก่อนว่า ตอนที่เห็นงานนี้ครั้งแรก มันเป็นงานที่ผมเซฟเอาไว้ในพินเทอร์เรสมาตั้งนานแล้ว ก่อนที่จะรู้จักตัวเขา งานประติมากรรมที่ทำให้ช่างชุ่ยชิ้นแรก ผมก็มีแรงบันดาลจากเขา นั่นคือการเป็นประติมากรรมที่เล่นกับสเปซ จะเห็นว่างานเขาไม่ได้อัดแน่นจนเต็มสเปซ งานผมเองก็ใช้สเปซช่วย ถ้าแสงในสเปซเปลี่ยนภาพก็เปลี่ยนไปด้วย
และงานชิ้นนี้ เมื่อมันเป็นแรงบันดาลใจของเราอยู่แล้ว พอได้มาดูก็ยิ่งเพิ่มความชอบ มั่นใจในความชอบของตัวเอง แต่พร้อมๆ กันนั้นก็ยิ่งทำให้เราคิดว่างานเราต้องไม่คล้ายแบบนี้ อาจมีเรื่องของสเปซเหมือนกัน แต่ฟอร์มจะไม่เหมือนกัน เหมือนเราได้ศึกษาแนวคิดเพื่อมาเติม เพื่อกลั่นกรองออกมาเป็นแนวคิดของเรา
ผมเองอยากทำงานที่มีรูปแบบแปลกใหม่ไปเลย แล้วเป็นตัวเราจริงๆ เราต้องรู้สึกได้ว่ามันช่างคุ้มค่าที่ได้ทำขึ้นมา อยากรู้สึกกับงานแบบนี้
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการชมผลงาน ‘LOOK’ คืออะไร
จิตต์สิงห์ : รู้สึกเสียใจนิดนึงที่มาน้อยไป คือเราอยากเห็นเยอะกว่านี้ (หัวเราะ) แต่สิ่งที่เห็นแล้วตื่นเต้นไปกับงานชิ้นนี้ก็คือความเป็นเหล็กของมัน คือตอนดูในรูปเราก็ชอบแล้ว พอไปเห็นของจริง จากตอนแรกที่เราคิดว่าจะเป็นเหล็กกลวง หรือปูน แต่นี่มันคือเหล็กตัน ซึ่งมันทำงานยากมาก มันหนักมาก ถึงแม้ตัวงานจะไม่ได้สูงกว่าคนไปมาก แค่ประมาณสองเมตร แต่น้ำหนักมันเยอะ ขั้นตอนมันยาก แต่มันกลับไม่มีรอยเชื่อมตรงมุมเลย ซึ่งการเห็นผ่านรูปกับเห็นของจริงมันเทียบกันไม่ได้เลย
บางทีมันเหมือนกับว่าจริงๆ เราดูจากหนังสือหรือมือถือหรือทีวีก็ได้ แต่มันก็เหมือนกับเราไปดูหนังที่โรงหนัง นั่นแหละ ผมยังยืนยันเรื่องสเปซ ที่ทำให้สัมผัสหลายๆ อย่างมารวมกันเป็นประสบการณ์ เป็นบรรยากาศที่รายล้อมเรา เหมือนเวลาที่เราสัมผัสหนังสือกับอ่านในมือถือ มันอ่านออกเหมือนกันแต่อารมณ์ไม่เหมือนกัน
เวลาผมดูงานของศิลปินในหนังสือ ผมชื่นชมระดับหนึ่ง แต่ระบบพิมพ์ยังไงก็ไม่เหมือนของจริง ไม่มีอะไรแทนค่าลูกกะตาได้ การได้ไปชมงานชิ้นนี้มันมีมิติของมัน มวลของสี มวลของงาน เห็นผิววัสดุ เราเห็นมันทุกมุม ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านข้าง ก้มดูก็ได้ มันกระทบใจผมจังๆ
มองว่าการจัดแสดงผลงานของกอร์มลีย์ในครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์กับสังคมหรือวงการศิลปะอย่างไรบ้าง
จิตต์สิงห์ : ผมว่าศิลปะเป็นสิ่งที่ต้องซึมซับไปเรื่อยๆ การเอางานมาจัดแสดงแบบนี้ก็ควรทำไปเรื่อยๆ ด้วยซ้ำนะ ไม่ต้องแค่คนไทยหรอก ทุกคนสามารถพัฒนาจากประสบการณ์ได้เรื่อยๆ ผลงานแต่ละชิ้นก็มีประสบการณ์ให้คนได้ซึมซับไป ศิลปะมันเลยช่วยขับเคลื่อนสังคมได้
หรือสำหรับคนที่ไม่ได้มีพื้นฐานด้านศิลปะเลยก็ตาม งานนี้ก็ยังสื่อสารง่าย เนื่องจากมันเป็นฟอร์มที่เราเข้าใจได้ไม่ยาก ถึงจะไม่ได้เป็นรูปคน แต่เราใช้จินตนาการเข้าช่วยได้ว่ามันคล้ายคน หรือจะเสพในแง่ของลักษณะการวางที่เหมือนจะหล่นแต่ไม่หล่น การจัดวาง เรียงต่อ ของมันก็ได้
และอย่างที่บอกว่าเสียดาย น่าจะมาเยอะกว่านี้ สำหรับบางคนถ้าใช้แนวคิดแบบเศรษฐศาสตร์ก็อาจจะบอกว่าไม่เห็นคุ้มเลย แต่โดยส่วนตัวผมที่ทำงานศิลปะ เรียนศิลปะ ชอบทุกอย่างที่เกี่ยวกับงานออกแบบ ผมจะรู้สึกว่าคุ้มค่ามากๆ
ผมว่าแสนสิริเองก็ไม่ได้คิดในเชิงพานิชย์ล้วนๆ หรอก ศิลปะมันไม่ควรตั้งต้นด้วยความคิดแบบนี้ ศิลปะเป็นตัวเชื่อมโยงต่อสังคมในแต่ละยุค เป็นตัวบอกยุคสมัยด้วยซ้ำ เพราะศิลปินก็มักจะใช้วัสดุหรือเทคโนโลยีของยุคสมัยเสมอ ดังนั้นมันเป็นบันทึกได้เช่นกัน เช่นยุคหนึ่งที่คนแกะหินอ่อน บางยุคมีแต่สีน้ำมัน ยุค 80s คนก็ทำงานกับซีรอกส์ ยุคนี้อินเตอร์เน็ตเราก็เห็นงานที่มันยึดโยงกับอินเตอร์เน็ต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็อยู่ที่ตัวผู้ชมเองด้วย ว่าเขาจะรับไปหรือไม่
การเสพงานประติมากรรมมีความยากง่ายต่างจากการเสพเพนท์ติ้งไหม
จิตต์สิงห์ : ตอนนี้ประติมากรรมค่อนข้างมาแรงทีเดียวอาจเพราะคนเบื่องานสองมิติ จริงๆ เทคนิกงานประติมากรรมมันโบราณนะ คนคุ้นชิน เข้าถึงง่าย แต่รูปแบบต่างหากที่เปลี่ยนไป ที่จะทำให้คนเข้าใจหรือไม่เข้าใจ อย่างงานของกอร์มลีย์ถือเป็นงานร่วมสมัย ดูง่ายไม่ได้ล้ำยุคหลุดโลก ยังมีประติมากรรมอีกหลายแบบที่ประหลาดล้ำ ดูยากกว่า แต่อันนี้ผมว่ากำลังดี ถ้าแปลกเกินไปยิ่งจำกัดคนดูมากเท่านั้น งานนี้จึงถือเป็นจุดสตาร์ทที่ดี ในการให้คนเข้าถึงศิลปะ ด้วยรูปแบบและด้วยชื่อศิลปินก็ตาม
สำหรับคุณแล้วสุนทรียภาพคืออะไร
จิตต์สิงห์ : สุนทรียภาพของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจมองที่รูปแบบ กลิ่น ความสบายตา สบายกาย หรือสบายหู ซึ่งของผมมันคือทั้งหมดในนั้น เอาจริงๆ จนถึงอายุขนาดนี้ สุนทรียภาพทางสัมผัสมันสำคัญมาก มันต้องกระทบกับใจเราให้ได้ ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้น ชื่นชม เศร้าโศก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกร้ายหรือดี การชมงานศิลปะก็ต้องกระทบใจก่อน
แล้วสุนทรียภาพเกี่ยวกับ body and space ในแบบของคุณควรเป็นแบบไหน
จิตต์สิงห์ : ร่างกายผมต้องการสเปซ เนื่องจากผมทำงานศิลปะ ต้องการพื้นที่กว้างเพื่อทำงานได้เต็มที่ และเพื่อเป็นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับกิจวัตรของเรา เช่นตื่นมาเราต้องกินกาแฟตรงไหน ทานข้าวตรงไหน เราจะลุกไปทำงานตรงไหน เราจะเลอะได้ตรงไหน ดังนั้นสเปซมันต้องสัมพันธ์กับไลฟ์สไตล์เราทั้งสิ้น
ส่วนตัวผมชอบพื้นที่เปิด เพราะผมเป็นคนเก้งก้าง เวลาของเกะกะเต็มไปหมดจะไม่สัมพันธ์กับความเคลื่อนไหว มันไม่โอเค ผมจึงเกลียดที่แคบ เวลาเข้าลิฟต์ผมจะมีปัญหามาก แต่ขณะเดียวกันถ้าเป็นห้องน้ำบนเครื่องบินกลับไม่มีปัญหาแฮะ มันกลับดูเท่ดี อย่างบางคนอาจชอบห้องน้ำกว้างๆ แต่ผมกลับชอบห้องน้ำที่พอใช้งาน แต่ห้องทำงานกับห้องนอนไม่อยากให้มีที่กั้น เวลามีอะไรกั้นแล้วมันอึดอัด ดังนั้นเรื่องของสเปซ จริงๆ แล้วสำคัญกับทุกคนนะ อยู่ที่ว่าแต่ละคนจับจังหวะระหว่างตัวเองกับสเปซกันแบบไหน แล้วจัดการพื้นที่ของตัวเองยังไงซะมากกว่า.
และนี่ก็คือวิธีคิดของอีกหนึ่งศิลปินผู้ให้ความสำคัญกับ body and space อย่างยิ่งยวด แน่นอนว่าเป็นอย่างที่เขายืนยัน —แค่อ่านหรือดูภาพประกอบผ่านหน้าจอ คงยังไม่เพียงพอสำหรับการดื่มด่ำศิลปะที่มองได้จากทุกมุมมองชิ้นนี้ ดังนั้นการพาตัวเองไปอยู่ในสเปซเดียวกับตัวชิ้นงาน จึงเป็นประสบการณ์แห่งสุนทรียภาพที่น่าลิ้มลองเหลือเกิน
ชมประติมากรรมระดับโลก ‘LOOK’ โดย Sir Antony Gormley ได้ในงาน ‘In Between Body and Space’ แสนสิริเลานจ์ ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันเสาร์ที่ 30 กันยายน เวลา 11.00-20.00 น.