‘พัดลม’ คือหนึ่งในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ทุกบ้าน โดยมักถูกมองข้ามเรื่องของดีไซน์อยู่เสมอ Hatari หนึ่งในพัดลมแบรนด์ไทย ได้ร่วมมือกับ Habits Design Studio สตูดิโอออกแบบที่เชี่ยวชาญการออกแบบผลิตภัณฑ์จากอิตาลี เพื่อพลิกโฉมเรื่องของดีไซน์ให้ไม่เหมือนเดิม
โดยเบื้องหลังแนวคิดในการออกแบบ ได้ถ่ายทอดออกมาผ่านนิทรรศการ ‘500 Cubic Meters of Wind: The Art and Power of Design’ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการออกแบบ ซึ่งผสมผสานนวัตกรรมล้ำสมัยเข้ากับความรู้สึกที่เชื่อมโยงถึงกัน โดยหยิบยกเอาประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างของมนุษย์ ให้สามารถรับรู้ถึงพลังงานลมได้อย่างสร้างสรรค์ โดยนิทรรศการนี้เป็นส่วนหนึ่งในงาน เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2568 หรือ Bangkok Design Week 2025 (BKKDW2025) ที่มาในธีม ‘Design Up+Rising : ออกแบบพร้อมบวก+’ ที่ต่อยอดมาจากนิทรรศการในปีที่แล้วอีกด้วย
ชวนไปพูดคุยกับ คุณทัศน์ลักษณ์ – คุณชัญญา พานิชตระกูล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด ถึงเบื้องหลังแนวคิดในการสร้างภาพจำใหม่ของพัดลมให้เป็นมากกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป โดยสะท้อนผ่านนิทรรศการที่มอบประสบการณ์แบบ immersive นำเสนอศักยภาพที่โดดเด่นของแบรนด์ในการออกแบบ และการผสมผสานดีไซน์ที่สวยงามให้เข้ากับประสิทธิภาพการใช้งานได้อย่างลงตัว
ต่อยอดความสำเร็จจากปีก่อน สู่การดีไซน์นิทรรศการครั้งใหม่
ปีที่ผ่านมาเป็นปีแรกที่เราเข้าร่วมงาน Bangkok Design Week และในปีนี้ก็ได้เข้าร่วมเป็นปีที่สองอย่างต่อเนื่อง โดยยังคงทำงานร่วมกับ Habits Design Studio อย่างใกล้ชิด ในช่วงแรก อาจจะมีความท้าทายในเรื่องของความต้องการของผู้บริโภคในไทยและยุโรปที่แตกต่างกัน เราจึงต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม หลังจากทำงานร่วมกันระยะหนึ่ง กระบวนการทำงานก็เป็นไปได้อย่างราบรื่น
จุดเริ่มต้นของการเข้าร่วม Bangkok Design Week เกิดจากการรีดีไซน์โปรดักต์ไลน์ของเรา โดยมีการเปิดตัวสินค้าดีไซน์ใหม่มากมาย ซึ่งทำให้เรามองว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของ Hatari ให้กับผู้บริโภคได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง เราอยากให้ทุกคนได้เห็นว่า Hatari กำลังก้าวไปข้างหน้า ไม่เพียงแต่ในด้านรูปลักษณ์ภายนอก แต่ยังรวมถึงแนวคิดและคุณค่าที่เรานำเสนอ ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกถ่ายทอดผ่านนิทรรศการ “DESIGNING THE WIND” ในปีที่ผ่านมา นิทรรศการดังกล่าวสะท้อนถึงเส้นทางของเราตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความร่วมมือกับ Habits Design Studio ไปจนถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในโปรดักต์ไลน์ต่างๆ
เรารู้สึกยินดีที่ได้รับผลตอบรับที่ดีจากปีที่ผ่านมา จึงเป็นแรงผลักดันให้เราตัดสินใจเข้าร่วม Bangkok Design Week อีกครั้งในปีนี้ เพื่อสานต่อแนวคิดและนำเสนอนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภค
Design Up+ Rising กับปรัชญาของฮาตาริ
Up+ Rising หรือในภาษาไทย “ออกแบบพร้อมบวก” เป็นแนวคิดที่มุ่งนำดีไซน์มาสร้างคุณค่าให้กับสิ่งของที่เราอาจมองว่าเป็นของธรรมดาในชีวิตประจำวัน ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาของ Hatari ที่เชื่อว่า “ผลิตภัณฑ์ที่ดีต้องเป็นมากกว่าความสวยงามหรือฟังก์ชันเพียงอย่างเดียว” แต่ต้องผสานทั้งสององค์ประกอบเข้าด้วยกันอย่างลงตัว เพื่อเพิ่มคุณค่าและตอบโจทย์การใช้งานของผู้บริโภคในมิติที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่ “โปรดักต์” แต่เป็น “โปรดักต์ที่สร้างความหมายและคุณประโยชน์ที่แท้จริง”
มากกว่าแสดงสินค้า คือการสำรวจเข้าไปในอารมณ์
ความหมายของคำว่า ‘โชว์รูม’ สามารถตีความได้ว่าเป็นสถานที่สำหรับแสดงสินค้าต่างๆ เช่น โชว์รูมรถก็จะมีรถแสดงอยู่ ถ้าเป็นเปรียบเปรยไปในทางของฮาตาริ ก็จะเป็นพัดลมรุ่นนี้ ความแรงรอบต่อนาทีเป็นเท่าไร กำลังไฟฟ้าเท่าไร ขนาดใบพัดเท่าไหร่ หรือคุณสมบัติอื่นๆ แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับออกแบบผลิตภัณฑ์โดยตรง เช่นเดียวกัน หากผู้บริโภคต้องการดูพัดลมของฮาตาริ ก็สามารถไปดูที่ห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าจัดจำหน่ายทั่วไป นิทรรศการนี้จึงเป็นมากกว่าการจัดแสดงสินค้า แต่เป็นพื้นที่ให้คุณ “สำรวจ” ความรู้สึกที่มีต่อลม ว่ามันสามารถสร้างความสบาย เติมเต็มบรรยากาศ และเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของคุณได้อย่างไร จริงๆ แล้ว มันเกี่ยวข้องกับหลักความเชื่อ ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีและตอบโจทย์ลูกค้าได้ ทำให้ประสบการณ์การใช้ของเขาดีขึ้นด้วย รวมถึงทำให้ชีวิตของเขาสะดวกสบายขึ้น เลยกลายมาเป็นคอนเซปต์ของเราที่ไม่ได้ต้องการสร้างแค่โชว์รูม แต่เราต้องการให้มีการสำรวจเข้าไปในอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อลม
ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่รับรู้ได้ผ่านสายลม
นิทรรศการครั้งนี้มีชื่อว่า 500 Cubic Meters of Wind: The Art and Power of Design ซึ่งเริ่มต้นจากผลตอบรับที่ดีครั้งก่อน ที่เราได้เล่าเรื่องราวของการเดินทางของแบรนด์ ว่าเราได้สร้างดีไซน์ดีเอ็นเอผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์ แล้วนำมาประยุกต์กับแบรนด์ของเราอย่างไร เป้าหมายของนิทรรศการในครั้งนี้ คือการทำให้นิทรรศการไม่ใช่เพียงแค่การจัดแสดงผลิตภัณฑ์แต่เป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นนิทรรศการ การออกแบบ และศิลปะ โดยยังคงสามารถจัดแสดงผลิตภัณฑ์ได้ด้วย แนวคิดใหญ่นี้เราตีความออกมาเป็นการสร้างห้องลม เพื่อทำให้สิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่างลม กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้โดยการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เราจะแสดงให้เห็นว่าลมสามารถสร้างรูป สร้างรส สร้างเสียง และสร้างสัมผัสที่กระทบกับกายเราได้อย่างไร รวมถึงการกระทบกับสภาพแวดล้อมที่เราสร้างขึ้นได้อย่างไร เป้าหมายของเราคือการยกระดับไม่ใช่แค่ด้านการดีไซน์เพียงอย่างเดียว แต่ต่อยอดไปยังประสบการณ์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์ของเรา
3 โซนที่สร้างนิยามใหม่ของพลังงานลม
นิทรรศการจะแบ่งออกเป็น 3 โซน เริ่มต้นที่ Design Field โซนหลัก เป็นพื้นที่ที่ทุกคนได้สัมผัสทั้ง 5 สัมผัสเกี่ยวกับลม เราสร้าง landscape ที่มีองค์ประกอบจากธรรมชาติ เป็น pathway และ journey ให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสประสบการณ์เกี่ยวกับลม เหตุผลที่เราเลือกความเป็นธรรมชาติ เพราะเรามองว่าลมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ก่อนที่จะมีพัดลม ซึ่งเชื่อมโยงความเป็นธรรมชาติและธีมของฮาตาริ ที่เน้นเรื่องความยั่งยืนให้ออกมาเป็นทุ่งหญ้าลม ในโซนที่สองคือ Design Library ที่อธิบายกระบวนการออกแบบเบื้องหลังแต่ละโปรดักต์ ผู้ชมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการร่วมมือกันระหว่างฮาตาริและ Habits Design Studio พาร์ตเนอร์ดีไซน์สตูดิโอของเรา ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่แรกเริ่ม ว่ามีการเดินทางจากแนวคิดสู่การสร้างสรรค์อย่างไรบ้าง และโซนสุดท้าย Design Lab นั้น เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างฮาตาริและ Habits ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเราได้จัดเวิร์กช็อปให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 และ ชั้นปีที่ 3 เพื่อพัฒนาไอเดียภายใต้มุมมองว่า หากในอนาคตพัดลมรุ่นใหม่ของ Hatari จะต้องมีประสิทธิภาพที่สูง ใช้งานง่าย และตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ผลิตภัณฑ์นั้นควรจะมีลักษณะอย่างไร เราได้เลือก 4 โปรเจกต์ที่น่าสนใจเพื่อนำไปแสดงในงานนิทรรศการ เพื่อโชว์เคสความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ เปิดมุมมองให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในอนาคต ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของฮาตาริที่สนับสนุนการส่งเสริมและสนับสนุนเจเนอเรชั่นใหม่ ให้พวกเขามีโอกาสแสดงความสามารถตัวเอง
สัมผัสลม… ในมิติที่คุณไม่เคยรู้สึกมาก่อน
เราต้องการสร้างนิทรรศการที่เป็นประสบการณ์แบบ immersive จริงๆ ไม่ใช่เพื่อกำหนดว่าคุณควรรู้สึกอย่างไร แต่เพื่อกระตุ้นให้คุณ “รับรู้” และ “เชื่อมโยง” กับลม ในระดับอารมณ์ ให้พวกเขามีความรู้สึกบางอย่างเมื่อเดินออกมา เพราะพัดลมถือเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและมีอยู่ในทุกบ้าน แต่คนอาจไม่มีเวลาคิดหรือรู้สึกผูกพันกับพัดลมอย่างลึกซึ้งขนาดนั้น เราจึงต้องการสร้างประสบการณ์ immersive นี้ขึ้นมาเพื่อให้คุณได้ สำรวจความรู้สึก ที่เกิดขึ้น และเชื่อมโยง กับบางสิ่งที่เคยถูกมองข้าม
นี่ไม่ใช่แค่การแสดงพัดลม แต่มันคือ การเปิดประสบการณ์ใหม่ให้คุณมองเห็นและรู้สึกถึงลม… ในแบบที่คุณไม่เคยสัมผัสมาก่อน
งานออกแบบที่ยกระดับกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
การโฟกัสในเรื่องดีไซน์ ช่วยเรื่องภาพรวมได้แน่นอน การที่ผู้บริโภคมีความเข้าใจเกี่ยวกับการออกแบบมากขึ้น จะส่งผลดีไปยังด้านอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ความต้องการโปรดักต์ที่ไม่เพียงแค่ตอบสนองความต้องการพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังต้องมีความสวยงาม เช่น สมัยก่อนพัดลมหน้าตาแบบไหนก็ได้เพียงแต่ต้องตอบโจทย์ทำให้หายร้อน แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่าพัดลมจะต้องมีดีไซน์ที่สวยงามด้วย การเปลี่ยนแปลงนี้ยังส่งผลต่อองค์ประกอบอื่นๆ นอกบ้าน เช่น สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ อย่างสวนเบญจกิติและสวนลุมพินีที่มีการปรับปรุงให้ดูสวยงามมากขึ้น ส่งผลให้ภาพรวมของประเทศมีเอกลักษณ์ เพราะการพยายามทำให้ผู้บริโภคเห็นคุณค่าในเรื่องการออกแบบนั้นจะส่งผลไปถึงสิ่งอื่นๆ ด้วย
สามารถชมผลงานจาก Hatari ใน Bangkok Design Week 2025 ได้ที่ไปรษณีย์กลาง บางรัก
รวมถึงร่วมชมผลงานชิ้นอื่นๆ ได้ระหว่างวันที่ 8 – 23 กุมภาพันธ์ 2568
ช่วงที่ 1: วันที่ 8 – 16 กุมภาพันธ์ 2568 ย่านเจริญกรุง – ตลาดน้อย, เยาวราช – ทรงวาด, ปากคลองตลาด และพื้นที่อื่นๆ
ช่วงที่ 2: วันที่ 15 – 23 กุมภาพันธ์ 2568 ย่านพระนคร, บางลำพู – ข้าวสาร และพื้นที่อื่นๆ