ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่อุตสาหกรรมบันเทิงใดๆ จะขยับขยายความนิยมเทียบเท่ามหาอำนาจทางความบันเทิงอย่างฮอลลีวูด
แต่ในระยะหลังมานี้อุตสาหกรรมบันเทิงเอเชียกลับมาแรงแซงทางโค้ง ซึ่งไม่เพียงป๊อปปูลาร์ในเขตพื้นที่ตัวเองเท่านั้น แต่ยังพากันไปกวาดเสียงชื่นชม กวาดเงิน กระทั่งกวาดรางวัลบนเวทีระดับโลกมาแล้ว
ไม่ต่างกับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่กราฟความนิยมของอุตสาหกรรมบันเทิงเอเชียยังคงพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงเห็นกระแสซีรีส์เกาหลีหรือซีรีส์จีนผ่านโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ นี่แหละเป็นเครื่องการันตีได้ว่า อุตสาหกรรมบันเทิงเอเชียกำลังจะยืนหนึ่งไม่แพ้อุตสาหกรรมบันเทิงฮอลลีวูด
เสาหลักอุตสาหกรรมบันเทิงเอเชียอยู่ที่เกาหลีและจีน
จริงๆ แล้วต้องยกเครดิตหลายประเทศในเอเชียที่ช่วยกันผลักดันให้อุตสาหกรรมบันเทิงเติบโต แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า เกาหลีและจีนกำลังเป็นหัวหอกสำคัญที่พาอุตสาหกรรมเดินหน้าแบบฉุดไม่อยู่ โดยเฉพาะเกาหลีที่เพิ่งส่ง Parasite (2019) คว้ารางวัลออสการ์เหนือเจ้าถิ่นอย่างเหนือความคาดหมาย
สาเหตุที่หนังเกาหลีไปไกลขนาดนี้มีการวิเคราะห์ว่า เพราะอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีวางอยู่บน 2 องค์ประกอบ คือ การพยายามหลีกเลี่ยงอิทธิพลของฮอลลีวูด และการสร้างตัวตนอันเป็นเอกลักษณ์ต่อสายตาชาวโลก ประกอบกับเนื้อหาที่กล้าท้าทายผู้ชมให้ก้าวไปสู่พรหมแดนใหม่ ทำให้วงการหนังได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายมากขึ้น
ความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทำให้เกาหลีมีสถานะเป็นตลาดภาพยนตร์ใหญ่อันดับ 5 ของโลก จนเกิดปรากฏการณ์ Korean New Wave คลื่นลูกใหม่จากเกาหลีที่ผู้กำกับหลายคนได้รับการยอมรับระดับอินเตอร์จนถึงทุกวันนี้ เช่น ปักชานวุก คิมจีวูน และ บงจุนโฮ
ขณะที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์จีนก็ยิ่งใหญ่ไม่น้อยไปกว่ากัน เมื่อมังกรกำลังผงาดคว้าชัยเหนือฮอลลีวูด เห็นได้จากมีภาพยนตร์จีนหลายๆ เรื่องทำรายได้เอาชนะหนังดังจากอเมริกากันมากขึ้น เช่น Wolf Warrior 2 (2017) ที่เป็นภาพยนตร์ทำเงินสูงสุดของจีน หรือไล่เลียง 10 อันดับหนังทำเงินสูงสุดของจีน มีเพียง Avengers: Endgame (2019) ที่ติดแค่อันดับ 4 เท่านั้น
นอกจากนี้ เหล่าบริษัทนายทุนใหญ่ยักษ์ของจีน ก็ใจปล้ำพร้อมเปย์กับการโปรโมทภาพยนตร์ฮอลลีวูด บางบริษัทจีนถึงขั้นลงทุนเป็นหุ้นส่วนหลักของบริษัทฮอลลีวูดเลยทีเดียว สิ่งเหล่านี้ทำให้มูลค่ารวมของตลาดภาพยนตร์จีนเติบโตทวีคูณ จนมีการวิเคราะห์ว่า ตลาดภาพยนต์ประเทศจีนอาจจะมีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2023 หรือเร็วหน่อยก็ปี 2020 นี้
ไม่ใช่ภาพยนตร์ แต่บูมยันซีรีส์
จะว่าไปแล้ว หมวดซีรีส์ได้รับความนิยมมากันตั้งนาน หากจำได้สมัยก่อน เสาหลักแรกอย่างเกาหลีก็จะมีจำพวก Dae Jang Geum, Princess Hours หรือ Coffee prince ที่สร้างกระแสเกาหลีฟีเวอร์ให้กับคนไทย โดยปัจจุบันซีรีส์เกาหลีกลับได้รับความนิยมอีกครั้ง เมื่อมีแพลตฟอร์มถูกลิขสิทธิ์เข้าถึงง่ายขึ้น เช่น Netflix มีซีรีส์อย่าง Kingdom, Vagabond, Crash landing on you และล่าสุด Itaewon Class ที่ทำให้หลายคนหลงรักเถ้าแก่กันแทบคลั่ง
ไม่ต่างจากซีรีส์แดนมังกรที่เป็นส่วนหนึ่งของช่องโทรทัศน์ไทยมานาน ถึงแม้ช่วงแรกๆ จะมีแต่ซีรีส์แนวพีเรียดอิงตำนานเทพเจ้าหรือกำลังภายในอย่าง เปาบุ้นจิ้น, ไซอิ๋ว, มังกรหยก หรือตำนานรักดอกเหมย แต่ปัจจุบันแนวทางซีรีส์ก็เปลี่ยนแปลงให้มีเนื้อเรื่องทันสมัย มีทั้งแนวคนเมือง ความรัก หรือสายอาชีพต่างๆ แต่ซีรีส์แนวพีเรียดกำลังภายในยังคงมีอยู่นะ ซึ่งป๊อปปูลาร์ไม่แพ้ซีรีส์รุ่นเก่าเลย
ในประเทศไทยเองก็มีแพลตฟอร์มที่เน้นซีรีส์จีนให้ดูกันอย่างถูกลิขสิทธิ์อย่าง WeTV ของ Tencent ซึ่งเปิดบริการอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปี 2019 มีคอนเทนต์ทั้งพีเรียดจีนโบราณ กำลังภายใน ไปจนถึงรักวัยรุ่น เช่น อุ่นไอในใจเธอ (Put your head on my shoulder) ที่ได้รับการตอบรับดีจนมีการนำนักแสดงมาจัดแฟนมีตติ้งนักแสดงในประเทศไทย หรือซีรีส์รีเมคจากหนังไทย สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก อย่าง A little thing called first love ที่ทำออกมาได้ดีไม่ขัดใจแฟนหนังชาวไทยแถมถูกใจชาวจีน
แต่ไม่มีซีรีส์จีนเรื่องไหนที่ปลุกกระแสฟีเวอร์ได้เท่า ปรมาจารย์ลัทธิมาร (The Untamed) อีกแล้ว กับกระแส #ป๋อจ้าน ที่สร้างปรากฏการณ์สนั่นทวิตเตอร์ได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าซีรีส์จะจบไปแล้ว โดยซีรีส์สร้างมาจากนิยายวายของจีน แต่ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมาย ทำให้ผู้สร้างต้องปรับเปลี่ยนเป็นเรื่องราวมิตรภาพลูกผู้ชาย และด้วยเคมีที่เข้ากันระหว่างสองนักแสดงเซียวจ้าน กับ หวังอี้ป๋อ ทำให้สองคนกลายเป็นคู่จิ้นชาวจีนที่โด่งดังข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงไทย รวมถึงอีกหลายประเทศในเอเชีย
ซีรีส์จึงเป็นอีกหนึ่งรูปแบบที่ไม่เคยจางหายไปจากวัฒนธรรมการเสพของคนไทย
รากฐานที่มั่นคง สร้างเสาให้แข็งแรง
การเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิงไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่ทุกอย่างเกิดจากการวางแผนให้ความบันเทิงกลายเป็นอาวุธทางเศรษฐกิจของประเทศ นับเป็นความชาญฉลาดของผู้นำประเทศที่หยิบวัฒนธรรมกลายเป็นอุตสาหกรรมส่งออกนั่นเอง
อย่างเกาหลี เริ่มใช้กระเเสนิยมวัฒนธรรมบันเทิงที่เรียกว่า ฮันรยู (한류/Hallyu) มาตั้งแต่ปลายยุค 90’s โดยพยายามพาวัฒนธรรมให้มีอิทธิพลระดับโลก ทั้งเเฟชั่น เพลง หนัง รวมไปถึงซีรีส์ ซึ่งไม่เพียงได้รับการสนับสนุนที่ดีทั้งจากภาครัฐเท่านั้น แต่ยังร่วมมือกับเอกชนด้านเงินทุน การพัฒนาบุคลากร และส่งเสริมความรู้ทางการตลาด ด้วยความคิดที่ว่า การตลาดเป็นส่วนสำคัญให้วัฒนธรรมความบันเทิงเป็นที่สนใจของผู้คนในวงกว้างนั่นเอง
ส่วนจีนเองก็ไม่แพ้กัน รัฐบาลจีนเริ่มให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมบันเทิงในมิติที่แตกต่างมากขึ้น เพิ่มศักยภาพของการผลิตคอนเทนต์จีนที่ตีโจทย์ผู้ชมในหลากหลายกลุ่ม (ถึงแม้จีนจะมีกฎเหล็กอันเข้มข้น เกี่ยวกับการห้ามมีคอนเทนต์รุนแรง ผี เรื่องเหนือธรรมชาติ หรือคนรักเพศเดียวกัน) โดยเฉพาะกลุ่มแนวทางพีเรียดกำลังภายในที่กลายเป็นจุดแข็งที่ชาติอื่นยากจะเลียนแบบ ทั้งโปรดักชันอลังการงานสร้าง และงานคอมพิวเตอร์กราฟิกที่ตอบสนองจินตนาการมากขึ้น
ทว่าหัวใจหลักจริงๆ ที่ทำให้อุตสาหกรรมบันเทิงเติบโตก็คือ คนดูอย่างเราๆ นี่แหละ เพราะหากมีคอนเทนต์แต่คนไม่ดู อุตสาหกรรมก็คงตายไปนานแล้ว ยิ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มสตีมมิงที่เข้าถึงง่ายอย่าง WeTV ของ Tencent มีคอนเทนต์เอเชียครบครัน ทั้งซีรีส์ ละคร วาไรตี้ ภาพยนตร์ รวมไปถึงเพลง ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้บริโภคให้สนับสนุนอุตสาหกรรมต่อไป
ท้ายที่สุดสำหรับใครที่อยากเปิดใจลองชมซีรีส์จีนบ้าง เราขอบอกโพยเล็กๆ น้อยๆ ให้ตามไปเช็คลิสต์กัน ไม่ว่าจะเป็น ปรมาจารย์ลัทธิมาร (The Untamed) ซีรีส์ตัวท็อปที่ป๊อปปูลาร์เบอร์แรงมาก, หาญท้าชะตาฟ้าปริศนายุทธจักร (Joy of Life) ซีรีส์ฟอร์มยักษ์ที่ดัดแปลงจากผลงานนักเขียนนวนิยายระดับแถวหน้าของเว็บไซต์ “ฉีเตี่ยนจงเหวิน”, เทพยุทธ์เซียนกลอรี่ (The King’s Avatar) ซีรีส์จีนเข้มข้นแนว eSports และ สามชาติสามภพ ลิขิตเหนือเขนย (Eternal Love of Dream) ซีรีส์ดรามาความสัมพันธ์สุดเศร้า ซึ่งทั้งหมดสามารถรับชมได้ทาง WeTV ในขณะนี้
นานแล้วที่ฮอลลีวูดครองอุตสาหกรรมบันเทิงระดับโลก ถึงเวลาที่พลังเอเชียจะยืนหนึ่งเหนือทุกคน
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.matichonweekly.com/column/article_270965
https://www.voicetv.co.th/read/520999
https://www.blockdit.com/posts/5dcfb958501c277604007ef3
https://www.korseries.com/why-korean-dramas-impact-all-over-the-world/