“งานออกแบบที่ดี ต้องไม่เพียงแค่สวยงามและตอบโจทย์ฟังก์ชันเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างประโยชน์แก่สังคมและชุมชนด้วย”
คือแนวคิดสำคัญของโครงการ Asia Young Designer Awards (AYDA) โดย บริษัท นิปปอนเพนต์ เดคโคเรทีฟ โคทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อจุดประกายให้นักศึกษาที่เรียนด้านสถาปัตยกรรม (Architecture) และการออกแบบตกแต่งภายใน (Interior Design) เกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและผลงานการออกแบบใหม่ๆ ที่จะสามารถสร้างประโยชน์แก่สังคมและชุมชนได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 แล้ว
ในปีนี้การจัดประกวด Asia Young Designer Awards 2019 มีขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘FORWARD: A Sustainable Future การออกแบบที่นำไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน’ เพื่อตอกย้ำหน้าที่ของนักออกแบบรุ่นใหม่ในการสร้างความสมดุลระหว่างความเป็นเมืองและความยั่งยืน ด้วยการรังสรรค์พื้นที่ทางสถาปัตยกรรมและการออกแบบภายในให้ก้าวไปข้างหน้า เพื่อคุณภาพชีวิตของทุกคนที่ดียิ่งขึ้น
มีนักศึกษาจากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดกว่า 1,000 ผลงาน จากทั้งสาขาสถาปัตยกรรม (Architecture) และการออกแบบตกแต่งภายใน (Interior Design) ก่อนจะคัดเลือกให้เหลือเพียงแค่สาขาละ 6 คน เพื่อนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา
ผลงานทั้งหมด 12 ชิ้นเรียกได้ว่าเป็นผลงานคุณภาพที่ผ่านการคิดมาเป็นอย่างดี ตั้งแต่งานออกแบบที่มุ่งแก้ไขปัญหาเล็กๆ ของสังคม ไปจนถึงผลงานออกแบบที่สามารถคลี่คลายปัญหาระดับประเทศได้ โดยผลงานที่ชนะเลิศกรรมการจะพิจารณาจากผลงานที่สามารถสร้างผลกระทบที่ดีทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนได้
ผลงานที่ชนะเลิศสาขาสถาปัตยกรรม (Architecture) เป็นผลงานของ พัสกร ยะนา จากสาขาสถาปัตยกรรมหลัก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กับผลงานที่มีชื่อว่า ‘UBON RESILIENCE’ ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวคิดในการจัดการปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานี โดยการสร้างสถาปัตยกรรมริมน้ำที่นำอัตลักษณ์ของชุมชนมาใช้ในการออกแบบ รวมถึงมีโครงสร้างที่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่เปลี่ยนไปในแต่ละฤดูกาล เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้มากที่สุด และที่สำคัญคือเมื่อเกิดเหตุอุทกภัยก็สามารถเปลี่ยนเป็นศูนย์ช่วยเหลือได้อีกด้วย
ส่วนผลงานที่ชนะเลิศสาขาการออกแบบตกแต่งภายใน (Interior Design) เป็นผลงานของ ขวัญชนก หาญอุดมลาภ สาขาออกแบบตกแต่งภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เจ้าของผลงาน ‘ทุ่งทวี’ ที่นำแรงบันดาลใจมาจากรากเหง้าและวิถีชีวิตของชาวนาไทยในอดีตที่กำลังเลือนหายไป เช่น กระท่อม เถียงนา หอเตือนภัย และเล้าข้าว รวมถึงปัญหาการสูญเสียพื้นที่ในแนวราบเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก มาพัฒนาให้เกิดเป็นพื้นที่ศูนย์รวมหรือ Life Hub ของชาวทุ่งที่มีความสูง 4 ชั้น ประกอบไปด้วย พื้นที่สำหรับเพาะปลูกในร่ม พื้นที่สำหรับพบปะแลกเปลี่ยน พื้นที่สำหรับพักผ่อน และพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยยกระดับชีวิตและประสบการณ์ของชาวทุ่งให้ดียิ่งขึ้น
“ผลงานของน้องๆ ทุกคนมีนิยามของคำว่า Sustainability ที่กว้างมาก ไม่ว่าจะยั่งยืนในเรื่องของวัสดุ ยั่งยืนในแง่ของการอนุรักษ์ ยั่งยืนในแง่ของการรักษาสภาพแวดล้อมและพลังงาน ซึ่งจริงๆ ทุกอย่างต้องบูรณาการเข้ามาด้วยกันทุกประเด็น ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่ดีในงานออกแบบ” กชกร คุณาลังการ จาก Interior Architecture 103 หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินผลงานกล่าวถึงผลงานของผู้เข้าประกวดในภาพรวม
“การตั้งโจทย์ผลงานของน้องๆ ที่ออกมามีความน่าสนใจมาก แสดงให้เห็นว่าเขาคิดอย่างไรกับอนาคตของประเทศไทยหรืออนาคตของสภาพแวดล้อมของโลก ถ้าน้องๆ สามารถนำไปพัฒนาต่อ นำการออกแบบมาช่วยแก้ปัญหาในระดับมหภาคได้ จะเป็นประโยชน์กับมนุษยชาติของเราอย่างมาก เพราะนักออกแบบทุกคนมีภาระที่แบกอยู่บนบ่า คือไม่ใช่แค่ออกแบบ แต่ต้องช่วยแก้ปัญหาสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืนด้วย” ณวัฒน์ ทองสว่าง จาก Februar Image อีกหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินผลงานกล่าวถึงความสำคัญของงานออกแบบที่ต้องช่วยเหลือสังคมและชุมชนด้วย
ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ Asia Young Designer Awards 2019 ทั้งสาขาสถาปัตยกรรมและสาขาการออกแบบตกแต่งภายในจะได้รับโอกาสได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขัน Asia Young Designer Summit 2019 ที่ประเทศเวียดนาม เพื่อนำประสบการณ์การออกแบบ กลับมาต่อยอดพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ และถ้าหากชนะในระดับเอเชีย จะได้เข้าเรียนคอร์ส AYDA / HARVARD Design Discovery Program ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย