เคยสังเกตไหมว่า ช่วงไม่กี่ปีมานี้ สิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่เรียกว่า “ยุง” มีจำนวนมากขึ้น
วัดได้จากดัชนีความน่ารำคาญจากเสียงหึ่งรอบหู ความฉวัดเฉวียนบนหัว และตุ่มแดงรอบตัวชวนคัน ถ้ายุงสร้างความรำคาญอย่างเดียวคงจะไม่เป็นอะไรเท่าไหร่ แต่มันมาพร้อมกับโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ดูจากสถิติองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่รายงานว่าการสูญเสียชีวิตของมนุษยชาติรวมกันทั้งโลก สาเหตุอันดับ 1 มาจากยุงถึงปีละ 725,000 ราย ผ่านสารพัดโรคทั้งไข้มาลาเรีย, ชิคุนกุนยา, ไข้สมองอักเสบ, ไวรัสซิกา และไข้เลือดออก กระทั่งมีค่าเฉลี่ยออกมาว่าอาจมีคนตายเพราะยุงมากกว่า 1 รายต่อ 1 นาทีทีเดียว
เจ้าแมลงตัวจิ๋วที่มีปากคล้ายงวงดูดเลือดตัวนี้จึงไม่ใช่แค่น่ารำคาญอย่างเดียว แต่มันเพิ่มระดับเป็นความอันตรายแล้ว ฉะนั้นประโยคที่ว่า “ยุงอันตรายมากกว่าขนาดตัวของมัน” เป็นความจริง
มาลาเรีย ไข้อันตรายจากป่าเขา
มาลาเรีย (Malaria) มีชื่อเล่นสารพัดโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคไข้จับสั่น ไข้ป่า ไข้ป้าง ไข้ร้อนเย็นหรือไข้ดอกสัก โดยมีอาการทั่วไปคือไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย หากรุนแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีผิวสีเหลืองจนเกิดอาการชัก โคม่า และอาจถึงขั้นเสียชีวิต พาหะตัวร้ายคือยุงก้นปล่อง มักแพร่ระบาดตามเขตร้อนและอบอุ่น ในประเทศไทยพบมากบริเวณจังหวัดชายแดน โดยเฉพาะบริเวณภูเขาสูง ป่าทึบ และมีแหล่งน้ำสำหรับการแพร่พันธุ์
มาลาเรียเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขของโลก แต่ละปีมีผู้ติดเชื้อมาลาเรียกว่า 200 ล้านคน เคยคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกเกือบครึ่งล้านในปี พ.ศ. 2559 ซึ่งในจำนวนผู้เสียชีวิตเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบเสียด้วย
ความน่ากลัวล่าสุดคือช่วง พ.ศ. 2560 ที่หน่วยวิจัยเวชศาสตร์เขตร้อนของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ประกาศแจ้งเตือนถึงการแพร่ระบาดของเชื้อมาลาเรียสายพันธุ์ดื้อยาชนิดรุนแรง หรือ “ซูเปอร์มาลาเรีย” ในบริเวณลุ่มน้ำโขง ซึ่งแพร่ระบาดไปยังประเทศไทยบางส่วนแล้ว
อย่างไรก็ดี สถานการณ์ทั่วไปโรคไข้มาลาเรีย ปี พ.ศ. 2562 ข้อมูลเมื่อวันที่ 12 มีนาคมที่ผ่านมา มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรีย 711 ราย ลดลงจากปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันที่มีถึง 1,066 ราย แต่ถึงแม้จะมีจำนวนผู้ป่วยลดลง ความรุนแรงของมาลาเรียไม่มีวันลดลงแน่นอน
ชิคุนกุนยา เชื้อโรคที่สามารถทำเป็นอาวุธชีวภาพได้
แม้ชื่อจะฟังดูเป็นภาษาญี่ปุ่น (บางคนก็เรียกว่าไข้ญี่ปุ่น) แต่ต้นกำเนิดของไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya) มาจากทวีปแอฟริกา พบเจอครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2495 บริเวณตอนใต้ของประเทศแทนซาเนีย โดยเชื้อดังกล่าวเคยเป็นส่วนประกอบหนึ่งในอาวุธชีวภาพที่สหรัฐฯ เคยผลิต ก่อนจะยกเลิกโปรแกรมการสร้างในเวลาต่อมา
โรคนี้มีความรุนแรงถึงชีวิต สามารถเกิดขึ้นกับทุกเพศและทุกวัย เพราะมันแพร่ระบาดด้วยยุงลายที่ออกหากินในเวลากลางวัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ในผู้ใหญ่จะมีอาการปวดตามข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อนิ้ว ฯลฯ และอาจมีผื่นเล็กๆ ขึ้นตามแขนขาได้
ประเทศไทยมีการระบาดหนักสุดช่วงพฤษภาคม พ.ศ. 2552 ที่จังหวัดตรัง โดยไวรัสชิคุนกุนยาระบาดมากในภาคใต้โดยเฉพาะในหมู่ทหาร และหากดูสถิติปีที่แล้ว พ.ศ. 2561 พบว่ามีผู้ป่วยโรคชิกุนคุนยา จำนวน 3,444 ราย ใน 14 จังหวัด และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
สิ่งที่น่าตกใจคือรายงานสถานการณ์ล่าสุดพบว่า ตั้งแต่ต้นปี 1 มกราคม 2562 – 21 กุมภาพันธ์ 2562 พบผู้ป่วยสะสม 1,841 ราย สูงกว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาถึง 75 เท่า! บ่งบอกได้ว่าโรคดังกล่าวกำลังแพร่ระบาด ฉะนั้นเราควรใส่ใจสุขภาพกันให้มากขึ้น
ไข้สมองอักเสบ เพชฌฆาตเงียบแห่งทุ่งนา
บอกกันตั้งแต่เนิ่นๆ เลยว่า นี่แหละคือวายร้ายตัวจริง เพราะปัจจุบันไข้สมองอักเสบ เจ อี (Japanese Encephalitis) ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรค ไม่มียารักษาเฉพาะ ทำได้เพียงรักษาประคับประคองตามอาการ และที่สำคัญมียุงกว่าสิบชนิดที่สามารถเป็นพาหะของโรคได้
ที่บอกว่าเป็นเพชฌฆาตเงียบเพราะต้นกำเนิดโรคนี้มาจากหมู โดยสามารถเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วโดยไม่มีอาการป่วยใดๆ ให้เห็น เช่นเดียวกับมนุษย์ที่มีเชื้อดังกล่าวเขาอาจไม่แสดงอาการใดๆ แต่หากมีอาการก็จะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยเริ่มจากอาการไข้ ตามมาด้วยอาการทางสมองอย่างหนัก เช่น คอแข็ง สติหลุด เพ้อคลั่ง ชักหมดสติ โดยมีอัตราการเสียชีวิตมากถึงร้อยละ 15-30 ของผู้ป่วยทีเดียว
ในประเทศไทยสามารถพบโรคนี้ได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในบริเวณที่มีการทำนาร่วมกับการเลี้ยงหมู โดยสถานการณ์ไข้สมองอักเสบล่าสุดพบว่า ตั้งแต่ต้นปี 1 มกราคม – 28 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยแล้ว 205 ราย จาก 42 จังหวัด และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย นี่แค่เริ่มปี 2562 เอง เราได้สังเวยประชากรให้กับโรคนี้เสียแล้ว
ไวรัสซิกา เพชฌฆาตเก่าในโลกใหม่
ไวรัสซิกา (Zika Virus Disease) ไม่ใช่เชื้อโรคใหม่ แต่เป็นเชื้อที่มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2490 ตั้งชื่อจากป่าซิกาในประเทศยูกันดา เริ่มต้นแพร่ระบาดในวงแคบๆ แถบแอฟริกา ก่อนช่วงไม่กี่ปีมานี้ไวรัสเริ่มแพร่ระบาดไปยังยุโรป อเมริกา เอเชีย และรวมถึงประเทศไทย
เชื้อไวรัสซิกากลายเป็นวาระแห่งโลกในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา จนองค์การอนามัยโลกเคยประกาศเตือนเป็น “ภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของโลก” มาแล้ว เชื้อดังกล่าวมียุงเป็นพาหะ แสดงอาการไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ไม่ต่างจากไข้เลือดออก
แต่สิ่งที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นกับกลุ่มสตรีตั้งครรภ์ เพราะเชื้อดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับความผิดปกติของทารกตั้งแต่แรกเกิด เด็กจะมีศีรษะเล็กกว่าปกติ (microcephaly) และอาจส่งผลทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด หรืออาจแท้งได้
ในประเทศไทยสถานการณ์ผู้ป่วยไข้ซิกาตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 – 28 ธันวาคม พ.ศ. 2561 พบหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อไวรัสซิกา 150 ราย ผลการติดตามหญิงตั้งครรภ์พบว่า แท้งบุตร 6 ราย โดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสซิกา 2 ราย และคลอดออกมาพบภาวะศีรษะเล็ก 4 ราย อย่างไรก็ตามตรวจไม่พบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซิกา 4 ราย
นับเป็นเชื้อร้ายวัยเก๋าที่เพิ่งมีบทบาทภายในไม่กี่ปีมานี้
ไข้เลือดออก เชื้อร้ายที่ใครๆ ก็รู้จัก
ใครไม่เคยเป็นไข้เลือดออกบ้าง? ถ้าคุณไม่เคยเป็น ถือเป็นความโชคดีของคุณจริงๆ
เพราะไข้เลือดออก หรือชื่อเต็มไข้เลือดออกเดงกี (Dengue Hemorrhagic Fever-DHF) เป็นโรคร้ายจากยุงที่มีการแพร่ระบาดมากที่สุดในโลก เคยแตะสถิติสูงสุดช่วง ค.ศ. 1960 มีผู้ป่วยติดเชื้อมากถึง 50-100 ล้านคนต่อปี อาการของมันทำให้มีเลือดออกง่าย มีเกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งอาจรุนแรงจนเกิดอาการช็อกจนเสียชีวิต
ไม่ต้องพูดถึงความรุนแรงระดับโลก เอาง่ายๆ แค่เฉพาะประเทศไทยที่เริ่มมีการบันทึกการระบาดของไข้เลือดออกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 มีรายงานผู้ป่วย 2,158 ราย ซึ่งเสียชีวิตร้อยละ 13.90 หรือมากถึง 300 ราย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็มีรายงานผู้เสียชีวิตอยู่เรื่อยๆ เป็นประจำทุกปี
ล่าสุดปี พ.ศ. 2562 ความรุนแรงยังไม่เปลี่ยน หนำซ้ำด้วยสภาพอากาศแปรปรวนทำให้ยุงแพร่พันธุ์ได้เร็วขึ้นอีกต่างหาก เพราะตามรายงานของกลุ่มเฝ้าระวังโรคและพฤติกรรมสุขภาพ สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข วันที่ 26 มีนาคม ที่ผ่านมาพบว่า มีผู้ป่วยสะสมรวมมากถึง 12,545 ราย และเสียชีวิตรวม 14 ราย ต่างจากปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันที่มีเพียง 5,269 ราย และเสียชีวิต 9 รายเท่านั้น
ไข้เลือดออกยังคงครองตำแหน่งเจ้ายุทธภพยุงด้วยสถิติความเลวร้ายมากที่สุดทุกปี
เห็นแบบนี้แล้วทำให้เรารู้ว่าโรคที่เกิดจากยุง เกิดง่ายและใกล้ตัวเรากว่าที่คิด วันดีคืนดีเราอาจจะโดนยุงกัดจนติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว กรุงเทพประกันภัย เห็นถึงความเสี่ยงนี้จึงมี ประกันภัยโรคร้ายจากยุง เพื่อคนที่คุณห่วงใย สร้างความอุ่นใจให้ทั้งครอบครัว
ครอบคลุมด้วยแผนประกันภัยที่เหมาะกับทุกเพศทุกช่วงวัย คุ้มครองการเจ็บป่วยจาก 5 โรคร้ายที่เกิดจากยุง ทั้งโรคไข้เลือดออก, โรคติดเชื้อไวรัสซิกา, โรคไข้สมองอักเสบ เจ อี, โรคชิคุนกุนยา และโรคไข้จับสั่น (มาลาเรีย) ใครสนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/2CWYGZ6
แล้วคุณจะไม่ต้องกังวล เวลาเผชิญหน้ากับภัยร้ายที่เกิดจากแมลงตัวจิ๋วตัวนี้อีกต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก