เหตุใด ‘สุรา’ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มของมวลมนุษยชาติมาหลายพันปี จึงกลายเป็นเครื่องดื่มที่ทำให้หลายคนโดนคดีอาญาในแดนสยาม
มีเหตุผลมากน้อยแค่ไหน กระทบใครบ้าง ผู้ประกอบการคิดเห็นอย่างไร สุดท้ายแล้ว… มันเป็นกฎหมายที่ควร ‘ก้าวข้าม’ แล้วหรือไม่ ในยุคที่โลกหมุนไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง
สาวกนักดื่ม น่าจะรู้จักกฎหมายโอละพ่ออย่าง “มาตรา 32” ของ พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นครั้งแรก ในช่วงปี 2563 ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มต้นขึ้น มีการล็อกดาวน์รอบแรก (ที่เป็นเรื่องใหม่มากสำหรับผู้คน) ทำให้สถานประกอบการเกือบทุกประเภทถูกสั่งปิด ซึ่งรวมถึงร้านที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผับ บาร์ คาราโอเกะ รวมถึงร้านอาหาร ส่งผลให้ทางรอดของพวกเขาคือการหันมาทำ ‘เดลิเวอรี’
ทว่า ผู้ประกอบการหลายร้าน โดยเฉพาะรายย่อย กลับติดหลุมกฎหมายมาตรา 32 ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ว่าด้วยเรื่องการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะห้ามโพสต์ภาพที่ติดโลโก้ เห็นขวดหรือกระป๋อง ห้ามเห็นแก้วเบียร์มีฟอง ห้ามพูดถึงรสชาติหรือสรรพคุณ นั่นทำให้ผู้ประกอบการมากมาย ไม่สามารถขายของได้ เพราะทำการตลาดไม่ได้ นอกจากนั้น ม.32 ก็ยังส่งผลกระทบ ต่อผู้ประกอบการในอีกหลายต่อหลายด้าน ในตลอด 14 ปีที่ผ่านมา
ในงานเสวนา ‘#ก้าวข้าม32’ กฎหมายสุราควรไปต่ออย่างไร เมื่อวันเสาร์ที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ณ The Jam Factory ถนนเจริญนคร โดยมีทั้งผู้ประกอบการ นักดื่ม นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย มาร่วมพูดคุยกันอย่างเข้มข้นตลอดช่วงบ่าย จนถึงเย็น
ในงานแบ่งเป็น 3 หัวข้อหลักๆ ที่น่าสนใจ STOP – PAUSE & PLAY FORWARD กฎหมายนี้ทำให้เกิดการชะงักงันของผู้ประกอบการอย่างไร ควรหยุด หรือไปต่อ และเราควรจะ ‘ก้าวข้าม’ กฎหมายนี้ไปได้อย่างไร The MATTER อาสา สรุปมาให้ฟังกัน…
STOP : หยุดผลกระทบจากการถูกฟ้อง ถูกปรับ เพราะแอลกอฮอล์
ในช่วงแรก มีผู้ประกอบการขึ้นเวที เปิดไมค์แชร์ผลกระทบจากการที่พวกเขาขายแอลกอฮอล์ แล้วมีการโพสต์ภาพ หรือมีการพูดถึงสินค้าของเขาบนโลกออนไลน์ จนนำไปสู่ ‘คดีอาญา’ และแน่นอน…นำไปสู่ความไม่เข้าใจ ของพวกเขาว่าทำไม? การกระทำแบบนี้มันมีโทษร้ายแรงจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยหรือนี่ ทั้งที่สินค้าของเขาก็ผลิต หรือนำเข้า อย่างถูกกฎหมาย ภาษีก็เสียครบทุกเม็ดทุกหน่วย
ย้อนกลับไปราว 4-5 ปี ที่แล้ว เคสของ วิเชียร อินทร์ไกรดี (ร้านอาหารญี่ปุ่น Kacha Kacha ที่เอเชียทีค) น่าจะเป็นเคสแรกๆ เลยในสยามประเทศ ที่ผู้ประกอบการรายย่อยโดนจับเพราะมีภาพแก้วเบียร์เย็นๆ มีฟองในเมนูอาหาร เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่โดนไม่ยุติธรรม จึงตัดสินใจสู้ไปจนถึงศาลฎีกา
ภาพแก้วเบียร์เย็นๆ มีฟองแก้วนั้น ทำให้วิเชียรมีประวัติทางอาญา (ซึ่งจะติดตัวเขาไปตลอด) มันทำให้เขาไม่สามารถขอวีซ่าออกนอกประเทศได้
เขามีคำถามเกิดขึ้นในใจมากมาย คำถามที่เด่นชัดที่สุดก็คือ ทำไมแค่ภาพแก้วเบียร์ในเมนูอาหารถึงทำให้เขาเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาได้? สำหรับเขา สิ่งที่สูญเสียไปมันมากกว่าเงิน มันคือความรู้สึก อิสรภาพ ทั้งๆ ที่เขาประกอบธุรกิจสุจริต
“กฎหมายไม่ใช่สิ่งไม่ดี มันป้องปราม แต่กฎหมายนี้มันกลายเป็นเครื่องมือของรัฐ การจะสู้ชนะยากมาก กฎหมายนี้ต้องถูกแก้ไขอย่างเดียว” วิเชียรกล่าว
ขณะที่ บะหมี่-ประภาวี เหมทัศน์ จากสมาคมคราฟต์เบียร์ คือหนึ่งในผู้พยายามผลักดันให้เบียร์ สามารถขายออนไลน์ได้ในช่วงล็อกดาวน์ และอยู่มาวันหนึ่ง รัฐก็ได้ออกกฎหมายให้ถือเป็นการกระทำผิด และเธอโดนคดีอาญา
เกิดข้อสงสัยมากมายในหัวเธอ – ตลาดออนไลน์ คือ ตลาดการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบัน ทั้งของผู้บริโภคและผู้ขาย เธอสะท้อนความเห็นน่าสนใจ ‘หน่วยงานรัฐหนึ่งพยายามสนับสนุนการเติบโดยของอี-คอมเมิร์ซ ขณะที่อีกหน่วยงานหนึ่งกลับปฏิเสธความเป็นไปของโลกปัจจุบัน’ ทำขาวให้เป็นดำ ห้ามขายแอลกอฮอล์ออนไลน์แบบไม่ให้ตั้งตัว ซ้ำเติมกันในช่วงที่ยากลำบากที่สุด แล้วกฎหมายนี้ยังคลุมเครือเพราะบอกว่าห้ามขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งก็ตีความได้กว้างมาก เธอลองศึกษาดู พบว่า มันหมายถึงขายผ่านทางสื่อดิจิทัลไม่ได้ แต่ขายผ่านโทรศัพท์ได้ เพราะไม่ใช่สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สำหรับเธอ มันคือ “ตลกร้าย” ก็ว่าได้
“ม.32 และกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อื่นๆ คือเรื่องที่เราต่อสู้แก้ไขกันอยู่ คนที่เป็นรายย่อยจริงๆ รับภาระหนักมาก ยืนยันว่าคดีที่โดนจะสู้ต่อ จะสู้ ไม่ยอมจ่ายค่าปรับ เพราะอยากรู้เหมือนกันว่าจะมีสักเคสที่ชนะคดีหรือไม่ ถ้าชนะก็จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของสังคม” บะหมี่กล่าว
คล้ายคลึงกับกรณีของ ณิกษ์ อนุมานราชธน ผู้ประกอบการค็อกเทลบาร์ Teens of Thailand ซึ่งโดนมาตรานี้ในแง่มุมแตกต่างกันไป ราวสองปีก่อนที่โดนล็อกดาวน์ ร้านของเขาต้องปิด ทำให้จำเป็นต้องทยอยนำสต็อกสินค้าออกมาขายเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสด แต่โดนความผิดฐานทำโปรโมชันขายเครื่องดื่ม เพราะเขาขาย ‘จิน-โทนิก’ เป็นแพ็คคู่ เสียค่าปรับไปห้าหมื่นบาท เขาเป็นอีกคนตั้งคำถามตลอดเวลาว่าทำไมในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้วมองว่าค็อกเทลที่เขาทำคืองานศิลปะ แต่ในบ้านเรากลับมองมันเป็นปีศาจ
“ถ้าเราใช้กฎหมายแบบคนเคร่งศาสนา มันจะทำให้เราล้าหลัง และในเชิงเศรษฐกิจ เราถือว่าเสียโอกาสอย่างรุนแรง เพราะพรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มันเลยเถิด มุมมองคับแคบ อคติจนสุดโต่ง ทำให้งานศิลปะและความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายเพียงเพราะมันเป็นแอลกอฮอล์ เลยเถิดไปจนทำลายสุราพื้นบ้าน ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทรงคุณค่า” ณิกษ์กล่าว
PAUSE : หยุดมาตรการห้ามขายช่วง 14.00-17.00 น. ที่ยื้อยุดหยุดลมหายใจผู้ประกอบการ
เข้าสู่ช่วงที่สองของงานเสวนา เวทีนี้พาไปฟังมุมมองจากผู้ประกอบการฝั่งข้าวสาร และคอนักดื่มที่เดินทางท่องเที่ยวไปทุกมุมโลก ที่จะมาแชร์ประสบการณ์ว่า มาตรการบางอย่างจากรัฐที่ไม่สมเหตุสมผล ทำให้ผู้ประกอบการ รวมไปถึงประเทศของเราเสียโอกาสอย่างไรบ้าง
สง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร บอกว่า ช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด หากนับรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นถึงกว่า 17 % ของจีดีพีไทย (ซึ่งมูลค่า 3 ล้านล้านบาท) โดยภายใต้รายได้การท่องเที่ยว – หมวดอาหาร เครื่องดื่ม และการเที่ยวกลางคืน เป็นค่าใช้จ่ายที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเลือกใช้จ่าย นักท่องเที่ยวหลายคนมาจากประเทศที่ดื่มแอลกฮอล์เป็นวัฒนธรรมหลังมื้ออาหาร ดังนั้นมาตรการงดขายช่วงบ่ายระหว่าง 14.00 – 17.00 น. และช่วง 00.00 – 11.00 น. รวมแล้ว 14 ชั่วโมง มันทำให้เสียบรรยากาศการท่องเที่ยว และการพักผ่อนของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นอกจากนี้ การควบคุมแอลกอฮอล์ที่เข้มงวดเกินพอดี ก็เป็นอุปสรรคต่อนักลงทุนหน้าใหม่ที่ต้องการเข้ามาลงทุนด้านร้านอาหาร ผับ บาร์ ในประเทศไทย แม้พวกเขาอยากลงทุน แต่ข้อกำหนดที่กำกวมและชวนสงสัยเกี่ยวกับการโฆษณา ก็ทำให้พวกเขาไม่กล้าทุ่มเม็ดเงินนัก
ข้อเสนอของสง่า คือ มาตรการสาธารณสุข และเศรษฐกิจ ต้องดำเนินควบคู่ไปด้วยกัน ไม่ใช่มองแค่เรื่องแรกเท่านั้น “ทั่วโลกแข่งขันดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ นำรายได้มาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จากโรคระบาด หากไทยอยากรักษาความเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยว ต้องปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบให้ทัดเทียมประเทศอื่น ไม่ให้เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ”
ด้าน อิสระ ฮาตะ ขึ้นเวทีในฐานะนักดื่ม และให้ความเห็นในฐานะผู้บริโภค ซึ่งเขาบอกว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา คนดื่มสุรา คนขาย คนที่อยู่ในธุรกิจนี้ถูกตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดี ทั้งที่สุราถือเป็นอาหารประเภทหนึ่ง การดื่มไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย และพวกเขาไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร ในทางตรงกันข้าม สุราและคนเหล่านั้นทำรายได้ให้ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ด้วย ดังนั้นอิสระมองว่า กฎหมายและมาตรการสารพัดห้ามที่ออกมามากมายนั้น มันก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หากลองดูการจัดการในต่างประเทศ จะพบว่าภาครัฐ อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา สามารถบริหารเรื่องของเศรษฐกิจ สาธารณสุข ความปลอดภัย และศิลปวัฒนธรรม ให้ไปด้วยกันได้
“ในประเทศไทย คงจะดีหากสามารถจัดเส้นทางรถรับ-ส่ง กลับบ้าน สำหรับนักดื่ม จากโซนที่เป็นโซนท่องเที่ยวได้ จากประสบการณ์ที่ได้จากการใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกา 4 ปี พบว่าความชัดเจนของผังเมือง การจัดโซนนิ่งท่องเที่ยวที่เหมาะสมให้นักท่องเที่ยวได้กินดื่ม ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี และเพิ่มความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวด้วย” อิสระทิ้งท้าย
PLAY FORWARD: สมดุลด้านนโยบาย กฎหมายต้องไม่มีใครเจ็บปวดอีกต่อไป
ทั้งหมดทั้งมวลจากทั้ง 2 เวที สิ่งที่สร้างบาดแผล และร่องรอยความเจ็บปวด ให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภค คือกฎหมายที่ไม่สมเหตุสมผล ในเวทีสุดท้าย เราจึงได้นั่งฟังบทสรุปของ ‘กฎหมายที่ควรจะเป็น’ จากปากของนักวิชาการโดยตรง – กฎหมายควรถูกบาลานซ์อย่างไร ให้ “Win-Win” กันทุกฝ่าย
ผศ.ดร. เจริญ เจริญชัย นักวิชาการและแอดมินเพจ ‘สุราไทย’ เริ่มเปิดบทสนทนา บอกว่า พรบ. ฉบับนี้มีโทษอาญา และโทษปรับที่ไม่ได้สัดส่วนกับลักษณะการกระทำผิด ไม่เพียงแต่ ม.32 เท่านั้น ยังมีมาตรการอื่นที่อยู่ภายใต้ พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับคนค้าขายและประชาชน นั่นคือ
● มาตรการควบคุมฉลากและบรรจุภัณฑ์ (มาตรา 26)
● มาตรการควบคุมการขาย ได้แก่ การควบคุมเวลาขาย (มาตรา 28) การควบคุมการขายในสถานที่สาธารณะ (มาตรา 27) และการห้ามขายออนไลน์ (มาตรา 30)
เจริญบอกต่อด้วยว่า การปรับปรุงแก้ไข พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2551 และกฎหมายลูก ต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว บนพื้นฐานสมดุล 1) ด้านสาธารณสุข 2) ด้านเศรษฐกิจ การทำมาหากินของประชาชน และ 3) ด้านสิทธิของผู้บริโภค โดยกฎหมายต้องได้รับการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และผู้ประกอบการ ในการออกแบบ เหมือนกับในประเทศเกาหลีใต้ หรือออสเตรเลีย เป็นต้น
“พรบ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สร้างภาระและความเดือดร้อนเกินจำเป็น ต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะกับสถานการณ์” ผศ.ดร.เจริญกล่าว
ขณะที่ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เห็นคล้ายกันว่า ตัวกฎหมาย เน้น ‘ควบคุม’ มากเสียกว่า ‘กำกับดูแล’ ดังนั้นจึงกลายเป็นภาระของประชาชน ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเฉพาะรายย่อยเกิดขึ้นได้ยาก และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ก็กลายเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนา ส่งออกไปแข่งขันระดับโลก
นอกจากนั้น สิ่งที่ขัดแย้งกันก็คือ หน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานทำงานสวนทางกัน หน่วยงานหนึ่งพยายามส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ พยายามส่งเสริมการพัฒนาสินค้าท้องถิ่น แต่กลับมีอีกหน่วยงานหนึ่งขัดขา บอกว่าสิ่งนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รัฐต้องเร่งแก้ไขความซับซ้อนนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ซึ่งระบุถึงการออกกฎหมายเท่าที่จำเป็น รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย โดยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์ จะต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ
“คนที่ออกกฎหมายนี้มองแค่ภารกิจสุขภาพ มันจึงเป็นกฎหมายที่ไม่รอบด้าน มันเลยพังไปหมด คุณต้องมองให้รอบด้าน ฟังให้รอบด้าน รัฐต้องเปลี่ยนแนวความคิดจากการตรวจสอบเพื่อหาช่องทางจับกุมดำเนินคดี เป็นการแนะนำแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ให้ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติได้โดยถูกต้อง และมีความมั่นใจว่าจะได้รับความยุติธรรม”