ย้อนกลับไปหลายปีที่แล้ว คำว่า ‘บิตคอยน์’ คงไม่คุ้นหูใครหลายคนนัก แต่มาถึงวันนี้ หากพูดถึงคำว่าบิตคอยน์ มักถูกเงี่ยหูฟังอย่างสนอกสนใจ เพราะเต็มไปด้วยโอกาสทางการเงินของคนทุกคนที่กำเงินเข้ามาลงทุนอย่างเท่าเทียม
ซึ่งบิตคอยน์ คือเหรียญหนึ่งที่ถูกเทรดในกระดานคริปโทเคอร์เรนซี หรือสกุลเงินดิจิทัล บนระบบบล็อกเชน ที่แม้ว่าวันนี้อาจจะยังไม่ได้ถูกรองรับการชำระเงินอย่างแพร่หลาย แต่ก็เริ่มได้รับความเชื่อมั่นทั้งจากรัฐในหลายประเทศ นักลงทุนชื่อดัง บริษัทใหญ่ๆ รวมถึงคนทั่วไป ที่ให้คุณค่าบิตคอยน์ร่วมกัน จนราคาพุ่งขึ้นอย่างหยุดไม่อยู่ จะเรียกว่ากลายเป็นตลาดกระทิงดุ ก็คงไม่ผิดเพี้ยนนัก
The MATTER เกาะติดกระดานเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีมาสักพักใหญ่ ด้วยความใคร่สนใจว่าสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้จะนำพาการเงินโลกไปในทิศทางไหน ประจวบเหมาะกับมีโอกาสที่จะได้พูดคุยกับ ‘กวิน พงษ์พันธ์เดชา’ CEO ของ Bitazza (บิทาซซ่า) โบรกเกอร์สินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับการรับรองจากทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ ‘ตฤบดี อรุณานนท์ชัย’ Vice-Chairman and Group Founder ของ Lightnet บริษัทเทคโนโลยีการเงินที่ทำให้การส่งเงินข้ามประเทศประหยัดขึ้น
ซึ่งล่าสุดทั้ง Bitazza และ Lightnet ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ Velo Labs บริษัทเจ้าของระบบบล็อกเชนที่ล้ำอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีจุดหมายปลายทางความฝัน เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มทางการเงินที่ทุกคนสามารถทำธุรกรรมถึงกันได้จากทั่วทุกมุมโลก อย่างสะดวกสบายและถูกกว่าที่เป็นอยู่
วันนี้ ทั้งกวินและตฤบดี นั่งลงพูดคุยกันกับเรา พร้อมตอบคำถามอย่างละเอียดยิบตั้งแต่คริปโทเคอร์เรนซีคืออะไร ทำไมบล็อกเชนจึงสำคัญสำหรับการเงินในอนาคต แล้วทำไมการเงินต้อง Decentalize หรือกระจายศูนย์
อ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านอาจจะขมวดคิ้วกันแล้วว่า ทำไมมีแต่ศัพท์ยากๆ เต็มไปหมด แต่เรารับรองว่าผู้บริหารทั้งคู่จะตอบคำถามละเอียด จนทุกคนเข้าใจได้อย่างง่ายดาย ว่าในที่สุดแล้วสิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเราทุกคนอย่างไร
ถ้าพร้อมแล้ว ไปสำรวจคำตอบของพวกเขาผ่านตัวอักษรพร้อมกันเลย!
ถ้าดูจากตัวเลขคนเปิดบัญชีเทรดคริปโทเคอร์เรนซีตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงตอนนี้ คงพบว่ามันเป็นกราฟที่ตั้งชันสุดๆ อยากให้เล่าให้ฟังว่าตอนนี้คนไทยสนใจตลาดคริปโทเคอร์เรนซีมากแค่ไหน
กวิน: ตอนนี้ต้องบอกว่าเราอยู่ในยุคที่ไม่ธรรมดาแล้วกัน ไม่ปกติ เพราะว่าไวรัสระบาด ทำให้คนถูกล็อกอยู่ในบ้าน ไปไหนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเขาจะมีเวลาอยู่ที่หน้าคอมพิวเตอร์มากขึ้น แล้วก็ธุรกิจ เศรษฐกิจอะไรหลายๆ อย่าง ก็มีการหยุดชะงักอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว
อย่างแรกที่เราเห็นก็คือสหรัฐอเมริกา มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการทำ QE หรือการพิมพ์เงิน เพื่อที่จะทำให้มันกลับมามีสภาพคล่อง ทำให้นักลงทุนบางกลุ่มมีความกลัวเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ เกิดความคิดว่าควรจะเอาเงินที่เรามีอยู่ไปลงทุน ดังนั้นเราจะเห็นเลยว่าตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงตอนนี้มีคนมาเปิดบัญชีเทรดคริปโทเคอร์เรนซี มากเป็นประวัติการณ์ ปีที่แล้วมีจำนวนอยู่ในประเทศไทยอยู่ประมาณหนึ่งแสน วันนี้โตขึ้นมา 5 เท่า หลายสถาบันการเงินแบบดั้งเดิมที่ปกติเขาเคยพูดว่าไม่เชื่อในคริบโทเคอร์เรนซีหรือบิตคอยน์ เริ่มหันมากลับคำพูดว่าเทคโนโลยีนี้จริงๆ แล้วก็มีข้อดี
ข้อดีของคริปโทเคอร์เรนซีคืออะไร
กวิน: ต้องย้อนกลับไปถึงตอนที่เขาสร้างบิตคอยน์ครั้งแรกเลย ในปี 2009 ช่วงนั้น ถ้าคนจำกันได้จะเป็นเรื่องการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา แล้วก็ลามไปทั่วโลก ตอนนั้นสิ่งที่เกิดขึ้น คือรัฐบาลเข้ามาอุ้มด้วยการพิมพ์เงิน ทำให้บริษัทต่างๆ ไม่เจ๊ง ไม่ให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
แต่ว่าสิ่งที่คนบางกลุ่มเชื่อก็คือ ภาษีของประชาชน อยู่ดีๆ ต้องถูกมาช่วยให้กับสถาบันการเงินให้มันอยู่ต่อ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนที่ทำธุรกรรมความเสี่ยงเหล่านี้ แต่ทำไมคนทั่วไปต้องมารับความเสี่ยงแทน ก็เลยมีคนพัฒนาซอฟต์แวร์บางกลุ่ม ที่ออกมาสร้างเงินดิจิทัลขึ้นมา เรียกว่าบิตคอยน์ แล้วออกมาบอกว่าเงินดิจิทัลตัวนี้จะเป็นเงินที่โปร่งใสที่สุด จะไม่มีคนกลางเข้ามาควบคุม เพราะว่าในโค้ดคอมพิวเตอร์จะเขียนไว้ชัดเจน ว่าจะมีอยู่แค่ 21 ล้านบิตคอยน์ และจะไม่มีไปมากกว่านั้น คนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจตัวใหม่ตัวนี้ จะเป็นใครก็ได้ที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต มันก็เลยทำให้คนมีความเชื่อว่ามันเป็นสินทรัพย์ทางเลือก ที่เราถือแล้วเราเก็บมันไว้ แล้วมันจะปลอดภัยไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
พร้อมกันนั้นเทคโนโลยีบล็อกเชนมันถูกสร้างขึ้นมา แล้วมีบิตคอยน์เป็นตัวอย่างแรกที่ใช้งาน มันเป็นเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแนวคิดว่าถ้าผมส่งอะไรบางอย่างให้กับคนอีกคนหนึ่ง สำเนาฉบับดั้งเดิมจะต้องไม่มีอยู่ที่ตัวผมแล้ว มันจะต้องส่งออกไป พอมันสามารถพิสูจน์ได้แล้วว่าผมส่งมูลค่าระหว่างกันได้ โดยที่สำเนาฉบับต้นฉบับมันอยู่ที่ผมไม่ได้แล้ว มันก็เลยเกิดการที่คนคิดว่างั้นเงินดิจิทัลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต มันจะเริ่มมีความน่าเชื่อถือขึ้นแล้ว เพราะว่าผมจะไม่สามารถพิมพ์เงินขึ้นมาแบบไม่จำกัดแล้วมีสำเนากระจายอยู่ทุกที่
‘บล็อกเชน’ คืออะไร
กวิน: คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกสร้างบนระบบบล็อกเชน ถ้าจะเข้าใจตรงนี้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าเวลาเราไปโอนเงินที่ธนาคาร จะมีคนกลาง ที่ธนาคารเป็นคนบอกว่านาย ก ได้ส่งเงินให้นาย ข เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ธุรกรรมนั้นจริง หลังบ้านธนาคารจะเป็นคนปรับข้อมูลให้ ทีนี้ตัวบล็อกเชนมันเปลี่ยนแนวคิด คนกลุ่มหนึ่งที่ไม่เชื่อว่าเราจะต้องฝากความเชื่อเราทั้งหมดไว้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก็เลยสร้างระบบบล็อกเชนขึ้นมา ตัวระบบบล็อกเชน เป็นการบอกว่าฐานข้อมูลที่ว่า แทนที่เราจะไปฝากข้อมูลไว้ให้คนใดคนหนึ่งเป็นเจ้ามือในการดู ในการตรวจสอบข้อมูล เราเอาฐานข้อมูลนี้สร้างสำเนา แล้วส่งให้กับคนทั่วโลกเข้าถึงได้ เข้ามาตรวจสอบได้ บล็อกเชนมันเป็นระบบสาธารณะ เปิดเผยหมด มันเอาข้อมูลเงินที่อยู่ในแต่ละบัญชีมากางออก แล้วบอกว่าทุกคนเห็นหมด
ตฤบดี: ก่อนบล็อกเชนเกิด เวลาที่ผมไปธนาคารที่ไทย อยากโอนเงินไปที่ธนาคารเมืองจีน จะมีตัวกลางคือธนาคาร เช่น เจพีมอร์แกน ที่บอกให้ธนาคารที่ไทยเอาเงิน 1 ล้านบาท แปลงเป็นดอลลาร์มาฝากไว้กับฉัน แล้วให้แบงก์จีนเอาเงินหยวน 1 ล้านแปลงมาฝากไว้เหมือนกัน ธนาคารเจพีมอร์แกนก็มีหน้าที่เป็นกรรมการว่าคุณทำการแลกเงินระหว่างกัน
บล็อกเชนก็เลยเอาหลักนี้เข้ามาใช้ เนื่องจากปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่สามารถจะบอกว่าใครทำธุรกิจระหว่างกัน ก็เอาหลักฐานธุรกรรมนี้มาวางบนคอมพิวเตอร์ได้หลายๆ เครื่อง หรือเน็ตเวิร์กได้หลายๆ เน็ตเวิร์กเพื่อที่จะบอกว่าธุรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงนะ มันเหมือนกับเวลาผมเซ็นเครดิตการ์ดมันก็มีสลิปใช่ไหมครับ ผมก็เอาสลิปตัวนี้ไปอยู่ในคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่อง ทำให้ไม่สามารถมีคนโกงสลิปได้เลย แล้วเกิดมีการโกงระหว่างกัน เราก็มีหลักทรัพย์ดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซี วางไว้ตรงกลาง ก็สามารถคืนได้ โดยการคืนก็คืนเจ้าของตามสลิปดิจิทัลที่มันกระจายอยู่เป็นหมื่น-แสนดิจิทัล มันจึงมีความปลอดภัยสูง สามารถเข้ามาแทนตัวกลางได้จริง
ทำไมบล็อกเชนถึงจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่เชื่อว่า จะทำให้การเงินโปร่งใส และมูลค่าของสินทรัพย์ที่เทรดไปมานั้น ตรวจสอบได้
ตฤบดี: คนเราบางทีก็ไม่สามารถที่จะเป็นกลางได้ 100% ผมยกตัวอย่างเป็นพนักงานสาขา ผมเห็นคุณใส่สูทดูน่าเชื่อถือ ผมอาจจะดูบัตรประชาชนคุณเร็วๆ ไม่ได้ดูจริงๆ ว่าเป็นหน้าของคุณหรือเปล่า แล้วก็ให้คุณทำธุรกรรมไป ขณะเดียวกันคุณแต่งตัวเหมือนไม่ค่อยน่าเชื่อถือเดินเข้ามา ผมอาจจะต้องดูเป็นพิเศษ ข้อดีของบล็อกเชนคือมันจะมีระบบที่ทำเหมือนโรบ็อตเลย ว่าคุณจะเป็นใครก็ตามผ่านระบบนี้ เราจะตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดทุกคน มีการทำการบันทึกไว้บนคอมพิวเตอร์หลายๆ เครื่อง
บล็อกเชนมันเป็นประชาธิปไตยทางการเงินจริงๆ คุณจะเป็นใครก็ตาม จะรวยจะจน จะเด็กจะผู้ใหญ่ คุณได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน การทำธุรกรรมทุกอันบันทึกไว้บนดาต้าเบสบล็อกเชนเหมือนกันทุกคน ทุกคนต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันของบล็อกเชน เหมือนกันหมด มันเลยเป็นอะไรที่ตื่นเต้นมากว่ามันเป็นประชาธิปไตยทางการเงินสมบูรณ์แบบจริงๆ
ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มเทรดคริปโทเคอร์เรนซีมากมาย ทั้งในและนอกประเทศ Bitazza มีจุดเด่นอะไรที่น่าสนใจกว่าเจ้าอื่นๆ
กวิน: Bitazza เราตัดสินใจว่าเราจะไปขอเป็นโบรกเกอร์ เพราะเชื่อว่า License Broker มีข้อดีบางอย่างที่เราคิดว่ายังขาดอยู่ในตลาด ณ ตอนที่เราเริ่มธุรกิจคือ คนไทยไม่สามารถที่จะไปลงทุนที่ต่างประเทศได้อย่างสะดวก แล้วสภาพคล่องในประเทศก็อาจจะยังไม่ได้ตอบโจทย์ขนาดนั้น
อธิบายถึงการเป็นโบรกเกอร์ ของ Bitazza
กวิน: การเทรดคริปโทเคอร์เรนซี เกิดขึ้นได้ทุกที่ สภาพคล่องไหลเวียนกันได้ทั่วโลก แต่ในบางประเทศอาจจะมีสภาพคล่องไหลเวียนมากกว่าประเทศอื่น ตัวใบอนุญาตโบรกเกอร์ที่เราได้จาก ก.ล.ต. มันสามารถให้เราส่งคำสั่งซื้อขายของคน ออกไปข้างนอกได้ เพื่อไปซื้อขายในแหล่งสภาพคล่องเหล่านี้ที่มันเกิดขึ้นที่ต่างประเทศ โดยที่ไม่ต้องให้มีการซื้อมาแล้วขายต่อให้เรา
ลองนึกภาพว่าถ้าเกิดว่าเราเป็นตลาดปลา แล้วคนซื้อขายกันในประเทศ อยู่ดีๆ ปลาที่เราอยากจะได้มันดันไม่มีอยู่ในตลาดนี้ สมมติผมอยากกินปลาที่มาจากนอร์เวย์ ผมก็ต้องมีวิธีการนำเข้ามา ซึ่งใบอนุญาตตัวนี้มันนำเข้าสินทรัพย์ต่างๆ ที่ในประเทศไทยอาจจะยังไม่มี จึงทำให้ระบบนิเวศและอุตสาหกรรมนี้มันโตขึ้นมา เพราะว่านอกจากจะมีศูนย์ซื้อขายแล้ว เรายังมีคนนำเข้าส่งออก เชื่อมตลาดไทยกับตลาดโลก
Bitazza จึงเป็นเหมือนประตูที่นักลงทุนไทย สามารถออกไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลก แล้วก็เป็นประตูที่ชาวต่างชาติ หรือนักลงทุนที่ต่างประเทศจะเข้ามาขายสินทรัพย์ดิจิทัล กลับมาเป็นเงินบาทในประเทศไทยได้ เพื่อมาลงทุนในประเทศไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ทำไมหัวใจในการทำธุรกิจของ Bitazza คือ การกระจายศูนย์ (Decentralized), ความโปร่งใส (Transparency) และความเท่าเทียม (Equality)
กวิน: ต้องกลับมาที่เรื่องจิตวิญญาณของบล็อกเชน ด้วยเทคโนโลยีนี้มันมีความที่ให้คนมีอำนาจมากขึ้น อำนาจในการตัดสินใจด้วยตัวเอง ว่าจะทำอะไรกับเงินของตัวเอง ด้วยเทคโนโลยีที่เขาเรียกว่าการกระจายศูนย์ (Decentralize Financial) การกระจายอำนาจออกไปให้คนสามารถทำธุรกรรมได้ ทำให้คนเล็กคนน้อยสามารถที่จะทำอะไรบางอย่างที่ปกติแล้วเขาจะทำไม่ได้ เช่น การกู้เงินได้ และปล่อยกู้ได้โดยที่ไม่ต้องผ่านคนกลาง
เรื่องของความโปร่งใส (Transparency) มันกลายเป็นว่าระบบนี้ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนในโลก เราเชื่อใจกันได้ เราตรวจสอบได้ การโกงกันจะเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะว่าบล็อกเชนหลอกกันไม่ได้
และเรื่องของความเท่าเทียม (Equality) ข้อดีของบล็อกเชนคือ เวลามาเขียนเป็นโค้ดคอมพิวเตอร์แล้ว ไม่ได้มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีการเลือกฝั่ง เลือกฝ่าย ทุกอย่างตรงไปตรงมา เขียนอย่างไรก็ทำอย่างนั้น เป็นเหมือนสัญญา แต่เป็นสัญญาที่คอมพิวเตอร์มาคุยกัน แล้วก็ทำธุรกรรมระหว่างกันเลยเชื่อใจกันได้
ผมมองว่าจริงๆ บล็อกเชน เป็นโครงสร้างพื้นฐานเลยในอนาคตที่คนเราจะทำธุรกรรม โดยที่จริงๆ ในอนาคตอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าใช้บล็อกเชนตัวนี้อยู่ หน้าที่ของเราในฐานะที่เป็นบริษัทที่มีลูกค้าทั่วไปใช้งานบล็อกเชน คือทำอย่างไรก็ได้ให้มันใช้ง่ายที่สุด ปลอดภัยที่สุด โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีความน่าเชื่อถือ ถูกกฎหมาย ทุกอย่างจะต้องทำได้ง่าย โดยที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบล็อกเชนคืออะไร ถ้าเขามีเงินอยู่ธนาคารอยู่แล้ว เราก็ไปเชื่อมกับระบบธนาคาร ถ้าเขาจะเดินทางไปต่างประเทศ เขาต้องการจะไปใช้เงินที่ต่างประเทศ เราก็ไปเชื่อมกับเครือข่ายของพาร์ทเนอร์เรา ที่สามารถเอาเงินไปออกที่ต่างประเทศได้ ก็คือ Lightnet หรือว่า Velo Labs
จากความร่วมมือระหว่าง Bitazza x Lightnet x Velo Labs เราจะได้เห็นอะไรน่าสนใจในวงการการเงินบ้าง
ตฤบดี: เราหวังว่าเราจะร่วมกันสร้างเครือข่ายที่คุณจะมีรูปแบบเงินอะไรก็ตามแต่สามารถชำระผ่านกันได้หมด
กวิน: Lightnet แล้วก็ Velo Labs เป็นบริษัทที่สร้างเทคโนโลยีที่ทำให้การโอนเงินระหว่างประเทศมันทำได้ถูกลง ทำให้โอกาสที่เราจะอยู่ที่ประเทศไทย แต่ไปใช้บริการทางการเงินในต่างประเทศทำได้ง่ายขึ้น ทำให้นอกจากคริปโทเคอร์เรนซี ที่เรามีอยู่แล้ว จะอยู่แค่ในประเทศไทย แล้วนักลงทุนจะซื้อขายกันอย่างเดียว เราเปิดโอกาสให้เขาไปทำธุรกรรมที่มากไปกว่าการลงทุนได้ เช่นการโอนเงินได้ถูกลง
ตฤบดี: เราก็มีวิสัยทัศน์ร่วมกันที่จะเอาเทคโนโลยีของพวกเรา มาบวกกับรูปแบบธุรกิจที่เชื่อมการเงินได้ทั้งโลกความจริง แล้วก็โลกดิจิทัล พอเราทำตรงนี้สำเร็จในไทย เราก็ต้องการที่จะไปประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เพื่อที่จะทำให้เกิดเป็นศูนย์กลางการเงินครบวงจรให้กับภูมิภาคอาเซียนของเรา
อยากให้อธิบายโมเดลธุรกิจเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
ตฤบดี: ธุรกิจของอาเซียน มีความน่าสนใจคือ การขับเคลื่อนไม่ใช่จากธุรกิจใหญ่อย่างเดียว แต่ขับเคลื่อนโดย SMEs คนตัวเล็กและคนตัวกลาง เรามองว่าช่วงนี้เขาเจอโควิด ต้นทุนเขาสูงขึ้น เราจะทำอย่างไรให้ต้นทุนการเงินเขาถูกลง ณ ปัจจุบันเรามีคนขายของออนไลน์เยอะเต็มไปหมดเลยที่ซื้อของจากเมืองจีน แล้วก็เอามาขายในไทย เชื่อไหมคนพวกนี้ปัจจุบันใช้เครดิตการ์ดจ่าย ค่าธรรมเนียมบางทีมากถึง 5% ถ้าใช้เทคโนโลยีของเรา อาจจะทำให้เขาไม่ต้องใช้เครดิตการ์ดในการซื้อของจากเมืองจีน และใช้เทคโนโลยีของเราอยู่เบื้องหลัง ค่าธรรมเนียมอาจจะไม่ถึง 1%
หรือเรื่องการส่งงานข้ามประเทศ หนึ่งในผู้ถือหุ้นเราคือ 7-11 ญี่ปุ่น ที่เป็นเจ้าของเซเว่นแบงก์ เซเว่นแบงก์ก็จะเป็นตู้เอทีเอ็มที่วางหน้า 7-11 ที่ญี่ปุ่น เชื่อไหมว่าในญี่ปุ่นอย่างเดียวมีแรงงานอาเซียนที่รวมถึงแรงงานไทย เขมร พม่า 3-5 ล้านคน ทุกวันนี้เขาต้องเดินไปที่ 7-11 เอาเงินเยนของเขาใส่ตู้เอทีเอ็ม แล้วก็เอาสลิปไปยื่นที่เคาน์เตอร์ทำการส่งเงินกลับไทย
เราเลยมองว่านี่เป็นอะไรที่น่าสนใจมากที่ พอเรามีเน็ตเวิร์กบล็อกเชน เชื่อมกับ 7-11 ที่ญี่ปุ่น ญาติของพนักงานพวกนี้ที่ญี่ปุ่นสามารถรับเงินได้ทันทีที่สาขาอะไรก็ได้ในไทย หรือที่เขมร พม่า ฟิลิปปินส์ได้หมด มันไม่ใช่รูปแบบการเงินเหมือนแต่ก่อนที่ผมต้องเอาเงินฝากธนาคารจากประเทศอื่น และรับจากธนาคารประเทศนี้ มันทำให้เกิดความหลากหลาย เช่น ผมเอาเงินฝากที่ 7-11 ที่ญี่ปุ่น สามารถส่งเงินไปที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นธนาคารอีกต่อไป
คิดว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า สิ่งที่พวกคุณร่วมกันสร้างมาจะเติบโตไปขนาดไหน
กวิน: ผมคิดว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนจะใช้กันอย่างแพร่หลาย เราจะใช้มันโดยที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราใช้มันอยู่ เหมือนที่น้ำมันไหลในก๊อกแล้วเราก็ไม่เห็นว่ามันไหลมาจากไหน พอแพร่หลายมันจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถเข้าถึงโอกาสต่างๆ ในโลกนี้ได้อย่างไร้พรมแดน ผมอยู่ที่ประเทศไทย ผมอาจจะลงทุนในทรัพย์สินอะไรบางอย่างที่ต่างประเทศ เช่น ไปลงทุนในจีน ไปลงทุนในสหรัฐฯ อินเดีย หรือที่ไหนในโลกก็แล้วแต่ โดยที่ไม่มีใครมาบอกว่าคุณทำได้หรือคุณทำไม่ได้ ขณะที่นักลงทุนที่ต่างประเทศที่สนใจลงทุนในอะไรบางอย่างในประเทศไทย ก็สามารถที่จะเข้ามาลงทุนได้อย่างง่าย
เชื่อมั่นมากแค่ไหนว่าในอนาคต คริปโทเคอร์เรนซี จากสินทรัพย์ทางเลือก จะสามารถกลายเป็นสินทรัพย์หลักที่คนใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้
กวิน: ส่วนตัวผมเชื่อว่าคริปโทเคอร์เรนซีจะเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ไวรัสระบาดครั้งนี้ ทำให้โลกเราตระหนักถึงความสำคัญของระบบการเงินดิจิทัล
ตฤบดี: ผมว่าคริปโทเคอร์เรนซีหรือบล็อกเชน เหมือนยุคอินเทอร์เน็ตก่อนปี 2000 เราคงจำได้ตอนก่อนปี 2000 คนพูดถึง ดอทคอม ทุกคนหัวเราะหมดเลย ว่าใครจะไปซื้อของออนไลน์ ณ จุดนี้ ยิ่งช่วง COVID-19 คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนต้องทำธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งทุกคนตอนนี้ก็หัวเราะว่าเราจะใช้คริปโทเคอร์เรนซีหรือบล็อกเชนทำการเงิน
แต่ว่าอีก 10 ปีจากนี้ หรือไม่กี่ปีจากนี้ ทุกคนก็จะใช้บล็อกเชน ใช้คริปโทเคอร์เรนซีทำธุรกรรมทางการเงิน เหมือนที่คุณซื้อของออนไลน์ตอนนี้ เพราะสุดท้ายคนทุกคนต้องการมีอิสรภาพ ต้องการมีอำนาจการตัดสินใจ ทุกคนต้องการความสะดวก มนุษยชาติเราชอบเทคโนโลยี เพราะเทคโนโลยีทำให้ชีวิตคนดีขึ้น ทำให้เราสามารถเชื่อมกันได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันผมสามารถซื้อขายของกับใครก็ได้ในโลก แต่กับเรื่องการเงิน ผมไม่สามารถทำการเงินได้กับทุกคนในโลก เพราะมันมีตัวกลางเต็มไปหมด ผมคิดว่าด้วยความต้องการของมนุษยชาติอันนี้นี่แหละ จะผลักดันให้บล็อกเชนและคริปโทเคอร์เรนซี เข้ามาเปลี่ยนชีวิตเราจริงๆ กับทุกคน
ที่น่าสนใจคือถ้าเรามองการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมครั้งแรก มันใช้เวลาเกือบ 100 ปี ครั้งที่ 2 เกือบ 40 ปี แต่ครั้งที่ 3 อี-คอมเมิร์ซ อินเทอร์เน็ต 10 ปี มันก็เห็นผลแล้ว ผมเลยบอกว่าบล็อกเชน และคริปโทเคอร์เรนซีเนี่ย ไม่กี่ปีเราเห็นกันแน่นอน ถ้าเชื่อว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเดิม
กวิน: แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องขอพูดว่าความเสี่ยงก็มี นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ อย่างแรกต้องศึกษา หาความรู้ให้มาก เพราะว่ามันเป็นโลกใหม่ ทางบริษัทเองก็มีความตั้งใจที่จะให้ความรู้นักลงทุนเหมือนกัน ให้เขาเอาตรงนี้ไปต่อยอดได้ พอเวลาทุกคนมีความรู้แบบเดียวกันแล้ว ก็สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเองว่า สิ่งที่กำลังลงทุนอยู่นี้มันปลอดภัยและมันมีความเสี่ยงด้านไหนบ้าง ก็เลยฝากไว้ด้วยว่าจริงๆ ไม่ว่ามันจะโตยังไงก็ตาม ความผันผวนอย่างไรก็มี แล้วก็อยากให้นักลงทุน ลงทุนด้วยความรับผิดชอบ ไม่ใช่ว่ากู้หนี้ยืมสินมาลงทุน จนสุดท้ายพอเวลามันขาดทุนขึ้นมา อาจจะไปกระทบคนรอบข้างเรา