หากย้อนกลับไปในวันที่ยังใช้ฟิล์มในการถ่ายภาพอยู่ ใครที่เคยทันสัมผัสช่วงเวลานั้นต่างก็รู้ดีว่า กว่าจะวัดแสง กว่าจะถ่าย กว่าจะล้าง กว่าจะได้ดูรูปต้องรอนานขนาดไหน
การจะได้ภาพสวยๆ สักภาพนั้นยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน แถมกล้องฟิล์มยังมีข้อจำกัดในการใช้งานอยู่หลายอย่าง พอกระโดดข้ามมาที่ยุคของกล้องดิจิทัล ที่ทุกอย่างดูเหมือนจะง่ายขึ้น ไวขึ้น สะดวกขึ้น เพียงแค่กดชัตเตอร์ปุ๊บก็ได้ดูรูปปั๊บ แถมประสิทธิภาพของกล้องรวมถึงผลลัพธ์ของภาพที่ได้ ยังไปไกลกว่ากล้องฟิล์มเยอะ
แต่สำหรับในมุมมองของคนที่รักการถ่ายภาพแล้ว กล้องดิจิทัลในยุคนี้ก็ยังมีข้อจำกัดต่างๆ อยู่ไม่น้อย ทำให้บางครั้งการจะได้ภาพดีๆ กลับถูกข้อจำกัดของกล้องมาตัดโอกาสนั้นไปอย่างน่าเสียดาย และหลายครั้งด้วยข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้การถ่ายภาพอยู่ในกรอบที่เรียกว่า Comfort Zone ของการถ่ายภาพหรือกฎตายตัว เช่น จะถ่ายวัตถุเคลื่อนไหวต้องใช้สปีดชัตเตอร์สูงๆ การถ่ายดาวต้องใช้ขาตั้ง หรือแสงน้อยจะดัน iso สูงมากไม่ได้ เดี๋ยวนอยซ์จะขึ้น และอะไรอีกหลายเหตุผลที่ทำให้ยังยึดติดอยู่กับกรอบเดิมๆ จนไม่ได้ภาพแปลกใหม่อย่างที่ต้องการ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้บริษัทผู้พัฒนากล้องถ่ายรูปจึงไม่หยุดคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่เสมอ เราจึงได้เห็นกล้องรุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาเพื่อตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น
The MATTER จึงไปคุยกับช่างภาพอาชีพ 5 คนในหลากหลายสาขา กับประเด็นที่ว่า จะก้าวออกจาก comfort zone ของการถ่ายภาพได้ด้วยวิธีการไหน และอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่พัฒนาไม่หยุด สามารถทำลายข้อจำกัดเดิมๆ ของการถ่ายภาพได้อย่างไร
ผศ.ดร.ชวาล คูร์พิพัฒน์
Step Out of Comfort Zone
“ปกติผมจะไม่มีหลักการถ่ายภาพแบบตายตัว หลักๆ จะถ่ายเพื่อความสวยงามและแชร์ให้คนอื่นได้ชื่นชม เรียกว่า capture the moment มากกว่า แต่ต้องมีคุณสมบัติคือต้องเตะตาและเตะใจ เตะตาคือการใช้สีสดๆ ดึงดูดให้คนหยุดมอง เตะใจคือมีอารมณ์ของภาพ มีคอนเทนต์ มีความหมายที่ตามมา รูปที่สมบูรณ์จึงต้องมีองค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้ ที่สำคัญคือต้องทำให้คนมีอารมณ์ร่วม รับรู้ว่าเราต้องการสื่ออะไร ไม่จำเป็นต้องเป็นองค์ประกอบที่ดีตามทฤษฎีถ่ายภาพก็ได้ แต่การมีองค์ประกอบที่ดีก็สามารถช่วยขับให้มันเตะตาได้มากขึ้น อย่างบางรูปที่เป็นนามธรรม บางรูปดูแล้วรู้สึกสงบ บางรูปดูแล้วรู้สึกเศร้า ถึงจะเรียกว่าภาพที่ดี
“การถ่ายภาพด้วยเทคนิคเดิมๆ ซ้ำๆ อาจทำให้ความคิดเราตันได้ ในการก้าวออกจากข้อจำกัดต่างๆ เราต้องหาเทคนิคใหม่ๆ อยู่เสมอ แล้วต้องนำมาปรับใช้จริงด้วย อย่างการถ่ายแลนด์สเคปมักจะมีการค้นพบมุมหรือสถานที่ใหม่ๆ อยู่เสมอ เราจึงต้องออกไปหายังสถานที่นั้นๆ การอยู่ในเมืองไม่มีทางที่จะได้ภาพแลนด์สเคปดีๆ ได้ แล้วเลือกจังหวะที่ทุกอย่างดีและลงตัวที่สุด ทั้งแสงและองค์ประกอบ เราก็จะได้ภาพที่สมบูรณ์ ทำให้เกิดประสบการณ์ที่ใหม่อยู่ตลอดเวลา บางสถานที่อาจจะเดินทางลำบาก แต่ก็ต้องไป หรือถ้ามีสถานที่ซ้ำๆ ก็ลองตั้งโจทย์ใหม่ๆ อย่างการถ่ายสถานที่เดิม แต่เปลี่ยนช่วงเวลาถ่าย ทำให้เกิดภาพแบบใหม่ๆ ขึ้นมาได้”
Break the limit
“ภาพนี้ได้มาตอนไปประชุมที่มหาวิทยาลัย แล้วบังเอิญเดินผ่านลานจอดรถมอเตอร์ไซค์ของนักศึกษา พอดีว่าห้องน้ำชั้นบนมีช่องระบายอากาศข้างบน ผมก็เลยใช้ Canon 6D Mark II ชูมือขึ้นไปถ่ายผ่านช่องนั้น ซึ่งจุดเด่นคือจอที่กางออกได้ พอเวลาเรายกกล้องสุดแขนก็ยังมองเห็นจอภาพอยู่ ซึ่งถ้าเป็น still life ที่มีแต่มอเตอร์ไซค์อย่างเดียว อาจจะขาดชีวิตชีวาไปนิดหนึ่ง ผมก็รอจังหวะจนมีคนเดินผ่าน จะได้เห็นสเกลที่เปรียบเทียบระหว่างคนกับมอเตอร์ไซค์ พอจังหวะได้ก็กดชัตเตอร์เลย เป็นภาพที่ผมชอบจังหวะและแพทเทิร์นที่สวยงาม
“ข้อดีของกล้องนี้คือจับได้เหมาะมือ น้ำหนักเบากำลังดี จอที่หมุนกางออกมาได้คือสิ่งชอบมาก และสามารถส่ง wifi เข้ามือถือได้และโพสต์ขึ้นโซเชี่ยลได้เลย โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ในการเชื่อมต่อ อุปกรณ์ที่ดีเหมือนเรามีอาวุธที่ครบครัน อย่างเวลาที่เราอยากถ่ายช่วงเวลานี้ แต่อุปกรณ์ไม่พร้อมก็ทำให้พลาดไป แต่ไม่ใช่ว่าอุปกรณ์ไม่ดีจะถ่ายรูปที่ดีไม่ได้ ถ้าเรารู้ข้อจำกัดของอุปกรณ์เรา ใช้ให้มันถูกที่ถูกเวลาก็ย่อมได้ภาพสวยอย่างที่ต้องการ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การมีอุปกรณ์ที่ดีก็ย่อมมีโอกาสที่จะได้ภาพที่ดีมากกว่า”
สุระ นวลประดิษฐ์
Step Out of Comfort Zone
“ปกติผมถ่ายภาพแนวสต็อกโฟโต้ คือภาพสำหรับการขายลงในเว็บขายภาพออนไลน์ ซึ่งผมจะไม่ได้จำกัดแนวใดแนวหนึ่ง แต่จะถ่ายทุกสไตล์ให้ออกมาในลักษณะเพื่อให้ลูกค้าสามารถนำไปใช้งานต่อได้ ภาพแบบนี้จึงมีลักษณะเฉพาะของมันเอง ถ้าเป็นเรื่องการถ่ายภาพทั่วไป ผมจะไม่ชอบการถ่ายแบบเจาะเพื่อให้เห็นวัตถุเพียงประเภทเดียว สมมติเราจะถ่ายผีเสื้อ ผมจะไม่เจาะถ่ายผีเสื้ออย่างเดียว จะต้องมีดอกไม้ มีเรื่องราวอื่นๆ ของบริบทสภาพแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ภาพถ่ายที่ดีขึ้นอยู่กับว่าจะนำภาพนั้นไปใช้ทำอะไร เปรียบได้กับนักวิชาการที่ต้องมีความรู้ นักกีฬาต้องมีร่างกายแข็งแรง อย่างภาพถ่ายเพื่อประกวดอาจจะต้องมีองค์ประกอบทางศิลปะเข้ามา แต่ในขณะเดียวกันภาพถ่ายสต็อก ถ้าเป็นภาพถ่ายที่มีคุณสมบัติเชิงศิลปะเต็มเปี่ยมอาจเป็นภาพที่ขายไม่ดีก็ได้ แต่ภาพที่ขายดีถ้านำไปประกวดอาจจะตกรอบแรกก็ได้ ภาพถ่ายที่ดีจึงต้องตอบสนองความต้องการของโจทย์ที่กำหนดมาได้ ไม่ว่าจะเป็นสายไหนก็ตาม
“ในสายงานสต็อกโฟโต้ของผมจะมีตัวอย่างงานที่ลูกค้าชอบอยู่ เว็บขายภาพต่างๆ จะมีการจัดอันดับไว้ จะเป็นงานที่ลูกค้านิยมดาวน์โหลดอยู่ วิธีการฉีกหนีรูปแบบเดิมๆ ที่เคยถ่าย คือพยายามดูภาพมากๆ เพื่อศึกษาสิ่งใหม่ๆ ดูเทรนด์ของตลาดโลกเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับงานของเรา การพัฒนาทักษะถ่ายภาพก็เหมือนกับหลักการพัฒนาตัวเองในด้านอื่นๆ ลองหาจุดที่เราคิดว่าเราทำได้ดีที่สุด สมมติว่าเราถ่ายภาพแลนด์สเคปได้สวยงามมาก แต่ก็ต้องลองเปิดใจดูว่ามีช่างภาพคนอื่นไหมที่เก่งกว่าเรา แล้วก็เปิดใจว่าเราอาจจะไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด เพื่อเป็นแรงผลักดันให้อยากจะพัฒนาต่อไป ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ดูถูกผลงานของตัวเองด้วย”
Break the Limit
“ผมก็เหมือนช่างภาพคนอื่นๆ ที่อยากจะมีภาพพระเมรุมาศที่ถ่ายด้วยฝีมือตัวเอง ซึ่งมีนักถ่ายภาพท่านอื่นถ่ายได้สวยมากอยู่แล้ว แต่ผมจะไม่เจาะถ่ายแค่พระเมรุมาศอย่างเดียว อยากให้มีมุมกว้างเพื่อให้มีเรื่องราวอื่นๆ ประกอบด้วย ก่อนจะได้ภาพนี้มา ผมมีโอกาสได้ถ่ายภาพพระเมรุมาศ 2 ครั้ง คือได้ขึ้นตึกสูงก็ได้ภาพที่พอใจแล้ว แต่ยังไม่ถึงที่สุด อยากให้ภาพเล่าเรื่องพระเมรุมาศ พระบรมมหาราชวัง และความเป็นไปของกรุงเทพมหานครด้วย เรื่องราวในภาพคือจะเห็นกรุงเทพฯ มืดๆ หม่นๆ แต่พระเมรุมาศกลับสว่างไสวขึ้นมา ความตั้งใจคืออยากให้เห็นสภาพแวดล้อมของกรุงเทพฯ มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมเลยขึ้นไปถ่ายที่ยอดของสะพานพระราม 8 ซึ่งถ้าใครเคยขึ้นไปจะทราบว่าบนนั้นมีพื้นที่แคบมาก ผมเลยใช้ตัวยึดไปเกาะกับราวสะพานที่มีอยู่นิดเดียว ตอนที่ถ่ายก็ดูผ่านจอที่กางออกมาของ Canon 6D Mark II ซึ่งถ้าเป็นจอฟิกซ์แบบเดิมจะดูยากมาก แต่พอมีจอพับได้ทำให้มุมภาพอย่างที่ต้องการ
“ก่อนหน้านี้ผมเคยใช้กล้องที่ซีรีส์สูงกว่านี้ คือคุณภาพดีทุกอย่าง แต่จะมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำไม่ได้ อย่างเช่นจอพับได้ ที่เอื้ออำนวยให้ผมทำงานได้ง่ายขึ้น ผมก็อายุเยอะแล้วจะให้ไปก้มลงไปถ่ายหรือไปนอนลงบนพื้นก็ไม่ได้ แล้วสามารถเลือกจุดโฟกัสจากจอ Live View ได้เลย ซึ่งโฟกัสได้แม่นมาก กล้องตัวนี้จึงช่วยให้ช่างภาพอายุมากอย่างผมสามารถสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ได้ หรือการทำ Time-lapse 4K คุณภาพสูงได้เสร็จจากตัวกล้อง โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเพิ่มเลย อย่างในงานสต็อกไฟล์ที่เป็น 4K ก็สามารถขายได้ราคาสูงกว่าไฟล์ Full HD ในสายงานสต็อกโฟโต้ ผมเองเป็นกลุ่มที่พยายามบอกว่า อุปกรณ์ทุกอย่างสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ได้ ตั้งแต่มือถือไปจนถึงกล้องระดับโปร เพียงแต่ว่าคนที่อยู่ในวงการจะรู้ว่าคุณภาพของอุปกรณ์มีส่วนในการได้ภาพที่ดีมาค่อนข้างมาก ถ้าเลือกได้อยากให้ทุกคนหาอุปกรณ์ดีที่สุดเท่าที่จะหามาได้ดีกว่า กล้องดีๆ จะทำให้เราทำงานได้ดีขึ้น ได้ภาพที่คุณภาพสูงกว่า ในเวลาที่เท่ากัน ซึ่งจะสามารถทำเงินให้เราได้มากกว่า”
บารมี เต็มบุญเกียรติ
Step Out of Comfort Zone
“ปกติผมจะถ่ายแนวชีวิตสัตว์ เริ่มต้นตั้งแต่สมัยก่อนที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตไว้หาข้อมูล เพราะฉะนั้นจะเรียนรู้ทุกอย่างจากหนังสือ แล้วค่อยๆ พัฒนามา เมื่อก่อนแค่รู้จักแหล่งท่องเที่ยวว่ายากแล้ว ก็ต้องมาศึกษาฤดูกาลที่จะไปถ่ายด้วย สมัยนี้ง่ายมาก เพราะมีคนอัพเดตในอินเทอร์เน็ตตลอด เมื่อก่อนกว่าที่ผมจะถ่ายใบเมเปิ้ลที่ภูกระดึงได้ ต้องรอเป็นปี เพราะไม่มีคนบอกว่าใบมันแดงหรือยัง ได้แค่คาดเดา บางทีขึ้นไปถึงใบมันร่วงไปแล้ว บางทีใบครึ่งบนแดงข้างล่างเขียว แต่ปัจจุบันโซเชียลโพสต์ก็รู้หมดแล้ว งานของผมพัฒนามากับอุปกรณ์ เมื่อก่อนถ้าเข้าป่าไป ถ้าอยู่เย็นมากต่อไปก็ถ่ายไม่ได้ เพราะสภาพแสงในป่าน้อย แล้วเมื่อก่อนฟิล์ม ISO น้อยมาก ห้าหกโมงเย็น สปีดชัตเตอร์ก็เป็นเลขตัวเดียวแล้ว สัตว์ออกมาก็ถ่ายไม่สวย เราจึงต้องออกไปแต่เช้าเพื่อลุ้นให้มันออกมาตอนกลางวัน พอกล้องพัฒนามากขึ้น เดี๋ยวนี้ทุ่มกว่าเราก็ยังถ่ายภาพได้อยู่เลย แม้ทุกอย่างจะเหมือนเดิม แต่อุปกรณ์ทำให้เราสนุกได้มากขึ้น
“ส่วนใหญ่อุปสรรคของการถ่ายภาพสัตว์ป่าคือข้อจำกัดเรื่องเวลา แต่ด้วยประสบการณ์ของผมเกือบยี่สิบปี ทำให้เรารู้ว่าต้องใช้เวลาเท่าไร วิธีทำลายข้อจำกัดคือคิดโจทย์ไว้ในหัวก่อน แต่ในการลงพื้นที่ผมจะไม่ใช้วิธีถ่ายตามโจทย์แค่เรื่องเดียว จะใช้วิธีเข้าถึงธรรมชาติเรื่อยๆ ทำให้มีส่วนอื่นๆ มาประกอบเข้ากัน แล้วธรรมชาติจะเปิดโอกาสให้เราเอง คนส่วนใหญ่จะแพ้เรื่องการถ่ายสัตว์ชนิดเดิมๆ กับพื้นที่เดิมๆ แต่สมมติมีคนคนหนึ่งที่ชอบขึ้นภูกระดึงเป็นชีวิตจิตใจ รูปภาพของเขาจะแตกต่างจากคนอื่น เพราะว่าเขารู้จักทุกอย่างเกี่ยวกับภูกระดึง ทำให้แตกต่างจากคนที่ไปเที่ยวแค่ไม่กี่วัน”
Break the limit
“ตอนนั้นที่ผมมีโอกาสขึ้นไปถ่ายพระเมรุมาศบนสะพานพระราม 8 ซึ่งผมพกกล้อง Canon 6D Mark II ไปในฐานะกล้องสำรอง ระหว่างที่รอถ่ายพระเมรุมาศอยู่ข้างบนสะพาน ผมก็เอากล้องตัวนี้มาถ่าย ใช้เลนส์ระยะ 70-200 โดยเอากล้องพาดไว้กับกระจกกันตก โดยที่ไม่ต้องปีนขึ้นไปถ่าย แล้วกางจอออกมา ทำให้มุมนี้เหมือนกับการถ่ายด้วยโดรนเลย เพราะสูงมาก แล้วก็ใช้ฟังก์ชันทัชสกรีนเลือกจุดโฟกัสที่จอ Live View ได้เลย ไม่ต้องเอาตาไปแนบที่ช่องมองภาพ แล้วก็รอจังหวะที่รถแท็กซี่วิ่งผ่าน ซึ่งผมถ่ายไปเป็นร้อยรูปเลย เพราะมีจังหวะไม่ได้ สีรถไม่ได้ หรือมีรถอื่นๆ ที่แทรกเข้ามา จนได้จังหวะที่ต้องการเป็นรถแท็กซี่คู่นี้
“สิ่งที่ผมพบเจอมาตลอด คือไม่มีกล้องตัวไหนดีที่สุด อยู่ที่ว่าเหมาะกับสถานการณ์ไหนมากที่สุดต่างหาก ตลอดเวลาที่ใช้มาเดือนกว่าผมพกเอาไปถ่ายทุกที่เลย ครั้งหนึ่งไปถ่ายนกเงือกรวมฝูง แต่รอยังไงมันก็ไม่รวมสักที ผมเลยใช้ฟังก์ชัน Time-lapse 4K ที่ช่วยให้ประหยัดเวลามาก แต่ก่อนต้องพกสายลั่นชัตเตอร์กดถ่ายไปหกเจ็ดร้อยรูป แล้วก็ต้องมารวมในโปรแกรมอีก แต่ฟังก์ชันนี้สามารถรวมให้เสร็จเสร็จพร้อมเกลี่ยแสงให้ด้วย หรือตอนไปเชียงดาวเพื่อไปถ่ายกวางผา ซึ่งมันจะออกมาปรากฏตัวให้เห็นน้อยมาก พอเราไปอยู่ในพื้นที่ที่เป็นจุดซุ่มก็ต้องทำตัวให้เงียบที่สุด เมื่อก่อนเราถ่ายก็จะมีเสียงชัตเตอร์ดัง แต่พอเป็นฟังก์ชันนี้กล้องจะยกกระจกจนไม่มีเสียงชัตเตอร์เลย ทำให้ไม่มีเสียงไปรบกวน จนได้ภาพที่ต้องการ”
วรนันทน์ ชัชวาลทิพากร
Step Out of Comfort Zone
“แนวทางการถ่ายภาพของผม ก่อนอื่นต้องดูเรื่องราวของภาพที่น่าสนใจก่อน และดูองค์ประกอบภาพ เรื่องเนื้อหาบางครั้งถ้าไปเจอสิ่งที่ชอบจะต้องรีบถ่ายด้วยความเร็ว จึงไม่ได้วางแผนไว้ก่อน แต่บางภาพก็มีการวางแผนไว้ ผมจะให้ความสำคัญกับแสงเกือบจะมากที่สุด เพราะรูปภาพที่จะสวยงามได้อยู่ที่แสงเงาที่ตกกระทบลงวัตถุ และดูว่าแสงเงาที่ดีที่สุดว่าอยู่ช่วงไหนของวัน เพื่อให้สีสันดูสดใสที่สุด
“ผมจะให้ความสำคัญกับความสะดวกสบายในการถ่าย มีเป้ใบหนึ่งมีกล้องและเลนส์ที่น้ำหนักไม่มาก ที่สำคัญคือต้องรู้จักการทำงานของกล้องและเลนส์มากที่สุด ศึกษาข้อจำกัดต่างๆ เพื่อจะได้เตรียมพร้อม เพราะบางคนมีกล้องที่ดีแต่ใช้ความสามารถของมันไม่เต็มที่ แต่คนที่เรียนรู้อุปกรณ์ดีจะสามารถใช้กล้องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ คือเลือกใช้อุปกรณ์ให้ถูกต้องกับสิ่งที่จะถ่ายเพื่อให้ได้ภาพในแบบใหม่ๆ ที่ต้องการ การใช้ขาตั้งเพื่อความคมชัดเป็นเทคนิคที่ผมใช้บ่อยที่สุด ภาพที่ออกมาคนที่ดูรูปต้องเข้าใจ ไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมอีก”
Break the limit
“ตอนที่เดินทางไปตัดสินภาพถ่ายนานาชาติที่สิงคโปร์ ผมได้พกกล้อง Canon 6D Mark II ไปด้วย ก่อนจะถ่ายก็ไม่ได้วางแผน แค่รู้ว่าจะมีการแสดงตอนไหน เลยพกขาตั้งไปด้วย เพราะอยากลองถ่ายแสงกลางคืน พอถึงเวลาก็เอาขาตั้งกล้องมาตั้งรอไว้ ตอนที่มีการเลเซอร์ยิงออกมาจากตึก ไม่รู้ว่าแสงมันจะไปทิศทางไหน ผมจึงใช้วิธีถ่ายแบบ HDR คือซ้อนภาพค่าแสง 3 สภาพแสง ซึ่งกล้องนี้สามารถตั้งค่าแสงให้ห่างกันกี่สต็อปในแต่ละช็อตก็ได้ แล้วกล้องก็ทำการรวมกันเองให้อัตโนมัติ ทำให้เห็นแสงเลเซอร์ที่ยิงออกไปหลายทิศทางหลังจากที่ซ้อนภาพกันแล้ว
“ข้อดีของกล้องตัวนี้อย่างแรกคือมีน้ำหนักเบา เหมาะแก่การพกเดินทาง ซึ่งผมใช้ระบบ HDR ในการถ่ายบ่อยมาก เพราะต้องถ่ายภาพโบราณสถาน คือสามารถตั้งค่าแสงที่ต้องการได้ เพื่อให้เกิดภาพสีสดใสกับสีเข้มข้น อย่างภาพแกะสลักหิน มีการเพิ่มสีโทนเทา ทำให้ภาพนูนเกิดมิติขึ้นมาได้ กล้องปัจจุบันมีประสิทธิภาพในการถ่ายทุกสภาวะแสง ผมเองก็พยายามใช้กล้องเพื่อถ่ายแสงที่ยากๆ อย่างตอนกลางคืน ประเภทภาพแบบ long exposure เมื่อก่อนถ้าเป็นฟิล์มนี่แทบจะถ่ายไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ตั้งขาตั้งจะคมชัดยากมาก”
ปิยะฉัตร แกหลง
Step Out of Comfort Zone
“การถ่ายภาพของผมจะต้องดูคุณภาพของแสงโดยรวมก่อน ดูว่าแสงทำทิศทางหรือปฏิกิริยายังไงกับตัวแบบ รวมทั้งเลือกวันด้วยว่า วันนั้นสภาพแสงดีไหม อย่างเช่นหน้าฝน จะมีโอกาสมากที่แสงจะไม่ดี เพราะเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของการถ่ายภาพ ถ้าแสงดีจะออกมาดี แต่ถ้าแสงไม่ดี ถึงตัวแบบจะดูดีขนาดไหน ภาพก็จะออกมาธรรมดากลางๆ และอีกอย่างหนึ่งคือที่ถือเป็นแนวคิดหลัก คือสิ่งของทุกอย่างในโลกนี้เคยถูกถ่ายมาแล้ว จะทำยังไงให้ถ่ายออกมาดูแตกต่างออกไป ต้องหามุมมองใหม่ที่คนอื่นอาจจะนึกไม่ถึง โดยดึงประสิทธิภาพของกล้องออกมาให้มากที่สุด โดยไม่ต้องกังวลกับข้อจำกัดเดิมๆ เลยทำให้กล้าที่จะออกไปถ่าย
“ในการถ่ายภาพให้เกิดผลลัพธ์ใหม่ๆ ผมจะพยายามทำยังไงก็ได้ให้ภาพออกมาดูสะดุดตาที่สุด ผมจึงต้องหาวิธีใหม่ๆ มานำเสนอ ผมเคยถ่ายภาพมาโครหินย้อยที่ปรากฏอยู่ในถ้ำ ซึ่งการถ่ายหินย้อยธรรมดา คนทั่วไปเขาก็ถ่ายกัน ผมเลยต้องไปรอจังหวะตอนที่น้ำมันหยดลงมาจากหิน แต่สายน้ำยังไม่ขาดออกจากกัน ซึ่งเวลาชั่วโมงหนึ่งน้ำจะหยดลงมาแค่หยดเดียว ผมก็ถ่ายไปชั่วโมงละช็อตจนกว่าจะได้ภาพที่ต้องการ พอเวลาที่รู้สึกตัน ก็ต้องรีบหาวิธีการใหม่ๆ กว่าที่เราเคยถ่ายมาแล้ว และต้องดูว่าฟังก์ชันของกล้องมันสามารถตอบสนองเราได้ไหม หรือได้อย่างที่เราจินตนาการไหม อย่างการแพนนิ่งภาพเครื่องบินตอนกลางคืน ก็ยังไม่มีคนถ่ายกัน ผมก็ลองไปถ่ายดู ซึ่งปกติการแพนก็ไม่ควรใช้สปีดชัตเตอร์ที่มันต่ำเกินไป แต่เรามายึดติดอยู่กับกฎพวกนี้ทำให้ไม่เกิดอะไรใหม่ๆ ผมจึงลองแพนภาพด้วยสปีดชัตเตอร์ที่ต่ำมาก มันก็ถ่ายออกมาได้ ผมจึงสนุกกับการผ่าทางตันพวกนี้อยู่เสมอ พยายามทำลายข้อจำกัดของอุปกรณ์หรือแม้กระทั่งความพยายามของตัวเราเอง”
Break the limit
“การถ่ายภาพทางช้างเผือกบนเครื่องบินเป็นภาพที่ถือว่าถ่ายยากมาก ครั้งนั้นผมมีโอกาสได้เดินทางไปฝรั่งเศส ตอนขาไปผมยังไม่ได้วางแผนจะถ่าย เพราะคนเยอะมาก แต่ตอนขากลับ ผมรู้ว่าจะเดินทางช่วงตอนกลางคืน ซึ่งมีโอกาสจะได้เห็นทางช้างเผือกช่วงสุดท้ายของปีจากบนเครื่องบิน พอบินกลับมาได้เกือบครึ่งทางก็ได้เห็นทางช้างเผือกจริงๆ ความยากคือเครื่องบินเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถใช้วิธีการถ่ายแบบเดิมๆ ที่อยู่บนพื้น กางขาตั้งแล้วตั้งสปีดชัตเตอร์ค้างนานๆ ได้เลย เพราะภาพดาวจะเป็นเส้นๆ พอได้ลองใช้ Canon 6D Mark II มีการพัฒนาจากรุ่นเดิมได้ดีมาก ผมจึงใช้สปีดชัตเตอร์ที่เร็วหน่อยคือประมาณ 1 วินาที แต่ก็ช้ามากสำหรับการถือกล้องด้วยมือเปล่า ซึ่งการถ่ายได้ต้องดัน ISO สูงๆ ได้โดยที่ภาพยังดูดีอยู่ ไม่เป็นนอยซ์จนดูไม่ได้ ตอนถ่ายก็ยังเบลอบ้าง สั่นบ้าง ต้องหาวิธีโดยเอากล้องไปแนบกับกระจก แล้วก็เอาผ้ามาคลุมกระจกกันแสงสะท้อนแล้วถ่าย สุดท้ายก็ได้ภาพที่คนถ่ายได้น้อยและมีคนคิดว่าถ่ายไม่ได้ด้วยซ้ำไป แต่ถ้าเราไปคิดแบบนั้นก็ไม่มีทางออกจากกฎเดิมๆ ได้
“การที่ดัน ISO สูงๆ แล้วไฟล์ยังโอเคอยู่ เรื่องนี้ถือเป็นจุดเด่นของกล้องตัวนี้เลย เซ็นเซอร์ออโต้โฟกัสที่พัฒนาไปจากรุ่นเดิมมาก ซึ่งเป็นเซ็นเซอร์ที่ใช้ในกล้องรุ่นท็อปๆ ของ Canon มาก่อน คือมีจุดออโต้โฟกัสที่ละเอียดมากขึ้น ทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น สามารถโฟกัสเพื่อติดตามวัตถุได้ดีกว่ารุ่นเดิม คนทั่วไปมักพูดว่า ภาพที่ดีสำคัญที่คนถ่าย ผมก็เห็นด้วย แต่คนที่มีฝีมือดีๆ มักจะถูกจำกัดด้วยประสิทธิภาพของกล้องที่ยังไปได้ไม่ทันฝีมือคนถ่าย พอกล้องมีประสิทธิภาพสูงขึ้นทำให้เราสามารถถ่ายภาพในจินตนาการได้ดั่งใจมากขึ้น เหมือนนักแข่งรถที่มีฝีมือในการขับเก่งมาก แต่พอมาเจอรถที่ธรรมดาๆ ก็อาจขับไม่ได้อย่างที่เขาขับได้จริงๆ เพราะฉะนั้นอุปกรณ์เป็นอะไรที่สำคัญมาก แล้วภาพบางภาพมีโอกาสเกิดขึ้นได้แค่ครั้งเดียว ไม่มีโอกาสกลับไปถ่ายได้อีกแล้ว อย่างเช่นที่ผมถ่ายบนเครื่องบินยังไม่รู้ว่าจะได้ถ่ายอีกหรือเปล่า ถ้าตอนนั้นอุปกรณ์ไม่ถึงก็อาจไม่ได้ภาพนั้นมา ซึ่งต้องพึ่งทั้งดวง ฝีมือ และประสิทธิภาพของอุปกรณ์ด้วย”
ก้าวออกจาก Comfort Zone ด้วย Canon 6D Mark II
จากบทสัมภาษณ์ของช่างภาพอาชีพทั้ง 5 คนจะเห็นได้ว่า สิ่งหนึ่งที่ทุกคนมองเหมือนกัน ในการก้าวออกจาก Comfort Zone และทำลายข้อจำกัดของการถ่ายภาพ คือการมีอุปกรณ์ที่ดี
Canon 6D Mark II ก็สามารถตอบโจทย์ด้วยการทำลายข้อจำกัดเดิมๆ ของการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นกล้องฟูมเฟรมที่น้ำหนักเบาที่สุด ความละเอียดที่สูงขึ้นถึง 26.2 ล้านพิกเซล ใช้หน่วยประมวลผลภาพ DIGIC 7 สามารถเพิ่ม ISO ได้สูงถึง 40,000 มีระบบโฟกัส 45 จุดแบบ cross-type ที่ทำให้ไม่พลาดทุกช่วงจังหวะดีๆ หน้าจอทัชสกรีน LCD ขนาด 3 นิ้วที่หมุนกางออกได้ ช่วยเพิ่มมุมมองในการถ่ายมากขึ้น และฟังก์ชัน Time-lapse 4K ที่สามารถทำได้จบในกล้อง