‘การสูญเสียการได้ยิน’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย หากแต่นวัตกรรมที่ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูญเสียการได้ยินกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง
เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ประกาศนโยบายให้เด็กแรกเกิดทุกคนต้องได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยินฟรีจากสถานพยาบาลทั่วประเทศ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ในการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในกรณีตรวจพบ จากแต่เดิมที่ผู้ปกครองหลายท่านต้องหมั่นสังเกตบุตรหลานก่อนค่อยถึงขั้นตอนในการเข้าปรึกษาและรักษาต่อไป หรือในผู้สูงอายุเองที่ต้องรอให้มีอาการของการได้ยินลดลงจึงค่อยเข้าพบแพทย์ เพราะปัญหาการได้ยินเป็นเรื่องสำคัญต่อการใช้ชีวิตของประชาชน
เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้กับผู้คนทุกช่วงวัย เราจึงชวนคุณมาทำความรู้จักทุกเรื่องที่เกี่ยวกับ ’การตรวจคัดกรองการได้ยิน’ ไปกับ ผศ.นพ. พิทยาพล ปีตธวัชชัย สาขาวิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และถ่ายทอดประสบการณ์การใช้ประสาทหูเทียมไปกับ อริศรา ยอดวิศิษฎ์ศักดิ์ นักเรียนผู้ผูกพันกับประสาทหูเทียมมาตั้งแต่จำความได้
‘การสูญเสียการได้ยิน’ – นิยาม และทางออก
การสูญเสียการได้ยิน ความหมายตรงตัวคือ การได้ยินเสียงลดลง แบ่งความรุนแรงออกเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่น้อย ปานกลาง มาก มากที่สุด ไปจนถึงหูดับ ซึ่งการแบ่งระดับจะช่วยแพทย์ในเรื่องการวางแผนการรักษา โดยสถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบันพบการสูญเสียการได้ยินในทุกช่วงวัย
“เราให้ความสำคัญกับเด็กแรกเกิดมากๆ จากเด็กเกิดมีชีพ 1,000 คนในประเทศไทย เราจะเจอเด็กที่มีปัญหาเรื่องการได้ยิน 2-3 คนครับ พอเป็นเด็กโตจนถึงวัยผู้ใหญ่ ตัวเลขจะอยู่ที่ประมาณ 10-20% จนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ตัวเลขก็จะเริ่มเป็น 25% เพราะฉะนั้นตัวเลขมันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามวัย” ผศ.นพ. พิทยาพล เท้าความถึงการสูญเสียการได้ยินให้เราฟัง
“สำหรับในเด็กทารก ส่วนใหญ่ครึ่งหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ แต่พอโตขึ้นย่างเข้าสู่วัยรุ่น เครื่องเสียงหรือโทรศัพท์พกพาก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดอาการ รวมถึงเรื่องการอักเสบหรือติดเชื้อต่างๆ ในหู พอเข้าสู่ช่วงอายุสูงวัยก็จะเป็นอาการการได้ยินลดลงตามวัย จนกระทั่งถึงอาจจะเป็นเรื่องของเนื้องอก แต่ก็อาจเป็นส่วนน้อยนะครับ” การจัดกลุ่มสำหรับการคัดกรองการได้ยินจึงแบ่งตามช่วงวัย
เช่นนั้นแล้ว วัยผู้ใหญ่อย่างเราๆ ทุกคนจึงสามารถสังเกตการได้ยินของตัวเองได้ง่ายๆ จากการลองใช้นิ้วมือสองนิ้วขยี้กันข้างหู แล้วสังเกตการได้ยินของตัวเอง แต่ความแม่นยำน้อยและความผิดพลาดก็อาจเกิดขึ้นได้จากสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่รบกวนการได้ยิน ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกจึงมีการทำแอปพลิเคชันสำหรับตรวจการได้ยิน แต่ปัจจุบันยังเปิดให้ใช้งานเฉพาะในภาษาอังกฤษ หรือกับเด็กแรกเกิดที่การคัดกรองเบื้องต้นด้วยตัวเองแทบจะทำไม่ได้เลย เพราะเด็กเล็กยังสื่อสารไม่ได้ ความน่าเชื่อถือน้อย การตรวจคัดกรองโดยผู้เชี่ยวชาญจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งต่อคุณภาพชีวิตของเด็กไทยทุกคน
“สำหรับวัยเด็ก พอเขาไม่ได้ยิน มันก็จบด้วยเขาจะพูดไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้ว่าจะมีปฏิสัมพันธ์อย่างไร จนถึงการเรียนภาษาที่ทำไม่ได้เลย จนไปสู่ขั้นที่ทำการสื่อสารไม่ได้ ก็จะเริ่มออกจากสังคม ส่วนในวัยผู้ใหญ่อาจไปถึงขั้นซึมเศร้าเพราะเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ เพราะฉะนั้นผลลัพธ์ตามมาจากการสูญเสียการได้ยินมีเยอะมาก ตั้งแต่สื่อสารไม่ได้ แยกตัวจากสังคม ปัญหาเรื่องพัฒนาการโดยรวม หรือเข้าโรงเรียนไม่ได้”
อย่างนั้นแล้ว มีวิธีการป้องกันก่อนจะเกิดอาการไหม? “การป้องกันทำได้ตั้งแต่การดูแลแม่และเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ดูแลสุขอนามัยที่ดี อย่าให้มีการติดเชื้อที่อาจส่งผลต่อลูกในครรภ์ พอเด็กคลอดก็ควรเข้าตรวจคัดกรองการได้ยินตั้งแต่แรกเกิด หลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากในชุมชน รวมทั้งการกินนมแม่ที่ช่วยเสริมภูมิต้านทานการติดเชื้อ และฉีดวัคซีนตามคำแนะนำ ส่วนในวัยผู้ใหญ่ ระมัดระวังเสียงดังๆ โดยเฉพาะเครื่องเสียงและโทรศัพท์พกพา และหากเริ่มรู้สึกกังวลให้รีบเข้ามาพบแพทย์ได้เลย เพื่อการวินิจฉัยและรักษาต่อไป”
ประสาทหูเทียม เทคโนโลยีช่วยการได้ยินเพื่อคุณภาพชีวิต
หากการตรวจวินิจฉัยพบสัญญาณการสูญเสียการได้ยิน เทคโนโลยีในปัจจุบันมีส่วนช่วยอย่างมากเพื่อทำให้การได้ยินกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง “มาตรฐานปัจจุบันมีตั้งแต่เครื่องช่วยฟัง ขั้นต่อไปก็คือประสาทหูเทียม แล้วบวกด้วยการฝึกพูดและฝึกฟัง”
ในระดับแรกสำหรับผู้ที่มีปัญหาการได้ยินลดลง เครื่องช่วยฟังเป็นเครื่องมือในการช่วยขยายเสียงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แต่หากมีอาการระดับมากที่สุดจนถึงหูดับ จึงเป็นหน้าที่ของประสาทหูเทียม ที่ทำงานโดยการใช้กระแสไฟฟ้ากระตุ้นเส้นประสาท เข้าสู่ระบบสมองโดยตรงเพื่อให้ได้ยินเป็นปกติ
อิ๊ง – อริศรา ยอดวิศิษฎ์ศักดิ์ นักเรียนวัย 17 จากนครนายกที่มีความผูกพันกับประสาทหูเทียมมาตั้งแต่ยังเด็ก จนเหมือนเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของเธอ และมีส่วนช่วยพาเธอไปสู่เส้นทางแห่งความฝันที่อยากเป็นเภสัชกรในอนาคต
คุณพ่อของอิ๊งสังเกตเห็นอาการของเธอตั้งแต่ยังเล็กจึงรีบเข้าตรวจคัดกรอง ก่อนจะพบว่าลูกสาวสูญเสียการได้ยิน และจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยให้การฟังทำได้ชัดเจนขึ้น “ก่อนที่น้องจะมีความผิดปกติ เราก็สังเกตอาการกับแม่ว่าลูก เรียกแล้วช้า ไม่หัน หรือเรียกจากด้านหลังแล้วไม่ตอบสนอง เลยพาไปพบกุมารแพทย์ในจังหวัด หลังจากคุณหมอตรวจพบว่าสูญเสียการได้ยิน เราเลยเดินหน้าต่อเพื่อหาวิธีการรักษา จนกระทั่งน้องได้เข้าผ่าตัดตอนช่วงอายุ 3 ขวบ ก่อนจะมีประสาทหูเทียมก็ใช้เครื่องช่วยฟังมาก่อน จนถึงคู่ที่ 3 จึงได้ตัดสินใจผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม”
ระหว่างการใช้ประสาทหูเทียม อิ๊งจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในเรื่องการทำกิจกรรมที่มีการปะทะ หรือต้องระวังไม่ให้เหงื่อเข้าเครื่อง รวมทั้งการป้องกันตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะกับโรคทางเดินหายใจที่อาจส่งผลต่อระบบการได้ยิน และที่สำคัญคือ การหมั่นดูแลทำความสะอาดจนเป็นหนึ่งในกิจวัตรประจำวัน
“เราจะดูแลรักษาเครื่องเองตั้งแต่ช่วงประถมปลาย” อิ๊งเล่า “ก็จะเริ่มใส่หลังจากตื่นนอน และถอดตอนนอน ซึ่งจำเป็นจะต้องทำความสะอาดทุกวัน โดยเฉพาะช่วงนี้เรียนหนัก ก็จะใช้งานเครื่องหนักหน่อย ส่วนการดูแลรักษาระยะยาวก็จะมีการตรวจเช็กสัญญาณ เช็กความผิดปกติของเครื่องทุก 3-5 เดือน รวมทั้งการบำรุงรักษา เปลี่ยนไมค์ เปลี่ยนลำโพง ดูเรื่องแบตเตอรี่ สาย และคอยล์ตัวเชื่อมระบบต่างๆ”
หลังจากการฝังประสาทหูเทียมแล้ว อิ๊งจะต้องฝึกให้ชินกับการได้ยินและการออกเสียง “หลังจากผ่าตัดแล้ว พ่อแม่ก็พาไปฝึกที่ศูนย์เด็กพิเศษแสงเหนือ เพื่อฝึกการฟัง การออกเสียง เสียงที่ออกไม่ชัดก็ฝึกให้ชัดเจนขึ้น อย่างตัว ซ.โซ่ ร.เรือ และส่วนของการฟังที่ช่วยในเรื่องทักษะการจดจำของสมอง รวมทั้งการถามตอบ ซักซ้อมความเข้าใจของคำถาม ก็จะเป็นการฝึกทักษะไปพร้อมกับการฝึกสมอง”
“ระหว่างทางกลับบ้านเราก็จะคุยกันครับ” คุณพ่อย้อนกลับไปเล่าให้ฟังในช่วงที่อิ๊งยังฝึกหัดการใช้เครื่อง “ทุกครั้งที่กลับบ้าน เราจะใช้เวลาคุยกันบนรถนานมาก เราจะชี้ถามว่าอันนี้คืออะไร หรือฟังเพลง แลกเปลี่ยนกัน ชวนเขาคุย เพื่อที่เขาจะได้ฟังเยอะขึ้น และตอบคำถามได้ง่ายขึ้น”
ชีวิตสมบูรณ์จากการได้ยิน
“งานอดิเรกที่ชอบทำคือ ดูหนัง ฟังเพลง วาดรูป และเล่นดนตรีค่ะ” อิ๊งเล่าถึงไลฟ์สไตล์แบบวัยรุ่น “ถ้าตอนเด็กช่วง ป.4-6 ก็ได้ไปฝึกเรียนเครื่องดนตรีไทย คือ ขิม อยู่ประมาณ 2-3 ปีค่ะ หลังจากนั้นก็อยากลองเปลี่ยนเล่นอย่างอื่นบ้าง คือเล่นเครื่องดนตรีสากล ก็จะเล่นอูคูเลเล่ค่ะ เพื่อที่จะได้ฝึกกับตัวเองว่าเสียงแต่ละเสียง โน้ตแต่ละตัว มันมีความแตกต่างกัน แล้วก็พัฒนาตัวเองด้วย”
ตลอดระยะเวลาที่ใช้ประสาทหูเทียมมา ครอบครัวของอิ๊งเห็นพัฒนาการของเธอที่เป็นไปตามช่วงวัย พร้อมกันกับพัฒนาการของการรักษาการสูญเสียการได้ยินที่มาพร้อมกับนวัตกรรมที่รุดหน้าขึ้นตามลำดับ
“ผมคิดอย่างนี้นะ การแพทย์คงมีมานานแล้ว แต่เรื่องของพัฒนาเครื่องอุปกรณ์มันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เราดูจากผลิตภัณฑ์ที่ลูกใช้ มันอัปเกรดไปเรื่อยๆ ตั้งแต่คล้องสายพะรุงพะรัง จนบัดนี้ไม่เห็นข้าวของเลยแต่ก็ได้ยินเสียงได้แล้ว เป็น Wireless หรือใช้ WIFI แต่สิ่งที่ยังไม่รองรับก็คือความสอดคล้องเรื่องของสิทธิของผู้ป่วยที่ยังได้ไม่ครอบคลุมนัก” คุณพ่อเล่า
“อย่างน้องอิ๊งก็ผ่าตัดตอน 3 ขวบ สักปีหนึ่งค่อยทำอีกข้างหนึ่ง เราเข้าใจว่าแพทย์แนะนำว่าผ่าตัดข้างเดียวก็โอเคแล้ว แต่ข้างที่สองก็สามารถช่วยได้อีก 20% เรามานั่งวิเคราะห์คุยกับแม่น้องเขาว่าทำเลยไหม ถ้าทำเลยมันจะทำให้รู้สึกว่าลูกเราจะได้สามารถบาลานซ์เสียงได้ หรือเราลองมองอนาคตว่าถ้าจุดที่ทำมีปัญหา อีกข้างก็ยังฟังได้”
คุณพ่อฝากถึงผู้ปกครอง ว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือการหมั่นสังเกตและทดสอบตั้งแต่ขวบปีแรก เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที และพัฒนาการที่ดำเนินไปตามช่วงวัย “ต้องฝากผู้ปกครองเรื่องของการเช็กสุขภาพน้อง สุขภาพลูกว่าต้องละเอียดในช่วงขวบปีแรกเลยถึงจะดี สังเกตอาการตามขวบปีแรกให้มันดี เพราะว่าร่างกายดี สมองดี แต่ถ้าการได้ยินไม่ดี มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ดีในการรับรู้ ส่งผลต่อเรื่องพัฒนาการ”
ในส่วนของคุณหมอพิทยาพล ก็ฝากคำแนะนำถึงการคัดกรองการได้ยินสำหรับคนไทยทุกคน “ช่วง 2 เดือนก่อนได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้ว รัฐบาลประกาศว่า เด็กแรกเกิดทุกคนต้องได้รับการตรวจคัดกรองการได้ยิน แปลว่า ก่อนเราออกจากโรงพยาบาล คุณต้องได้คัดกรองการได้ยินให้กับลูก และฟรีด้วยครับ ถึงอาจจะเพิ่งเริ่ม ต้องใช้การพัฒนาอีกนิดหนึ่ง แต่พอว่ามีนโยบายเราก็สบายใจแล้ว”
“พอมีนโยบาย เรามี สปสช. หรือบัตรทองที่ เราเข้าถึงทุกคนอยู่แล้ว หมายความว่าคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงคัดกรองการได้ยินได้เลย ฟรีด้วย เพราะฉะนั้นถ้ามีโรงพยาบาลก็สามารถไปตรวจได้เลย ถึงตอนนี้มีปัญหาว่าอาจจะยังไม่ทั่วถึง แต่ถ้าที่ไหนขาดแคลนก็จะมีการส่งต่อ (Refer) ซึ่งระบบการส่งต่อโรงพยาบาลของเราเข้มแข็ง เพราะฉะนั้นเรามั่นใจว่าถ้าคุณไปไม่ถึง เดี๋ยวทีมสาธารณสุข หรือทีมพยาบาล หมอ เข้าจะมีการส่งต่อเพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อแน่นอน”
หากจะเรียกว่าการได้ยินช่วยเปลี่ยนชีวิตก็ไม่ผิดนัก “ถ้าเกิดการรักษาที่ต้องใส่เครื่องช่วยฟัง หรือต้องฝังประสาทหูเทียม เราจะรู้สึกได้เลยว่าบางคนก็กังวลนะ เครียด เสียใจ หรือร้องไห้ก็มี แต่ความรู้สึกตรงนั้นมันจะหายไปทันทีหลังจากที่เรามีทางออกให้เขา โดยเฉพาะการฝังประสาทหูเทียมนะ ผมสัมผัสได้เลยว่าเขาดูมีความสุขมากขึ้นอะไรอย่างนี้ครับ คนดูแลก็สบายใจ พ่อแม่ก็สบายใจ หรือแม้แต่เด็กเล็กที่พูดไม่ได้ แต่สีหน้าแววตาและภาษาท่าทาง (Body Language) ชัดเจนเลย แล้วเราก็รู้สึกมีความสุขไปกับเขาด้วย”
Cochlear (คอคเคลียร์) คือผู้นำด้านเทคโนโลยีประสาทหูเทียมของโลก มีผลิตภัณฑ์ต่างๆ ประกอบด้วย ประสาทหูเทียม ประสาทหูเทียมแบบนำเสียงผ่านกระดูก และประสาทหูเทียมแบบอะคูสติก โดยมีส่วนช่วยให้ผู้ใช้ประสาทหูเทียมทุกเพศทุกวัยมากกว่า 600,000 รายทั่วโลก ได้รับโอกาสในการใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เพื่อนฝูง และชุมชนอีกครั้ง โดยเรายังมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับผู้ใช้ที่เพิ่งได้รับการฝังประสาทหูเทียม หรือได้รับการฝังมาแล้วหลายปี
คอคเคลียร์ เริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 โดยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนิวเคลียส ซึ่งได้รับการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย (ASX) ปัจจุบัน คอคเคลียร์เป็นบริษัท 50 อันดับแรกของตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ที่มีรายได้ต่อปีทั่วโลกมากกว่า 1.4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย และยังคงมุ่งมั่นในการส่งเสริมให้ประสาทหูเทียมเป็นมาตรฐานในการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะสูญเสียการได้ยินในระดับปานกลาง ไปจนถึงระดับรุนแรง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ “Hear now. And always” (ได้ยินวันนี้ และตลอดไป) เพื่อช่วยให้ทุกคนสามารถได้ยินเสียงตลอดชีวิต ด้วยการสนับสนุนที่ดีที่สุดจาก “คอคเคลียร์”
ทำความรู้จักกับคอคเคลียร์ และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Cochlear Thailand