วิทยาการคํานวณ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Coding ถือเป็นเรื่องใหม่ในหลักสูตรสำหรับทั้งผู้เรียนและผู้สอน ที่จะปูพื้นฐานการเรียนรูปแบบใหม่ที่เราอาจไม่คุ้นเคย เมื่อพื้นฐานการคิดและเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับการเรียนมากขึ้น
หลักสูตรเป็นอย่างไร? การปูพื้นฐานการคิดด้วยคอมพิวเตอร์มันเป็นแบบไหนกัน? โรงเรียนมีความพร้อมแค่ไหนในการสอน? มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
“สิ่งสำคัญแรกของการศึกษาไทยคือทำให้มันพร้อมก่อน โรงเรียนไทยมีบริบทหลากหลายมาก ณ ตอนนี้วิธีที่เราใช้ก็คือทุกโรงเรียนทำเหมือนกันเป๊ะ ซึ่งมันทำให้ความไม่พร้อมยิ่งไม่พร้อมหนักกว่าเดิม
ดังนั้นส่วนที่ต้องแก้ที่โครงสร้าง แก้ที่ระบบก็ไปแก้ที่ระบบ ส่วนที่ต้องเติมในความจำเป็นขั้นพื้นฐานก็ต้องไปทำในเรื่องความจำเป็นขั้นพื้นฐานก่อน เป็นอันดับแรกแล้วก็ค่อยพัฒนา ไม่งั้นมันก้าวไม่ข้ามผ่านข้อจำกัดต่างๆ แล้วมันก็จะเดินต่อไปไม่ได้ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือ Gap มันก็จะห่างออกไปเรื่อยๆ โรงเรียนที่ขาดก็จะขาดไปเรื่อยๆ โรงเรียนที่มีก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าสิ่งที่สังคมนี้ต้องการจริงๆ ก็คือโรงเรียนในประเทศไทย มีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน มันก็ต้องค่อยๆ ไปแก้ปัญหาทีละส่วน แก้ด้วยความเข้าใจปัญหาที่มีอยู่ในโรงเรียนแต่ละแบบ เรามีหน้าที่พยายามตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายนั้นให้กับนักเรียนในประเทศนี้ ให้เขาได้มีชีวิต ได้มีฝัน ในเวอร์ชั่นที่เป็นของตัวเอง ในแบบที่เป็นของตัวเอง”
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
นักวิชาการอิสระ ด้านการศึกษา
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
Coding in Worldwide Education มุมมองการศึกษา Coding จากทั่วโลก
https://thematter.co/brandedcontent/coding-education-05/96656
“คนที่ไม่ถนัดเทคโนโลยี หรือคนที่เริ่มจากศูนย์ก็สามารถเรียนได้ เพราะการเรียนเป็นการใช้ความเข้าใจ ทุกวันนี้ภาษาที่ใช้ในการเรียนเริ่มคล้ายกับภาษาที่เราใช้สื่อสารมากขึ้น การทำความเข้าใจกับคอมพิวเตอร์มันก็จะทำได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันอุปกรณ์ต่างๆ มันมีหลายแบบมากขึ้น ภาษาที่ใช้เขียนก็มีเยอะขึ้น แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนก็คือ แนวคิด การทำงาน การคิดแบบเป็นระบบ
ถึงแม้เขาไม่ได้เรียนเพื่อเป็นโปรแกรมเมอร์แต่ทักษะที่เขาจะได้กลับไปคือ ทักษะการใช้ชีวิตเขามีระเบียบ มีวินัย มีการคิดวางแผนที่ดี ยังไงชีวิตเขาจะไม่ล้มเหลว ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน เพราะเขาคิดก่อนว่าถ้ามีเรื่องนี้ขึ้นมาอะไรจะส่งผลกระทบบ้าง เหมือนกันกับการเขียน Code ถ้าวางแผนดี เราก็จะทำงานเสร็จในหนึ่งรอบ แต่ถ้าเราวางแผนไม่ดี เราคิดแพลนไม่ดี เราวาง Flowchart ไม่ดี เราก็จะต้องแก้งานไปเรื่อยๆ”
โสภิตา จันทรส
ครูคอมพิวเตอร์
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
วิวัฒนาการของภาษา Coding และสิ่งที่เป็นไป เมื่อไทยสนใจเรื่องนี้
https://thematter.co/brandedcontent/coding-education-10/98679
“เนื่องจากเป็นการสอนเรื่องของกระบวนการคิด วิชานี้เราจะสอนแบบบรรยายไม่ได้แล้ว ต้องให้นักเรียนลงมือทำ ลงมือปฏิบัติ ปกติสอนแค่แนวคอนเซปต์ว่าความหมายมันคืออะไร ใช้งานยังไง เปลี่ยนเป็นว่านักเรียนจะต้องคิดยังไง และจะต้องถามนักเรียนยังไงให้นักเรียนคิดต่อให้ได้
วิชานี้เป็นวิชาที่จะต้องลงมือปฏิบัติ หนังสือเรียนเรามีไว้เพื่อเป็นเครื่องมือให้นักเรียนสามารถฝึกฝนอีกครั้งหนึ่ง สำหรับนักเรียนในระดับประถมศึกษา เราจะฝึกพื้นฐานนักเรียนก่อน โดยที่ยังไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ เป็นกระบวนการที่เรียกว่า Unplugged Coding ในหนังสือจะมีกิจกรรมให้นักเรียนโดยการเรียงลำดับการเดินจากบัตรคำสั่ง เดินซ้าย เดินขวา เป็นเกมให้นักเรียนเล่นเกมในลักษณะของบัตรคำสั่ง เพื่อทำภารกิจต่างๆ โดยเป็นการสอนการคิดอย่างเป็นขั้นตอน และฝึกกระบวนการคิดไปด้วย
ตัวหนังสือเรื่องเรียนจะเป็นเครื่องมือชี้แนะแนวทางว่าสิ่งที่ สสวท. อยากที่จะให้นักเรียนในแต่ละช่วงชั้น ได้เรียนรู้มีอะไรบ้าง คุณครูก็สามารถที่จะไปจัดกิจกรรมให้เหมาะกับบริบท หรือเครื่องมือของโรงเรียน ตามแนวทางของ สสวท. ได้ถูกต้องมากขึ้น”
จีระพร สังขเวทัย
ผู้ชำนาญสาขาเทคโนโลยี
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
ครูพร้อมแค่ไหนในการสอน Coding?
https://thematter.co/brandedcontent/coding-education-11/99266