ไม่ต้องมีกูรูที่ไหนมาบอกเราก็คงพอจะเห็นกันว่า ธุรกิจ E-Commerce เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เมื่ออีคอมเมิร์ซ เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการการจับจ่ายใช้สอยของผู้คน จากการเข้าร้านค้าเพื่อซื้อหาสิ่งของ กลายเป็นการกดสั่งออนไลน์มากขึ้น แถมเมื่อไม่นานมานี้ อเมซอน ที่เดิมวางตัวเองเป็นผู้ให้บริการ E-Marketplace ก็ได้เริ่มผลิตสินค้าของตัวเองเพื่อวางขายบนแพลตฟอร์ม กลายเป็นคู่แข่งที่เข้ามาตอดกินส่วนแบ่งการตลาด ในทั้งตลาดอีคอมเมิร์ซด้วยกันเอง และในตลาดการจับจ่ายใช้สอยโดยรวมด้วย
ปรากฏการณ์นี้บอกเราว่าอย่างไร และผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยของไทย สามารถมองเห็นโอกาสอะไรจากเรื่องนี้ได้บ้าง?
Amazon แพลทฟอร์มสะเทือนโลกค้าปลีก
ขนาดและการเติบโตอย่างรวดเร็วของ Amazon ส่งผลโดยตรงต่อตลาดค้าปลีก เพราะเมื่อผู้คนพบว่าอยู่บ้านก็ซื้อของออนไลน์ได้ งั้นทำไมเราจะต้องไปซื้อข้างนอกให้เสียเวลา ด้วยพฤติกรรมใหม่นี้ ทำให้ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกรายใหญ่หลายรายต้องปรับตัวกันอย่างหนัก ห้างใหญ่ และหลายแบรนด์ดังในสหรัฐฯ ได้ทยอยปิดสาขาเพื่อลดต้นทุน และมีการคาดการณ์ว่า จะมีสาขาของร้านอีกกว่า 3,500 ที่จะต้องปิดตัวลง
บางเจ้าเลือกใช้วิธีการแบบ Omni-Channel Marketing คือการผสานทุกช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้าไปในประสบการณ์การซื้อของลูกค้า มีการเปิด Online Store เคียงคู่ไปกับหน้าร้าน รวมถึงการปรับโฉม ออกแบบหน้าตาของห้างร้านเสียใหม่ เพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ ให้ไม่ใช่แค่การตรงมาห้างเพื่อซื้อของเท่านั้น แต่เป็นการใช้เวลากับกิจกรรมที่เน้นเชิงไลฟ์สไตล์มากขึ้น อันจะนำไปสู่การจับจ่ายในที่สุด
สำหรับผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยที่ปรับตัวได้ไว การมีอยู่ของอีคอมเมิร์ซก็เป็นโอกาสทองที่จะทำให้ได้เพิ่มช่องทางการขายโดยที่ต้นทุนไม่สูงมากนัก ร้านค้ารายย่อยส่วนใหญ่จึงเข้ายึดพื้นที่อีคอมเมิร์ซและช่วยขับเคลื่อนให้ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตยิ่งขึ้น เห็นได้จากตัวเลขมูลค่าส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2560 กลุ่มค้าปลีกก็ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งที่ตัวเลข 30.92%
แต่เมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อปี 2559 ที่มูลค่าของกลุ่มค้าปลีกในตลาดอีคอมเมิร์ซนั้นมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 34.55% เราจึงเห็นได้ว่า แม้ภาพรวมของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยนั้นจะยังสดใสอยู่ แต่โอกาสในการเติบโตดูเหมือนจะเริ่มตันเสียแล้วหรือเปล่า
เปิดเกมรุก บุกตลาดอีคอมเมิร์ซต่างประเทศ
แม้การค้าขายอยู่ในประเทศมันก็ยังพอจะมีหนทางให้ไปต่อได้ แต่หากต้องการขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น SMEs ไทย อาจจะต้องมองไปให้ไกลกว่าโอกาสที่เราเคยเห็นอยู่ในประเทศ
อีคอมเมิร์ซทำให้รูปแบบการซื้อของของคนทั้งโลกเปลี่ยนไป สินค้าไม่ได้มีอยู่ในบนชั้นวางแบบที่เราเคยเห็น แต่มันมีตัวเลือกมากมายจากทุกมุมโลก เราอยากได้ของดีไซน์สวยชิ้นหนึ่งจากยุโรป เราก็แค่กดสั่งแล้วมันก็จะมาส่งเราถึงบ้าน แล้วทำไมสินค้าของเรา จะวางขายเพื่อให้ผู้ซื้อที่อยู่อีกทวีปสั่งมันไปเป็นเจ้าของไม่ได้ การมองแค่ตลาดออนไลน์ในไทยจึงไม่เพียงพอ แต่ SMEs ไทย ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตหรือบริหารจัดการธุรกิจให้แข่งขันได้ด้านต้นทุนควบคู่ไปกับการนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพ ก็สามารถมองไกลไปถึงตลาดโลก ที่มีผู้รอซื้ออยู่เป็นพันล้านคนได้แล้ว
ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ SMEs ไทยส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจแบบรับจ้างผลิตตามรูปแบบตามที่แบรนด์กำหนดให้ หรือที่รู้จักกันในชื่อ OEM (Original Equipment Manufacturer)แต่การเติบโตของอีคอมเมิร์ซทั่วโลกนั้นอาจจะน่าเย้ายวนให้ SMEs ได้ลองคิดใหม่ นำความเชี่ยวชาญที่มี มาประกอบรวมกับการจริงจังมากขึ้นด้านการทำตลาดและสร้างแบรนด์ เพราะนี่คือยุคที่ต้นทุนด้านช่องทางการขายนั้นถูกลงกว่าแต่ก่อนมาก เราไม่ต้องมีหน้าร้าน แต่เราสร้างหน้าร้านออนไลน์ให้ดึงดูดคนซื้อได้ ต้นทุนที่เดิมเราเคยต้องลงไปกับส่วนนั้น ก็สามารถนำมาใช้ในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และลงมือทำตลาดอย่างจริงจัง
การทำ Cross-border e-commerce หรือการค้าขายแบบนำเข้าและส่งออกผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซนั้นกำลังเป็นที่นิยม และได้รับการสนุนในหลายประเทศ เช่น จีน ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่มาก มีมาตรการหลายอย่างที่เอื้อให้นักธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลุยตลาดซื้อขายออนไลน์ข้ามพรมแดน ซึ่งส่งผลให้รูปแบบธุรกิจนี้เติบโตทั้งในแง่ผู้ขายและผู้ซื้อ
อย่างไรก็ตาม การทำ Cross-border e-commerce ก็ไม่ใช่เรื่องสนุกสำหรับสำหรับ SMEs ไทยที่ไม่มีประสบการณ์ทางด้านนี้ซักเท่าไร เพราะไหนจะมีเรื่องภาษี ระบบการเรียกเก็บเงิน และรูปแบบโลจิสติกส์ที่ซับซ้อนกว่าแค่การซื้อมาขายไปในประเทศอยู่มาก แม้เราจะมองเห็นโอกาสงามๆ รออยู่ข้างหน้า แต่การก้าวไปอย่างมั่นคงและมีตัวช่วยเป็นผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำปรึกษาเรื่องการส่งออกนั้นก็น่าจะดีกว่า
ส่งออกมั่นใจ ให้ผู้เชี่ยวชาญอย่าง EXIM BANK ดูแล
EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและบริการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และนักลงทุน โดยเฉพาะ SMEs ที่มีความพร้อมจะเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออกไปตลาดต่างประเทศ ด้วยความเชี่ยวชาญและเป็นมืออาชีพ
EXIM BANK พร้อมเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกด้วยเงินทุนหมุนเวียนสำหรับช่วงก่อนและหลังการส่งออก รวมทั้งให้ความคุ้มครองความเสียหายจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจส่งออกของคนไทยเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง มั่นคง ไม่สะดุด แม้ประสบปัญหาผู้ซื้อหรือประเทศผู้ซื้อมีความเสี่ยง และอาจทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าส่งออก โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ของไทยที่มีศักยภาพสูง ในการเพิ่มมูลค่าธุรกิจ ซึ่งบริการด้านข้อมูลข่าวสารและบริการทางการเงินจาก EXIM BANK จะเข้ามาช่วยเสริมความมั่นใจให้ผู้ประกอบการไทยพร้อมรุกตลาดส่งออกทั่วโลก
ปัจจุบัน Internet สามารถเชื่อมต่อทุกที่ทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้มีโอกาสทางธุรกิจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา E-commerce จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการซื้อขาย แลกเปลี่ยนสินค้า การที่ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และสามารถแข่งขันได้ ถ้าได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ พร้อมที่จะให้คำปรึกษา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ค้าขายได้อย่างประสบความสำเร็จในระดับโลก ปูทางสู่การสร้างแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
https://www.businessinsider.com/trump-obsessed-with-amazon-least-favorite-company-2018-3
https://www.blognone.com/node/104158
https://brandinside.asia/amazon-market-value-over-alphabet/
https://positioningmag.com/1104118
https://brandinside.asia/value-ecommerce-thailand-2560/