ยังจำความรู้สึกตอนเข้าห้องสมุดได้ไหม
นับตั้งแต่การเข้ามาของดิจิทัลเทคโนโลยี ทำให้อะไรก็ตามที่เป็น physical สามารถจับต้องได้ ต้องย้ายรกรากไปสู่ความเป็นดิจิทัลเกือบทั้งหมด พื้นที่การเรียนรู้อย่างห้องสมุด ที่เคยเป็นพื้นที่ให้บริการยืมคืนหนังสือเล่มก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลง เพราะคอนเทนต์เกือบทุกอย่างถูกสำเนาและสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในโลกดิจิทัลหมดแล้ว
ในขณะที่ กระแสของ Co-working Space ที่เติบโตขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ ร้านกาแฟทั่วไป ต้องปรับเปลี่ยนพื้นที่ให้บริการรูปแบบเดิมๆ ไปสู่การมีพื้นที่ให้ลูกค้านั่งทำงานหรือประชุมเพิ่มเติม เท่านั้นยังไม่พอ ความสำคัญของพื้นที่นี้ยังพัฒนาไปสู่การเป็น Co-learning Space ที่ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่นั่งอ่านหนังสืออย่างเดียว แต่ยังเป็นพื้นที่ที่ทำให้นิสิตนักศึกษาได้ใช้ศึกษาหาความรู้ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์อีกด้วย
น่าสนใจว่า เมื่อความเป็นดิจิทัลเข้ามา ทำให้เกิดเทคโนโลยีหรือแพลทฟอร์มใหม่ๆ ในการเรียนรู้ การทำงาน กระทั่งการประชุมงาน คิดโปรเจกต์ ฯลฯ แบบที่ไหน เมื่อไรก็ได้ ผ่านนวัตกรรมอย่าง cloud หรือ IoT ขนาดนี้ ความเป็น Physical Space อย่าง Co-working Space หรือ Co-learning Space ทำไมถึงจำเป็นและได้รับความนิยมอยู่ในขณะนี้ ลองไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน
เมื่อดิจิทัลเริ่มเข้าถึงทุกคนมากขึ้น
ยุคดิจิทัลมาพร้อมๆ กับเทคโนโลยีของอุปกรณ์หรือ device สำหรับการเข้าถึงแหล่งข้อมูลดิจิทัลต่างๆ ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ eLeader แท็บเล็ต ไปจนถึงสมาร์ทโฟน ทำให้ข้อมูลและความรู้ต่างๆ สามารถเข้าถึงผู้คนทุกกลุ่มได้มากขึ้น เปิดกว้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้ไม่จำกัด เพราะอินเทอร์เน็ตคือแหล่งเรียนรู้สาธารณะที่ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันแหล่งเรียนรู้แบบเดิมอย่างห้องสมุดก็ยังคงไม่ถูกลดความสำคัญลงไป
ห้องสมุดของ Polytechnic University ในรัฐฟลอริดา อเมริกา คือห้องสมุดที่ไร้หนังสือเล่มอย่างแท้จริง ด้วยพื้นที่กว่า 11,000 ตารางฟุต แต่กลับไม่มีหนังสือเล่มให้ยืม แต่ถูกทดแทนด้วย E-book กว่า 135,000 เล่ม ด้วยความที่มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมอยู่แล้ว แนวคิดของห้องสมุดแห่งนี้จึงเปิดขึ้นเพื่อให้กับนักศึกษาสามารถเรียนรู้ทักษะในการอ่าน ซึมซับ และจัดการกับข้อมูลดิจิทัล ซึ่งเป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญของตลาดแรงงานในอนาคต โดยไม่ทิ้งความสำคัญของพื้นที่ที่ออกแบบมาให้สามารถนั่งอ่านได้อย่างสะดวกสบาย ตามฟังก์ชันเดิมของพื้นที่นั่นเอง
การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำยังคงสำคัญ
จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพื้นที่การเรียนรู้อย่างห้องสมุด ไม่ได้หยุดอยู่แค่การทำให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงหนังสือเล่มเพียงอย่างเดียว แต่เป็นช่องทางในการเข้าถึงสื่อทุกรูปแบบตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป พื้นที่แห่งการเรียนรู้จึงมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ยิ่งในยุคนี้ที่กระแสของการเรียนรู้แบบ Maker Culture กำลังได้รับความนิยม ซึ่งจำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และการลงมือทำก็จำเป็นต้องใช้พื้นที่และอุปกรณ์การเรียนรู้ที่พร้อมเสมอ คงไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า เราจะสามารถสร้างนวัตกรรมหรือเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เพียงแค่เปิดยูทูบดูแล้วเป็นเลย โดยที่ไม่ได้ลงมือทำก่อน
ด้วยเหตุนี้พื้นที่การเรียนรู้ในเชิงกายภาพก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอ อย่างเช่น Toowoomba City Library ตั้งอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผลงานที่ทางการของรัฐควีนส์แลนด์ตั้งใจให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ของชาวเมืองในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญตั้งแต่การตกแต่งภายในที่เต็มไปด้วยชิ้นงานประติมากรรมศิลปะที่ไม่ต่างอะไรกับ decoration สวยๆ ไปจนถึงพื้นที่สำหรับเด็กที่ออกแบบให้เป็นต้นไม้ใหญ่สำหรับปีนป่าย กระตุ้นจินตนาการผ่านการเล่น และที่สำคัญคือมี Tech Hub ที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ดิจิทัล ที่เปิดเวิร์กช็อปตั้งแต่การใช้ภาษาอังกฤษสำหรับผู้ลี้ภัย สอนการใช้เทคโนโลยีสำหรับผู้สูงอายุ ไปจนถึงการเขียน Coding เลยทีเดียว
นำไปสู่คอมมูนิตี้ที่เชื่อมโยงทุกการเรียนรู้
จุดประสงค์หลักของการเปิดให้บริการ Co-working Space แน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่ใช้สำหรับเป็นที่นั่งทำงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างคอมมูนิตี้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เว็บไซต์ Harvard Business Review ได้ไปสำรวจผู้ใช้บริการ Co-working Space นับร้อยคนในหลายสิบแห่งของอเมริกาพบว่า พื้นที่แห่งนี้ทำให้ศักยภาพของคนทำงานพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะด้วยบรรยากาศของการทำงานร่วมกันที่แตกต่างจากในออฟฟิศทั่วไป ประกอบไปด้วยคนทำงานอันหลากหลายจากหลากบริษัท ฟรีแลนซ์ สตาร์ทอัพที่มารวมอยู่ในที่เดียวกัน นั่นหมายถึงโอกาสในการสร้างคอนเนกชันข้ามสายงานกันมากขึ้น รวมไปถึงวัฒนธรรมในการให้ความช่วยเหลือกัน ซึ่ง Co-learning Space ที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาต่างๆ ก็มีฟังก์ชันในการสร้างคอมมูนิตี้เหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน
อย่างในอเมริกาที่มีห้องสมุดชุมชนกระจายอยู่แทบทุกย่าน จนห้องสมุดกลายเป็น Third Place ที่สำคัญรองจากบ้านและที่ทำงาน คือตัวอย่างหนึ่งของโมเดลในการใช้พื้นที่ของห้องสมุดให้กลายเป็นศูนย์กลางของสร้างคอมมูนิตี้ จากผลสำรวจของ Pew Research Center พบว่ากว่า 94 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกันยอมรับว่าห้องสมุดทำให้คุณภาพชีวิตในสังคมของพวกเขาดีขึ้น หรืออย่างห้องสมุด dlr Lexicon ในไอร์แลนด์ก็มีนโยบายให้บริการที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน และสร้างแรงบันดาลใจในพื้นที่ผ่านการใช้วัฒนธรรมท้องถิ่นหรือเรียกว่า cultural space จนเกิดเป็นคอมมูนิตี้ใหม่ๆ ที่ต่อยอดการเรียนรู้ไปอีกไม่สิ้นสุด
PLEARN Space พื้นที่การเรียนรู้แห่งใหม่ในยุคดิจิทัล
เมื่อพื้นที่เชิงกายภาพในการสร้างสรรค์การเรียนรู้และคอมมูนิตี้เป็นสิ่งสำคัญ จึงทำให้เกิด PLEARN Space พื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันของนิสิตในรูปแบบ Digital Co-learning Space ภายใต้โครงการ CU NEX ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ธนาคารกสิกรไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ต้องการพัฒนาโซลูชันส์ในการบริหารจัดการ โดยเชื่อมโลกการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของนิสิตให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งระบบการลงทะเบียน การใช้ห้องสมุด การใช้งานบริการอาคารสถานที่ และการเดินทางภายในมหาวิทยาลัยที่สามารถทำได้ง่ายๆ ใน CU NEX แอปเดียว เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพนิสิตทุกคณะ รวมถึงการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนการสอนและการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลได้อย่างเต็มที่ ล่าสุดแอปพลิเคชัน CU NEX สามารถคว้ารางวัลเหรียญทองนวัตกรรมแห่งปีของเอเชีย (Gold Award of Innovation of the Year ) จากงาน Efma – Accenture Distribution & Marketing Innovation Awards 2018 in APAC มาได้อีกด้วย
โดยที่มาของคำว่า PLEARN มาจากรวมคำระหว่าง PLAY และ LEARN ทำให้การออกแบบภายในเป็นพื้นที่ให้ความรู้สึกเปิดกว้าง ไม่เป็นทางการมากเหมือนห้องสมุดทั่วไป ทั้งเบาะ เก้าอี้ โต๊ะทำงานเหมือนอยู่ในห้องนั่งเล่น สร้างบรรยากาศสบายๆ ให้นิสิตต่างคณะสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ มีลานกลางห้องสำหรับจัดกิจกรรม นำเสนอผลงาน หรือดัดแปลงเป็นพื้นที่สัมมนาต่างๆ พร้อมโปรเจกเตอร์ขนาดใหญ่และวิดีโอวอลล์รองรับการใช้งาน มีห้องประชุมพร้อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ครบครันและผนังห้องที่ออกแบบให้สามารถเขียนและลบได้เป็นเหมือนกระดานไวท์บอร์ดสำหรับจดไอเดีย มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างล็อกเกอร์เก็บของทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เครื่องถ่ายเอกสาร ตู้หยอดอาหาร-เครื่องดื่ม และที่สำคัญคือมีมุมพักผ่อนที่ดีไซน์ให้คล้ายบ้าน สามารถนอนหรือนั่งพักได้ระหว่างอ่านหนังสือหรือรอเวลาเรียน
นอกจาก PLEARN Space จะมีส่วนช่วยเรื่องพื้นที่ในการเรียนรู้ของนิสิตแล้ว ยังมีการจัดทำแอปพลิเคชัน CU NEX ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มกลางเชื่อมโลกการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของนิสิตให้รวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ตั้งแต่วันแรกในรั้วมหาวิทยาลัยไปจนถึงจบการศึกษา ด้วยการพัฒนาบัตรนิสิตให้อยู่ในรูปแบบ Digital ID เพื่อใช้ในระบบการลงทะเบียน การใช้ห้องสมุด การใช้งานบริการอาคารสถานที่ การเดินทางภายในมหาวิทยาลัย และยังได้รับสิทธิพิเศษจากร้านค้าชั้นนำ เกิดเป็น ดิจิทัล ไลฟ์สไตล์ ของนิสิตที่สามารถทำได้ง่ายๆ ใน CU NEX เท่านั้น
PLEARN Space ตั้งอยู่ที่ ชั้น 1 ของอาคารเปรมบุรฉัตร (สถาบันภาษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้นิสิตใช้บริการแล้ววันนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://medium.com/@janecowell8/a-visit-to-the-new-toowoomba-city-library-6d16e89db824
https://princh.com/how-can-a-new-library-connect-and-inspire-communities-dlr-libraries/#.XBdpxBMzbBI
https://www.webjunction.org/news/webjunction/making-community-connections.html
https://hbr.org/2015/05/why-people-thrive-in-coworking-spaces