ครั้งหนึ่งเคยมีนักร้องชื่อดังได้กล่าวประโยคอมตะสุดคลาสสิก แสดงถึงสัจธรรมของโลกใบนี้เอาไว้ว่า “ฟ้ายังมีหม่น ฝนยังมีวันแล้ง สลากยังมีกินแบ่ง หากจะแบ่งใจนี้ไม่มีทาง” เขายังกล่าวเอาไว้อีกด้วยว่า “น้ำมันยังมีหมด รถยังมีวันล้าง แต่หากจะให้ล้างใจ หมดจนลืมเธอไปไม่มีทาง” นั่นจึงทำให้เราเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ว่า แม้รักจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่สิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้ย่อมต้องเปลี่ยนไปวันยันค่ำ (ฮา ฮ้า)
โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบนช่องว่างความแตกต่างทางยุคสมัยของคนแต่ละ Gen ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ค่านิยม วิถีชีวิต หรือกระทั่งความคิดที่คนต่างวัยใช้ในการมองโลก ที่คล้ายจะแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว และเพื่อสรุปให้เห็นชัดๆ ถึงวิวัฒนาการดังกล่าวนี้ เราก็ขอยกเอาตัวอย่างหลักฐานซึ่งสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนมาให้ดูจำนวนหนึ่ง ว่าในขณะที่โลกได้หมุนผ่านไปหลายสิบปี มันได้นำพาอะไรให้เปลี่ยนแปลงไปบ้าง
มั่นคงด้วยงานประจำ vs อิสระเสรีอย่างฟรีแลนซ์
หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดชิ้นหนึ่งถึงความแตกต่างของคนยุคเก่าและคนยุคใหม่ ซึ่งหลายต่อหลายคนมักหยิบยกมาใช้แบ่งคนสอง Gen ออกจากกันโดยสิ้นเชิงก็คือ มุมมองต่อการเลือกสรรอาชีพ และการวางรากฐานอนาคต ในขณะที่คนยุคเก่ามักให้คุณค่ากับการมีหน้าที่การงานมั่นคง และการสร้างเนื้อสร้างตัวให้สามารถปลดเกษียณในบั้นปลายได้อย่างสบายใจ คนยุคใหม่หลายคนกลับมีมุมมองที่แตกต่างไปอย่างสุดขั้ว หลายคนเลือกที่จะลาออกจากงานประจำ หันมาทำอาชีพแบบฟรีแลนซ์ หรือรับงานเป็นโปรเจ็กต์ ในขณะที่อีกหลายคนก็วาดฝันที่จะปั้นแบรนด์ และเป็นนายตัวเองตั้งแต่อายุยังน้อย
ซึ่งเมื่อมองจากบริบททางยุคสมัยที่ค่อนข้างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงแล้วก็ไม่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่ เพราะในขณะที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่หลายคนมักเติบโตมาโดยมีพื้นฐานทางครอบครัวที่ลำบากกว่า มีพื้นที่เสาะแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ได้น้อยกว่าในยุคนี้ การเลือกเส้นทางที่ดูมั่นคงและรับประกันอนาคตได้ก็ดูจะเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผล แตกต่างกับยุคสมัยปัจจุบันนี้ ที่เทคโนโลยี ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ มีวิวัฒนาการไปไกลจนเอื้อต่อการสร้างอาชีพใหม่ๆ ได้มากกว่า ก็ทำให้หลายคนกล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะออกจากกรอบเดิมๆ มาเดินตามฝันกันได้มากขึ้น
แน่นอนว่าบางครั้งความแตกต่างทางความคิดถึงเรื่องสำคัญของชีวิตเรื่องนี้ก็อาจสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นภายในครอบครัวบ้าง หรือสร้างความลำบากใจเวลาต้องไปเผชิญหน้าญาติผู้ใหญ่ในงานรวมญาติบ้าง แต่สุดท้ายผลลัพธ์ของสิ่งที่คน Gen ใหม่ตัดสินใจก็จะเป็นตัวยืนยันถึงการเปลี่ยนแปลงไปของโลกทุกวันนี้เอง
แม่สื่อแม่ชัก vs รักแท้ใน Tinder
พูดถึงความแตกต่างของคนสองช่วงวัยแล้วเห็นทีจะไม่พูดเรื่องนี้ไม่ได้ สำหรับที่มาของความสัมพันธ์กว่าที่คนสองคนจะรักกัน ในยุคสมัยที่ความรักอันประเจิดประเจ้อของหญิงชายยังเป็นเรื่องต้องห้าม แน่นอนว่านอกจาก ‘แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ แต่เธอไม่รู้บ้างเลย’ การสื่อรักผ่านแม่สื่อแม่ชัก หรือการนัดบอดจับคู่ดูตัวก็ดูจะเป็นทางออกที่จับต้องได้ที่สุดแล้วสำหรับคนเหงายุคเบบี้บูมเมอร์ แตกต่างจากยุคสมัยนี้ที่เปลืองแรงแค่ขยับนิ้วสองที ก็ swipe Tinder เลือกสรรหญิงชายในฝันมาลองแลกเปลี่ยนทัศนคติกันได้ง่ายๆ
ซึ่งความช้าของคนยุคก่อนก็ไม่ได้แปลว่าจะมาพร้อมกับความชัวร์ พอๆ กับที่ความไว (ตามระดับ 4G ของเครือข่ายมือถือ) ในยุคนี้ก็ไม่ได้แปลว่าจะมาพร้อมความหลอกลวงเสมอไป จากผลสำรวจนักเล่นแอปพลิเคชันหาคู่ทั่วโลกพบว่ายังมีคนที่ได้เจอรักแท้จนถึงขั้นแต่งงานกันอยู่ เช่นเดียวกับการหย่าร้าง และความรักที่ไม่สมหวังที่เกิดขึ้นได้ในยุคสมัยก่อน เพราะความรัก ความสัมพันธ์ไม่ว่าจะเริ่มต้นที่ช่องทางไหน แต่สุดท้ายก็เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตร่วมกันในชีวิตจริงอยู่ดี
เฉลิมกรุงความบันเทิง vs มหรสพ Netflix
ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่ได้แพร่หลาย และสตรีมมิ่งออนไลน์ยังเป็นวุ้นในท้องแม่ การเกิดขึ้นของโรงมหรสพหลวง อย่างศาลาเฉลิมกรุง ที่สามารถฉายได้ทั้งภาพยนตร์ และเปิดแสดงละครเวที ดนตรีต่างๆ ก็ดูจะเป็นประดิษฐกรรมทางความบันเทิงที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย ยังไม่นับรวมถึงการเกิดขึ้นของลิโด้ สกาล่า และโรงภาพยนตร์ต่างๆ ในเวลาต่อมา ที่สามารถยืนหยัดเป็นเจ้าตลาดความบันเทิงได้ในช่วงเวลาอันยาวนาน แต่ถึงอย่างนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตราบใดที่คนยังเลือกจะพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวไปข้างหน้าอยู่เรื่อยๆ รสนิยมความชมชอบของคนรุ่นใหม่ๆ ก็ย่อมมีแนวโน้มที่จะพัฒนาตามไปด้วย
เช่นเดียวกับคนในยุคนี้ที่มีทางเลือกอันสะดวกสบายกว่าอย่างสตรีมมิ่งออนไลน์ (ไม่ว่าจะเป็น Netflix, iflix, HBO, Amazon, Hulu และอื่นๆ) ที่ขยายขอบเขตความบันเทิงติดตามตัวคนไปทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นบนสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ททีวี จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นกราฟตัวเลขผู้ใช้บริการพุ่งสูงขึ้นๆ ทุกวันตามจำนวนประชากรคนรุ่นใหม่ เพราะเมื่อเทียบกับวิถีการใช้ชีวิต และไลฟ์สไตล์ ก็นับว่าการบริการในรูปแบบนี้ตอบโจทย์กับคน Gen นี้ได้มากกว่าความบันเทิงรูปแบบเก่า ทั้งยังทลายขีดจำกัดทางด้านการเดินทาง และช่วงเวลาในการรับชมไปโดยสิ้นเชิง
ข้อความในจดหมาย vs สติกเกอร์ไลน์-โซเชียลมีเดีย
อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของความหลังครั้งเก่าในคนยุคก่อนที่ดูจะคลาสสิก และน่าหยิบยกมาพูดถึง ก็เห็นจะเป็นเรื่องของการติดต่อสื่อสาร ด้วยช่องทางที่ไม่ได้เอื้ออำนวยอย่างเช่นทุกวันนี้ ทำให้การเขียนโปสการ์ด และจดหมายในคนยุคเก่าถือเป็นการติดต่อขั้นพื้นฐานในชีวิตประจำวันทั่วไป การรอคอยจดหมายสามวัน ห้าวัน หรือเนิ่นนานเป็นสัปดาห์ในพื้นที่ห่างไกลออกไป ไม่ได้นับเป็นเรื่องที่ชวนให้ร้อนใจอะไรขนาดนั้น แตกต่างจากการสื่อสารแสนสะดวกสบายในทุกวันนี้ ที่มีช่องทางโซเชียลมีเดียให้เลือกใช้นับไม่ถ้วน ติดต่องานก็ทำได้ทันทีผ่านอีเมล คิดถึงกันก็ส่งไลน์หา อยากเห็นหน้าก็แค่เปิดสไกป์
ด้วยเวลาในการสื่อสารที่แตกต่างกันมากขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่มันจะส่งผลต่อพฤติกรรมในการใช้สื่อกลางเหล่านี้ไปด้วย ความเชื่องช้าในการเดินทางของจดหมายสอนให้การจรดปากกาเขียนแต่ละข้อความล้วนต้องผ่านการกรองแล้วกรองอีก เพื่อเฟ้นหาคำที่สามารถถ่ายทอดความคิดได้อย่างชัดเจน และเลือกจะบรรจุแต่เรื่องสำคัญลงไปในพื้นที่อันจำกัด ขณะที่ความเรียลไทม์ของโซเชียลมีเดียทำให้คนสามารถสื่อสารทุกอย่างที่คิด ใช้เวลาไปกับบทสนทนาเรื่อยเปื่อย คำพูดต่างๆ จึงมักผ่านการกลั่นกรองน้อยลง
เพลย์ลิสต์ทรานซิสเตอร์ vs มนต์รัก Spotify
และเรื่องสุดท้ายที่ถ้าละเลยไปต้องนับว่าผิดก็คือเรื่องของภาษาสากลอย่าง ‘เพลง’ เปล่า เราไม่ได้กำลังจะพูดถึงแนวเพลงที่แน่นอนว่าย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปตามรสนิยมของยุคสมัยอยู่แล้ว แต่เรากำลังจะพูดถึงความแตกต่างในวิธีการฟังเพลงของคนสอง Gen ต่างหาก เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าครั้งหนึ่งก่อนที่เราจะสามารถกดเลือกเพลงจาก Youtube ซื้อเพลงจาก iTunes หรือจัดเพลย์ลิสต์ใน Spotify คนรุ่นพ่อแม่ของเราเคยต้องหมุนคลื่นเพื่อหาเพลงโปรดผ่านวิทยุทรานซิสเตอร์กันมาก่อน
ในสมัยที่แผ่นเสียง เทป และซีดียังมาไม่ถึง การจะได้ฟังเพลงโปรดสักเพลงนับว่าขึ้นอยู่กับวาสนาโชคชะตาเป็นส่วนใหญ่ หากเป็นเพลงฮิตที่สถานีเปิดบ่อยก็นับเป็นกำไร แต่หากเป็นญาติผู้ใหญ่สายอินดี้ก็มีแต่ต้องนั่งจูนคลื่นกันไปเป็นวันๆ ไม่เหมือนกับคน Gen นี้ที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ชีวิต ทั้งยังเปิดโลกทางดนตรี เปิดโอกาสให้เราสามารถเข้าถึงเพลงดีๆ จากทั่วทุกมุมโลกได้เพียงปลายนิ้ว ทั้งยังสามารถพกพาเพลงเหล่านั้นติดตัวไปได้ทุกที่บนอุปกรณ์ที่เล็กยิ่งกว่าวิทยุเครื่องเก่าของพ่อไม่รู้กี่สิบเท่า
คุณค่าที่ยึดมั่น คือสิ่งที่เรามีร่วมกัน
ถึงแม้ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับยุคสมัยในหลักฐานข้างต้นดูคล้ายจะแบ่งแยกคนแต่ละ Gen ออกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่หากเรามองข้ามตัวเลขของช่วงวัยเหล่านั้นไป ก็จะพบว่าในความแตกต่างมีความเหมือนกันบางอย่างที่เชื่อมโยงทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน
เช่นภายใต้ความเชื่อในด้านการทำงานที่ดูเหมือนจะยืนอยู่กันคนละฝั่ง แต่สุดท้ายของจุดปลายทางที่ทุกคนมุ่งไป ก็คือความสำเร็จ และความรุ่งโรจน์ในชีวิตไม่แตกต่างกัน หรือแม้แต่ตัวตนเบื้องหน้าของคนแต่ละ Gen จะแสดงออกถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วแค่ไหน แต่เมื่อถึงเวลาต้องแสดงออกต่อสถานการณ์ต่างๆ เราจะพบว่า คุณธรรม ความมีน้ำใจ ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู ก็ยังคงเป็นรากฐานภายในจิตใจที่ส่งต่อถึงกันเรื่อยมา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะแม้ว่าบริบทของยุคสมัยจะทำให้คนแต่ละช่วงวัยมีการแสดงออกในรูปแบบที่แตกต่าง แต่ ‘คุณค่าที่เรายึดมั่น’ นั้นคือหัวใจสำคัญที่เราต่างก็มีร่วมกันเสมอมา
UOB เข้าใจทุกความแตกต่าง เคียงข้างทุกเจเนอเรชัน
และแน่นอนว่าไม่ใช่เพียงแค่เรื่องใหญ่ๆ ในชีวิตเท่านั้น แม้แต่ในวันที่พ่อแม่ร้อนใจรอคอยจดหมาย ขณะที่เราเองอาจกำลังนั่งจ้องคำว่า Read ที่ปราศจากข้อความตอบกลับอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะรอคอยการตอบกลับของคนสำคัญที่สุดในชีวิตคนหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่เรามองเห็น และเข้าใจดีเช่นกัน ซึ่งความเข้าใจเช่นนี้เองที่กลายเป็นแรงผลักดันให้เราไม่หยุดยั้งพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่มีหยุดยั้งของคนในทุกช่วงวัย
ซึ่งไม่ว่าคนในแต่ละเจเนอเรชัน จะมีความเหมือนหรือแตกต่างกันแค่ไหน จะทำความเข้าใจในกันและกันได้มากน้อยเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่ #UOB ยืนยันอย่างหนักแน่นเสมอมา ก็คือเราเข้าใจทุกความแตกต่าง และอยู่เคียงข้างทุกเจเนอเรชัน ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง